ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ที่มาของ “มูเตลู” ความเชื่อร่วมสมัย สู่ธุรกิจใหม่ยุคโซเชี่ยล  (อ่าน 241 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28431
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


ที่มาของ “มูเตลู” ความเชื่อร่วมสมัย สู่ธุรกิจใหม่ยุคโซเชี่ยล

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ โลกยุคใหม่หยิบใช้คำว่า “มูเตลู” กันอย่างแพร่สะพัดยิ่งกว่ากระแสการเงิน มัดรวมคนเชื่อเรื่องการดูดวง เสริมดวง เครื่องรางของขลัง เวทมนตร์ คาถา ไสยศาสตร์ แล้วเรียกกันว่า “สายมู”

คนรุ่นเก่าหรือใครที่ยังไม่รู้อาจฟังดูไม่คุ้นหู แต่คงสงสัยว่าทำไมจู่ๆ มีคำว่า มูเมออะไรนี่โผล่มาได้ยังงัย เรื่องนี้ Sanook Horoscope จะมาเหลาให้ฟังแบบเบา ๆ ไขข้อข้องใจถึงที่มา และชวนมองหาที่ไปด้วยกัน

@@@@@@@

มูมาไง.?

พยายามหาคนแรกที่พูดคำว่า “มูเตลู” แต่หาไม่เจอ ไปค้นดูคาถาของแฮรรี่พอร์ตเตอร์ก็ไม่ใช่ กระทั่งไปเจอกระทู้ในพันทิพ ตั้งแต่ปี 2552 โดย คุณแต้ว บอกอ MODEL อธิบายว่า ที่มาของคำว่า มูเตลู ไม่ใช่ศัพท์สมัยใหม่แต่อย่างใด แต่มาจากชื่อภาพยนตร์ยุคม้วนเทป VDO จากประเทศอินโดนีเซียที่มีชื่อใกล้เคียงสุดๆ คือ มูเตลู ศึกไสยศาสตร์  ชื่อเรื่องของหนังแปลมาจากต้นฉบับ เรื่องออกเสียงแบบคนอินโดว่า เปอนังกัล อิลมู เตลู ส่วนภาษาอังกฤษใช้ชื่อว่า Antidote for witchcraft


ภาพเปิดหนัง Penangkal Ilmu Teluh ภาพยนตร์จากอินโดนีเซีย


VDO เทป ภาพยนตร์เรื่องมูเตลู ศึกไสยศาสตร์ โดย คุณแต้ว บอกอ MODEL

หนังเก่าสุดๆ ออกฉายตั้งแต่ปี 2522 กว่าจะเข้าบ้านเราคงราวปี 2525 เล่าเรื่องของหญิงสาวเล่นของแบบ “ไสยดำ” เพื่อความงาม ความรัก และการแก้แค้น เลือดสาดสยองขวัญ ฟาดฟันด้วยคาถาอาคมกันสุดฤทธิ์ (ถ้าฉายยุคนั้นก็นับว่าน่ากลัวอยู่นะ) แม้มีการตั้งกระทู้ถามด้วยความสงสัยกันอยู่บ้าง แต่ก็ไม่พบว่ามีการดึงคำท้ายจากหนังเก่าขนาดนี้มาใช้ภายหลังกันตอนไหน หรือมีการใช้คำนี้มาก่อนแล้วเนิ่นนาน

กระทั่งมีรายการ “มูไนท์” (MOONIGHT) ดำเนินรายการโดย คุณมดดำ-คชาภา ตันเจริญ และคุณหนุ่ม-กรรชัย กำเนิดพลอย เริ่มออกอากาศในปี 2558 เป็นรายการวาไรตี้ที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อ ความศรัทธา รวมไปถึง ตำนาน ไสยศาสตร์ และสิ่งลี้ลับ แสดงถึงความชัดเจนของคำว่ามูเตลูในแวดวงสื่อมากขึ้น

ปี 2564  มูเตลู กลายเป็นคำฮิตหนัก โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ จากกระแสเพลง มูเตลู (MUTELU) เพลงติดหูของวงเกิร์ลกรุ๊ปอย่าง PiXXiE ที่ยอดวิวพุ่งหลักสิบล้าน ทำนองและท่าเต้นดึงดูดสายตา พอ ๆ กับคำร้องที่ดึงดูดใจสายมู

    “จงหยุด อยู่ตรงนั้น เจ้าพรหมลิขิตของฉัน ส่งรักเธอให้ฉันมา อย่าให้ต้องเสียเวลา Cupid อยู่ที่ไหน มาช่วยจับตัวเธอเอาไว้ จะท่องคาถาในใจทันที!

