ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ธรรมเป็นเหตุให้ยศเจริญ : ยศย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีความเพียร, มีสติ, มีการงานสะอาด  (อ่าน 828 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



ธรรมเป็นเหตุให้ยศเจริญ : ยศย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีความเพียร, มีสติ, มีการงานสะอาด

พระพุทธภาษิต :-
      อุฏฺฐานวโต สติมโต
      สุจิกมฺมสฺส นิสมฺมการิโน
      สญฺญตสฺส จ ธมฺมชีวิโน
      อปฺปมตฺตสฺส ยโสภิวฑฺฒติ ฯ

คำแปล :-
     ยศย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีความเพียร, มีสติ,
     มีการงานสะอาด, ใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ,
     เป็นผู้สำรวม, มีชีวิตอันประกอบด้วยธรรม
     และไม่ประมาท

@@@@@@@

อธิบายความ

ในที่นี้ได้ธรรม ๗ ประการอันเป็นเหตุให้ยศเจริญคือ ความเพียร, สติ, การงานอันสะอาด, การใคร่ครวญก่อนทำ, ความสำรวม, ชีวิตอันประกอบด้วยธรรม และความไม่ประมาท

- ความเพียร นั้นคือ สภาพอันตรงกันข้ามกับความเกียจคร้าน กล่าวคือความไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคในการทำงาน ในการประกอบการกุศล ความกล้าในการประกอบกิจอันชอบให้ลุล่วงไปด้วยดี มีความบากบั่นมั่นคงไม่ถอยหลัง ไม่ทอดธุระ ไม่เป็นคนอยู่เฉยโดยไม่ทำงาน

- สติ คือความรอบคอบ และความระวัง จะทำจะพูดอะไรก็คิดโดยรอบคอบก่อน ระวัง เกรงความผิดพลาด เพราะความผิดพลาดบางอย่างต้องใช้เวลาแก้นานจึงจะกลับคืนสู่สภาพเดิมได้

- การงานสะอาด นั้นคือการประกอบการงานอันสุจริต เว้นงานที่ทุจริตผิดกฎหมายและศีลธรรมทั้งปวง

- ใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ คือไตร่ตรองด้วยดีว่า เมื่อทำอย่างนี้ผลอย่างไรจะเกิดขึ้น เว้นการกระทำอันจักอำนวยผลเป็นทุกข์เสีย ประกอบกระทำแต่เฉพาะเหตุอันจักอำนวยผลเป็นสุขให้

- ความสำรวม นั้นคือความสำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ไม่ให้ความยินดียินร้ายครอบงำได้

- ชีวิตอันประกอบด้วยธรรม คือมีชีวิตอยู่อย่างแนบสนิทกับธรรม ไม่เหินห่างจากธรรม ระลึกถึงธรรมอยู่เสมอ ได้พบได้เห็นอะไรก็นำเข้าไปหาธรรม เทียบกับธรรม หรือน้อมธรรมเข้ามาใส่ตนอยู่เสมอ

- ความไม่ประมาท ได้อธิบายแล้วในข้อที่หนึ่งแห่งอัปปมาทวรรคนี้ โปรดดูในที่นั้น


@@@@@@@

ยศย่อมเจริญแก่บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยคุณธรรมทั้ง ๗ ประการนี้ ยศนั้นท่านจำแนกไว้ ๓ คือ
    ๑. อิสริยยศ ความเป็นใหญ่
    ๒. เกียรติยศ ความมีเกียรติ มีคุณงามความดีมาก
    ๓. บริวารยศ ความเป็นผู้มีบริวารมากและบริวารดี

ยศที่กล่าวถึงในที่นี้ พระอรรถกถาจารย์ขยายความว่าได้แก่
    ๑. โภคสมบัติ
    ๒. ความนับถือ
    ๓. ความมีเกียรติ และ
    ๔. ความสรรเสริญ




ขอขอบคุณ :-
ที่มา : “ธรรมบท ทางแห่งความดี เล่ม ๑” ท่านอาจารย์วศิน อินทสระ เพจอาจารย์วศิน อินทสระ
website : dhamma.serichon.us/2021/02/25/ธรรมเป็นเหตุให้ยศเจริญ/
25 กุมภาพันธ์ 2021 ,By admin.
Photo : pinterest
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
 


