ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เมตตากับขันติ ต่างก็มีมูลคือ อโทสะเหมือนกัน แต่อาการแตกต่างกัน  (อ่าน 790 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28439
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


เมตตากับขันติ ต่างก็มีมูลคือ อโทสะเหมือนกัน แต่อาการแตกต่างกัน

ถาม : ระหว่างเมตตากับขันติ ต่างก็มีมูลคือ อโทสะเหมือนกัน แต่อาการแตกต่างกันเช่นไร.?
ตอบ : เมตตาเป็นความหวังดีเป็นสภาวะ ส่วนขันติเป็นการยอมรับความจริงเป็นสภาวะ มีลักษณะเฉพาะดังนี้
       1. มีการยอมรับความจริงเป็นสภาวะ
       2. มีการกำจัดความขัดเคืองใจเป็นกิจ
       3. มีการไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นเป็นผลปรากฏ
       4. มีปัญญาที่รู้ความจริงเป็นเหตุใกล้

ดังนั้นที่เราเข้าใจกันว่า โกรธขัดเคืองแล้วอดทนเอา จึงผิดกับตัวสภาวะที่เป็นองค์ธรรมอันมูลเหตุ คือ อโทสะ เมื่อจัดเป็นสถานะของศีล เมตตาเป็นปหานศีล คือ เป็นธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการทุศีล ด้วยอาการที่ทำให้การทุศีลเกิดขึ้นไม่ได้
     เช่น เพราะมีความเมตตาจึงฆ่าสัตว์ไม่ได้
     ส่วน ขันติ เป็นธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการทุศีล ด้วยอาการป้องกันการทุศีล(เป็นสังวรศีล)

@@@@@@@

เช่น นางปฏาจารา ผู้เป็นธิดาสาวรูปงามของเศรษฐีชาวกรุงสาวัตถี หนีพิธีวิวาห์ที่มารดาบิดาจัดแจงให้ ไปกับชายคนใช้ซึ่งแอบรักใคร่ชอบพอกันอยู่ ไปอยู่กินเป็นสามีภรรยากัน ประกอบอาชีพทำไรไถนาที่หมู่บ้านอื่นที่คนไม่รู้จักพวกตน ครั้นนางปฏาจาราตั้งครรภ์ นางจึงอ้อนวอนสามีพากลับไปบ้านมารดาบิดาตามธรรมเนียมประเพณีนิยม สามีพยายามบ่ายเบี่ยงผ้ดวันประกันพรุ่งเรื่อยมา ด้วยเกรงว่าหากกลับไปสู่ตระกูลของภรรยาอาจถูกลงโทษอย่างรุนแรง

เพราะเหตุนี้เมื่อเมื่อครรภ์แก่ นางจึงแอบหนีกลับตามลำพังขณะที่สามีออกไปทำงานนอกบ้าน ครั้นสามีทราบความจริงจากเพื่อนบ้าน ก็รีบติดตามจนพบนางระหว่างทาง อ้อนวอนอย่างไรนางก็ไม่ยอมกลับ พลันก็ได้เกิด กัมมัชวาต คือลมเบ่ง สามีจึงพาไปพักใต้ต้นไม้ เมื่อคลอดแล้วความจำเป็นที่จะไปบ้านมารดาบิดาก็หมดไปด่างพากันกลับสู่เรือนของตน

อยู่มาไม่นานนางก็ตั้งครรภ์อีก นางก็แอบหนีกลับไปบ้านมารดาบิดาตามประเพณีนิยมเหมือนเดิมพร้อมกับอุ้มบุตรคนแรกไปด้วย สามีก็ติดตามมาทันเช่นเคย ขณะนั้นฝนตกอย่างหนักลมพายุก็แรงด้วย สามีจึงต้องหาตัดไม้ทำทำซุ้มให้นางคลอด แต่ก็ถูกงูฉกก้ดตาย นางเศร้าโศกเสียใจมากโอกาสที่จะกลับไป ครองรักเรือนเดิมเป็นอันหมดสิ้นไป พอนางคลอดบุตรคนที่สองแล้ว จึงจูงบุตรคนโตอุ้มบุตรคนเล็กมุ่งกลับสู่เรือนมารดาบิตาของตน

ระหว่างทางขณะข้ามแม่น้ำใหญ่ นางต้องอุ้มบุตรคนเล็กไปวางไว้ฝั่งข้างหน้าก่อน เสร็จแล้วจึงจะย้อนกลับมาอุ้มบุตรคนโตภายหลัง ขณะย้อนกลับมากลางแม่น้ำเหยี่ยวก็โฉบคาบเอาลูกคนเล็กของเธอไป นางตกใจหวังจะไล่เหยี่ยว นางจึงโบกไม้โบกมือพร้อมส่งเสียงตะโกนโหวกเหวก ฝ่ายบุตรคนโตก็สำคัญว่ามารดาเรียกตน เพราะความไร้เดียงสา จึงกระโจนส่งสู่แม่น้ำทันที กระแสน้ำที่เชี่ยวกรากก็พัดพาหายลับไปทันที

     เพราะเหตุการณ์เศร้าสะเทือนใจเกิดติดๆกันนางก็เริ่มเบลอร้องให้คร่ำครวญไปว่า
    ”สามีของเราก็มาตายระหว่างทาง บุตรคนเล็กก็ถูกเหยี่ยวโฉบไป บุตรคนโตก็ถูกน้ำพัดไป”


