ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: อำนาจของความยึดติด คู่มือมนุษย์ หลวงพ่อพุทธทาส  (อ่าน 4462 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

sompong

  • พอพึ่งพาได้
  • ***
  • ผลบุญ: +2/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 218
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0
อำนาจของความยึดติด

(อุปาทาน)

เราจะปลีกตัวถอนตัวออก มาเสียจากสิ่งทั้งหลายที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้อย่างไร? คำตอบก็คือจะต้องศึกษาว่า อะไรเป็นต้นเหตุให้เราอยาก จนเข้าไปยึดติดในสิ่งนั้น? เมื่อรู้ต้นเหตุ เราอาจจะตัดความยึดติดเสียได้ กิเลสซึ่งเป็นความยึดถือในสิ่งทั้งปวงนั้น ในพุทธศาสนาเรียก “อุปาทาน” แปลว่า ความยึดติด จำแนกเป็น ๔ ประการด้วยกัน

๑. กามุปาทาน (ยึดมั่นโดยความเป็นกามหรือของรักใคร่ทั่วไป) เห็นได้จากการที่คนเราตามธรรมดามีความติดพันในสิ่งที่น่ารักน่าพอใจ ไม่ว่าจะเป็น รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส สัญชาตญาณของคนเราย่อมรู้สึกสนุกสนานเพลิดเพลิน หรือเอร็ดอร่อยในกามคุณ ๕ อย่างนี้ ตามหลักธรรมในพุทธศาสนาขยายออกไปเป็น ๖ คือ มี “ธรรมารมณ์” เพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง หมายถึง สิ่งที่ผุดขึ้นในใจ จะเป็นอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคตก็ได้ เกี่ยวกับวัตถุภายนอกหรือภายในก็ได้ เป็นเพียงคิดฝันไปได้ แต่ทำให้เกิดความเอร็ดอร่อยเพลิดเพลินทางจิตใจในขณะที่รู้สึก

พอคนเราเกิดมา ได้รู้รสของกามารมณ์ทั้ง ๖ นี้ก็ยึดติดในอารมณ์นั้น และยึดยิ่งขึ้นตามลำดับๆ อย่างแน่นแฟ้นเหลือวิสัยที่คนธรรมดาจะสอนได้ ฉะนั้น จึงเป็นปัญหาสำคัญที่จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจให้ถูกต้องและประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องต่อสิ่งเหล่านั้น มิฉะนั้นความยึดติดนี่แหละจะนำไปสู่ความวินาศฉิบหาย ขอให้เราพิจารณาดูความวินาศฉิบหายของคนทั่วๆ ไปตามปกติ จะเห็นได้ว่า มีมูลมาจากความยึดมั่นถือมั่น ในสิ่งที่น่ารักอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวมาแล้ว ทุกอย่างที่มนุษย์ปุถุชนทำกันอยู่ไม่ว่าอะไร ล้วนแต่มีมูลมาจากกามารมณ์ทั้งนั้น คนเราจะรักกัน โกรธกัน เกลียดกัน อิจฉาริษยาฆ่าฟันกัน หรือฆ่าตัวเองตายก็ตาม ก็จะต้องมีมูลมาจากกามารมณ์

………………….

๒. ทิฎฐุปาทาน (ยึดติดในทิฎฐิหรือความคิดเห็นที่ตนมีอยู่เดิมๆ) เป็นสิ่งที่พอมองเห็นและเข้าใจได้ไม่ยาก พอเราเกิดมาในโลก เราก็ได้รับการศึกษาอบรมให้เกิดมีความคิดเห็นชนิดที่มีไว้สำหรับยึดมั่น ไม่ยอมใครง่ายๆ นี้ เรียกว่า ทิฎฐิ ลักษณะที่ยึดติดในความคิดความเห็นของตนนี้เป็นไปตามธรรมชาติ เขาไม่ติเตียนกันนัก และเป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ แต่เป็นโทษภัยที่ร้ายกาจไม่น้อยไปกว่าความยึดติดในของรักของใคร่

………………….

