ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เรื่อง รูปฌาน และอรูปฌาน  (อ่าน 11107 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ทินกร

  • ถวายชีวิตเพื่อพุทธศาสน์
  • ผู้บริหารเว็บ
  • มีเหตุมีผล
  • *
  • ผลบุญ: +17/-1
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: ชาย
  • กระทู้: 365
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
เรื่อง รูปฌาน และอรูปฌาน
« เมื่อ: พฤศจิกายน 19, 2009, 02:24:12 pm »
เรื่อง รูปฌาน และอรูปฌาน

                              พระนิพนธ์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช(สุก)
                 
                  แลฌาน อันได้แต่งให้ไปเกิดในพรหมโลกนั้น ถ้าจะจัดโดยจตุกกนัยแจกออกไปเป็น ๔ ประการคือ ปฐมฌานประการหนึ่ง ทุติยฌานประการหนึ่ง ตติยฌานประการหนึ่ง จตุตถฌานประการหนึ่ง เป็น ๔ ประการด้วยกัน   ถ้าจะจัดด้วยปัญจกนัยนั้น แจกออกไปเป็น ๕ ประการด้วยกัน 

เมื่อจัดโดยจตุกนัยนั้น ปฐมฌานมีองค์ ๕ คือ  วิตกหนึ่ง วิจารหนึ่ง ปีติหนึ่ง สุขหนึ่ง เอกัคตาหนึ่ง ทุติยฌานมีองค์ ๓ ประการคือ ปีติหนึ่ง สุขหนึ่ง เอกัคตาหนึ่ง  ตติยฌานมีองค์ ๒ คือ สุขประการหนึ่ง เอกัคตาประการหนึ่ง จตุตถฌานมีองค์ ๒ คือ เอกัคตาประการหนึ่ง อุเบกขาประการหนึ่ง  อันนี้จัดโดยจตุกกนัย

                ถ้าจัดโดยปัญจกนัย ปฐมฌานมีองค์ ๕ ประการเหมือนกัน ต่างกันแต่ทุติยฌาน จตุตถฌาน  ทุติยฌานข้างจตุกกนัยนั้น เว้นแต่วิตก วิจาร และทุติยฌานข้างปัญจกนัย เว้นแต่วิตกสิ่งเดียว   ทุติยฌานมีองค์ ๔ คือ  วิจารประการหนึ่ง ปีติประการหนึ่ง สุขประการหนึ่ง เอกัคตาประการหนึ่ง  ครั้นขึ้นตติยฌาน มีองค์ ๓ คือ ปีติประการหนึ่ง สุขประการหนึ่ง เอกัคตาประการหนึ่ง  ครั้นขึ้นจตุตถฌานมีองค์ ๒ คือ สุขประการหนึ่ง เอกัคตาประการหนึ่ง   ครั้นถึงปัญจมฌาน ๆ มีองค์ ๒ คือ เอกัคตาประการหนึ่ง อุเบกขาประการหนึ่ง  จตุกกนัยกับปัญจกนัยนี้ ต่างกัน อาจารย์พึงรู้โดยพิจารณานี้เถิด 

จะเเก้ไขในลักษณะแห่งวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคตา อุเบกขา ที่จัดเป็นองค์ฌานทั้งปวง วิตก·   มีลักษณะยกจิตขึ้นสู่อารมณ์  วิจาร· มีลักษณะวิจารณ์ซึ่งอารมณ์นั้นเนื่อง ๆ จะมีครุวนา·ไฉน   มีครุวนาดุจดังเสียงระฆัง อันบังเกิดด้วยไม้เคาะ อันบุคคลประหารขณะเมื่อบุคคลเอาไม้เคาะ ตีระฆังมีเสียงนั้น  มีครุวนาดั่งวิตก อันยกขึ้นซึ่งจิตสู่อารมณ์ เมื่อเสียงระฆังอันคร่ำครวญไปนั้น มีครุวนาดั่งพิจารณาซึ่งอารมณ์   

ถ้ามิดังนั้นก็เปรียบประดุจดังว่า สกุณาทวิชาติทั้งหลาย อันปรารถนาจะบินไปในนภาลัยประเทศอากาศ นกทั้งหลายนั้นกวัก1 ปีกบินขึ้นไป ครั้นแล้วนกนั้นก็แผ่ปีกออก ร่อนไปในอากาศเวหา เสยยถา มีครุวนาไฉน   วิตก วิจาร   ก็อุปไมยดังนั้น   วิตก นั้นถ้าบังเกิดแล้ว ก็ย่อมยกซึ่งจิตสู่อารมณ์ เปรียบประดุจดังว่านกกวักปีกบินขึ้นไป วิจาร เมื่อบังเกิดแล้วก็ย่อม พิจารณาอารมณ์ เปรียบประดุจดังนกที่เหยียดปีกออกแล้ว เวียนไปใน นภาลัยประเทศอากาศนั้น  วิตก มีลักษณะยกขึ้นซึ่งจิตสู่อารมณ์อันเป็นประการใด  วิจาร มีลักษณะอันพิจารณาซึ่งอารมณ์นั้นประการใด   อธิบายว่า ขณะเมื่อพิจารณาอารมณ์แห่งพระกัมมัฏฐาน มีปฏิภาคนิมิตแห่งกสิณเป็นที่นั้น    นักปราชญ์พึงรู้ว่า เมื่อ แรกยกขึ้นซึ่งจิต สู่ปฏิภาคนิมิตเป็นอาทิ เป็นกิจ แห่งวิตก  เมื่อพิจารณาโดยพิศดารแห่งปฏิภาคนิมิตเป็นกิจแห่ง วิจาร

นัยหนึ่ง  วิตก วิจาร ที่ท่านเปรียบคือแมลงภู่ อันธรรมดาแมลงภู่อันหมายเอาชาติเรณูนวลห้องเกสรนั้นก็บินโฉบลงจำเพาะหา เกสรดอกบัว บินเวียนอยู่เบื้องบนดอกบัวนั้นก่อน ครั้นแล้วจึงโดดดิ่งเอาชาติเกสรเมื่อภายหลัง   ไฉนก็ดี   วิตก  วิจาร  ก็มีอุปมัยดังนั้น วิตก นั้นมีลักษณะยกขึ้นซึ่งจิตสู่อารมณ์เปรียบประดุจ แมลงภู่ที่บินโฉบลงจำเพาะมาสู่ดอกบัว วิจาร นั้นมีลักษณะให้พิจารณาโดยรอบคอบไป เปรียบดังแมลงภู่ที่บินเวียนอยู่เบื้องบนแห่งดอกบัวนั้น 

นัยหนึ่ง ก็เปรียบบุคคลอันขัดภาชนะเป็นสนิม  ธรรมดาอันบุคคลอันขัดภาชนะอันเป็นสนิมนั้น  ก็หยิบภาชนะไว้ด้วยมือข้างหนึ่ง  มือข้างหนึ่งก็ขัดสีเวียนไป มือที่หยิบภาชนะเปรียบประดุจ วิตก มือข้างหนึ่งที่ขัดสีเวียนไปเปรียบประดุจ วิจาร

