ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: จุดเริ่มต้นของ "เถรวาท" ในลังกา  (อ่าน 1089 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
จุดเริ่มต้นของ "เถรวาท" ในลังกา
« เมื่อ: มิถุนายน 10, 2019, 07:33:05 am »
0



จุดเริ่มต้นของ "เถรวาท" ในลังกา

กําลังอ่านงานของพุทธโฆษาจารย์ ก็เลยนำมาสู่บทความนี้ ซึ่งถือว่าเป็นงานเขียนที่ย่อยความรู้ความเข้าใจในหัวข้อที่ตั้งไว้ มีความเข้าใจกันโดยทั่วไปว่า เถรวาทนั้น เริ่มต้นตั้งแต่ปฐมสังคายนา ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังพุทธปรินิพพาน ประมาณ 3 เดือน เมื่อพระมหากัสสปเถระเป็นประธานในการประชุมสงฆ์ เข้าใจกันว่าเป็นพระอรหันต์ล้วน โดยมีพระอานนท์เถระ เป็นพระอรหันต์รูปสุดท้ายที่เข้าร่วมประชุมด้วย

นัยยะต่อเนื่องที่สืบสายมาเป็นเถรวาท ก็คือ เรื่องที่ในที่ประชุมไม่สามารถตกลงกันได้ว่า ที่พระพุทธองค์เคยทรงอนุญาตไว้ว่า ต่อไปในอนาคต อาบัติเบา หากสงฆ์เห็นพ้องกันก็สามารถยกขึ้นได้ หรือเพิกถอนได้นั้น จะขีดเส้นตรงไหนที่จะถือว่าเป็นอาบัติหนักที่ต้องรักษาไว้ และตรงไหนที่เป็นอาบัติเบาที่อาจจะเพิกถอนได้ เมื่อคณะสงฆ์ตกลงกันไม่ได้ ย้อนกลับไปปรับอาบัติกับพระอานนท์อีกว่า ไม่ทูลถามให้รอบคอบ

ในที่ประชุมสงฆ์นั้น พระมหากัสสปเถระ ผู้ทำหน้าที่เป็นประธานสงฆ์ จึงเสนอให้รักษาของเก่าไว้ทั้งหมด ไม่มีการเพิ่มเติมของใหม่ เมื่อในที่ประชุมไม่มีเสียงเป็นอื่น คือไม่มีผู้คัดค้าน ให้ที่ประชุมถือตามมติของพระมหากัสสปเถระ


@@@@@@

อันนี้เป็นท่าทีในสังฆกรรมที่ปรากฏ เช่น การอุปสมบท จะมีการถาม 3 ครั้ง หากมีรูปใดเห็นต่างก็จะแสดงความเห็นตรงนี้ หากสงฆ์เงียบก็จะถือว่าทุกรูปยอมรับตามนั้น แล้วสวดครั้งที่ 4 คือประกาศว่าผู้นั้นได้รับการยอมรับว่าเป็นภิกษุ พระสงฆ์ผู้ถือตามมติครั้งนั้น เรียกว่า เป็นผู้ถือเอาตามวาทะของพระเถระ จึงเป็นต้นเค้าของเถรวาท ทั้งหมดที่ว่ามาแล้วนั้น จะไม่มาถึงยุคสมัยของเราได้เลย หากไม่มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐาน

ในตอนที่พระพุทธองค์กำลังจะทรงดับขันธ์ปรินิพพานนั้น พระอานนท์ทูลถามว่า จะมีการแต่งตั้งผู้ใดเป็นผู้นำสงฆ์เมื่อพระพุทธองค์สิ้นไปแล้ว พระพุทธองค์กลับทรงเตือนพระอานนท์ ผู้เป็นทั้งพุทธอนุชาและพุทธอุปัฏฐาก ว่าได้ประทานไว้แล้วทั้งหมดทั้งสิ้น ให้ถือพระธรรมและพระวินัยเป็นปทีป (ปทีป แปลว่า เกาะ โดยนัยยะว่าให้เป็นหลักที่ยึดถือ)

พระไตรปิฎกได้รับการจารลงบนใบลานครั้งแรกประมาณ พ.ศ.450 ที่วัดอาลุวิหาร นอกเมืองแคนดี้ในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ในเกาะลังกา ก่อนหน้านั้น สืบทอดกันมาโดยการทรงจำของพระสงฆ์ เช่น อาจารย์ท่านหนึ่งเป็นผู้มีความสามารถทรงจำพระสูตรหัวข้อนี้ ผู้ที่เข้าไปสมัครเป็นลูกศิษย์สายท่าน ก็จะได้รับการถ่ายทอดพระสูตรนั้นๆ พระธรรมวินัยที่แสดงไว้ดีแล้วโดยพระพุทธเจ้านั้น ส่งผ่านมาหลายยุคหลายสมัยโดยการทรงจำ

