ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: บาลีวันละคำ‬ เอ้เต  (อ่าน 3289 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ปัญญสโก ภิกขุ

  • ศิษย์ตรง
  • มีเหตุมีผล
  • *****
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 403
  • อริยสโก
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
บาลีวันละคำ‬ เอ้เต
« เมื่อ: กรกฎาคม 19, 2016, 01:48:59 pm »
0
‪บาลีวันละคำ‬
เอ้เต
อ่านตรงตัวว่า เอ้-เต
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“เอ้เต : (คำวิเศษณ์) นั่งหรือนอนปล่อยตัวตามสบายมีท่าสง่าผ่าเผย.”
พจน.54 ไม่ได้บอกที่ไปที่มาของคำนี้ แต่ผู้เขียนบาลีวันละคำได้ยินมาว่า คำว่า “เอ้เต” มีที่มาจากบทสวดมนต์ชื่อ “อาฏานาฏิยปริตร” ที่ขึ้นต้นว่า “วิปสฺสิสฺส นมตฺถุ จกฺขุมนฺตสฺส สิรีมโต” (วิปัสสิสสะ นะมัตถุ จักขุมันตัสสะ สิรีมะโต)
ท่อนที่ ๒ ของพระปริตรบทนี้ขึ้นต้นว่า “เอเต จญฺเญ จ สมฺพุทฺธา” (เอเต จัญเญ จะ สัมพุทธา) เวลาพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ในงานมงคลต่างๆ ท่านมักตัดลัดมาขึ้นตรงท่อนที่ ๒ นี้
พระภิกษุสมัยก่อนมีอัธยาศัยในการท่องบ่นบทสวดมนต์ให้จำขึ้นใจ (สมัยนี้กางหนังสือสวด) เมื่อมีเวลาว่างท่านก็มักจะทบทวนบทสวดมนต์อยู่เสมอ
ตามปกติเวลาสวดมนต์ต้องครองผ้าเรียบร้อยและนั่งสวดด้วยกิริยาเคารพ แต่ในเวลาทบทวนหรือซ้อมสวดอนุโลมให้ทำตัวตามสบายได้ พระท่านจึงมักนั่งสวดในอิริยาบถผ่อนคลาย บางทีก็กึ่งนั่งกึ่งนอนลักษณะอย่างที่เรียกว่า “นั่งเอกเขนก”
เมื่อนั่งเอกเขนกซ้อมสวดบท “เอเต จัญเญ...” ใครเห็นหรือได้ยินก็พูดกันว่า “นั่งเอ้เต” (เอ- ออกเสียงเป็น เอ้- แบบเดียวกับ เอกา- พูดเป็น เอ้กา-) คือนั่งสวดเอเต แล้วความหมายก็กลายเป็น “นั่งหรือนอนปล่อยตัวตามสบายมีท่าสง่าผ่าเผย” ดังที่ พจน.54 ให้คำจำกัดความไว้
ผู้เขียนบาลีวันละคำยังได้ยิน “นิทานชาววัด” เล่าเสริมเพื่อความครึกครื้นสืบกันมาว่า พระรูปหนึ่งกุฏิอยู่ใกล้สระน้ำ ตอนเย็นๆ ท่านก็ซ้อมบท “เอเต จัญเญ...” ด้วยเสียงอันดังอยู่ในกุฏิ สวดซ้ำอยู่แต่ เอเต จัญเญ ๆ ๆ เพื่อให้คล่องปาก
สีกาคนหนึ่ง ชื่อจัน มาตักน้ำในวัด ได้ยินแต่ เอเต จัญเญ ๆ ๆ ก็เข้าใจว่าพระล้อชื่อตน ล้อไม่หยุดสักที ขัดใจขึ้นมาจึงตะโกนขึ้นว่า “จันพ่อจันแม่นะสิ”
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ทำความดี บางทีก็ขัดใจคน
..........
ขออัญเชิญบท “อาฏานาฏิยปริตร” ท่อนที่ขึ้นต้นว่า เอเต จัญเญ บางส่วน ทั้งคำบาลี คำอ่าน และคำแปล มาเสนอไว้ที่นี้เพื่อเป็นการเจริญพุทธานุสติ
อ่านแล้วจะรู้สึกได้ว่านักปราชญ์ท่านพรรณนาคุณของพระพุทธเจ้าไว้ไพเราะเพราะพริ้งยิ่งนัก เพราะเกิดจากน้ำใจที่ผ่องใสอันมีพระพุทธคุณเป็นอารมณ์
ขอชาวเราจงเกิดสติเต็มเปี่ยมในหัวใจเช่นนั้นโดยทั่วกัน เทอญ
..........