                ทีนี้จะสำเเดง2ในลักษณะปีติสืบต่อไป    องค์อันใดชื่อปีตินั้นด้วย   อรรถว่า  ยังกายและจิตให้เต็ม  2.2อตฺถวิคฺคหกายจิตฺตานํ  ปิยณตีติ ปิติยา ธมฺมชาติอันธรรมชาติใด  กายจิตฺตานํ  ยังกายและจิตทั้งหลายนี้    ปิณยตีติ อิติ โหนตุ ดังนั้น  ธมฺมชาติ  นั้น  ปีติ นาม ชื่อว่าปีติ  ธมฺมชาติ  ปีติยังกายและจิตให้เต็ม อธิบายว่า ธมฺมชาติ อันกระทำให้กายและจิตปรีเปรมเต็มขึ้นนั้น ได้ชื่อว่า ปีติ เหมือนสาผกพรหม จะว่าโดยลักษณะปีตินี้ มีลักษณะ ๕ ประการคือ 

พระขุททกาปึติ  ประการหนึ่ง 

พระขณิกาปีติ  ประการหนึ่ง 

พระโอกกันติกาปีติ  ประการหนึ่ง   

พระอุพเพงคาปีติ   ประการหนึ่ง 

พระผรณาปีติ  ประการหนึ่ง     เป็น ๕ ประการ ด้วยกัน       

พระขุททกาปีติ  เมื่อบังเกิดขึ้นแล้ว  ขนผองสยองเกล้า  มีประการต่าง ๆ  ขณะเมื่อจำเริญภาวนาและมีความยินดีปรีดาในสันดาน ให้บังเกิดขนพองสยองเกล้านั้น  ใช่อื่นใช่ไกล พึงเข้าใจเถิดว่า  พระขุททกาปีติได้บังเกิดขึ้นแล้วในสันดานแล     

พระขณิกาปีติ  นั้นเมื่อบังเกิดแล้ว  ก็ย่อมให้เห็นปรากฏ วิชุลตา  วิย  ดุจดังว่าสายฟ้า อันแลบฉวัดเฉวียนในประเทศอากาศนั้น เห็นปรากฎดุจพระขณิกาปีตินี้   เมื่อบังเกิดขึ้นในสันดานแล้วก็ให้ปรากฏดุจดังนั้นแล

พระโอกกันติกาปีติ   เมื่อบังเกิดขึ้นในสันดาน ก็มีครุวนาดั่งคลื่นกระทบฝั่ง  น้ำเข้ามาแล้วก็อันตรธานหายไป ฉันใดก็ดี  เมื่อพระโอกกันติกาปีตินั้น เมื่อหยั่งลงสู่กายแล้ว ก็ให้ปรากฏ ดังนั้น ๆ อยู่ น้ำเข้ามาแล้ว ดังโคลกคลาก  เข้าแล้วแลหายไป  อย่างนี้นี่เป็นลักษณะแห่งพระโอกกันติกาปีติแล   

พระอุพเพงคาปีติ   เมื่อบังเกิดขึ้นแก่กายแล้ว  ก็ให้กายลอยไปในอากาศ  เสมือนหนึ่งลูกสกุณาปีกยังมิกล้า บังเกิดกระทำให้พอแต่ไหวกายแต่เพียงนั้น  เหมือนเราท่านทุกวันนี้ เป็นผู้ที่มีศรัทธาได้เล่าเรียนพระวิปัสสนา  ในอุพเพงคาปีตินั้น พึ่งเข้าใจว่าได้ โอน ๆ  เป็นแต่อย่างกลาง  บางทีนั้น กายหกคะมำไปก็มี  เป็นอย่างนี้อาศัยด้วยมิได้ที่กล้าหาญ  ถ้าได้พระอุพเพงคาปีติที่กล้าที่หาญนั้นแล้ว กายก็ลอยไปในอากาศเวหาเป็นแท้

พระผรณาปีตินั้น เมื่อบังเกิดขึ้นแล้วก็ให้เย็นแผ่ไปทั่วสรรพางค์กาย ปีติจัดโดยลักษณ์มี   ๕  ประการ  ดุจพรรณนามานี้  ถ้าบังเกิดเป็นหลายครั้งหลายคราแล้ว ก็มีกิจอันกระทำให้กายอิ่มให้จิตอิ่มเหมือนสาผกพรหม     อุทกสปญฺจมฐาโน  ปีตินี้ย่อมกระทำให้กายและจิตนั้นจำเริญขึ้นเป็นผล   อธิบายว่า ปีตินี้   ถ้าบังเกิดกล้าหาญเป็นหลายครั้งหลายคราแล้ว ก็ยังเจตสิกธรรมทั้ง ๒ คือ กายปัสสัทธิ  จิตตปัสสัทธิ    ให้บังเกิดขึ้นในสันดานแล   กายปัสสัทธิ  จิตตปัสสัทธินี้  ท่านจัดเป็นยุคล3ประการหนึ่ง

ถ้าจะว่าในพระยุคลนั้น  พระยุคลมี  ๖ ประการ   กายปัสสัทธิ  จิตตปัสสัทธิ  จัดเป็นยุคลประการหนึ่ง   กายลหุตา  จิตตลหุตา จัดเป็นยุคลประการหนึ่ง  กายมุทุตา  จิตตมุทุตา  ก็จัดเป็นยุคลประการหนึ่ง  กายกัมมัญญตา   จิตตกัมมัญญตา   ก็จัดเป็นยุคลประการหนึ่ง   กายปาคุญญตา    จิตตปาคุญญตา ก็จัดเป็นยุคลประการหนึ่ง     กายชุคตา   จิตตุชุคตา   ก็จัดเป็นยุคลประการหนึ่ง        ประสมเข้ากันเป็นยุคล ๖  ประการด้วยกัน    อรรถที่ว่า

กายปัสสัทธิ  จิตตปัสสัทธิ   กระทำให้กายแล    จิตนี้ระงับจากกระวนกระวายทั้งปวง  กายปัสสัทธิ เป็นพนักงานระงับกาย  จิตตปัสสัทธินั้น เป็นพนักงานระงับจิต  เมื่อกายปัสสัทธิบังเกิดแล้ว ความกระวนกระวายในกายอันตรธานหาย    จิตตปัสสัทธิบังเกิดแล้ว ความกระวนกระวายในจิตอันตรธานหาย

แลพระยุคลที่ ๒ ชื่อ กายลหุตา จิตลหุตา  นั้น  เมื่อบังเกิดแล้วทำให้กายและจิตนั้นเบา  มิให้หนักอยู่ในที่จำเริญ  สมถะกัมมัฎฐานภาวนาและพระวิปัสสนากัมมัฎฐานภาวนา  กายลหุตานั้นเป็นพนักงานบรรเทาเสียซึ่งความหนักในกาย จิตลหุตานั้น บรรเทาเสียซึ่งความหนักแห่งจิต   เมื่อกายลหุตา  จิตตลหุตา เกิดแล้ว ที่หนักกายและจิตก็อันตรธานหาย