@@@@@@

จากพระธรรมวินัยที่ปรากฏในปัจฉิมโอวาท คือโอวาทครั้งสุดท้ายของพระพุทธเจ้า เมื่อ 450 ปีผ่านไป ศาสนาพุทธไปประดิษฐานในศรีลังกาแล้ว เมื่อเกิดภัยภิบัติทางธรรมชาติขึ้น พระสงฆ์กระจัดกระจายกันออกไป เมื่อบ้านเมืองเข้าสู่ภาวะปกติ พระเจ้าแผ่นดินของศรีลังกามีความปริวิตกว่า หากพระธรรมวินัยอยู่กับตัวบุคคล คืออยู่กับพระสงฆ์ หากมีภัยภิบัติ พระศาสนาก็จะสูญหายไปได้ จึงโปรดให้มีการจารคำสอนขึ้นเป็นครั้งแรก กลายเป็นพระไตรปิฎก หมายความว่า สามตะกร้า ที่ว่าสามตะกร้านั้น เพราะในการจารคำสอนลงบนใบลานครั้งแรกนั้น รวบรวมใบลานที่จารแล้ว แยกกันตามหมวดลงในสามตะกร้า หมายถึงสามหมวด พระไตรปิฎกที่ว่านี้ เป็นอักษรสิงหล

ร่วมสมัยกันก็มี พงศาวดารในคริสต์ศตวรรษที่ 4 คือ คัมภีร์ทีปวงศ์ และคัมภีร์มหาวงศ์ คริสต์ศตวรรษที่ 5 พงศาวดารที่ว่านี้ มุ่งเน้นการบันทึกประวัติศาสตร์ของศรีลังกาเป็นหลัก แต่ก็อีกนั่นแหละ ประวัติศาสตร์ของศรีลังกาเกิดการรวบรวมขึ้นเมื่อพุทธศาสนาไปถึงที่เกาะนั้น ในพุทธศตวรรษที่ 3 ในสมัยของพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะของศรีลังกา และพระเจ้าอโศกมหาราชของอินเดีย นอกจากคัมภีร์หลักที่ว่านี้ ก็มีอรรถกถาอีกจำนวนหนึ่ง ทั้งหมดเป็นภาษาสิงหล

บุคคลสำคัญที่เดินทางเข้ามาในศรีลังกาในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 5 เป็นพระภิกษุชาวอินเดีย ผู้เขียนค่อนข้างจะแน่ใจว่าเป็นอินเดียใต้ โดยหลักฐานทางภูมิศาสตร์ แต่ก็มีความพยายามในภายหลังที่จะเชื่อมโยงว่าท่านมีถิ่นกำเนิดที่พุทธคยา เพื่อให้ใกล้ศูนย์กลางของพุทธศาสนาในอินเดียมากขึ้น ท่านนี้คือ พุทธโฆษาจารย์ เมื่อท่านเข้ามาในศรีลังกาแล้ว เล่าเรียนภาษาสิงหลได้อย่างรวดเร็ว ได้รับการยอมรับในบรรดาพระเถระผู้ใหญ่ของศรีลังกา เมื่อท่านนำคัมภีร์ที่ท่านรวบรวมและแปลเป็นภาษาบาลีขึ้นถวายให้คณะสงฆ์พิจารณา จากนั้นก็ได้รับการยอมรับจากคณะสงฆ์ของศรีลังกาเป็นอย่างมาก


@@@@@@

พุทธโฆษาจารย์ได้ทำการแปลพระคัมภีร์ต่างๆ ที่เป็นภาษาสิงหลออกสู่ภาษาบาลี ซึ่งเป็นภาษากลางของชาวพุทธสายเถรวาท ไม่ว่าจะเป็นชาวพุทธในประเทศไทย พม่า มอญ เขมร ลาว หากเป็นเถรวาทแล้วก็จะใช้ภาษาบาลีเป็นหลักทั้งสิ้น นี่เป็นคุณูปการที่แท้จริงของท่านพุทธโฆษาจารย์ที่มีต่อโลกชาวพุทธเถรวาท

