ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: หนีกรุงไปสองแควขึ้นฝั่งลำนํ้าน่าน..นมัสการหลวงพ่อใหญ่ จ.พิษณุโลก  (อ่าน 1425 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
 

หนีกรุงไปสองแควขึ้นฝั่งลำนํ้าน่าน...

ก่อนอื่น ต้องออกตัวก่อนว่า ผมไม่มีพื้นที่คอลัมน์พอจะพาไปไหว้พระทั้ง 3 วัด ก็เลยขอเลือกพาไปเพียงที่เดียว คือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.พิษณุโลก ที่คนพื้นที่เรียกกันติดปากว่า “วัดใหญ่”

หนีกรุงไปสองแควขึ้นฝั่งลำนํ้าน่าน..นมัสการหลวงพ่อใหญ่ จ.พิษณุโลก

พงศาวดารฝ่ายเหนือบันทึกไว้...ในคราวออกผนวช พระยาลิไทยมีศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง ทรงชำระพระไตรปิฎก รวมไปถึงนิพนธ์หนังสือ “ไตรภูมิพระร่วง” อันทรงคุณค่า และด้วยความที่ตั้งมั่นอยู่ในธรรมดังที่กล่าวมา ประชาชนจึงขนานนามกษัตริย์แห่งอาณาจักรสุโขทัยในราชวงศ์พระร่วงพระองค์นี้ในอีกพระนามว่า “พระมหาธรรมราชา” หรือ “มหาราชาผู้ทร'ธรรม”

หลังขยายพระราชอาณาเขตจนเป็นปึกแผ่น พระองค์ก็มีดำริจะสร้างเมืองพิษณุโลก อันเป็นเมืองลูกหลวงขึ้นบริเวณตำบลสองแคว ทรงโปรดให้สร้างวัดขึ้นไปพร้อม ๆ กับการสร้างเมืองที่ริมแม่นํ้าน่านฝั่งตะวันออก มีการระดมช่างฝีมือจากทั่วสารทิศทำการหล่อพระพุทธรูปขึ้น 3 องค์ คือ พระพุทธชินสีห์แห่งวัดสุทัศนเทพวรารามฯ พระศรีศาสดาแห่งวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร และพระพุทธชินราชแห่งวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร ถือเป็นสามสุดยอดพระพุทธรูปแห่งแผ่นดินไทย



หนีอุณหภูมิร้อน ๆ ตอนซัมเมอร์ไปไหว้พระกันครับ ก่อนอื่น ต้องออกตัวก่อนว่า ผมไม่มีพื้นที่คอลัมน์พอจะพาไปไหว้พระทั้ง 3 วัด ก็เลยขอเลือกพาไปเพียงที่เดียว คือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.พิษณุโลก ที่คนพื้นที่เรียกกันติดปากว่า “วัดใหญ่” อันเป็นสถานที่ประดิษฐานของ “พระพุทธชินราช” หรือ “หลวงพ่อใหญ่” ที่ใคร ๆ ยกให้เป็นพระพุทธรูปที่งดงามที่สุดในโลก คนไหนช่างสังเกตจะเห็นว่าซุ้มเรือนแก้วรอบองค์พระนั้นถือเป็นต้นแบบในการสร้างพระเครื่อง รวมถึงหล่อพระในยุคต่อ ๆ มา แสดงถึงฝีมือเชิงช่างสมัยสุโขทัยที่ยืนยงมาจนปัจจุบัน

มาเริ่มกันที่เรื่องราวของการหล่อองค์พระกันก่อน รับรองว่าแค่อินโทรก็สนุก ตำนานเล่าว่า ตอนเททองสร้างพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ทั้งพระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดาต่างสำเร็จเรียบร้อยดีจะมีก็แต่องค์พระพุทธชินราชที่เททองไม่ติด คือ ทองกลับแล่นไม่ตลอดองค์พระ เมื่อเป็นดังนี้ พระมหาธรรมราชาจึงได้ตั้งสัตยาธิษฐาน ร้อนไปถึงพระอินทร์ต้องแปลงร่างเป็นตาปะขาวลงมาช่วยจนสำเร็จ เมื่อพระองค์ถามหาตาปะขาวก็พบว่าได้เดินหายไปทางทิศเหนือเสียแล้ว ซึ่งบริเวณที่ตาปะขาวเดินหายไปก็ถูกเรียกว่า “ชุมชนตาปะขาวหาย” เช่นเดียวกับวัดเล็ก ๆ ที่ถูกเรียกว่า “วัดตาปะขาวหาย”



