ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: นิทานเรื่อง “นิโรธสมาบัติ”  (อ่าน 632 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
นิทานเรื่อง “นิโรธสมาบัติ”
« เมื่อ: สิงหาคม 14, 2022, 07:29:34 am »
0


นิทานเรื่อง “นิโรธสมาบัติ”

แนวคิดเรื่อง “นิโรธสมาบัติ” เป็นความพิเศษของพระพุทธศาสนา คือ ความสามารถของพระอริยบุคคลที่ดับนามขันธ์ ๔ และรูปขันธ์ (บางส่วน) ได้ โดยที่ยังมีชีวิตอยู่ ในปัญจโวการภูมิที่ตนได้สำเร็จฌานนั้น ๆ (ไม่เหมือนการดับนามขันธ์ ของพวกอสัญญสัตตพรหม ที่ต้องสิ้นชีวิตก่อนแล้ว จึงไปเกิดเป็นอสัญญีสัตว์ ไม่มีนามขันธ์ มีแต่รูปขันธ์, และไม่เหมือนพวกอรูปพรหมทั้งหลายที่ดับรูปขันธ์ได้เมื่อตายแล้วไปเกิดในอรูปภูมิ มีแต่นามขันธ์ ไม่มีรูปขันธ์)

แนวคิดเรื่องการดับ รูป – นาม นั้น เป็นแนวคิดของนักคิดค้นหาทางออกจากทุกข์ ด้วยคิดว่า นาม – รูป นั้น เป็นตัวทุกข์ เป็นต้นเหตุของทุกข์…(ว่าตามความจริงแล้ว ก็มาถูกทาง แต่เมื่อบุญ-บารมียังไม่พอ ก็เลยทำให้แฉลบนอกทางได้) ทฤษฎีการดับนาม-รูป มีก่อนพุทธกาลและร่วมสมัยกับพุทธกาล ดังที่ปรากฎในคัมภีร์ทางพุทธศาสนา

ทฤษฎีเรื่องการดับนามขันธ์ ก็คือแนวคิดของพวกอสัญญสัตตพรหม ด้วยเข้าใจว่า นามขันธ์ เป็นตัวรับรู้ทุกข์ในลักษณะต่าง ๆ เมื่อเจริญฌานจนถึง จตุตถฌาน (จตุกกนัย), หรือปัญจมฌาน (ปัญจกนัย) แล้ว มีแนวคิดเบื่อหน่ายในนามขันธ์ จึงเจริญฌานที่เรียกว่า “สัญญาวิราคภาวนา” คือภาวนาเพื่อคลายความยินดีพอใจในสัญญา (นามขันธ์) เมื่อได้สำเร็จฌานนั้น… สิ้นชีวิตลง ก็ไปเกิดเป็นอสัญญีสัตว์ในอสัญญสัตตภูมิ…ฯ

ทฤษฎีเรื่องการดับรูปขันธ์ ก็เป็นแนวคิดอีกอย่างหนึ่งของนักแสวงหาธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นจากทุกข์ (โมกษะ) ด้วยเข้าใจว่า รูปขันธ์นั้นพัวพันด้วยกามและเป็นเหตุของความทุกข์ต่าง ๆ จึงเกิดความเบื่อหน่าย และได้ค้นพบวิธีดับรูปขันธ์ได้สำเร็จ คือฌานที่เรียกว่า “รูปวิราคภาวนา” (ภาวนาที่คลายความยินดีพอใจในรูป) โดยอาศัยการเพิกรูปปัญจมฌานที่มีกสิณ ๙ เป็นอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่ตนได้แล้วนั่นเองเป็นบาท ทำอากาสานัญจายตนฌานให้เกิดขึ้น…ฯลฯ… จากนั้นเมื่อสิ้นชีวิต ก็ไปเกิดในภูมิที่ไม่มีรูปขันธ์ มีเพียงนามขันธ์ ๔ เท่านั้น…ฯ


@@@@@@@

แนวคิดเรื่องการดับรูปขันธ์ คือได้อรูปฌาน นี้ มีเจ้าลัทธิที่ปรากฎในคัมภีร์ทางพุทธศาสนา โดยชื่อของ “อาฬารดาบส กาลามโคตร, และอุทกดาบส รามบุตร” ดาบสทั้ง ๒ สามารถทำอรูปฌานที่ ๓ (และอรูปฌานที่ ๔ คือ อากิญจัญญายตนฌาน, และเนวสัญญานาสัญญายตนะ) ให้เกิดขึ้นได้ ตามลำดับ

(ตำราฝ่ายมหายาน กล่าวว่า “ดาบสทั้งสอง ได้เพียงอรูปฌานที่ ๓ คือ อากิญจัญญายตนฌานเท่านั้น” แต่อุทกดาบส สามารถบอกแนวทางให้กับพระโพธิสัตว์ทำได้ถึง เนวสัญญานาสัญญายตนะ, ตำราฝ่ายเถรวาท กล่าวเป็นนัยว่า อุทกดาบส ทำได้ถึงอรูปฌานที่ ๔) หลังจากสิ้นชีวิตแล้ว ดาบสทั้งสองก็ไปเกิดในอรูปภูมิ …ฯ

