ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ‘ฉันทำดี ก็ต้องชมฉันสิ.’ แต่ทำไมเราถึงอึดอัดใจ เมื่อได้รับคำชม.?  (อ่าน 992 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


‘ฉันทำดี ก็ต้องชมฉันสิ.’ แต่ทำไมเราถึงอึดอัดใจ เมื่อได้รับคำชม.?

“ทำงานเรียบร้อยดีจัง ไม่รู้จะติอะไรเลย”
“โปรเจ็กต์ที่รับไปนี่ออกมาดีมากเลยนะ คุณนี่เก่งจริงๆ”
เวลาที่เจ้านายออกปากชม คุณรู้สึกยังไง?

แหม่ ก็ต้องดีใจน่ะแหละ แต่พอวูบหนึ่ง กลับเริ่มรู้สึกอึดอัด ไม่สบายใจ หรือบางทีก็อายหน่อยๆ ด้วยซ้ำ

ความอึดอัดใจเมื่อได้รับคำชม จริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแบบอัตโนมัติ (knee-jerk reaction) สำหรับคนส่วนใหญ่ Christopher Littlefield ผู้ก่อตั้ง AcknowledgmentWorks บริษัทวิจัยด้านจิตวิทยา ได้เคยทดลองนั่งคุยกับคนในรถไฟใต้ดินทุกวัน ด้วยความอยากรู้ว่า เวลาที่คนเราได้รับคำชม เรารู้สึกและแสดงออกยังไง

คน 300 คน จากหลากหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานที่จอดรถ CEO หมอ นักศึกษา อาจารย์ ฯลฯ 88% รู้สึกดีใจแหละ ที่มีใครสักคนเอ่ยชมพวกเขา แต่ขณะเดียวกัน 68% กลับเกิดความรู้สึกอายหรือไม่สบายใจไปพร้อมกัน

เหตุผลหลักๆ คือเราไม่รู้จะรับมือกับคำชื่นชมนั้นอย่างไร




ทำไมเราถึงรู้สึกอึดอัดเมื่อได้รับคำชม ทั้งๆ ที่ควรจะเป็นเรื่องน่าดีใจ

อย่างแรกคือ ‘ความขัดแย้งในจิตใจ’ (cognitive dissonance) เราอยากจะกระโดดเข้ารับคำชม แต่เราก็กลัวสังคมประณาม เพราะเหมือนเราถูกสอนมา ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ว่าการโอ้อวดหรือฉายสปอทไลท์ให้ความดีหรือความสำเร็จของตัวเองเป็นสิ่งไม่ดี (และบางทีก็จะดูน่าหมั่นไส้) การออกตัวรับคำชม เลยอาจส่งผลให้ตีความได้ว่า “อ๋อ ใช่ ฉันเก่ง ฉันดี” พอเกิดความไม่สบายใจ หลายคนเลยแสดงออกมาในรูปแบบของ humblebrag หรือการแสร้งถ่อมตัว เพื่อลดความขัดแย้งในใจที่เรามี

เป็นไปได้เหมือนกันที่ความอึดอัดใจนั้น เกิดจาก ‘ความไม่เชื่อ’ ไม่ได้หมายความว่าคนชมโกหกอะไรยังงั้นนะ แต่กับคนที่เชื่อมั่นในตัวเองต่ำ (lower self-esteem) จะรู้สึกแย่มากๆ เมื่อได้รับคำชื่นชม เพราะรู้สึกว่าสิ่งที่เขาได้รับฟังมา มันไม่ได้ตรงกับสิ่งที่เขามองเห็นว่าตัวเองเป็น ในบางราย คำชมถึงกับเป็นตัวจุดชนวนให้เกิด Imposter syndrome หรืออาการทางจิตที่รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า ไม่ควรคู่กับความสำเร็จ และไม่เก่งจริงได้เลย กลับกลายเป็นว่าอาจจะรู้สึกแย่กว่าตอนที่ยังไม่ได้รับคำชมเสียอีก

อีกเหตุผลที่หลายคนที่ไม่สบายใจกับคำชื่นชม มาจาก ‘ความรู้สึกโดนตัดสิน’ ในทางจิตวิทยา คำชมเป็นการแสดงความใกล้ชิดสนิทสนมไปในตัว คนที่ชมเราได้ ก็แปลว่าน่าจะรู้จักเรามากพอที่จะมั่นใจจะพูดคำนั้นออกมา และหวังว่ามันจะมีความหมายกับเรา นั่นสร้างความอึดอัดให้เรา ว่าในฐานะคนที่เธอชม ฉันจะทำอะไรได้ ซ้ำร้าย บางครั้งยังพาลให้รู้สึกถึงความความหวังที่คนชมมี ถ้าบอสชมว่าทำงานดี ต่อไปนี้คือทำดีเสมอตัวแล้วนะ และจะทำพลาดไม่ได้ด้วย รู้สึกเหมือนโดนยกขึ้นเวที ฉายสปอตไลท์ให้คนมองเสียอย่างนั้น