@@@@@@@

นางบ่นเพ้อเช่นนี้แล้วๆเล่าๆ จนมาถึงเมื่องสาวัตถี พอเขาบอกว่า มารดาบิดาพร้อมทั้งพีชายของนาง ถูกเรือนพังทับตาย เพราะฟ้าที่ผ่าลงมาเมื่อคืนตอนฝนตกหนัก เวลานี้ร่างของคนทั้งสามกำลังถูกเผาอยู่เชิงตะกอน เพียงแค่นี้เท่านั้น นางก็เสียสติเพราะยอมรับความจริงที่กระหน่ำซ้ำเติมเธอไม่ไหว หมดสติล้มทั้งยืน พอฟื้นขึ้นมาก็เป็นบ้าเลย ขันติธรรมจึงมีประโยชน์ และลักษณะดังได้กล่าวมาแล้วแล

นางซัดเซเร่รอนเป็นคนบ้าไปจนถึงพระเชตวันมหาวิหาร ซึ่งในเวลานั้นพระบรมศาสดาประทับแสดงธรรมอยู่ พระบรมศาสดาทรงทอดพระเนตรเห็นทางเดินมาแต่ไกล ก็ทรงดำริอยู่ในพระทัยว่า
    ”หญืงนี้ ยกเว้นเราเสียแล้ว ก็ไม่มีใครอี่นที่สามารถจะเป็นที่พึ่งได้”

จึงทรงกระทำโดยประการที่นางปฏาจารานั้นจะเดินมุ่งหน้าตรงมาวิหารด้วยพุทธานุภาพ ชาวบริษัทที่นั่งฟ้งธรรมอยู่ เห็นนางเดินเข้ามา ก็ร้องบอกกันว่า
    ”พระบรมศาสดากำลังแสดงธรรมอย่าให้หญิงบ้านี้เข้ามานะ”
พระบรมศาสดารับสังว่า
    “พวกท่านจงเปิดทางให้นาง อย่าได้ห้ามนางเลย”

เมื่อนางเข้ามายืนอยู่ใกล้เบื้องพระพักตร์แล้ว ก็ทรงตรัสปลอบประโลมด้วยพระมหากรุณาธิคุณว่า
    “เธอจงได้สติกลับคืนเถิด น้องหญิง”
นางปฏาจาราอาศัยพุทธานุภาพ ได้ยินพระสุรเสียงไพเราะดุจเสียงหรหมที่ทรงเปล่งด้วยพระมหากรุณาธิคุณนั้น ก็ได้สติกลับคืนมาในขณะนั้นนั่นเอง

@@@@@@@

พอได้สติแล้ว ก็รู้ว่าตนไร้เสื้อผ้า เกิดความละอาย ก็ทรุดต้วลงนั่งยองๆ บุรุษท่านหนึ่งเปลื้องผ้าห่มโยนมาให้ นางนุ่งห่มผ้านั้นแล้ว ก็เข้าไปถวายบังคมทูลพระบรมศาสดาถึงเรื่องราวที่ผ่านมา พร้อมกับขอให้พระองค์เป็นที่พึงแก่นางด้วย

พระบรมศาสดาทรงตรัสปลอบนางเพื่อให้คลายความเศร้าโศกเสียใจ จิตใจจักยอมรับความจริงได้หนักแน่นขึ้น ด้วยพรมหากรุณาธิคุณว่า
    ”ดูก่อน ปฏาจารา เธออย่าได้คิดมากไปเลย เธอได้มาสู่สำนักของเราผู้สามารถเป็นที่พึ่งของเธอได้แน่นอน ก็ในส้งสารวัฏอันยาวนานนี้ น้ำตาของเธอที่ร้องให้ ในเวลาบุตรเป็นต้นตายไปดุจในบัดนี้นั้น มากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้ง 4 รวมกันเสียอีก”

เมื่อทรงทราบว่า นางมีขันติธรรมเข้มแข็งสามารถรับรู้ความจริงได้เป็นอย่างดีแล้ว ก็แสดงธรรมโปรดนาง ด้วยพระคาถาว่า ”น สนฺติ ปุตตา ตาณาย” เป็นต้น

จบพระธรรมเทศนานางก็บรรลุเป็นพระโสดาบัน นี่คือ ขันติธรรมตามสภาวะที่เป็นลักษณะเฉพาะ หาใช่ตามที่เข้าใจกันไม่ จักเป็นไปได้เช่นไร ก็ในเมื่อตัวสภาวะที่เป็นองค์ธรรมก็ผิดอย่างเห็นประจักษ์ ต่อไปจะหาโอกาสสำทับสภาวะดังกล่าว ด้วยการนำเสนอชาดกที่เป็นขันติบารมีชัดๆ เพิ่มให้เพื่อนสหธรรมิคได้เข้าใจยิ่งขึ้นครับ




ขอขอบคุณ :-
ผู้เขียน : สมเกียรติ พลเดชอุดมคุณ
wevsite : dhamma.serichon.us/2020/11/06/ถามว่า-ระหว่างเมตตากับข/
Posted date : 6 พฤศจิกายน 2020 , By admin.
Photo : https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Patachara.jpg
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 02, 2022, 07:56:21 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