ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: แนวปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา ๒ ประเภท กับ ปฏิสัมภิทามรรค ๔ รูปแบบ (โดยพิสดาร)  (อ่าน 726 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


แนวปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา ๒ ประเภท กับ ปฏิสัมภิทามรรค ๔ รูปแบบ

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ วิทยานิพนธ์เรื่อง “ศึกษาการปฏิบัติ เพื่อบรรลุมรรคผล ในมหาราหุโลวาทสูตร” โดย พระชัฏฐวีร์ อนาลโย (อนันตกลิ่น) และขอยกเอาบางส่วนของ "บทที่ ๓ การปฏิบัติเพื่อบรรลุมรรคผล" มาแสดงดังนี้



๓.๒ แนวทางการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา

คัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทได้กล่าวถึง หลักการปฏิบัติวิปัสสนามีอยู่ด้วยกัน ๒ ประเภท คือ "สมถยานิก" โดยอาศัยหลักการปฏิบัติสมถะเป็นบาทเพื่อความหลุดพ้นออกทุกข์ กับ "วิปัสสนายานิก" คือ การปฏิบัติวิปัสสนาล้วน ๆ เพื่อเข้าถึงความหลุดพ้นออกจากทุกข์ เช่นเดียวกัน

ดังนั้นหลักการ ปฏิบัติสมถยานิก จึงมีการศึกษาดังนี้ คือ

สมโถ จ วิปสฺสนา จ ได้แก่ ความเป็นผู้มีจิต มีอารมณ์เป็นหนึ่ง และวิปัสสนาญาณกำหนดรู้ สังขาร สพฺพสงฺขาร สมโถ หมายถึง พระนิพพานทั้งนั้น ก็เพราะความสะเทือนแห่งสังขาร ความหวั่นไหวแห่งสังขาร ความดิ้นรนแห่งสังขารทั้งปวง ย่อมสงบ ย่อมระงับ เพราะอาศัยนิพพานนั้น ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวนิพพานว่า เป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง

สมโถ จ วิปสฺสนา จ สมถะและวิปัสสนา ชื่อว่าสมถะ เพราะยังธรรมที่เป็นข้าศึก มีกามฉันทะเป็นต้น ให้สงบ คือ ให้หมดไป สมถะนี้เป็นชื่อของสมาธิ

วิปสฺสนาจ สมโถ ตทา อหุ สมถะและวิปัสสนา ได้มีแล้วในขณะนั้น ความว่า เพราะเมื่อสมถะและวิปัสสนาเป็นธรรมคู่กัน ความปรากฏแห่งอริยมรรคย่อมมี ฉะนั้น การประกอบธรรมทั้ง ๒ นั้น ในกาลใดย่อมมี เพราะสามารถยังอริยมรรคให้เกิดขึ้น ในกาลนั้นจะวิปัสสนาและสมถะได้มีแล้ว สมถะและวิปัสสนา ชื่อว่าเกิดแล้ว

อนึ่ง สมถะและวิปัสสนานั้น ย่อมเป็นคู่ที่มีส่วนเสมอกัน เป็นไปอยู่ ชื่อว่า สมานภาคา เพราะอรรถว่า สมถะและวิปัสสนามีส่วนเสมอกัน


@@@@@@@

๓.๒.๑ แนวปฏิบัติของสมถยานิกบุคคล

สมถภาวนา หรือสมถะกัมมัฏฐาน หมายถึง อุบายพัฒนาจิตใจให้เกิดความสงบจากนิวรณ์ ๕ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดสมาธิ ฌานสมาบัติ เป็นขบวนการพัฒนาศักยภาพของจิต เพื่อให้จิตบริสุทธิ์ตั้งมั่น ควรแก่การงาน เป็นบาทฐานของอภิญญาและวิปัสสนา

อารมณ์ของสมาธิ หรือสมถะ มี ๗ หมวด ๔๐ กอง คือ
    - กสิณ ๑๐
    - อสุภ ๑๐
    - อนุสสติ ๑๐
    - พรหมวิหาร ๔
    - อารูปกัมมัฏฐาน ๔
    - อาหารปฏิกูลสัญญา ๑
    - จตุธาตุววัฏฐาน ๑

สมถภาวนามีสมมุติบัญญัติเป็นอารมณ์ เป้าหมายของสมถภาวนา คือ ฌาน ผลของฌาน คือ อภิญญาที่เป็นโลกิยะ มีเหตุให้เกิด คือ ความสุข มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า และมีองค์ประกอบที่สำคัญ ๓ อย่าง คือ