แลยุคลอันที่ ๓ กายมุทุตา จิตมุทุตานั้น เมื่อบังเกิดแล้ว ก็ทำให้กายและจิตนั้นอ่อน มิให้กระด้างอยู่ในที่จำเริญ3.3  สมถะกัมมัฎฐานภาวนาและวิปัสสนากัมมัฎฐานภาวนา  กายมุทุตานั้น เป็นพนักงานระงับเสียซึ่งกระด้างในกาย  จิตมุทุตานั้นเป็นพนักงานระงับเสียซึ่งความกระด้างแห่งจิต    เมื่อกายมุทุตา จิตมุทุตา   นี้บังเกิดขึ้นแล้ว อันความกระด้างในกายและจิตก็ระงับหาย   

แลพระยุคลอันดับที่ ๔  ที่ว่า กายกัมมัญญตา จิตกัมมัญญตานั้นเล่า ก็เป็นพนักงานที่จะบำรุงกายและจิตให้ดี อยู่ในที่จำเริญสมถะกัมมัฎฐานภาวนา  และวิปัสสนากัมมัฎฐานภาวนา

แลพระยุคลอันดับที่ ๕ ชื่อ กายปาคุญญตา จิตปาคุญญตานั้น  เมื่อบังเกิดแล้วในสันดาน ก็ระงับเสียซึ่งความลำบาก     กายปาคุญญตานั้น  เป็นพนักงานระงับเสียซึ่งความลำบากแห่งกาย  จิตปาคุญญตานั้น เป็นพนักงานระงับเสียซึ่งความลำบากแห่งจิต   เมื่อ กายปาคุญญตา จิตปาคุญญตาบังเกิดแล้ว  ความลำบากกายและจิตก็ระงับหาย     

แลยุคล ๖ อรรถที่ว่า   กายชุคตา จิตตุชุคตานั้นเล่า   ถ้าบังเกิดในสันดานแล้ว ก็กระทำให้กายและและจิตนั้นตรงอยู่ในที่จำเริญสมถกัมมัฎฐานภาวนา   และวิปัสสนากัมมัฎฐานภาวนา   กายชุคตาเป็นพนักงานกระทำให้กายนั้นตรง  จิตตุชุคตานั้นเล่าเป็นพนักงานทำให้จิตนั้นตรง  เมื่อกายชุคตา จิตตุชุคตาบังเกิดแล้ว  กายและจิตที่คดอันตรธานหาย   

พระยุคล ๖ ประการมีคุณต่าง ๆ กัน เป็นต่าง ๆ กัน ดุจพรรณนามานี้     พึงเข้าใจเป็นใจความว่า    ปีติอันมี ลักษณะ ๕  ประการดังพรรณนามาแต่หนหลังนั้น   ถ้าบังเกิดในสันดานแล้ว  ก็ยังพระยุคลธรรม อันเป็นปฐมคือ   กายปัสสัทธิ  จิตปัสสัทธิ  อันให้บังเกิด กายปัสสัทธิ จิตปัสสัทธิ  เมื่อบังเกิดขึ้นในสันดานแล้ว  ก็ยังให้กายเป็นสุข  จิตเป็นสุข    ก็ทำให้บังเกิดสมาธิ ๓ ประการ คือ   ขณิกสมาธิ  อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ 

ขณิกสมาธิ คือน้ำจิต3.4ตั้งมั่นแต่ละขณะ ๆ   เมื่อจำเริญเมตตาภาวนา หรือฟังธรรมเทศนา  และน้ำจิตตั้งมั่นลงได้มินาน   แต่มากกว่าช้างขยับหูทีหนึ่ง  แต่เท่านั้นก็ได้ชื่อว่า ขณิกสมาธิ   

แลอุปจารสมาธินั้น    ได้แก่น้ำจิตตั้งมั่นในที่ใกล้จะได้ซึ่งฌาน ใกล้จะได้ปฐมฌาน  ทุติยฌาน  ตติยฌาน  จตุตถฌาน และปัญจมฌานอยู่แล้ว  น้ำจิตตั้งมั่นลงแล้วได้ชื่อว่าอุปจารสมาธิ 

แลอัปปนาสมาธินั้นได้แก่ ฌาน มีปฐมฌาน เป็นต้น เป็นประธาน  น้ำจิตที่ตั้งมั่นอยู่ในฌานนั้นได้ชื่อว่า  อัปปนาสมาธิ    สมาธิ ๓ ประการนี้     จะบังเกิดมีนั้นอาศัยแต่สุข     สุขจะบังเกิดมีได้นั้นอาศัยแต่ปัสสัทธิ  ปัสสัทธิจะบังเกิดมีก็อาศัยแต่ปีติ     

