ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: “ปิตฤปักษะ” ประเพณีอินเดียต้นแบบ “สารทเดือนสิบ” ในสยาม  (อ่าน 540 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28439
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


“ปิตฤปักษะ” ประเพณีอินเดียต้นแบบ “สารทเดือนสิบ” ในสยาม

ช่วงเดือนสิบตามจันทรคติในสยาม จะเป็นเวลาของพิธีกรรมสำคัญ นั่นคือ “สารทเดือนสิบ” บางท่านก็เรียกสารทไทย เชื่อกันว่าตลอดระยะเวลาตั้งแต่แรมหนึ่งค่ำไปจนถึงแรมสิบห้าค่ำ บรรดาบรรพบุรุษจะกลับมาจากปรโลก เพื่อมาเยี่ยมเยียนลูกหลาน จึงเป็นเวลาสำคัญสำหรับการทำบุญอุทิศให้

ในช่วงนี้จะมีวันที่สำคัญคือวันแรก แรมหนึ่งค่ำเรียกว่า วันรับตายาย (แสดงให้เห็นความสำคัญของฝั่งแม่ในวัฒนธรรมดั้งเดิมของคนใต้ จึงเรียกผีบรรพชนหรือเจ้าที่ว่าตายาย) ชาวบ้านก็จะเอาข้าวของไปทำบุญที่วัด และในวันแรมสิบห้าค่ำเดือนสิบเรียกว่า วันส่งตายาย

ชาวบ้านจะจัดข้าวปลาอาหารและข้าวของเครื่องใช้ด้วย (ท่านว่าให้ตายายนำกลับไปใช้ในปรโลก) นำไปถวายพระที่วัด เสร็จแล้วก็มีพิธีตั้งเปรต คือเอาของกินของใช้ตั้งไว้ยังที่ที่กำหนดเพื่อถวายตายาย แล้วจึง “ชิงเปรต” แย่งของแจกทานกันเป็นที่สนุกสนาน

เปรต มักเข้าใจกันว่าเป็นคำในเชิงลบ แต่ในวัฒนธรรมเดิมของภาคใต้ เปรตหมายถึงผีบรรพบุรุษ ที่จริงคำนี้เป็นคำกลางๆ มีรากเดียวกันกับคำว่า “ปิตฤ” ในภาษาสันสกฤต อันหมายถึง บรรพบุรุษ และเป็นรากคำเดียวกับคำว่า ปิตาหรือบิดา

ในไทยมีคำว่า “เทพบิดร” นั้น ผมคิดว่ามีความหมายตรงกับ “ปิตฤ” ในสันสกฤตเลยทีเดียว แต่คำนี้ก็แสดงให้เห็นด้วยว่า ในวัฒนธรรมฮินดูสันสกฤตให้ความสำคัญกับฝั่งพ่อมากกว่าฝั่งแม่ หรือมีผู้ชายเป็นศูนย์กลาง

@@@@@@

ชาวอินเดียไม่ว่าจะนับถือศาสนาไหน ต่างก็นับถือผีบรรพบุรุษด้วยกันทั้งนั้น ในยุคพระเวท ความคิดเรื่องความหลุดพ้นยังไม่เป็นที่นิยมแพร่หลาย ก็ถือกันว่าคนเราเมื่อตายไปก็กลายเป็นผีบรรพบุรุษ ไปอยู่ในปิตฤโลก หรือโลกวิญญาณคอยรับสิ่งที่ลูกหลานอุทิศให้

ครั้นเมื่อความคิดเกี่ยวกับความหลุดพ้นมีแพร่หลาย ก็ไม่อยากไปปิตฤโลกกันอีกต่อไป แต่มุ่งจะไปนิรวาณ หรือความหลุดพ้นกันเลยทีเดียว

เวลาที่ชาวฮินดูทำบุญให้บรรพบุรุษนั้น มีอยู่สองพิธี อย่างแรกเรียกว่า ปิตฤตรปณะ (ปิตริตะระปะนะ) และพิธี “ศราทธ” ซึ่งเป็นคำเดียวกับ “สารท” ในภาษาไทย

ตรปณะ หรือ ตรปณัม นั้น คือพิธีกรวดน้ำหรืออุทิศน้ำให้ ทำให้เทวดา ฤๅษีต้นโคตรวงศ์ และบรรพบุรุษ พิธีนี้จะใช้น้ำเปล่าผสมงาดำ แล้วใช้มือวักขึ้นแล้วเทลงพร้อมกับการกล่าวคำอุทิศน้ำให้

อันนี้คือต้นของพิธีกรวดน้ำที่พุทธศาสนารับมา ผมยังคิดเล่นๆ ว่า แม้แต่คำ “กรวดน้ำ” (คนแก่มักเรียกตรวดน้ำ) เป็นไปได้ไหมว่ามาจากคำ ตรปณัม (ตะระปะนัม) ซึ่งฟังคล้ายๆ ตรวดน้ำ แต่กลัวเค้าจะว่าพาลากเข้าบาลีสันสกฤตอีก