   (๑) นิจจลักษณะ คือ เห็นสรรพสิ่งทั้งหลายว่า เที่ยงแท้แน่นอน
   (๒) สุขลักษณะ คือ ติดใจ พอใจ ชอบใจในความสุขที่เกิดจากฌานสมาบัติ ไม่ปรารถนาความหลุดพ้น
   (๓) อัตตลักษณะ คือ เห็นว่า มีอัตตาตัวตน สามารถบังคับได้ดังใจปรารถนา เป็นไปเพื่อโลกียอภิญญา

สมถะยานิก หรือ สมถะนาปัญญา หรือในพระไตรปิฎกจะเรียกว่า การเจริญวิปัสสนาอันมีสมถะเป็นเบื้องต้น เป็นวิธีปฏิบัติที่สมาธิมีบทบาทสำคัญ คือ บำเพ็ญสมาธิให้จิตใจสงบแนวแน่ จนเข้าถึงภาวะที่เรียกว่า ฌาน หรือสมาบัติขั้นต่าง ๆ เสียก่อน ทำให้จิตดื่มดำ แน่นแฟ้นอยู่กับสิ่งที่กำหนดนั้นๆ จนมีความพร้อมอยู่โดยตัวของมันเอง ที่จะใช้ปฏิบัติการต่าง ๆ อย่างที่เรียกวา จิตนุ่มนวล ควรแก่งาน โน้มไปใช้ในกิจที่ประสงค์ อย่างใดอย่างหนึ่ง

ผลดีที่สุดในสภาพจิตเช่นนี้ กิเลสอาสวะต่างๆ ซึ่งตามปรกติฟุงขึ้นรบกวน และบีบคั้นบังคับจิตใจให้พล่านอยู่ ก็ถูกควบคุมให้สงบนิ่งอยู่ในเขตจำกัด เหมือนผงธุลีที่ตกตะกอนในเวลาน้ำนิ่ง และมองเห็นได้ชัดเพราะน้ำใส เหมาะสมอย่างยิ่งแก่การที่จะก้าวตอไป สู่ขั้นใช้ปัญญาจัดการกำจัดตะกอนเหล่านั้น ให้หมดสิ้นไปโดยสิ้นเชิง ในชั้นนี้ที่เจริญกาวหน้ามาทั้งหมด นับว่าเป็นวิธีปฏิบัติที่เรียกว่า สมถะ

ถ้าไมหยุดเพียงนี้ ก็จะก้าวต่อไป สู่ขั้นการใช้ปัญญากำจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นเชิง คือ ขั้นวิปัสสนา แต่กล่าวตามหลักการว่า ทำได้งายขึ้น เพราะจิตพร้อมอยู่แล้ว วิธีปฏิบัติอย่างนี้ ก็คือ การปฏิบัติที่เรียกว่าครบเต็ม ทั้งสมถะและวิปัสสนา คือ การที่ผู้ปฏิบัติทำความสงบ หรือสมถะจนได้ฌานสองขึ้นไป พอออกจากฌาน จึงนำจิตที่มีคุณภาพนี้มาเจริญวิปัสสนาต่อไป

@@@@@@@

๓.๒.๒ แนวปฏิบัติของวิปัสสนายานิกบุคคล

วิปัสสนาภาวนา หรือวิปัสสนากัมมัฏฐาน หมายถึง วิธีการฝึกฝนพัฒนาจิตให้เกิดปัญญา มีเป้าหมายเพื่อรู้เห็นรูปนามตามความเป็นจริง จนเกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด ดับกิเลสตัณหา ละอุปาทาน จนจิตวิมุตติหลุดพ้นเป็นที่สุด อาศัยสมมุติบัญญัติเป็นฐาน เพื่อเข้าถึงอารมณ์ที่เป็นปรมัตถ์ อารมณ์ของวิปัสสนา เรียกว่า วิปัสสนาภูมิ มี ๖ หมวด คือ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ ปฏิจจสมุปปาท ๑๒ อริยสัจ ๔

การเจริญวิปัสสนาตามหลักสติปัฏฐาน ปรากฏอยู่ในสติปัฏฐานสูตร วิปัสสนายานิก หรือ ปัญญานาสมถะ หรือในพระไตรปิฎกจะเรียกว่า เจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้น เป็นวิธีปฏิบัติที่เน้นสติ คือ ใช้สมาธิแต่เพียงขั้นต้นๆ เท่าที่จำเป็น หรือใช้สมาธิเป็นเพียงตัวช่วย แต่ใช้สติเป็นองค์ธรรมหลัก สำหรับยึดจับสิ่งที่ต้องการกำหนดไว้ ให้ปัญญาตรวจสอบวิจัย วิปัสสนายานิกไม่จำเป็นต้องเจริญอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิ เจริญเพียงขณิกสมาธิเท่านั้น และ ขณิกสมาธิก็สามารถทำให้เกิดจิตตวิสุทธิ จนกระทั่งบรรลุมรรคผลได้