ปีตินี้เป็นราก   เป็นเง่า  เป็นโต   เป็นมูล    ให้บังเกิดสมาธิจิต  ปีตินี้เรียกชื่อว่า  ปกิณกเจตสิก4      ด้วยอรรถว่า   เกิดเรี่ยรายไป  จะให้บังเกิดทั่วไปในจิตทั้ง  ๘๙  ดวง5 นั้นหามิได้  ปีตินี้เกิดได้ในจิตอันเป็น   โสมนัสสัมปยุตจิต  ที่เป็นโทมนัสสัมปยุตจิต และจิตที่เป็นอุเบกขาสัมปยุต  ปีติจิตบังเกิดหามิได้     และปีตินี้เมื่อบังเกิดในสันดานแล้ว  อันชื่นบานเพียรไปในการกุศล  ปีตินี้แล    ในอัฏฐสาลินี   ปีตินี้จะมีครุวนาไฉน  มีครุวนาดุจบุคคลเดินมรรคากันดาร  ร้อนรนกระวนกระวายกระหายน้ำเป็นกำลัง  ปฏิรูปเถปุริส  ภายนั้นเมื่อเห็นบุรุษผู้หนึ่งเดินมาตามรรคาหนทางกันดาร    ดูก่อนที่อันใดจะมีน้ำบ้าง บุรุษผู้นั้นก็พึงจะบอกว่า ชาตสระ6 อันหนึ่งมีอยู่ในที่    ข้างโน้น  ท่านอุตส่าห์เดินไปสักพักหนึ่งเถิด  ไปถึงฟากโน้นแล้ว ก็จะพบ ชาตสระ   ท่านจะได้อาศัยน้ำในสถานที่นั้น     ชายผู้นั้นกระหายน้ำ  ได้ฟังก็ชื่นชมยินดี มีน้ำใจขึ้นนักหนา  ว่าที่นี้มีน้ำเป็นแน่แล้ว    จะได้กินน้ำแล้ว  ก็อุตสาหะทรมาน   เดินดำเนิน  เนินลำเนา  หมดประเทศมรรคา   พานพบเห็นกลีบอุบลตกเรี่ยรายตามมรรคา  ก็ยินดีปรีดาภิญโญ ภาวะยิ่งขึ้นไปกว่าเก่า   มีน้ำใจยินดีหนักหนา   เดินไปในเบื้องหน้าก็เห็นบุรุษชายมากนักหนาอันเดินไปอาบน้ำชำระกาย ในชาตสระอันนั้นแล้ว  ก็กลับมามีผ้าอันชุ่มไปด้วยน้ำ   มีผมอันชุ่มไปด้วยน้ำ  แล้วก็ได้ยินสรรพสำเนียงใกล้ป่าละเมาะ  เสียงนกร้องกึกก้องไพร  เห็นแต่รุกขชาติพันธุ์ไม้ทั้งหลาย  อันบังเกิดริมขอบชาตสระ  มีกิ่งก้านสาขามีใบอันเขียวสดชอุ่ม   กิ่งน้อยและกิ่งใหญ่เข้าเกี่ยวประสานกัน เปรียบดังประดุจข่ายแก้วมณี  เห็นทั้งอุบลจงกลนี   โกมุทแดง  โกมุทขาว   สัตตะบุด   สัตตะบัน    บัวตูมบัวบาน เพิ่งจะ เเย้มกลีบ และเกสรอันกลิ่นหอมฟุ้งกระจุยกระจาย  อบอวนเอาใจ  เห็นน้ำใสอันปราศจากมลทิน   น่าจะได้กินได้อาบ  ชายนั้นก็ชื่นชมโสมนัสยินดีไปกว่าเก่า   ชายนั้นก็ลงสู่ ชาตสระถึงน้ำแล้ว   สบายอก สบายใจ   ทั้งกินทั้งอาบระงับกระวนกระวายลงแล้ว   ชายนั้นก็ขุดเอารากบัว และเง่าบัว  กับทั้งฝักบัวมาบริโภคเป็นอาหารอิ่มหนำสำราญเสร็จแแล้ว    ก็เก็บเอาดอกบัวจงกลนีมาทัดมาทรง  เก็บดอกบัว รากบัว  เง่าบัว  มาแบกขึ้นบ่าแล้วก็ขึ้นมาจาก ชาตสระ  ผัดผ้าสาฎกแล้ว  เอาชุดอาบนั้นมาตากเอาไว้ในที่แดด  ชายนั้นก็เข้าไปนั่งในร่มไม้อันมีลม อันพัดวายุมาเฉื่อย ๆ  เย็นสบายใจหนักหนา   ชายผู้นั้นก็เปล่งซึ่งอุทานวาจา  อโห สุขํ  ปรมํ  สุขํ   ดังเราชมสถานที่อันนั้นเป็นสุขนักหนา  บรมสุขนักหนา  เสยฺยถา อนิลฺเล มีไฉน  อุปไมยดังพระโยคาวจรเจ้าอันจำเริญซึ่งสมาบัติ   บุรุษอันเดินบนมรรคา นั้นเปรียบดังพระโยคาวจรเจ้า   ขณะเมื่อบุรุษเดินทางร้อนรนกระหายน้ำเป็นกำลังนัก   เปรียบประดุจดังพระโยคาวจรเจ้า  อันมีจิตเดือดร้อนอยู่ ด้วยราคะ  โทสะ  โมหะ  ยังกระสันกระส่ายทุรนทุราย  ด้วยอกุศลวิตกทั้ง  ๓   คือ   กามวิตก  พยาบาทวิตก   วิหิงสาวิตก   ขณะเมื่อบุรุษเดินทางเห็นบุรุษผู้หนึ่ง เดินผ่านมาตามมรรคา  ก็ไถ่ถามเนื้อความ  ข้างหน้ามีน้ำแล้ว ดังอารมณ์ไปในที่ใกล้ซึ่งน้ำนั้น  เปรียบประดุจดังพระโยคาวจรเจ้า6.1   วิตกและวิจารอันยกขึ้นซึ่งจิตสู่อารมณ์ และวิตกวิจารอันเป็นอารมณ์นั้นเมื่อเกิดแล้วก็ย่อมยกซึ่งจิตขึ้นพิจารณา  ซึ่งอารมณ์และฌานเปรียบประดุจบุรุษอันอารมณ์ไปในที่จะใกล้ได้น้ำ   ในขณะเมื่อบุรุษเดินทางไปใกล้ ชาตสระเข้าแล้ว ก็เห็นซึ่งกลีบอุบล ตกเรี่ยรายอยู่ตามมรรคาและบังเกิดความยินดีหนักหนา      มีครุวนาดุจลักษณะปีติอยู่อ่อน บังเกิดขึ้นอยู่ในสันดานแห่งพระโยคาวจรเจ้า   ขณะ เมื่อบุรุษเดินทางแลเห็นบุรุษทั้งหลายไปอาบน้ำใน ชาตสระแล้ว ดังอุปมามีผ้าชุ่มด้วยน้ำ มีผมชุ่มด้วยน้ำ แลเห็นต้นไม้อันบังเกิดขึ้นแถบชาตสระมีใบเขียวสดชอุ่มเห็นดอกอุบลจงกลนี   เห็นน้ำอันใสแลบังเกิดความยินดีปรีดาภิญโญภาวะยิ่งขึ้นไปนั้น  เปรียบประดุจพระโยคาวจรเจ้า  อันได้ซึ่งลักษณะปีติ  อันกล้าหาญ  และปีติอันแก่กล้าอยู่แล้ว  ขณะเมื่อบุรุษเดินทางไปพบชาตสระแล้วแล ลงอาบน้ำชำระกายดำผุดดำว่ายอันควรแก่ความพอใจ  ทั้งกินและอาบค่อยระงับกระวนกระวาย  ในกายและจิตนั้น  มีครุวนาดุจพระโยคาวจรเจ้าอันได้พระยุคลอันหนึ่งคือ  กายปัสสัทธิ  ขณะเมื่อบุรุษเดินกินรากบัว และเง่าบัว ฝักบัว  มาทัดมาทรงซึ่งดอกอุบลอันหอมรื่นชื่นกมลจิตนั้น เปรียบดุจพระโยคาวจรเจ้ามี  ปัสสัทธิ  อันได้กล้าหาญแล้ว ได้ชื่อว่าสุข กายก็เป็นสุข จิตก็เป็นสุข  เสวยอารมณ์อันเป็นสุขกายและสุขจิต     เหมือนเมื่อบุรุษขึ้นจากชาตสระ   ผัดผ้าสาฎกแล้ว  แลมานั่งอยู่ใต้ร่มไม้  ลมพัดมาเฉื่อย ๆ   เย็นสบายอารมณ์ เป็นสุขนั้น   เปรียบดังพระโยคาวจรเจ้า  อันได้ซึ่ง อัปปนาสมาธิ  มีจิตแนบแน่นอยู่ใน    สมาบัตินั้น    และเจตสิกธรรมนั้น  จัดเป็นพระลักษณะประการหนึ่ง  สุขอันเกิดในลำดับปัสสัทธิ  อันมีลักษณะให้กายเป็นสุขนั้น   ท่าน จัดเป็นองค์ฌานประการหนึ่ง แลเอกัคตาจิตนั้นก็จัดเป็นองค์ฌานประการหนึ่ง แลเอกัคตาจิตนี้มีลักษณะทำให้น้ำจิต แน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียว มิให้จิตพรุ่งพร่านกระวนกระวาย กระสับกระส่ายไปในอารมณ์อันอื่นๆ  อันเป็นพาหิรเหตุนั้นได้แก่ เอกัคตาที่เป็นคุณแก่กุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวงจะให้สำเร็จกิจเหล่านั้นได้  ก็อาศัยเอกัคตาเป็นที่ประชุมไว้ซึ่งกุศลธรรมทั้งปวง   เปรียบประดุจยอดกุตตาคารปราสาท อันเป็นที่ประชุมแห่งทัพพะสัมภาระเครื่องไม้ทั้งปวง ย่อมประชุมกันในยอดกุตตาคาร ๆ  เป็นประธานแก่ทัพพะสัมภาระทั้งปวง  ไฉนก็ดี    เอกัคตา ก็เป็นที่ประชุมแก่กุศลธรรมทั่งปวง  มีอุปมาดังนั้น    พึงเข้าใจเถิดว่า  เอกัคตาจิตเป็นองค์แห่งธรรมประการหนึ่ง

