ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: รับโชครับชัย ปีใหม่ไหว้ 9 พระวังหน้า...พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน  (อ่าน 1575 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร


รับโชครับชัย ปีใหม่ไหว้ 9 พระวังหน้า...พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน

        ในช่วงวันปีใหม่ ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2558 - 24 มกราคม 2559 มีกิจกรรมดีๆ ที่กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากรได้จัดขึ้น คือกิจกรรมไหว้พระเนื่องในเทศกาลขึ้นปีใหม่ “ไหว้พระวังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน” เพื่อความเป็นสิริมงคลในปีพุทธศักราช 2559 ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2558 - 24 มกราคม 2559 ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ที่ได้นำเอาพระพุทธรูปโบราณที่มีประวัติความเป็นมา และสร้างขึ้นตามคติอันเป็นมงคล ซึ่งพุทธศาสนิกชนไม่ค่อยได้มีโอกาสสักการะบูชาโดยทั่วไป จำนวน 9 องค์ ออกให้กราบบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล ประกอบด้วย


พระพุทธสิหิงค์

        1. พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) กราบบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคลและช่วยให้ประเทศชาติผ่านพ้นอวมงคลการต่างๆ
       
       แบบศิลปะ : สุโขทัย-ล้านนา ประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 20-21
       ชนิด : สำริด กะไหล่ทอง
       ประวัติ : สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (วังหน้ารัชกาลที่ 1) ทรงอัญเชิญมาจากเมืองเชียงใหม่เมื่อประมาณ พ.ศ.2338
       สถานที่เก็บรักษา : ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นพระที่นั่งพุทไธสวรรย์
       
       พระพุทธสิหิงค์ ประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์แสดงปางสมาธิ มีพระรัศมีคล้ายเปลวเพลิง สร้างขึ้นตามตำนานที่ปรากฏในนิทานพระพุทธสิหิงค์ ซึ่งแต่งเป็นภาษาบาลีโดยพระโพธิรังสี พระภิกษุชาวเชียงใหม่ ในระหว่าง พ.ศ. 1945-1985 พระพุทธสิหิงค์ได้ถูกเคลื่อนย้ายไปตามหัวเมืองสำคัญต่างๆ หลายครั้ง
       
       แม้ตำนานจะกล่าวถึงพระพุทธสิหิงค์ว่ามีความเก่าแก่และได้รับเคารพนับถือสืบเนื่องมายาวนานตั้งแต่ พ.ศ. 700 แต่รูปแบบศิลปะที่ปรากฏน่าจะเป็นปั้น-หล่อขึ้นในช่วงปลายพุทธศววรรษที่ 20-21 (ประมาณ 500-600 ปีมาแล้ว) ในรูปแบบศิลปะสุโขทัย-ล้านนา การมีพระพุทธสิหิงค์ไว้เคารพบูชา ก็หมายถึงพระพุทธศาสนาได้เป็นที่เคารพบูชาในดินแดนแถบนั้น ดังความของพระโพธิรังสี กล่าวไว้ว่า "พระพุทธสิหิงค์เมื่อประทับอยู่ ณ ที่ใด ย่อมทรงทำให้พระพุทธศาสนารุ่งเรือง ดั่งดวงประทีปชัชวาล เหมือนหนึ่งว่าพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่"



พระพุทธรูปทรงเครื่อง

        2. พระพุทธรูปทรงเครื่อง ปางมารวิชัย ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 21 มีความหมายถึงธรรมอันเป็นแก่นสารยิ่งกว่าอำนาจแห่งทรัพย์สมบัติทั้งหลาย
       
       แบบศิลปะ : ล้านนา พุทธศตวรรษที่ 21
       ชนิด : สำริด ปิดทอง
       ประวัติ : ของหลวงพระราชทาน มาเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2469
       สถานที่เก็บรักษา : ห้องศิลปะล้านนา อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
       
