ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: "สมเด็จพระสังฆราช" ทรงเป็นแบบอย่างความเรียบง่าย ปกครองด้วยเมตตาธรรม  (อ่าน 1658 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28418
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



"สมเด็จพระสังฆราช" ทรงเป็นแบบอย่างความเรียบง่าย ปกครองด้วยเมตตาธรรม
โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ

“คุณงามความดีของสมเด็จพระสังฆราชนั้นมากล้นเหลือคณานับในทุกด้าน” คำกล่าวยกย่องสรรเสริญจาก สุเชาวน์ พลอยชุม อาจารย์พิเศษประจำบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ผู้ซึ่งเคยบวชพระเข้ามาเป็นลูกศิษย์รับใช้ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก อย่างใกล้ชิดนับตั้งแต่ปี 2501 จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายก่อนสิ้นพระชนม์

เขายังเป็นบุคคลสำคัญในการเรียบเรียงพระประวัติสมเด็จพระสังฆราช ในหนังสือชื่อ“บวรธรรมบพิตร” ถือเป็นหนังสือทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของชาติด้วยตนเอง

 :96: :96: :96: :96:

อดีตพระลูกศิษย์ติดตามผู้นี้ ถ่ายทอดเรื่องราวที่สะท้อนความเป็นตัวตนของสมเด็จพระสังฆราชว่า พระอุปนิสัยส่วนตัวทรงมีความสงบเสงี่ยมเรียบร้อย รักในการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่ตลอด แม้กระทั่งจะเป็นสมเด็จพระสังฆราชแล้ว ก็ยังทรงชอบอ่านหนังสือ หรือจดบันทึกเรื่องราวที่น่าสนใจไว้ในสมุดบันทึกเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นคำบอกเล่าของคนทั่วๆ ไปที่เข้ามาสนทนา หรือเวลาอ่านหนังสือพิมพ์หากเจอเรื่องอะไรที่น่าสนใจก็จะบันทึกไว้

ในแง่พระอุปนิสัยการทำงาน สมเด็จพระสังฆราชทรงมีความเป็นระเบียบ ละเอียดในสิ่งเล็กน้อยหากคิดการใหญ่ต้องให้ความสำคัญกับสิ่งที่พระอาจารย์ท่านอื่นได้ทำไว้แต่เดิม เรื่องใดที่ดีอยู่แล้วจะคงไว้ เรื่องใดที่ต้องปรับปรุงจะเปลี่ยนแปลงเพื่อความเหมาะสม หากแต่ยังคงเหลือรากฐานสิ่งดีงามของสิ่งเดิมให้คงอยู่ด้วย แสดงให้เห็นว่าท่านให้ความเคารพต่อบูรพาจารย์อย่างสูง

 :25: :25: :25: :25:

“พระองค์ทรงคิดและทำการใดๆ ด้วยความมีเหตุและผลในแต่ละเรื่องอย่างรอบคอบ ไม่ให้เกิดปัญหาตามมา และทรงมีแนวคิดในการทำงาน การปกครองคน หรือแม้กระทั่งทรงสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ในลักษณะที่เป็นคำสอน หากจะนับเป็นจำนวนเรื่องก็คงได้หลายร้อย” สุเชาวน์ ระบุ

เขาเล่าว่า หนึ่งในผลงานโดดเด่นชิ้นสำคัญของสมเด็จพระสังฆราชคือการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ศรีนครินทราสถิตมหาสันติคีรี ประดิษฐานอยู่บนยอดที่สูงสุดของดอยแม่สลอง จ.เชียงราย ถัดมาคือ วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร จ.ชลบุรี วัดรัชดาภิเษก อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี ฯลฯ โดยสิ่งก่อสร้างที่เป็นวัตถุเหล่านี้มีประสงค์ให้เป็นสถานสืบทอดพระพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่ตราบนานเท่านาน นอกจากนั้นยังทรงสร้างโรงพยาบาล โรงเรียน และสาธารณประโยชน์อีกเป็นจำนวนมาก


 st12 st12 st12 st12

ที่สำคัญ ทรงมีความเคร่งครัดในกิจวัตรหน้าที่ความเป็นพระ อย่างการบิณฑบาต การฝึกสมาธิ มีวินัยไม่ทรงขาด ทั้งยังเรียบง่ายไม่ฟุ้งเฟ้อ เช่น ของใช้ส่วนตัวท่านจะใช้เท่าที่จำเป็น มักเป็นของพื้นๆธรรมดา ไม่นิยมของทันสมัยราคาแพง ท่านทรงสั่งสอนศิษย์ให้สำนึกอยู่เสมอว่า การเป็นพระจะต้องอยู่แบบเรียบง่าย ไม่หรูหรา ที่ประทับก็เช่นกันไม่นิยมตกแต่งด้วยของมีค่า ใช้เท่าที่จำเป็น มีเท่าที่จำเป็นต้องใช้ อะไรที่ฟุ่มเฟือยแบบชาวบ้าน ถือว่าไม่เหมาะสำหรับพระ