และอุเบกขานั้นเล่าก็จัดเป็นองค์ธรรมประการหนึ่ง ประสงค์เอาซึ่ง ฉฬังคุ เบกขา พรหมวิหารอุเบกขา โพชฌังคุเบกขา วิริยะอุเบกขา สังขารุเบกขา เวทนูเบกขา วิปัสสนูเบกขา ตัตรมัชฌัตตุเบกขา ฌานุเบกขา ปริสุทธุเบกขา    ประสมกันเข้าเป็นอุเบกขา ประการหนึ่ง 

ฉฬังคุเบกขา นั้น  ได้แก่อุเบกขาอันบังเกิดขึ้นในทวารทั้ง ๖ แห่งพระขีณาสพเจ้า    อธิบายว่าพระขีณาสพนั้น       ถ้าท่านเห็นรูปที่ดีก็ตาม   ท่าน ก็ไม่ชื่นชมโสมนัสยินดีปรีดา ถ้าเห็นรูปที่ชังก็ตาม ท่านก็ไม่โทมนัสขัดเคือง ได้ฟังสรรพเสียงสำเนียงอันดีนี้อันไพเราะท่านก็ไม่ชื่นชมยินดี ได้ฟังเสียงที่ชัง ท่านก็ไม่ยินร้าย  ได้ดมกลิ่นที่หอมที่ดีท่านก็ไม่ชื่นชมโสมนัส ได้ดมกลิ่นที่ชังท่านก็ไม่โทมนัสขัดเคือง  ได้ลิ้มชิมรสอาหารอันมี โอชาอันดี  ท่านก็ไม่ยินดีปรีดา ได้ลิ้มชิมรสอันชังท่านก็ไม่ยินร้าย  ได้ ผัสสะถูกต้องสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ดี ท่านก็ไม่ ชื่นชมโสมนัส ได้สัมผัสถูกต้องสิ่งที่ชังท่านก็ไม่โทมนัส ที่ปรากฎแจ้งในมโนทวารนั้นแล ที่ปรากฏดีท่านก็ไม่ชื่นชมยินดี ที่ปรากฏชังท่านก็ไม่ยินร้าย   อุเบกขาที่เกิดขึ้นในทวารทั้ง ๖ คือ จักขุทวาร  โสตทวาร ฆานทวาร  ชิวหาทวาร  มโนทวาร    ก็ให้มีจิตมัธยัตอยู่ในอารมณ์ทั้งปวงมิได้ยินดียินร้ายบังเกิดในสันดานแห่งพระขีณาสพเจ้าทั้งปวง   ได้ชื่อว่า  ฉฬังคุเบกขา   

แลพรหมวิหารุเบกขา   และอุเบกขานั้น  ได้แก่อุเบกขาพรหมวิหาร  อธิบายว่า  พระโยคาวจร  อันจำเริญอุเบกขาพรหมวิหารตั้งจิตมัธยัตอยู่ในสัตว์ทั้งปวง มิได้รักใครชังใคร  แต่แผ่อุเบกขาไปในสัตว์ทั่วทิศานุทิศทั้งปวง  มิได้รักใครชังใคร     อุเบกขานี้แล  ได้ชื่อว่า พรหมวิหารอุเบกขา

แลพระโพชฌังคุเบกขา ได้แก่พระอุเบกขาโพชฌงค์ พระโยควจรเจ้าอันจำเริญซึ่งอุเบกขาสัมโพชฌงค์  มีอุเบกขาธรรมเจ้าเป็นองค์ให้ตรัสรู้จตุริยะสัจอุเบกขานั้นได้ชื่อว่า โพชฌงค์อุเบกขา

แลพระวิปัสสนูเบกขานั้น  ได้แก่อุเบกขา อันยุติในวิปัสสนาปัญญา  พระโยคาวจรเจ้าอันจำเริญวิปัสสนาปัญญา พิจารณาตาม อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา   ปัญญานั้นแก่กล้าขึ้นทุก ๆ ชั้น ตราบเท่าถึงสังขารุเบกขา  ปัญญาให้บังเกิดมัธยัติอยู่ใน สังคหธรรม  เปรียบประดุจดังบุรุษ อันมีภรรยาหย่าขาดกันแล้ว  และมีจิต มัธยัติอยู่   แลอุเบกขาอย่างหนึ่งได้ชื่อว่า วิปัสสนูอุเบกขา    พุทธชิโนรสปฎิบัติพึงเข้าใจเถิดว่า  สังขารุเบกขาญาน  อันมีลักษณะให้มัธยัติอยู่ใน  สังขาร   เปรียบประดุจดังบุรุษอันมัธยัติในภรรยาอันหย่าขาดกันแล้วนั้น   ได้ชื่อว่าวิปัสสนูเบกขา

และวิริยะอุเบกขานั้นได้แก่   อุเบกขาอันประกอบในความเพียร  อธิบายว่าพระโยคาวจรเจ้า อันกระทำความเพียรกล้าหาญมีกำลัง   เมื่อเห็นว่าจิตนั้น  ดังจะตกไป ฝ่ายอุทธัจจะฟุ้งซ่านไปแล้ว แลประพฤติมัธยัติอยู่มิได้ อยู่ในที่ปรารภความเพียรให้ยิ่งขึ้นไป  เป็นอุเบกขาอยู่ในความเพียรฉะนี้แล  ได้ชื่อว่า  วิริยะอุเบกขา

