ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: มหัศจรรย์ “พระนิรันตราย” พระพุทธรูปทองคำแท้ แคล้วคลาดจากการถูกลักขโมยถึงสองครั้ง  (อ่าน 1701 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28413
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0




      มหัศจรรย์ “พระนิรันตราย” พระพุทธรูปทองคำแท้ แคล้วคลาดจากการถูกลักขโมยถึงสองครั้ง

      ณ หอสุลาลัยพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่ง ซึ่งนอกจากเป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะแปลก ด้วยสร้างเป็น ๒ องค์ สร้างขึ้นครอบกันไว้เป็น ๒ ชั้นแล้ว ยังมีนามอันเป็นมงคล และมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจยิ่ง
       
       พระพุทธรูปสำคัญที่กล่าวถึงนี้ คือ “พระนิรันตราย” เป็นพระพุทธรูป ๒ องค์ สร้างครอบกันไว้ พระองค์ในเป็นพุทธศิลปะแบบทวารวดี ปางสมาธิ นั่งขัดสมาธิเพชร หล่อด้วยทองคำเนื้อหก หนักเจ็ดตำลึงสิบเอ็ดสลึง หน้าตัก ๓ นิ้ว สูง ๔ นิ้ว
       
       ส่วนพระองค์นอกซึ่งสร้างสวมครอบไว้นั้น เป็นพุทธศิลปะแบบรัตนโกสินทร์สมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นพระพุทธรูปปางขัดสมาธิเพชรเช่นเดียวกับองค์ใน แต่มีแบบอย่างพุทธลักษณะและครองผ้าแบบธรรมยุติ หน้าตักกว้าง ๕.๕ นิ้ว เบื้องหลังองค์พระนิรันตรายมีเรือนแก้วเป็นพุ่มพระมหาโพธิ์ มีอักษรขอมจำหลักในวงกลีบบัว เบื้องหน้า ๙ เบื้องหลัง ๙ พระคุณนามแสดงพระพุทธคุณ ตั้งแต่ “อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ” จนถึง “ภควา” ยอดเรือนแก้วมีรูปพระมหามงกุฎตั้งติดอยู่กับฐานล่างรองฐานพระ ซึ่งเป็นที่สำหรับรับน้ำสรงพระ มีท่อเป็นรูปศีรษะโค แสดงเป็นที่หมายพระโคตรซึ่งเป็นโคตมะ พระนามของพระพุทธเจ้ากัปป์ปัจจุบัน ซึ่งเรือนแก้วนี้ก็เป็นสิ่งที่สร้างเพิ่มเติมขึ้นในรัชกาลที่ ๔

        :25: :25: :25:

       ประวัติที่มาของพระนิรันตรายนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกไว้ในพระนิพนธ์ ตำนานพระพุทธรูปสำคัญ ว่า
       
       “เรื่องมูลเหตุนั้น เมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๙๙ กำนันอินผู้หนึ่งอยู่ในแขวงจังหวัดปราจิณบุรี นอนฝันไปว่าจับช้างเผือกได้ แล้วไปขุดมันนกด้วยกันกับนายยังผู้เป็นบุตรที่ชายป่า ห่างดงศรีมหาโพธิประมาณ ๓ เส้น พบพระพุทธรูปหล่อด้วยทองคำเนื้อหก น้ำหนัก ๘ ตำลึง จึงนำมามอบให้พระเกรียงไกรกระบวนยุทธ์ ปลัดเมืองฉะเชิงเทรา พาเข้ามากรุงเทพฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
       
       พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดฯว่า สองคนพ่อลูกนี้มีกตัญญูต่อพระพุทธศาสนาและพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อขุดได้พระทองคำเช่นนี้แล้ว มิได้ยุบหลอมไปซื้อจ่ายเป็นอาณาประโยชน์ และยังซ้ำมีน้ำใจทูลเกล้าฯถวาย จึงทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานรางวัลเงินตรา ๘ ชั่ง แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานเชิญไปเก็บไว้ ณ หอเสถียรธรรมปริตกับด้วยพระกริ่งทองคำองค์น้อย
       
