สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ พฤษภาคม 29, 2020, 06:32:38 am



หัวข้อ: “ดาวเรือง” ที่ไม่ใช่ดอกไม้ แต่เป็น “เสาไม้” อาถรรพณ์.!?!
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ พฤษภาคม 29, 2020, 06:32:38 am


(https://www.silpa-mag.com/wp-content/uploads/2019/05/flower-2723312_1920-696x464.jpg)


“ดาวเรือง” ที่ไม่ใช่ดอกไม้ แต่เป็น “เสาไม้” อาถรรพณ์.!?!

กว่าสามสิบปีมาแล้ว ผมเคยฟังคำบรรยายเรื่องคติไทย ของคุณพระยาอนุราชธน ยังจำได้ตอนหนึ่งเป็นใจความว่าคติหรือแม้ข้อห้ามของคนไทยแต่ก่อนนั้น ใช่ว่าจะไร้เหตุผลเสียทีเดียว หากศึกษาคิดค้นพิจาณาให้ถ่องแท้จริงก็ได้ และท่านได้ยกตัวอย่างการเลือกเสาปลูกเรือน ว่าโบราณท่านห้ามเสามีตา ตรงตำแหน่ง เป็ดไซ้ ไก่ตอด สลักรอด และ หมูสี

ท่านอธิบายสืบไปว่า ตาไม้นี้เนื้อไม้มักจะย้อน เมื่อถากเกลาให้ได้รูป อาจกะเทาะหลุดเป็นตำหนิ และอาจกลายเป็นที่อยู่ของแมลง มด ปลวก ก็ได้ หากเป็ดไซ้ ไก่จิกกินแมลง จะทำให้รอบลึกและขยายออกไป และหากหมูมาสีตัวเข้าด้วย สิ่งโสโครกจะมาติดและอุดรอยตา ทำให้ชื้นและผุไปในที่สุด การถือเป็นข้อห้ามจึงเสมือนช่วยกันไว้ก่อน

ส่วนตรงรอยสลักรอดนั้นต้องเจาะเนื้อไม้ส่วนหนึ่งออกไป หากเป็นตาตรงตำแหน่งนั้นเนื้อไม้จะย้อน ทำให้เสาขาดความแข็งแรง ถูกลมพัดหรือกระแทกกระทั้นก็อาจเดาะหรือหักโค่นได้ง่าย โบราณจึงห้ามกันไว้เช่นเดียวกัน

ผมเองสนใจเรื่องไทยๆ อยู่แล้ว จึงจำติดใจมาจนถึงทุกวันนี้ ยิ่งอายุมากขึ้นก็ชักจะชอบตรึกตรองหาความรู้จากชาวบ้านตามที่เคยถือเป็นคติว่า “อยากได้ความรู้ให้เข้าสู่ชาวบ้าน อยากได้ปริญญาให้ไปมหาวิทยาลัย”

@@@@@@

นอกจากไปสู่ชาวบ้านแล้วยังได้ลองปลูกบ้านแบบไทยๆ เข้าอีก จึงทำให้ได้รู้จักตัวไม้ รู้จักเครื่องมือช่าง รู้จักวิธีการของช่าง ซึ่งมีค่อนข้างมากและเป็นพิเศษในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะในทางความหมายของถ้อยคำแล้ว ได้รู้อย่างซึมซาบชนิดที่ไม่มีในตำราหรือพจนานุกรมเล่มใดๆ

ตอนช่างว่างหรือเป็นเวลาพัก ผมถือโอกาสคุยกับช่าง ถามความหมายของถ้อยคำ คำเรียกเครื่องมือ เพื่อตรวจสอบและตรึกตรองตามประสาอยู่ไม่สุข จึงได้ทราบคำศัพท์ต่างๆ เช่น เจียด, บัว, ปากกบ ปากกริว, สิ่วน่อง ฯลฯ ช่วยให้ได้ความหมายที่แม่นยำยิ่งขึ้น

เมื่อพูดกันถึงเสา ผมลองถามถึงตำแหน่งตาที่ เป็ดไซ้ ไกตอด สลักรอด และหมูสี ด้วยอยากรู้ว่าอยู่ที่ตำแหน่งไหนแน่ เพราะตอนฟังคำบรรยายของท่านเจ้าคุณอนุมานฯ ก็ไม่ได้ถามไว้ (เวลานั้นไม่ได้คิดสงสัย) ได้ความรู้ใหม่ดังนี้