การปฏิบัติวิปัสสนาจึงสามารถสรุปได้เป็น ๒ ประเภท คือ สมถยานิก ต้องเจริญอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงจะบรรลุมรรคผลได้ ซึ่งเป็นการเจริญสมาธิมาก่อน แล้วจึงเจริญวิปัสสนาภายหลัง ตั้งแต่ปฐมฌานจนถึง นิโรธสมาบัติ ส่วนวิปัสสนายานิกต้องเจริญขณิกสมาธิเท่านั้น ก็จะบรรลุธรรมได้



๓.๓ วิธีปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา ๔ รูปแบบ

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๑ พระสุตตันตปิฎก ปฏิสัมภิทามรรค ยุคนัทธวรรค ยุคนัทธกถา พระอานนท์ได้กล่าวถึงพระภิกษุที่บรรลุอรหันต์ในสำนักของท่าน มีอยู่ ๔ แนวทาง การปฏิบัติวิปัสสนามีรูปแบบที่การปฏิบัติที่หลากหลายวิธี และแนวทางในการปฏิบัตินั้นจะต้องเข้าใจและมีหลักธรรมในการปฏิบัติ การปฏิบัติสมถะและวิปัสสนาจะต้องไปด้วยกัน

โดยสมถะ คือ การเพ่งเพื่อให้จิตสงบ ส่วนวิปัสสนาเป็นการเพ่งเพื่อให้รู้อารมณ์ตามความเป็นจริง ผู้ปฏิบัติอาจจะเจริญสมถะกัมมัฏฐานก่อน แล้วจึงเจริญวิปัสสนาทีหลัง โดยอาศัยอุปจารสมาธิหรืออัปนาสมาธิก็ได้ หรือเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานก่อน แล้วจึงเจริญสมถะทีหลัง

เพราะกัมมัฏฐานทั้งสองอย่างจะเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน และเป็นเหตุเป็นปัจจัยสนับสนุนแก่กันและกัน เพื่อให้บรรลุถึงจุดหมายสูงสุด ซึ่งในเรื่องนี้ในคราวหนึ่งที่โฆสิตาราม ในกรุงโกสัมพี พระอานนท์ได้กล่าวกับภิกษุทั้งหลายว่า ผู้ใดก็ตามที่จะปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ได้ ต้องปฏิบัติตามวิธีใดวิธีหนึ่งในบรรดา ๔ วิธีนี้

@@@@@@@

๓.๓.๑ สมถปุพพังคมวิปัสสนาภาวนา

เป็นการเจริญวิปัสสนาโดยมีสมถะนำหน้าก่อน เมื่อเจริญวิปัสสนาโดยมีสมถะนำหน้า ปัญญาในมรรคย่อมเกิด เมื่อปฏิบัติและเจริญให้มากซึ่งมรรคนั้น ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยกิเลสย่อมหมดสิ้นไป การเจริญวิปัสสนาโดยมีสมถะนำหน้า ซึ่งหลักการปฏิบัติโดยทำจิตให้มีอารมณ์เป็นหนึ่งเดียว ด้วยอำนาจการเพ่งกสิณ ๑๐ ก็ดี อนุสติ ๑๐ อสุภะ ๑๐ หรือวิธีปฏิบัติต่างๆ ไม่ว่าอย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม ในวิธีการปฏิบัติ ๔๐ อย่าง จนจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ตั้งมั่นเป็นสมาธิจิตเกิดความปล่อยวาง หมดความโลภ ไม่พัวพันในกาม มีแต่จิตที่คิดเมตตา ทำใจนึกถึงแสงสว่าง เพื่อจะได้ไม่เกิดความง่วง ละความฟุ้งซ่าน หมดความลังเลสงสัย กำหนดหัวข้อธรรม

เมื่อจิตเกิดสมาธิเป็นอุปจารสมาธิเข้าอัปนาสมาธิ จนบรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน บรรลุกาสานัญจายตนสมาบัติ วิญญาณัญจายตนสมาบัติ อากิญจัญญายตนสมาบัติ เนวสัญญานาสัญญายตน ครั้นแล้วจึงออกจากอรูปฌานก็ดี รูปฌานก็ดี กลับมาพิจารณาเห็นธรรมที่เกิดในสมาธินั้น มีจิตที่เป็นเอกัคคตารมณ์ เป็นต้น พิจารณาให้เห็นความเป็นจริง จนเกิดปัญญามองเห็นแจ้งซึ่งธรรมทั้งหลาย ว่าเป็นของไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อย่างนี้เรียกว่า สมถะมาก่อน วิปัสสนาเกิดทีหลัง คือ เป็นสมถปุพพังควิปัสสนา