๓. สีลัพพตุปาทาน (ยึดติดในวัตรปฏิบัติที่มุ่งหมายผิดทาง) หมายถึงความยึดมั่นถือมั่นในการประพฤติกระทำที่ทำปรัมปราสืบกันมาอย่างงมงาย ไร้เหตุผล หรือที่คนนิยมเรียกกันว่า ขลัง ศักดิ์สิทธิ์ คิดกันว่าเป็นสิ่งที่เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้และไม่ยอมเปลี่ยนแปลง

คนไทยเราทั่วไปก็มีสิ่ง นี้กันไม่น้อยไปกว่าชนชาติอื่น มีการถือเครื่องรางของขลัง หรือเคล็ดลับต่างๆ เช่น ตื่นนอนขึ้นมาจะต้องเสกน้ำล้างหน้า จะถ่ายอุจจาระก็ต้องผินหน้าไปทิศนั้นทิศนี้ จะบริโภคอาหารหรือจะนอนก็ต้องมีเคล็ดมีพิธี เชื่อผีสางเทวดา ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น เป็นการปฏิบัติที่ไร้เหตุผลอย่างยิ่ง ไม่เคยคำนึงถึงเหตุผล คงมีแต่ความยึดมั่นถือมั่นตามตำราบ้าง เคยทำมาแล้วไม่ยอมเปลี่ยนแปลงบ้าง

………………….

๔. อัตตวาทุปาทาน (ยึดมั่นโดยความเป็นตัวเป็นตน) ความยึดมั่นว่าตัว เป็นตนนี้ เป็นสิ่งสำคัญ และเป็นสิ่งเร้นลับอย่างยิ่ง สิ่งที่มีชีวิตทั้งหมดย่อมจะรู้สึกว่า มันเป็นตัวตนของมันอยู่ดังนี้เสมอไปอย่างช่วยไม่ได้ เพราะมันเป็นสัญชาตญาณขั้นต้นที่สุดของสิ่งที่มีชีวิต และเป็นมูลฐานของสัญชาตญาณอื่นๆ เช่น สัญชาตญาณหาอาหารกิน สัญชาตญาณต่อสู้อันตราย หลบหนีอันตราย สัญชาตญาณสืบพันธุ์และอื่นๆ อีกมาก ซึ่งล้วนแล้วอาศัยสัญชาตญาณแห่งความรู้สึกยึดถือว่าเป็นตัวตนทั้งนั้น มันต้องยึดมั่นว่า มีตัวเราเสียก่อนมันจึงไม่อยากตาย มันจึงอยากหาอาหารมาเลี้ยงร่างกาย อยากต่อสู้เอาตัวรอด หรืออยากจะสืบพันธุ์ของมันไว้

ความยึดถือว่ามีตัวตน นี้ มีประจำอยู่ในสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย ถ้าไม่อย่างนั้นแล้ว มันจะมีชีวิตรอดมาไม่ได้ แต่อันนั้น มันก็เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความทุกข์ ในการแสวงหาอาหาร ในการต่อสู้ ในการสืบพันธุ์ หรือในการทำอะไรทุกๆ อย่าง ฉะนั้น จึงกล่าวว่า มันเป็นรากฐานแห่งความทุกข์ทั้งปวง ด้วย

ข้อนี้พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้เป็นใจความ โดยสรุปสั้นที่สุดว่า “สิ่งต่างๆ ที่คนมีอุปาทานเข้าไปยึดถืออยู่นั่นแหละเป็นตัวความทุกข์ หรือเป็นมูลเหตุแห่งความทุกข์” หรือ “ร่างกายและจิตใจที่คนเข้าไปยึดถือด้วยอุปาทานอยู่นั่นแหละเป็นความทุกข์”

………………….

