ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เจ้าชายน้อยยืน “ชี้ฟ้า-ชี้ดิน“ อิทธิพล “สายมหายาน“ ในล้านนา-สุโขทัย.?  (อ่าน 865 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

 :25: :25: :25:

ปริศนาโบราณคดี : เจ้าชายน้อยยืน “ชี้ฟ้า-ชี้ดิน“ อิทธิพล “สายมหายาน“ ในล้านนา-สุโขทัย.?

“ดินก้อนแรก” ที่มหาบุรุษต้องสัมผัส คือ การเรียนรู้ชีวิตคนที่ต้อยต่ำ ตั้งแต่รากหญ้าหรือจากดินขึ้นไปจนถึงฟ้า โดยไม่แบ่งชนชั้นวรรณะ



โบราณวัตถุสองภาพนี้ ถือว่าพิเศษสุดในวงการโบราณคดีบ้านเรา เท่าที่พบในสยามมีเพียงสององค์เท่านั้น องค์หนึ่งพบที่สุโขทัย และอีกองค์เพิ่งค้นพบใหม่ไม่นานที่ลำพูน น่าเสียดาย ที่ประติมากรรมสำริด ซึ่งพบในห้องกรุบนพระเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์วัดมหาธาตุสุโขทัย อายุกว่า 700 ปีได้หายสาบสูญไปโดยมิจฉาชีพ ตั้งแต่หลังปี พ.ศ.2496 เล็กน้อย

เหลือแต่ภาพถ่ายขาวดำเก่าๆ เพียงภาพเดียวที่อดีตหัวหน้าหน่วยศิลปากรที่ 3 สุโขทัย "มะลิ โคกสันเทียะ" เคยขอถ่ายไว้จากพระปลัดบุญธรรม เจ้าอาวาสวัดตระพังทอง ครั้นเมื่อท่านสึก โบราณวัตถุก็สูญตามไปด้วย เป็นประติมากรรมรูปเจ้าชายสิทธัตถะร่างอ้วนท้วน พระพักตร์กลมอิ่ม ตามรูปแบบศิลปะสุโขทัยยุคแรกสุด หรือที่นักโบราณคดีเรียกว่า “หมวดวัดตะกวน” คือ รับอิทธิพลการทำพระวรกายอวบกลมมาจากทางลังกาเต็มๆ

ต่างกับอีกองค์หนึ่ง เป็นประติมากรรมสำริดรูปร่างผอมเพรียว ได้มาจากการขุดค้นทางโบราณคดีของสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2550 ซึ่งดิฉันเองได้อยู่ในเหตุการณ์ขณะที่กำลังขุดแต่งบริเวณฐานชั้นล่างลึกจากพื้นดินราวเมตรเศษของพระเจดีย์เชียงยันด้านทิศเหนือ ภายในวัดพระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน

ประติมากรรมสำริดยุคล้านนาสิบกว่าชิ้น กำหนดอายุได้ราวสมัยพระเจ้าติโลกราชคือราว 550 ปีมาแล้ว ปัจจุบันเก็บรักษาและจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ภายในวัดพระธาตุหริภุญชัย ทุกชิ้นล้วนแต่มีความโดดเด่นและสร้างปริศนาทัดเทียมกัน แต่ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะรูปของเจ้าชายสิทธัตถะปางประสูติ ด้วยการยืนชี้ฟ้าชี้ดินเท่านั้น

ในเมื่อที่สุโขทัยได้สูญหายไปอยู่ในมือพ่อค้าของเก่าแล้ว ประติมากรรมสำริดที่วัดพระธาตุหริภุญชัย ย่อมกลายเป็นหลักฐานสำคัญของพระพุทธรูปปางประสูติเพียงองค์เดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ในสยาม และเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทางวัดคงช่วยกันรักษาเป็นอย่างดี มิให้ประวัติศาสตร์ต้องซ้ำรอยเดิม


พระพุทธเจ้าน้อย ลุมพินี เนปาล ขอบคุณภาพจาก https://www.nctour.net/

ทําไมถึงได้ พบน้อยเหลือเกิน ในประเทศไทย.?

เหตุเพราะปางชี้ฟ้าชี้ดินนี้เป็นรูปแบบเฉพาะตามคติพระพุทธศาสนานิกายมหายาน ทำขึ้นครั้งแรกในประเทศจีน ราวพุทธศตวรรษที่ 11 ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในวัฒนธรรมอินเดียหรือลังกาในสายพุทธเถรวาท จากนั้น จีนได้ส่งอิทธิพลไปยังสายทิเบต เนปาล ญี่ปุ่น เกาหลี

