ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: การปรับสมดุลอินทรีย์ 5 ตามธาตุทั้ง 4 ในทางพระพุทธศาสนา  (อ่าน 708 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28439
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
การปรับสมดุลอินทรีย์ 5 ตามธาตุทั้ง 4 ในทางพระพุทธศาสนา
The Balancing of Controlling Faculty
According to the Four Primary Elements in Buddhism

(1*)พระมหาศุภวัฒน์ บุญทอง, (2*)กฤติยา ถ้ำทอง และ (3*)ชำนาญ เกิดช่อ
(1*)Phramaha Supawat Boonthong, (2*)Krittiya Tumthong and (3*)Chamnarn Kerdchor

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
Mahachulalongrajavidyalaya University, Thailand

E-mail :-
(1*) s.boonthong2529@gmail.com,
(2*) krittiya.tumtong@gmail.com,
(3*) pirabngoen752@hotmail.com

Received April 10, 2022 ; Revised June 5, 2022 ; Accepted June 10, 2022





บทคัดย่อ

บทความเรื่องการปรับสมดุลอินทรีย์ 5 ตามธาตุทั้ง 4 ในทางพระพุทธศาสนามีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ
    1) เพื่อศึกษาอินทรีย์ 5
    2) เพื่อศึกษาลักษณะของธาตุทั้ง 4
    3) เพื่อการปรับสมดุลอินทรีย์ 5
ตามธาตุทั้ง 4 ตามแนวทางพระพุทธศาสนา

การศึกษาวิเคราะห์พบว่า อินทรีย์ 5 คือ การตั้งมั่นด้วยจิตอันอันแน่วแน่ 5 ประการ ได้แก่
1) สัทธินทรีย์ คือ การตั้งมั่นในความเลื่อมใสต่อสิ่งที่ควรเลื่อมใส
2) วิริยินทรีย์ คือ การตั้งมั่นในความเพียรพยายาม
3) สตินทรีย์ คือ การตั้งมั่นในการระลึกได้ หรือ การมีสติ
4) สมาธินทรีย์ การตั้งมั่นในการกระทำจิตให้มีสมาธิ
5) ปัญญินทรีย์ คือ การตั้งมั่นในปัญญา หรือ การรู้แจ้ง

รูปขันธ์ หรือกองร่างกายเกิดจากสิ่งที่มาเป็นปัจจัยกันของธาตุทั้ง 4 อันมีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุ ลม ธาตุไฟ หรือเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่ามหาภูตรูป การปรับสมดุลอินทรีย์ 5 ตาม ธาตุ 4 โดยการกำหนดรู้สภาวธรรม เช่น การกำหนดรู้กองรูปว่า เป็นเพียงกองรูป มีสภาพไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน อันเกิดการเจริญวิปัสสนาภาวนาโดยไม่เข้มงวดเกินไปหรือน้อยเกินไปเพื่อให้ได้ทางสายกลางในการประพฤติปฏิบัติ ย่อมเป็นผู้หลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่น ทำกิจที่ควรทำเสร็จบรรลุถึงพระนิพพาน

คำสำคัญ : การปรับสมดุล; อินทรีย์ 5 ; ธาตุ 4 ; พระพุทธศาสนา

Abstract

The article on balancing the controlling faculty according to the four Primary elements in Buddhism has 3 objectives :-
1) to study the controlling faculty
2) to study the four primary elements
3) to balance the controlling faculty according to the four primary elements in Buddhism.

The analysis revealed that the controlling faculty are the determination of the five steadfast minds,namely :-

1) Saddhindriya is the determination of one's devotion to what should be admired, and
2) Viriyindriya is the determination of perseverance.
3) Satindriya is the determination of being able to remember or being mindful ;
4) Samadhindriya, the determination of one's actions to achieve concentration ;
5) Pannindriya, the firming of wisdom or Enlightenment :

Formation, aggregates, or body masses arise from things that are interconnected elements of the four elements, which are the earth element, the water element, the wind element, and the fire element, also known as the Mahabhutarupa. Balancing the controlling faculty according to the four Primary elements in Buddhism s according to the 4 elements by defining knowledge of the Sabhavadhamma,

for example determining the knowledge of the formation that It's just a pile of pictures It is impermanent, suffering, not self, which leads to Vipassana-bhavana without being too strict or too low in order to achieve a middle path in practice, is liberated because of not holding on to it, do the tasks that should be done, attain Nibbana.

Keywords: Balancing ; Controlling Faculty; The Four Primary Elements ; Buddhism



บทนำ

การปรับสมดุลทางร่างกายและจิตใจมิติของสุขภาพองค์รวมเป็นมิติทางจิตใจหรือสุขภาวะทางจิต จิตที่เป็นสุข รื่นเริง คล่องแคล่วไม่ติดขัด มีความเมตตา สัมผัสได้กับสรรพสิ่ง มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา รวมถึงการลดความเห็นแก่ตัวด้วยมิติทางสังคมหรือสุขภาวะทางสังคม หมายถึง การอยู่ร่วมกันด้วยดี มีครอบครัวที่อบอุ่น ชุมชนที่เข้มแข็ง สังคมที่มีความยุติธรรม มีความเสมอภาค มีภราดรภาพ (World Health Organization, 2002) มีสันติภาพ มีความเป็นประชาสังคมมีระบบบริการที่ดี มีระบบบริการที่เป็นกิจการทางสังคมมิติทางจิตวิญญาณหรือสุขภาวะทางจิตวิญญาณ (Damnoen et al.,2021)

สุขภาพที่เกิดขึ้นเมื่อทำความดี เช่น การเสียสละ การมีความเมตตา กรุณา การเข้าถึงพระรัตนตรัย หรือเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้า เป็นความสุขที่ไม่ระคนอยู่กับความเห็นแก่ตัว เป็นสุขภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อมนุษย์มีความหลุดพ้นจากการมีตัวตน จึงมีอิสรภาพ มีความผ่อนคลายอย่างยิ่ง มีผลดีต่อสุขภาพทั้งกาย จิตและสังคม (วิริยะ สว่างโชติ, 2550) 762 วารสารสหวิทยาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 (เมษายน – มิถุนายน 2565)

ในทางพระพุทธศาสนาการปรับความสมดุลของร่างกายนั้นเรียกว่าการปรับธาตุที่รวมกันเป็นร่างกาย เพราะฉะนั้นเมื่อจะทำให้ร่างกายมีความสมบูรณ์ก็ต้องนำอินทรีย์ 5 มาปรับให้เข้ากับธาตุ เพื่อใช้ในการปฏิบัติธรรมตามหลักของพระพุทธศาสนา เพราะคนที่จะปฏิบัติธรรมนั้นจะต้องมีอยู่ในจิตจะมากหรือน้อยก็อยู่ที่บุญบารมีที่สร้างสมมาตั้งแต่อดีต

ดังมีปรากฏว่า พระพุทธเจ้าเมื่อจะตรัสแสดงธรรมจะต้องทรงพิจารณาอินทรีย์ของผู้ฟังก่อนว่ามีอยู่เป็นพื้นฐานมากน้อยเพียงไรเสียก่อน แล้วจึงทรงแสดงธรรมะให้เหมาะแก่อินทรีย์ของผู้ฟัง เพื่อให้เกิดอินทรีย์ที่แก่กล้ายิ่งขึ้น จนถึงบรรลุถึงมรรคผลนิพพานได้ การที่ทรงพิจารณาถึงอินทรีย์ของผู้ฟัง ก็คือ พื้นคุณความดีของผู้ฟังนั้นเองและบรรดาพื้นเหล่านั้นก็ได้แก่ ธรรมะทั้ง 5 ข้อนี้ คือ มีศรัทธา มีวิริยะ คือ ความเพียร มีสติ มีสมาธิ มีปัญญาที่เป็นพื้นอยู่เพียงแค่ไหน

ถ้าหากว่า มีธรรมะที่เป็นอินทรีย์คือเป็นพื้นฐานนี้อยู่ไม่มาก ก็จะทรงแสดงธรรมะที่พอเหมาะแก่อินทรีย์ของผู้ฟังที่จะรับได้ ที่เรียกว่าผู้มีอินทรีย์แก่กล้าสมควรเสด็จไปโปรด เมื่อผู้ฟังได้ฟังธรรมที่เป็นการกระตุ้นอินทรีย์ 5 มีปัญญาบารมีพร้อมสมบูรณ์ ก็จะสามารถบรรลุธรรมได้ โดยการปล่อยปละ ละวางอินทรีย์ 5 จนหมดสิ้น ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า

    “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดภิกษุรู้ชัดความเกิด ความดับคุณ โทษ และเครื่องสลัดออกจากอินทรีย์ 5 ประการนี้ ตามความเป็นจริง เป็นผู้หลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่น เมื่อนั้น ภิกษุนี้เรากล่าวว่า เป็นอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ” (มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2539)