อรูปฌานทั้ง ๔ สามารถดับรูปขันธ์ได้ทั้งหมด, อนึ่ง เนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้น คล้าย ๆ จะมีความพยายามที่จะดับนามขันธ์ คือสัญญา (จริง ๆ ก็หมายเอานามขันธ์ทั้ง ๔) ด้วย จนได้ชื่อว่า “เนวสัญญานาสัญญายตนะ” คือมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ แต่จริง ๆ แล้วยังมีสัญญา มีนามขันธ์ ๔ ที่ละเอียด…ยังมีตัวรู้อยู่…ไม่ใช่ทางที่หลุดพ้นอย่างแท้จริง ซึ่งในข้อนี้ พระโพธิสัตว์ ถกเถียงกับอุทกดาบสมาแล้ว…

โดยพระโพธิสัตว์ ให้ความเห็นว่า “นิพพาน หรือโมกษะจริง ๆ ต้องดับอายตนะ คือ มนายตนะและธัมมายตนะ คือ ตัวรู้ (จิต-เจตสิก) จึงจะเรียกว่าถึงความดับ (ทุกข์ดับ) คือ นิพพานอย่างแท้จริง … (ขันธ์ ๕ เป็นตัวทุกข์) ตราบใดที่ยังมีตัวรู้ คือนามขันธ์อยู่ นั่นไม่ใชทุกข์ดับอย่างแท้จริง เพราะ “นิพพาน คือ ภาวะที่ไม่มีกิเลสและขันธ์ ๕”

@@@@@@@

แนวคิดหรือทฤษฎีในทางพุทธศาสนา ก็คือ ว่า

ฌานระดับโลกียะ คือ รูปปัญจมฌาน ที่มีสัญญาวิราคภาวนาเป็นอารมณ์ สามารถดับนามขันธ์ ๔ ได้ ด้วยกำลังแห่งฌาน (เป็นแนวคิดของพวกอสัญญีสัตว์)

แนวคิดของลัทธิรูปวิราคภาวนา ให้สำเร็จการดับรูปขันธ์ได้ ด้วยกำลังแห่งฌาน และเมื่อถึงอากิญจัญญายตนะ ซึ่งมีนัตถิภาวบัญญัติเป็นอารมณ์ มีพยายามที่จะดับสัญญา (ตัวรู้) ก็เพ่งอากิญจัญญายตนะฌานของตนที่ดับไปแล้ว และสำเร็จฌานใหม่ขึ้นมาอีกโดยชื่อว่า “เนวสัญญานาสัญญายตนะ”

เนวสัญญานาสัญญายตนะฌานลาภีบุคคล เข้าใจว่า “ตนบรรลุโมกษะสิ้นสุดแล้ว จึงพอใจอยู่ในอารมณ์และเสวยสิ่งนั้นตามความเข้าใจผิดของตนเอง”

แนวคิดทั้ง ๒ ค่ายดังกล่าวมานี้ ดับนาม และดับรูปได้ ด้วยกำลังแห่งฌาน ซึ่งเป็นการดับที่ปลายเหตุ (แต่ก็ถือว่าชั้นยอด)

    - แนวคิดของพระโพธิสัตว์พุทธเจ้า เห็นว่า “เนวสัญญานาสัญญายตนะ” นั้น ไม่ใช่โมกษะอันเป็นอันติมะ เพราะมีตัวรู้ (นามขันธ์ ๔) อยู่ แนวคิดของพระองค์คือ “ต้องดับทั้งนามและรูป” และแล้ว ปฏิปทาเพื่อดับนามและรูป จึงเกิดขึ้น คือต้องคลายความยินดีพอใจทั้งนามและรูป (นามรูปวิราคภาวนา) ภาวนาเพื่อคลาย เพื่อสำรอก…ฉันทราคะ (ตัณหา) ซึ่งเป็นต้นเหตุ เป็นมูลราก (สมุทัย) ของนามและรูป (เป็นการดับที่ต้นเหตุของนาม-รูปอย่างแท้จริง)

    - เมื่อพระโพธิสัตว์พุทธเจ้าทำสำเร็จ คือบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ทรงได้นามว่า “สัพพัญญุตญาณสัมมาสัมพุทธ” แล้ว เพื่อแสดงให้ชาวโลกและเจ้าลัทธิต่าง ๆ ได้รู้ว่านี่ คือนิพพาน อันเป็นอันติมะสิ้นสุดทุกข์อย่างแท้จริง ก็ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง คือนิโรธสมาบัติ (สามารถดับจิตได้จริง ๆ) เมื่อออกจากนิโรธสมาบัติแล้ว ก็ยังดำรงชีวิตอยู่ มาเล่าประสบการณ์การเข้านิโรธสมาบัติให้ชาวโลกและเจ้าลัทธิต่าง ๆ ฟังได้… แต่ถ้านิพพานจริง ๆ คือดับขันธปรินิพพาน … ก็ไม่มีโอกาสกลับมาเล่าถึงนิพพานแบบ อนุปาทิเสสนิพพาน ได้อีกแล้ว


