ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: พระไตรปิฎกกับภาษาบาลี  (อ่าน 467 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
พระไตรปิฎกกับภาษาบาลี
« เมื่อ: มิถุนายน 18, 2022, 06:49:08 am »
0



พระไตรปิฎกกับภาษาบาลี

พระคุณท่าน Hansa Dhammahaso มีเมตตาถามว่า โดยทั่วไปแล้ว ระบบการศึกษาหรือสิกขานั้น เราเรียนพระไตรปิฎกผ่านภาษาบาลี หรือเราเรียนบาลีผ่านพระไตรปิฎก คำที่ต้องจำกัดความหรือทำความเข้าใจกันก่อนคือ “พระไตรปิฎก” และ “ภาษาบาลี”

     “พระไตรปิฎก” คือ ประมวลหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาเถรวาท ที่เป็นรูปธรรมในปัจจุบันก็คือ book หรือ text ที่จัดเก็บไว้ในรูปแบบต่างๆ
     “ภาษาบาลี” คือ ภาษาที่ใช้บันทึกพระไตรปิฎก ภาษาบาลีสามารถใช้สื่อสารกันได้ แต่ไม่มีชนชาติไหนใช้ภาษาบาลีสื่อสารกันในชีวิตประจำวัน

     สรุปว่า พระไตรปิฎกในพระพุทธศาสนาเถรวาทบันทึกไว้ด้วยภาษาบาลี และควรทราบด้วยว่า นอกจากพระไตรปิฎกแล้ว ไม่มีเอกสารหรือแหล่งข้อมูลอื่นใดอีกเลยที่ใช้ภาษาบาลีแบบที่ใช้บันทึกพระไตรปิฎก
     ดังนั้น ถ้าจะศึกษาพระไตรปิฎกจากต้นฉบับ ผู้ศึกษาต้องรู้ภาษาบาลีจึงจะอ่านพระไตรปิฎกออก และด้วยเหตุผลทำนองเดียวกัน ผู้เรียนภาษาบาลี ก็คือเรียนเพื่อนำไปใช้ศึกษาพระไตรปิฎกเท่านั้น ไม่มีช่องทางอื่นที่ใช้ภาษาบาลี

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ขออุปมาดังนี้
    ๑. มียาขนานหนึ่งอยู่ในตำรา เขียนเป็นภาษา X
    ๒. มีผู้เรียนภาษา X เพื่อใช้ศึกษาตำรายา
    ๓. รู้ภาษา X แล้วจึงไปอ่านตำรายา จนเข้าใจตัวยา วิธีปรุงยา และวิธีใช้ยา
    ๔. จากนั้นจึงไปหาตัวยา เอามาปรุงเป็นยา แล้วใช้ยานั้น ตามที่บอกไว้ในตำรา
    ๕. เมื่อใช้ยาแล้วโรคหาย

     พระไตรปิฎกเหมือนตำรายา
     ภาษาบาลีเหมือนภาษา X
     พระธรรมวินัยในพระไตรปิฎกเหมือนตัวยาในตำรา
     ต้นทางคือเรียนภาษา X ปลายทางคือโรคหาย
     ต้นทางคือเรียนภาษาบาลี ปลายทางคือบรรลุธรรม

@@@@@@@

ที่ว่ามานี้เป็นภาพเดิมที่เกิดขึ้นในอดีต คือ เรียนภาษาบาลีเพื่อใช้เป็นเครื่องมือศึกษาพระไตรปิฎก นั่นคือ เป้าหมายของการเรียนภาษาบาลีอยู่ที่ศึกษาพระไตรปิฎก
     เพราะพระไตรปิฎกบันทึกไว้ด้วยภาษาบาลี จะศึกษาพระไตรปิฎกจึงต้องเรียนบาลี มิใช่เรียนภาษาอื่น
     เพราะภาษาบาลีมีใช้ในพระไตรปิฎกเท่านั้น การเรียนบาลีจึงเรียนเพื่อศึกษาพระไตรปิฎก มิใช่เพื่อศึกษาเรื่องอื่น

    ดังนั้นเราเรียนพระไตรปิฎกผ่านภาษาบาลี หรือเราเรียนบาลีผ่านพระไตรปิฎก ไม่ว่าตั้งคำถามแบบไหน คำตอบก็คือ
    - ศึกษาพระไตรปิฎกต้องรู้ภาษาบาลี
    - เรียนบาลีต้องเพื่อศึกษาพระไตรปิฎก
    - ศึกษาพระไตรปิฎก แต่ไม่รู้ภาษาบาลี
    - เรียนบาลี แต่ไม่ศึกษาพระไตรปิฎก

    ถ้าเป็นอย่างนี้ ย่อมพลาดจากเป้าหมาย เพราะ
    - เป้าหมายของการเรียนบาลีอยู่ที่พระไตรปิฎก
    - เป้าหมายของพระไตรปิฎกอยู่ที่บรรลุธรรม
    - เหมือนเป้าหมายของการเรียนภาษา X อยู่ที่ตำรายา
    - เป้าหมายของตำรายาอยู่ที่โรคหาย

