ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: "กังฟูเส้าหลิน" ที่เป็นมากกว่า หนัง-นิยาย  (อ่าน 695 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28444
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0




"กังฟูเส้าหลิน" ที่เป็นมากกว่า หนัง-นิยาย

อุตส่าห์ไปถึงเส้าหลิน แต่ไม่เขียนถึงกังฟูเส้าหลินก็ดูจะกระไรอยู่ สังคมไทยก็มีความคุ้นเคยกับกังฟูผ่านทั้งนวนิยายและโทรทัศน์มานานกว่า 3 ทศวรรษ เส้าหลินเป็นแหล่งกำเนิดวิทยายุทธกังฟูทีเดียว

กังฟู หมายถึงศาสตร์ที่ว่าด้วย การใช้เทคนิคในการเข้าปะทะต่อสู้เป็นสำคัญ มีรูปแบบการร่ายรำวิทยายุทธ์ และชั้นเชิงในการต่อสู้เป็นหลัก

ในการฝึกกังฟูเส้าหลินจะมีศิลปะการบริหารที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ โดยมุ่งเน้นการประสานพลังภายในและภายนอก ซึ่งถือเป็นจุดเด่นโดยเฉพาะ เป็นการถ่ายทอดวิชาแบบโบราณจากรุ่นสู่รุ่นมานานกว่าพันปี

การฝึกกังฟูควบคู่กับการศึกษาพระธรรมของพระภิกษุในวัดเส้าหลิน ไม่ได้เป็นการฝึกฝนไว้ต่อสู้หรือทำร้ายผู้อื่น แต่เป็นการฝึกเพื่อเข้าถึงธรรมะ และต้องถือว่าเป็นหนทางหนึ่งที่จะเข้าสู่พระธรรม ทำให้มีสมาธิมากขึ้น ทำสมาธิเพื่อให้จิตใจสงบทำให้เข้าถึงแก่นธรรมได้ดีขึ้น


@@@@@@

ภายหลังจากที่ท่านอาจารย์โพธิธรรม หรือตักม้อได้เดินทางเข้ามาเผยแผ่พุทธศาสนาในจีนและพำนักอยู่ที่วัดเส้าหลิน ได้สังเกตว่าในการปฏิบัติธรรมที่เน้นการนั่งสมาธิอย่างเดียว หลวงจีนร่างกายอ่อนแอ ไม่แข็งแรง เมื่อนั่งสมาธินาน ร่างกายปวดเมื่อย ร่างกายเกิดความเสื่อมถอย เพราะอยู่ในท่าเดียวนานเกินไป ไม่ได้ออกกำลังกาย เป็นที่มาของการคิดค้นวิชากังฟูเพื่อประสานสมาธิเข้าในเพลงหมัดมวย

และเพราะวัดเส้าหลินตั้งอยู่บนเขาท่ามกลางป่าไม้ใหญ่น้อย ท่านอาจารย์เฝ้าพิจารณาท่วงท่าและอากัปกิริยาของสัตว์ใหญ่น้อยที่ปรากฏรอบตัว ในบริบทอันเป็นธรรมชาติบนเทือกเขาซงซาน นำมาดัดแปลงเป็นกระบวนท่าต่างๆ ที่เหมาะสมให้หลวงจีนได้ฝึกฝน และเพื่อให้จำได้ง่าย ภายใต้การเคลื่อนไหวทางกายด้วยจิตที่สงบนิ่ง บ่มเพาะจิตใจให้บริสุทธิ์เพื่อเข้าถึงแก่นธรรม และขณะเดียวกันนำไปใช้ในการป้องกันตัว

@@@@@@

วิชากังฟูในยุคแรก เริ่มจากกระบวนท่าพื้นๆ ตามลีลาของสรรพสัตว์ที่พบเห็นในป่า เช่น เสือ ดึงเอาลักษณะท่าทางในการล่าเหยื่อ กวาง ที่ดึงเอาลักษณะท่วงท่าในการเดิน ลิง ดึงเอาลักษณะเฉพาะในการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว นก ดึงเอาลักษณะเฉพาะในการลอยตัวในอากาศ หมี ดึงเอาลักษณะเฉพาะของความแข็งแรง บึกบึนในการต่อสู้ ท่วงท่าเหล่านี้ ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องสู่กระบวนท่าอื่นๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ดังนั้น หลังจากตักม้อถ่ายทอดวิชากังฟูให้กับหลวงจีนควบคู่กับการปฏิบัติธรรม กิจวัตรประจำวัน ทำสมาธิสวดมนต์ตอนเช้าแล้ว หลวงจีนวัดเส้าหลินทุกรูปต่างฝึกฝนร่างกายให้แข็งแรงด้วยการรำมวยจีน และฝึกกังฟูมายาวนานสืบมาจนถึงปัจจุบัน

