ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เมืองจันท์อันซีน...“วัดทองทั่ว” เที่ยวให้ทั่วแล้วจะทึ่ง  (อ่าน 2454 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



พระพุทธสุวรรณมงคลศากยมุนีศรีสรรเพ็ชญ์” หรือ “หลวงพ่อทอง” พระพุทธรูปองค์สำคัญแห่งวัดทองทั่ว


เมืองจันท์อันซีน...“วัดทองทั่ว” เที่ยวให้ทั่วแล้วจะทึ่ง
โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)


        “สวนสวรรค์ร้อยพันธุ์ผลไม้”
       
       นี่คือสโลแกนท่องเที่ยวของจังหวัด“จันทบุรี” จากโครงการ “12 เมืองต้องห้าม...พลาด” ของททท. ที่วันนี้ต่อยอดเป็น“12 เมืองต้องห้าม...พลาด PLUS” เชื่อมโยงจาก 12 เมืองรองเดิมกระจายตัวนักท่องเที่ยวไปสู่เมืองใกล้เคียงมากขึ้น โดยเมืองจันท์นั้นเชื่อมโยงกับจังหวัดสระแก้วอีกหนึ่งเมืองแห่งสุดแดนบูรพา
       
       พูดถึงจันทบุรี ถือเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่เมื่อผม“ไปจันท์”แล้วเป็นต้อง“ปันใจ”ให้อยู่เสมอ เพราะเมืองจันท์นอกจากจะเป็นเมืองผลไม้เลื่องชื่อ ยังมีมีสถานที่ท่องเที่ยวอันหลากหลายให้เลือกเที่ยวกัน ทั้งธรรมชาติ น้ำตก หาดทรายชายทะเล ประวัติศาสตร์ วิถีชุมชน สถาปัตยกรรมงามๆ รวมไปถึงวัดวาอารามอันทรงเสน่ห์ให้เที่ยวชมกันจำนวนหนึ่ง

       โดยล่าสุดผมไปจันท์มาและก็ต้องปันใจให้กับอีกหนึ่งวัดงามอันทรงคุณค่า ที่แรกตั้งใจจะไปไหว้พระเฉยๆ แต่พอดีวันที่ไปทางวัดมีงาน พิธีกรในวัดเลยประกาศแนะนำให้ไปเที่ยวชมโน่นชมนี่ ซึ่งแม้วัดนี้จะไม่ใช่วัดใหญ่โต แต่ว่าก็มากไปด้วยของดีหลากหลาย เพียงแต่ว่าหากอยากได้อรรถรสต้องใช้เวลาเดินชมให้ทั่วสักหน่อย ซึ่งก็สอดคล้องกันดีกับชื่อวัด เพราะวัดแห่งนี้ชื่อ “วัดทองทั่ว”



วัดทองทั่วที่ชื่อวัดมีความเกี่ยวพันกับโบราณสถานเมืองเพนียด
       
     
       ตำนานวัดทองทั่ว
       
       วัดทองทั่ว ตั้งอยู่ที่ ต.คลองนารายณ์ อ.เมือง จ.จันทบุรี เป็นวัดเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา วัดเดิมของวัดทองทั่วชื่อ“วัดเพนียด” ตั้งอยู่ห่างจากวัดทองทั่ว(ปัจจุบัน)ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 500 เมตร ปัจจุบันเป็นวัดร้างขึ้นทะเบียนของกรมศาสนา



ซากโบราณสถานเมืองเพนียด


        ปัจจุบันวัดทองทั่วได้ย้ายมาจากวัดเพนียดร้าง(วัดเพนียดเดิม) พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็นวัดทองทั่ว ที่เกี่ยวพันเชื่อมโยงกับ“โบราณสถานเมืองเพนียด” ซึ่งมีข้อมูลระบุว่า
       
       ...เมืองเพนียด(เมืองโบราณ)มี “พระเจ้าพรหมทัต”เป็นกษัตริย์ผู้ปกครองนคร มีพระมเหสีคือ“พระนางจงพิพัฒน์” ทั้งคู่มีพระราชโอรสด้วยกัน 2 พระองค์ คือ องค์พี่“เจ้าชายบริพงษ์”กับองค์น้อง“เจ้าชายวงศ์สุริยคาส” ต่อมาพระนางจงพิพัฒน์ทรงสิ้นพระชนม์ลง พระนางกาไวจึงได้ทำเสน่ห์ให้พระเจ้าพรหมทัตหลงใหลและอภิเษกกัน จนพระนางได้ตั้งครรภ์จึงได้อ้อนวอนขอสิ่งที่พระนางปรารถนา พระเจ้าพรหมทัตจึงพลั้งพระโอษฐ์ให้