จะเห็นว่า อินทรีย์นั้นมีความสำคัญในการที่จะทำให้ประสบผลสำเร็จได้ ในแต่ละอย่างที่เราตั้งใจจะทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติธรรม จะต้องใช้อินทรีย์อย่างแรงกล้าถึงจะบรรลุธรรมได้ เพราะพระพุทธองค์ได้ผ่านความยากลำบากแค่ไหนกว่าจะบรรลุเป็นพระสัพพัญญุตญาณได้ ฉะนั้นพระองค์จึงมุ่งเน้นคนที่มีอินทรีย์แก่กล้าก่อน เพราะจะทำให้เข้าใจได้ง่ายๆ ในเวลาสอนนั้นเอง

นอกจากการปฏิบัติธรรมแล้ว อินทรีย์ 5 ยังเป็นหลักธรรมแห่งความสำเร็จด้วย เพราะการที่เราจะตั้งเป้าหมายอะไรไว้สักอย่างในชีวิตและประสบความสำเร็จได้ ต้องอาศัยหลักธรรมเป็นสำคัญยิ่งในการประพฤติปฎิบัติ (Tan & Damnoen, 2020) แต่ก็ต้องปรับให้พอเหมาะพอควรให้สมดุลกัน ไม่หนักไปในข้อใดข้อหนึ่งมากเกินไป อันจะทำให้ธาตุ 4 คือ ร่างกายทรุดโทรมไป ฉะนั้น จึงต้องปรับอินทรีย์ให้พอดีกับธาตุ 4 จึงจะทำให้เกิดความสมดุลในการปฏิบัติธรรมและดำเนินชีวิตในประจำวันต่อไป



อินทรีย์ 5

อินทรีย์ แปลว่า ธรรมที่เป็นใหญ่ในกิจ หมายถึง ธรรมที่เป็นเจ้าการในการครอบงำ หรือกำราบสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์ในการปฏิบัติธรรม คือ ความขาดศรัทธา ความเกียจคร้าน ความเพิกเฉยปล่อยปละละเลย ความฟุ้งซ่าน และการขาดความรู้ ความหลงผิดหรือการไม่ใช้ปัญญา

อินทรีย์เป็นอำนาจที่หนุนนำให้ปฏิบัติธรรมก้าวหน้าไปได้ มี 5 อย่าง คือ ศรัทธา(ความเชื่อ) วิริยะ(ความเพียร) สติ(ความระลึกได้หรือครองใจไว้กับกิจที่ทำ) สมาธิ(ความมีจิตตั้งมั่น และปัญญา(ความรู้ชัดหรือความเข้าใจ ) (พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ. ปยุตฺโต, 2552)

พระพุทธเจ้าทรงตรัสเรื่องอินทรีย์ว่า

   “อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธาเชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลกเป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

    เป็นพระพุทธเจ้าเป็นพระผู้มีพระภาคนี้เรียกว่า สัทธินทรีย์
    อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรมเข้าถึงกุศลธรรม มีความเข้มแข็ง มีความบากบั่น มั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศล-ธรรมอยู่นี้เรียกว่า วิริยินทรีย์
    อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีสติ ประกอบด้วยสติปัญญาเป็นเครื่องรักษาตนอย่างยิ่งระลึกนึกถึงสิ่งที่ทำ คำที่ได้พูดไว้นานบ้างนี้เรียกว่า สตินทรีย์
    อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ทำนิพพานให้เป็นอารมณ์แล้ว ได้สมาธิ ได้เอกัคคตาจิตนี้เรียกว่า สมาธินทรีย์
    อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีปัญญาประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา เห็นทั้งความเกิดและความดับอันเป็นอริยะ ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบนี้เรียกว่า ปัญญินทรีย์ ภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ 5 ประการนี้” (มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2539)

    1) ศรัทธา เป็นใหญ่ในความเชื่อ
        เช่น กมฺมสทฺธา เชื่อในกรรมคือ เชื่อว่าการทำดี พูดดี คิดดี ถือว่าเป็นกุศลธรรม ย่อมทำให้ได้รับความสุข ถ้าทำชั่ว พูดชั่ว คิดชั่ว เป็นอกุศลกรรม ทำให้ผู้ประพฤติได้รับความทุกข์ วิปากสทฺธา เชื่อผลของกรรม คือ เชื่อว่าสัตว์ทั้งหลายที่ได้รับความสุขอยู่ในขณะนี้ ก็เนื่องจากผลกรรมที่ตนได้ทำดีไว้ในอดีต สัตว์ทั้งหลายได้รับความเดือดร้อนอยู่ในขณะนี้ ก็เนื่องจากผลกรรมที่สืบเนื่องจากเหตุคือได้ประพฤติชั่วไว้ในอดีตที่ผ่านมา เป็นต้น สรุปคำว่า ศรัทธานี้หมายความว่า เชื่อว่าทำดีได้ดีจริง ทำชั่วได้ชั่วจริง นี้เรียกว่าศรัทธาคือ เป็นใหญ่ในความเชื่อ

    2) วิริยะ เป็นใหญ่ในความเพียร
        คือ มีความเพียรพยายามอันประกอบไปด้วยมหาปธาน 4 ได้แก่ สังวรปธาน เพียรระวังบาปไม่ให้เกิดขึ้นในขันธสันดาน ปหานปธาน เพียรพยายามละบาปที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป ภาวนาปธาน เพียรพยายามให้บุญกุศลคือ คุณความดีขึ้นมีขึ้นในขันธสันดานของตน อนุรักขนาปธาน เพียรรักษาบุญกุศลคือคุณงามความดีที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อม ผู้ที่ตั้งมั่นอยู่ในความเพียรนี้ ย่อมเป็นผู้ที่ไม่ท้อถอยในการประพฤติปฏิบัติในการทำการทำงาน ถึงจะลำบากเหนื่อยยากสักปานใดก็ตาม พยายามกัดฟันทนสู้ตลอดไป

    3) สติ เป็นใหญ่ในการระลึก
        สตินี้เป็นใหญ่ในการปกครองรักษาจิตไม่ให้เลินเล่อ ไม่ให้เผลอไม่ให้สะเพร่า ไม่ให้หลงลืม ให้รอบครอบ ไม่ให้หลงใหลไปตามอำนาจของโลภะ โทสะ โมหะ หรือราคะตันหา อุปาทาน สตินี้มีหน้าที่ระวังจิต รักษาจิตไม่ให้ขัดเคือง
        ในเมือประสบ "อนิฏฐารมณ์" คือ อารมณ์ที่ไม่น่าใคร่ ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าพอใจ เช่น เห็นรูปที่ไม่ดี ฟังเสียงที่ไม่ดี ได้กลิ่นที่ไม่ดี ได้รสที่ไม่ดี ได้สัมผัสที่ไม่ดี ได้ธรรมารมณ์ที่ไม่ดี ก็ระวังจิตไว้ไม่ให้ขัดเคือง ไม่ให้โกรธในอารมณ์เหล่านั้น รักษาจิต ระวังจิตไม่ให้พอใจ ดีใจ ชอบใจ
        ในเมื่อประสบกับ "อิฏฐารมณ์" คือ อารมณ์ที่น่าปรารถนา น่าชอบใจ เช่น เห็นรูป พังเสียง ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัส ได้ธรรมารมณ์ที่ดี ๆ ก็ระวังรักษาจิตไม่ได้กำหนัดยินดี และสตินี้มีหน้าที่สำหรับกระตุ้นจิตให้ยินดีในการละอกุศลและหมั่นบำเพ็ญกุศล อันนี้เป็นหน้าที่ของสติ

    4) สมาธิ เป็นใหญ่ในการตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว
        คือ ถ้าผู้ใดมีสมาธิแล้ว สมาธินี้จะรักษาจิตไว้ประคองจิตไว้ให้ตั้งอยู่ในอารมณ์เดียว ซึ่งเรียกว่า เอกัคคตารมณ์ เมื่อใดจิตของเรามีอารมณ์เดียวแล้วการประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานของเราก็สามารถที่จะได้ผลเร็ว

    5) ปัญญา เป็นใหญ่ในการรอบรู้กองสังขาร
        เมื่อปฏิบัติถึงความเป็นอินทรีย์ คือ เข้าถึงความเป็นใหญ่ในขณะใดขณะหนึ่ง ก็มีกำลังมาก คือ
        (1) สัทธินทรีย์ (อินทรีย์คือศรัทธา)
        (2) วิริยินทรีย์ (อินทรีย์คือวิริยะ)
        (3) สตินทรีย์ (อินทรีย์คือสติ)
        (4) สมาธินทรีย์ (อินทรีย์คือสมาธิ)
        (5) ปัญญินทรีย์ (อินทรีย์คือปัญญา)