@@@@@@

ปัจจุบันการฝึกของหลวงจีนเริ่มฝึกในช่วงเช้าตรู่ของแต่ละวัน ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงในการศึกษาพระธรรม ในขณะเดียวกันใช้เวลา 2 ชั่วโมงในตอนเช้า และ 2 ชั่วโมงในตอนบ่ายฝึกกังฟูโดยคงรูปแบบกระบวนท่าต่างๆ จากวัฒนธรรมเดิมของเส้าหลิน จากประวัติที่บันทึกกระบวนท่าทั้งหมด 708 ชุด

ทุกรูปต้องเรียนและฝึกวิชาขั้นพื้นฐานคือเพลงหมัดของวัดเส้าหลิน จากนั้น หลวงจีนแต่ละคนอาจจะเลือกฝึกเพียงบางกระบวนท่า

ในส่วนของเพลงหมัดมวย ยังคงเอกลักษณ์สำคัญที่ดัดแปลงมาจากท่วงท่าของสัตว์นานาชนิด หลากหลายรูปแบบ กระบวนท่าที่เราเห็นมีการนำมาถ่ายทอด คือ เพลงหมัดพยัคฆ์ เพลงมวยเหยี่ยว เพลงหมัดตั๊กแตนสวดมนต์ เพลงหมัดกระเรียนขาว เพลงหมัดเสือดาว เพลงหมัดราชสีห์ ฯลฯ การฝึกเพลงหมัดมวยนั้น จะได้ทั้งพละกำลังทางกาย และความสงบทางใจประสานกัน

@@@@@@

การฝึกกังฟูในสภาพที่หนาวเหน็บท่ามกลางหิมะ เป็นหนึ่งในกิจกรรมปกติของหลวงจีน ความยากลำบากในการฝึกฝน ถือเป็นการบ่มเพาะจิตใจและร่างกายให้แข็งแรง การนั่งทำสมาธิท่ามกลางหิมะ ถือเป็นการฝึกบำเพ็ญตบะแบบหนึ่ง ตามวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของชาววัดเส้าหลิน

ถ้าหลวงจีนรูปใดมาทำสมาธิสาย หรือไม่มาทำสมาธิ จะถูกลงโทษโดยการให้นั่งคุกเข่าบนพื้นที่เต็มไปด้วยหิมะ จนกว่าจะหมดธูป 1 ดอก

ในประเทศจีน กังฟูเส้าหลินมีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก กังฟูที่ถือปฏิบัติกันในจีน ล้วนมีกำเนิดมาจากเส้าหลินทั้งสิ้น รวมถึงเพลงหมัดมวยที่เราคุ้นตากันดีตามที่ปรากฏในภาพยนตร์กำลังภายในของจีนหลายต่อหลายเรื่อง

@@@@@@

กระบวนท่าของเพลงหมัดมวยของเส้าหลินเหนือ เน้นการเตะต่อยเป็นหลัก ในขณะที่เส้าหลินใต้เน้นกระบวนท่าที่ใช้ฝ่ามือจู่โจม แท้จริงแล้ววิชากังฟูไม่มีการแบ่งแยกระหว่างการใช้เท้าและมือ กังฟูของตักม้อเป็นวิชาที่ใช้ในการต่อสู้จู่โจมพร้อมกันด้วยหมัด มือ เท้า แล้วแต่จังหวะของการเข้าปะทะกัน

เมื่อพูดถึงตรงนี้ ก็ต้องย้อนไปดูประวัติศาสตร์ของวัดเส้าหลิน เพราะประวัติศาสตร์เป็นจุดขายที่สำคัญอีกจุดหนึ่ง