ขอสรุปความว่า อุปาทานทั้งสี่นี้ เป็นปัญหาอันเดียวที่พุทธบริษัท หรือผู้ประสงค์จะรู้จักตัวพุทธศาสนา จะต้องเข้าใจให้ได้ เพราะว่าวัตถุประสงค์ของการรักษาพรหมจรรย์ในพุทธศาสนานี้ ก็เพื่อทำจิตให้หลุดพ้นจากความยึดมั่นที่ผิดๆ นี้ ท่านทั้งหลายจะได้พบคำกล่าวเช่นนี้ ในท้ายบาลีทุกๆ สูตร ที่กล่าวถึงการบรรลุธรรมของพระอรหันต์ ซึ่งในที่นั้นจะมีคำว่า “จิตหลุดพ้นจากอุปาทาน” แล้วก็จบกัน เพราะว่า เมื่อจิตหลุดพ้นจากความยึดมั่นแล้ว ก็ไม่มีอะไรจะผูกพันคล้องจิตนั้น ให้ตกเป็นทาสของโลก หรือเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป เรื่องจึงจบสิ้นกัน หรือกลายเป็น โลกุตตระ คือ พ้นโลก เพราะเหตุฉะนั้น การหลุดพ้นจากความยึดมั่นที่ผิดๆ จึงเป็นใจความสำคัญที่สุดของพุทธศาสนา
บันทึกการเข้า

sompong

  • พอพึ่งพาได้
  • ***
  • ผลบุญ: +2/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 218
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: อำนาจของความยึดติด คู่มือมนุษย์ หลวงพ่อพุทธทาส
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: พฤศจิกายน 12, 2010, 08:42:31 pm »
0
คนเราติดอะไร

(เบญจขันธ์)

อะไรเป็นที่ตั้ง ที่ยึด ที่เกาะเกี่ยวของอุปาทาน?

ที่ตั้งของอุปาทานก็คือโลกนี้เอง, คำว่า “โลก” ในทางพุทธศาสนา มีความหมายกว้างกว่าความหมายตามธรรมดา คือหมายถึงสิ่งทั้งปวงทั้งสิ้นทีเดียว ไม่ว่าจะเกี่ยวกับมนุษย์ เทวดา พรหม สัตว์เดรัจฉาน สัตว์นรก ปีศาจ เปรต อสุรกาย อะไรก็สุดแท้ที่จะมี รวมแล้วก็เรียกว่าโลก

การรู้จักโลก มีความหมายอยู่ตรงที่ว่ามันมีความลึกลับเป็นชั้นๆ เรารู้จักกันแต่ชั้นนอกๆ ที่เรียกว่า “ชั้นสมมุติ” นี้หมายถึงตามสติปัญญาของคนทั่วๆ ไป พระพุทธศาสนาจึงมีการสอนให้ดูกันหลายๆ ชั้น ท่านมีวิธีแนะให้ดูการจำแนกโลกออกเป็นฝ่ายวัตถุ ซึ่งเรียกว่า “รูปธรรม” อย่างหนึ่ง ฝ่ายจิตใจเรียกว่า “นามธรรม” อีกฝ่ายหนึ่ง ยิ่งกว่านั้นท่านได้แบ่งส่วนที่เป็นนามธรรม หรือจิตใจนี้ออกเป็น ๔ ส่วน เมื่อเอารูปธรรม ๑ ส่วน มารวมเข้ากับนามธรรมก็ได้เป็น ๕ ส่วน ท่านเลยเรียกว่า “เบญจขันธ์” หรือ “ขันธ์ห้า” แปลว่า ส่วน ๕ ส่วนประกอบกันขึ้นเป็นโลก คือเป็นสัตว์เป็นคนนี่เอง