ตำแหน่งเป็ดไซ้ คือตำแหน่งระดับพื้นดิน, ตำแหน่งไก่ตอด คือตำแหน่งสูงจากพื้นดิน 1 คืบ, ตำแหน่งหมูสี คือตำแหน่งสูงจากพื้นดิน 1 ศอก

คนโบราณท่านนั้นท่านใช้ใต้ถุนเป็นที่เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ และเลี้ยงหมู พึงทราบด้วยว่า เป็ด, ไก่, หมู นั้นก็เป็นพันธุ์ไทยตัวเล็กกว่า เป็ด, ไก่, หมู บัดนี้ทั้งสิ้น การวัดความยาว เขาก็วัดเป็นนิ้ว เป็นศอก เป็นวา โดยเฉพาะตัวไม้นั้นหากพูดเป็นเมตรเป็นเซนต์แล้ว ช่างพื้นบ้านเพชรบุรีเขาไม่รู้จัก การเรียนระบบชั่ง ตวง วัด ในโรงเรียนนั้น เป็นการล้างความคิดรวบยอดอย่างไทย


(https://www.silpa-mag.com/wp-content/uploads/2019/05/เสาดาวเรือง-205x300.jpg)
เสาดาวเรือง ที่วัดใหญ่สุวรรณาราม

ช่างบอกว่า เสาซึ่งเป็นข้อห้ามเด็ดขาดนั้น คือ เสาดาวเรือง ส่วนข้อห้ามอย่างอื่น เขามีวิธีแก้ไขโดยการขุดส่วนตาไม้ออก แล้วอุดตามกรรมวิธีทางช่าง ซึ่งเป็นตำราอยู่ต่างหาก (ผมยังไม่พบตำรา)

เสาดาวเรือง นั้น คือเสาที่มีตาพราวไปหมดทั้งต้นเป็นเสาที่มีอาถรรพณ์ ดังมีตัวอย่างอยู่ที่วัดใหญ่สุวรรณาราม เสาต้นนี้ แต่เดิมว่าผู้มีอันจะกินทางอำเภอบ้านแหลมได้นำมาทำยุ้งเกลือ หลังจากนั้นก็เกิดความวิบัติต่างๆ จนคนในครอบครัวถึงแก่กรรมไปในระยะไล่เลี่ยกันจนหมดทั้งบ้าน เมื่อมีคนพูดกันมากว่าเป็นอาถรรพณ์ของเสาดาวเรือง ญาติๆ จึงบอกถวายวัดใหญ่สุวรรณารามในสมัยหลวงพ่อแดะเป็นเจ้าอาวาส

ในวันที่ไปรื้อยุ้งเพื่อขนมาวัดนั้น พระลูกวัดองค์หนึ่งไปสะดุดตาเสาต้นนี้เข้าเป็นแผลเล็กน้อย แต่ต่อมาได้อักเสบบวมเป็นบาดทะยัก รักษาไม่หายก็ถึงแก่มรณกรรม

@@@@@@

เมื่อนำเสาต้นนี้มาปลูกกุฏิ หลวงพ่อเจ้าอาวาสก็ป่วยกระเสาะกระแสะเรื่อยมา และมีเสียงเล่าลือว่า มักมีผู้ได้ยินเสียงร้องไห้สะอึกสะอื้นมาจากเสาต้นนี้เป็นประจำ เมื่อหลวงพ่อเจ้าอาวาสมรณะลงญาติโยมจึงได้รื้อกุฏิเสีย และนำเสามาปักแสดงไว้ตรงหอระฆังใกล้ศาลาการเปรียญ

เรื่องเสาดาวเรืองยังไม่จบ เมื่อ 2-3 วันมานี้ ผมได้ไปคุยกับคุณตวง จิตพะวงษ์ ที่วัดเพชรพลี คุณตวงยกตำราดูเสาเรือนมาให้ดู มีคำอธิบายดังนี้ “เสาใดมีตาเล็กเป็นนมหนูทั่วลำเสาชื่อว่าดาวเรืองดีนักแล”

เป็นอย่างนั้นไป ก็เห็นจะต้องไปเยี่ยมเสาดาวเรืองที่วัดใหญ่อีกครั้ง จะได้ถามให้แน่ว่าตาเธอเป็นนมหนู หรือนมใครกันแน่ ได้ผลอย่างไร แล้วจะเล่าให้ฟัง


 
ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2535
ผู้เขียน : ล้อม เพ็งแก้ว
เผยแพร่ : วันพุธที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2563
เผยแพร่ครั้งแรก : เมื่อ 22 พฤษภาคม 2562
ขอบคุณ : https://www.silpa-mag.com/culture/article_33189 (https://www.silpa-mag.com/culture/article_33189)