ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ใครมีวิปัสสนูปกิเลส ภูมิใจได้เลย!!! คุณมาถูกทางแล้ว ???  (อ่าน 4550 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



วิปัสสนูปกิเลส เครื่องมือวัดว่าปฏิบัติถูกทางหรือไม่
คัดลอกมาจาก บทเรียนพระอภิธรรมทางไปรษณีย์ชุดที่ ๑๐ เรื่อง วิปัสสนากรรมฐาน บทที่ ๔ ญาณ ๑๖

๔. อุทยัพพยญาณ
อุทยัพพยญาณ คือ ปัญญาเห็นความเกิดขึ้นและการปรวนแปรไปของปัจจุบันธรรมทั้งหลาย ได้แก่ เห็นรูปเกิด เห็นลักษณะแห่งความเกิดของรูปนั้น เห็นลักษณะที่รูปนั้นแปรผันไป การพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปของรูปขันธ์ พิจารณาเห็นลักษณะดังนี้

๑. พิจารณาเห็นความเกิดขึ้นของรูปขันธ์ โดยเหตุปัจจัยว่า เพราะอวิชชาเกิดรูปจึงเกิด เพราะตัณหาเกิดรูปจึงเกิด เพราะกรรมเกิดรูปจึงเกิด เพราะอาหารเกิดรูปจึงเกิด เมื่อพิจารณาเห็นลักษณะของความเกิด ผู้ปฏิบัติย่อมเห็นความเกิดขึ้นของรูปขันธ์ได้
(การพิจารณาเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน ยังต้องพิจารณาต่อไปอีกว่า รูปขันธ์เกิดเพราะอาหารเกิดเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ เกิดเพราะผัสสะเกิด วิญญาณขันธ์เกิดเพราะนามรูปเกิด)

๒. พิจารณาเห็นความเสื่อมไปแห่งรูปขันธ์ โดยเหตุปัจจัยว่า เพราะอวิชชาดับรูปจึงดับ เพราะตัณหาดับรูปจึงดับ เพราะกรรมดับรูปจึงดับ เพราะอาหารดับรูปจึงดับ เมื่อพิจารณาถึงความเสื่อมความแปรปรวนไปของรูป ผู้ปฏิบัติย่อมเห็นความเสื่อมไปของรูปขันธ์ได้ (การพิจารณาเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน)

ปัญญาขั้น อุทยัพพยญาณ มี ๒ คือ
๔.๑ ตรุณอุทยัพพยญาณ
๔.๒ พลวอุทยัพพยญาณ

๔.๑ ตรุณอุทยัพพยญาณ ผู้ปฏิบัติเมื่อพิจารณาปัจจุบันธรรมเหล่านั้นโดยไตรลักษณ์เข้าใจการเกิดการเสื่อมไปสิ้นไปของรูปนามอย่างชัดแจ้งแล้วตรุณอุทยัพพยญาณ หมายถึง อุทยัพพยญาณอย่างอ่อน ที่ยังมีวิปัสนูปกิเลสเกิดปะปนอยู่ย่อมเกิดขึ้น คือ ยังอยู่ในระหว่างการวินิจฉัยว่าใช่ทางหรือไม่ใช่ทาง



วิปัสสนูปกิเลส มี ๑๐ คือ

๔.๑.๑ โอภาส คือ แสงสว่าง หมายถึงแสงสว่างในวิปัสสนา
สำหรับผู้ปฏิบัติแต่ละท่านจะมีกำลังของแสงสว่างไม่เท่ากัน บางท่านส่องสว่างเพียงที่นั่ง ส่องสว่างตลอดภายในห้อง ส่องสว่างภายนอกห้องด้วย ส่องสว่างไปทั่ววิหารทั้งหมด เป็นต้น ส่องสว่างไปไกลเป็นโยชน์ๆ (แต่ของพระพุทธเจ้าส่องสว่างไปตลอด ๑๐,๐๐๐ โลกธาตุ)