การดูโลก ก็หมายถึงการดูสัตว์โลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือคน เพราะปัญหาอยู่ที่เรื่องของคน ร่างกายเป็นวัตถุที่เรียกว่า “รูปขันธ์” (ส่วนที่เป็นรูป) ส่วนที่เป็นจิตใจอีก ๔ ส่วนนั้นจำแนกไปได้คือ

    ส่วนที่ ๑ เรียกว่า “เวทนา” หมายถึงความรู้สึก ๓ ประการ คือสุขหรือพอใจอย่างหนึ่ง, ทุกข์หรือไม่พอใจอย่างหนึ่ง, อีกแบบหนึ่งอยู่ในลักษณะที่ไม่อาจจะเรียกได้ว่าสุขหรือทุกข์ คือเป็นเรื่องที่ยังเฉยๆ อยู่ แต่ก็เป็นความรู้สึกเหมือนกัน

    ความ รู้สึกนี้มีประจำอยู่ในคนเราปกติ วันหนึ่งๆ ย่อมเต็มไปด้วยความรู้สึก ท่านจึงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ประกอบกันเป็นคน และเรียกส่วนนี้ว่า “เวทนา” หรือ “เวทนาขันธ์”

    ส่วนที่ ๒ เรียกว่า “สัญญา” แปลว่า รู้ตัว เป็นความรู้สึกตัวอยู่เหมือนอย่างว่าเรากำลังตื่นอยู่ คือไม่หลับ ไม่สลบ ไม่ตาย หรือเรียกว่ามีสติสมปฤดี

    โดย ทั่วๆ ไปมักจะอธิบายกันว่าเป็นความจำได้หมายรู้ ก็ถูกเหมือนกัน เพราะว่ายังไม่เมา ไม่สลบ ไม่หลับ ไม่ตาย ดังที่กล่าวมาแล้ว เมื่อกระทบอะไรทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็รู้สึกหรือจำได้ว่าเป็นอะไร เช่นรู้ว่า เขียว แดง สั้น ยาว คน สัตว์ ฯลฯ ตามแต่จะจำได้นั่นแหละ เป็นความรู้สึกของสมปฤดี หรือ “สัญญา” ในที่นี้

    ส่วนที่ ๓ เรียกว่า “สังขาร” มีความหมายมาก จนมันปนกันยุ่งไปหมด เราพูดถึงสังขารที่เป็นส่วนของนามธรรมนี้กันก่อน แปลว่า “ปรุง” คือกิริยาอาการของสิ่งที่เป็นอยู่ในคนหนึ่งๆ ได้แก่ การคิด SANY1993Cหรือ ความคิด เช่นคิดที่จะทำ คิดที่จะพูด คิดอย่างนั้นอย่างนี้ คิดดี คิดเลว คิดในทางไหนก็จัดเป็นความคิดทั้งนั้น ความรู้สึกที่เป็นความคิดพลุ่งขึ้นมาจากการปรุงแต่งภายในใจนี้เรียกว่า “สังขาร”

    คำว่า “สังขาร” ในที่อื่นนั้น หมายถึงบุญกุศลที่ปรุงแต่งคนให้เกิดขึ้นก็มี หมายถึงร่างกายหรือโครงร่างที่มีจิตใจครองดังนี้ก็มี มีความหมายหลายทาง แต่ตรงกันโดยเหตุที่มันมีความหมายไปในทางมีการปรุงแต่งประกอบกันขึ้นมา

    ส่วนที่ ๔ เรียกว่า “วิญญาณ” หมายถึงจิตที่ทำหน้าที่รู้สึกที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น และที่กายทั่วๆ ไป ตลอดถึงที่ใจของตนเองด้วย (ไม่ใช่เจตภูตอย่างที่คนส่วนมากเข้าใจกัน)