       ครั้นเมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๐๓ มีผู้ร้ายลักพระกริ่งองค์น้อยซึ่งตั้งอยู่กับพระทองคำองค์นั้นไป จึงทรงพระราชดำริว่า พระพุทธรูปซึ่งกำนันอินกับนายยังบุตรทูลเกล้าฯถวายนั้น ก็เป็นทองคำทั้งแท่ง ใหญ่กว่าพระกริ่ง ควรที่ผู้ร้ายจะลักพระพุทธรูปองค์นั้นไป ก็เผอิญให้แคล้วคลาดถึง ๒ ครั้ง ทั้งผู้ที่ขุดได้ก็ไม่ทำอันตราย เป็นอัศจรรย์อยู่ จึงทรงถวายพระนามพระพุทธรูปองค์นั้นว่า พระนิรันตราย”

        st12 st12 st12 st12

       จากพระนิพนธ์นี้ ทำให้เราได้ทราบที่มาแห่งนาม “พระนิรันตราย” ว่ามีที่มาจากการที่พระพุทธรูปทองคำอันล้ำค่าองค์นี้ ซึ่งมีน้ำหนักทองถึง ๘ ตำลึง คือหนัก ๓๒ บาท หรือหนัก ๔๘๐ กรัม กลับรอดพ้นแคล้วคลาดมาได้ถึงสองครั้งสองครา ครั้งแรกกำนันอินและนายยังผู้เป็นบุตร ซึ่งก็เป็นแต่เพียงชาวบ้านธรรมดา เป็นผู้ขุดพบในป่าชัฏอันห่างไกล ไม่มีบุคคลที่สามรู้เห็น หากเขาทั้งสองจะยึดถือเป็นกรรมสิทธิ์ก็ย่อมได้ แต่ความโลภและจิตมารก็มิได้ครอบงำ กลับมีความกตัญญูต่อพระศาสนาและจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ นำขึ้นทูลเกล้าฯถวาย ส่วนครั้งที่สองนั้น คือรอดพ้นเงื้อมมือโจรภัยดังกล่าวมาแล้ว ทั้งๆที่มีค่ามากกว่าพระกริ่งองค์ที่ถูกขโมยหลายเท่านัก
       
       หลังเหตุการณ์ครั้งนั้นและพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ถวายพระนามพระพุทธรูปทองคำนั้นแล้ว ได้ทรงพระราชดำริแบบ คือทรงออกแบบพระพุทธรูปปางขัดสมาธิเพชร หน้าตัก ๕ นิ้วครึ่ง มีลักษณะต้องตามพุทธลักษณะ ให้เจ้าพนักงานหล่อขึ้นด้วยทองคำ สำหรับสวมทับพระนิรันตรายอีกชั้นหนึ่ง และเรียกนามพระพุทธรูปทั้งสองรวมกันว่า พระนิรันตราย และโปรดฯให้หล่อพระพุทธรูปด้วยเงินบริสุทธิ์ ให้เป็นคู่กันอีกองค์หนึ่ง แต่เมื่อทรงมีการพระราชพิธีสำคัญต่างๆ เช่น พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ เป็นต้น จะใช้เฉพาะพระองค์ที่หล่อด้วยทองคำ ไปตั้งไว้บนโต๊ะเบื้องขวาแห่งพระแท่นมณฑล ในพระราชพิธีที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัด ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ

       

       ต่อมา ได้ทรงมีพระราชดำริว่า พระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกาย ซึ่งพระองค์ทรงสถาปนา ได้แพร่หลายไพบูลย์มากขึ้น พุทธศาสนิกชนผู้มีทรัพย์ก็ได้มีจิตศรัทธาสร้างพระอารามถวายหลายพระอาราม โดยตั้งใจให้เป็นพระอาวาสเฉพาะของฝ่ายธรรมยุต เมื่อพระธรรมวินัยเจริญมากขึ้นเช่นนี้ ควรจะมีสิ่งซึ่งเป็นสำคัญสำหรับเป็นที่ระลึกสืบไป
       