โดยปกติการทำรูปเคารพปางประสูติของอินเดียและกลุ่มอุษาคเนย์ นิยมแสดงด้วยรูปพระนางสิริมหามายาเหนี่ยวกิ่งไม้สาละ มีพระโอรสน้อยคลอดออกจากพระปรัศว์ (สีข้าง) ด้านขวา หรือไม่ก็แสดงออกด้วยปาง “คชลักษมี” คือทำรูปพระพุทธมารดาประทับนั่งขัดสมาธิบนดอกบัวหว่างกลางช้างสอง (หรือสี่) เชือกที่กำลังสรงน้ำอวยพร

ดังนั้น จึงน่าสนใจยิ่งว่า ทั้งที่ลำพูนและสุโขทัย ต่างก็เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาอันแข็งแกร่งของสายเถรวาทในอดีต แต่ไฉนกลับปรากฏประติมากรรมในรูปแบบเฉพาะของพุทธสายมหายาน หรือว่าประติมากรรมทั้งสองชิ้นนี้ คือ ประจักษ์พยานแห่งการเผยแผ่อิทธิพลของพุทธศาสนาสายมหายาน ที่ปะปนแทรกเข้ามาในอาณาจักรล้านนาและสุโขทัยอย่างแยบยล.?



ทําไมต้อง ชี้ฟ้าชี้ดิน.?

คัมภีร์พุทธประวัติทุกฉบับกล่าวตรงกันว่า ภายหลังจากที่พระนางสิริมหามายาทรงประสูติเจ้าชายสิทธัตถะ กลางป่าที่ลุมพินีสถานแล้ว ทันทีที่เจ้าชายน้อยกำลังจะหย่อนพระบาทลงแผ่นดินพลันมีพุทธปาฏิหาริย์บังเกิดดอกบัวบานผุดขึ้นมารองรับให้ก้าวเดินจำนวนเจ็ดดอก

ประเด็นเกี่ยวกับเรื่องเหลือเชื่อนี้สร้างความสงสัยคลางแคลงใจให้แก่พุทธศาสนิกชนที่เคารพเหตุผลและไม่เชื่อเรื่องฤทธิ์อำนาจที่พิสูจน์ไม่ได้มาทุกยุคทุกสมัย

แต่ในท้ายที่สุด ก็โล่งใจได้ เมื่อมีคำอธิบายชุดที่ว่า “การย่างเดินทั้ง 7 ก้าว” นี้เป็นเพียง “บุคคลาธิษฐาน” ว่าพระพุทธองค์จะทรงประกาศศาสนธรรมไปทั่วทั้งจักรวาลถึงเจ็ดทิศา

ส่วนการชี้ฟ้าชี้ดินนั้นเล่า ทำไปเพื่ออะไร.?

ทรงชี้ฟ้าและดิน พร้อมกับขณะย่างเดินบนดอกบัวทั้งเจ็ดก้าว พลางตรัสให้ฟ้า-ดินมาร่วมเป็นสักขีพยานว่า “เรา คือ มหาบุรุษ และนี่จะเป็นพระชาติสุดท้ายของเราแล้ว.!”

คัมภีร์ฝ่ายมหายานตีความว่า การแสดงพระหัตถ์เบื้องขวายกขึ้นชี้ฟ้า และพระหัตถ์เบื้องซ้ายเหยียดลงชี้แผ่นดินนั้น เนื่องจากเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งฟ้าแลดิน ซึ่งตรงกับ "คำทำนายพระสุบินนิมิต" คราวที่พระนางสิริมหามายาทรงฝันเห็นช้างเผือก ก่อนทรงพระครรภ์ หมายถึง ผู้มีบุญญาธิการที่กำลังจะมาจุติ พระองค์นั้นย่อมต้องเป็นมหาบุรุษ ถ้าไม่เป็นใหญ่ทางโลกในระดับพระจักรพรรดิราช ก็ต้องเป็นใหญ่ทางธรรมในระดับพระมหาศาสดา ประหนึ่งผู้หยั่งรู้ฟ้าแลดิน

@@@@@@@

นัยความหมายของ “ฟ้า” และ “ดิน”

นัยแห่ง “ฟ้า” นั้นไม่ใช่เรื่องที่น่าสงสัยเท่ากับนัยแห่ง “ดิน” เพราะแผ่นฟ้านั้นบางเบา เทียบได้กับความร่มเย็นเป็นสุขและคุณธรรมที่จะทรงสั่งสอนแก่พุทธศาสนิกชน

ที่น่าสนใจคือนัยแห่ง “ดิน” มากกว่า

“พลิกแผ่นดินให้หงาย ทายแผ่นดินให้คว่ำ” เป็นคำที่ปรากฏอยู่ในคำทำนายพระชะตาของเจ้าชายสิทธัตถะว่า ทรงเกิดมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ จะเห็นว่า ในทางประติมาณวิทยาได้ทำพระหัตถ์ซ้ายของเจ้าชายน้อยชี้ลงที่แผ่นดิน  น่าจะหมายถึง การแผ่พระพุทธานุภาพให้แก่สรรพสัตว์ที่ร่วมสังสารวัฏ