เมื่อสร้างพระพุทธรูปทั้ง 3 สำเร็จไปตามพระราชประสงค์ พระมหาธรรมราชาก็รับสั่งให้นำทองที่เหลือมาหล่อเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดเล็กราว 1 ศอก อันเรียกว่า “พระเหลือ” แต่ก็ยังคงมีทองเหลืออยู่ จึงได้หล่อพระสาวกเพิ่มอีก 2 องค์ คือ พระโมคคัลลานะและพระสารีบุตร ซึ่งใครเดินเข้าจากทางหน้าวัด ศาลาพระเหลือก็จะอยู่ทางขวามือ

จากศาลาพระเหลือเราจะเห็นองค์พระพุทธชินราชอยู่ในพระวิหาร แต่ยังไม่ต้องรีบร้อนเข้าไปนะครับ ต้องเรียนว่าภายในวิหารไม่ให้จุดธูปแล้วก็ปิดทอง แต่มีองค์จำลองอยู่ด้านหน้าให้แทน เราสามารถเดินไปบูชาด้วยดอกไม้ ธูป เทียน ได้ตามกำลังศรัทธา ใครจะเติมนํ้ามันตะเกียงก็มีให้ และทางซ้ายจะเห็น “กลองอินทรเภรี” ที่แปลความตามศัพท์ได้ว่า “กลองของพระอินทร์” จะมีคนมาตียํ่าบอกเวลาทุก ๆ ชั่วโมง อันนี้ห้ามขึ้นไปตีเล่น

หลังจากไหว้พระปิดทองด้านนอกก็ได้เวลาเดินเข้าไปชมองค์จริงด้านใน เชื่อเลยว่า ใครเดินผ่านประตูเข้าไปเห็นองค์พระพุทธชินราชครั้งแรกก็ต้องตะลึงในความงามของพระพุทธชินราชกันทั้งนั้นนอกจากองค์พระจะสวยหาที่ติไม่ได้แล้ว ผนังและเพดานของพระวิหารก็สวยจนยากที่จะละสายตาเช่นกันครับ แต่ก่อนก้าวเข้าไปในวิหารหลวง ผมแนะนำให้สังเกตประตูที่กำลังจะเดินเข้าไปนั่นแหละครับ เป็นประตูประดับมุกโบราณที่เก่าแก่และอยู่ในสภาพสมบูรณ์มาก เป็นอะไรที่ไม่น่ามองข้ามคือ มาวัดต้องมองช้า ๆ ไม่ต้องรีบร้อน อย่างลวดลายบนฝาผนังรอบ ๆ ก็เป็นอะไรที่เดินดูได้นาน




แจ้งนิดนึงว่า เค้าไม่อนุญาตให้ยืนเพื่อถ่ายรูปภายในอุโบสถซึ่งผมก็เห็นด้วย เพราะเมื่อเป็นแบบนี้ จะทำให้ไม่มีการยืนบังคนข้างหลัง การเข้ามานั่งข้างในต่อหน้าพระพุทธชินราช แค่นี้ผมก็ว่าคุ้มค่าที่จะเดินทางมาแล้ว

จำได้ว่าเคยพาอาจารย์ที่ปรึกษาจากเชียงใหม่มาที่วัดแกชอบมากครับ นั่งมองพระพุทธชินราชพักใหญ่ ก่อนนั่งสมาธิอยู่ตรงนั้นอีกร่วมครึ่งชั่วโมง ตอนเดินออกมาสีหน้าอาจารย์ดูอิ่มเอมมาก บอกว่าไม่เคยเห็นพระที่ไหนสวยงามขนาดนี้มาก่อน ถ้าใครไปจะไปนั่งสวดมนต์หรือนั่งสมาธิผมว่าเป็นความคิดที่ดีเหมือนกัน หลบแดดข้างนอกเข้าข้างใน ได้นั่งต่อหน้าองค์พระ เย็นทั้งกายเย็นทั้งใจสบายดี

เบื้องขวาขององค์พระมีรูปหล่อขององค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ รวมถึง พระสุพรรณกัลยา ตรงนี้มีช้างเสี่ยงทายที่หากใครสามารถยกช้างด้วยนิ้วเพียงนิ้วเดียวก็ถือว่าคำขอนั้นจะเป็นจริง โดยมีข้อแม้ว่าผู้ชายให้ยกด้วยนิ้วก้อย ส่วนผู้หญิงให้ยกด้วยนิ้วนางอธิษฐานช้า ๆ รวบรวมสมาธิให้ดีนะครับ หนักไม่น้อยเชียวละ



