ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: นมัสการพระบรมธาตุสวี โบราณสถานเก่าแก่อายุ 754 ปี  (อ่าน 1718 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28439
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


นมัสการพระบรมธาตุสวี โบราณสถานเก่าแก่อายุ 754 ปี

วัดพระบรมธาตุสวี ตั้งอยู่ หมู่ 1 ต.สวี อ.สวี จ.ชุมพร เป็นที่ตั้งของพระบรมธาตุสวี (ชื่อในปัจจุบัน) โบราณสถานแห่งหนึ่งที่เก่าแก่สุดของจังหวัดชุมพร มีลักษณะรูปแบบพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยามีอายุกว่า 754 ปี และได้บูรณะซ่อมแซมมาหลายต่อหลายครั้ง โดยกรมศิลปกร
 
ในปัจจุบันพระบรมธาตุสวี มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงระฆัง ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมสองชั้น ฐานชั้นล่างกว้าง 8.50 เมตร ประดับด้วยรูปช้างโผล่ศีรษะและขาหน้าเสมือนค้ำเจดีย์ไว้ด้านละสามซุ้มสลับกับรูปยักษ์ถือกระบอง และประดับด้วยเสาหล่อหกต้น (เว้นต้นทิศใต้) มีบันไดทางขึ้นจึงมีช่างเพียงสองซุ้ม มุมทั้งสี่ของฐานเจดีย์จำลองเลียนแบบเจดีย์ประธานฐาน ชั้นบนมีพระพุทธรูปปางสมาธิประทับนั่งในซุ้มด้านละห้าซุ้ม มุมทั้งสี่ของฐานเจดีย์จำลองประดับไว้เช่นเดียวกับตัวเจดีย์ เป็นทรงระฆังคว่ำเหนือขึ้นไปเป็นเสาหารก้านฉัตร บัวเถา ปล้องฉัตรเจ็ดชั้น บนสุดเป็นปลียอดและเม็ดน้ำค้าง
 


มีตำนานเล่าถึงประวัติการสร้างพระบรมธาตุสวีว่า เมื่อครั้งที่พระเจ้าศรีธรรมโศกราช แห่งนครศรีธรรมราช เสด็จยกทัพมา นำรี้พลมาที่วัดแห่งนี้ (ในเขต อ.สวีในปัจจุบัน) ได้พบ กาเผือกและกาฝูงหนึ่งเกาะอยู่บนกองอิฐกระพือปีกและส่งเสียงร้อง พระองค์จึงทรงให้ทหารรื้อกองอิฐที่กองทับกันออกจากฐานเจดีย์ใหญ่ เมื่อขุดลึกลงไปได้พบผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จึงให้แม่ทัพนายกอง ไพร่พลช่วยกันสร้างเจดีย์ขึ้นมาใหม่แทนที่เดิม แล้วจัดงานสมโภชเป็นการใหญ่ เป็นเวลา 7 วัน 7 คืน

จากนั้นพระราชทานชื่อว่า พระบรมธาตุกาวีปีก (วีปีก แปลว่า กระพือปีก) ต่อมาเรียกกันว่าพระบรมธาตุกาวี และคำว่า กาวี ได้เพี้ยนจนกลายเป็น สวี ในปัจจุบัน




โดยบริเวณใกล้เคียงกัน มีศาลพระเสื้อเมืองตั้งอยู่ ซึ่งมีความเป็นมาว่า ก่อนที่พระเจ้าศรีธรรมโศกราช จะเสด็จยกทัพกลับ ทรงห่วงใยพระบรมธาตุว่าจะไม่มีผู้ดูแลรักษา จึงสั่งเรียกบรรดาทหารในกองทัพที่กำลังนอนหลับสนิท ในขณะนั้นมีทหารคนหนึ่งชื่อ “เมือง” ขานรับ พระองค์จึงมีรับสั่งให้ทหารตัดศีรษะนายเมือง เซ่นสรวงบูชาไว้ในศาลเพียงตา ศาลนี้จึงได้ขนานนามว่า ศาลพระเสื้อเมือง อยู่คู่พระบรมธาตุสวีสืบมาจนถึงในปัจจุบัน