ตามวิธีการเจริญอย่างนี้ ผู้ปฏิบัติต้องทำสมถะจนเกิดสมาธิ ไม่ว่าจะเป็นอุปจาระสมาธิหรืออัปนาสมาธิก็ได้ จากนั้นจึงพิจารณาธรรมที่เกิดขึ้นในสมถะหรือสมาธินั้น ไม่ว่าจะเป็นอุปจาระสมาธิหรือฌานสมาบัติขั้นใดก็ตาม รวมทั้งธรรมอื่นๆ ทั้งหลายที่ประกอบร่วมกับสมาธินั้น ให้เห็นเป็นสภาวะที่เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จนอริยมรรคเกิดขึ้น


@@@@@@@

๓.๓.๒ วิปัสสนาปุพพังคมสมถภาวนา

เป็นการเจริญสมถะโดยมีวิปัสสนานำหน้า เมื่อเจริญสมถะมีวิปัสสนานำหน้า มรรคย่อมเกิด ปฏิบัติและเจริญ ทำให้มากซึ่งมรรคนั้น ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมหมดสิ้นไป หลักการเจริญโดยมีวิปัสสนานำหน้า หมายความว่า เบื้องแรกในการปฏิบัติวิปัสสนา ใช้ปัญญาพิจารณาเห็นรูปนาม โดยสภาวะความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เมื่อจิตเห็นดังนั้นแล้ว จิตก็จะเกิดความปล่อยวางธรรมทั้งหลาย อันปรากฏในวิปัสสนานั้นแล้ว จิตจะยึดเอาภาวะความปล่อยวางนั้นเองมาเป็นอารมณ์ เมื่อจิตมีสภาวะอารมณ์เป็นหนึ่งเดียว ปราศจากจิตที่มีความซัดส่ายมีนิวรณ์ธรรม จนเกิดอุปจารสมาธิอัปนาสมาธิ อย่างนี้เรียกว่า วิปัสสนามาก่อน สมถะมาทีหลัง

การเจริญปุพพังคมสมถะ วิธีนี้ผู้ปฏิบัติยังมิได้ทำสมถะให้เกิดขึ้นเลย แต่มาพิจารณาเห็นแจ้งอุปาทานขันธ์ ๕ ตามสามัญลักษณะที่เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อันนับว่าเป็นวิปัสสนา พอวิปัสสนาเต็มเปี่ยมดี จิตก็จะเกิดภาวะมีอารมณ์หนึ่งขึ้น โดยมีความปล่อยวางธรรมทั้งหลายที่เกิดในวิปัสสนานั่นเองเป็นอารมณ์ อันนับว่าเป็นสมถะ เมื่อปฏิบัติโดยวิธีนี้ อริยมรรค ก็เกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน

การเจริญสมถะมีวิปัสสนานำหน้าเป็นการพิจารณาเห็นโดยความไม่เที่ยง เห็นโดยความเป็นทุกข์ และเห็นโดยความเป็นอนัตตา สภาวะที่จิตปล่อยธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นในวิปัสสนานั้นเป็นอารมณ์ และสภาวะที่จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ ไม่ฟุ้งซ่าน เป็นสมาธิจึงเกิดขึ้น วิปัสสนาจึงมีก่อนสมถะมีภายหลัง จึงกล่าวว่า เจริญสมถะมีวิปัสสนานำหน้า



๓.๓.๓ สมถวิปัสสนายุคนัทธภาวนา

การเจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป เมื่อเจริญสมถะและวิปัสสนาคู่กันไป มรรคย่อมเกิดเมื่อปฏิบัติและเจริญทำให้มากซึ่งมรรคนั้น ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมหมดสิ้นไป การเจริญสมถะและวิปัสสนาคู่กันไป คือ การเจริญสมถะและวิปัสสนาคู่กันไปด้วยอาการ ๑๖ อย่าง คือ

     ๑. ด้วยมีสภาวะเป็นอารมณ์
     ๒. ด้วยมีสภาวะเป็นโคจร
     ๓. ด้วยมีสภาวะละ
     ๔. ด้วยมีสภาวะสละ
     ๕. ด้วยมีสภาวะออก
     ๖. ด้วยมีสภาวะหลีกออก
     ๗. ด้วยมีสภาวะเป็นธรรมละเอียด
     ๘. ด้วยมีสภาวะเป็นธรรมประณีต
     ๙. ด้วยมีสภาวะหลุดพ้น
   ๑๐. ด้วยมีสภาวะไม่มีอาสวะ
   ๑๑. ด้วยมีสภาวะเป็นเครื่องข้าม
   ๑๒. ด้วยมีสภาวะไม่มีนิมิต
   ๑๓. ด้วยมีสภาวะไม่มีปณิหิตะ
   ๑๔. ด้วยมีสภาวะเป็นสุญญตะ
   ๑๕. ด้วยมีสภาวะมีรสเป็นอย่างเดียวกัน
   ๑๖. ด้วยมีสภาวะเป็นคู่กันไม่ล่วงเลยกัน