สำหรับบางคน ความไม่สบายใจที่เกิดขึ้นเมื่อได้รับคำชมเพราะ ‘ความรู้สึกผิด’ คือรู้สึกว่าเป็นคนที่กอบโกยเอาความดีความชอบ และความรู้สึกชื่นชมของคนอื่นเข้ามาให้ตัวเองมากเกินไป นอกจากนี้ ยังมีคำอธิบายในเชิงชีววิทยาด้วยว่า เมื่อเราได้รับคำชม สมองส่วนที่ถูกกระตุ้นเป็นส่วนเดียวกันกับเวลาที่เราอยู่ใกล้คนที่เราชอบ มันก็เลยเป็นไปได้ที่จะรู้สึกอึดอัดและเขินอาย




รับมือกับคำชมยังไงดี

อย่างที่บอกว่า เป็นไปได้ว่าความรู้สึกอึดอัด ไม่สบายใจ หรืออับอายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแบบอัตโนมัติ (knee-jerk reaction) สิ่งที่ตามมากับความอับอาย ก็มีหลายรูปแบบ ทั้ง humblebrag, ชมมาชมกลับ (compliment ping-pong), ผลักคำชมให้คนอื่น, หรือไม่ก็ปฏิเสธคำชมนั้น โยนมันทิ้งไปเลย

James O. Pawelski จาก University of Pennsylvania ไม่เห็นด้วยกับวิธีรับมือกับคำชมทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เขาบอกว่านั่นคือพฤติกรรมที่เป็นอุปสรรคต่อการรับสิ่งดีๆ เข้ามาให้ตัวเรา (self-aggrandizement) รวมถึงว่า การรับมือกับคำชมเหมือนเป็น ‘hot potato’ เป็นของร้อนที่ถือไว้ในมือ แล้วเลี่ยงด้วยวิธีส่งต่อมันให้คนอื่น ยังเป็นการโยนปัญหาไปให้คนอื่นอีก

Pawelski เขียนไว้ในหนังสือ Happy Together: Using the Science of Positive Psychology to Build Love That Lasts ของเขาว่า 3 ขั้นตอนง่ายๆ ในการรับมือกับคำชมแบบเฉพาะหน้าคือ ‘accept, amplify, advance’

Accept น้อมรับคำชมนั้นด้วยการกล่าวขอบคุณ
Amplify รับมันเข้ามาในตัวเรา รู้สึกถึงคำชมนั้น ดีใจไปกับมัน
Advance ต่อยอดด้วยการถามคำถาม ที่นำบทสนทนาไปสู่สิ่งอื่น สิ่งที่จะทำให้งานหรือตัวเราดีกว่านี้




โอบกอดคำชื่นชมแบบพอดีๆ

แม้ในหลักการกระโดดเข้ารับคำชมของ Pawelski ก็ยังคงมีน้ำเสียงของความถ่อมตนอยู่ (humility) เพราะการรับคำชม ก็ยังต้องบาลานซ์ตัวเองให้ดีระหว่างการสร้างความภูมิใจให้ตัวเองกับการหยิ่งผยอง ซึ่งทั้งสองอย่างแสดงผลลัพธ์ในเชิงพฤติกรรมที่แตกต่างกันด้วย

ทางจิตวิทยาแบ่งความภูมิใจในตัวเองไว้เป็นสองแบบ คือความภูมิใจที่แท้จริง (authentic pride) กับความหยิ่งผยอง (hubristic pride) University of Miami เคยศึกษาจากคน 1,000 คน ที่จำแนกให้อยู่ในสองกลุ่มนั้นด้วยระดับฮอร์โมน Testosterone และ Serotonin

กลุ่มคนที่มี Authentic Pride จะควบคุมตัวเองได้ดี มีความอดทน ยึดมั่นกับเป้าหมาย ช่วยเหลือและแนะนำคนอื่น ขณะที่กลุ่ม Hubristic Pride ถูกขับเคลื่อนด้วยผลประโยชน์ เต็มไปด้วยทิฐิ มีแนวโน้มที่จะก้าวร้าวหรือวิตกกังวลง่าย เพราะพะวงว่าจะต้องควบคุมสิ่งต่างๆ และต้องเหนือกว่าคนอื่นตลอดเวลา เพื่อให้ได้มาซึ่งคำชื่นชม

มันดีอยู่แล้วแหละ เมื่อเราได้รับคำชม เมื่อมีคนเห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำ ไม่ผิดเลยที่เราจะคว้าคำชื่นชมเหล่านั้นมาโอบกอด ถ้าเรารู้จักทำมันแบบพอดี ไม่กอดมั่นแน่นเกินไปจนกลายเป็นความหยิ่งผยอง และ ‘accept, amplify, advance’ ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มที่ดีในการเป็นกำลังใจให้ตัวเราเอง รวมถึงช่วยให้เราพัฒนาตัวเองขึ้นไปได้อีก


อ้างอิงจาก : hbr.org , thecut.com , observer.com , ideas.ted.com
ที่มา : https://thematter.co/brief/accept-compliment/45049?utm_source=LINE&utm_medium=Content+Discovery&utm_campaign=LINE+TODAY
https://today.line.me/TH/pc/article/‘ฉันทำดี+ก็ต้องชมฉันสิ+’+แต่ทำไมเราถึงอึดอัดใจเมื่อได้รับคำชม-XM7ka0
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 05, 2018, 08:25:10 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

นักเดินทาง

  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรมรรค
  • *****
  • ผลบุญ: +2/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 695
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
บันทึกการเข้า