    - สิทธินทรีย์ คือ ศรัทธาที่เข้าถึงความเป็นอินทรีย์ ย่อมเป็นใหญ่ในการเชื่อมั่นเลื่อมใสในคุณพระรัตนตรัย กรรม และผลของกรรม โดยไม่หวั่นไหวหรือเกิดความสงสัยในสิ่งเหล่านั้น
    - วิริยินทรีย์ คือ วิริยะที่เข้าถึงความเป็นอินทรีย์ ย่อมเป็นใหญ่ในความเพียรที่ไม่ย่อท้อไม่ให้เกิดความเกียจคร้านในการปฏิบัติธรรม
    - สตินทรีย์ คือ สติที่เข้าถึงความเป็นอินทรีย์ ย่อมเป็นใหญ่ในการยังจิตให้รู้เท่าทันสภาวธรรมปัจจุบันอย่างชัดเจน
    - สมาธินทรีย์ คือ สมาธิที่เข้าถึงความเป็นอินทรีย์ ย่อมเป็นใหญ่ในการตั้งมั่นในสภาวธรรมปัจจุบัน ไม่ซัดส่ายฟุ้งซ่านไปในอารมณ์อื่นจากอารมณ์ที่กำหนดรู้อยู่
    - ปัญญินทรีย์ คือ ปัญญาที่เข้าถึงความเป็นอินทรีย์ ย่อมเป็นใหญ่ในการหยั่งรู้สภาวธรรมความเป็นจริง ไม่หลงงมงายในสภาวธรรมเหล่านี้ (พระคันธสาราภิวงศ์, 2550)

ดังนั้น ถ้าบุคคลไม่สามารถเข้าถึงอินทรีย์ 5 ได้ การปฏิบัติธรรมย่อมไม่มีความเจริญก้าวหน้าต่อไปได้ ถ้าฝึกฝนอบรมตั้งมั่นในอินทรีย์ 5 ให้มาก ย่อมสามารถทำลายอกุศลกรรมที่เกิดขึ้นได้ นั้นคือ ความก้าวหน้าของการปฏิบัติธรรมจนกระทั่งสามารถกำจัดอวิชชา พิจารณาสิ่งต่างๆ ล้วนเป็นไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง และอนันตา ไม่ยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวางไม่ปรุงแต่งจิต ดำเนินการตามหลักสติปัฏฐาน 4 ย่อมเข้าถึงการบรรลุธรรมชั้นสูงต่อไป

อินทรีย์ 5 สำหรับบุคคลทั่วไป และคนที่กำลังทำงานหาเลี้ยงชีพ ประกอบด้วย
    (1) สัทธินทรีย์ คือ การตั้งมั่นในความเลื่อมใสต่อการงานของตน
    (2) วิริยินทรีย์ คือ การตั้งมั่นในความเพียรพยายามต่อการงานของตน
    (3) สตินทรีย์ คือ การตั้งมั่นในการระลึกได้ หรือมีสติต่อการงานของตน
    (4) สมาธินทรีย์ คือ การตั้งมั่นในการกระทำจิตให้สงบต่อการงานของตน
    (5) ปัญญินทรีย์ คือ การตั้งมั่นในการใช้ปัญญาต่อการงานของตน

จะเห็นได้ว่าอินทรีย์ 5 นั้น สามารถนำไปใช้ได้กับทุกคน ทุกสถานะ ทุกอาชีพ ทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นภิกษุหรือฆราวาส ผู้ใดนำหลักนี้ไปประพฤติปฏิบัติ ย่อมนำมาซึ่งความสำเร็จตามที่ปรารถนาไว้

(ยังมีต่อ)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 05, 2023, 07:43:15 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28439
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

ความสำคัญของอินทรีย์ 5

ความสำคัญของอินทรีย์ 5 พระพุทธเจ้า ทรงตรัสว่า

    “ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งไม่รู้ชัดสัทธินทรีย์ความเกิดแห่งสัทธินทรีย์ ความดับแห่งสัทธินทรีย์ และปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งสัทธินทรีย์ ไม่รู้ชัดวิริยินทรีย์ ฯลฯ ไม่รู้ชัดสตินทรีย์ ฯลฯ ไม่รู้ชัดสมาธินทรีย์ ฯลฯ ไม่รู้ชัดปัญญินทรีย์ ความเกิดแห่งปัญญินทรีย์ ความดับแห่งปัญญินทรีย์และปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งปัญญินทรีย์
     สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น เราไม่จัดว่าเป็นสมณะในหมู่สมณะ หรือไม่จัดว่าเป็นพราหมณ์ในหมู่พราหมณ์ ทั้งท่านเหล่านั้น ก็ไม่ทำให้แจ้งประโยชน์แห่งความเป็นสมณะหรือประโยชน์แห่งความเป็นพราหมณ์ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน

     ภิกษุทั้งหลาย ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งรู้ชัดสัทธินทรีย์ความเกิดแห่งสัทธินทรีย์ ความดับแห่งสัทธินทรีย์ และปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งสัทธินทรีย์ รู้ชัดวิริยินทรีย์ ความเกิดแห่งวิริยินทรีย์ ความดับแห่งวิริยินทรีย์และปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งวิริยินทรีย์ รู้ชัดสตินทรีย์ ฯลฯ รู้ชัดสมาธินทรีย์ ฯลฯ รู้ชัดปัญญินทรีย์ความเกิดแห่งปัญญินทรีย์ ความดับแห่งปัญญินทรีย์ และปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งปัญญินทรีย์
     สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นเราจัดว่าเป็นสมณะในหมู่สมณะ และจัดว่าเป็นพราหมณ์ในหมู่พราหมณ์ทั้งท่านเหล่านั้นก็ทำให้แจ้งประโยชน์แห่งความเป็นสมณะ และประโยชน์แห่งความเป็นพราหมณ์ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน”
(มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2539)

ดังพระดำรัสข้างต้นจะเห็นว่า การปรับอินทรีย์นั้นสำคัญมาก สำคัญไฉน นั่นก็คือ ถ้าเราไม่ปรับอินทรีย์ทั้ง 5 ให้พอดีหรือให้พอเหมาะ ก็จะทำให้ประสบความสำเร็จยากหรือช้ามาก เช่น เรามีศรัทธาอย่างเดียวเลย ได้แต่เชื่อ ๆ ไม่ได้ปฏิบัติเลย ใครพูดอะไรเชื่อไปหมด ก็จะทำให้เกิดผลร้ายต่อตัวเองได้คือทำให้เป็นคนหูเบาเชื่อง่าย โดนหลอกง่าย เป็นเหยื่อของคนอื่นได้ เป็นต้น

และก็ต้องให้รู้ด้วยว่า ในอินทรีย์ทั้ง 5 นั้น ตัวไหนคู่กับตัวไหน เช่น ท่านบอกให้ใช้ศรัทธาคู่กับปัญญา เพราะจะทำให้เราไม่หลงงมงาย ไม่ถูกหลอกได้ง่าย ๆ ไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ แต่กลับไปใช้ศรัทธาคู่กับวิริยะ อันนี้ก็ไม่สมดุลกัน

เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะปฏิบัติธรรมหรือจะเรียนเอาพระกัมมัฏฐาน ก็ต้องปรับอินทรีย์ก่อน หรือจะเรียกง่าย ๆ ว่า “ปรับมายด์เซ็ท” คือ เปลี่ยนความคิดใหม่ จะเรียกอีกอย่างก็ได้คือ “การปรับทัศนคติ” เพื่อพัฒนาตนเองให้ได้รับการยอมรับจากบุคคลต่างๆ ที่ได้สนทนาด้วย หรือได้แลกเปลี่ยนความรู้ในด้านต่างๆ (พระสมชาย บัวแก้ว, พระมหาบุญศรี วงค์แก้ว และ สุเชาวน์ พลอยชุม, 2564) ทั่งนี้การปฏิบัติที่เหมาะสมย่อส่งผลต่อการดำเนินชีวิตได้อย่างทีความสุข

สาเหตุการปรับอินทรีย์ 5

อินทรีย์ 5 ควรมีกำลังเท่ากัน ผู้มีศรัทธามากแต่มีความรู้น้อยย่อมเชื่ออะไรง่าย หลงใหลได้ง่ายผู้มีปัญญามีความรู้มากแต่มีศรัทธาน้อยมักทระนงตัว เชื่อฟังคนอื่นยากหรือมักใช้ปัญญาในทางที่ผิด ผู้มีสมาธิแน่วแน่แต่มีความเพียรน้อยย่อมท้อต่อความลำบาก ความร้อนหนาวได้ง่าย ผู้มีความเพียรมาก อดทนต่อความลำบากได้ดี แต่หากมีสมาธิน้อยมักทำงานผิดพลาดเสมอ