รอบ ๆ วิหารหลวงเป็นระเบียงคด ตลอดทางเดินมีพระพุทธรูปตั้งเรียงรายอยู่มากมาย เชื่อว่าต้องถูกใจคนชอบถ่ายรูปแน่นอน เพราะมีมุมให้เล่นเยอะไปหมด จะเลนส์ฟิก เลนส์เทเล หรือเลนส์ฟิชอาย รับรองว่าได้หยิบมาใช้ครบจริง ๆ แล้วต่อให้ไม่มีอุปกรณ์มากมาย แค่กล้องโทรศัพท์ก็เหลือเฟือ


และถ้าเดินไปหลังวัด จะพบพระพุทธรูปปางห้ามญาติองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง เรียกว่า “พระอัฏฐารส” จริง ๆ แล้วตรงนี้เคยเป็นวิหารใหญ่ แต่เวลาก็ได้ทำให้ผุพังไปจนเหลือแต่องค์พระ นอกจากนี้ยังมี “วิหารพระเจ้าเข้านิพพาน” ภายในมีหีบพระบรมศพจำลองของพระพุทธเจ้ามีพระมหากัสปเถระนั่งนมัสการพระบรมศพ เป็นโบราณวัตถุในสมัยอยุธยาซึ่งมีที่นี่เพียงแห่งเดียว

ออกจากวิหารพระเจ้าเข้านิพพานแล้ว หิวไม่ต้องไปไหนไกลทั่วบริเวณวัดมีร้านอาหาร ร้ านขายของฝากของที่ระลึกหลายสิบร้าน เช่นเดียวกับมีแผงสำหรับคอเสี่ยงโชค เรียกว่าไหว้พระขอพรเสร็จก็ออกมาลุ้นโชคต่อได้ทันที ถ้าออกไปหน้าวัดจะเจอบันไดเลียบแม่นํ้าน่าน มีต้นไม้ใหญ่เยอะมากเดินไปนั่งรับลมเย็น ๆ ได้สบาย ๆ และตรงนี้ก็เป็นจุดจัดเทศกาลแข่งเรือซึ่งยิ่งใหญ่ไม่แพ้ที่ใด ผมเคยมาครั้งนึงได้ฟังเสียงโฆษกแล้วก็ไม่รู้ว่าเอาพลังมาจากไหนเหมือนกัน พากย์มันกว่าคนพายในแม่นํ้าซะอีก

ผมถ่ายรูปอยู่ในวัดนานมาก ๆ ยิ่งอยู่นานก็ยิ่งสบายใจเห็นคนพื้นที่และนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าออกกันไม่ขาดรู้สึกดีจริง ๆ ครับ



ในฤดูร้อนแดดแรง ๆ แฟนหนีกรุงคนไหนนึกเบื่อทะเลขึ้นมา ลองเปลี่ยนบรรยากาศมาเข้าวัดก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ และถ้าเดินทางมา จ.พิษณุโลก ก็ห้ามพลาดที่จะมายังวัดนี้นะครับ และเมื่อค้นข้อมูลลึกลงไป ผมก็ได้รู้ว่า หลังองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จกลับจากหงสาวดีมายังพิษณุโลก ได้ทรงเปลื้องเครื่องทรงบูชาถวายพระพุทธชินราช และถ้านับจาก พ.ศ. 1900 อันเป็นปีที่ทำการหล่อองค์พระได้สำเร็จ ปัจจุบันพระพุทธชินราชก็ได้ประดิษฐานอยู่คู่เมืองพิษณุโลกมากว่า 658 ปีแล้ว

ฝีมือเชิงช่างแผ่นดินสุโขทัยได้ส่งมอบความงดงามแห่งศรัทธาสู่อยุธยาและธนบุรี ต่อเนื่องมายังกรุงรัตนโกสินทร์ ถือเป็นความสงบเย็นที่อยู่คู่แผ่นดินไทยอย่างที่ยากจะหาบ้านใดเมืองใดเสมอเหมือน.




เรื่อง : รัฐรงค์ ศรีเลิศ, กรกฤษณ์ พิณศรีสุข
ภาพ กองบรรณาธิการนิตยสารหนีกรุง
www. facebook.com/neekrungmagazine
http://www.dailynews.co.th/article/316380
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