       พระพุทธรูปทรงเครื่อง ปางมารวิชัย ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 21 (ประมาณ 500 ปีมาแล้ว) สร้างขึ้นตามคติเรื่องชมพูบดีสูตร หรือพระพุทธเจ้าทรงทรมานพระยาชมพูบดี โดยทรงบันดาลพระเวฬุวันวิหารประดุจเมืองสวรรค์ และเนรมิตพระองค์ทรงเครื่องพระจักรพรรดิราช แสดงบุญญานุภาพเหนือพระยามหากษัตริย์ทั้งปวง เพื่อคลายทิฐิมานะแห่งพระยามหาชมพูกษัตริย์ผู้ทรงอานุภาพ และทรงแสดงธรรมจนกระทั่งพระยามหาชมพูสิ้นมานะ ขอบวชเป็นพระสาวกในพระพุทธศาสนา พระพุทธรูปทรงเครื่องพระมหาจักรพรรดิจึงหมายถึงอำนาจ และธรรมอันเป็นแก่นสารยิ่งกว่าอำนาจแห่งทรัพย์สมบัติทั้งหลาย พระพุทธรูปทรงเครื่องยังอาจหมายถึงพระโพธิสัตว์ศรีอาริยเมตไตรย พระอนาคตพุทธเจ้า คือพระพุทธเจ้าพระองค์ที่ 5 ในภัททกัลป์ ที่จะมาบังเกิดเมื่อสิ้นสุดยุคของพระพุทธเจ้าโคตม



พระชัยเมืองนครราชสีมา

        3. พระชัยเมืองนครราชสีมา พระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิราบ ศิลปะอยุธยา ความหมายถึงชัยชนะ ขจัดอุปสรรคต่างๆ และอำนวยพรให้สำเร็จผล
       
       แบบศิลปะ : ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ 20
       ชนิด : สำริด
       ประวัติ : ย้ายมาจากห้องกลางกระทรวงมหาดไทย
       สถานที่เก็บรักษา : ห้องศิลปะอยุธยา อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
       
       พระพุทธรูปแสดงปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิราบ ลักษณะแบบศิลปะอู่ทอง 2 มีจารึกอักษรขอม ภาษาบาลี ที่องค์พระโดยรอบ อาทิ คาถากาสลัก หัวใจพระรัตนตรัย และคาถาพระเจ้า 5 พระองค์ เป็นต้น “พระชัย” หรือ “พระไชย” นี้ เป็นพระพุทธรูปสำคัญมาแต่บรรพกาล ปรากฏในพระราชพงศาวดารตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นต้นมา เพื่ออัญเชิญไปในกองทัพยามออกศึกสงครามเพื่อชัยชนะ ใช้เชิญไปในกระบวนเสด็จฯ เพื่อประทับแรมนอกพระนคร และอัญเชิญตั้งในการพระราชพิธีต่างๆ เรียกว่า พระชัยพิธี สำหรับขจัดอุปสรรคต่างๆ และอำนวยพรให้พิธีกรรมสำเร็จผล



พระพุทธรูปปางประทานธรรม

        4. พระพุทธรูปปางประทานธรรม ศิลปะอยุธยา หมายถึงการแสดงธรรม การหมุนวงล้อแห่งธรรม เพื่อเผยแผ่พระศาสนา อันเป็นพุทธกิจสำคัญของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
       
       แบบศิลปะ : ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ 21-22
       ชนิด : สำริด ปิดทอง
       ประวัติ : พบที่วัดมหาธาตุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ย้าย มาจากอยุธยาพิพิธภัณฑสถาน เมื่อ 4 พฤศจิกายน 2473
       สถานที่เก็บรักษา : คลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
       
       พระพุทธรูปปางประทานธรรม พระพุทธรูปสำริดลงรักปิดทองทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ พระหัตถ์ซ้ายทรงกำด้ามตาลปัตรโลหะขนาดเล็กที่พระเพลา พระหัตถ์ขวาทรงงอนิ้วพระหัตถ์จับขอบพัดด้านบนระดับพระอุระ คติการถือตาลปัตรแสดงธรรมนั้นสันนิษฐานกันว่ารับจากการแผ่พุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ของลังกา ตั้งแต่ราวราวปลายพุทธศตวรรษที่ 19 - ต้น 20 หรือไม่ต่ำกว่า 600 ปีมาแล้ว
       
       พระพุทธรูปทรงตาลปัตรในศิลปะอยุธยาหลายองค์มีการประดับรูปจักรหรือธรรมจักรที่ฐาน ซึ่งตามปกติแล้วพระพุทธรูปทรงตาลปัตรย่อมหมายถึงพระพุทธรูปในอิริยาบถทรงแสดงธรรม แต่การประดับธรรมจักรที่ฐานจึงทำให้คิดไปได้ว่าผู้สร้างต้องการแสดงว่าคือพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา พระบรมศาสดาทรงแสดง ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร พระสูตรว่าด้วยการยังธรรมจักรให้เป็นไปหรือดำเนินไป คือการหมุนวงล้อแห่งธรรม เพื่อเผยแผ่พระศาสนา อันเป็นพุทธกิจสำคัญของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์