การกระทำความดีโดยเฉพาะที่จะเป็นไปในทั้งทางสมถะและวิปัสสนา ต้องมีอินทรีย์ 5 ที่เจริญดีแล้ว และต้องมีความสมดุลกันอินทรีย์ 4 ประการ (ยกเว้น สตินทรีย์) หากมากไปหรือน้อยไปก็ไม่ดี มีเพียงสติเท่านั้นที่ยิ่งมากยิ่งดี

โดยความสมดุลนั้นต้องจัดเป็นคู่ คือ ศรัทธากับปัญญา ต้องเหมาะสมกัน และปรับวิริยะกับสมาธิให้เหมาะสมกัน
    - หากศรัทธามากเกินไปแต่อ่อนปัญญาก็มีแต่ความเชื่อขาดการรู้เห็นพิจารณา หากปัญญามากไปก็จะเกิดแต่ความสงสัย
    - และหากความเพียรมากกว่าสมาธิก็จะฟุ้งซ่าน หากสงบเป็นสมาธิมากกว่าความเพียรก็จะหลับได้
    - ส่วนสตินั้นเป็นไปยิ่งมากยิ่งดี มีแต่ส่งเสริมให้คุณความดีงอกงาม

ดังนั้นจึงต้องรู้จักปรับอินทรีย์ 5 ให้สม่ำเสมอกัน การเจริญสมาธิและวิปัสสนาจึงจะก้าวหน้าไปได้เร็ว ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสกับโสณะ ความตอนหนึ่งว่า

    “ดูกรโสณะ เหมือนกันนั่นแล ความเพียรที่ปรารภเกินไปนัก ย่อมเป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่าน ความเพียรที่ย่อหย่อนนัก ก็เป็นไปเพื่อเกียจคร้าน เพราะเหตุนั้นแล เธอจงตั้งความเพียรแต่พอเหมาะ จงทราบข้อที่อินทรีย์ทั้งหลายเสมอกัน (อินทรีย์ 5 = ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เสมอกัน คือมีความสมดุลกัน ทำงานเกื้อหนุนกันอย่างพอเหมาะ) และจงถือนิมิตในความสม่ำเสมอนั้น”
     (มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2539)



ธาตุ 4

ธาตุ 4 หรือที่เรียกว่า ภูตรูป 4 ได้แก่

    1) ปฐวีธาตุ สภาวะที่แผ่ไปหรือกินเนื้อที่, สภาพอันเป็นหลักที่ตั้งที่อาศัยแห่งสหชาตรูปเรียกสามัญว่า ธาตุเข้มแข็ง หรือธาตุดิน ได้แก่ ธาตุที่มีลักษณะแข้นแข็ง ภายในตัวก็มี ภายนอกตัวก็มี กล่าวเฉพาะที่เป็นภายใน สำหรับกำหนด พอให้สำเร็จประโยชน์เป็นอารมณ์ของกรรมฐาน ได้แก่ ผม ขน เล็บฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่อาหารเก่า หรือสิ่งอื่นใดก็ตามในตัว ที่มีลักษณะแข้นแข็งเป็นต้น อย่างเดียวกันนี้

     2) อาโปธาตุ สภาวะที่เอิบอาบหรือดูดซึม หรือซ่านไป ขยายขนาด ผนึก พูนเข้าด้วยกัน เรียกสามัญว่าธาตุน้ำ ได้แก่ ธาตุที่มีลักษณะเอิบอาบ ภายในตัวก็มี ภายนอกตัวก็มี กล่าวเฉพาะที่เป็นภายในสำหรับกำหนด พอให้สำเร็จประโยชน์เป็นอารมณ์ของกรรมฐาน ได้แก่ ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร หรือสิ่งอื่นใดก็ตามในตัว ที่มีลักษณะเอิบอาบเป็นต้นอย่างเดียวกัน

     3) เตโชธาตุ สภาวะที่ทำให้ร้อน เรียกสามัญว่า ธาตุไฟ ได้แก่ ธาตุที่มีลักษณะร้อน ภายในตัวก็มีภายนอกตัวก็มี กล่าวเฉพาะที่เป็นภายใน สำหรับกำหนด พอให้สำเร็จประโยชน์เป็นอารมณ์ของกรรมฐาน ได้แก่ ไฟที่ยังกายให้อบอุ่น ไฟที่ยังกายให้ทรุดโทรม ไฟที่ยังกายให้กระวนกระวาย ไฟที่ยังอาหารให้ย่อย หรือสิ่งอื่นใดก็ตามในตัว ที่มีลักษณะร้อนเป็นต้น อย่างเดียวกันนี้

     4) วาโยธาตุ สภาวะที่ทำให้สั่นไหว เคลื่อนที่ และค้ำจุนเรียกสามัญว่า ธาตุลม ได้แก่ ธาตุที่มีลักษณะพัดผันเคร่งตึง ภายในตัวก็มี ภายนอกตัวก็มี กล่าวเฉพาะที่เป็นภายในสำหรับกำหนด พอให้สำเร็จประโยชน์เป็นอารมณ์ของกรรมฐาน ได้แก่ ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในไส้ ลมซ่านไปตามตัว ลมหายใจ หรือสิ่งอื่นใดก็ตามในตัว ที่มีลักษณะพัดผันไปเป็นต้น อย่างเดียวกันนี้ (พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ. ปยุตฺโต, 2556)

@@@@@@@

พระพุทธเจ้าทรงตรัสเกี่ยวกับ ธาตุ 4 ว่า ภิกษุทั้งหลาย ธาตุมี 4 ประการนี้ ธาตุ 4 ประการ อะไรบ้าง คือ
    1) ปฐวีธาตุ
    2) อาโปธาตุ
    3) เตโชธาตุ
    4) วาโยธาตุ (มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2539)

ธาตุทั้ง 4 ที่ประกอบกันเป็นรูปกายหรือตัวตนนั้น ถ้าพิจารณากันอย่างวิทยาศาสตร์ ก็คือ สารประกอบอย่างหนึ่งของธาตุทั้ง 4 นั่นเอง ตัวธาตุอันเป็นเหตุของรูปที่มาเป็นปัจจัยกัน ก็ยังล้วนมีความไม่เที่ยง มีความแปรปรวน ทุกขังทนอยู่ด้วยยากหรือคงทนอยู่ไม่ได้นั่นเอง และเป็นอนัตตาในที่สุด กล่าวคือ

    - แม้ธาตุดินหนึ่งๆ เข้าไปในกายแล้วก็ล้วนแปรปรวนไปเป็นธาตุดินอื่นๆ คงทนอยู่ไม่ได้ขับถ่าย และหลุดล่วงเสื่อมดับไป ไม่คงสภาพของธาตุดินต้นกำเนิดแต่อย่างใด
    - ส่วนน้ำนั้นเมื่อเข้าไปสู่กายก็ยังเป็นน้ำดี ๆ อยู่ แต่ก็ต้องแปรปรวนไม่เที่ยงไปเป็นน้ำต่าง ๆ ในร่างกาย เป็นของเสียยูเรียบ้าง น้ำมูก น้ำเลือด น้ำหนอง ต่าง ๆ นานาไม่คงรูปของธาตุน้ำเดิม ๆ อีกต่อไป และคงทนอยู่ไม่ได้ถูกขับออกมาตลอดเวลา เป็นอนัตตาในที่สุด
    - ส่วนธาตุลมเมื่อเข้าไป ก็แปรปรวนจาก O2 เป็น CO2 เสีย ด้วยความไม่เที่ยงและคงทนอยู่ยาก ต้องหายใจออกมา แสดงอนัตตาในลักษณะการเดียวกัน
    - ส่วนธาตุไฟก็ไม่คงที่คงทน เมื่อธาตุใดแปรปรวนก็ร้อนเกินปกติบ้าง ร้อนน้อยกว่าปกติบ้าง ต้องวิ่งหาหมอกันให้วุ่นว่าย แล้วก็ดับๆ เกิดๆ ทดแทนกันอยู่ตลอดเวลาจนในที่สุดก็ดับไปอย่างถาวรก็เป็นอนัตตา

พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า

    “ภิกษุทั้งหลาย ตราบใดเรายังไม่รู้คุณโดยความเป็นคุณ โทษโดยความเป็นโทษและเครื่องสลัดออกโดยความเป็นเครื่องสลัดออกจากธาตุ 4 ประการนี้ ตามความเป็นจริง ตราบนั้นเราก็ปฏิญาณไม่ได้ว่าเป็นผู้ได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์
     เมื่อใดเรารู้คุณโดยความเป็นคุณ โทษโดยความเป็นโทษ และเครื่องสลัดออกโดยความเป็นเครื่องสลัดออกจากธาตุ 4 ประการนี้ ตามความเป็นจริง เมื่อนั้นเราจึงปฏิญาณได้ว่า เป็นผู้ได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ อนึ่ง ญาณและทัสสนะ เกิดขึ้นแล้วแก่เราว่า วิมุตติของเราไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีก”