แม้ศรีลังกาจะถือว่าประเทศของตนเป็นศูนย์กลางพุทธสายเถรวาท แต่คำสอนและคัมภีร์ต่างๆ ยังเป็นภาษาสิงหล ก็ยากที่ชาวพุทธสายเถรวาทในประเทศอื่นจะเข้าใจได้ ในงานที่ถือว่า เป็นงานอรรถกถาของท่านเองนั้น ก็มิได้นั่งเทียนเขียน หากแต่ศึกษาจากบรรดาอรรถกถาที่เป็นภาษาสิงหลที่มีอยู่ในขณะนั้น

น่าสนใจที่งานอรรถกถาชิ้นแรกที่พุทธโฆษาจารย์ศึกษาและรวบรวมเขียนขึ้น เป็นเรื่องสมันตปาสาทิกา คือ อรรถกถาอธิบายพระวินัย ทั้งนี้เพราะท่านเห็นความสำคัญในการสืบสานพระศาสนาว่า หากพระสงฆ์ไม่เข้าใจ ไม่ศึกษาพระวินัยให้ละเอียดลึกซึ้งแล้ว ในระยะยาวจะเป็นอันตรายต่อพระศาสนาได้

@@@@@@

ในทางธรรม งานเด่นที่สุดของพุทธโฆษาจารย์เป็นเรื่องวิสุทธิมรรค ซึ่งอธิบายพระธรรมโดยละเอียดในประเด็นที่จะนำสู่การบรรลุธรรม เมื่อมีชื่อเสียงมากขึ้น อรรถกถาจารย์รุ่นหลังบางทีก็จะอ้างว่าชื่อท่านไปใช้งานของตน นักวิชาการทางพุทธศาสนาปัจจุบันยอมรับกันว่า อรรถกถาที่เป็นงานของพุทธโฆษาจารย์เองมีเพียง 14 เรื่อง

เมื่อพูดถึงจุดเริ่มต้นของพุทธศาสนาเถรวาท ต้องไม่ลืมที่จะให้เครดิตกับท่านพุทธโฆษาจารย์ หากไม่มีผู้บันทึก ผู้แปล และรวบรวมออกเป็นภาษาบาลี ซึ่งเป็นภาษากลางของเถรวาทให้ชาวพุทธในประเทศอื่นได้ศึกษา บางทีเถรวาทก็อาจจะเกยตื้นที่เกาะศรีลังกาเสียละกระมัง

เสียดายอยู่อย่างหนึ่ง เมื่อท่านรวบรวมอรรถกถาของอาจารย์ซึ่งเป็นโบราณาจารย์ของศรีลังกาที่เป็นภาษาสิงหลเป็นฉบับของท่านแล้ว ท่านเผาคัมภีร์อรรถกถาของเดิมที่เป็นภาษาสิงหลทิ้งเสียหมด ในฐานะนักวิชาการ เราก็เลยไม่สามารถสอบทานขึ้นไปได้ว่า ตรงไหนเป็นของเก่า ซึ่งอาจจะผิดถูกอย่างไรไม่ทราบได้ และส่วนไหนเป็นสิ่งที่ท่านพุทธโฆษาจารย์เข้าใจ ตีความเอาเอง


@@@@@@

ท่านพุทธทาสเองก็เคยแสดงความเห็นแย้งกับการอธิบายของพุทธโฆษาจารย์ และท่านติงว่า เป็นความเข้าใจตามแบบพราหมณ์เดิมของท่านพุทธโฆษาจารย์เอง เช่น ในเรื่องการอธิบายปฏิจจสมุปบาทแบบข้ามภพข้ามชาติ เป็นต้น

งานสำคัญของพระสงฆ์ในสายเถรวาทอีกเรื่องหนึ่ง คือการศึกษา และรู้จักประวัติความเป็นมาของเถรวาท และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ ต้องมีความตระหนักว่า เถรวาทนั้นเป็นคำขยายคำว่าชาวพุทธ คือเราเป็นชาวพุทธสายเถรวาท รู้จักชั่งน้ำหนักระหว่าง ความเป็นพุทธกับความเป็นเถรวาท ต้องเอาความเป็นพุทธเป็นตัวตั้งเสมอ ถ้าเราเน้นความเป็นเถรวาทมากเกินไป เราจะทิ้งชาวพุทธส่วนใหญ่ที่เป็นสายมหายานและวัชรยาน ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องพิจารณา



ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 31 พฤษภาคม - 6 มิถุนายน 2562
คอลัมน์ : ธรรมลีลา
ผู้เขียน : ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ.2562
ขอบคุณ : https://www.matichonweekly.com/column/article_200257
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