ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: พระพุทธองค์ ทรงสอน "วิธีลดความอ้วน" ให้ พระเจ้าปเสนทิโกศล  (อ่าน 763 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


พระพุทธองค์ ทรงสอน "วิธีลดความอ้วน" ให้ พระเจ้าปเสนทิโกศล
           
"คนมีสติทุกเมื่อ รู้ประมาณในโภชนะที่ได้แล้วนั้น มีเวทนาเบาบาง มีโรคภัยไข้เจ็บน้อย เขาแก่ช้าอายุยืน"



ข้อความเบื้องต้น           
   
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระเจ้าปเสนทิโกศล ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อาโรคฺยปรมา ลาภา" เป็นต้น.

พระราชาเสวยพระกระยาหารจุ     
         
ความพิสดารว่า ในสมัยหนึ่ง พระราชาเสวยพระกระยาหารตั้งทะนานแห่งข้าวสาร ด้วยสูปะและพยัญชนะอันสมควรแก่พระกระยาหารนั้น. วันหนึ่ง ท้าวเธอเสวยพระกระยาหารเช้าแล้ว ยังไม่บรรเทาความเมาเพราะภัตเลย เสด็จไปสู่สำนักของพระศาสดา มีพระรูปอึดอัด ทรงพลิกกลับไปมาข้างโน้นข้างนี้อยู่ แม้ถูกความหลับครอบงำ เมื่อไม่สามารถจะทรง ผทม ตรงได้ จึงประทับนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง. (ผทม คือ บรรทม, นอน)

ครั้งนั้น พระศาสดาตรัสกะท้าวเธอว่า "มหาบพิตร พระองค์ยังไม่ทันพักผ่อนเลย เสด็จมาแล้วหรือ.?"
พระราชา. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ตั้งแต่เวลาบริโภคแล้วหม่อมฉันมีทุกข์มาก.

@@@@@@@

อุบายแก้การบริโภคอาหารจุ   
           
ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะท้าวเธอว่า "มหาบพิตร การบริโภคมากเกินไป เป็นทุกข์อย่างนี้" ดังนี้แล้ว ตรัสสอนด้วยพระคาถานี้ว่า :-
      "ในกาลใด บุคคลเป็นผู้กินจุ มักง่วง และ มักนอนหลับ กระสับกระส่าย เป็นดุจสุกรใหญ่ที่เขาเลี้ยงด้วยอาหาร, ในกาลนั้น เขาเป็นคนมึนซึม ย่อมเข้าห้องบ่อยๆ.

แล้วตรัสว่า
"มหาบพิตร การบริโภคโภชนะแต่พอประมาณ จึงควร, เพราะผู้บริโภคพอประมาณ ย่อมมีความสุข"
               
เมื่อจะทรงโอวาทให้ยิ่ง จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-
       "คนมีสติทุกเมื่อ รู้ประมาณในโภชนะที่ ได้แล้วนั้น มีเวทนาเบาบาง, (อาหารที่บริโภคแล้ว) เลี้ยงอายุอยู่ ค่อยๆ ย่อยไป.(๑-)

___________________________________________________________________
(๑-) แปลกันมาอย่างนี้. คือเติม ภุตฺตาหาโร เป็นประธาน แต่น่าจะหมายความว่า...มีโรคภัยไข้เจ็บน้อย, เขาแก่ช้าอายุยืน.

พระราชาไม่อาจจะทรงเรียนพระคาถาได้ แต่ตรัสกะเจ้าหลานชื่อสุทัสนะ ซึ่งยืนอยู่ในที่ใกล้ว่า
    "พ่อ เธอจงเรียนคาถานี้."
สุทัสนะนั้นทรงเรียนคาถานั้นแล้ว ทูลถามพระศาสดาว่า
    "ข้าพระองค์จะกระทำอย่างไร พระเจ้าข้า.?"

ครั้งนั้น พระศาสดาตรัสกะเธอว่า
     "เมื่อพระราชาเสวยอยู่ ท่านพึงกล่าวคาถานี้ในกาลเสวยก้อนที่สุด พระราชาทรงกำหนดเนื้อความได้แล้ว จักทรงทิ้งก้อนข้าวนั้น ในการหุงภัตเพื่อพระราชา เธอพึงให้ลดข้าวสารมีประมาณเท่านั้น ด้วยอันนับเมล็ดข้าวในก้อนข้าวนั้น."

สุทัสนะนั้นทูลรับว่า
    "ดีละ พระเจ้าข้า เมื่อพระราชาเสวยเวลาเช้าก็ตาม เวลาเย็นก็ตาม ก็กล่าวคาถานั้นขึ้น ในการเสวยก้อนสุดท้าย แล้วให้ลดข้าวสาร ด้วยอันนับเมล็ด ในก้อนข้าวที่พระราชานั้นทรงทิ้ง."

แม้พระราชาทรงสดับคาถาของสุทัสนะนั้นแล้ว รับสั่งให้พระราชทานทรัพย์ครั้งละพัน.