อารมณ์ คือ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของจิต เมื่อผู้ปฏิบัติยังไม่ละอุทธัจจะหรือความฟุ้งซ่าน จิตย่อมยึดเป็นอารมณ์ เมื่อละอุทธัจจะหรือความฟุ้งซ่านได้แล้ว จิตย่อมยึดสมาธิเป็นอารมณ์ เมื่อจิตหมดความฟุ้งซ่านมีสมาธิเป็นอารมณ์ นิโรธหรือความดับย่อมเกิดขึ้น ซึ่งความดับคือ ดับจากนิวรณ์  ด้วยเหตุผลดังนี้ สมถะและวิปัสสนาจึงมีอารมณ์อันเดียวกัน เห็นความเกิดดับจิตที่ยึดเป็นอารมณ์ เมื่อจิตละความฟุ้งซ่าน ย่อมเกิดสมาธิ ซึ่งเป็นของคู่กันโดยความเป็นอารมณ์เห็นความเกิดดับในสภาวธรรมที่เกิดขึ้น ด้วยความเป็นอารมณ์เดียวกัน เพราะเหตุดังนี้ จึงกล่าวว่า เจริญสมถะและวิปัสสนาคู่กันไปด้วยความเป็นอารมณ์

โคจร คือ การเที่ยวไปของจิต เมื่อจิตละความฟุ้งซ่าน ความสงบของจิตย่อมโคจรมา ความที่จิตมีอารมณ์เดียวไม่ฟุ้งซ่าน สมาธิย่อมโคจรเกิดขึ้น เมื่อเกิดความดับจากกิเลส นิโรธย่อมโคจรมา เมื่อพิจารณาด้วยวิปัสสนาญาณ วิชชาได้โคจรเกิดขึ้น ด้วยความเห็นอย่างนี้ ในการพิจารณาเห็นสภาวธรรมขององค์ธรรมที่โคจรมา จึงเกิดวิปัสสนาญาณ สมถะและวิปัสสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกันเป็นคู่กัน ไม่ล่วงเกินกันและกัน ด้วยความเป็นโคจร เพราะเหตุดังนี้ จึงกล่าวว่า เจริญสมถะและวิปัสสนาคู่กันไปด้วยความเป็นโคจร

การเจริญวิปัสสนาด้วยการละ เมื่อผู้ปฏิบัติละนิวรณ์อันประกอบด้วย อุทธัจจะหรือความฟุ้งซ่านได้แล้ว สมาธิย่อมเกิดขึ้น ความที่จิตมีอารมณ์เดียวละความฟุ้งซ่าน ย่อมมีนิโรธเป็นอารมณ์ เมื่อละกิเลสอันประกอบด้วยอวิชชาและธาตุขันธ์ นิโรธหรือความดับได้เกิดขึ้น ในการพิจารณาเห็นสภาวธรรมที่เกิดขึ้นด้วยการละมีการเกิดดับ ย่อมเกิดวิปัสสนาญาณ ด้วยเหตุผลดังกล่าวมานี้ สมถะและวิปัสสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกัน เป็นคู่กัน ไม่ล่วงเกินกันและกัน ด้วยความละ เพราะเหตุดังนี้นั้น จึงกล่าวว่า เจริญสมถะและวิปัสสนาเป็นคู่กันด้วยความละ

เมื่อผู้ปฏิบัติสละกิเลส คือ นิวรณ์ อันประกอบด้วยอุทธัจจะหรือความฟุ้งซ่าน และความยึดมั่นในขันธ์ สมาธิย่อมเกิดขึ้น ความที่จิตมีอารมณ์เดียวไม่ฟุ้งซ่าน นิโรธย่อมเกิดขึ้น เมื่อผู้ปฏิบัติสละกิเลสอันประกอบด้วยอวิชชาและขันธ์ พิจารณาเห็นสภาวะการสละมีการเกิดดับ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ด้วยประการดังนี้ สมถะและวิปัสสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกัน เป็นคู่กัน ไม่ล่วงเกินกันและกันด้วยความสละ เพราะเหตุผลดังนี้นั้น จึงกล่าวว่า เจริญสมถะและวิปัสสนาเป็นคู่กันด้วยความสละ