เมื่อเกิดขึ้นอย่างนี้ผู้ปฏิบัติก็คิดว่า “แสงสว่างเช่นนี้ไม่เคยปรากฏแก่ตัวเราเลยเราคงบรรลุมรรคผลแน่แล้ว” เมื่อเข้าใจผิดเช่นนี้ก็ยึดถือเอาแสงสว่างนั้นเองว่าเป็นมรรคผล จึงเป็นเหตุให้วิปัสสนาญาณออกไปนอกทาง เพราะผู้ปฏิบัติจะละทิ้งอารมณ์วิปัสสนาเดิม แล้วกลับไปนั่งชื่นชมแสงสว่างนั้นอยู่ด้วยอำนาจของตัณหา มานะ และทิฏฐิ

โดยส่วนมากวิปัสสนูปกิเลสนี้มักเกิดแก่ผู้ที่เจริญวิปัสสนาภาวนา แบบสมถวิปัสสนา คือ เจริญสมถะมาก่อนแล้วจึงเจริญวิปัสสนาภายหลัง เมื่อเกิดโอภาสแสงสว่าง และกิเลสทั้งหลายก็ไม่เกิดขึ้นกับเราเลย

เพราะว่ากิเลสที่ถูกข่มไว้ด้วยอำนาจของสมาธิไม่สามารถกำเริบได้ จึงทำให้ผู้ที่ได้สมถวิปัสสนานั้นเกิดความคิดว่า “ได้เป็นพระอรหันต์”

๔.๑.๒ ญาณ หมายถึง วิปัสสนาญาณ
ในขณะที่ผู้ปฏิบัติกำลังเทียบเคียงไตร่ตรองรูป และนามทั้งหลายอยู่นั้น ญาณซึ่งมีกระแสอันปราดเปรียวแหลมคม แก่กล้าชัดแจ้งก็บังเกิดขึ้น ประดุจดังวชิระของพระอินทร์ที่ทรงซัดออกไป


ก็ทำให้ผู้ปฏิบัติหลงติดอยู่ในปัญญานั้นและทำให้เข้าใจผิดได้ว่าเราบรรลุแล้วหนอ เพราะปัญญาอันแก่กล้าเช่นนี้ที่ไม่เคยเกิดได้เกิดขึ้นแก่เรา ทำให้ละทิ้งอารมณ์กรรมฐานที่ควรเจริญไปเสีย

๔.๑.๓ ปีติ หมายถึง ความเอิบอิ่มที่ประกอบด้วยวิปัสสนา ปีติที่เกิดขึ้นในระยะนี้มี ๕ อย่าง คือ
๑. ขุททกาปีติ ความเอิบอิ่มเล็กน้อย
๒. ขณิกาปีติ ความเอิบอิ่มที่เกิดขึ้นชั่วขณะ
๓. โอกกันติกาปีติ ความเอิบอิ่มที่เกิดเป็นระลอกๆ
๔. อุพเพงคาปีติ ความเอิบอิ่มโลดแล่น
๕. ผรณาปีติ ความเอิบอิ่มซาบซ่านแผ่ไปทั่วกาย


๔.๑.๔ ปัสสัทธิ หมายถึง ความสงบในวิปัสสนา
ผู้ปฏิบัติวิปัสสนาภาวนากำลังนั่งอยู่ในที่พักกลางคืนหรือกลางวันก็ตาม ในขณะนั้นทั้งกายและใจของผู้ปฏิบัติจะปราศจากสิ่งรบกวนทั้งหลาย เช่น ความกระวนกระวาย ความหนัก ความแข็งกระด้าง ความไม่ควรแก่การงาน ความเจ็บไข้


แต่กายและใจของผู้ปฏิบัติจะประกอบไปด้วย ความสงบ ความเบา ความอ่อน ความควรแก่การงาน
ความผ่องใส ความเที่ยงตรง

บุคคลที่ประกอบไปด้วยปัสสัทธิเช่นนี้แล้วก็จะมีความเพลิดเพลินยินดีอยู่อย่างนั้น ทำให้ ทิ้งอารมณ์กรรมฐาน ไม่สามารถทำให้ญาณปัญญาในขั้นสูงเกิดขึ้นเพราะติดอยู่ในปัสสัทธิ