ภาพวาดจำลองแบบเมืองโบราณเพนียด


        เมื่อพระนางได้ประสูติพระราชโอรส ทรงมีพระนามว่า“พระไวยทัต” พระนางกาไวก็ได้ทูลขอพระราชสมบุติให้แก่พระไวยทัตตามที่เคยรับปากไว้ พระเจ้าพรหมทัตจึงยินยอมยกให้ ทำให้เจ้าชายบริพงษ์และเจ้าชายวงศ์สุริยคาส ต้องอพยพไปสร้างเมืองใหม่ทางเหนือของเมืองเพนียดในดินแดนเขมร เรียกว่า เมืองสามสิบ
       
       ครั้นต่อมาพระเจ้าพรหมทัตสวรรคต พระไวยทัตขึ้นครองราชย์สมบัติโดยมีพระนางกาไวเป็นผู้สำเร็จราชการแทน เมื่อเจ้าชายบริพงษ์และเจ้าชายวงศ์สุริยคาสทราบข่าวจึงยกทัพมาตีเพื่อเอาพระนครคืน พระไวยทัตสู้ไม่ไหวจึงถอยทัพร่นกลับแต่ก็ถูกตีแตก พระไวยทัตถูกฟันคอสิ้นพระชนม์บนหลังช้าง ตรงบริเวณเกาะทัพแตก ซึ่งเพียนมาเป็นเกาะตะแบกในปัจจุบัน



ทับหลังที่ขุดค้นพบจากเมืองโบราณเพนียด จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์โบราณสถานเมืองเพนียด วัดทองทั่ว


        เมื่อพระนางกาไวทราบข่าวพระไวยทัตสิ้นพระชนม์ จึงได้ขนทรัพย์สินแก้วแหวนเงินทองออกมาโปรยหว่าน เพื่อล่อให้ข้าศึกเก็บ ส่วนทรัพย์สินเงินทองอีกส่วนหนึ่งทิ้งลงไปในเว็จ(ส้วม)
       
       อย่างไรก็ดีสุดท้ายพระนางกาไวก็หนีไม่รอด เมื่อเห็นว่าไม่มีทางรอด จึงดื่มยาพิษชื่อว่า“ยามหาไวย” สิ้นพระชนม์ในห้องบรรทม ซึ่งสถานที่ที่พระนางกาไวหว่านทรัพย์สินเงินทองนั้น เรียกว่า ทองทั่ว และเป็นสถานที่ตั้งของ "วัดทองทั่ว" ในปัจจุบัน...



โบสถ์หลังเก่าวัดทองทั่ว


        โบสถ์เก่าวัดทองทั่ว
       
       หลังย้ายมาจากวัดเพนียดเดิมพร้อมเปลี่ยนชื่อเป็นวัดทองทั่วซึ่งมีที่มาตามตำนานที่ระบุ วัดทองทั่วก็ได้รับหนังสือรับรองสภาพว่าเป็นวัดสมบูรณ์(ตามพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121) ซึ่งได้ตั้งวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2310 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2318
       
       ทั้งนี้ตามหนังสือประวัติวัดได้ระบุไว้ว่า วัดทองทั่วมีการซ่อมแซมเปลี่ยนแปลงเรื่อยมาในทุกเจ้าอาวาสที่ขึ้นมาปกครองวัด ทำให้ศิลปะเดิมบางอย่างเลือนหายถูกแทนที่ด้วยศิลปะใหม่ในบางจุด แต่กระนั้นในอีกหลายจุดก็ยังคงอนุรักษ์ของเดิมไว้



เสมาคู่ที่โบสถ์หลังเก่า


        สำหรับจุดน่าสนใจหลักๆของวัดทองทั่วนั้นอยู่ที่พระอุโบสถหลังเก่าหรือโบสถ์หลังเก่าที่ตั้งอยู่ติดๆกับโบสถ์หลังใหม่
       