     (มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2539)

เมื่อเข้าใจได้ดังนี้แล้ว อาศัยสมถกรรมฐานให้ใจสงบ แล้วเจริญวิปัสสนาให้เห็นได้ด้วยปัญญาตนว่าตัวตนหรือรูปขันธ์หรือสังขารร่างกายทั้งปวงนั้น ความจริงแล้วในแต่ละอณูเซล(Cell) ล้วนประกอบด้วยธาตุ 4 ทั้งสิ้น แล้วจึงมาประชุมเป็นมวลรวม เป็นกลุ่ม เป็นก้อนของอวัยวะน้อยใหญ่ จนเป็นตัวตนเป็นกลุ่มก้อนที่แลดูเป็นหนึ่ง เป็นรูปเดียวในขณะระยะหนึ่ง และยังเกิดช่องว่างต่างๆ ของอวัยวะน้อยใหญ่ (อากาสธาตุ) และเชื่อมโยงกันโดยวิญญาณธาตุ อันคือระบบประสาทต่างๆนั่นเอง จึงเป็นเพียงแลดูประหนึ่งว่าเป็นชิ้นเป็นมวลเป็นตัวตนหรือบุคคลเดียว

แต่แท้ที่จริงกลับประกอบขึ้นแต่เหตุต่าง ๆ มาเป็นปัจจัยกัน มิใช่สิ่ง ๆเดียวกันอย่างแท้จริง จึงย่อมไม่สามารถรวมกันได้อย่างจริงแท้แน่นอน อันในที่สุดจึงย่อมต้องแปรปรวน(อนิจจัง) จึงคงทนอยู่ไม่ได้ (ทุกขัง) ย่อยยับแตกดับ กลับคืนสู่สภาพเดิมๆ คือสูญล้วนสิ้น เป็นที่สุดกล่าวคือ สภาวะของสมมติสัจจะต้องดับไป แล้วแสดงสภาวะของพระอนัตตา ที่ไม่มีตัวตนอย่างเป็นแก่นแกนถาวรแท้จริงหรือสูญอันเป็นปรมัตถสัจจะ



ความสำคัญของธาตุ 4

สิ่งทั้งหลายล้วนประกอบเข้าด้วยธาตุ 4 ทั้งสิ่งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิต ธาตุเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นพื้นฐานที่ก่อให้เกิดขึ้นในโลกใบนี้และธาตุเป็นองค์ประกอบของมนุษย์ สัตว์ และพืช ธาตุมีความสำคัญต่อการเป็นสิ่งหนึ่งหรือสิ่งแรกเริ่ม ในการทำให้เกิดหรือมีขึ้นของสิ่งมีชีวิต หากปราศจากธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ สิ่งมีชีวิตทั้งหลายจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้

ธาตุ 4 มีความสำคัญหลายประการ ได้แก่ เป็นที่อาศัยเกิดของรูปอื่นๆ ด้วยอำนาจของอาโปธาตุนั้นทำให้ปถวีธาตุมีอำนาจน้อยลง จึงเป็นเหตุให้วัตถุมีสภาพอ่อนเหลวและไหลไปได้ วาโยธาตุ ที่พัดอยู่ทั่วร่างกายทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวและสื่อสารกับโลกภายนอกได้ ในด้านกรรมฐาน ธาตุทั้ง 4 ใช้เป็นนิมิต หรืออารมณ์ของผู้ปฏิบัติในการเจริญสมถกรรมฐาน

ในการเจริญวิปัสสนาภาวนานั้นใช้ธาตุ 4 เป็นการกำหนดรู้สภาวธรรม คือ กรรมฐานที่กำหนดธาตุ 4 โดยพิจารณาว่ารูปร่างของกายนี้ประกอบขึ้นจากองค์รวมแห่งธาตุ 4 อันว่างเปล่าจากความเป็นตัวตน ให้เห็นเป็นสักแต่ว่าธาตุ 4 ไม่ใช่ของเรา เราไม่ได้เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา เมื่อรู้เห็นเป็นจริงอย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายธาตุนั้น ทำจิตใจให้คลายกำหนัดในธาตุเหล่านั้น

นอกจากนี้แล้ว ธาตุเป็นหลักวิปัสสนาภาวนาที่มีเฉพาะรูปนามเท่านั้น เป็นอารมณ์ ผู้ต้องการดับทุกข์ต่าง ๆ ให้หมดสิ้นไปจำต้องเรียนรู้เรื่องธาตุ 4 อันเป็นภูมิของวิปัสสนาให้เข้าใจ กระทั่งทราบชัดและเข้าถึงความจริงที่ว่า สรรพสิ่งทั้งหลายในโลกล้วนเป็น อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา

การกำหนดรู้กองรูปว่า เป็นเพียงกองรูป ไม่ใช่สัตว์ บุคคล เรา ของเรา บุรุษ หรือสตรี และมีสภาพไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน ไม่สวยงาม พิจารณาธาตุ 4 ให้เกิดความเห็นแจ้งเข้าใจชัด รู้จักมองสิ่งทั้งหลายตามสภาวะที่เป็นจริง โดยพิจารณาว่ารูปร่างของกายนี้ ประกอบขึ้นจากองค์รวมแห่งธาตุอันว่างเปล่าจากความเป็นตัวตน โดยมีใจเป็นประธาน เป็นผู้ควบคุมให้ธาตุ 4 ทำอากัปกิริยานั้น ๆ ทั้งอิริยาบถใหญ่ คือ การเดิน ยืนนั่ง นอน และอิริยาบถย่อย คือ การเหยียด คู้ ยกขึ้น วางลง ฯลฯ

     กายและใจทั้งสองนี้ หลอกลวงเรามาตลอดว่า เป็นตัวเป็นตนของใครคนหนึ่งอยู่จริง ๆ มีเขา มีเรา มีใครปรากฏอยู่อย่างยากที่จะปฏิเสธ เมื่อไม่กำหนดพิจารณา
     ต่อเมื่อพิจารณาโดยแยบคาย จนกระทั่งเกิดปัญญาหยั่งเห็นตามความเป็นจริงแล้ว ก็จะเห็นว่ากายมนุษย์อันอาศัยธาตุ 4 นี้ ไม่แปลกไปกว่าดิน น้ำ ไฟ ลม แต่อย่างใด

     ธาตุกัมมัฏฐาน คือ กรรมฐานที่พิจารณาธาตุเป็นอารมณ์ กล่าวคือ กำหนดพิจารณาร่างกายแยกเป็นส่วน ๆ ให้เห็นว่า เป็นแต่เพียงธาตุ 4 คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ประชุมกันอยู่ จึงขึ้นหรืออิงอยู่กับเหตุคือ ดิน น้ำ ลม ไฟ จึงไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา นามธรรมที่รู้จักกันด้วยชื่อ กำหนดรู้ด้วยใจ เป็นเรื่องของจิตใจ สิ่งที่ไม่มีรูปร่าง ไม่ใช่รูป แต่น้อมมาเป็นอารมณ์ของจิตได้

@@@@@@@

การปฏิบัติกรรมฐานต้องมีความเข้าใจรูปธรรม นามธรรม จะรู้ได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่สิ่งที่กำหนดรู้ คือ ใจ เป็นตัวกำหนดจำแนกได้ว่าสิ่งใดเป็นรูป สิ่งใดเป็นนาม การปฏิบัติจึงจะมีความก้าวหน้า ตามแนวทางหรือวิถีปฏิบัติที่เหมาะสม(Chanthathong, 2021) ดังนี้

     1) การพิจารณาธาตุดิน คือ กระดูกที่มีอยู่ในร่างของมนุษย์เรา และเป็นส่วนสำคัญ ค้ำให้คนเดินได้ตั้งตัวตรงได้ ก็เกิดจากธาตุดิน หากธาตุดิน หรือกระดูกอ่อนแอ ก็จะเกิดเวทนา คือ การปวดหลัง ปวดเอว เป็นต้น
     2) การพิจารณาอาโปธาตุ ที่เป็นธาตุน้ำ ความเอิบอาบ ธรรมชาติที่เอิบอาบความเหนียว ธรรมชาติเป็นเครื่องเกาะกุมรูป เป็นภายในตน มีเฉพาะตนที่กรรมอันประกอบด้วยตัณหาและทิฏฐิ ยึดถือ ซึ่งเป็นภายในตน เช่น ดีเสลด หนอง เลือดเหงื่อ มันข้นน้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร หรือความเอิบอาบ ธรรมชาติที่เอิบอาบความเหนียว
     3) การพิจารณาธาตุไฟ คือ ภาวะที่ทำให้ร้อน เรียกสามัญว่า ธาตุไฟ ธาตุที่มีลักษณะร้อน ความร้อนในร่างกาย ได้แก่ ไฟที่ยังกายให้อบอุ่น ไฟที่ยังกายให้ทรุดโทรม ไฟที่ยังกายให้กระวนกระวายและไฟที่เผาอาหารให้ย่อย
     4) ธาตุลม สภาวะที่ทำให้สั่นไหวเคลื่อนที่และค้ำจุน เรียกสามัญว่า ธาตุลมธาตุลม คือธาตุที่มีลักษณะพัดไปมา ภาวะสั่นไหว เคร่งตึง ค้ำจุน, ในร่างกายนี้ส่วนที่ใช้ (พระเทพปัญญาเมธี ทองอยู่ ญาณวิสุทฺโธ, 2558)