และสังขารุเบกขานั้น   ได้แก่อุเบกขาอันให้มัธยัติ  มิให้ยินดียินร้าย ในที่พิจารณาซึ่งธรรมเป็นต้น เป็นประธาน    จิตอันเป็นปานกลางอยู่ในที่พิจารณาซึ่งนิวรณ์ธรรมเป็นอาทิ  มิได้ยินดียินร้ายในขณะเมื่อพิจารณาซึ่งนิวรณ์ธรรมเป็นอาทินั้น   และได้ชื่อว่า สังขารุเบกขา 

แลเวทนูเบกขานั้น  ได้แก่อุเบกขาอันเกิดในสันดานแห่งเราท่านทั้งปวง   เมื่อกามาวจรกุศลจิตบังเกิดให้คิดเป็นอาทิ  จะกระทำกุศลนั้นก็ดี  ขณะเมื่อกระทำกุศลเป็นต้นว่า  ให้ทาน รักษาศีล  จำเริญเมตตาภาวนา  สดับฟังธรรมเทศนานั้น  ก็ดี    และมีจิตมิได้ยินดียินร้ายจะชื่นชมยินดีหามิได้   จะโทมนัสขัดเคืองก็หามิได้   จะเกิดเฉย ๆ เป็นท่ามกลางอยู่      อุเบกขาอย่างนี้แลได้ชื่อว่า เวทนูเบกขา

แลฌานุเบกขา   ได้แก่อุเบกขาอันเกิดในฌาน  อุเบกขาอันบังเกิดยั่งยืนในสันดาน  มิได้ปะปนไปด้วยสุขและทุกข์    โทมนัสและโสมนัส   ได้ชื่อว่า  ฌานุเบกขา

แลปริสุทธุเบกขานั้น   ได้แก่อุเบกขาอันบริสุทธิ์จากปัจจนีกธรรม ทั้งปวง    อุเบกขาอันบังเกิดในจตุตถฌาน บริสุทธ์เลื่อมประภัสสร ปราศจากข้าศึกคือ  วิตก  วิจาร ปีติ สุข  แลครอบงำมิได้นั้นไซร้ ชื่อว่า  ปริสุทธุเบกขา     

แลตัตรมัชฌัตตุเบกขานั้น  ได้แก่อุเบกขาอันบังเกิดขึ้นแล้วแลประชุมไว้ ซึ่งสหชาตธรรมทั้งปวง  เป็นไปตามชื่อว่า  ฉันทุเบกขา       พรหมวิหารอุเบกขา  โพชฌังคุเบกขา   ฌานุเบกขา  และปริสุทธุเบกขา นั้นก็อันเดียวกัน    ตัตรมัชฌัตตุเบกขานั้น จะได้ต่างกันก็หามิได้     ตัตรมัชฌัตตุเบกขานี้ เมื่อบังเกิดมีในทวารทั้ง ๖  แห่งพระขีณาสพเจ้านั้น   ก็ได้ชื่อว่า  ฉฬังคุเบกขา   เมื่อบังเกิดในขณะจำเริญอุเบกขาพรหมวิหาร  ก็ได้ชื่อว่า  พรหมวิหารอุเบกขานี้  ๆ   เมื่อเกิดในขณะจำเริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์  ก็ได้ชื่อว่า โพชฌังคุเบกขา  เมื่อบังเกิดในปฐมฌาน ทุติยฌาน  ตติยฌาน  ก็ได้ชื่อว่า  ฌานุเบกขา  เมื่อบังเกิดในจตุตถฌาน  ก็ได้ชื่อว่า  ปริสุทธุเบกขาเป็นแท้     ก็แต่ตัตรมัชฌัตตุเบกขาสิ่งเดียวนั้นแล  ตัตรมัชฌัตตุเบกขานี้มีลักษณะให้มัธยัติ  มิได้ให้ตกไปในภายสุขและทุกข์    และโสมนัส -โทมนัส   

อนาโภคตสยา  ตัตรมัชฌัตตุเบกขา   มิได้กระทำตามเป็นนิจกิจ   อธิบายว่า  ตัตรมัชฌัตตุเบกขา  เมื่อบังเกิดหลายครั้งหลายคราแล้ว ก็ย่อมทำให้จิตนั้น  ปราศจากกระวนกระวาย   มิให้วิตกวิจารอยู่ด้วยสิ่งอันใดอันหนึ่ง   พยาปารปทฎฺฐานา ตัตรมัชฌัตตุเบกขา  เมื่อบังเกิดกล้าหาญอยู่ในสันดานแล้ว  ก็ย่อมทำให้ปราศจาก ขวนขวาย  มิให้อารมณ์ขวนขวายไปในกิจอันใดอันหนึ่ง    ตัตรมัชฌัตตุเบกขานี้    จัดเป็นองค์ฌานประการหนึ่งแล    ตัตรมัชฌัตตุเบกขาจะมีในปฐมฌาน   ทุติยฌาน  ตติยฌาน  บ้างหรือหามิได้  หรือว่าจะมีแต่ในจตุตถฌานสิ่งเดียว  ตัตรมัชฌัตตุเบกขานี้มีทั่วไปในฌานทั้ง ๓ คือ  ปฐมฌาน ทุติยฌาน  ตติยฌาน  จะมีแต่ในจตุตถฌานสิ่งเดียวหามิได้   ตสฺมา   โหนฺตุ ท่านจึงมิได้จัดขึ้นเป็นองค์แห่ง  ปฐมฌาน  ทุติยฌาน  ตติยฌาน  ท่านเอาอุเบกขานี้  ขึ้นเป็นองค์แต่ใน จตุตถฌานนั้น ด้วยเหตุว่าผล เป็นประการใด 

