ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ‘ทางเดิน’ จากวันนี้สู่วันหน้า ‘วิถีวัดบวรนิเวศฯ’ ไม่แปรเปลี่ยน..‘รอยธรรม’  (อ่าน 1448 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


‘ทางเดิน’ จากวันนี้สู่วันหน้า ‘วิถีวัดบวรนิเวศฯ’ ไม่แปรเปลี่ยน..‘รอยธรรม’

หลังการสิ้นพระชนม์ของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2556 ได้นำมาซึ่งความโศกอาลัยของชาวพุทธไทยทุกหมู่เหล่า

หลังการสิ้นพระชนม์ของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2556 ได้นำมาซึ่งความโศกอาลัยของชาวพุทธไทยทุกหมู่เหล่า ทั้งนี้ พระองค์ท่านเป็นสมเด็จพระสังฆราชที่มีพระชันษามากกว่าสมเด็จพระสังฆราชทุกพระองค์ในอดีต และเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกของไทยที่มีพระชันษา 100 ปี และถึงแม้เวลาจะล่วงผ่านมานานเกือบ 7 เดือน หากประชาชนก็ยังระลึกถึงพระองค์ท่านเสมอ ทั้งในฐานะ “พระประมุขแห่งสงฆ์” รวมถึงในฐานะ “เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร” ซึ่งเป็นภาพที่แยกจากกันไม่ออก โดยนับตั้งแต่พระองค์ท่านสิ้นพระชนม์ พุทธศาสนิกชนบางส่วนที่เลื่อมใสศรัทธา และผูกพันกับวัดบวรนิเวศฯ แห่งนี้...

อดคิดไม่ได้ว่า “วิถีแห่งวัดบวรนิเวศวิหาร” ...นับจากนี้จะเป็นเช่นไร?

*************

“ไม่ได้กลับวัดเลย วัดเป็นยังไง การบริหารมีปัญหาไหม ท่านจะถามอยู่ตลอด แม้ในตอนที่ทรงประชวร”…เป็นภาพความผูกพันระหว่าง “สมเด็จพระญาณสังวร” กับ “วัดบวรนิเวศวิหาร”  ที่ พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศฯ เล่าให้ทีมงานคอลัมน์ “วิถีชีวิต” ฟัง เพื่ออธิบายให้ชนพุทธไทยได้ทราบใน “ความห่วงใย” ที่ทรงมีต่อวัดแห่งนี้ “ท่านตรัสถามเช่นนี้อยู่เรื่อย ๆ จนกระทั่งประชวรหนัก”...พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ กล่าว

สะท้อนความผูกพันที่ทรงมีต่อวัดแห่งนี้ยิ่งนัก ...




ทีม “วิถีชีวิต” ถามถึงแนวทางนับจากนี้ของวัดบวรนิเวศฯ หลังการสิ้นพระชนม์ของ สมเด็จพระญาณสังวร โดยเรื่องดังกล่าว ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศฯ เปิดเผยว่า ทิศทางจากนี้ หากเป็นในแง่ “นโยบายของการบริหารวัด” และ “การบำรุงดูแลวัด” นั้น ขอยืนยันว่า...ยังคงเหมือนเดิมทุกประการ ตามแนวทางที่สมเด็จพระญาณสังวรได้ทรงดำเนินไว้ ขณะที่ สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) รักษาการเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศฯ นั้น ก็ไม่ได้มีแนวคิด หรือคิดที่จะไปเปลี่ยนแปลงนโยบายอะไร

เพราะสมเด็จพระญาณสังวรทรงวางราก ฐานไว้ดีอยู่แล้ว...

ในด้าน “การศึกษา” ทั้งฝ่ายพระสงฆ์ และฆราวาส ซึ่งเป็นกิจการที่สมเด็จพระญาณสังวร ทรงริเริ่ม และให้ความสำคัญมาโดยตลอด อาทิ การริเริ่มให้มีการก่อตั้ง มหาวิทยาลัยสงฆ์  หรือ มหามกุฏราชวิทยาลัย การก่อตั้ง โรงเรียนสมเด็จพระปิยมหาราชรมณียเขต ที่ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี เพื่อเป็นโรงเรียนกินนอน และการก่อตั้ง โรงเรียนผู้รู้ ญ.ส.80 ในมูลนิธิวัดญาณสังวราราม อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี  ให้เป็นโรงเรียนเอกชนที่มีการจัดการเรียนการสอนเพื่อการกุศล รวมถึงโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวมานี้ จะเปลี่ยนแปลงหรือไม่?...