สัญลักษณ์ของดินหรือแผ่นดิน คือ ความหนักแน่น และยังหมายถึงสักขีพยาน เห็นได้จากอีกเหตุการณ์หนึ่งตอนใกล้ตรัสรู้ธรรม ขณะถูกมารผจญทรงชี้นิ้วเรียกแผ่นดินหรือพระแม่ธรณีให้มาร่วมเป็นพยานในการต่อสู้กับกิเลสมาร



กระทั่งมหากวีศรีอยุธยา “ศรีปราชญ์” ก่อนถูกประหารชีวิตยังต้องเรียกแผ่นดิน มารับรู้ถึงความบริสุทธิ์ ซึ่งถูกใส่ร้ายป้ายสีเช่นเดียวกัน เชื่อว่าการที่ศรีปราชญ์ได้อวดอ้างเอาธรณีนี่นี้มาเป็นพยานนั้น เป็นเพราะแตกฉานเรียนรู้เรื่องพุทธประวัติมาไม่น้อย

ภายหลังจากก้าวเดินได้เจ็ดก้าวแล้ว พญานาคสองตัวชื่อ “นันทะ” และ “อุปนันทะ” ได้เนรมิตบ่อน้ำทิพย์ขึ้นมาเพื่อ “สรงน้ำ” ถวายแด่เจ้าชายสิทธัตถะเป็นครั้งแรก

ฉากนี้ชวนให้นึกถึงพิธี Baptise ถือศีลจุ่มของพระเยซูในศาสนาคริสต์มากทีเดียว รวมไปถึงการที่มหาบุรุษของโลกล้วนแล้วแต่ประสูติกลางดินกลางทราย กลางป่า กลางกองฟาง ทั้งสิ้น ไม่ว่าเจ้าชายสิทธัตถะ พระเยซู พระมะหะหมัดของศาสนาอิสลาม แทบไม่มีศาสดาองค์ไหน ถือกำเนิดบนราชบัลลังก์ ท่ามกลางกองเงินกองทองเลย แม้จะมีชาติตระกูลสูง

สะท้อนว่า “ดินก้อนแรก” ที่มหาบุรุษต้องสัมผัสคือ การเรียนรู้ชีวิตคนที่ต้อยต่ำ ตั้งแต่รากหญ้าหรือจากดินขึ้นไปจนถึงฟ้า โดยไม่แบ่งชนชั้นวรรณะ

น้ำจากท่อทั้งสองที่นาคพ่นมาสรงนั้น ท่อหนึ่งคือน้ำร้อน อีกท่อคือน้ำเย็น น้ำร้อนเปรียบได้กับ ความทุกข์ความร้อนรุมสุมทรวง นั่นคือการต้องเรียนรู้จักกับ “ทุกรกิริยาทางกาย” ส่วนน้ำเย็นนั้นเปรียบได้กับ “วิริยะทางจิต” คือสุดท้ายต้องทรงใช้น้ำใสเย็นเข้าชำระสะสางกิเลสและมลทินให้หมดสิ้นไป


@@@@@@@

มีข้อน่าสังเกตว่า พุทธศาสนานิกายมหายาน เน้นเรื่องการพินิจความสมดุลและความขัดแย้งของ “คู่ที่อยู่ตรงกันข้าม” เพื่อมองทะลุให้เห็นโลกรอบด้าน เฝ้าสังเกตอนิจจลักษณ์อันผันแปรเปลี่ยนแปลงแบบ “หยิน-หยาง” เช่น กลางคืน-กลางวัน พระจันทร์-พระอาทิตย์ หญิง-ชาย ดิน-ฟ้า ร้อน-เย็น ทุกข์-สุข จน-รวย

ขึ้นอยู่กับภูมิธรรม-ภูมิปราชญ์ของแต่ละคน ว่าจะสามารถตีความคติปรัชญาของ “เหรียญสองด้าน” ที่ศาสนาพุทธสายมหายานซ่อนนัยไว้ได้ทราบซึ้งเพียงใด คนที่ “ทุกข์-ต่ำ-ดำ-มืด” ย่อมซึ้งรู้ชัดถึงสัจธรรมข้อนี้ดี เกรงแต่เพียงคนที่กำลังระเริงเสพสุขในวังวนของ “สุข-สูง-ขาว-สว่าง” นั้น จักหลงยึดติดว่าตนสามารถครอบครองโลกด้านบวกได้เป็นนิรันดร์ อวิชชาแท้ๆ.!!




ขอขอบคุณ :-
ภาพ : http://www.dhammajak.net/
ผู้เขียน   : เพ็ญสุภา สุขคตะ
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2559
หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 ธ.ค. 2554
Url : https://www.matichonweekly.com/culture/article_15824#google_vignette
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 17, 2022, 10:13:19 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