๔.๑.๕ สุข หมายถึง ความสุขที่ประกอบด้วยวิปัสสนา คือ
ในขณะที่ผู้ปฏิบัติบำเพ็ญวิปัสสนาอยู่นั้น ความสุขอันประณีตยิ่งก็จะเกิดขึ้นมาก ชนิดท่วมท้นไปทั่วสรีระ เป็นสุขชนิดที่ท่วมท้นหัวใจ ไม่สามารถที่จะบรรยายได้ เพราะเป็นสุขที่มีรสอันล้ำลึก เป็นสุขที่ประเสริฐกว่าความสุขธรรมดาที่มนุษย์พบเห็น

สรุปว่า บรรดาความสุขทั้งหลาย อะไรจะมาสุขเท่าสุขในวิปัสสนาไม่มี ฉะนั้นถ้าพิจารณาในสุขอย่างนี้ไม่รอบคอบจะทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจผิดยึดว่าสุขนี้เป็นมรรค เป็นผล



๔.๑.๖ อธิโมกข์ หมายถึง ความเชื่อ หรือ ศรัทธาที่ประกอบด้วยวิปัสสนา
อธิโมกข์ที่เป็นวิปัสสนูปกิเลสนี้ จะมีลักษณะความผ่องใสอย่างยิ่งของจิตและเจตสิก เป็นศรัทธาที่มีกำลังมาก เพราะจิตและเจตสิกผ่องใสเป็นอย่างยิ่ง ด้วยอำนาจศรัทธากล้า พาให้นึกคิดไปใหญ่โต เช่นคิดถึงคนทั้งหลายอยากให้เขาได้เข้ากรรมฐานอย่างตนบ้าง นึกถึงบุญคุณของพระพุทธศาสนา บุญคุณของอาจารย์ผู้สอน เป็นต้น


เมื่อคิดเพลิดเพลินไปด้วยศรัทธาอันแรงกล้าทำให้ผู้ปฏิบัติลืมอารมณ์กรรมฐาน ละเลยอารมณ์กรรมฐาน ทำให้เสียเวลาในการปฏิบัติวิปัสสนา ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะมีตัณหา มานะ ทิฏฐิ เข้ามาผสมกับศรัทธานี้ก็ยิ่งทำให้การบำเพ็ญไม่มั่นคง ไม่ก้าวหน้า

๔.๑.๗ ปัคคาหะ หมายถึง ความเพียรที่ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งเป็นความเพียรที่ไม่หย่อนเกินไป ไม่ตึงเกินไป ประคับประคองไว้เป็นอย่างดี พยายามในการปฏิบัติวิปัสสนาอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แต่ก่อนแม้อาจารย์จะคอยเตือนให้พยายามทำความเพียรก็รู้สึกเหน็ดเหนื่อยอ่อนเพลีย หมดความเพียร

แต่บัดนี้ความคิดเช่นนั้นหายไปสิ้น เกิดความขยันขึ้นเป็นพิเศษจนทำให้ตนเองแปลกใจว่า
เหตุใดตนจึงมีวิริยะมากไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยในการปฏิบัติเช่นนี้

และเมื่อพิจารณาไม่ดี ใส่ใจไม่ถูกก็จะเข้าใจผิดไปว่าได้มรรคผลแล้ว

๔.๑.๘ อุปัฏฐานะ หมายถึง สติที่ประกอบด้วยวิปัสสนา ซึ่งเป็นสติที่เข้าไปตั้งอยู่อย่างดีมั่นคงฝังลึกไม่หวั่นไหวประดุจภูเขาหลวง สติที่เป็นชนิดอุปัฏฐานะนี้ เมื่อเกิดแก่ผู้ปฏิบัติแล้ว ถ้ารำพึงหรือนึกถึงอารมณ์ใด อารมณ์นั้นก็ปรากฏชัดเจนมากที่สุด ชนิดว่าไม่เคยเกิดกับตนเช่นนี้มาก่อน

ทำให้ผู้ปฏิบัติหลงเข้าใจผิดว่าตนนั้นเป็นผู้วิเศษแล้ว แต่ที่จริงแล้วยังถูกครอบงำด้วย ตัณหา มานะ ทิฏฐิ

๔.๑.๙ อุเบกขา หมายถึง วิปัสสนูเปกขา และ อาวัชชนูเปกขา
วิปัสสนูเปกขา ได้แก่ ความเป็นกลางในสังขารทั้งปวง
ส่วนอาวัชชนูเปกขา ได้แก่ ความเป็นกลางที่เกิดขึ้นในมโนทวารนั่นเอง
อุเบกขาทั้งสองนี้เกิดขึ้นแก่ โยคีบุคคลผู้ซึ่งเริ่มต้นบำเพ็ญวิปัสสนา


