ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ตะแลงแกง ท่าช้างและวัดโคกพระยา แดนประหาร สมัยอยุธยา  (อ่าน 272 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
ภาพแผนที่ De Groote Siamse Rievier ME-NAM ของนาย Francois Valentijn
เขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1726 แสดงตำแหน่งวัดโคกพระยาอยู่ตรงหมายเลข 64


ตะแลงแกง ท่าช้างและวัดโคกพระยา แดนประหาร สมัยอยุธยา


บทนำ

ผมมีความสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับแผนผังกรุงศรีอยุธยา ที่เขียนขึ้นโดยชาวต่างประเทศในคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 แผนผังเหล่านี้มีผู้เขียนไว้กว่า 30 รูปแบบ (เท่าที่ค้นพบและหาได้ในเวลานี้) โดยเน้นจุดสำคัญอยู่ที่ตัวเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา รวมทั้งได้ทำเครื่องหมายแสดงตำแหน่งที่ตั้งของสถานที่สำคัญประจำเมืองไว้หลายแห่ง เช่น พระบรมมหาราชวัง พระวังหน้า พระราชวังหลัง วัดพระศรีสรรเพชญ์ พระมงคลบพิตร วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ บ้านหลวงรับราชทูต บ้านเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ป้อมปราการกำแพงเมือง คูคลอง สะพาน เป็นต้น

การแสดงตำแหน่งที่ตั้งของสถานที่สำคัญทีปรากฏในแผนผังเหล่านี้จึงอาจถือได้ว่าเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามในบางครั้ง จะพบว่าสถานที่สำคัญเหล่านี้มีเอกสารชาวต่างประเทศกล่าวถึงและให้เรื่องราวที่ชัดเจน จนสามารถนำมาใช้อ้างอิงปะติดปะต่อภาพเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ได้แจ่มชัดมากขึ้น

คุณประโยชน์สำคัญของแผนผังกรุงศรีอยุธยาจึงไม่ควรถูกมองข้ามอีกต่อไป เช่นเดียวกับเอกสารต่างประเทศที่ผู้เขียนได้พบเห็นเหตุการณ์สำคัญต่างๆ หรือได้รับคำบอกเล่าจากขุนนางในราชสำนัก แม้ว่าเอกสารชาวต่างประเทศเหล่านี้จะมีข้อจํากัดมากมาย ในการนํามาใช้อ้างอิงทางประวัติศาสตร์ก็ตาม แต่ก็มิได้หมายความว่าเอกสารเหล่านั้น มีความน่าเชื่อถือน้อยไปกว่าหลักฐานไทยอย่างเช่น ตํานาน คําให้การฯ หรือแม้แต่พงศาวดาร

ผมได้ใช้เวลาในการศึกษาแผนผังกรุงศรีอยุธยาควบคู่ไปกับเอกสารชาวต่างประเทศและได้พบเรื่องที่ไม่ควรถูกมองข้ามไปเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยานั่นก็ คือ สถานที่ประหารชีวิตกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งถูกเรียกว่า โคกพญา หรือวัดโคกพญา (พระยา) ที่มักกล่าวอ้างในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาอยู่เสมอๆ

สถานที่แห่งนี้เป็นที่นําเอาพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ที่กระทําความผิดหรือเป็นศัตรูในราชสมบัติมาประหารชีวิต โดยใช้วิธีการทุบด้วยท่อนจันทน์ ซึ่งในปัจจุบันยังคงเป็นปัญหาทางประวัติศาสตร์ และก่อให้เกิดคําถามซึ่งมี 2 คําตอบ เกี่ยวกับที่ตั้งของสถานที่แห่งนี้ว่าอยู่ที่ไหนกันแน่

โดยคําตอบแรกกล่าวว่าอยู่บริเวณภูเขาทอง ตรงวัดโคกพระยา ไกลจากพระบรมมหาราชวัง คําตอบนี้ตอบตามความเชื่อเดิมโดยมีหลักฐานจากคําบอกเล่าของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในสถานที่ดังกล่าว เล่าสืบต่อกันมา รวมทั้งมีผู้นําเอาเหตุการณ์ต่างๆ ที่กล่าวไว้ในพระราชพงศาวดารมาปะติดปะต่อกัน