เมื่อปฏิบัติออกจากกิเลสอันประกอบด้วยความฟุ้งซ่านและธาตุขันธ์สมาธิ คือ ความที่จิตมีอารมณ์เดียวไม่ฟุ้งซ่าน มีนิโรธเป็นโคจร เมื่อออกจากกิเลสอันประกอบด้วยอวิชชาและจากธาตุขันธ์ เจริญวิปัสสนาด้วยว่า พิจารณาเห็นสภาวะการออกจากกิเลสว่า เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ด้วยประการอย่างนี้ สมถะและวิปัสสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกันเป็นคู่กัน ไม่ล่วงเกินกันและกัน ด้วยความออกเพราะเหตุดังนี้ นั้นจึงกล่าวว่า เจริญสมถะและวิปัสสนาเป็นคู่กันด้วยความออก

เมื่อผู้ปฏิบัติหลีกไปจากกิเลส อันประกอบด้วยความฟุ้งซ่านและธาตุขันธ์ สมาธิ คือ ความที่จิตมีอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่าน มีนิโรธเป็นโคจร เมื่อหลีกไปจากกิเลสอันประกอบด้วยอวิชชาและธาตุขันธ์ แล้วเจริญวิปัสสนาด้วยว่าพิจารณาเห็นสภาวะการหลีกจากกิเลสว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาด้วยประการดังนี้ สมถะและวิปัสสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกัน เป็นของคู่กัน ไม่ล่วงเกินกันและกันด้วยความหลีกไป ด้วยเหตุดังนี้นั้น จึงกล่าวว่า เจริญสมถะและวิปัสสนาคู่กันด้วยความหลีกไป

เมื่อผู้ปฏิบัติละอุทธัจจะจนจิตมีอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่านเป็นธรรมละเอียด มีนิโรธเป็นโคจร เมื่อละอวิชชา แล้วพิจารณาเห็นเป็นธรรมละเอียด มีนิโรธเป็นโคจร เห็นสภาวะความละเอียดเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ด้วยประการดังนี้ สมถะและวิปัสสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกัน เป็นคู่กัน ไม่ล่วงเกิน กันและกัน ด้วยความเป็นธรรมละเอียด เพราะเหตุดังนี้นั้น จึงกล่าวว่าการเจริญสมถะ และวิปัสสนาเป็นคู่กันด้วยความเป็นธรรมที่ละเอียด

เมื่อผู้ปฏิบัติละอุทธัจจะ คือ ความที่จิตมีอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่านเป็นธรรมหลุดพ้น มีนิโรธเป็นโคจร เมื่อละอวิชชา เกิดวิปัสสนาด้วยว่า พิจารณาเห็นเป็นความหลุดพ้น มีนิโรธเป็นโคจร ด้วยประการดังนี้ ชื่อว่า เจโตวิมุตติเพราะสำรอกราคะ ชื่อว่าปัญญาวิมุตติ เพราะสำรอกอวิชชา ด้วยประการดังนี้ สมถะและวิปัสสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกันเป็นคู่กัน ไม่ล่วงเกินกันและกันด้วยความหลุดพ้น เพราะเหตุดังนี้ จึงกล่าวว่า เจริญสมถะและวิปัสสนาเป็นคู่กันด้วยความหลุดพ้น

เมื่อปฏิบัติจนละอุทธัจจะ เกิดสมาธิ คือ ความที่จิตมีอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่านเป็นธรรมไม่มีอาสวะด้วยกามาสวะ มีนิโรธเป็นโคจร เมื่อละอวิชชาวิปัสสนาด้วยว่า พิจารณาเห็นเป็นธรรมไม่มีอาสวะด้วยอวิชชาสวะ มีนิโรธเป็นโคจร พิจารณาความไม่มีอาสวะเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ด้วยประการดังนี้ สมถะและวิปัสสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกัน เป็นของคู่กัน ไม่ล่วงเกินกันและกัน ด้วยความไม่มีอาสวะ เพราะเหตุดังนี้นั้น จึงกล่าวว่า เจริญสมถะและวิปัสสนาเป็นของคู่กัน ด้วยความไม่มีอาสวะ

เมื่อผู้ปฏิบัติข้ามจากกิเลสอันประกอบด้วยอุทธัจจะและจากธาตุขันธ์ สมาธิ คือ ความที่จิตมีอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่าน มีนิโรธเป็นโคจร เมื่อข้ามจากกิเลสอันประกอบด้วยอวิชชาและขันธ์  วิปัสสนาเห็นสภาวะการข้ามจากกิเลสเป็นอารมณ์เห็นด้วยความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ด้วยประการดังนี้ สมถะและวิปัสสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกันเป็นคู่กัน ไม่ล่วงเกินกันและกันด้วยความเป็นเครื่องข้าม เพราะเหตุดังนี้นั้น จึงกล่าวว่า เจริญสมถะเเละวิปัสสนาเป็นคู่กันด้วยความเป็นเครื่องข้าม

