ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: “ลมหายใจ” จัดการความเครียด  (อ่าน 485 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
“ลมหายใจ” จัดการความเครียด
« เมื่อ: มิถุนายน 14, 2019, 07:30:11 am »
0




“ลมหายใจ” จัดการความเครียด โดย ท่าน ส. ชิโนรส

นักวิทยาศาสตร์บอกว่า แต่ละวันมนุษย์คิดกว่า 60,000 ความคิด จริงแท้อย่างไรไม่สำคัญเท่ากับการรู้จักจัดการความคิด ลมหายใจ จัดการความคิด คือ คิดได้อย่างถูกต้อง เป็นระบบระเบียบเมื่อต้องการใช้ความคิด หยุดคิดพักจิตให้สงบได้เมื่อต้องการหยุดพักผ่อน

ผู้ที่ไม่รู้จักจัดการความคิด คือผู้ที่คิดไม่รู้จักหยุด หรืออยากหยุดแต่ก็หยุดไม่ได้ จิตใจเตลิดเปิดเปิงไปกับอารมณ์ต่าง ๆ วางอารมณ์ไม่ลง เกิดปัญหาทางจิต เรียกว่า “ความเครียด” (Stress) ภาษาพระเรียกความเครียดว่า “ปปัญจสัญญา” แปลตามศัพท์ว่า “สัญญาเป็นเหตุให้เนิ่นช้า” หรือ “ความคิดฟุ้งซ่านรำคาญต่าง ๆ ที่ทำให้จิตใจเศร้าหมอง พร่ามัว ไม่ปลอดโปร่งแจ่มใส”

ความเครียดเป็นทุกข์อย่างหนึ่ง เกิดแก่มนุษย์ทุกยุคทุกสมัย มนุษย์ยุคปัจจุบันเหมือนจะมีความเครียดมากกว่ามนุษย์ยุคอื่น ๆ ทั้ง ๆ ที่ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มีมากกว่ามนุษย์ยุคก่อน แต่ความเครียดไม่ได้ลดน้อยถอยลงเลย แต่กลับมีมากขึ้นกว่าเดิม


@@@@@@
 
มนุษย์แต่ละคนต่างมีวิธีแก้เครียดไม่เหมือนกัน
บางคนกินยาแก้เครียด
บางคนไปเที่ยวพักผ่อน
บางคนหันไปพึ่งพาไสยศาสตร์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ

ส่วนใหญ่แล้ว ไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ แต่หลงไปแก้อาการของความเครียดมากกว่า ความคิดฟุ้งซ่านต่าง ๆ ที่เป็นต้นเหตุของความเครียดยังคงลอยนวลอยู่เหมือนเดิม จะจัดการความเครียดได้ มนุษย์ต้องรู้จักจัดการกับความคิดฟุ้งซ่านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในจิตใจ

วิธีจัดการความฟุ้งซ่านที่ดีที่สุดคือสมาธิ ฝึกจิตให้สงบนิ่ง แน่วแน่ จิตที่สงบ แน่วแน่ จะมีพลังมหัศจรรย์ในตัวเอง กำจัดความฟุ้งซ่านรำคาญต่าง ๆ ให้กระจุยกระจายไปได้

วิธีทำจิตให้เป็นสมาธิเป็นศาสตร์เก่าแก่ มีมาคู่กับโลกทุกยุคทุกสมัย ศาสนาทุกศาสนาและจิตวิทยาล้วนพูดถึงการทำสมาธิ ปัจจุบันวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสมองได้หันมาศึกษาเรื่องทำสมาธิจิตมากขึ้น เพราะเชื่อว่าจะช่วยจัดการความเครียดได้ดี

@@@@@@

ศาสนาพุทธ ยิ่งให้ความสำคัญกับการทำสมาธิ จะเรียกว่าเป็นหัวใจของพุทธศาสนาก็ว่าได้ พระพุทธโฆสะ ผู้เขียนคัมภีร์วิสุทธิมรรคพูดถึงกรรมฐาน 40 หรือวิธีทำจิตให้สงบทั้ง 40 อย่าง เช่น กสิณ 10 การเพ่งวัตถุต่าง ๆ ที่ช่วยให้จิตสงบ อสุภะ 10 การพิจารณาความไม่งามของกายลักษณะต่าง ๆ หรือ อนุสติ 10 การนึกถึงอารมณ์ต่าง ๆ ที่ทำให้จิตเบิกบานและสงบ

ส่วนครูบาอาจารย์สมัยปัจจุบันก็แนะนำวิธีทำจิตให้สงบต่าง ๆ กัน เช่น
• พุท-โธ สายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
• สัมมา-อะระหัง สายหลวงพ่อสด จันทสโร วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
• พองหนอ-ยุบหนอ สายหลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม วัดอัมพวัน จังหวัดสิงห์บุรี หรือ
• ไหว-นิ่ง สายหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