**มูเตลู oh wa ah ah ah.... ”

   “มูเตลูเสกเธอให้หันมาสบตา บุพเพ สันนิ เสนะ hey!  ท่องไป ให้เธอใจอ่อน  สีไหนที่เป็นมงคล  ดูวันแล้วใส่ให้มันตรง

     พร้อมกำไลที่ ข้อมือ หรือจะเป็นเบอร์มงคล

     ภาวนาแค่ซักนิด ให้เธอคิด เหมือนกับฉัน ใจมันมีไว้ให้ใช้ เธอก็ใช้มันกับฉัน แค่นั้น”


เนื้อเพลงชวนรักแบบ “ถ้าไม่ด้วยเล่ห์ก็ด้วยกล ไม่ด้วยเวทย์ก็ด้วยมนตร์” เป็นมูเตลูแบบ Cupid น่ารักปุ๊กปิ๊ก ต่างจากภาพยนตร์แบบหนังคนละม้วน

..คำเดียวกันแต่ความรู้สึกแตกต่าง


มิวสิคเพลง มูเตลู (MUTELU) จากวง PiXXiE

มูมานาน

คำ มูเตลู อาจมาทีหลัง แต่ความเชื่อเรื่องเครื่องรางของขลัง มีมาก่อนตั้งแต่ปีมะโว๊ หากจะให้สืบไปถึงประวัติศาสตร์ ต้องย้อนไปถึงยุคดึกดำบรรพ์ เกี่ยวพันกับความเชื่อที่มนุษย์มีต่ออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์และพลังเหนือธรรมชาติ ไม่ใช่แค่เอเชียแต่อาจนับรวมมนุษย์ทุกแห่งหนที่ “กลัว" ในสิ่งที่มองไม่เห็น และ “ต้องการ” ผลลัพธ์บางอย่าง จึงมีความเชื่อว่าสิ่งของหรือสัญลักษณ์ที่ผ่านพิธีกรรมช่วยปกป้องคุ้มครองจากอันตรายสิ่งชั่วร้ายหรือภูติผีปีศาจ และดลบันดาลสิ่งที่ปรารถนาได้

แม้ความเชื่อเหล่านี้จะสู้กับกาลเวลามายาวนาน แต่บางคราวก็ถูกอีกความเชื่อสู้กลับ! ในสังคมโปรตุเกสช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 ทางการสั่งห้ามสร้างวัตถุทางศาสนาหรือเกี่ยวข้องกับเวทมนตร์แบบเด็ดขาด เพราะมองว่าเป็นวัตถุแห่งความชั่วร้าย... เอ้า! สวนทางกับชาวบ้านซะงั้น!!

แต่พลังความเชื่อก็ยังทำหน้าที่ร่ายมนตร์ให้ชาวบ้านแอบเคารพบูชาอยู่ดี มีชาวตะวันตกยุคล่าอาณานิคมใช้โอกาสนี้หากินบนพื้นฐานวิธีคิดที่ออกแนวบูลลี่หน่อย ๆ คือมองชนเผ่าพื้นเมืองแอฟริกาเป็นผู้ที่ปราศจากเหตุผลและงมงายในความเชื่อไสยศาสตร์ แต่พยายามนำเสนอวัตถุอื่นว่าเป็นสินค้ามีที่ราคาแพงว่า เป็นของมีมูลค่า ดีกว่าเป็นไหน ๆ