 :25: :25: :25:

กับคำถามนี้ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศฯ ระบุว่า โครงการต่าง ๆ ที่ดำเนินการไปแล้ว หรือกำลังอยู่ในช่วงดำเนินการคงทำไปตามเดิมก่อน ไม่เปลี่ยนแปลงอะไร ส่วน  “ภารกิจต่อเนื่อง” หรืองานในด้านอื่น ๆ อย่างเช่น งานในองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์โลก ที่สมเด็จพระญาณสังวรทรงเป็นผู้สถาปนาและร่วมก่อตั้ง ทางวัดบวรนิเวศฯ ก็ยังคงร่วมดำเนินการต่อไป

ส่วนงานปลีกย่อยอื่น ๆ คงมอบให้เป็นหน้าที่ของเหล่าศิษยานุศิษย์ ที่จะเข้ามารับช่วงเพื่อดำเนินการต่อ เช่น การถอดเทปเสียงพระธรรมเทศนาของพระองค์ ที่ได้แสดงไว้ในวาระต่าง ๆ ทั้งนี้ เพื่อนำมาจัดเก็บรวบรวมทำบันทึก เพื่อการจัดพิมพ์เป็นหนังสือในโอกาสต่าง ๆ ต่อไป  ซึ่งทางวัดบวรนิเวศฯ ก็จะยังดูแลเรื่องนี้ไว้เหมือนเดิม

...เหมือนเมื่อครั้ง สมเด็จพระญาณสังวร ทรงพระชนม์ชีพอยู่

ทั้งนี้ งานเดิมก็คงสานต่อ แต่งานบางด้านที่เป็น “งานเฉพาะ” เรื่องนี้ก็สร้างความหนักใจให้กับ “ศิษยานุศิษย์” ไม่ใช่น้อย... ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศฯ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ด้วยความที่ สมเด็จพระญาณสังวร ทรงเป็น “เอตทัคคะ” ในด้านต่าง ๆ และได้มี “งานพระนิพนธ์” ที่ทรงทำไว้มากมาย โดยบางชิ้นก็เสร็จแล้ว ขณะที่บางชิ้นก็ยังทำไม่เสร็จ  ซึ่งสร้างความหนักใจมาก...



พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ กล่าวว่า...ในช่วงที่พระองค์ประชวรหนัก ๆ ก่อนหน้าที่พระองค์จะทรงตรัสไม่ได้ ท่านทรงถามถึงงานพระนิพนธ์ที่ทรงทำค้างไว้คือหนังสือชื่อ “45 พรรษาของพระพุทธเจ้า” ที่นำเสนอเรื่องราวระหว่าง “พระพุทธประวัติกับพระไตรปิฎก” ในแง่มุมใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน โดยต้องการทำให้หนังสือเล่มนี้ อธิบายคำสอนพระไตร ปิฎกว่า เกิดขึ้นเมื่อใด ทำให้การจำแนกข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องนั้น จำเป็นต้องแยกพรรษาของพระพุทธ เจ้าออกมาเรียงตามลำดับเวลาก่อน เพื่อช่วยให้เห็นว่า ในแต่ละคำสอนนั้น ๆ เรื่องใดเกิดขึ้นก่อน เรื่องใดเกิดทีหลัง รวมถึงมีอิทธิพลอย่างไรต่อความคิดของพระพุทธเจ้าในแต่ละช่วงเวลา เป็น “มุมมองใหม่ของพระไตรปิฎก” ที่ยังไม่เคยมีใครทำ ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่ทราบว่าจะมีใครมาทำแทนสมเด็จพระญาณสังวรได้ โดยทั้งหมดทั้งมวลนี้ ก็เพื่อมอบเป็น “มรดกธรรม” ไว้แก่คนรุ่นหลัง...

“หนังสือเล่มนี้ถือว่าเป็นงานที่ยากมาก เพราะพระองค์ท่านศึกษาแบบเจาะลึก และค้นคว้าจากหนังสือพุทธศาสนาของนิกายต่าง ๆ ซึ่งไม่มีใครทำได้อย่างพระองค์ท่าน เรื่องนี้ก็อาจต้องพักไว้ก่อน โดยก่อนท่านจะประชวรหนักก็ได้ทำไปแล้ว 12 พรรษาก็ต้องพักไว้เพราะทรงเริ่มประชวร ถือเป็นงานที่ยากมาก”...พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ กล่าว


 st11 st11 st11

อย่างไรก็ตาม สำหรับศิษยานุศิษย์ และประชาชนทั่วไปที่เลื่อมใสใน “วิถีแห่งวัดบวรนิเวศฯ” ที่เกิดความกังวลถึงแนวทางการทำงาน