เมื่ออุเบกขากำลังดำเนินไปอย่างนี้ ผู้ปฏิบัติรำพึงถึงอารมณ์ใด อุเบกขานั้นก็จะดำเนินไปอย่างแก่กล้าแหลมคม ไม่ยินดียินร้ายต่อทุกสิ่งเหมือนคนไม่มีกิเลสวางเฉยได้ทุกประการ จนตนเองก็แปลกใจในภาวะที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้เป็นยิ่งนัก

ถ้าเข้าใจผิดก็จะคิดไปว่าตนเป็นพระอรหันต์แล้ว เพราะวางเฉยได้เป็นอย่างดีแล้ว

๔.๑.๑๐ นิกันติ หมายถึง ความยินดีพอใจในวิปัสสนา นิกันตินี้เป็นสภาพที่มีอาการสุขุม และเมื่อเกิดแก่ผู้ปฏิบัติแล้ว ย่อมทำความติดใจหรืออาลัยต่อวิปัสสนูปกิเลส ได้แก่โอภาส เป็นต้น

นิกันติในวิปัสสนานี้ เป็นความยินดีพอใจที่ใครๆ ไม่สามารถกำหนดรู้ได้ว่าเป็นกิเลส เพราะเป็นสภาพของกิเลสที่ละเอียดมาก

การที่ธรรมทั้ง ๑๐ ประการนี้จัดเป็นกิเลสของวิปัสสนา ก็เพราะว่า เมื่อธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นจะทำให้ติดอยู่ในอารมณ์นั้นแล้วจะทำให้รู้สึกว่าเป็นสุข เป็นเหตุให้เกิดความพอใจ

เมื่อความพอใจเกิดขึ้น การพิจารณารูปนามว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์ก็ไม่เกิดขึ้น จิตจะละเลยการปฏิบัติทำให้ไม่สามารถพิจารณาธรรมให้เห็นถึงไตรลักษณ์ จึงเป็นเหตุให้ไม่บรรลุมรรคผลได้เลย

วิปัสสนูปกิเลสทั้ง ๑๐ ประการนี้ ย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติทุกคนที่เป็นปุถุชน เมื่อบรรลุถึงอุทยัพพยญาณอย่างอ่อน

ฉะนั้นเมื่อวิปัสสนูปกิเลสเกิดขึ้นก็ให้พิจารณาให้ดีและให้มีสติ อย่าหลงอยู่ในวิปัสสนูปกิเลสเหล่านี้เป็นอันขาด เพราะจะทำให้การปฏิบัติหยุดชะงักไม่ก้าวหน้าถึงญาณเบื้องสูง



วิปัสสนูปกิเลสจะไม่เกิดกับบุคคล ๔ พวก คือ
๑. พระอริยสาวกผู้บรรลุปฏิเวธแล้ว
๒. ผู้ปฏิบัติผิดเริ่มตั้งแต่ศีลวิบัติ เครื่องมือวัดว่าปฏิบัติถูกทางหรือไม่ ก็คือ วิปัสสนูปกิเลสนี้เอง
๓. ผู้ละทิ้งกรรมฐาน
๔. ไม่มีแก่ผู้เกียจคร้าน แม้จะปฏิบัติถูกต้องมาตั้งแต่เริ่มต้น เมื่อวิริยะความเพียรน้อยก็ทำให้มีกำลังสมาธิอ่อน เพราะว่าอารมณ์ในวิปัสสนูปกิเลสนั้นเกิดขึ้นจากกำลังสมาธิ


ผู้ปฏิบัติเมื่อประสบกับวิปัสสนูปกิเลสแล้วควรทำอย่างไร
เมื่อผู้ปฏิบัติเป็นผู้มีสติอย่างดีเฉียบแหลม ผู้นั้นก็จะผ่านกับดักคือวิปัสสนูปกิเลสไปได้โดยการใคร่ครวญด้วยสติปัญญา ดังนี้