การกำหนดธาตุ 4 ในกรรมฐานนี้เป็นคู่ปรับแก้วิจิกิจฉา วิจิกิจฉามีปกติให้ลังเลไม่แน่ลงได้ ส่วนกรรมฐานนี้มีปกติให้กำหนดรู้โดยสภาวะ คนผู้ไม่กำหนดรู้โดยสภาวะ ไม่รู้จักสิ่งนั้น ๆ ตามความเป็นจริงจึงมีความสงสัย เมื่อเข้าใจตามเป็นจริงแล้ว ก็สิ้นสงสัยไปได้อย่างหนึ่งที่แสดงกรรมฐานไว้ ก็เพื่อจะให้เข้าใจความเป็นจริงของร่างกาย เป็นอุบายกำหนดรู้สภาวธรรมอย่างหนึ่ง เป็นเหตุให้ออกไปกำหนดสภาวธรรมอย่างอื่นอีก ผู้ปฏิบัติที่เจริญสติระลึกรู้เท่าทันธาตุทั้ง 4 ตามนัยที่กล่าวมานี้ ย่อมรู้ชัดว่ามีเพียงสภาวะแข็งอ่อน ไหล เกาะกุม เย็น ร้อน หรือหย่อน ตึง ไม่มีบุคคล อัตตาตัวตนเราเขา ไม่มี บุรุษ สตรีใด ๆ ทั้งสิ้น

ดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงว่า
    “ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนี้ ตามอาการที่ตั้งอยู่และดำรงอยู่ด้วยอิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่ง ให้เห็นเป็นเพียงธาตุว่าปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุมีอยู่ในกายนี้”
     (พระโสภณมหาเถระ มหาสีสยาดอ, 2553)

เมื่อเจริญวิปัสสนาภาวนาพิจารณารูปนามธาตุ 4 ตามความเป็นจริง รู้ชัด ความเกิด ความดับ คุณ โทษ และเครื่องสลัดออกจากอุปาทานขันธ์ 5 ตามความเป็นจริง ย่อมบรรลุธรรมชั้นสูงถึงพระนิพพาน ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า

     "ภิกษุทั้งหลาย อุปาทานขันธ์ 5 ประการนี้ ประกอบด้วยอะไรบ้าง คือ
      1) รูปูปาทานขันธ์
      2) เวทนูปาทานักขันธ์
      3) สัญญูปาทานักขันธ์
      4) สังขารูปาทานักขันธ์
      5) วิญญาณูปาทานักขันธ์
      ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดภิกษุรู้ชัดความเกิด ความดับ คุณ โทษ และเครื่องสลัดออกจากอุปาทานขันธ์ 5 ประการนี้ตามความเป็นจริง เป็นผู้หลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่น เมื่อนั้น ภิกษุนี้เราเรียกว่า ภิกษุผู้เป็นอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ"
(มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,2539)

(ยังมีต่อ)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 09, 2023, 06:40:21 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28439
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


การปรับสมดุลอินทรีย์ 5 ตามธาตุทั้ง 4 ตามแนวทางพระพุทธศาสนา



การปรับอินทรีย์ 5 ตามธาตุ 4

เมื่อทราบความหมายความสำคัญของอินทรีย์ 5 และธาตุ 4 แล้ว ในกระบวนการปรับอินทรีย์ตามธาตุนั้น มีดังต่อไปนี้ คือ

1) การปรับศรัทธากับธาตุ 4
ในทางพระพุทธศาสนาสอนว่า คนเราประกอบด้วยธาตุ 4 หรือมาจากธาตุ 4 รวมตัวกัน นั่นก็คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และก็ธาตุไฟ นี่เป็นคำสอนทางพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น การปรับศรัทธา ก็คือให้เชื่อว่า คนเรา หรือรูป ประกอบด้วยธาตุ 4 นั้นจริง ๆ ซึ่งจะทำให้เราพิจารณาแยกเป็นอย่าง ๆ ได้

2) การปรับวิริยะ สติ สมาธิ และปัญญากับธาตุ 4
เมื่อปรับศรัทธาให้ถูกต้องแล้ว วิริยะก็เกิดขึ้น เมื่อวิริยะเกิดขึ้น สติก็เกิดขึ้น เมื่อสติเกิดขึ้นสมาธิก็เกิดขึ้น เมื่อสมาธิเกิดขึ้น ปัญญาก็เกิดขึ้น เมื่อปัญญาเกิดขึ้น ก็จะทำให้รู้แจ้งเห็นจริง ๆ ในสิ่งที่กำลังทำนั้น ให้ประสบความสำเร็จได้ดังปรารถนา


หลักปฏิบัติในอินทรีย์ 5

    1) สัทธินทรีย์ ในอินทรีย์ 5 ด้วยการนำจิตของตนให้ตั้งมั่นในศรัทธาหรือความเลื่อมใสในสิ่งที่ควรเชื่อ ควรกระทำ เช่น เชื่อว่าตนสามารถสอบเข้ามหาลัยได้หากตนขยันอ่านตำรามากขึ้น
    2) วิริยินทรีย์ ในอินทรีย์ 5 ด้วยการนำจิตของตนให้ตั้งมั่นในความเพียร ความมานะอุตสาหะต่อสิ่งที่ตนกระทำเพื่อยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ตนมากที่สุด เช่น มีความขยันเพียรพยามยามที่จะอ่านตำราสอบ
    3) สตินทรีย์ ในอินทรีย์ 5 ด้วยการนำจิตของตนให้ตั้งมั่นในความระลึกได้ขณะกระทำสิ่งใด อันปราศจากความเลื่อนลอยหรือความลืมตัวอันจะช่วยนำพาตนไปสู่ความเจริญ เช่น มีสติหรือความระลึกได้ขณะทำข้อสอบจำคำตอบที่ได้จากการอ่านตำราสอบ
    4) สมาธินทรีย์ ในอินทรีย์ 5 ด้วยการนำจิตของตนให้ตั้งมั่นอยู่ในความสงบ มีสมาธิ จิตเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับสิ่งที่ตนดำเนินอยู่ เช่น มีสมาธิในการทำข้อสอบ
    5) ปัญญินทรีย์ ในอินทรีย์ 5 ด้วยการนำจิตของตนให้ตั้งมั่นอยู่กับปัญญา คือ รู้จักใช้ความรู้ในการคิด วิเคราะห์ต่อสิ่งที่ตนจะกระทำหรือขณะกระทำเพื่อให้รู้แจ้งต่อสิ่งนั้น เช่น รู้จักคิดวิเคราะห์หาคำตอบจากข้อสอบตามที่ได้อ่านตำรามาล่วงหน้า

การปรับสมดุลของอินทรีย์ 5 ตามธาตุ 4 (ภูตรูป 4) โดยไม่เข้มงวดเกินไปหรือน้อยเกินไปเพื่อให้ได้ทางสายกลางในการประพฤติปฏิบัติ ร่างกายไม่อ่อนล้าเกิดไป อาจทำให้ไม่สบายได้ หรือหย่อนยานเกิดไปทำให้เกิดเกียจคร้านได้ (พระมานะ พุฒจันทร์ และ วิโรจน์ คุ้มครอง, 2565)

เมื่อตั้งมั่นในอินทรีย์ 5 ตามธาตุ 4 ย่อมเกิดอานิสงส์มาก ดังตัวอย่างข้างต้น เมื่อนักศึกษาที่ต้องการสอบเข้าเรียนต่อระดับสูงด้วยหลักอินทรีย์ 5 มีความศรัทธาเชื่อมั่นในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ตามด้วยวิริยะขยันหมั่นเพียรอ่านตำราให้มาก ด้วยสติจดจ่อ มีสมาธิแน่วแน่ ปัญญาก็เกิด ทำข้อสอบก็ได้ นี่เป็นแนวทางที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว

@@@@@@@

ปรับสมดุลอินทรีย์ 5 ตามธาตุทั้ง 4 เพื่อการบรรลุธรรมชั้นสูง

ในความแตกต่างของอินทรีย์ 5 พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า