แต่ขอโทษ! พี่แอฟสะบัดบ๊อบใส่! เพราะชาวแอฟริกันยุคนั้นมิได้ให้ราคาวัตถุสิ่งของเป็นเงินตรา แต่ให้คุณค่าเชิงจิตวิญญาณมากกว่า

@@@@@@@

ผลสุดท้ายเรื่องราวความเชื่อความศรัทธาที่มีต่อวัตถุในฐานะ “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ก็ถูกหยิบยกเป็น “สตอรี่เทลลิ่ง” ในกระบวนการแลกเปลี่ยน สร้างมูลค่าในตัวของสิ่งนั้นเอง เกิดการจัดสร้างส่งต่อและเปลี่ยนผ่านเจ้าของผู้เคารพบูชาตามวิวัฒนาการของสังคม

ขยับมาใกล้ตัวอย่างไทยเราก็ไม่เบาเหมือนกัน มีบันทึกในสมัยอยุธยาว่าความเชื่อเรื่องผีสางเทวดา ฤกษ์ยาม เครื่องรางของขลัง โชคลาง และเวทมนตร์คาถา ต่างเป็นแขนงแห่ง “ไสยศาสตร์” ที่ผู้คนให้ความสำคัญ นิยมทั้งราษฎรไปจนถึงราชสำนัก

เครื่องรางที่สืบทอดกันมาก็มีอยู่มาก เช่น ผ้าประเจียด ตะกรุด เขี้ยวเสือ เบี้ยแก้ แหวน ยันต์ต่างๆ เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 4 จึงเริ่มมี “พระเครื่อง” แทนที่บรรดาเครื่องรางของขลังที่ผู้คนในสังคมใช้ก่อนหน้า โดยนำความศรัทธาด้านพุทธคุณมาผสมผสานกับความเชื่อที่เป็น “ไสยขาว” ช่วยคุ้มครองปกป้องจากภัยอันตรายและสิ่งที่มองไม่เห็น  แต่เครื่องรางจะเข้มขลังก็ต่อเมื่อผู้ครอบครองปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ประกอบกับการหมั่นบริกรรมคาถา และหลีกเลี่ยงการกระทำที่ทำให้ “ของเสื่อม”

       “เอ็งคล้องพระ อย่าเผลอไปรอดใต้ราวผ้านะไอ้ทิด!” ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ

ส่วนรูปเคารพต่างๆ ที่มาจากตำนานและลัทธิต่างศาสนาอย่าง กุมารทอง นางกวัก ท้าว เทวา หรือองค์เทพต่างๆ ได้รับการบูชาตามความเชื่อเรื่องคุณสมบัติเฉพาะ เพื่อโชคลาภ ความสำเร็จและความปรารถนาที่แตกต่างกันไป มีการแลกเปลี่ยนผ่านคำว่า “เช่าบูชา” ที่ใช้เฉพาะกับวัตถุมงคลหรือเครื่องรางของขลัง

เป็นวัตถุที่จับต้องได้ด้วยมือ แต่จะจับต้องพลังศักดิ์สิทธิ์ได้ต้องใช้ใจที่มีความเชื่อเป็นผู้สัมผัส


เครื่องรางที่ถูกดีไซน์ใหม่ให้เข้ากับไลฟสไตล์ผู้บูชา

มูในร่างใหม่

ตัดภาพมาปัจจุบัน หาน้อยนักที่เด็กรุ่นใหม่จะนิยมคล้องพระ แขวนตะกรุด สวมสายสิญจน์ เพราะดูไม่อินกับไลฟ์สไตล์ แต่ความเชื่อเรื่องโชคลางไม่ได้หายไปไหน ผู้คนยังต่างปรารถนาลาภยศ และความสมหวังในเรื่องต่าง ๆ ไม่เสื่อมคลาย  เครื่องรางยุคใหม่จึงเริ่มกลายร่างตามเทรนด์ให้คนในสังคมได้พึ่งพา