พระพุทธรูปปางลองหนาว

        5. พระพุทธรูปปางลองหนาว พระพุทธรูปสำริดประทับนั่ง ศิลปะล้านนา บูชาเพื่อระลึกถึงการประมาณตน การกำหนดความพอเพียง รู้จักความพอดี
       
       แบบศิลปะ : ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 22-23
       ชนิด : สำริด
       ประวัติ : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทาน เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2469
       สถานที่เก็บรักษา : คลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น
       
       พระพุทธรูปปางลองหนาว พระพุทธรูปสำริดประทับนั่งทรงจีวรคลุมพระวรกายทดลองหนาว เพื่อจะได้ทรงทราบประมาณและประทานพระบรมพุทธานุญาตจีวรบริขารสำหรับภิกษุสงฆ์แต่พอดี
       
       เหตุการณ์พระบรมศาสดาทรงจีวรคลุมพระวรกายเพื่อทดลองความหนาวนี้ในพระวินัยปิฎก มหาวรรค จีวรขันธกะ ได้ระบุว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จพระดำเนินจากนครราชคฤห์ไปนครเวสาลี ระหว่างทางได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุหลายรูปหอบผ้าพะรุงพะรัง จึงทรงพระดำริว่าจะตั้งกฎในเรื่องผ้าแก่ภิกษุทั้งหลาย โดยทรงทดลองห่มจีวรคลุมพระวรกายตลอดราตรีในฤดูหนาว ทรงจีวร 4 ผืนพอทนหนาวได้จนรุ่งสาง พระพุทธองค์ทรงพระดำริว่า “กุลบุตรในธรรมวินัยนี้ ที่เป็นคนขี้หนาว กลัวต่อความหนาว ก็อาจดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยผ้าสามผืน ไฉนหนอ เราจะพึงกั้นเขต ตั้งกฎในเรื่องผ้าแก่ภิกษุทั้งหลาย เราจะพึงอนุญาตไตรจีวร.” ซึ่งไตรจีวรที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตแก่ภิกษุสงฆ์นั้น ได้แก่ ผ้าสังฆาฏิ 2 ชั้น ผ้าอุตราสงค์ชั้นเดียว ผ้าอันตรวาสกชั้นเดียว



พระพุทธรูปปางฉันสมอ

        6. พระพุทธรูปปางฉันสมอ ศิลปะรัตนโกสินทร์ บูชาเพื่อให้ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ
       
       แบบศิลปะ : ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 24
       ชนิด : ทองเหลืองกะไหล่ทอง ลงยาสี
       ประวัติ : เป็นของอยู่ในพระที่นั่งพุไธสวรรย์มาแต่เดิม
       สถานที่เก็บรักษา : ห้องศิลปะรัตนโกสินทร์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
       
       พระฉันสมอ พระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิเพชร พระหัตถ์ขวาวางคว่ำบนพระชานุ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายระหว่างพระบาททั้งสองข้าง แม้ว่าผลสมอที่เคยประดับในพระหัตถ์จะหายไปแล้ว แต่การทรงจีวรที่มีอิทธิพลจีนนี้สามารถเทียบเคียงได้กับ พระฉันสมอ พระพุทธรูปสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเจ้าจอมน้อย (สุหรานากง) ไปประดิษฐานที่วัดอัปสรสวรรค์
       