เอเต จญฺเญ จ สมฺพุทฺธา.....อเนกสตโกฏโย
(เอเต จัญเญ จะ สัมพุทธา อะเนกะสะตะโกฏะโย)
-พระพุทธเจ้าเหล่านี้ก็ดี เหล่าอื่นก็ดี
ซึ่งนับจำนวนได้หลายร้อยโกฏิ
สพฺเพ พุทฺธา อสมสมา.....สพฺเพ พุทฺธา มหิทฺธิกา
(สัพเพ พุทธา อะสะมะสะมา สัพเพ พุทธา มะหิทธิกา)
-พระพุทธเจ้าเหล่านั้นทั้งหมดเป็นผู้ทรงเสมอกันกับพระพุทธเจ้า
ผู้ทรงหาใครเสมอมิได้ พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ทรงมีมหิทธิฤทธิ์
สพฺเพ ทสพลูเปตา.....เวสารัชเชหุปาคตา
(สัพเพ ทะสะพะลูเปตา เวสารัชเชหุปาคะตา)
-ทุกๆ พระองค์ทรงประกอบด้วยทศพลญาณ
ทรงประกอบด้วยเวสารัชญาณ
สพฺเพ เต ปฏิชานนฺติ.....อาสภณฺฐานมุตฺตมํ
(สัพเพ เต ปะฏิชานันติ อาสะภัณฐานะมุตตะมัง)
-ทุกๆ พระองค์ทรงปฏิญญาพระองค์ในฐานะผู้มีคุณธรรมอันสูงสุด
สีหนาทํ นทนฺเต เต.....ปริสาสุ วิสารทา
(สีหะนาทัง นะทันเต เต ปะริสาสุ วิสาระทา)
-ทรงเป็นผู้องอาจ บันลือกระแสธรรมท่ามกลางพุทธบริษัท
ดุจราชสีห์บันลือสีหนาท
พฺรหฺมจกฺกํ ปวตฺเตนฺติ.....โลเก อปฺปฏิวตฺติยํ
(พ๎รัห๎มะจักกัง ปะวัตเตนติ โลเก อัปปะฏิวัตติยัง)
-ยังพรหมจักรให้เป็นไป ไม่มีใครคัดค้านได้ในโลก
อุเปตา พุทฺธธมฺเมหิ.....อฏฺฐารสหิ นายกา
(อุเปตา พุทธะธัมเมหิ อัฏฐาระสะหิ นายะกา)
-ทรงประกอบด้วยพุทธธรรม ๑๘ ประการ
ทรงเป็นผู้นำแห่งชาวโลก
ทฺวตฺตึสลกฺขณูเปตา-.....สีตฺยานุพฺยญฺชนาธรา
(ท๎วัตติงสะลักขะณูเปตา สีต๎ยานุพ๎ยัญชะนาธะรา)
-ทรงประกอบด้วยมหาบุรุษลักษณะ ๓๒ ประการ
และอนุพยัญชนะ ๘๐ ประการ
พฺยามปฺปภาย สุปฺปภา.....สพฺเพ เต มุนิกุญฺชรา
(พ๎ยามัปปะภายะ สุปปะภา สัพเพ เต มุนิกุญชะรา)
-ทรงมีพระรัศมีอันงดงาม แผ่ออกจากพระวรกายโดยรอบข้างละวา
ทุกๆ พระองค์ทรงเป็นพระมุนีผู้ประเสริฐ
พุทฺธา สพฺพญฺญุโน เอเต.....สพฺเพ ขีณาสวา ชินา
(พุทธา สัพพัญญุโน เอเต สัพเพ ขีณาสะวา ชินา)
-ทุกๆ พระองค์ทรงเป็นพระสัพพัญญู
เป็นพระชีณาสพ เป็นผู้ชำนะซึ่งพญามาร
มหปฺปภา มหาเตชา.....มหาปญฺญา มหพฺพลา
(มะหัปปะภา มะหะเตชา มะหาปัญญา มะหัพพะลา)
-ทรงมีพระรัศมีและทรงมีพระเดชมาก
ทรงมีพระปัญญาและพระกำลังมาก
มหาการุณิกา ธีรา.....สพฺเพสานํ สุขาวหา
(มะหาการุณิกา ธีรา สัพเพสานัง สุขาวะหา)
-ทรงมีพระมหากรุณา และทรงเป็นจอมปราชญ์
ทรงนำความสุขมาให้แก่สัตว์ทั้งปวง
ทีปา นาถา ปติฏฺฐา จ.....ตาณา เลณา จ ปาณินํ
(ทีปา นาถา ปะติฏฐา จะ ตาณา เลณา จะ ปาณินัง)
-ทรงเป็นดุจเกาะ เป็นดุจที่พึ่ง และเป็นดุจที่พำนักอาศัย