ธรรมเป็นเหตุให้ยศเจริญ

เหตุการณ์ : ในนครราชคฤห์เกิดอหิวาตกโรคขึ้นในเรือนของราชคหเศรษฐี เศรษฐีและภรรยาเจ้าของเรือนนั้นป่วยเป็นโรคแล้ว ได้บอกให้บุตรนามว่ากุมภโฆสก หนีไปที่อื่นเพื่อรักษาชีวิต แล้วค่อยกลับมาขุดเอาทรัพย์ ๔๐ โกฏิที่ฝังเก็บไว้

กุมภโฆสกหนีไปอยู่ป่าตลอด ๑๒ ปี แล้วจึงกลับมาบ้าน แต่ไม่มีใครจำเขาได้ เขาคิดว่าถ้าไปขุดทรัพย์ขึ้นมาอาจถูกจับและโดนทำร้าย จึงไปรับจ้างทำงานทำหน้าที่ปลุกและตักเตือนคนงานให้ทำงานในเวลาเช้า
 
พระเจ้าพิมพิสาร ได้ยินเสียงของเขารู้ว่าเป็นเสียงของคนผู้มีทรัพย์มาก นางสนมคนหนึ่งได้ยินจึงส่งคนไปสืบ พบว่าเป็นคนกำพร้า แต่พระเจ้าพิมพิสารยังทรงตรัสเหมือนเดิมถึงสามครั้ง เมื่อกุมภโฆสกเปิดเผยและแสดงจำนวนทรัพย์แก่พระเจ้าพิมพิสาร ก็ได้รับตำแหน่งเศรษฐี

พระราชาเสด็จไปสู่สำนักพระศาสดาพร้อมกับเขา และได้กราบทูลเรื่องของกุมภโฆสกให้พระศาสดาโดยบอกว่าเป็นผู้มีปัญญา แม้มีสมบัติถึง ๔๐ โกฏิ ก็ไม่ทำอาการเย่อหยิ่ง หรืออาการสักว่าทะนงตัว ทำเป็นเหมือนคนกำพร้า นุ่งผ้าเก่าๆ ทำการรับจ้างที่ถนนอันเป็นที่อยู่ของคนรับจ้าง เลี้ยงชีพ

 
@@@@@@@

พระศาสดาทรงตรัสว่า ชีวิตของบุคคลเป็นอยู่อย่างนั้น ชื่อว่าเป็นอยู่ประกอบด้วยธรรม ก็กรรมมีกรรมของโจรเป็นต้น ย่อมเบียดเบียนบีบคั้น ผู้ทำในโลกนี้ทั้งในโลกหน้า ชื่อว่าความสุขอันมีกรรมนั้นเป็นเหตุ ก็ไม่มี ก็บุรุษทำการรับจ้างก็ดี ทำนาก็ดี เลี้ยงชีวิตในกาลเสื่อมทรัพย์นั่นแล ชื่อว่าชีวิตประกอบด้วยธรรม

อันความเป็นใหญ่ย่อมเจริญขึ้นอย่างเดียว แก่คนผู้ถึงพร้อมด้วยความเพียร บริบูรณ์ด้วยสติ มีการงานบริสุทธิ์ทางทวารทั้งหลาย มีกายและวาจาเป็นต้น มีปกติใคร่ครวญด้วยปัญญา แล้วจึงทำผู้สำรวมไตรทวาร มีกายทวารเป็นต้น เลี้ยงชีวิตโดยธรรม ตั้งอยู่ในอันไม่เหินห่างสติเห็นปานนั้น
 
แล้วทรงกล่าวคาถาว่า ยศย่อมเจริญโดยยิ่ง แก่คนผู้มีความขยัน มีสติ มีการงานสะอาด มีปกติใคร่ครวญ แล้วจึงทำ สำรวมแล้ว เลี้ยงชีพโดยธรรม และไม่ประมาท
 
ในกาลจบพระคาถา กุมภโฆสกดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล และชนเป็นอันมาก ก็บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น






อ้างอิง : คาถาธรรมบท อัปปมาทวรรค พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ๒๕/๑๒/๑๗ และอรรถกถาเรื่อง กุมภโฆสก
ขอบคุณ : https://uttayarndham.org/tripitaka-mp3-files-individual-track/3038/ธรรมเป็นเหตุให้ยศเจริญ
Photo : pinterest
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