ขณะเดียวกันโลกที่เปิดกว้างยังนำศาสตร์ความเชื่อของต่างลัทธิต่างศาสนาเข้ามามากขึ้น คงพอจำกันได้ที่ช่วงหนึ่ง กุมารทองผมจุกที่เคยคุ้นกลายเป็น ตุ๊กตาลูกเทพ ที่เจ้าของอุ้มไปไหนต่อไปด้วยกันได้ ทั้งสองแบบมีรากความเชื่อเดียวกันว่าเป็นที่สถิตของวิญญาณหรือพลังบางอย่างที่ช่วยเกื้อหนุนชีวิตให้พบกับความสำเร็จ 

จากตะกรุดสายสิญจ์หรือด้ายมงคลที่ผูกตามข้อมือ ก็เปลี่ยนภาพเป็นดีไซน์ใหม่ มีหินมงคลแฝงความเชื่อต่างๆ เติมคุณค่าให้สร้อยคอ สร้อยข้อมือมีทั้งความสวยงามและมีเรื่องราว เมื่อวัตถุมงคลถูกนำมาประยุกต์กับดีไซน์ที่ตอบโจทย์ สนับสนุนความเชื่อพร้อมสามารถใช้งานได้ในชีวิตประจำวัน เครื่องรางยุคใหม่จึงเริ่มสีสันและหลากหลาย กลายเป็นแฟชั่นที่ผู้ใช้ไม่เก้อเขินที่จะใช้ตามความเชื่อ

ความครีเอทของโลกยุคใหม่ไม่ได้หยุดแค่นั้น การเคารพบูชาองค์เทพหรือเทวรูป ที่แต่เดิมต้องเดินทางไปสักการะด้วยตนเอง แปรเปลี่ยนรูปแบบเป็นภาพวอลเปเปอร์บนหน้าจอสมาร์ทโฟน ผนึกรวมกับความรู้ทางโหราศาสตร์ ทั้งอักขระ ศาสตร์ตัวเลข และภาพพยากรณ์จากไพ่ทาโรต์มาดีไซน์ร่วมกัน เกิดเป็นความหมายที่เชื่อว่าส่งพลังดึงดูดให้ความปรารถนาของผู้ใช้กลายเป็นจริง

ล่าสุด ไปถึงขั้นมูเตลูแบบ DIY ลงนะหน้าทองเสริมเมตตามหาเสน่ห์ด้วยตนเอง เข้าถึงสายมูผ่านแพลตฟอร์มโซเชี่ยลและร้านค้าออนไลน์

นอกจากร่างทรงความเชื่อที่ดูร่วมสมัย การมัดใจสายมูแบบเลื่องลือระบือไกลยังเกี่ยวพันกับโลกในยุคไถหน้าจอที่ทรงพลังเหลือหลาย เมื่อมีช่องทางให้สายมูได้แชร์ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากเชื่อและใช้ ยิ่งเป็นที่สนใจ กลายเป็นเทรนด์ฮิตของแฟชั่นสร้างความหวังของมวลมนุษย์ยุคใหม่แบบก้าวกระโดด จนเกิดธุรกิจมูเตลูหลักล้านในเวลาอันรวดเร็ว เป็นทั้งวัตถุสิ่งของคุณค่าทางจิตใจและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจพร้อมกัน

มูเตลู พาความเชื่อที่มีอยู่เดิมสิงร่างใหม่ที่สังคมยอมรับและเข้าถึงง่าย ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง


มูเตเวิร์ล ผุ้บุกเบิกวอลเปเปอร์เสริมดวงจนสามารถสร้างธุรกิจออนไลน์ได้อย่างจริงจัง


มูสร้างตัวตน

มูเตลู ไม่มีเหตุผลอธิบายได้ชัดเจนทางวิทยาศาสตร์ ในมุมมองของผู้ที่ยึดหลักการเหตุและผลจึงตีความว่า ความเชื่อเหล่านี้เป็นเรื่องงมงาย สายมูคือผู้ที่ถูกหลอกขายความหวังแบบมโนไม่มีอยู่จริง แต่ถึงอย่างนั้นโลกของคนยุคใหม่ยังคงหมุนรอบเรื่องมูเตลูอย่างต่อเนื่อง ทั้งการดูหมอทำนายอนาคตและเครื่องรางตามความเชื่อหลากรูปแบบ จนทำให้หลายฝ่ายกังวลถึงเบื้องลึกของสภาพจิตใจที่ไม่มั่นคง ขาดสิ่งยึดเหนี่ยวทางศาสนา 