       เหตุการณ์สัปดาห์ที่ 7 ภายหลังจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ พระพุทธองค์เสด็จมาประทับเสวยวิมุติสุขใต้ร่มไม้เกต (ราชายตนพฤกษ์) ท้าวสักกเทวราชทรงทราบว่าภายหลังจากที่สมเด็จพระบรมศาสดาประทับนั่งขัดสมาธิอย่างเดียวตลอด 7 วัน รุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันขึ้น 6 ค่ำ เดือนอาสาฬหะ (เดือน 8) จะทรงมีพุทธกิจรับข้าวสัตตุผง สัตตุก้อน พระกระยาหารจากสองพ่อค้า ตปุสสะ และ ภัลลิกะ พระอินทร์ “จึงทรงน้อมถวายผลสมอเป็นพระโอสถในเวลาอรุณขึ้น ณ วันที่ทรงออกจากสมาธิทีเดียว. พระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยผลสมอพระโอสถนั้น พอเสวยเสร็จเท่านั้น ก็ได้มีกิจเนื่องด้วยพระสรีระ [ลงพระบังคนหนัก] ท้าวสักกะได้ถวายน้ำบ้วนพระโอษฐ์แล้ว. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบ้วนพระโอษฐ์แล้วประทับนั่งที่โคนต้นไม้นั้นนั่นแล...”
       
       จากเหตุการณ์นี้เอง พระพุทธรูปปางฉันสมอ จึงมีนัยสื่อถึงการรักษาโรคาพยาธิ เหตุด้วยผลสมอเป็นเภสัชที่ทรงมีพุทธานุญาตแก่ภิกษุสาวกที่อาพาธ พระฉันสมอจึงบูชาเพื่อความปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ



พระพุทธรูปปางโปรดมหิศรเทพบุตร

        7. พระพุทธรูปปางโปรดมหิศรเทพบุตร (พระศิวะ) เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติผู้ที่เคารพกราบไหว้ ไม่อยู่ในความประมาท ขจัดมิจฉาทิฐิ หรือความเห็นผิด
       
       แบบศิลปะ : ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 24
       ชนิด : ทองเหลืองรมดำ
       ประวัติ : สมบัติเดิมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
       สถานที่เก็บรักษา : ห้องศิลปะล้านนา อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
       
       พระพุทธรูปปางโปรดมหิศรเทพบุตร (พระศิวะ) สร้างตามคติพระพุทธองค์ทรงทรมานมหิศรเทพบุตร ซึ่งปรากฏอยู่ในคัมภีร์สายโลกยศาสตร์ เช่น คัมภีร์โลกบัญญัติ คัมภีร์โลกสัณฐานโชตรตนคัณฐี และคัมภีร์ไตรโลกวินิจฉยกถา มีความกล่าวว่า มหิศรเทพบุตรมีความไม่พอใจที่เทวดาทั้งหลายไปนบนอบต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงไปท้าประลองฤทธานุภาพด้วยการซ่อนหา มหิศรเทพบุตรแสดงฤทธิ์ซ่อนกายในที่ต่างๆ แต่ไม่อาจหลบซ่อนจากพระญาณของพระพุทธองค์ได้ ครั้นพระบรมศาสดาทรงแสดงฤทธิ์อันตรธานหายไป มหิศรเทพบุตรหาไม่พบ จึงยอมจำนน พระบรมศาสดาได้ตรัสเทศนาจนมหิศรเทพบุตรบรรลุธรรม ภายหลังพุทธปรินิพพาน มหิศรเทพบุตรได้เนรมิตพระพุทธปฏิมาเทินไว้เหนือเศียร อัญเชิญไปประดิษฐานยังพระมหาวิหารบนเขามันทคีรี มหิศรเทพบุตรจึงเป็นผู้ทรงพระพุทธองค์ไว้เหนือเศียรเกล้า
       
       พระพุทธรูปโปรดมหิศรเทพบุตร ศิลปะรัตนโกสินทร์ องค์นี้มีความพิเศษตามปกติรูปพระมหิศรเทพบุตร (พระศิวะ) มักจะมีหลายกรและแสดงมหิทธานุภาพโดยถือเทพอาวุธต่างๆ แต่องค์นี้มีสองกร และโคนนทิพาหนะของพระมหิศรเทพบุตร ประดับไว้ที่ฐานซึ่งหล่อเป็นโขดเขา เพื่อแสดงความเป็นเทพที่สถิตอยู่เหนือภูเขา แต่สิ่งที่เหมือนกับพระพุทธรูปโปรดมหิศรเทพบุตร องค์อื่นๆ ในศิลปะรัตนโกสินทร์ คือ มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่เหนือเศียร แสดงชัยชนะของพระพุทธองค์ต่อมหิศรเทพบุตร บูชาเพื่อขจัดมิจฉาทิฐิ หรือความเห็นผิด



พระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์

        8. พระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ ศิลปะรัตนโกสินทร์ บูชาเพื่อเตือนสติให้เกิดความสามัคคีในหมู่คณะ มีขันติ ความอดกลั้น ปฏิบัติตามคำสอนและมีความเสงี่ยมเจียมตัว
       
       แบบศิลปะ : ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 25
       ชนิด : ทองเหลืองปิดทอง
       ประวัติ : สถานีตำรวจภูธรพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการยึดอายัด
       สถานที่เก็บรักษา : คลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติง จังหวัดปทุมธานี
       
       พระพุทธองค์ประทับบนแท่นศิลา มีช้างถวายกระบอกน้ำและลิงถวายรวงผึ้ง แสดงถึงอุเบกขาบารมีของพระพุทธองค์ เรื่องราวมีกล่าวถึงตอนหนึ่งในพุทธประวัติว่าหลังพระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ 10 พรรษา ได้พำนักกับภิกษุที่โฆสิตาราม กรุงโกสัมพี แต่เหล่าสงฆ์เกิดความแตกแยกกัน แม้จะทรงห้ามปรามหลายครั้งก็ยังไม่สามารถลดความบาดหมางได้ จึงทรงวางอุเบกขาออกไปหาความสงบ ณ ป่ารักขิตวัน โดยมีช้างปาลิไลยกะ เป็นผู้อุปัฏฐากคอยดูแลปัดกวาดที่ประทับด้วยกิ่งไม้ใบไม้หาน้ำและผลไม้ป่าต่างๆ มาถวายพระพุทธองค์ทุกวัน ยามค่ำคืนก็ใช้งวงนั้นถือท่อนไม้คอยระแวดระวังภัยมิให้ผู้ใดมากล้ำกราย
       
       วันหนึ่งมีพญาวานรผ่านมาและสังเกตเห็นว่า ช้างปาลิไลยกะได้ดูแลพระพุทธองค์อย่างดี จึงเกิดความเลื่อมใส พญาวานรจึงนำรวงผึ้งไปถวายพระพุทธองค์บ้าง ครั้งแรกทรงเฉยไม่รับรวงผึ้งนั้น พญาวานรพิจารณาดูจึงเห็นว่ายังมีตัวอ่อนของผึ้ง เมื่อได้ปัดตัวอ่อนนั้นไปเสีย พระพุทธองค์จึงรับรวงผึ้งนั้นไว้ ทำให้พญาวานรดีใจลิงโลดโหนไปตามยอดไม้จนพลัดตกลงมาถูกตอไม้แทงตาย แล้วไปเกิดเป็นเทพบุตรบนสวรรค์ด้วยผลบุญที่ได้กระทำไว้



พระพุทธรูปปางขอฝน

        9. พระพุทธรูปปางขอฝน ศิลปะรัตนโกสินทร์ เป็นพระพุทธรูปที่มีความสำคัญด้านศิลปกรรมและขนบประเพณี บูชาเพื่อความอุดมสมบูรณ์
       
       แบบศิลปะ : ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 25
       ชนิด : สำริด รมดำ
       ประวัติ : เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี ถวาย พร้อมทั้งตู้
       สถานที่เก็บรักษา : ห้องศิลปะรัตนโกสินทร์ อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
       
       พระพุทธปฏิมาปางขอฝน สำหรับใช้ในพระราชพิธีพิรุณศาสตร์ (พรุณศาสตร์) และงานพระราชพิธีพืชมงคล พระราชพิธีสำคัญของบ้านเมือง อันเอื้ออำนวยความอุดมสมบูรณ์แก่พระราชอาณาจักร และอาณาประชาราษฎร์
       
       ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีการสร้างพระพุทธรูปขอฝนหลายองค์เพื่อใช้ประกอบในพระราชพิธี พระพุทธรูปขอฝนในอิริยาบถยืนองค์นี้ แสดงถึงกระแสความนิยมทางศิลปกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจากแบบอุดมคติ เป็นแบบสัจนิยม มีความเสมือนจริงตามธรรมชาติ อาทิ เกล้าพระเกศารวบขึ้นเป็นพระเมาลีและไม่มีพระรัศมี ทรงครองผ้าอาบน้ำฝนบางแนบพระองค์และแสดงริ้วผ้าตามธรรมชาติ นับเป็นพระพุทธรูปที่มีความสำคัญด้านศิลปกรรม และขนบประเพณี


ขอบคุณภาพและบทความจาก
http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9580000141495
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