ศาลแห่งนี้ยังคงมีคนทั่วไปเคารพนับถือในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวไทยเชื้อสายจีน ต่อมาศาลพระเสื้อเมืองมีสภาพชำรุดทรุดโทรม ทางกรมศิลปากรจึงได้ออกแบบอาคารใหม่ ให้มีลักษณะสอดคล้องกับพระบรมธาตุ โดยมีอาคารไทยหลังคาจั่วมุงกระเบื้องดินเผาเคลือบ ผนังก่ออิฐ ฉาบปูน ด้านหน้าเป็นราวระเบียงลวดบัว พื้นอาคารปูด้วยกระเบื้องเคลือบ

 
 

กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียน และกำหนดที่ดินวัดพระบรมธาตุสวีตามประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 118 ตอนพิเศษ 127ง วันที่ 20 ธันวาคม 2544 เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 1 งาน 30 ตารางวา
 
ปัจจุบันส่วนราชการจังหวัดชุมพร ได้พัฒนาพื้นที่บริเวณโดยรอบพระบรมธาตุสวี และได้รับความร่วมมือจากกรมโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดชุมพร จัดทำแบบร่างโครงการฯเพื่อนำไปก่อสร้างปรับปรุงให้เป็นสถานที่ศึกษาทางพระพุทธศาสนาและเชื่อมโยงอารยธรรมศรีวิชัย ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดชุมพรอีกด้วย

 


ทุกปีจังหวัดชุมพรกำหนดจัดงานพิธีสมโภชและอัญเชิญผ้าพระราชทาน ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขึ้นห่มผ้าพระบรมธาตุสวี โดยเหล่าข้าราชการ และพี่น้องประชาชนจังหวัดชุมพรร่วมกันจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ และสมเกียรติ
 
วัดพระบรมธาตุสวียังเป็นที่ตั้งขององค์ “พระสุพรรณรังศรี” โดยมีประวัติเล่าว่า สร้างก่อนกรุงศรีอยุธยาแตก ครั้งที่ 2 ในสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ หรือพระที่นั่งสุริยามรินทร์ เป็นพระพุทธรูปหินทราย ฝีมือช่างขอมเป็นผู้สร้าง พระกร และพระหัตถ์ ชำรุดหักพัง นายบุญพันธ์ แขวัฒนะ ได้นำมาปฏิสังขรณ์ เมื่อปี พ.ศ.2506 ต่อมานายสุนันท์ และนางวรรณี บุษภาชน์ ได้ขอมาประดิษฐานไว้ที่วัดสวี เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ.2510 โดยนำองค์พระมาถึง อำเภอสวี เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ปีเดียวกัน ตรงกับวันอังคาร แรม 15 ค่ำ เดือน 10 เวลา 8.20 น.

 


สำหรับการเดินทางมาวัดพระบรมธาตุสวี จากสี่แยกปฐมพรขาล่องใต้ ตามทางหลวงหมายเลข 41 (ถนนสายเอเซีย) ประมาณกิโลเมตรที่ 37 กลับรถใต้สะพานข้ามแม่น้ำสวี ไปอีก 200 ม. แยกซ้ายไปตามถนนลาดยาง ประมาณ 1 กิโลเมตร ก็จะถึง ส่วนบรรยากาศภายในบริเวณวัดร่มรื่นเย็นสบายด้วยต้นไม้ใหญ่ ทิศตะวันออกหรือด้านหน้าของวัดมีแม่น้ำสวีใหลผ่านออกสู่ทะเลอ่าวไทย และเป็นสถานที่ ที่เหมาะแก่การปฏิบัติธรรมวิปัสนากรรมฐานยิ่งนัก จึงขอเชิญชวนทุกท่านแวะเยี่ยมชมโบราณสถานที่เก่าแก่อายุ 754 ปี ของจังหวัดชุมพรพร้อมสักการะขอพรเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตัวท่านและครอบครัวสืบต่อไป

ชูศักดิ์ ตระหง่าน/ชุมพร


ขอบคุณภาพข่าวจาก
http://www.banmuang.co.th/news/region/20615
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