       โบสถ์หลังเก่าเป็นโบสถ์หลังเล็กๆ เตี้ยๆ สร้างอย่างเรียบง่ายแต่ว่ากลับมีสิ่งน่าสนใจให้ชมกันไม่น้อย เริ่มจาก “ใบเสมาคู่”(ใบสีมาคู่)รอบโบสถ์อันเก่าแก่สวยงามสุดคลาสิก ซึ่งสันนิษฐานว่า พระมหากษัตริย์ต้องมีพระราชศรัทธาสร้างหรือไม่ก็เจ้าเมืองจันทบุรีสร้าง แล้วขอพระราชทานเป็นพระอารามหลวง ถึงจะตั้งใบเสมาคู่ได้ โดยในเมืองจันท์ มีอยู่ 2 วัดคือ วัดทองทั่วกับวัดกลาง



รูปสลักเทวดานั่งพนมมือทีใบเสมาคู่หนึ่งที่มีความแตกต่าง


        ใบเสมาคู่วัดทองทั่วมีลักษณะงานศิลปกรรมในสมัยนิยมอยุธยา แต่มีใบเสมาคู่หนึ่งที่มีความพิเศษแตกต่าง คือใบเสมาคู่ที่ตั้งอยู่หน้าโบสถ์ ที่มีการแกะสลักเป็นรูปเทวดานั่งพนมมือถือดอกบัว 2 ดอก แยกออกซ้าย-ขวา ซึ่งมีผู้รู้บางคนได้ให้ข้อมูลว่านี่เป็นศิลปะศรีวิชัย ขณะที่บางท่านก็ให้ข้อมูลว่า ในสมัยอยุธยาก็มีงานศิลปะแบบนี้ ดังนั้นนี่อาจจะเป็นการทำเลียนแบบงานศิลปะสมัยศรีวิชัยก็เป็นได้

        นอกจากใบเสมาคู่แล้ว ที่หน้าโบสถ์ยังมีรูปปั้น“สิงห์ศิลา”โบราณตั้งอยู่ มีสภาพทรุดโทรมใบหน้าเลือนหายแต่ยังคงทรงของสิงห์เอาไว้ ถือเป็นอีกหนึ่งโบราณวัตถุชิ้นสำคัญอันทรงคุณค่าของวัด



สิงห์ศิลาโบราณเก่าแก่กับสภาพที่ยังหลงเหลืออยู่

       
       หลวงพ่อทององค์งาม
       
       จากด้านนอกเมื่อเดินเข้าสู่ด้านในโบสถ์หลังเก่า ก็จะพบกับ“พระพุทธสุวรรณมงคลศากยมุนีศรีสรรเพ็ชญ์” หรือ “หลวงพ่อทอง” พระพุทธรูปเก่าแก่ที่สันนิษฐานว่าน่าจะมีคู่มาพร้อมกับโบสถ์



หลวงพ่อทองมีทั้งคนมาสักการะบูชาและมาถ่ายรูปคู่เป็นที่ระลึก สิริมงคล


        หลวงพ่อทองประดิษฐานเป็นพระประธานของโบสถ์ เป็นงานศิลปะช่างพื้นบ้านที่มีพระพุทธลักษณะงดงาม ดูขรึมขลังเปี่ยมศรัทธายิ่งนัก
       
       นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับหลวงพ่อทองและโบสถ์หลังนี้จากคำบอกเล่าของคนเก่าแก่ เล่าว่า



หลวงพ่อทอง งดงามขรึมขลังเปี่ยมศรัทธา


        ...เมื่อพ.ศ.2471 ได้มีการบูรณะอุโบสถพร้อมพระประธาน ซึ่งพระประธานได้เอียงทรุดไปด้านหนึ่ง จึงได้เกณฑ์ชาวบ้านมาช่วยกันดีดแล้วค้ำยันองค์พระให้ตั้งตรง แต่ส่วนฐานพระประธานกลับทรุดหลุดกะเทาะ ตรงปูนปั้นด้านหน้าฐานพระที่เรียกว่า“ผ้าทิพย์” ได้พบพระยอดธงเนื้อชิน,เงิน,ทอง,นาค เป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังได้พบโกศงาช้างกลึงสวยงาม ภายในโกศมีกระดูก 2 ชิ้น มีผ้าดิ้นลายทองยกรูปดอกไม้พื้นสีออกม่วงห่อไว้