เพื่อสะท้อนถึงอีกแนวคิดต้องขอพาเข้าสู่วิชาการสักนิด

ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ นักวิชาการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กล่าวถึงมุมมองของนักมานุษยวิทยาที่ศึกษาเรื่องนี้ในบทความเรื่อง มูเตลู: มานุษยวิทยาของเครื่องรางของขลังและโชคลาภ Mutelu: Anthropology of Fortune and Fetishism สรุปความส่วนหนึ่งได้ว่า

วัตถุตามความเชื่อนั้นส่งเสริมชีวิตให้ดำเนินไปได้ เป็นส่วนประกอบของการใช้ชีวิต ทำให้บุคคลตระหนักถึงการมีตัวตน (self-contained entity) ซึ่งเคลื่อนตัวไปพร้อมประสบการณ์ในชีวิต เป็นกระบวนการแลกเปลี่ยนคุณค่าต่อกัน ทั้งระหว่างบุคคลและวัตถุ รวมถึงบุคคลต่อบุคคลในสังคมด้วยกันเอง เป็นกลไกการสร้างสรรค์ทางสังคม (social creativity) รูปแบบหนึ่ง

ในความคิดของ บรูโน ลาทัวร์ นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส มองว่าวัตถุที่เป็นเครื่องรางของขลังมิใช่สิ่งที่หลอกลวงหรือเป็นความไร้สาระ และไม่ควรอธิบายด้วยกรอบคิดแบบวิทยาศาสตร์ที่มักต้องการข้อพิสูจน์ว่าวัตถุเครื่องรางของขลังช่วยทำให้เกิดอภินิหารหรือสร้างโชคลาภให้กับผู้ที่กราบไหว้บูชาหรือไม่ หากแต่เครื่องรางของขลังเป็นวัตถุที่ต้องสัมผัสด้วยอารมณ์ความรู้สึก มิใช่การค้นหาความเป็นเหตุเป็นผลของมัน

อย่างไรก็ตาม โลกของมูเตลูก็มีนิยามที่ชัดเจนว่า “เป็นความเชื่อส่วนบุคคล โปรดใช้วิจารณญาณ” แม้ว่าความหวังจะเป็นพลังสำคัญที่ทำให้ชีวิตดำเนินไป แต่หากมุ่งเชื่อตามจนมองไม่เห็นความจริงรอบข้าง หรือสร้างปัจจัยต่างๆ ให้เข้าใกล้ความสำเร็จด้วยตนเอง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทรงพลังแค่ไหนก็อาจต้องขอบาย

และความเชื่อเรื่องมูเตลูก็คงไม่หมดไปจากโลกนี้ง่ายๆ ตราบใดที่ความกลัวและความปรารถนาของมนุษย์ยังไม่มีที่สิ้นสุด


 


ขอขอบคุณ :-
ข้อมูล  :แต้ว บอกอ MODEL (2452). ที่มาของคำว่า มูเตลู ไม่ใช่ศัพท์สมัยใหม่แต่อย่างใด,ศิลปวัฒนธรรม (2564).คุณไสย ความรู้และเครื่องมือกำจัดศัตรคู่อาฆาตสมัยโบราณ,ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ (2565). มูเตลู: มานุษยวิทยาของเครื่องรางของขลังและโชคลาภ
ภาพ : แต้ว บอกอ MODEL,Mootaeworld,istockphoto
URL : https://www.sanook.com/horoscope/232057/
ที่มาของ “มูเตลู” ความเชื่อร่วมสมัย สู่ธุรกิจใหม่ยุคโซเชี่ยล : Uranee Th.
27 มิ.ย. 65 (09:30 น.)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 28, 2022, 07:23:18 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