    ไม่ว่าจะเรียนอะไรผ่านอะไร ต้องนำไปสู่เป้าหมายนี้ ถ้าไม่ใช่เป้าหมายนี้ก็คือผิดเป้าหมายของพระพุทธศาสนา
ขอย้ำว่า ที่ว่ามานี้เป็นหลักการเดิม ภาพเดิมที่เกิดขึ้นในอดีต
    ถ้ามองที่หลักการเดิม-ภาพเดิมดังที่ว่ามานี้ จะไม่มีข้อสงสัยเลยว่า-เราเรียนพระไตรปิฎกผ่านภาษาบาลี หรือเราเรียนบาลีผ่านพระไตรปิฎก เพราะไม่ว่าจะเรียนอะไรผ่านอะไร เป้าหมายก็อยู่ที่-เพื่อศึกษาพระไตรปิฎก


@@@@@@@

    คำถามนี้เกิดขึ้นจากการมองภาพปัจจุบัน
    ภาพปัจจุบันคือภาพแบบไหน.?

    ๑. ปัจจุบันนี้ มีการแปลพระไตรปิฎกจากภาษาบาลีเป็นภาษาต่างๆ เรียกได้ว่าค่อนข้างสมบูรณ์ “สมบูรณ์” ในที่นี้หมายความว่า คนรู้แต่ภาษาแม่ภาษาเดียว ไม่รู้ภาษาที่สอง ก็สามารถศึกษาพระไตรปิฎกได้ ในเมืองไทยมีพระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง คนไทยที่ไม่รู้ภาษาบาลีก็สามารถศึกษาพระไตรปิฎกได้ ภาษากลางของโลก คือ ภาษาอังกฤษ ก็มีพระไตรปิฎกแปลเป็นภาษาอังกฤษแล้ว สรุปว่า เดี๋ยวนี้ไม่ต้องรู้ภาษาบาลีก็ศึกษาพระไตรปิฎกได้

     ๒. การเรียนภาษาบาลีในเมืองไทย ณ ปัจจุบันนี้ถูกนำเข้าสู่ “ระบบการศึกษา” หมายความว่า ผู้เรียนภาษาบาลีถ้าสอบได้ตามระดับที่กำหนดก็จะได้ศักดิ์และสิทธิ์ คือได้ใบรับรอง และสามารถใช้ศักดิ์และสิทธิ์ไปทำประโยชน์อื่นๆ แบบเดียวกับศักดิ์และสิทธิ์อันเกิดจากการศึกษาทั่วไป จากเดิม เป้าหมายของการเรียนบาลีมีอย่างเดียวคือ ใช้เป็นเครื่องมือศึกษาพระไตรปิฎก ปัจจุบันกลายเป็นว่าเรียนบาลีเพื่อให้ได้วุฒิการศึกษา และว่ากันตามจริงก็แทบจะไม่มีใครเรียนบาลีเพื่อนำไปใช้ศึกษาพระไตรปิฎกกันอีกแล้ว

มีผู้แสดงความเห็นว่า ถ้ายกเลิกศักดิ์และสิทธิ์จากการเรียนบาลี คือสอบบาลีได้ไม่ถือว่าเป็นวุฒิการศึกษา เอาไปสอบเข้าอะไรไม่ได้ เอาไปสอบเรียนต่อก็ไม่ได้ ถ้าเป็นอย่างนี้รับรองได้เลยว่า จะไม่มีใครเรียนบาลีอีกต่อไป ภาพเดิม บาลีกับพระไตรปิฎกผูกติดกันอยู่ ภาพใหม่ บาลีกับพระไตรปิฎกแยกจากกัน

เราเรียนพระไตรปิฎกผ่านภาษาบาลี หรือเราเรียนบาลีผ่านพระไตรปิฎก.?

ตอบด้วยภาพเดิม : ไม่มีใครเรียนบาลีกันโก้ๆ โดยไม่ศึกษาพระไตรปิฎก ไม่มีใครศึกษาพระไตรปิฎกได้กล้วยๆ โดยไม่ต้องเรียนบาลี ดังนั้น ถ้าเรียนบาลีก็เป็นอันแน่ใจว่าต้องเรียนพระไตรปิฎกด้วย และถ้าเรียนพระไตรปิฎกก็แปลว่าต้องรู้ภาษาบาลีด้วย

ตอบด้วยภาพใหม่ : ศึกษาพระไตรปิฎก ไม่จำเป็นต้องเรียนบาลี เรียนบาลี ไม่จำเป็นต้องศึกษาพระไตรปิฎก ดังนั้น เราจึงศึกษาพระไตรปิฎกโดยไม่ต้องผ่านภาษาบาลี และเราก็เรียนบาลีโดยไม่จำเป็นต้องผ่านพระไตรปิฎก