อธิบายว่า   ตัตรมัชฌัตตุเบกขา อันบังเกิดใน ปฐมฌาน  ทุติยฌาน  ตติยฌาน  ยังมิปรากฎ วิตก วิจาร ปีติ สุขนั้นกล้าหาญมีกำลังด้วยครอบงำอยู่  ตัตรมัชฌัตตุเบกขานั้น ยังไม่ผ่องแผ้วหามิได้ อาศัยเหตุดังนั้น  ตัตรมัชฌัตตุเบกขานี้   มีในปฐมฌาน  ทุติยฌาน ตติยฌาน  นั้น  ท่านมิได้จัดขึ้นเป็นองค์แท้จริง    ตัตรมัชฌัตตุเบกขา  ในปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌานนั้น    วิตก วิจาร ปีติ สุข  ครอบงำอยู่มิได้ปรากฏแจ้ง  เปรียบดุจแสงพระจันทร์ อันมิได้ปรากฎอยู่ในเพลากลางวัน  ธรรมดาว่าพระจันทร์ในเวลากลางวันนั้นแสงพระอาทิตย์ครอบงำอยู่  จะได้ปรากฎแสงหามิได้   เสยฺยถา ถ้าอันนี้แลจะมีครุวนาไฉน   ตัตรมัชฌัตตุเบกขานั้น มีอุปมาดุจ วงพระจันทร์  วิตก วิจาร ปีติ สุข อันมีกำลังกล้า ครอบงำ  ตัตรมัชฌัตตุเบกขานั้นไว้  มีอุปมาเปรียบดังแสงพระอาทิตย์  อันบังบดครอบงำไว้ซึ่งแสงพระจันทร์   มิได้ปรากฏแจ้งนั้นมีอุปมาดัง ตัตรมัชฌัตตุเบกขาอันมีใน ปฐมฌาน  ทุติยฌาน ตติยฌาน   วิตก วิจาร ปีติ สุข  มีกำลังกล้าหาญ  บดบังกำบังไว้  มิให้ปรากฎนั้น   เหตุที่มิได้ปรากฎแจ้งนี้แล้ว  ตัตรมัชฌัตตุเบกขานั้น   ท่านจึงมิได้จัดขึ้นเป็นองค์แห่งปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน   เปรียบประดุจดังพระจันทร์ในเวลากลางวันมีแสงมิได้ปรากฎแจ้ง  และจะนับว่าราตรีนั้นมิได้   คือถึงจตุตถฌาน   ระงับวิตก วิจาร ปีติ สุข สิ้นแล้ว  ตัตรมัชฌัตตุเบกขานั้น  จึงผ่องแผ้ว  บริสุทธิ์ เป็นอันดีมีกำลังปรากฎ     ครั้นจะจัดขึ้นเป็นองค์ฌาน   จะมีครุวนาไฉน   มีครุวนาดั่งพระจันทร์เมื่อเพลาราตรี ธรรมดาว่าพระจันทร์นั้น ครั้นพระอาทิตย์อัสดงคต  ลดลงต่ำ  เข้ายามค่ำ สนธยาไปแล้ว  ก็มีรัศมีอันปรากฎประจักษ์แจ้งเป็นอันดี   พระจันทร์อันได้เหมือนกล่าวคือราตรี    และรัศมีอันผ่องแผ้วใส    ไฉนนั้นก็ดี    ตัตรมัชฌัตตุเบกขา  ในจตุตถฌานนี้ก็เป็นเหมือนกล่าวคือ  เอกัคตาแล้วก็มีกำลัง  ก็ปรากฏเห็นผ่องใส มีอุปมาดังนั้น  เหตุ อันนี้แล ตัตรมัชฌัตตุเบกขาในจตุตถฌานนี้ ท่านจึงจัดขึ้นเป็นองค์ฌาน มีครุวนาดั่งพระจันทร์ในเพลาราตรี มีอยู่ปรากฎแล้ว ควรจะนับว่าเป็นราตรีได้นั้น นักปราชญ์พึงรู้ว่าปฐมฌานนั้น เป็นพนักงานให้ผลในรูปพรหมทั้ง ๑๖ ชั้น มีพรหมปาริชัชฌา เป็นต้น

บันทึกการเข้า
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

www.madchima.org
http://saraburisat.ps-satcom.com รับติดตั้งจานดาวเทียมครับ
http://www.yutyaplaza.com ลงประกาศฟรี ของชาวอยุธยา

ทินกร

  • ถวายชีวิตเพื่อพุทธศาสน์
  • ผู้บริหารเว็บ
  • มีเหตุมีผล
  • *
  • ผลบุญ: +17/-1
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: ชาย
  • กระทู้: 365
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
Re: เรื่อง รูปฌาน และอรูปฌาน
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: พฤศจิกายน 19, 2009, 02:24:25 pm »
แลอรูปฌานทั้ง ๔ คือ อากาสานัญจายตน วิญญาณัญจายตน อากิญจัญยายตน เนวสัญญานาสัญานยตนนั้น เป็นพนักงานให้ผลในอรูปพรหม ๔ โดยลำดับต้น

แลอรูปพรหม ๔ อันหารูปมิได้มีแต่จิต จะได้ปรากฎเป็นรูปตนสันฐานให้ ดำ แดง ขาว อยู่นั้น หามิได้ พ้นวิสัยที่บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งจะสำแดงซึ่ง รูปตนสันฐานแห่งอรูปพรหม  มี ครุวนาว่าลมพัดไปมา อันอยู่ไปมาในอากาศแล ซึ่งบุคคลมิอาจจะสำแดงให้เห็นรูปตนสันฐานนั้น แลพรหมที่หาจิตมิได้ มีแต่รูปกายอันมีอยู่ในชั้นอสัญญีสัตว์7พวกเดียวกันกับ เวหัปผลาพรหม8 พรหมในอสัญญีสัตว์นี้ ปฏิสนธิ รูปเกิดเป็น รูปหาจิตมิได้ ปฏิสนธินานอยู่ มีครุวนาดุจ รูปยนต์ รูปสลัก ตราบเท่าสิ้นอายุสม ๔,๐๐๐ กัปป์ แล้วก็ยุติรูปนั้น รูปนั้นก็อันตรธานหายไป ครั้นบังเกิดในภพอื่น โลกอื่น ก็จะมีจิตวิญญาณเกิดดังเก่า มีครุวนาดั่งเงา มิได้บังเกิดในกาล เมื่อบุคคลอยู่ในร่ม ครั้นบุคคลนั้นแล ไปในที่แจ้งแล้วก็ปรากฎมีดังเก่านั้นแล้ว พรหมกถานิฐิตา ว่าในพระธรรมสังคหปริจเฉทที่ ๕ ก็ยุติลง ไม่จบ ก็สมมุติว่าจบเถิด แต่พอเป็นธรรมนานา อานิสงส์ ในพระปรมัตถ์

อาตมาสำแดงพระปรมัตถ์ธรรมนี้  โดยเอนกปริยาย ไม่จบ สมมุติว่าจบเถิด แต่พอสดับสติปัญญา ที่ไหน ครู่หนึ่ง ยามหนึ่ง คัมภีร์พระสังคิณี พระเจ้า9สำแดง ๑๒ วันจึงจบ นี้แลไม่จบ สมมุติว่าจบเถิด แต่พอเป็นนานาอานิสงส์ แก่สัปบุรุษ ผู้มีพระมหานาคเป็นประธาน อันปรากฎให้กายเป็นแก่นสาร จิตเป็นแก่นสาร ปัญญาเป็นแก่นสาร ชีวิตเป็นแก่นสาร   เมื่อ กุศลผลบุญมากแล้ว ก็จะได้ชมสมบัติ ก็จะได้ไปสวรรค์เทวโลก แล้วก็จะได้ชมสมบัติในมนุษย์โลก บางทีแก่กล้า ถึงกาลเมื่อใด ก็บ่ายหน้าเข้าสู่เมืองหลวง อันกล่าวคือ พระนิพพานแล

