ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: "พระพุทธรูป" เมื่อแรกสร้าง รับอุดมคติความงาม มาจาก "เทพอพอลโล" ของกรีก  (อ่าน 881 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28431
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0





"พระพุทธรูป" เมื่อแรกสร้าง รับอุดมคติความงาม มาจาก "เทพอพอลโล" ของกรีก

ข้อความในมหาปรินิพพานสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรหนึ่งในพระไตรปิฎก ได้ปรากฏข้อความอ้างถึงเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าได้เคยตรัสกับพระอานนท์เอาไว้ว่า

     “อานนท์.! ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอทั้งหลาย ธรรมวินัยนั้นจักเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย โดยกาลล่วงไปแห่งเรา.
      อานนท์.! ในกาลบัดนี้ก็ดี ในกาลล่วงไปแห่งเราก็ดี ใครก็ตามจักต้องมีตนเป็นประทีป มีตนเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ ; มีธรรมเป็นประทีป มีธรรมเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ”


แปลเป็นภาษาไทยปัจุบันง่ายๆ ได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงสั่งเสียว่า เมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว ให้พระภิกษุสงฆ์และสาวกทั้งหลาย ยึดเอา “พระธรรม” เป็นหลักของศาสนา และเป็นศาสดาแทนพระองค์ ไม่ให้ยึดเอาสิ่งอื่นที่ไม่ใช่พระธรรมเป็นสรณะ

ดังนั้น ถ้าจะว่ากันตามตัวบทในพระไตรปิฎกแล้ว ศาสนาพุทธแต่ดั้งเดิมจึงไม่ได้มีการสร้างอะไรที่เรียกกันว่า “พระพุทธรูป” หรอกนะครับ

พระพุทธรูปเพิ่งจะเริ่มปรากฏขึ้นในชมพูทวีปหลัง พ.ศ.500 โดยประมาณ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วก็มักจะยกความดีความชอบในการครีเอตพระพุทธเจ้าในรูปของมนุษย์ ไปให้กับลูกหลานชาว “กรีก” ที่อาศัยอยู่ในแคว้นแบกเตรีย (Bactria) และแคว้นคันธาระ (Gandhara) ทางทิศเหนือของชมพูทวีป

โดยชาวอินเดียมีศัพท์เรียกคนกลุ่มนี้ว่า “โยนก”

@@@@@@@

เรื่องของเรื่องนั้นเริ่มมาจากที่ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great, พ.ศ.207-220) กษัตริย์เชื้อสายกรีก ได้กรีฑาทัพมายึดโลกตะวันออก โดยได้ทรงรุกเข้ามาถึงชมพูทวีปแถบบริเวณแคว้นแบกเตรีย ในประเทศอัฟกานิสถานในปัจจุบัน และแคว้นคันธาระ บริเวณประเทศปากีสถานทุกวันนี้ คาบเกี่ยวมาถึงบางส่วนของรัฐปัญจาบ ประเทศอินเดีย โดยสามารถยึดครองแคว้นโบราณทั้ง 2 แห่งที่ว่านี้ได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม กษัตริย์หนุ่มพระองค์นี้ได้เกิดป่วยไข้อย่างกะทันหัน จึงต้องรีบเดินทางกลับไปยังเมืองมาซิดอน (คือมาเซโดเนียในปัจจุบัน) อันเป็นบ้านเกิดของตนเอง แต่ก็ได้สิ้นพระชนม์ลงเสียก่อนในระหว่างการเดินทางกลับ ที่พระราชวังเดิมของกษัตริย์เนบูคัดเนซซาร์ที่ 2 (Nebuchadnezzar II, ครองราชย์ก่อนพุทธศักราช 62-19 ปี) ในเมืองบาบิโลน

และก็เป็นช่วงก่อนที่จะเสด็จออกนอกชมพูทวีปนี่เอง ที่พระองค์ทรงทิ้งแม่ทัพนายกองชาวกรีกไว้ในชมพูทวีป ทั้งที่แบกเตรีย และคันธาระ จนทำให้มีลูกหลานชาวกรีกตั้งรกรากจนกลายเป็น ชาวโยนก ของพวกอินเดีย อยู่ในทั้งสองแคว้นดังกล่าวนั่นเอง

