ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: คำพูดที่มีประโยชน์ "คำเดียว" ฟังแล้วสงบระงับ ย่อมดีกว่าคำพูดที่ไร้สาระ "พันคำ"  (อ่าน 985 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28362
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


คำพูดที่มีประโยชน์ "คำเดียว" ฟังแล้วสงบระงับ ย่อมดีกว่าคำพูดที่ไร้สาระ "พันคำ"

                       
๘. สหัสสวรรค หมวดว่าด้วยหนึ่งในร้อยในพัน
๑. ตัมพทาฐิกโจรฆาตกวัตถุ เรื่องเพชฌฆาตโจรเคราแดง


(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๐๐] คำพูดที่มีประโยชน์คำเดียว(๑-) ที่คนฟังแล้วสงบระงับได้(๒-) ย่อมดีกว่าคำพูดที่ไร้ประโยชน์ตั้ง ๑,๐๐๐ คำ


เชิงอรรถ :-
(๑-) มีประโยชน์ ในที่นี้หมายถึง เป็นคำที่แสดงเรื่องนิพพาน หรือเรื่องขันธ์ ธาตุ อายตนะ อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ และสติปัฏฐาน (ขุ.ธ.อ. ๔/๙๒)
(๒-) สงบระงับ หมายถึง สงบระงับกิเลสมีราคะ เป็นต้น ได้ (ขุ.ธ.อ. ๔/๙๒)




ที่มา : พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
Thank to :-
Photo : pinterest   
website : https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=18&p=1   



     "ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงอย่าถือประมาณแห่งธรรมที่เราแสดงแล้วว่า ‘น้อยหรือมาก’ เพราะว่า แม้วาจาคำเดียว ที่อาศัยประโยชน์ ประเสริฐโดยแท้"

อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท สหัสสวรรคที่ ๘
๘. สหัสสวรรควรรณนา               
๑. เรื่องบุรุษผู้ฆ่าโจรมีเคราแดง [๘๑]

             
๑. ข้อความเบื้องต้น     
         
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภบุรุษผู้ฆ่าโจร มีเคราแดง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "สหสฺสมปิ เจ วาจา" เป็นต้น.

๒. เพชฌฆาตเคราแดง     
         
ดังได้สดับมา โจร ๔๙๙ คนทำกรรมมีการปล้นชาวบ้านเป็นต้น สำเร็จความเป็นอยู่แล้ว. ครั้งนั้น บุรุษผู้หนึ่งมีตาเหลือกเหลือง มีเคราแดง ไปยังสำนักของโจรเหล่านั้น กล่าวว่า
    "แม้เราจักเป็นอยู่กับพวกท่าน."
     ทีนั้น พวกโจรแสดงบุรุษนั้นแก่หัวหน้าโจรแล้วกล่าวว่า
    "ชายแม้นี้ ปรารถนาจะอยู่ในสำนักของพวกเรา."

ครั้งนั้น หัวหน้าโจรแลดูบุรุษนั้นแล้วคิดว่า
"บุรุษผู้นี้ กักขฬะนัก สามารถในการที่จะตัดนมของแม่ หรือนำเลือดในลำคอของพ่อออกแล้ว กินได้"
จึงห้ามว่า "กิจคือการอยู่ ในสำนักของพวกเราสำหรับบุรุษนี้ไม่มี."
บุรุษนั้นแม้ถูกหัวหน้าโจรห้ามแล้วอย่างนั้น ก็ไม่ไป บำรุงศิษย์คนหนึ่งของหัวหน้าโจรนั้นนั่นแล ให้พอใจแล้ว.

    โจรนั้นพาบุรุษนั้นเข้าไปหาหัวหน้าโจรแล้ว อ้อนวอนว่า
   "นาย ผู้นี้เป็นคนดี มีอุปการะแก่พวกเรา, ขอท่านจงสงเคราะห์เขาเถิด" ให้หัวหน้าโจรรับไว้แล้ว.

ภายหลังวันหนึ่ง พวกชาวเมืองร่วมกันกับพวกราชบุรุษจับโจรเหล่านั้นได้ จึงนำไปสู่สำนักของพวกอำมาตย์ผู้วินิจฉัยทั้งหลาย. พวกอำมาตย์สั่งบังคับการตัดศีรษะของโจรเหล่านั้นด้วยขวาน. ลำดับนั้น พวกชาวเมืองปรึกษากันว่า "ใครหนอแล.? จักฆ่าโจรเหล่านี้" แสวงหาอยู่ ไม่เห็นใครๆ ผู้ปรารถนาเพื่อจะฆ่าโจรเหล่านั้น

จึงพูดกะหัวหน้าโจรว่า
"ท่านฆ่าโจรเหล่านี้แล้ว จักได้ทั้งชีวิต ทั้งความนับถือทีเดียว, ท่านจงฆ่าโจรเหล่านั้น."
แม้หัวหน้าโจรนั้นก็ไม่ปรารถนาจะฆ่า เพราะความที่พวกโจรนั้นอาศัยตนอยู่แล้ว. พวกชาวเมืองถามโจร ๔๙๙ คนโดยอุบายนั้น แม้โจรทั้งหมดก็ไม่ปรารถนาแล้ว.