       นอกจากนี้ยังได้พบแผ่นทองคำรูปใบโพธิ์เขียนจาตึกเป็นตัวหนังสือไว้ว่า “พระอัฐิ พระเจ้าตาก พระยาจันทบุรีเป็นผู้นำมาไว้” และลงวันเดือนปีไว้ แต่ไม่มีใครจำได้ว่า วันเดือนปีเท่าไหร่



หลวงพ่อทอง พระพุทธรูปเก่าแก่ที่สันนิษฐานว่ามีมาพร้อมๆกับการสร้างโบสถ์หลังเก่า
     
       
       ต่อมาภายหลังแผ่นทองคำรูปใบโพธิ์และพระยอดธงทองคำ-นาค ได้สูญหายไป รวมถึงจนปัจจุบันก็ยังไม่สามารถสืบค้นได้ว่าพระยาจันทบุรีนี้คือใคร และนำมาไว้ที่วัดแห่งนี้เมื่อใด สันนิษฐานว่าคงจะนำมาไว้เมื่อสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อถวายพระเพลิงพระศพเรียบร้อยแล้ว...
       
       ทั้งนี้สำหรับชิ้นส่วนกระดูกที่สันนิษฐานว่าเป็นพระอัฐิของพระเจ้าตากนั้น ทางวัดได้เปิดให้ชมพระอัฐิของจริงในช่วงสงกรานต์ 13-17 เมษายนของทุกปี โดยในวันที่ 17 เมษายน ซึ่งตรงกับวันพระราชสมภพของพระองค์ท่าน ได้เปิดให้มีการทรงน้ำในระหว่างช่วงเวลา 07.00 -09.00 น.



กระดูกที่สันนิษฐานว่าเป็นอัฐิพระเจ้าตาก


        พิพิธภัณฑ์
       
       นอกจากหลวงพ่อทองและโบสถ์เก่าอันน่าสนใจแล้ว ที่วัดทองทั่วยังมีเจดีย์ 2 องค์ ตั้งอยู่ด้านนอกของกำแพงโบสถ์(ด้านหลัง) กับเจดีย์รูปทรงลังกาลักษณะนิยมสมัยอยุธยา ซึ่งสันนิษฐานว่าเจดีย์ทั้ง 2 องค์น่าจะสร้างขึ้นในสมัยนั้นคู่มากับวัด แต่ก็มีชาวบ้านเล่ากันว่า เจดีย์องค์ที่อยู่หลังอุโบสถ ปัจจุบันคือองค์หน้าศาลาการเปรียญได้สร้างก่อนทั้ง 2 องค์ มีลายศิลปะผสมผสานกันอายุราว 200 ปี นับเป็นโบราณสถานของวัดชิ้นหนึ่งที่บ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองมานับร้อยปี



โบราณวัตถุที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์โบราณสถานเมืองเพนียด


        ส่วนเมื่อเดินไปทางด้านหลังผ่านศาลาการเปรียญออกไปจะเป็นอีกหนึ่งจุดสำคัญของวัดนั่นก็คือ “พิพิธภัณฑ์โบราณสถานเมืองเพนียด วัดทองทั่ว” ที่ภายในจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับ“โบราณสถานเมืองเพนียด” เมืองโบราณที่ตั้งอยู่ห่างจากวัดทองทั่วไปประมาณ 300 เมตรมีอายุไม่ต่ำกว่า 1,000 ปี สันนิษฐานว่า เคยเป็นที่ตั้งของเมืองจันทบุรีในยุคแรก
       
       ทั้งนี้โบราณวัตถุบางส่วนของเมืองเพนียดได้ถูกนำไปจัดแสดงที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงเทพมหานคร และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติปราจีนบุรี



ศิลปวัตถุที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์โบราณสถานเมืองเพนียด


        ขณะที่โบราณวัตถุอีกจำนวนหนึ่งถูกนำมาจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ฯเมืองเพนียดแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็น ทับหลัง รูปปั้นเทวรูป เสาประดับกรอบประตู ศิวลึงค์ อิฐโบราณ เศษถ้วยชามโบราณ และซากปรักหักพังอื่นๆที่น่าสนใจ โดยจัดแสดงไว้เคียงคู่กับแผนผังและข้อมูลเบื้องต้นของโบราณสถานเมืองเพนียด ให้ผู้สนใจได้ชื่นชมและศึกษาเรียนรู้กัน


