ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: 12 หลักธรรม ‘ละสังขาร’ แห่ง ‘สมเด็จพระญาณสังวร’  (อ่าน 1834 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28420
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


12 หลักธรรม ‘ละสังขาร’ แห่ง ‘สมเด็จพระญาณสังวร’

พระจริยาวัตรอันงดงามยังคงอยู่ในความทรงจำ ซึ่งหลักธรรมหนึ่งที่พระองค์ได้กล่าวไว้ เกี่ยวกับการละสังขาร ในหนังสือ “ญาณสังวร 101 สารธรรม”

แม้พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก จะผ่านไปแล้ว แต่พระจริยาวัตรอันงดงามยังคงอยู่ในความทรงจำ ซึ่งหลักธรรมหนึ่งที่พระองค์ได้กล่าวไว้ เกี่ยวกับการละสังขาร ในหนังสือ “ญาณสังวร 101 สารธรรม” ยังเป็นสิ่งที่ย้ำเตือนให้ขบคิด ดังนี้

 ans1 ans1 ans1 ans1

1.สังขาร คือ การปรุงแต่ง ปรุงแต่งตั้งแต่กำเนิดก่อเกิดขึ้นในครรภ์ของมารดา คลอดออกมาก็ปรุงแต่งเรื่อยไปจนถึงตายในที่สุด เพราะฉะนั้นอาการที่เรียกว่าสังขารคือ ปรุงแต่งนี้ก็เป็นอาการของชีวิต ซึ่งต้องมีการปรุงแต่งกันอยู่อย่างนี้ตลอดเวลาไม่หยุด หยุดปรุงแต่งเมื่อไหร่ก็ตาย

2.ความรู้ว่าเกิดมาแล้วทุกคนต้องตาย เป็นสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์ยิ่งใหญ่ แม้ใส่ใจในความรู้นี้ให้เท่าที่ควร ก็จะสามารถนำให้เกิดคุณ เกิดเป็นประโยชน์แก่ตนเองได้มหาศาล ยากจะหาประโยชน์ใดอาจเปรียบได้

3.ปราชญ์กล่าวว่า “ชีวิตนี้น้อยนัก” ก็คือชีวิตในชาตินี้น้อยนัก ชีวิตในชาติข้างหน้ายาวนานไปไม่อาจประมาณได้ ชีวิตในภพข้างหน้าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ ขึ้นอยู่กับความหมดจดจากกิเลสอย่างสิ้นเชิงเท่านั้น เปรียบชีวิตข้างหน้ากับชีวิตนี้แล้ว ชีวิตนี้จึงน้อยนัก

4.วันคืนล่วงไป ๆ บัดนี้เรากำลังทำอะไรอยู่ และได้ตรัสสอนไว้อีกว่าความเพียรควรเร่งรีบทำในวันนี้ทีเดียว ใครเล่าจะรู้ว่าความตายจะมาต่อวันพรุ่งนี้

5.รูปกายของทุกคนในบัดนี้ไม่ใช่รูปกายในอดีต รูปกายในอดีตนั้นก็ดับไป สิ้นไปหมดแล้ว รูปกายในปัจจุบันนี้เป็นรูปกายใหม่ ที่ได้จากอาหาร เกิดขึ้นมาใหม่ แต่ว่าเป็นไปอย่างละเอียด ที่ความไม่เที่ยงยังไม่ปรากฏชัดนั้น ก็เพราะยังมีสันตติ คือความสืบต่อ นี้เอง เมื่อใจสันตติคือความสืบต่อนี้ขาด หายใจเข้าไม่หายใจออก หายใจออกไม่หายใจเข้าต่อไป หยุดชีวิตก็สิ้นเพียงแค่นั้น เป็นความดับในที่สุดที่เรียกว่า มรณะ คือ ความตาย

6.จิตที่มีกิเลสเศร้าหมอง เมื่อละจากร่างไปสู่ภพภูมิใดก็จะคงกิเลสนั้นอยู่ คงความเศร้าหมองนั้นอยู่ ภพภูมิที่ไปจึงเป็นทุคติ คติที่ชั่ว คติที่ไม่ดี มากน้อยหนักเบาตามกิเลสความเศร้าหมองของจิต



7.เมื่อความตายมาถึง ไม่มีผู้ใดจะสามารถถนอมรักษา ทะนุบำรุงร่างกายของเขาไว้ได้ แม้สมบัติพัสถานที่ควรแสวงหาไว้ระหว่างมีชีวิตจนเต็มสติปัญญาความสามารถ แม้ด้วยเล่ห์กลเพื่อใช้ทะนุถนอม รักษา เชิดชู บำรุงตัวของเรา ก็ติดร่างไปไม่ได้เลย

8.กายของทุก ๆ คนเรานี้ แรกก็ไม่มี แต่เมื่อขึ้นมาด้วยชาติ คือความเกิด ก็ต้องประกอบด้วยชราความแก่ มรณะความตาย ในที่สุดแล้วก็กลับไม่มี เหมือนอย่างที่เคยไม่มีมาก่อน ดังนี้เป็นการตรัสสอนให้พิจารณา เป็นสติที่เป็นไปในกาย

9.ชีวิตนี้ย่อมมีความตายเป็นที่สุดเหมือนกันหมด ก็คือว่าจะต้องถึงเวลาหนึ่งซึ่งจะต้องหยุดหายใจ ที่เรียกว่า ตายหรือสิ้นชีวิต ก็แปลว่า ดับกายสังขาร ดับลมหายใจเข้าออก วิญญาณก็ดับ

10.ภัยที่พ่อ แม่ ญาติ ซึ่งเป็นที่รัก ลูกก็ช่วยกันไม่ได้ ก็คือ แก่ เจ็บ ตาย เป็นอมาตาปุตติกภัย เป็นภัยที่พ่อแม่ที่ลูกช่วยกันไม่ได้

11.ทรงนำมาใคร่ครวญพิจารณา โดยน้อมเข้ามาถึงพระองค์เองว่า พระองค์เองก็จะต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายอย่างนั้น จะทรงเป็นอะไรอยู่ในโลก จนถึงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ พระราชาเอกในโลก ก็จะต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายไม่พ้นไปได้ จึงได้ทรงปรารถนาโมกขธรรม ธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้น

12.ผิวพรรณที่อุตสาหะพยายามถนอมรักษาให้งดงามเจริญตาเจริญใจ ใส่หยูกยา เครื่องอบ เครื่องลูบไล้ เครื่องประทิน อันมีกลิ่นมีคุณค่าราคาแพงทั้งหลาย มีลักษณะตรงกันข้ามกับความปรารถนาอย่างสิ้นเชิงเมื่อความตายมาถึง.

ทีมวาไรตี้

ขอบคุณภาพข่าวจาก : http://www.dailynews.co.th/article/367350
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