พวกชาวเมืองถามนายตัมพทาฐิกะ (เคราแดง) ผู้มีตาเหลือกเหลืองนั้น ภายหลังโจรทั้งหมด.
นายตัมพทาฐิกะนั้นรับคำว่า "ดีละ" แล้ว ฆ่าโจรทั้งหมดนั้น ได้ทั้งชีวิตทั้งความนับถือแล้ว.


๓. เพชฌฆาตออกจากตำแหน่งเวลาแก่
             
พวกชาวเมืองนำโจร ๕๐๐ คนมาแม้แต่ทิศทักษิณแห่งเมืองแล้ว แสดงแก่พวกอำมาตย์โดยอุบายนั้น, เมื่อพวกอำมาตย์นั้นสั่งบังคับให้ตัดศีรษะโจรเหล่านั้น จึงถามตั้งแต่หัวหน้าโจรเป็นต้นไป ไม่เห็นใครผู้ปรารถนาจะฆ่า
 
จึงถามว่า "ในวันก่อน บุรุษหนึ่งฆ่าโจร ๕๐๐ คนแล้ว, บุรุษนั่นอยู่ที่ไหนหนอแล.?"
เมื่อชนทั้งหลายตอบว่า "พวกข้าพเจ้าเห็นเขาแล้วในที่ชื่อโน้น"
จึงให้เรียกเขาแล้วสั่งบังคับว่า "ท่านจงฆ่าโจรเหล่านี้ ท่านจะได้ความนับถือ."
นายตัมพทาฐิกะนั้นรับว่า "ดีละ" แล้วฆ่าโจรเหล่านั้น ได้ความนับถือแล้ว.

ครั้งนั้น ชาวเมืองเหล่านั้นปรึกษากันว่า "บุรุษคนนี้ดี, พวกเราจักทำเขาให้เป็นคนฆ่าโจรประจำทีเดียว"
ดังนี้แล้ว จึงให้ตำแหน่งนั้นแก่เขา กระทำความนับถือแล้ว.

นายตัมพทาฐิกะนั้นฆ่าโจร (คราวละ) ห้าร้อยๆ ซึ่งเขานำมาแต่ทิศปัศจิมบ้าง ทิศอุดรบ้าง. เขาฆ่าโจร (สิ้น) ๒ พันคน ซึ่งนำมาแต่ทิศทั้ง ๔ ด้วยอุบายอย่างนั้น. จำเดิมแต่นั้น เมื่อฆ่ามนุษย์ที่เขานำมาๆ คือ "คนหนึ่ง สองคน" ทุกวันๆ ได้กระทำโจรฆาตกรรมสิ้น ๕๕ ปี.

ในเวลาเป็นคนแก่ เขาไม่อาจจะตัดศีรษะด้วยการฟันทีเดียวได้ ต้องฟัน ๒-๓ ที ทำให้มนุษย์ทั้งหลายลำบาก. พวกชาวเมืองคิดกันว่า
    "คนฆ่าโจร แม้อื่นจักเกิดขึ้น ผู้นี้ทำมนุษย์ทั้งหลายให้ลำบากเหลือเกิน จะต้องการอะไรด้วยผู้นี้"
     จึงถอนตำแหน่งนั้นของเขาเสีย.

นายตัมพทาฐิกะนั้นกระทำโจรฆาตกรรมอยู่ในกาลก่อน จึงไม่ได้กิจ ๔ อย่างนี้ คือ
"การนุ่งผ้าใหม่ การดื่มยาคูเจือน้ำนมที่ปรุงด้วยเนยใสใหม่ การประดับดอกมะลิ การทาด้วยของหอม."

ในวันที่ถูกออกจากตำแหน่ง เขากล่าวว่า "ท่านทั้งหลายจงต้มยาคูเจือน้ำนมแก่เรา" แล้วให้คนถือผ้าใหม่ ระเบียบดอกมะลิและเครื่องทา ไปยังแม่น้ำอาบน้ำแล้ว นุ่งผ้าใหม่ ประดับดอกไม้ มีตัวทาด้วยของหอมมาสู่เรือน นั่งแล้ว. ทีนั้น ชนทั้งหลายวางยาคูเจือน้ำนมที่ปรุงด้วยเนยใสใหม่ข้างหน้าของเขาแล้ว นำน้ำสำหรับล้างมือมา.