พระราชาลดพระกระยาหารได้แล้ว        
       
โดยสมัยอื่นอีก พระราชานั้นทรงตั้งอยู่ในความเป็นผู้มีพระกระยาหารแห่งข้าวสารทะนานหนึ่งเป็นอย่างยิ่ง ทรงถึงความสุขแล้ว ได้มีพระสรีระอันเบา.

ภายหลังวันหนึ่ง ท้าวเธอเสด็จไปสำนักพระศาสดา ถวายบังคมพระศาสดาแล้วทูลว่า

    "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ความสุขเกิดแก่หม่อมฉันแล้ว หม่อมฉันเป็นผู้สามารถจะติดตามจับเนื้อก็ได้ ม้าก็ได้, เมื่อก่อน หม่อมฉันมีการยุทธ์กับหลาน
     บัดนี้ หม่อมฉันให้ธิดาชื่อว่าวชิรกุมารีแก่หลานแล้ว ให้บ้านนั้นทำให้เป็นค่าน้ำอาบของธิดานั้นนั่นแล. ความทะเลาะกับหลานนั้นสงบแล้ว สุขแท้เกิดแล้วแก่หม่อมฉัน
     เพราะเหตุแม้นี้ แม้แก้วมณีของพระเจ้ากุสะ ซึ่งหายไปแล้วในเรือนของหม่อมฉันในวันก่อน บัดนี้ แก้วมณีแม้นั้นมาสู่เงื้อมมือแล้ว, ความสุขแท้เกิดแล้วแก่หม่อมฉัน
     เพราะเหตุแม้นี้, หม่อมฉันปรารถนาความคุ้นเคยกับเหล่าสาวกของพระองค์ จึงทำแม้ธิดาแห่งญาติของพระองค์ไว้ในเรือน, ความสุขแท้เกิดแล้วแก่หม่อมฉัน เพราะเหตุแม้นี้."

พระศาสดาตรัสว่า
    "มหาบพิตร ชื่อว่าความไม่มีโรค เป็นลาภอย่างยิ่ง, ทรัพย์แม้เช่นกับความเป็นผู้สันโดษ ด้วยวัตถุตามที่ตนได้แล้ว ไม่มี, ชื่อว่าญาติเช่นกับด้วยผู้คุ้นเคยกัน ไม่มี, ชื่อว่าความสุขอย่างยิ่ง เช่นกับด้วยพระนิพพาน ไม่มี"

    จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-
    ๖. อาโรคฺยปรมา ลาภา  สนฺตุฏฺฐิปรมํ ธนํ
        วิสฺสาสปรมา ญาติ    นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ.
        ลาภทั้งหลาย มีความไม่มีโรค เป็นอย่างยิ่ง,  ทรัพย์มีความสันโดษ เป็นอย่างยิ่ง,
        ญาติมีความคุ้นเคย เป็นอย่างยิ่ง,  พระนิพพาน เป็นสุขอย่างยิ่ง.


@@@@@@@

แก้อรรถ    
           
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาโรคฺยปรมา ความว่า มีความเป็นผู้ไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง, จริงอยู่ ลาภทั้งหลาย แม้มีอยู่แก่คนมีโรค ไม่จัดเป็นลาภแท้ เพราะฉะนั้น ลาภทั้งปวงจึงมาถึงแก่คนไม่มีโรคเท่านั้น เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "อาโรคฺยปรมา ลาภา."

บาทพระคาถาว่า สนฺตุฏฺฐิปรมํ ธนํ ความว่า ภาวะคืออันยินดีด้วยวัตถุที่ตนได้แล้ว ซึ่งเป็นของมีอยู่แห่งตน ของคฤหัสถ์หรือบรรพชิตนั่นแล ชื่อว่าสันโดษ, สันโดษนั้นเป็นทรัพย์อันยิ่งกว่าทรัพย์ที่เหลือ.

บาทพระคาถาว่า วิสฺสาสปรมา ญาตี (๑-) ความว่า มารดาก็ตาม บิดาก็ตามจงยกไว้, ไม่มีความคุ้นเคยกับคนใด คนนั้นไม่ใช่ญาติแท้, แต่มีความคุ้นเคยกับคนใด คนนั่นแม้ไม่เนื่องกัน ก็ชื่อว่าเป็นญาติอย่างยิ่ง คืออย่างสูง เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "วิสฺสาสปรมาญาตี."

อนึ่ง ชื่อว่าความสุข เหมือนพระนิพพาน ไม่มี, เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ."

ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

_______________
(๑-) บาลีเป็น ญาติ.

                       เรื่องพระเจ้าปเสนทิโกศล จบ.              





ขอบคุณที่มา :-
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท สุขวรรคที่ ๑๕ | ๖. เรื่องพระเจ้าปเสนทิโกศล [๑๖๒]
https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=25&p=6
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=799&Z=829
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 25, 2022, 07:36:43 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