   “ภิกษุทั้งหลาย บุคคล
    1) เป็นพระอรหันต์เพราะมีอินทรีย์ 5 ประการนี้ครบถ้วนบริบูรณ์
    2) เป็นพระอนาคามีเพราะมีอินทรีย์อ่อนกว่าพระอรหันต์นั้น
    3) เป็นพระสกทาคามีเพราะมีอินทรีย์อ่อนกว่าพระอนาคามีนั้น
    4) เป็นพระโสดาบันเพราะมีอินทรีย์อ่อนกว่าพระสกทาคามีนั้น
    5) เป็นพระโสดาบันผู้ธัมมานุสารีเพราะมีอินทรีย์อ่อนกว่าพระโสดาบันนั้น
    6) เป็นพระโสดาบันผู้สัทธานุสารีเพราะมีอินทรีย์อ่อนกว่าพระโสดาบันผู้ธัมมานุสารีนั้น
    ภิกษุทั้งหลาย ความแตกต่างแห่งผลย่อมมี เพราะความแตกต่างแห่งอินทรีย์ ความแตกต่างแห่งบุคคลย่อมมีเพราะความแตกต่างแห่งผล อย่างนี้”
(มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2539)

ความเข้มข้นในการปฏิบัติกรรมฐานอย่างจริงจังมีการปรับอินทรีย์ 5 ตามธาตุ 4 กำหนดพิจารณาร่างกายแยกเป็นส่วน ๆ ให้เห็นว่าเป็นแต่เพียงธาตุ 4 คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ประชุมกันอยู่ จึงขึ้นหรืออิงอยู่กับเหตุคือ ดิน น้ำ ลม ไฟ จึงไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา นามธรรมที่รู้จักกันด้วยชื่อ กำหนดรู้ด้วยใจเป็นเรื่องของจิตใจ สิ่งที่ไม่มีรูปร่าง ไม่ใช่รูปแต่น้อมมาเป็นอารมณ์ของจิตได้

การปฏิบัติกรรมฐานต้องมีความเข้าใจรูปธรรม นามธรรม จะรู้ได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่สิ่งที่กำหนดรู้ คือ ใจ เป็นตัวกำหนดจำแนกได้ว่า สิ่งใดเป็นรูป สิ่งใดเป็นนามผู้ปฏิบัติต้องมีสติ สัมปชัญญะอยู่ในกายเสมอ ดังเช่นที่พระพุทธเจ้าตรัสกับปิงคิยะตอนหนึ่งว่า

   "ปิงคิยะ พระวักกลิ พระภัทราวุธะ และพระอาฬวีโคดม เป็นผู้มีศรัทธาน้อมลงแล้ว (ได้บรรลุอรหัตด้วยศรัทธาธุระ) ฉันใด แม้ท่านก็จงปล่อยศรัทธาลง ฉันนั้น
    ปิงคิยะ เมื่อท่านน้อมลงด้วยศรัทธาปรารภวิปัสสนา โดยนัยเป็นต้นว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ก็จักถึงนิพพาน อันเป็นฝั่งโน้นแห่ง วัฏฏะอันเป็นบ่วงแห่งมัจจุราชฯ
    พระปิงคิยะ เมื่อจะประกาศความเลื่อมใสของตน จึงกราบทูลว่า ข้าพระองค์นี้ย่อมเลื่อมใสอย่างยิ่ง เพราะได้ฟังพระวาจาของพระองค์ผู้เป็นมุนี พระองค์มีกิเลสดุจหลังคาอันเปิดแล้ว ตรัสรู้แล้วด้วยพระองค์เอง ไม่มีกิเลสดุจเสาเขื่อน ทรงมีปฏิภาณ ทรงทราบธรรมเป็นเหตุกล่าวว่าประเสริฐยิ่ง ทรงทราบธรรมชาติทั้งปวง ทั้งเลวและประณีต
    พระองค์เป็นศาสดาผู้กระทำที่สุดแห่งปัญหาทั้งหลาย แก่เหล่าชนผู้มีความสงสัยปฏิญาณอยู่ นิพพานอันกิเลสมีราคะเป็นต้นไม่พึงนำไปได้ เป็นธรรมไม่กำเริบ หาอุปมาในที่ไหน ๆ มิได้
    ข้าพระองค์จักถึงอนุปาทิเสสนิพพานธาตุแน่แท้ ข้าพระองค์ไม่มีความสงสัยในนิพพานนี้เลย ขอพระองค์จงทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นผู้มีจิตน้อมไปแล้ว (ในนิพพาน)"
(มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2539)




การปรับอินทรีย์ 5 ตามธาตุ 4 ในการเจริญวิปัสสนาภาวนา

กำหนดรู้รูปนามให้ทันปัจจุบันขณะที่กำลังเกิดขึ้น เพราะโผฏฐัพพารมณ์มักเป็นช่องทางให้ตัณหา และอวิชชาแทรกเข้ามาครอบงำจิต ซึ่งนำไปสู่การหลงผิดคิดว่า สรรพสิ่งเป็นสภาวะคงทนถาวรเป็นสุข และมีตัวตน เราสามารถรับรู้การกระทบสัมผัสได้ทุกที่ การกระทบกับโผฏฐัพพารมณ์ย่อมเป็นเหตุให้เกิดกายวิญญาณ

ดังนั้น ในขณะเห็นผู้ปฏิบัติธรรมไม่ได้คิดว่าอารมณ์ที่เห็นเป็นอะไร เพียงแต่เห็นสภาวะปรมัตถ์เท่านั้น จึงควรกำหนดรู้อารมณ์ที่เห็นทันที เพราะเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่จะต้องใส่ใจกับอารมณ์ที่ปรากฏต่อหน้า ให้ทันปัจจุบันขณะ หากสามารถตั้งสติกำหนดรู้ในทุกขณะ และหยั่งเห็นว่าธาตุทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตน ความผูกพันก็จะไม่เกิดขึ้น และจะสามารถดำเนินไปในวิปัสสนามรรคที่ถูกต้อง อันจะนำไปสู่การรู้แจ้งมรรคผลนิพพานต่อไป

การปรับอินทรีย์ 5 แล้วมาพิจารณาธาตุ 4 ด้วยเช่นกัน คือ การพิจารณากำหนดรู้ธาตุ 4 เป็นอารมณ์ในขณะปฏิบัติกรรมฐาน ในอิริยาบถทั้ง 4 คือ ยืน เดิน นั่ง นอน เมื่อผู้ปฏิบัติธรรมกระทบกับรูป 42 ประการ ที่มีอยู่ในร่างกายซึ่งเรียกว่า โกฏฐาสะ 42 หรืออาการ 42 คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น ควรพิจารณากำหนดว่า “ถูกหนอ” นี้จัดเป็นการรู้สภาวธรรม (พระโสภณมหาเถระ มหาสีสยาดอ, 2554) โดยมีวิธีกำหนดดังต่อไปนี้

     1. การรู้สภาวะแข็งหรืออ่อน เป็นลักษณะพิเศษของปฐวีธาตุ เรียกว่า กกฺขฬตฺ ตลกฺขณา ปฐวีธาตุมีสภาพแข็งกว่าธาตุอื่น ๆ ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เอ็น กระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอดไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่อาหารเก่า

     2. การรู้สภาวะเย็นหรือร้อน เป็นลักษณะพิเศษของเตโชธาตุ เรียกว่า อุณฺหตฺตลกฺขณา ในมหาหัตถิปโทปมสูตรได้แสดงเตโชธาตุไว้เป็น 4 ลักษณะ กล่าวคือ เตโชธาตุที่ทำให้เกิดความอบอุ่นภายในร่างกาย ทำหน้าที่ย่อยอาหารต่าง ๆ ที่ดื่ม เคี้ยว หรือลิ้มรสเข้าไปในร่างกายให้ย่อยไป ทำให้ร่างกายแก่ทรุดโทรม หรือเปลี่ยนแปลงไป และทำให้ร่างกายกระสับกระส่าย

     3. การรู้สภาวะหย่อนหรือตึง เป็นลักษณะพิเศษของวาโยธาตุ เรียกว่า วิตฺถมฺภนลกฺขณา การทำให้เคลื่อนไหวจากระยะหนึ่งไปสู่อีกระยะหนึ่ง เป็นกิจของวาโยธาตุ เรียกว่า สมุทีรณรสา การผลักดันเป็นอาการปรากฏของวาโยธาตุ เรียกว่า อภินีหารปจฺจุปฏฺฐานา กล่าวคือ สภาวะที่เคลื่อนไหว มีลักษณะเฉพาะคือเคลื่อนที่หรือหยุดนิ่ง มีหน้าที่ให้ความสามารถในการเคลื่อนไหวแก่ธาตุอื่นที่เกิดร่วมกัน