๔. นายตัมพทาฐิกะกระทำบุญแก่พระสารีบุตร
             
ในขณะนั้น พระสารีบุตรเถระออกจากสมาบัติ พิจารณาทางเที่ยวภิกษาของตนว่า
    "วันนี้ เราควรไปที่ไหนหนอแล.?"
     เห็นยาคูเจือน้ำนมในเรือนของนายตัมพทาฐิกะนั้น จึงใคร่ครวญว่า
    "บุรุษนั้นจักทำการสงเคราะห์เราหรือหนอแล.?"
     รู้ว่า "เขาเห็นเราแล้ว จักทำการสงเคราะห์แก่เรา, ก็แล กุลบุตรนี้ ครั้นกระทำแล้ว จักได้สมบัติใหญ่"
     จึงห่มจีวร ถือบาตร แสดงตนยืนอยู่ที่ประตูเรือนของนายตัมพทาฐิกะนั้น นั่นแล.

    นายตัมพทาฐิกะนั้น พอแลเห็นพระเถระก็มีจิตเลื่อมใส คิดว่า
   "เรากระทำโจรฆาตกรรมมานาน, เราฆ่ามนุษย์เสียเป็นอันมาก บัดนี้ ในเรือนของเราตกแต่งยาคูเจือน้ำนมไว้, แลพระเถระก็มายืนอยู่ที่ประตูเรือนของเรา, เราถวายไทยธรรมแก่พระผู้เป็นเจ้าเสียในเวลานี้ ก็ควร"
    ดังนี้แล้ว จึงนำยาคูที่วางไว้ข้างหน้าออกไปแล้ว เข้าไปหาพระเถระ ไหว้แล้วนิมนต์ให้นั่งภายในเรือน เกลี่ยยาคูเจือน้ำนมลงในบาตร ราดเนยใสใหม่แล้ว ได้ยืนพัดพระเถระอยู่.

ทีนั้น อัธยาศัยเพื่อดื่มยาคูเจือน้ำนมได้มีกำลัง เพราะเขาไม่เคยได้แล้วสิ้นเวลานาน.
พระเถระรู้อัธยาศัยของนายตัมพทาฐิกะนั้น จึงพูดกะเขาว่า "อุบาสก ท่านจงดื่มยาคูของตนเถิด."
เขาให้พัดในมือแก่ผู้อื่น แล้วดื่มยาคูเอง.
พระเถระพูดกะบุรุษผู้พัดว่า "ท่านจงไป จงพัดอุบาสกเถิด."
เขาอันบุรุษนั้นพัดอยู่ ดื่มยาคูเต็มท้องแล้วมายืนพัดพระเถระ ได้รับบาตรของพระเถระ ผู้กระทำภัตกิจเสร็จแล้ว.

พระเถระเริ่มอนุโมทนาแก่เขาแล้ว. เขาไม่อาจกระทำจิตของตนให้ไปตามธรรมเทศนาของพระเถระได้.
พระเถระสังเกตได้จึงถามว่า "อุบาสก เหตุไร ท่านจึงไม่อาจทำจิตให้ไปตามธรรมเทศนาได้.?"

ตัมพทาฐิกะ. "ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าทำกรรมหยาบช้ามาสิ้นกาลนาน. มนุษย์เป็นอันมากถูกข้าพเจ้าฆ่าตาย, ข้าพเจ้ามัวระลึกถึงกรรมของตนนั้นอยู่ จึงไม่อาจทำจิตให้ไปตามเทศนาของพระผู้เป็นเจ้าได้."

พระเถระคิดว่า "เราจักลวงบุรุษนั้น"
จึงพูดว่า "ก็ท่านได้กระทำตามชอบใจตน หรือถูกคนอื่นให้กระทำเล่า.?"
ตัมพทาฐิกะ. "ท่านผู้เจริญ พระราชาให้ข้าพเจ้าทำ."
พระเถระ. "อุบาสก เมื่อเป็นเช่นนั้น อกุศลจะมีแก่ท่านอย่างไรหนอ.?"


๕. นายตัมพทาฐิกะตาย ไปเกิดในดุสิตบุรี   
           
อุบาสกเป็นคนธาตุทึบ ถูกพระเถระกล่าวอย่างนั้น มีความสำคัญว่า "อกุศลไม่มีแก่เรา"
จึงกล่าวว่า "ท่านผู้เจริญ ถ้ากระนั้น ขอท่านจงกล่าวธรรมเถิด."
อุบาสกนั้น เมื่อพระเถระทำอนุโมทนาอยู่, มีจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ฟังธรรมอยู่ ยังขันติเป็นไปโดยอนุโลม (แก่อริยสัจ) ภายในแห่งโสดาปัตติมรรค ให้บังเกิดแล้ว. แม้พระเถระกระทำอนุโมทนาแล้วก็หลีกไป.