ในพิธีตรปณัมนั้น ผู้ประกอบพิธีจะคล้องสายยัชโญปวีตหรือธุรำในสามลักษณะ ถ้าถวายเทวดาก็คล้องเฉวียงไหล่ซ้ายไปสะเอวขวาเหมือนอย่างคล้องปกติ หากถวายให้ฤๅษีต้นโคตรก็ยกขึ้นมาคล้องคอ ถ้าถวายแด่บรรพบุรุษจะคล้องเฉวียงไหล่ขวาไปสะเอวซ้าย

ดังนั้น ช่างปั้นเทวรูปต้องระวังเรื่องนี้ด้วย เพราะถ้านึกอยากทำสังวาลเทวรูปคล้องซ้ายขวาตามใจ ความหมายของการคล้องจะผิดเพี้ยนจากประเพณี

@@@@@@

ส่วนการวักน้ำด้วยมือนั้น ก็มีข้อกำหนดไว้ หากถวายเทวดา จะวักแล้วเทน้ำออกทางปลายมือคือนิ้วทั้งแปด ตรงนั้นเรียกว่า “เทวตีรถะ” คือท่าน้ำของเทวดา จะถวายอะไรเทวดาให้ออกทางนั้น

แต่บรรพชนจะถวายตรงช่องว่างระหว่างนิ้วชี้กับนิ้วโป้ง เรียกว่า “ปิตฤตีรถะ” ท่าน้ำของบรรพชน

คนไทยเราก็คล้ายมีความเชื่อเช่นนี้ ใครลองไปรินน้ำให้ผู้ใหญ่แบบยกตะแคง ให้ออกทางมุมนิ้วชี้นิ้วโป้งเป็นได้โดนเอ็ดว่า ทำอย่างรดน้ำให้คนตาย แสดงว่านี่ก็คติเดียวกัน

นอกจากทำตรปณัมซึ่งทำได้บ่อยแล้ว (จะทำประจำวันก็ได้) ยังมีพิธีที่ใหญ่กว่า เรียกว่า ศราทธ คำนี้แปลว่า กระทำโดยศรัทธา คือมีศรัทธาที่จะทำบุญให้บรรพชน

พิธีนี้ในคัมภีร์ระบุว่า สามารถทำได้เมื่อผู้ตายตายไปแล้วหนึ่งปี มักทำในโอกาสครบรอบวันตาย หรือทุกแปดและสิบห้าค่ำของเดือน ผมจึงถึงบางอ้อว่า เหตุที่พุทธศาสนานิยมให้มี “วันพระ” ในแปดและสิบห้าค่ำนั้น เป็นการแปลงคติพราหมณ์ คือแทนที่จะไปเลี้ยงภัตตาหารพราหมณ์เพื่ออุทิศกุศลให้บรรพชนก็เปลี่ยนมาเลี้ยงพระภิกษุ และเชื่อว่าถึงบรรพบุรุษเช่นเดียวกัน

พิธีศราทธนี้ “ผู้ชาย” เป็นผู้กระทำให้ ลำดับแรกคือลูกชายคนโต ถ้าไม่มีก็ไล่ลงไปเรื่อยๆ ถ้าไม่มีก็เป็นหลานชาย ถ้าไม่มีอีก ก็เป็นลูกสาวไม่ก็ลูกบุญธรรมก็ได้แต่พราหมณ์เป็นผู้กระทำให้แทน


@@@@@@

เริ่มด้วยผู้กระทำเรียกว่า “กรตา” ปลงผม (เหลือไว้หนึ่งปอยตามประเพณี) เลี้ยงอาหารอย่างดีแก่พราหมณ์ โดยถือว่า พราหมณ์นั้นกินอาหาร “แทน” บรรพบุรุษ การเลี้ยงอาหารจึงมีนัยสำคัญแบบนี้

จากนั้นจะเป็นพิธีถวาย “ปิณฑะ” หรือข้าวบิณฑ์ อันหมายถึงก้อนข้าว เขาจะเอาข้าวผสมงาปั้นเป็นลูกๆ กลมๆ บางทีก็มียอดแหลมเล็กๆ อย่างทรงที่เราเรียกยอดเจดีย์ทรง “พุ่มข้าวบิณฑ์” นั่นแหละครับ แต่ไม่บางเรียวอย่างของเรา

เมื่ออุทิศถวายบรรพชนแล้ว เขาจะเอาไปทิ้งไว้ข้างนอก รอจนกว่า “อีกา” จะมากินก้อนข้าวนั้น ถือว่าอีกาเป็นตัวแทนผีบรรพบุรุษ พิธีจึงเสร็จสิ้นสมบูรณ์