ต่าง ๆ รวมถึงการจะสานต่อกิจการที่ สมเด็จพระญาณสังวร ทรงริเริ่มไว้ กับเรื่องนี้ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศฯ ยืนยันกับทีม “วิถีชีวิต” ว่า...กิจการงานต่าง ๆ ที่เป็นไปตามแนวทางของวัด วัดก็จะยังรักษาไว้ และดำเนินการต่อไปคงเดิมไม่เปลี่ยน แปลง ทั้งนี้ อาจมีเพียงบางด้านเท่านั้น ที่ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อความเหมาะสมบ้าง เช่น เรื่องเกี่ยวกับ “เสนาสนะต่าง ๆ” ซึ่งก็คือในเรื่องที่อยู่อาศัยของพระสงฆ์ตามโครงการต่าง ๆ ที่อาจจะมีการปรับ ปรุงให้เหมาะสม รวมถึงปรับปรุงให้มีสภาพที่ดีขึ้น รวมถึงการติดตามงานจากโครงการต่าง ๆ เช่น การดูแลการก่อสร้างอาคารครบรอบพระชนม์  มายุ 96 พรรษาให้แล้วเสร็จสมบูรณ์...

“วิถีวัดบวรนิเวศฯ จะยังคงดำเนินตามรากฐานที่ สมเด็จพระญาณสังวร ทรงดำเนินการไว้ ซึ่งหลังการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ท่าน ในแง่การทำงานก็อาจจะมีการสะดุดบ้าง ด้วยเหตุปัจจัยต่าง ๆ แต่ด้วยพระบารมีของพระองค์ เชื่อว่าทุกอย่างคงสำเร็จไปได้ ทั้งนี้ สิ่งใดที่ดีอยู่แล้วก็รักษาไว้ให้คงเดิม อย่างที่ควรเป็น”...พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ กล่าว..
.


 st12 st12 st12

แม้ “สมเด็จพระญาณสังวร” จะเสด็จสู่วรรคาลัย อันเป็นไปตาม “กฎแห่งธรรมชาติ” ที่มิเคยมีใครหลบหนีพ้น หากสิ่งที่ทรงริเริ่มดำเนินการไว้ ทั้งสรรพประโยชน์ทั้งหลายที่เกิดขึ้น รวมถึง “ข้อธรรม-มรดกธรรม” ที่ทรงแสดงไว้ ก็คงพอที่จะทำให้พุทธศาสนิกชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า และผู้เลื่อมใสใน “วิถีแห่งวัดบวรนิเวศวิหาร” เชื่อมั่นได้ว่า...

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะดำเนินสืบไป ดั่งเช่นที่เคยเป็น ตราบกาลนาน...

วัดสำคัญกรุงรัตนโกสินทร์

วัดบวรนิเวศวิหาร  นับเป็นพระอารามที่มีความสำคัญ ทั้งในทางคณะสงฆ์ และในทางบ้านเมือง กล่าวคือ ในทางคณะสงฆ์ วัดบวรนิเวศฯ เป็นจุดกำเนิด “คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย” และเป็นที่เสด็จสถิตของ “สมเด็จพระสังฆราชถึง 4 พระองค์” คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ และสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช รวมถึงเป็นแหล่งกำเนิดการศึกษาคณะสงฆ์คือ “มหามกุฏราชวิทยาลัย” ที่ต่อมาพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ส่วนในทางบ้านเมือง เคย “เป็นที่ตั้งกองบัญชาการศึกษาหัวเมือง” ในรัชกาลที่ 5 และใช้เป็น “ที่ประทับพระมหากษัตริย์ที่เสด็จออกทรงผนวช” ในทุกพระองค์คือ  นับตั้งแต่ รัชกาลที่ 4 จนถึงรัชกาลปัจจุบัน ตลอดถึงพระบรมวงศ์ชั้นสูง

นี่คือ “ความสำคัญ” ของวัดแห่งนี้ จากอดีตสู่ปัจจุบัน...


เชาวลี ชุมขำ-สุภารัตน์ ยอดศิริวิชัยกุล : เรื่อง
สันติ มฤธนนท์ : ภาพ
ขอบคุณภาพและบทความจาก
www.dailynews.co.th/Content/Article/236488/‘ทางเดิน’+จากวันนี้สู่วันหน้า+‘วิถีวัดบวรนิเวศฯ’+ไม่แปรเปลี่ยน..‘รอยธรรม’
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