       ดังนั้น ในปีมะโรง พุทธศักราช ๒๔๑๑ จึงทรงพระกรุณาโปรดฯให้ช่างหล่อพระพุทธรูปพิมพ์เดียวกับพระพุทธรูปพระนิรันตรายองค์นอก ซึ่งให้สร้างสวมพระองค์ในไว้ หล่อด้วยทองเหลืองแล้วกาไหล่ทองคำ มีเรือนแก้วอยู่เบื้องหลังดังกล่าวมาแล้วข้างต้น จำนวนทั้งหมด ๑๘ องค์ เท่ากับจำนวนปีที่ได้เสด็จดำรงสิริราชสมบัติ และทรงมีพระราชดำริว่า จะทรงหล่อพระพุทธรูปแบบนี้ขึ้นอีกปีละองค์ ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาทุกปีไป และได้ทรงถวายพระนามพระพุทธรูปทั้งเก่าใหม่ที่โปรดฯให้หล่อขึ้นว่า “พระนิรันตราย” ทุกองค์ แต่พระพุทธรูปนั้นยังมิทันได้กาไหล่ทอง ก็เสด็จสวรรคตสิ้นรัชกาลเสียก่อน

        st11 st11 st11 st11

       พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ช่างกาไหล่ทองจนแล้วเสร็จทั้ง ๑๘ องค์ และได้พระราชทานไปตามอารามพระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกาย ตามพระราชประสงค์ในสมเด็จพระบรมชนกนาถ มีวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นต้น แล้วทรงให้สร้างเพิ่มเติมขึ้น เพื่อพระราชทานพระอารามหลวงฝ่ายธรรมยุติกนิกายวัดละองค์ เช่น วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม วัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ และวัดเขมาภิรตาราม เป็นต้น
       
       ปัจจุบัน นอกจากพระนิรันตรายทองคำองค์ดั้งเดิม พระนิรันตรายเงินที่สร้างไว้คู่กัน และพระนิรันตรายประจำอารามธรรมยุติกนิกายแล้ว ยังมีผู้สร้างพระนิรันตรายจำลองขนาดต่างๆขึ้นอีกมาก เพราะนิยมในคำว่า นิรันตราย คือ แคล้วคลาดปราศจากภยันตรายทั้งปวง เชื่อมั่นว่าหากมีไว้บูชาแล้ว จะคุ้มครองให้แคล้วคลาดโพยภัยทั้งปวง
       
       เมื่อพระนิรันตรายได้รับความนิยมเช่นนี้ จึงมีผู้สร้างขึ้นอีกมากดังกล่าว ทั้งผู้ที่สร้างขึ้นเพื่อนำรายได้บำรุงพระพุทธศาสนา และผู้ที่สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ส่วนตัว

       

ข้อมูลจากหนังสือ “หมื่น ร้อย พัน ผสาน” โดยกองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร
จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 197 พฤษภาคม 2560 โดย กองบรรณาธิการ
http://www.manager.co.th/Dhamma/ViewNews.aspx?NewsID=9600000044143
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

suchin_tum

  • ไม่กลับมาเกิด
  • ศิษย์ตรง
  • มีเหตุมีผล
  • *****
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 486
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0

    ที่สระบุรี  มีที่วัดศาลาเเดง

  ไปไหว้ขอพรมาเมื่อหลายปีก่อน

  อยู่ ตรงศาลากลางจังหวัด
บันทึกการเข้า
ขอน้อมอาราธนากำลังแห่งครูอาจารย์กรรมฐานมัชฌิมาจงมาประสิทธิ์ประศาสตร์