@@@@@@@

แต่ปัญหานี้ไม่ควรจบง่ายๆ ด้วยคำตอบแบบนี้ หรืออีกนัยหนึ่ง-คำตอบแบบนี้คงไม่ทำให้ปัญหาจบง่ายๆ ผมจึงขอเสนอให้ช่วยกันขบคิด

    ๑. เราศึกษาพระไตรปิฎกโดยไม่ผ่านภาษาบาลีได้หรือ.? แนวคิดของผมคือ แม้เราจะมีพระไตรปิฎกที่แปลเป็นภาษาต่างๆ อยู่อย่างพอเพียง ใครรู้ภาษาอะไรก็สามารถหาพระไตรปิฎกที่แปลเป็นภาษานั้นๆ มาศึกษาได้ ไม่จำเป็นต้องรู้ภาษาบาลีก็จริง แต่เมื่อว่ากันโดยหลักวิชาการหรือโดยหลักฐานแล้ว พระไตรปิฎกฉบับแปล-ไม่ว่าจะแปลเป็นภาษาอะไร ย่อมอยู่ในฐานะหลักฐานชั้นรอง (Secondary sources) ย่อมมีข้อบกพร่องและมีปัญหาแฝงอยู่เสมอ

    เช่น ข้อความในต้นฉบับบาลีมีความหมายอย่างหนึ่ง แต่ข้อความที่แปลมามีความหมายเป็นอีกอย่างหนึ่ง ความหมายที่เคลื่อนที่ไปนี้จะเคลื่อนมากหรือน้อยก็ตาม ก็ได้ชื่อว่าไม่ตรงตามต้นฉบับอยู่นั่นเอง ผู้ศึกษาพระไตรปิฎกที่ไม่รู้ภาษาบาลีจึงอยู่ในฐานเสี่ยงที่จะเข้าใจผิดเป็นถูกได้ง่าย

    เช่น คำว่า “สีห” พระไตรปิฎกภาษาไทยแปลว่า “ราชสีห์” คนไทยเห็นคำว่า “ราชสีห์” ก็มักนึกถึงสัตว์หิมพานต์ที่ช่างเขียนเป็นลวดลายไทยที่เห็นกันทั่วไป ไม่ได้นึกว่าเป็นสิงโต – นี่เป็นตัวอย่างเล็กๆ เพียงคำเดียว

    ผู้ศึกษาพระไตรปิฎกฉบับแปลจึงมีภาระในการตรวจสอบความแม่นยำในการแปลควบคู่กันไปด้วยเสมอ ปัญหาก็จะโยงไปถึงมาตรฐานในการแปล เป็นประเด็นใหญ่ต่อไปอีก จะเห็นได้ว่า ในที่สุดแล้ว งานใหญ่ งานหลัก และงานหนักก็มาตกอยู่ที่การเรียนบาลีนั่นเอง

    ๒. เราเรียนบาลีไปทำไม-ถ้าไม่คิดจะใช้ความรู้บาลีไปศึกษาพระไตรปิฎกในเมื่อแหล่งเดียวในโลกที่จะใช้ภาษาบาลีก็คือพระไตรปิฎก.? การให้ศักดิ์และสิทธิ์แก่ผู้สอบบาลีได้ ถือว่าเป็นเรื่องดี ไม่ควรปฏิเสธ แต่ปัญหาใหญ่ก็คือ ทำอย่างไรผู้เรียนบาลีจึงจะก้าวข้าม “เครื่องล่อใจ” นี้ไปให้ถึงเป้าหมายที่ควรจะเป็น นั่นคือ
       ๒.๑. ใช้ความรู้ภาษาบาลีที่อุตส่าห์เรียนมาไปศึกษาพระไตรปิฎกต่อไป เพื่อให้รู้เข้าใจคำสอนที่ถูกต้องในพระพุธศาสนา
       ๒.๒ แล้วนำคำสอนที่ถูกต้องนั้นมาประพฤติปฏิบัติขัดเกลาตนเอง อันอุปมาเหมือนศึกษาตำรายาจนรู้จักตัวยาแล้วใช้ยานั้นรักษาโรคให้หาย
       ๒. ๓ แล้วประกาศ บอกกล่าว เผยแผ่หลักคำสอนที่ถูกต้องนั้นให้แพร่หลายกว้างขวาง และสืบทอดให้ยั่งยืนมั่นคงต่อไป

ทำอย่างไรการเรียนบาลีจึงจะผ่านไปถึงเป้าหมายดังกล่าวนี้.? หรือถ้าเป้าหมายดังกล่าวนี้ไม่จำเป็นต้องผ่านการเรียนบาลี เราจะเรียนบาลีกันไปทำไม.?





ขอขอบคุณ :-
ผู้เขียน : พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย ,๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๕ ,๑๘:๔๓ น.
URL : dhamma.serichon.us/2022/06/15/พระไตรปิฎกกับภาษาบาลี/
Posted date : 15 มิถุนายน 2022 ,By admin.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