· วิตก ได้แก่ความตรึก ในอารมณ์พระกรรมฐาน มีปฏิภาคนิมิต แห่งปฐวีกสิณ เป็นต้น

· วิจาร  ได้แก่ความตรองใน อารมณ์กรรมฐาน มีปฏิภาคนิมิต แห่งปฐวีกสิณ เป็นต้น

· ครุวนา  หมายถึงอุปมา หรืออุปมัย เปรียบเทียบ

1 กวัก  มีความหมายว่า  ขยับปีก หรือ กระพือปีก

2 สำแดง  หมายถึง แสดง หรือ บรรยาย

2.2 วิเคราะห์ ปีติ –อตฺวิคฺคหกายจิตฺตานํ  ปีณยตีติ  ปีติ  แปลว่า ยา ธมฺมชาติ อ.ว่าธรรมชาติอันใด อตฺถวิคฺคหกายจิตฺตานํ   ยังกายและจิตอันวิเคราห์ซึ่งประโยชน์ ปิณยติ ย่อมให้เต็ม อิติ เพราะเหตุนั้น

สา ธมฺมชาติ  อ. ธรรมชาตินั้น  ปีติ  (นาม) ชื่อว่า ปีติ ธมฺมชาติ   อ.ธรรมชาติ ปีติ อันยังกายและจิตอันวิเคราห์ซึ่งประโยชน์ให้เต็มฯ อธิบายว่า      ธรรมชาติที่กระทำกายและจิตให้ปรีเปรมเต็มขั้น ชื่อว่า ปีติ

3 ยุคล หมายถึงธรรมที่เป็นคู่กัน คือ ธรรมที่เกิดกับ กาย และ จิต

3.3 จำเริญ กับ เจริญ ความหมายเดียวกัน

3.4 น้ำจิต  มีความหมายถึงสมาธิจิต

4 ปกิณกเจตสิก หมายถึงเจตสิกที่ประกอบกับจิตได้ทั้วไป ตามสมควรมีจำนวน ๖ ได้แก่ วิตกเจตสิก วิจารเจตสิก อธิโมกข์  วิริยะเจตสิก  ปีติเจตสิก  ฉันทเจตสิก

5 จิต ๘๙ ดวง คือ อกุศลจิต ๑๒, อเหตุกจิต ๑๘, กามาวจรโสภณจิต ๒๔, รูปาวจรจิต ๑๕, อรูปาวจรจิต ๑๒, โลกุตรจิต ๘

6 ชาตสระ หมายถึง แหล่งน้ำที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ในที่นี้หมายถึง สระ

6.1 พระโยคาวจรเจ้า  ผู้หยั่งลงสู่ความเพียร ผู้เจริญภาวนา

7 อสัญญีสัตว์ คือพรหมที่มีรูป แต่ไม่มีจิต หรือ ไม่มีสัญญา ไม่สามารถบรรลุมรรคผลได้

8 เวหัปผลาพรหม คือ พรหมที่ไม่มีรูป ไม่มีจิต ไม่มีสัญญา ไม่สามารถบรรลุมรรคผลได้

9 พระเจ้าสำแดง  หมายถึงพระพุทธเจ้า แสดง พระธรรมเทศนา
บันทึกการเข้า
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

www.madchima.org
http://saraburisat.ps-satcom.com รับติดตั้งจานดาวเทียมครับ
http://www.yutyaplaza.com ลงประกาศฟรี ของชาวอยุธยา

PRAMOTE(aaaa)

  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรผล
  • *****
  • ผลบุญ: +5/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: ชาย
  • กระทู้: 3598
  • ความศรัทธาคือเชื่อเรื่องการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่อง รูปฌาน และอรูปฌาน
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: พฤศจิกายน 07, 2014, 07:41:19 pm »
ขอเปิดเนื้อหาของครูบาอาจารย์มาให้อ่านกัน

       สําหรับผู้ที่ตั้งความมุ่งมาดปราถนาด้านการภาวนากันไว้ 

            จะได้ใกล้ชิด นี้คือ พระนิพนธ์ แห่งราชาสงฆ์ กรุงรัตนโกสินทร์

             สมเด็จพระสังฆราช สุก ไก่เถื่อน (เวทาสากุ) ต้นตํารับ ..สมเด็จพระอรหัง

                   อรหัง........................อรหัง.......................................อรหัง
บันทึกการเข้า
การมีกัลยาณมิตร ครูบาอาจารย์ ที่สั่งสอนธรรม เป็นเรื่องที่ดี
..เชื่อเรื่องการตรัสรู้ธรรม ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
...และเชื่อในพระธรรมที่เป็นตัวแทนของพระศาสดา

Admax

  • ผู้อุปถัมภ์
  • โยคาวจรผล
  • ****
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 1063
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่อง รูปฌาน และอรูปฌาน
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: พฤศจิกายน 27, 2014, 09:07:06 pm »
 st12 st12 st12 st11

นี่ล่ะครับที่รอคอยใช่เลยเป็นประโยชน์มากๆๆๆๆ
บันทึกการเข้า
ความติดข้องใจเสพย์อารมณ์ความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี เป็น สมุทัย
ผลของการดำเนินไปแห่งความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี เป็น ทุกข์
รู้สัจธรรมและปรมัตถ์ ดำรงอยู่ในกุศล สติ ศีล สมาธิ พรหมวิหาร๔ คิดดี พูดดี ทำดี เป็น มรรค
การดับไปแห่งความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี ถึง อัพยกตธรรม เป็น นิโรธ

PRAMOTE(aaaa)

  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรผล
  • *****
  • ผลบุญ: +5/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: ชาย
  • กระทู้: 3598
  • ความศรัทธาคือเชื่อเรื่องการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่อง รูปฌาน และอรูปฌาน
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: พฤษภาคม 31, 2015, 08:26:26 pm »

          ที่มา.......ที่ไป.......และจุดหมาย
บันทึกการเข้า
การมีกัลยาณมิตร ครูบาอาจารย์ ที่สั่งสอนธรรม เป็นเรื่องที่ดี
..เชื่อเรื่องการตรัสรู้ธรรม ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
...และเชื่อในพระธรรมที่เป็นตัวแทนของพระศาสดา

PRAMOTE(aaaa)

  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรผล
  • *****
  • ผลบุญ: +5/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: ชาย
  • กระทู้: 3598
  • ความศรัทธาคือเชื่อเรื่องการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่อง รูปฌาน และอรูปฌาน
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: มีนาคม 07, 2016, 09:06:48 am »
 st12
     ใครที่ได้ฌานแล้วก็มาคุย ในกระทู้นี้บ้าง เรียกว่า มาส่งเสริมให้มีสีสันบ้าง

    ก็ได้นะ

   สาธุครับ
บันทึกการเข้า
การมีกัลยาณมิตร ครูบาอาจารย์ ที่สั่งสอนธรรม เป็นเรื่องที่ดี
..เชื่อเรื่องการตรัสรู้ธรรม ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
...และเชื่อในพระธรรมที่เป็นตัวแทนของพระศาสดา