๑. โอภาสนี้เกิดขึ้นแก่เราแล้ว แต่สภาวะของโอภาสนั้นไม่เที่ยง มีปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยปัจจัยจึงเกิดขึ้น มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา

๒. ถ้าโอภาสนี้เป็นอัตตาแล้ว การยึดถือโอภาสว่าเป็นอัตตาก็สมควร แต่โอภาสนี้มิใช่อัตตา แต่เป็นอนัตตา เพราะว่าไม่เป็นไปในอำนาจ เป็นอนิจจัง เพราะว่ามีแล้วก็ไม่มี เป็นทุกขัง เพราะว่ามีการเบียดเบียน


เมื่อผู้ปฏิบัติที่ชาญฉลาดใคร่ครวญดังนี้แล้วก็จะเห็นเนืองๆ ในโอภาสว่า
 “โอภาสนี้มิใช่ของเรา เรามิใช่โอภาส โอภาสนี้มิใช่อัตตาของเรา”
(การพิจารณา ญาณ ปีติ เป็นต้นก็เป็นไปทำนองเดียวกัน)

เมื่อผู้ปฏิบัติพิจารณาเห็นอย่างนี้อยู่เสมอเนืองๆ ก็จะสามารถผ่านพ้นวิปัสสนูปกิเลสทั้งหลายได้

๔.๒. พลวอุทยัพพยญาณ พลวอุทยัพพยญาณ หมายถึง อุทยัพพยญาณอย่างแก่

อุทยัพพยญาณอย่างอ่อนในเบื้องต้นนั้น ไม่สามารถกำหนดรู้พระไตรลักษณ์ตามความเป็นจริงได้ เพราะถูกอุปกิเลส ๑๐ ครอบงำอยู่

ผู้ปฏิบัติจึงต้อง ทำความเพียรพยายามต่อไปอีก จนสามารถพ้นจากอุปกิเลส ๑๐ แล้ว อุทยัพพยญาณอย่างแก่ ที่ชื่อว่า พลวอุทยัพพยญาณก็จะเกิดขึ้น จึงสามารถกำหนดรู้พระไตรลักษณ์ได้อย่างชัดเจน

เหตุใดพระไตรลักษณ์จึงไม่ปรากฏ
๑. การที่อนิจจลักษณะไม่ปรากฏ เพราะสันตติปิดบังไว้ และเพราะไม่มนสิการ(พิจารณา)ความเกิดและความดับ

๒. การที่ทุกขลักษณะไม่ปรากฏ เพราะอิริยาบถทั้งหลายปิดบังไว้ และเพราะไม่มนสิการความเบียดเบียนเฉพาะหน้าด้วยความเกิดขึ้นและความดับไป

๓. การที่อนัตตลักษณะไม่ปรากฏ เพราะว่าฆนสัญญาคือความเป็นก้อนเป็นแท่ง หรือกลุ่มก้อนปิดบังไว้ และเพราะไม่มนสิการถึงความสลายตัวของธาตุต่างๆ

 

การพิจารณาเพื่อทำให้พระไตรลักษณ์ปรากฏ
๑. เมื่อกำหนดรู้ความเกิดและดับ แล้วเพิกถอนสันตติออกไปได้ อนิจจลักษณะ ก็ปรากฏตามสภาวะของตนตามความเป็นจริง

๒. เมื่อมนสิการความเบียดเบียนเฉพาะหน้าอยู่เนืองๆ แล้วเพิกถอนอิริยาบถออกไปได้ ทุกขลักษณะ ก็ปรากฏตามสภาวะของตนตามความเป็นจริง

๓. เมื่อกระจายธาตุต่างๆ ออกไป และพร้อมกับการกระจายฆนะความเป็นแท่ง หรือกลุ่มก้อนออกไปเสียได้ อนัตตลักษณะก็ปรากฏตามสภาวะของตนตามความเป็นจริง


๔. เมื่อผู้ปฏิบัติเจริญวิปัสสนาจนบรรลุถึงอุทยัพพยญาณอย่างแก่แล้ว ก็ย่อมจะพิจารณากำหนดรู้ในพระไตรลักษณ์ไปตามความเป็นจริงเช่นนี้ได้