ในช่วงที่หลี่ซื่อหมินต้องหลบหนีภัยจากราชวงศ์สุยตอนปลาย ได้หลบเข้ามาลี้ภัยที่วัดเส้าหลิน และได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนจากหลวงจีนเจ้าวิทยายุทธ์ 13 รูป ทำให้หลี่ซื่อหมินได้ชัยชนะในการฝ่าวงล้อมของกองกำลังของราชวงศ์สุยออกมาได้ (พ.ศ.1161)

@@@@@@

เมื่อหลี่ซื่อหมินขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิถังไท่จง ทรงซาบซึ้งและรู้คุณที่ 13 หลวงจีนช่วยเหลือพระองค์ในยามคับขัน จึงทรงแต่งตั้งให้เฟิงถันจง หนึ่งในหลวงจีน 13 รูปนั้นเป็นแม่ทัพ พร้อมกับพระราชทานแท่นปักธงคู่ และสิงโตหิน ที่ยังปรากฏอยู่ที่ด้านหน้าของพระอุโบสถแห่งวัดเส้าหลินจนถึงปัจจุบัน

นอกจากจะได้รับการสนับสนุนโดยตรงจากสถาบันกษัตริย์แล้ว ยังได้รับการแต่งตั้งเป็นวัดหลวงประจำราชวงศ์

ในช่วง พ.ศ.1503-1822 วิชากังฟูเส้าหลินได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนถึงขีดสุด แต่เพราะความสัมพันธ์กับราชวงศ์ที่มีความใกล้ชิดมาก เมื่อเปลี่ยนราชวงศ์ เส้าหลินถูกมองเป็นฐานกำลังของฝ่ายตรงข้าม จักรพรรดิหย่งเจิ้นแห่งราชวงศ์ชิงจึงลดบทบาทของวัดเส้าหลินลง โดยหลวงจีนถูกห้ามมิให้ฝึกกังฟู แม้กระนั้น วิชากังฟูก็ได้เผยแพร่ออกไปไกลกว่ากำแพงวัดเส้าหลินเสียแล้ว


@@@@@@

วัดเส้าหลินดั้งเดิมถูกจักรพรรดิหย่งเจิ้นส่งกองทัพมากวาดล้างและเผาทำลาย ตลอดระยะเวลา 1,500 ปี วัดเส้าหลินถูกเผาครั้งใหญ่ๆ ถึง 3 ครั้ง ตั้งแต่ พ.ศ.2000 มีการปรับปรุงครั้งใหญ่ รื้อบริเวณโดยรอบที่ถูกไฟเผา ปลูกต้นไม้ และสร้างอารามต่างๆ ขึ้นใน พ.ศ.2400

ปัจจุบันในประเทศจีน มีวัดเส้าหลินทั้งหมด 3 แห่ง
แห่งแรก ตั้งอยู่บนเทือกเขาซงซาน มณฑลเหอหนาน ซึ่งเป็นต้นกำเนิดพุทธศาสนานิกายเซ็น และกังฟูเส้าหลิน
แห่งที่สอง อยู่บนเทือกเขาผานซาน สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์หงวน
และแห่งที่สาม ตั้งอยู่บนเทือกเขาติ่วเหลียนซาน มณฑลฮกเกี้ยน เรียกว่า “สำนักเสี้ยวลิ้มใต้” คู่กับ “สำนักเสี้ยวลิ้มเหนือ” ที่อยู่บนเทือกเขาซงซาน

สำนักใหญ่ของวัดเส้าหลิน แบ่งเป็นสองสายหลัก คือสายพระบู๊ ซึ่งเป็นสายของการสืบทอดศิลปะการต่อสู้และกังฟูเส้าหลินของตักม้อ อีกสายหนึ่งเป็นสายพระวินัย ซึ่งเป็นสายที่เน้นการปฏิบัติธรรมตามคำสอนในพุทธศาสนาเป็นสำคัญ

@@@@@@

ขอบคุณข้อมูลที่ส่วนหนึ่งได้มาจากทัวร์ของคุณมนัส คณะของเราได้เดินทางไปเยือนครั้งนี้เราไปที่วัดเส้าหลินเดิมที่เทือกเขาซงซานค่ะ



ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 มกราคม 2562
คอลัมน์ : ธรรมลีลา
ผู้เขียน : ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ.2562
ขอบคุณ : https://www.matichonweekly.com/column/article_163539
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