พระพุทธรูปที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์โบราณสถานเมืองเพนียด


        นอกจากนี้ที่พิพิธภัณฑ์ฯเมืองเพนียด ยังจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุที่น่าสนใจอื่นๆ อีกมากหลาย อาทิ พระพุทธรูปเก่าแก่ ตู้พระธรรม หีบคัมภีร์ หีบพระธรรมหรือหีบพระมาลัย ตู้พระไตรปิฎกลายทอง ตราชั่งโบราณ คัมภีร์โบราณ ฯลฯ
       
       สำหรับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่น่าสนใจมากของเมืองไทย เพราะนอกจะจัดแสดงสิ่งน่าสนใจไว้มากหลายแล้ว ยังเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ดำเนินการโดยวัดและชุมชน คือ “กลุ่มอนุรักษ์เมืองเพนียด” ที่ได้รวมกลุ่มกันอนุรักษ์โบราณสถานเมืองเพนียดไวให้คงสภาพปัจจุบันไม่ให้ถูกทำลาย พร้อมสืบค้นความเป็นมา และได้รวบรวมโบราณวัตถุที่กระจัดกระจายอยู่ตามที่ต่างๆมาเก็บรวบรวมจัดแสดงไว้ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ให้ผู้สนใจได้ศึกษาเรียนรู้กัน


ซากโบรษณวัตถุจากโบราณสถานเมืองเพนียดที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์โบราณสถานเมืองเพนียด


        อิ่ม
       
       แรกเริ่มเดิมทีผมไปไหว้หลวงพ่อทองวัดทองทั่วก็ไม่รู้หรอกว่าภายในวัดมีพิพิธภัณฑ์อยู่ แต่พอดีวันที่ไปทางวัดมีงาน โฆษกของงานได้แนะนำให้ไปดูของที่ที่พิพิธภัณฑ์หลังศาลาการเปรียญ นั่นแหละจึงทำให้ได้รู้จักกับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งจุดที่ตอกย้ำการเที่ยววัดทองทั่วว่า หากเราเที่ยวให้ทั่วก็จะพบกับสิ่งชวนทึ่งหลากหลายในวัดแห่งนี้
       
       นอกจากนี้การไปเที่ยววัดทองทั่วในวันนั้นยังมีอีกสิ่งหนึ่งชวนประทับใจผมนั่นก็คือ วันนั้นเป็นวันพระมีการจัดงานทำบุญเลี้ยงภัตตาหารเพลแด่พระ-เณร ถวายสำรับคาว หวาน ผลไม้ ชุดใหญ่กันที่ศาลาการเปรียญ


เจดีย์ที่ตั้งอยู่ด้านหลังโบสถ์

        เพราะอิ่มแรกคือ“อิ่มบุญ”ในการไหว้พระทำบุญ อิ่มที่สองคือ“อิ่มตา”จากสิ่งน่าสนใจต่างๆภายในวัด ขณะที่อิ่มที่สามซึ่งแม้ว่าผมจะไม่สามารถร่วมล้อมวงกินข้าวอิ่มกับพวกเขาได้ แต่ก็รู้สึก“อิ่มอกอิ่มใจ” ในบรรยากาศอันเปี่ยมน้ำใจไมตรีตามแบบวิถีชนบทไทยๆที่เราได้รับจากทางวัดและชาวบ้านในวันนั้น
       
       นี่ไยมิใช่เป็นอีกหนึ่งวิถีไทยที่ไม่จำเป็นต้องให้คนดังมาสร้างภาพเสกสรรปั้นแต่งแต่อย่างใด



ชาวบ้านมาถวายภัตตาหารเพลแด่พระ-เณรในวัด


        ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลวัดทองทั่วเพิ่มเติม และข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับวัดทองทั่ว ที่พัก ร้านอาหาร และการเดินทางในจังหวัดจันทบุรีได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานระยอง(รับผิดชอบพื้นที่ ระยอง,จันทบุรี) โทร. 0-3865-5420-1,0-3866-4585


ขอบคุณภาพและบทความจาก
http://manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9580000085943
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

nirvanar55

  • มีเหตุมีผล
  • ****
  • ผลบุญ: +1/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 305
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
บันทึกการเข้า