อุทยัพพยญาณ คือปัญญาที่เห็นเนืองๆ ในความปรวนแปรของปัจจุบันธรรมทั้งหลาย คือปัญญาเห็นรูปที่เกิดแล้วซึ่งเป็นปัจจุบัน และเห็นความปรวนแปรของรูปนั้น เช่น กำลังดับ เป็นต้น หรือปัญญาที่เห็นอยู่เนืองๆ

ในลักษณะแห่งการเกิดหรืออาการใหม่ของรูปนามว่าเป็นความเกิดขึ้นและเห็นอยู่เนืองๆ ในลักษณะแห่งความปรวนแปรความสิ้นไปความแตกดับไปว่าเป็นความดับไป ก่อนที่รูปนามจะเกิดขึ้นก็ไม่ได้มีอยู่ที่ใด

เมื่อรูปนามเกิดขึ้นแล้วก็ไม่ได้เกิดมาจากที่ใด เมื่อรูปนามกำลังดับก็หาไปสู่สถานที่ใด เมื่อรูปนามดับแล้วก็ไม่ได้ไปตั้งอยู่ในสถานที่แห่งใดเลย

เปรียบเหมือนกับการบรรเลงพิณ คือ ก่อนที่เสียงจะเกิดขึ้น เสียงก็ไม่ได้เก็บไว้ในพิณ เมื่อเสียงกำลังเกิดขึ้นก็ไม่ได้มาจากตัวพิณ เมื่อเสียงกำลังดับก็ไม่ได้ไปอยู่ที่ใด เมื่อเสียงดับไปแล้วก็ไม่ได้ไปเก็บอยู่ที่ใด เสียงพิณนั้นไม่ได้มีอยู่ก่อน แต่เพราะอาศัยพิณและการบรรเลง เสียงพิณจึงปรากฏได้ ฉันใดก็ฉันนั้น

ธรรมทั้งหลายที่เป็นรูปและนาม ก็ไม่ได้มีมาก่อน แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยประกอบพร้อมรูปนามก็มีขึ้น เมื่อหมดเหตุปัจจัยก็ดับไป

รูปนามจะปรากฏชัดแก่ผู้พิจารณา โดยลักษณะ ๓ อย่าง ดังนี้
๑. อนิจจลักษณะ คือการเห็นความเกิดขึ้นและดับไปโดยขณะ และรู้ถึงความมีแล้วไม่มี รู้ความว่างเปล่าในเบื้องต้นและที่สุด

๒. ทุกขลักษณะ คือการรู้ถึงความเบียดเบียนเฉพาะหน้าด้วยความเกิดขึ้นและดับไป แม้สภาวลักษณะก็ปรากฏชัดด้วย เพราะมุ่งไปที่รูปนามที่เกิดขึ้นและดับไป สภาวลักษณะ ก็ปรากฏชัด เพราะรู้ว่าไม่มีความดับไปในขณะที่กำลังเกิดขึ้น และรู้ว่าไม่มีความเกิดขึ้นในขณะที่กำลังดับไป

๓. อนัตตลักษณะ คือการเห็นความเกิดขึ้นโดยปัจจัย และรู้ว่าธรรมทั้งหลายเป็นไปต่อเนื่องด้วยปัจจัยปราศจากผู้กระทำ


     จบ อุทยัพพยญาณ


บรรณานุกรม
๑) ปรมัตถโชติกะ หลักสูตรชั้นมัชฌิมอาภิธรรมิกะโท : พระสัทธัมมโชติกะ
: อภิธรรมโชติกะวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
: โรงพิมพ์ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ทิพยวิสุทธิ์ ; พิมพ์ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๓๙
๒) วิมุตติมรรค พระอุปติสสเถระ รจนา
พระเทพโสภณ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) และคณะ แปลจาก ฉบับภาษาอังกฤษ ของพระเอฮารา พระโสมเถระ และพระเขมินทเถระ
๓) วิสุทธิมรรค ๑๐๐ ปี สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ)
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) แปลและเรียบเรียง
๔) พระสูตร และ อรรถกถาแปล ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่มที่ ๗ ภาคที่ ๑- ๒

ขอบคุณภาพจาก http://i1045.photobucket.com/, http://www.dhammada.net/,http://www.hermitstar.com/,http://statics.atcloud.com/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 11, 2013, 12:20:04 pm โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