เมื่อละอุทธัจจะได้แล้ว ก็จะเกิดสมาธิ คือ ความที่จิตมีอารมณ์เดียวไม่ฟุ้งซ่านเป็นธรรมไม่มีนิมิตด้วยนิมิตทั้งปวง มีนิโรธเป็นโคจร เมื่อละอวิชชาวิปัสสนาด้วยว่า พิจารณาเห็นเป็นธรรมไม่มีนิมิตทั้งปวง มีนิโรธเป็นโคจร พิจารณาสภาวธรรมที่ไม่มีนิมิตเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ด้วยประการอย่างนี้ สมถะและวิปัสสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกัน เป็นคู่กัน ไม่ล่วงเกินกันและกัน ด้วยความไม่มีนิมิต เพราะเหตุดังนี้นั้น จึงกล่าวว่า เจริญสมถะและวิปัสสนาเป็นของคู่กันด้วยความไม่มีนิมิต

เมื่อผู้ปฏิบัติละอุทธัจจะเกิดสมาธิ คือ ความที่จิตมีอารมณ์เดียวไม่ฟุ้งซ่านเป็นธรรมไม่มีที่ตั้งด้วยที่ตั้งทั้งปวง มีนิโรธเป็นโคจร เมื่อละอวิชชา วิปัสสนาด้วยว่า พิจารณาเห็นเป็นธรรมไม่มีที่ตั้งทั้งปวง เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ด้วยประการดังนี้ สมถะและวิปัสสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกัน เป็นคู่กันไม่ล่วงเกินกันและกัน ด้วยความไม่มีที่ตั้ง เพราะเหตุดังนี้นั้น จึงกล่าวว่า เจริญสมถะและวิปัสสนาเป็นคู่กันด้วยความไม่มีที่ตั้ง

การละอุทธัจจะเกิดสมาธิ คือ ความที่จิตมีอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่านเป็นธรรมว่างเปล่าจากความยึดมั่นทั้งปวง มีนิโรธเป็นโคจร เมื่อละอวิชชาวิปัสสนาด้วยว่า พิจารณาเห็นเป็นธรรมว่างเปล่าจากความยึดมั่นทั้งปวง เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ด้วยประการดังนี้ สมถะและวิปัสสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกันเป็นคู่กัน ไม่ล่วงเกินกันและกัน ด้วยความว่างเปล่า เพราะเหตุดังนี้นั้น จึงกล่าวว่า เจริญสมถะและวิปัสสนาเป็นคู่กันด้วยความว่างเปล่า

ดังนั้นผู้ปฏิบัติเจริญวิปัสสนาคู่กันไป เรียกว่า เจริญสมถะและวิปัสสนาคู่กันไป สมถะและวิปัสสนาเป็นไปเสมอไม่ล่วงเกินกันและกัน ย่อมทำประโยชน์ให้สำเร็จ ความที่สมถะและวิปัสสนานั้นเป็นธรรมคู่กัน ในขณะแห่งมรรคย่อมมีได้เพราะเป็นธรรมคู่กัน ในขณะแห่งวิปัสสนาคู่กันไปด้วยสภาวธรรมที่เกิดขึ้น โดยการนำสภาวธรรมที่เกิดขึ้นนั้น มาพิจารณาให้เห็นการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปจนปัญญาเห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ปล่อยละวางความยึดมั่นอันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์


@@@@@@@

๓.๓.๔ ธัมมุทธัจจวิคคหิตมานัส

การที่มีใจถูกอุทธัจจะในธรรมกั้นไว้ ในเวลาที่จิตตั้งมั่นสงบอยู่ ภายในมีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ตั้งมั่นอยู่ มรรคก็เกิดแก่เธอ ปฏิบัติเจริญและทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อปฏิบัติและเจริญ ทำให้มากซึ่งมรรคนั้น ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไป

หลักการปฏิบัติธัมมุทธัจจวิคคหิตมานัส ซึ่งเป็นการปฏิบัติวิธีที่ ๔ นี้ คือ การที่ผู้ปฏิบัติน้อมนึกใจโดยเห็นความเป็นสภาพไม่เที่ยงของสภาวธรรม โอภาสย่อมเกิดขึ้น โดยนึกถึงแสงสว่างว่า แสงสว่างเป็นธรรม เพราะนึกถึงแสงสว่างนั้น จึงเกิดความฟุ้งซ่าน ผู้ปฏิบัติมีใจอันฟุ้งซ่านนั้นกั้นไว้ ย่อมไม่ทราบชัดตามความเป็นจริง ซึ่งความปรากฏโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นอนัตตา