ขันธ์ห้านี่แหละเป็นที่เกาะยึดของอุปาทานทั้ง ๔

สรุปความว่า สิ่งทั้งปวงในโลกนี้รวมอยู่ในคำว่า “เบญจขันธ์” คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ละส่วนเป็นมายา ไร้ตัวตน แต่ก็มีอำนาจของเวทนาล่อให้เกิดการยึดถือ จนคนทั่วไปอยากมี อยากเป็น อยากไม่ให้เป็นซึ่งล้วนแต่ทำให้เกิดทุกข์ ไม่อย่างเปิดเผยก็อย่างเร้นลับ ทุกคนจะต้องอาศัยข้อปฏิบัติที่เรียกว่า “ไตรสิกขา” (ศีล สมาธิ ปัญญา) ถอนความหลงติดในเบญจขันธ์เสียให้สิ้นเชิง จึงจะไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของขันธ์ทั้งห้าและก็จะไม่มีความทุกข์ โลกจะอยู่ในลักษณะที่อำนวยความผาสุกใจให้แก่ผู้นั้น ไม่ต้องร้อนใจเพราะสิ่งใดๆ เป็นผู้มีจิตใจอยู่เหนือสิ่งทั้งปวงตลอดชีวิตนี้เป็นผลของการรู้แจ้งแทงตลอด ในเรื่องเบญจขันธ์ ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

คัดลอกบางส่วนบางตอนจากหนังสือ “คู่มือมนุษย์” ของท่านพุทธทาส
บันทึกการเข้า

worachad

  • กำลังจะพ้นจากน้ำ
  • *
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: ชาย
  • กระทู้: 1
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: อำนาจของความยึดติด คู่มือมนุษย์ หลวงพ่อพุทธทาส
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: พฤศจิกายน 20, 2010, 09:56:14 pm »
0
สุนัขตายแล้วเกิดความเศร้าเสียใจและชอบนึกภาพตอนมีชีวิตมันคือการยึดติดหรืออุปทานหรือป่าวครับ  :smiley_confused1: ช่วยอธิบายหน่อยแก้ไม่หาย ยังเศร้าอยู่
บันทึกการเข้า

รักหนอ

  • มีเหตุมีผล
  • ****
  • ผลบุญ: +22/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 369
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: อำนาจของความยึดติด คู่มือมนุษย์ หลวงพ่อพุทธทาส
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: พฤศจิกายน 21, 2010, 06:26:47 am »
0
สุนัขตายแล้วเกิดความเศร้าเสียใจและชอบนึกภาพตอนมีชีวิตมันคือการยึดติดหรืออุปทานหรือป่าวครับ  :smiley_confused1: ช่วยอธิบายหน่อยแก้ไม่หาย ยังเศร้าอยู่

การระัลึกนึกถึง ไม่ว่าเป็น คน สัตว์ นั้น มีการระลึกนึกถึง อยู่ 2 แบบคะ

 1. ระลึกนึกถึง ด้วยความ สิเน่หา หลงใหล ยึดติด อันนี้ทำให้ใจเป็นทุกข์ได้คะ เป็นเพราะจิตขาดความฉลาด
ไม่สามารถยอมรับความเป็นจริงได้ ในเบื้องต้น ซึ่งเป็นคุณธรรมของพระโสดาบัน คะ ยอมรับว่า นี่ไม่ใช่เรา
นี่ไม่ใช่ของเรา นี่ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตนของเรา คะ

 2. ระลึกนึกถึง ด้วยคุณงามความดี อันนี้จัดเป็น กตเวทิตา คือ ระลึกถึงคุณ ซึ่งกันและกัน ก็สงเคราะห์เอื้อเฟื้อ
ในบุญกุศล เนื่องซึ่งกันและกันต่อไป เช่นทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ หรือปฏิบัติตามคุณธรรมที่เราระลึก นึกถึง
การระลึก นึกถึงอย่างนี้ไม่จัดเป็นอุปาทาน คือความยึดมั่น ถือมั่น คะ

  ของคุณ warachad เป็นแบบไหนคะ

 :25:
บันทึกการเข้า