ดังนั้น เมื่อมีการสร้าง “พระพุทธรูป” รุ่นแรกๆ ของโลกขึ้นมาในบริเวณแคว้นคันธาระ ใครต่อใครจึงพากันยกว่าเป็นฝีมือของพวกกรีก ลูกหลานแม่ทัพของอเล็กซานเดอร์ ยิ่งเมื่อพวกกรีกมีฝีมือในการสร้างประติมากรรม สลักหินรูปเทพเจ้า และมนุษย์ต่างๆ อยู่แล้ว ก็เลยไม่เห็นจะแปลกอะไรนักถ้า พวกเขาจะเปลี่ยนไปจำหลักเป็นรูปพระพุทธเจ้าแทน? และจึงได้เรียกพระพุทธรูปที่มีรูปร่างหน้าตาราวเทพบุตรกรีกเหล่านี้ว่า พระพุทธรูปในศิลปะแบบคันธาระ


@@@@@@@

ถึงแม้ว่ากว่าที่จะมีการสร้างพระพุทธรูปขึ้นในแคว้นคันธาระนั้น จะเกิดขึ้นในช่วงของราชวงศ์กุษาณะ (Kushan) ซึ่งมีรากเหง้าเป็นชนเผ่าเร่ร่อน (nomad) กลุ่มหนึ่ง ที่ชาวจีนเรียกว่าพวก “เยว่จือ” และต่อมาจะเรียกตัวเองว่าพวก “ศกะ” (Saka)

พวกเยว่จือถูกชนเผ่าเร่ร่อนอีกกลุ่มคือ ซยงหนู ในมองโกเลีย ขับไล่จากที่ราบทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ แถบมณฑลก่านซู่ ในจีน เข้ามาตั้งถิ่นฐานแคว้นแบกเตรีย ที่พวกกรีกตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อนแล้ว และค่อยๆ มีอิทธิพลขึ้นมาเรื่อยๆ จนในที่สุดก็เติบโตแล้วตั้งเป็นราชวงศ์ขึ้นมา พร้อมกับอุปถัมภ์พุทธศาสนา จนมีการสร้างพระพุทธรูปขึ้นเป็นครั้งแรก

แต่เมื่อพิจารณาจากรูปร่างหน้าตาของพระพุทธรูปแบบคันธาระแล้ว ก็คงจะไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า พระพุทธรูปเหล่านี้ได้รับอิทธิพลจากศิลปะกรีก-โรมัน แบบเฮเลนนิสติกแบบแทบจะแยกกันแทบจะไม่ออกเลยทีเดียว

นักประวัติศาสตร์ศิลปะมักจะอ้างกันว่า พระพุทธรูปแบบคันธาระนั้น ได้แบบมาจากรูปของ “สุริยเทพอพอลโล” (Apollo) ในศาสนาของพวกกรีก-โรมัน

โดยเฉพาะรูปเทพอพอลโลที่รู้จักกันในชื่อเรียกว่า “Belvedere Apollo”


Belvedere Apollo ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ The Vatican Museum กรุงโรม ประเทศอิตาลี (ภาพจาก : https://en.wikipedia.org/wiki/Apollo)

ประติมากรรมรูป “Belvedere Apollo” นั้นสลักขึ้นจากหินอ่อน ในศิลปะโรมัน แบบเฮเลนิสติก อายุราว พ.ศ.650-700 แต่เดิมประดิษฐานอยู่ที่ไหนไม่มีประวัติแน่ชัด แต่ในยุคเรอเรสซองก์นั้น ประดับอยู่ในลานหอทัศนา (Cortile del Belvedere) ที่กรุงวาติกัน จึงเรียกกันว่า Belvedere Apollo โดยถือกันว่าเป็นประติมากรรมที่งามหยดเสียจนถูกนับว่า เป็นอุดมคติ (mastermind) ของการสร้างรูปเทพอพอลโล ให้แก่ศิลปินในยุคหลังจากนั้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็มักจะอ้างกันว่า รวมถึงพระพุทธรูปต่างๆ ในศิลปะคันธาระด้วย

คงจะไม่มีใครตอบได้ชัดๆ หรอกนะครับว่า พวกช่างเชื้อสายกรีกที่แคว้นคันธาระเมื่อ พ.ศ.500 หย่อนๆ นั้นจะมีรูป Belvedere Apollo เป็นแรงบันดาลใจจริงหรือเปล่า? เพราะก็ไม่มีหลักฐานระบุเอาไว้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรเสียหน่อย

แต่ถ้าช่างกรีกพวกนี้จะใช้รูปลักษณ์ของเทพอพอลโล เป็นตัวแบบในการสร้างพระพุทธรูปนั้นเป็นไปได้แน่

เพราะนอกจากอพอลโลจะเป็นสุริยเทพ และเทพแห่งแสงสว่างตามปรัมปราคติของกรีก-โรมันแล้ว ยังถูกนับถือในฐานะเทพแห่งดนตรีและการระบำรำฟ้อน, เทพแห่งการยิงธนู, เทพแห่งความจริงและการพยากรณ์ รวมถึงเป็นเทพเจ้าแห่งกวีนิพนธ์ และเทพแห่งการรักษาโรคภัยไข้เจ็บอีกด้วย