@@@@@@@

ข้อสังเกต

“นิโรธสมาบัติ” เกิดต่อจากเนวสัญญานาสัญญายตนะฌานจิตกุศล-กริยา คือ เนวสัญญาณาสัญญายตนะ…นั้น จิตก็จวนเจียนจะดับอยู่แล้ว คือ พอขณะที่สองของเนวสัญญายตนะกุศล หรือ กริยา…ดับลง ไม่มีจิตเกิดต่ออีก คือ จิตขาดช่วงไป จะเป็นระยะสั้น ๆ เป็นนาที, เป็นชั่วโมง, เป็นวัน, เป็น ๗ วัน ก็ตาม ก็ถือว่าจิตไม่ได้เกิดติดต่อกันและขาดหายไปหลายขณะจนนับไม่ได้ว่ากี่แสน กี่ล้านขณะ…,

สมมติว่าจิตจะเกิดต่อจากเนวสัญญา… จิตนั้นควรจะเป็นจิตอะไร.?
ก็ต้องตอบว่า “อนาคามิผล-อรหัตตผลจิต”
รู้ได้อย่างไร.? ก็รู้ได้ตรงที่ เมื่อพ้นจากนิโรธสมาบัติแล้ว ก็มี อนาคามิผล-อรหัตตผลจิต ดวงใดดวงหนึ่งเกิดขึ้น (แล้วแต่ผู้ใดเข้านิโรธสมาบัติว่าเป็นพระอนาคามีหรือเป็นพระอรหันต์) (ในข้อนี้ตรงตามนัยของ “มิคปทวลัญชนัย”

นัยที่อุปมาดุจนายพรานตามรอยเท้าของเนื้อไป เมื่อเนื้อวิ่งอยู่บนแผ่นดิน ก็เห็นรอยเท้าได้ชัดเจน แต่เมื่อเนื้อวิ่งข้ามแผ่นหินไป ไม่มีรอยเท้าปรากฎให้เห็น นายพรานจะรู้ว่าเนื้อไปทางไหน ก็ไปเดินดูรอบ ๆ ของแผ่นหิน เมื่อเนื้อวิ่งพ้นแผ่นหิน ก็ต้องเหยียบลงที่แผ่นดิน รอยเท้าก็จะปรากฏให้นายพรานได้เห็น) อุปมาฉันใด…อุปไมยก็ฉันนั้น ฯ

@@@@@@@

สรุปว่า “จิตที่ไม่เกิด คืออนาคามิผล - หรือ อรหัตตผล” (คือถึงคิวของตนเองที่จะเกิดต่อจากเนวสัญญา…แต่ไม่เกิด) เมื่อไม่เกิด ก็เลยพูดว่า “จิตดับ” (นิโรธ) เมื่อพูดว่า จิตดับ ก็คงมีหลายท่านที่คิดว่า เนวสัญญานา…กุศลหรือกริยานั่นแหละดับ เพราะเป็นดวงสุดท้ายก่อนที่จิตจะขาดช่วงไป, จริง ๆ จิตทุกดวง ก็เกิด-ดับ ๆ อยู่แล้ว…แต่การเกิด-ดับ โดยปกติของจิตทั้งปวง ก็เกิด-ดับติดต่อกันไป ไม่มีช่วงระยะเวลาที่จิตดวงก่อนดับไปแล้ว จิตดวงต่อมาที่จะเกิดต่อ ต้องรอเวลานาน ๆ เหมือนนิโรธสมาบัติ…ฯ (ไม่ควรจะกล่าวว่า “จิตทั้งหมด ดับ” จริง ๆ จิตเกิดได้ทีละดวงอยู่แล้ว)

(เรื่อง “นิโรธสมาบัติ” เป็นเรื่องของ พระอนาคามี,และพระอรหันต์ ผู้มีอธิการอันได้กระทำไว้แล้ว…ปุถุชน ก็เพียงรับรู้และเชื่อตาม…เท่านั้น, แต่เพียงแค่เชื่อ อย่างมีเหตุผล และทำจิตให้เลื่อมใส…ก็ได้บุญกุศลมหาศาลแล้ว…)






ขอขอบคุณ :-
ผู้เขียน : นิติเมธี – เขียน ๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๕
website : dhamma.serichon.us/2022/08/11/นิทานเรื่อง-นิโรธสมาบั/
Posted date : 11 สิงหาคม 2022 ,By admin.
Photo : pinterest
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