ทรงเป็นดุจที่ต้านทานซึ่งภัยทั้งปวง เป็นดุจที่หลีกเร้นของสัตว์ทั้งหลาย
คตี พนฺธู มหสฺสาสา.....สรณา จ หิเตสิโน
(คะตี พันธู มะหัสสาสา สะระณา จะ หิเตสิโน)
-ทรงเป็นที่ส่งใจถึง ทรงเป็นพวกพ้อง ทรงเป็นที่อุ่นใจอย่างยิ่ง
ทรงเป็นสรณะและเป็นผู้แสวงสิ่งเอื้อเกื้อกูล
สเทวกสฺส โลกสฺส.....สพฺเพ เอเต ปรายนา
(สะเทวะกัสสะ โลกัสสะ สัพเพ เอเต ปะรายะนา)
-ทุกๆ พระองค์ทรงเป็นที่มุ่งหวังในเบื้องหน้า
แก่ประชาชาวโลกพร้อมทั้งเทวดา
เตสาหํ สิรสา ปาเท.....วนฺทามิ ปุริสุตฺตเม
(เตสาหัง สิระสา ปาเท วันทามิ ปุริสุตตะเม)
-ข้าพระองค์ขอถวายอภิวาทพระบาทยุคล
ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านั้น ด้วยเศียรเกล้า
วจสา มนสา เจว.....วนฺทาเมเต ตถาคเต
(วะจะสา มะนะสา เจวะ วันทาเมเต ตะถาคะเต)
-พร้อมทั้งวาจาและด้วยดวงใจ ขอถวายอภิวาท -
ซึ่งพระตถาคตเจ้าทั้งหลายเหล่านั้นผู้ทรงเป็นอุดมบุรุษ
สยเน อาสเน ฐาเน.....คมเน จาปิ สพฺพทา
(สะยะเน อาสะเน ฐาเน คะมะเน จาปิ สัพพะทา)
-ขอถวายอภิวาทในกาลทุกเมื่อ
ทั้งยามนอน ยามนั่ง ยามยืน และแม้ในยามเดิน
สทา สุเขน รกฺขนฺตุ.....พุทฺธา สนฺติกรา ตุวํ
(สะทา สุเขนะ รักขันตุ พุทธา สันติกะรา ตุวัง)
-ขอพระพุทธเจ้าผู้ทรงสร้างสันติจงรักษาท่านให้มีความสุข
ตลอดกาลทุกเมื่อเถิด
เตหิ ตฺวํ รกฺขิโต สนฺโต.....มุตฺโต สพฺพภเยน จ
(เตหิ ต๎วัง รักขิโต สันโต มุตโต สัพพะภะเยนะ จะ)
-ท่านเป็นผู้ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงรักษาแล้ว
จงเป็นผู้พ้นจากภัยทั้งปวง
สพฺพโรควินิมุตฺโต.....สพฺพสนฺตาปวชฺชิโต
(สัพพะโรคะวินิมุตโต สัพพะสันตาปะวัชชิโต)
-พ้นจากโรคทั้งปวง
หายจากความเดือดร้อนทั้งปวง
สพฺพเวรมติกฺกนฺโต.....นิพพฺโต จ ตุวํ ภว.
(สัพพะเวระมะติกกันโต นิพพุโต จะ ตุวัง ภะวะ)
-ล่วงเสียซึ่งเวรทั้งปวง
และดับทุกข์ทั้งปวงได้ เทอญ.
..........
หมายเหตุ : บทสวดและคำแปลคัดมาจาก -http://www.watpamahachai.net/watpamahachai-68_11.htm
คำแปลนั้นไม่ทราบว่าเป็นสำนวนแปลของท่านผู้ใด ผู้เขียนบาลีวันละคำขออนุญาตปรับแต่งบ้างเล็กน้อยเพื่อให้กะทัดรัดชัดเจนขึ้น ผู้ต้องการอ่านบทเต็มๆ เชิญตามไปอ่านได้ตามอัธยาศัย
........
ดูก่อนภราดา!
นอนสวดมนต์เป็นกิริยาที่ผู้หนักในธรรมไม่พึงกระทำ
แต่กระนั้น -
: นอนสวดมนต์
: ก็ยังดีกว่าลุกขึ้นไปปล้นเขากิน

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
บันทึกการเข้า