     4. การรู้สภาวะของการไหลในขณะที่เหงื่อน้ำลายน้ำตาไหลออก ในขณะถ่มเสลดถ่มน้ำลายและในขณะปัสสาวะ เป็นต้น เป็นลักษณะพิเศษของอาโปธาตุ เรียกว่า ปคฺฆรณลกฺขณา การซึมแผ่กระจายไป ในขณะดื่มน้ำหรืออาบน้ำเป็นต้น เป็นกิจของอาโปธาตุ เรียกว่า พฺรูหนรสา และการรวมตัวเป็นรูปร่าง เป็นอาการปรากฏของอาโปธาตุ เรียกว่า สงฺคหปจฺจุปฏฺฐานา ซึ่งอาโปธาตุภายในก็มีภายนอกก็มี ได้แก่สิ่งที่เอิบอาบ ซึมซาบไป กำหนดได้มีในตน อาศัยตน คือ ดี เสลด น้ำเหลือง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตาเปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร หรือแม้สิ่งอื่นไม่ว่าชนิดไร ๆ ที่เอิบอาบซึมซาบไป กำหนดได้มีในตน อาศัยตน นี้เรียกว่า อาโปธาตุ

@@@@@@@

องค์ความรู้

จากการศึกษาทำให้เกิดองค์ความรู้ ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างความสมดุลระหว่าง อินทรีย์ 5 กับธาตุ 4 เป็นความสัมพันธ์กันและเกิดผลเป็นทางไปสู่พระนิพพาน โดยเป็นการใช้อินทรีย์ 5 พิจารณารูป (ร่างกาย) เป็นธาตุ 4 หรือที่เรียกว่า มหาภูตรูป 4 ประกอบด้วย ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ และธาตุลม เพื่อเป็นการลดอัตตา ความมีตัวตนความเป็นของของเรา ดังแผนภาพ



สรุป

หลักธรรมที่เป็นเครื่องวัดความพร้อม และบ่งชี้ความก้าวหน้าของบุคคล ในการปฏิบัติธรรมได้แก่ อินทรีย์ 5 คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา หลักธรรมนี้ ใช้สำหรับการปฏิบัติธรรมได้ทั่วไป ตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด กล่าวคือ เมื่อมีศรัทธาทำให้เกิดความเพียร ความเพียรช่วยให้สติมั่นคง เมื่อสติมั่นคงแล้วกำหนดอารมณ์ ก็จะได้สมาธิ  เมื่อมีสมาธิดีแล้วก็จะเกิดปัญญารู้เข้าใจ มองเห็นซึ้งถึงโทษของอวิชชาตัณหา ที่เป็นเหตุแห่งสังสารวัฏ มองเห็นคุณค่าของนิพพาน ซึ่งเป็นภาวะปราศจากความมืดแห่งอวิชชา และความทุรนทุรายแห่งตัณหา สงบประณีตดีเยี่ยม ครั้นเมื่อปัญญารู้ชัดเข้าใจด้วยตนเองแล้ว ก็จะเกิดมีศรัทธา ที่เป็นศรัทธาอย่างยิ่ง หรือยิ่งกว่าศรัทธา หมุนเวียนกลับเป็นสัทธินทรีย์อีก

ธาตุ 4 คือ รูป หรือรูปขันธ์ หรือกองร่างกาย เกิดจากเหตุหรือสิ่งที่มาเป็นปัจจัยกันของธาตุทั้ง 4 อันมี ธาตุดิน คือปฐวีธาตุ ธาตุน้ำ คืออาโปธาตุ ธาตุลม คือวาโยธาตุ และธาตุไฟ คือเตโชธาตุ หรือเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่ามหาภูตรูป ความหมายหรือความสำคัญของธาตุ 4 ไม่ว่าจะเป็นสังขตะหรืออสังขตะ ก็ล้วนเป็นธาตุทั้งสิ้น แต่ว่า ธาตุนั้นไม่อาจแสดงคุณค่าหรือคุณสมบัติออกมา จนกว่าจะถึงโอกาส เมื่อได้ปัจจัยเฉพาะได้โอกาสแห่งการปรุงแต่งปรับปรุงถูกต้อง ถึงจะแสดงคุณค่าที่แท้จริงออกมา

ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ และธาตุลม กำหนดรู้ด้วยใจเป็นเรื่องของจิตใจ นามธรรม หมายถึง สิ่งที่ไม่มีรูปคือรู้ไม่ได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่รู้ได้ด้วยใจ ได้แก่เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ญาณหยั่งรู้ว่า สิ่งทั้งหลายเป็นแต่เพียงนามและรูป

การปรับสมดุลอินทรีย์ 5 ตามธาตุ 4 ในทางพระพุทธศาสนาโดยหมั่นเจริญวิปัสสนาภาวนาสร้างอินทรีย์ให้แก่งกล้าด้วยทางสายกลาง ไม่ตรึงเกินไปหรือหย่อนเกินไป โดยการกำหนดรู้สภาวธรรม เช่น การกำหนดรู้กองรูปที่ประกอบไปด้วยธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ มารวมกันตามเหตุตามปัจจัย ว่าเป็นเพียงกองรูป ไม่ใช่สัตว์ บุคคล เรา ของเรา และมีสภาพไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน อันเกิดการเจริญวิปัสสนาภาวนา ได้แก่ การเกิดและพัฒนาขึ้นของปัญญาญาณ คือ ปรีชาหยั่งรู้ที่เกิดแก่ผู้ปฏิบัติวิปัสสนาโดยลำดับ มีสติรู้เท่าทันปัจจุบันอารมณ์ เห็นรูปนามธาตุ 4 ตามความเป็นจริง พิจารณาเห็นพระไตรลักษณ์ แล้วเกิดปัญญารู้แจ้ง เป็นผู้หมดจดกิเลสโดยสิ้นเชิง






เอกสารอ้างอิง :-
- พระเทพปัญญาเมธี (ทองอยู่ ญาณวิสุทฺโธ). (2558). สารัตถธรรม. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลง
กรณราชวิทยาลัย.
- พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). (2552). พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงและขยายความ. (พิมพ์ครั้งที่
11). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
- พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). (2556). พจนานุกรรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. (พิมพ์ครั้ง
ที่ 24). กรุงเทพฯ: ธรรมสภา.
- พระมานะ พุฒจันทร์ และ วิโรจน์ คุ้มครอง. (2565). อสุภกัมมัฏฐานอันเป็นบาทฐานในการปฏิบัติ
วิปัสสนาภาวนา. วารสารสหวิทยาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์, 5(1), 327-338.
- พระโสภณมหาเถระ (มหาสีสยาดอ). (2553). วิปัสสนาชุนี หลักการปฏิบัติวิปัสสนา. (จำรูญ ธรรมดา,
แปล). กรุงเทพฯ: ประยูรสาสน์ไทยการพิมพ์.
- พระโสภณมหาเถระ (มหาสีสยาดอ). (2554). นิพพานกถา. (พระคันธสารภิวงศ์, แปล). นครปฐม :
ประยูรสาส์นไทยการพิมพ์.
- พระสมชาย บัวแก้ว, พระมหาบุญศรี วงค์แก้ว และ สุเชาวน์ พลอยชุม. (2564). อภิสมาจาร กระบวนการพัฒนาบุคลิกภาพตามแนวพระพุทธศาสนา. วารสารศิลปการจัดการ, 5(3),895-907.
- มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2539). พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
- วิริยะ สว่างโชติ. (2550). คุณภาพชีวิตและการส่งเสริม. สืบค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2565, จาก
http://www.thaingo.org/writer/view.php?id=410.

- Chanthathong, S. (2021). The Significance of the Right View (Sammaditthi) in Theravada Buddhism. Journal of International Buddhist Studies, 12(1), 61-70.
- Damnoen, P. S., Siri, P., Supattho, P. S., & Kaewwilai, K. (2021). The Development of Student Characteristics in According to the Nawaluk Framework of the Buddhist integration of Buddhapanya Sri Thawarawadee Buddhist College. Asia Pacific Journal of Religions and Cultures, 5(2), 126-135.
- Tan, C. C., & Damnoen, P. S. (2020). Buddhist Noble Eightfold Path Approach in the Study of Consumer and Organizational Behaviors. Journal of MCU Peace Studies, 8(1), 1-20.
- World Health Organization. (2002). Active ageing: A Policy Framework. Geneva : World Health Organization.

ขอขอบคุณ :-
แหล่งที่มา : วารสารสหวิทยาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 (เมษายน – มิถุนายน 2565) หน้าที่ 761-775 , Journal of Multidisciplinary in Humanities and Social Sciences Vol. 5 No. 2 (April – June 2022) page no.761-775
ภาพ : pinterest
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