วิธีทำจิตให้เป็นสมาธิดังกล่าว ไม่มีวิธีไหนดีเด่นกว่ากัน อยู่ที่ว่าใครจะชอบวิธีการไหน ก็ใช้วิธีการนั้นเดินจิตเข้าสู่ความสงบ จัดการความคิดที่ฟุ้งซ่านได้

@@@@@@

กระนั้นพระพุทธองค์ก็ทรงแนะนำว่า อานาปานสติตัดวิตกได้ดี ซึ่งหมายความว่า การดูลมหายใจเข้า-ออกช่วยตัดกระแสความคิดฟุ้งซ่านได้อย่างชะงัดและฉับพลัน

เหตุที่อานาปานสติตัดความคิดฟุ้งซ่านได้เร็ว เพราะไม่ต้องอาศัยความจำเป็นสื่อล่อให้จิตสงบเหมือนวิธีฝึกสมาธิอื่น ๆ เช่น ผู้บริกรรมคำว่า “พุท-โธ” เวลาปฏิบัติต้องจำคำบริกรรมเพื่อหน่วงจิตให้สงบ แม้การจำคำบริกรรมจะตัดกระแสความฟุ้งซ่านได้ แต่ก็ยังเป็นสายล่อฟ้าให้ความคิดฟุ้งซ่านแทรกซึมเข้าสู่จิตใจได้

ดังนั้นผู้บริกรรมพุท-โธ เมื่อถึงจุดหนึ่งจะต้องทิ้งคำบริกรรม เพื่อตัดความจำที่เป็นสายล่อฟ้าออกไป จิตจึงจะดิ่งเข้าสู่ความสงบที่ลึกซึ้งได้ หากไม่ปล่อยคำบริกรรมทิ้ง จิตจะติดอยู่กับคำบริกรรม กลายเป็นจิตค้างอยู่กับพุท-โธ ไม่เข้าไปสู่ความสงบซึ่งเป็นจุดหมายที่ต้องการได้

@@@@@@

หรือผู้บริกรรมคำว่า “สัมมา-อะระหัง” พร้อมเพ่งดูลูกแก้ว ต้องใช้ความจำทั้งคำบริกรรมและภาพลูกแก้ว เมื่อจิตสงบเกิดภาพนิมิตขึ้น ก็ต้องใช้กำลังสมาธิเพิกนิมิตเพื่อเข้าสู่ความสงบขึ้นสูงขึ้นไปอีก ผู้ปฏิบัติบางคนเพิกนิมิตไม่ได้ หลงติดในนิมิต เป็นบ้าไปก็มาก

ส่วนอานาปานสติ ผู้ปฏิบัติ ไม่จำเป็นต้องใช้ความจำ เป็นสื่อให้จิตสงบ
เพียงทรงจิตให้ว่าง ๆ
น้อมความรู้สึกทั้งหมดไปดูลมหายใจเข้า-ออก หรือ
ดูลมหายใจด้วยจิตว่าง ๆ
จิตก็จะสลัดความคิดฟุ้งซ่านต่าง ๆ ออกไป
ดิ่งตัวลงไปสู่ความสงบนิ่ง ซึ่งมีลักษณะว่างเหมือนกับลมหายใจ

พูดอีกนัยหนึ่ง วิธีปฏิบัติอื่น ๆ ใช้ความคิดเข้าไปตัดความคิด เพื่อให้จิตเดินเข้าสู่ความสงบ
ส่วนอานาปานสติไม่ต้องใช้ความคิด
แต่ใช้ความรู้สึกว่าง ๆ เข้าไปตัดความคิด
เมื่อจิตสงบจึงไม่ต้องเสียเวลาเพิกความคิดหรือนิมิตต่าง ๆ ออก
จิตจะว่างอย่างเป็นธรรมชาติ
ว่างอย่างไม่มีเงื่อนไขใด ๆ
ความคิดฟุ้งซ่านต่าง ๆ ก็จะระงับลง ความเครียดที่มีก็จะสลายไปเอง


@@@@@@

เวลาปฏิบัติจริง ผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่มักจะใช้หลายวิธีผสมผสานกัน เพื่อตัดกระแสความฟุ้งซ่านที่มีกำลังกล้า เช่น บริกรรมคำว่า พุท-โธ พร้อมกับดูลมหายใจเข้า-ออก เมื่อกำลังความคิดฟุ้งซ่านอ่อนตัวลงก็ทิ้งคำบริกรรม เหลือเพียงดูลมหายใจเข้า-ออกด้วยจิตว่าง ๆ เท่านั้น จิตก็จะเข้าสู่ความสงบที่ละเอียดลงไปได้

“ลมหายใจ” จึงจัดการความเครียดได้อย่างดีนัก


 
ที่มา : อานาปานสติ…ลึกแต่ไม่ลับ โดย ท่าน ส. ชิโนรส สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ
Photo by Patrick Schneider on Unsplash
Secret Magazine (Thailand) ,IG @Secretmagazine
ขอบคุณ : https://goodlifeupdate.com/healthy-mind/157247.html
By ying ,1 June 2019
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