นางยักษิณีตนหนึ่งมาแล้วด้วยเพศแห่งแม่โคนม ขวิดที่อกอุบาสก ผู้ตามส่งพระเถระหน่อยหนึ่งแล้วกลับอยู่ให้ตายแล้ว. อุบาสกนั้นกระทำกาละแล้วก็บังเกิดในดุสิตบุรี.

๖. กัลยาณมิตรเป็นเหตุให้เกิดในดุสิต  
           
ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมว่า "บุรุษฆ่าโจร กระทำกรรมหยาบช้าสิ้น ๕๕ ปี พ้นจากกรรมนั้นในวันนี้แล ถวายภิกษาแก่พระเถระก็ในวันนี้เหมือนกัน กระทำกาละก็ในวันนี้นั่นแล, เขาบังเกิดในที่ไหนหนอแล.?"

พระศาสดาเสด็จมาแล้ว ตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยถ้อยคำอะไรหนอ.?"
เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า "ด้วยถ้อยคำชื่อนี้"
จึงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย บุรุษนั้นบังเกิดในดุสิตบุรี."
ภิกษุทั้งหลายทูลถามว่า
"พระเจ้าข้า พระองค์ตรัสอะไร.? บุรุษนั้นฆ่ามนุษย์เท่านี้สิ้นเวลาเท่านี้ แล้วบังเกิดในวิมานดุสิต."

พระศาสดาตรัสว่า "อย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย บุรุษนั้นได้กัลยาณมิตรผู้ใหญ่ เขาฟังธรรมเทศนาของสารีบุตร ยังอนุโลมญาณให้บังเกิดแล้ว เคลื่อนจากโลกนี้แล้ว บังเกิดในวิมานดุสิต"
               
     ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า :-
    "บุรุษผู้ฆ่าโจรในเมือง ฟังคำเป็นสุภาษิตแล้ว ได้อนุโลมขันติ ไปสู่เทวโลกชั้นไตรทิพย์ ย่อมบันเทิงใจ."

     ภิกษุ. "พระเจ้าข้า ธรรมดาอนุโมทนากถามีกำลัง, บุรุษนั้นกระทำอกุศลกรรมไว้มาก, เขายังคุณวิเศษให้บังเกิดด้วยเหตุเท่านั้น อย่างไรได้.?"
     พระศาสดาตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงอย่าถือประมาณแห่งธรรมที่เราแสดงแล้วว่า ‘น้อยหรือมาก’ เพราะว่า แม้วาจาคำเดียวที่อาศัยประโยชน์ ประเสริฐโดยแท้"

    เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-
       สหสฺสมปิ เจ วาจา    อนตฺถปทสญฺหิตา
       เอกํ อตฺถปทํ เสยฺโย  ยํ สุตฺวา อุปสมฺมติ.
       หากวาจาแม้ตั้งพัน ไม่ประกอบด้วยบทที่เป็นประโยชน์ไซร้,
       บทที่เป็นประโยชน์บทเดียว ซึ่งบุคคลฟังแล้วสงบระงับได้ ประเสริฐกว่า.


@@@@@@@

แก้อรรถ       
       
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สหสฺสมปิ เป็นคำสำหรับกำหนด. อธิบายว่า
    "แม้หากว่าวาจา เขากำหนดด้วยพันอย่างนี้ คือ ๑ พัน ๒ พันไซร้, ก็วาจาเหล่านั้นไม่ประกอบด้วยบทที่เป็นประโยชน์ คือประกอบด้วยบททั้งหลายที่ไม่เป็นประโยชน์ อันประกาศแต่เรื่องพรรณนาอากาศ พรรณนาภูเขา และพรรณนาป่าเป็นต้น ไม่แสดงนิพพาน มีมากเพียงใด ก็เป็นวาจาชั่วนั่นแหละเพียงนั้น."

สองบทว่า เอกํ อตฺถปทํ ความว่า ส่วนบุคคลฟังบทใด ที่เป็นประโยชน์แม้บทเดียว เห็นปานนี้ว่า
    "นี้กาย, นี้สติไปในกาย, วิชชา ๓ เราตามบรรลุแล้ว, คำสอนของพระพุทธะทั้งหลาย เรากระทำแล้ว."
     ย่อมสงบระงับ ด้วยการสงบระงับกิเลส มีราคะเป็นต้นได้, บทนั้นสำเร็จประโยชน์ ประกอบด้วยนิพพาน คือแสดงขันธ์ ธาตุ อายตนะ อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ และสติปัฏฐาน แม้บทเดียว ยังประเสริฐกว่า โดยแท้.

ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

               เรื่องบุรุษผู้ฆ่าโจรมีเคราแดง จบ.   





Thank to :-
Photo : pinterest   
website : https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=18&p=1   
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 07, 2022, 09:33:16 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