ที่สำคัญก็คือ พวกกรีก-โรมันถือว่า เป็นเทพเจ้าที่งดงามที่สุด และนับเป็นอุดมคติของความเป็นชายหนุ่มที่สะอาดสะอ้าน ไม่มีหนวดเครา


เศียรพระพุทธรูปในศิลปะคันธาระ (ภาพจาก : https://collections.vam.ac.uk/item/O25038/head-of-the-buddha-sculpture-unknown/)

ต้องอย่าลืมนะครับว่า เจ้าชายสิทธัตถะนั้นก็ทรงตัดพระเกศาคือ “เส้นผม” ทิ้งเมื่อออกมหาภิเนษกรมณ์ (คือ ออกบวช) นัยว่าเป็นการต่อต้านความเชื่อแบบพระเวท ที่นักบวชจะไว้ผมยาว และไม่ว่าพระองค์จะเพียงตัดให้สั้น หรือโกนออกทั้งหมดก็แล้วแต่ นักบวชในศาสนาของพระองค์ก็ต้องโกนผมทิ้งอยู่ดี

รูปเทพอพอลโลที่เป็นอุดมคติของหนุ่มรูปงามที่ไม่มีหนวดเครา จึงควรจะเป็นต้นแบบที่เหมาะสมที่สุด ในการสร้างพระพุทธรูปขึ้นมา

แต่ปัญหาก็คือ ความงามของเทพอพอลโลตามอุดมคติของพวกกรีกแบบนี้มี “เส้นผม” เป็นองค์ประกอบที่สำคัญด้วยสิครับ

ดังนั้น พวกช่างกรีกก็เลยเลือกที่จะปรับจูนให้ พระพุทธเจ้าเกล้าผมเป็นมวยขึ้นไปแทนอุษณียษะ (คือส่วนของกะโหลกที่ปูดนูนขึ้นมา อันเป็นหนึ่งในมหาบุรุษลักษณะของพระพุทธเจ้าตามที่พระไตรปิฎกอ้างไว้) ตามแนวคิดแบบมนุษยนิยม ที่เน้นความสมจริงตามสรีระของมนุษย์ อย่างที่กรีก-โรมันยึดมั่น

@@@@@@@

ในขณะเดียวกันก็ได้ช่างกรีกเหล่านี้ก็ได้เลือกที่จะประนีประนอมกับปรัมปราคติของชาวพุทธ ด้วยการสลักให้พระเกศาของพระพุทธเจ้านั้นขมวดวนตามทักษิณาวรรต (เวียนขวา) ตามมหาบุรุษลักษณะไปพร้อมๆ กันด้วย

พวกกรีกเหล่านี้มีความรู้ และคุ้นเคยกับศาสนาพุทธเป็นอย่างดี นับตั้งแต่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทิ้งกองทัพบางส่วนของพระองค์ไว้ทางตอนเหนือของชมพูทวีป ศาสนาพุทธกับวัฒนธรรมแบบเฮเลนนิสติกก็เกิดการปะทะสังสรรค์ และผสมผสานกันจนกลายเป็นวัฒนธรรมแบบที่เรียกว่า “Greco-Buddhism” โดยมีปกรณ์ชื่อดังในพุทธศาสนาที่ชื่อว่า “มิลินทปัญหา” หรือปัญหาของพระยามิลินท์ ซึ่งว่าด้วยเรื่องของการสนทนาธรรมระหว่างพระภิกษุที่ชื่อว่า พระนาคเสน กับพระเจ้าเมนันเดอร์ที่ 1 (Menander I, ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.378 หรือ 388-413) เป็นพยานปากเอก

ดังนั้น พวกรีกเขาจึงรู้ดีนะครับว่า นักบวชในพุทธศาสนา (ซึ่งก็ควรจะหมายรวมถึงพระพุทธเจ้าด้วย) นั้นย่อมโกนผมหมดทั้งหัวเสียจนเกลี้ยงเกลา แต่ที่พระพุทธรูปของพวกเขานั้นมีเส้นผมยาวแล้วขมวดเป็นมุ่นมวยผมไว้นั้นก็เป็นเพราะอุดมคติด้านความงามของชาวหนุ่มแบบเฮเลนนิสติก อันมีสุริยเทพอพอลโลเป็นภาพแสดงแทนนั่นเอง •






ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22-28 กรกฎาคม 2565
คอลัมน์ : On History
ผู้เขียน   : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2565
website : https://www.matichonweekly.com/column/article_580340
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