“เคยมีบางครั้งที่ญาติโยมนำของมาถวาย ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์หรู หรือเงินจำนวนหลายล้านบาทท่านจะไม่รับหรือรับไว้แต่จะประทานคืนให้และสั่งให้นำไปสร้างประโยชน์อย่างอื่นแทนสืบต่อไป ไม่เคยเอามาเป็นของส่วนตัว และจากการที่ได้อยู่ใกล้ชิดเราก็ได้เห็นสิ่งเหล่านี้เป็นประจำ จึงเกิดการซึมซับเป็นแบบอย่างในบรรดาลูกศิษย์มาจนถึงทุกวันนี้” สุเชาวน์ กล่าว



สุเชาวน์ พลอยชุม อาจารย์พิเศษประจำบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย


อดีตพระลูกศิษย์ ระบุว่า การได้มาอยู่กับพระองค์ท่าน ทำให้ทราบว่าท่านใช้ความสามารถในการตัดสินใจเรื่องสำคัญอย่างเรื่องพระธรรมนิวัย โดยจะไม่ทำการใดๆ ที่อยู่นอกกรอบของพระธรรมวินัยเด็ดขาด อย่างเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาในประเทศไทย ท่านใช้ความเป็นผู้นำที่เด็ดขาด ตั้งอยู่บนความยุติธรรม ถูกต้องเมตตา ไม่ใช่ทำไปด้วยความโกรธแค้นเกลียดชัง

เช่น เหตุการณ์ของสันติอโศก เป็นเรื่องที่เรื้อรังมานาน กระทั่งเมื่อพระองค์ท่านได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช กรณีนี้จึงมาถึงความรับผิดชอบของท่านในฐานะที่ทรงเป็นประมุขของคณะสงฆ์ อีกทั้งเป็นจังหวะที่จะมีการตัดสินพอดี จึงตัดสินตามหลักความถูกต้องของพระธรรมวินัย ก็ทำให้เรื่องนี้ยุติลงได้ด้วยความเรียบร้อย

ขณะเดียวกัน ท่านก็ทรงเตือนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาเรื่องนี้ว่า ทุกฝ่ายต้องทำหน้าที่ของตัวเองบนพื้นฐานของความเมตตาธรรม


 st11 st11 st11 st11

เรื่องถัดมาที่สะท้อนถึงความกล้าคิดในการตัดสินใจด้วยเหตุและผลเป็นสำคัญคือ การที่ชาวต่างชาติเข้ามาบวชในประเทศไทย แล้วกลับไปยังบ้านเกิดเพื่อเผยแผ่ศาสนา มีปัญหาเรื่องเครื่องนุ่งห่มเพราะอากาศทางประเทศตะวันตก โดยเฉพาะในฤดูหนาวที่พระสงฆ์จะอยู่อย่างลำบาก เพราะจีวรนุ่งห่มแค่ผืนเดียวป้องกันความหนาวเย็นไม่ได้

“ท่านจึงตัดสินใจเสนอเรื่องขอต่อมหาเถรสมาคม ให้อนุญาตเสริมเครื่องนุ่งห่มแก่พระสงฆ์ในต่างแดนได้หรือไม่ รวมทั้งขอให้สวมรองเท้าเดินหิมะใช้ในเวลาที่จำเป็นได้หรือไม่ ผลที่ได้คือการอนุมัติให้พระสงฆ์เสริมเครื่องนุ่งห่มตามแต่เห็นสมควร ซึ่งเรื่องแบบนี้สำหรับบางคนอาจลำบากใจไม่กล้าเปลี่ยนแปลงกฎต่างๆ เพื่อความเหมาะสม” สุเชาวน์ กล่าว


 st12 st12 st12 st12

สุเชาวน์ เล่าว่า ครั้งสมัยที่อยู่เป็นศิษย์สมเด็จพระสังฆราช ท่านเคยบอกอยู่เสมอว่า “อยากให้ทุกคนเปลี่ยนความคิดที่ว่า ท่านเป็นอาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หากคิดเช่นนั้นถือว่าไม่ถูกต้อง” ทรงอธิบายอีกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอยู่ในฐานะที่ไม่ควรที่ใครๆ จะดึงตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะเป็นญาติ เป็นครูบาอาจารย์ เพราะพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบารมีสูงส่งมากไม่ว่าใครก็ไม่ควรยกตนขึ้นแอบอ้าง ท่านถือแต่เพียงอยากสนองงานตามพระราชประสงค์เท่าที่ความเป็นพระของท่านจะทำได้ แสดงให้เห็นถึงความเคารพต่อเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินอย่างนอบน้อม

ในอีกทางหนึ่ง พสกนิกรชาวไทยจะได้เห็นว่าหนังสือพระราชทานพระอิสริยยศเป็นกรณีพิเศษจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ถูกส่งมาจากสำนักราชเลขาธิการ มีคำหนึ่งระบุโดยใช้คำว่า “ครุฐานียะ”*เป็นถ้อยคำที่แสดงให้เห็นถึงความเคารพนับถือต่อสมเด็จพระสังฆราชเป็นอย่างสูงยิ่ง ทั้งยังแสดงให้เห็นเป็นประจักษ์สู่สายตาประชาชน ด้วยการถวายพระเกียรติเลื่อนชั้นโกศ นับเป็นการถวายพระเกียรติครั้งสุดท้าย

อีกทั้งเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ผู้มีบารมีสูงส่งทั้งสองท่านแสดงความเคารพนับถือระหว่างกัน เรื่องราวเช่นนี้ควรค่าต่อการจดจำตราบนานเท่านาน


ขอบคุณภาพและบทความจาก
http://www.posttoday.com/analysis/report/405084
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