ใจที่นึกถึงโอภาสอันเป็นธรรมอุทธัจจะกั้นไว้ จิตที่ตั้งมั่นสงบอยู่ภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้นตั้งมั่นอยู่ องค์มรรคย่อมเกิดแก่ผู้ปฏิบัตินั้น ซึ่งการเกิดขึ้นของมรรคนั้น ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไปอย่างนี้ เมื่อผู้ปฏิบัติพิจารณาโดยเห็นสภาพความไม่เที่ยงแล้ว ปัญญาก็จะเกิดขึ้น เกิดความดีใจ ความสุข ความน้อมใจเชื่อในพระนิพพาน จะเกิดความเพียรจนจิตมีความตั้งมั่น มีความพอใจเกิดขึ้น ผู้ปฏิบัตินึกถึงความพอใจว่าความพอใจเป็นธรรม เพราะนึกถึงความพอใจนั้น จึงมีความฟุ้งซ่านเกิดขึ้น ในการปฏิบัติเมื่อผู้ปฏิบัติถูกใจฟุ้งซ่านนั้นกั้นไว้ ย่อมไม่ทราบชัดตามความเป็นจริง จึงเห็นความปรากฏ โดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นอนัตตา

เมื่อใจนึกถึงความพอใจอันเป็นธรรมถูกอุทธัจจะกั้นไว้  จิตที่ตั้งมั่นสงบอยู่ภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้นตั้งมั่นอยู่ มรรคย่อมเกิดแก่ผู้ปฏิบัตินั้น ผู้ปฎิบัติย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไปอย่างนี้ เมื่อผู้ปฏิบัติน้อมใจเห็นโดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นอนัตตา โอภาส ญาณ ปีติ ปัสสัทธิ สุข อธิโมกข์ ปัคคาหะ อุปัฏฐานะ อุเบกขา นิกันติ ย่อมเกิดขึ้น ผู้ปฏิบัตินึกถึงความพอใจว่า ความพอใจเป็นธรรมเพราะนึกถึงความพอใจนั้น จึงมีความฟุ้งซ่านเป็นอุทธัจจะ ผู้ปฏิบัติมีใจอันอุทธัจจะนั้นกั้นไว้ ย่อมไม่ทราบชัดตามความเป็นจริง ความปรากฏโดยความเป็นอนัตตา โดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์

@@@@@@@

สรุปว่า การเจริญวิปัสสนา มีวิธีการปฏิบัติอยู่หลายวิธีด้วยกัน ที่จะเหมาะสมกับบุคคลจะเลือกวิธีการปฏิบัติวิธีใดวิธีหนึ่งนั้น ก็เป็นการปฏิบัติไปสู่ความพ้นทุกข์ได้เช่นกัน แต่กล่าวโดยสรุปจากวิธีทั้ง ๔ นั้น ย่อให้สั้นเหลือเพียง ๒ คือ วิปัสสนามีสมถะนำหน้า และสมถะมีวิปัสสนานำหน้า การปฏิบัติวิปัสสนาตามแนวหลักธรรมตามที่ปรากฏใน “อนุปทสูตร” โดยพระสารีบุตรได้กำหนดไปตามลำดับบท เป็นวิธีหนึ่งในการปฏิบัติวิปัสสนา โดยใช้สมถะเป็นบาทฐานหรือสมถะนำหน้า

แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีใดวิธีหนึ่งก็ตาม ผู้ปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาก็จำเป็นจะต้องมีอารมณ์ของวิปัสสนาหรือภูมิของวิปัสสนาในการกำหนดพิจารณาให้เกิดปัญญา ซึ่งภูมิของวิปัสสนาจะประกอบไปด้วยอารมณ์ต่าง ๆ แต่เมื่อ สรุปแล้วก็เหลือเพียงรูปกับนามเท่านั้น





ขอขอบคุณ :-
ที่มา : sb.mcu.ac.th/userfiles/file/thesis/วิปัสสนาภาวนา/2558/30.pdf
วิทยานิพนธ์เรื่อง “ศึกษาการปฏิบัติเพื่อบรรลุมรรคผลในมหาราหุโลวาทสูตร” โดย พระชัฏฐวีร์ อนาลโย (อนันตกลิ่น) (บทที่ ๓ การปฏิบัติเพื่อบรรลุมรรคผล หน้า ๖๑-๖๙) , วิทยานิพนธ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา ตามหลักสูตรปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิปัสสนาภาวนา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พุทธศักราช ๒๕๕๘
Photo : pinterest
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 04, 2023, 07:57:34 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