พิธีนี้เขาจะอุทิศในบรรพบุรุษแค่สามรุ่นขึ้นไปเท่านั้น เพราะเชื่อว่า พอมีคนตายใหม่ในรุ่นหลัง รุ่นที่เลยขึ้นไปจะขยับขึ้นไปเป็นเทพ จึงไม่ต้องอุทิศศราทธให้แล้ว ส่วนบรรพบุรุษทางฝั่งแม่นั้น เขาแยกไปเป็นอีกแบบหนึ่งมีรายละเอียดต่างกัน

การทำพิธีนี้เชื่อกันว่ามีสถานที่พิเศษที่ควรไปทำพิธีศราทธ ส่วนมากเป็นริมแม่น้ำ เช่น ที่ตำบลคยา (พุทธคยา รัฐพิหาร) ตำบลประยาค (อัลลาฮาบาด) หรือเมืองหริทวารริมฝั่งคงคา เพราะเชื่อว่าแม่น้ำเป็นทางไปสู่ปรโลก แต่หากไม่สามารถไปได้ จะทำที่บ้านเมืองตนเองก็ได้ เว้นแต่ประเทศที่เป็น “มเลจฉะ” หรือพวกมิจฉาทิฐิต่างๆ

แม้จะทำได้ในทุกแปดค่ำและสิบห้าค่ำหรือโอกาสอื่นๆ แต่ในรอบปีหนึ่งมี จะมีเทศกาลที่พึงทำเป็นพิเศษ คือถือว่ามีกึ่งเดือนหนึ่งที่ผีบรรพชนจะกลับมาจากปรโลกเพื่อพบลูกหลาน จึงเรียกว่า “ปิตฤปักษะ” (ปักษะคือกึ่งเดือน)

@@@@@@

ปิตฤปักษะนับเอากึ่งเดือนหลังของเดือนภัทรบท คือแรมหนึ่งค่ำไปจนถึงสิบห้าค่ำ ซึ่งตรงกับเดือนสิบของเราหรือหย่อนกว่ากันเล็กน้อย คือหลังเทศกาลคเณศจตุรถีสิ้นสุดลง ตกประมาณกันยายนของทุกปี

เหตุที่เป็นเดือนนี้เพราะชาวบ้านเริ่มเก็บเกี่ยวจึงเอาผลผลิตแรกที่ได้มาถวายทั้งเทวดาและผีบรรพชนด้วย ส่วนที่จีนเป็นเดือนเจ็ด (สารทจีน) นั้น ท่านอาจารย์เศรษฐพงศ์ จงสงวน ท่านบอกว่า เพราะฤดูกาลจีนไม่เหมือนอินเดีย ระยะเวลาเก็บเกี่ยวจึงต่างกันแต่ก็ยังอยู่ในคติความเชื่อคล้ายกัน

วันแรกของปิตฤปักษะ คือวันที่ผีบรรพชนมานั้น เรียกว่าวัน “ปิตฤอาวาหัน” หรือการเชิญบรรพชนกลับมา ตรงกับวัน “รับตายาย” และวันสุดท้ายของเทศกาล เรียกว่า “ปิตฤวิสรชัน” แปลว่าส่งบรรพชน ตรงกับวัน “ส่งตายาย” ของเรา

ในช่วงปิตฤปักษะ เขาจะไม่ทำการงานมงคลเพราะถือเป็นเดือนผีออก เช่นเดียวกับคติความเชื่อของชาวจีน

หากพิจารณาดูจากความใกล้ชิดทางวัฒนธรรมระหว่างปักษ์ใต้กับอินเดีย ทั้งช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันของเทศกาลนี้ รวมทั้งรายละเอียดต่างๆ ในพิธีกรรมและคติความเชื่อ ผมจึงคิดว่าปิตฤปักษะเป็นต้นแบบของสารทเดือนสิบในสยาม โดยเฉพาะในวัฒนธรรมชาวใต้

แล้วหากเปลี่ยนจาก “พราหมณ์” มาเป็น “พุทธ” ก็แค่เปลี่ยนเลี้ยงพราหมณ์มาเป็นเลี้ยงพระ อะไรๆ ก็ดูแทบไม่ต่างกันเลย

ผีพราหมณ์พุทธ จึงผสานสอดคล้องขยับปรับแปลง อยู่ในประเพณีวิถีชีวิตของเราเช่นนี้แล


ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11-17 ตุลาคม 2562
คอลัมน์ : ผี-พราหมณ์-พุทธ
ผู้เขียน : คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
เผยแพร่ : วันพฤหัสที่ 17 ตุลาคม พ.ศ.2562
ขอบคุณ : https://www.matichonweekly.com/column/article_238570
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