อีกคําตอบหนึ่งกล่าวว่าอยู่ใกล้กับวัดหน้าพระเมรุ ตรงข้ามพระบรมมหาราชวัง ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า วัดโคก โดยอาศัยหลักฐานชาวต่างประเทศและแผนผังกรุงศรีอยุธยา ที่เขียนขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 ดังนั้นการศึกษาครั้งนี้จึงมุ่งที่จะนําหลักฐานไทยและต่างประเทศมาทําการวิเคราะห์และตีความตามวิธีการทางประวัติศาสตร์ว่า สถานที่ไหนเป็นที่สําหรับประหารชีวิตกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์สมัยอยุธยากันแน่

ส่วนเรื่องตะแลงแกงและท่าช้าง สถานที่สยดสยองของอยุธยา ผมขอนําเสนอรวมไว้กับวัดโคกพระยาด้วย เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่เข้าทํานองเดียวกัน

@@@@@@@

วัดโคกพระยา ในความรับรู้เดิม

วัดโคกพระยาเป็นวัดร้าง ตั้งอยู่นอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาทางด้านทิศเหนือใกล้กับวัดภูเขาทอง ในตําบลคลองสระบัว อําเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันกรมศิลปากรกำหนดให้วัดนี้เป็นโบราณร้างหมายเลข 99 แต่ยังไม่มีการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ของชาติในราชกิจจานุเบกษา

บริเวณภูเขาทองมีสภาพเป็นท้องทุ่งขนาดใหญ่มีอาณาเขตติดต่อกับทุ่งอื่นๆ เช่น ทุ่งแก้ว ทุ่งขวัญ ทุ่งมะขามหย่อง มีคลองมหานาคอันคดเคี้ยวไหลผ่าน ซึ่งพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาหลายฉบับกล่าวตรงกันว่า คลองมหานาคนี้ขุดขึ้นโดยพระมหานาค แห่งวัดภูเขาทอง เพื่อรับศึกพม่า ในปี พ.ศ. 2086 ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ความว่า

“ฝ่ายมหานาคบวชอยู่วัดภูเขาทอง สึกออกรับตั้งค่ายกันทัพเรือ ตั้งค่ายแต่ภูเขาทองลงมาจนวัดป่าพลู พรรคพวกสมกําลังญาติโยม ทั้งทาสหญิงชายของมหานาคช่วยกันขุดคูค่ายกันทัพเรือ จึงเรียกว่า คลองมหานาค” (ประชุมพงศาวดารเล่ม 37, 2512, น. 52)

วัดโคกพระยาตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเจดีย์ภูเขาทองประมาณ 800 เมตร เท่าที่ตรวจสอบหลักฐานเอกสารและคําบอกเล่าจากชาวบ้านที่อาศัยบริเวณวัดแห่งนี้กล่าวว่า แต่เดิมวัดโคกพระยามีน้ำล้อมรอบคล้ายเกาะเล็กๆ มีสระน้ำขนาดย่อมตั้งอยู่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัวเกาะจํานวน 1 สระ และเคยพบท่อนไม้จันทน์ ไม้ตะเคียนจํานวนมากในสระน้ำ ซึ่งยังคงเหลือให้เห็น 2-3 ต้นในเวลานี้ ชาวบ้านเชื่อว่าบริเวณนี้คือที่ประหารชีวิตกษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ของอยุธยาอย่างไม่ต้องสงสัย

เมื่อสํารวจวัดโคกพระยาโดยละเอียดพบว่า วัดนี้มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีคูน้ำที่เชื่อมต่อกับคลองมหานาคทางด้านทิศใต้ ส่วนทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตกจรดที่นาของชาวบ้าน

อย่างไรก็ดี พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทหุมาศ (เจิม) ได้กล่าวถึงตำแหน่งที่ตั้งของวัดโคกพระยาแห่งนี้ ในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิไว้ว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า เสด็จยืนพระคชาธารประมวลพลและคชพยุห โดยกระบวนตั้งอยู่โคกพระยา (ประชุมพงศาวดารเล่ม 37, 2512, น. 55) จากข้อมูลที่ปรากฏในพงศาวดารได้แสดงให้เห็นถึงที่ตั้งของวัดโคกพระยาว่า ตั้งอยู่บริเวณภูเขาทอง นอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา เพราะในเวลานั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสด็จออกไปทอดพระเนตรแนวรบข้าศึก และได้มีการต่อสู้กันกับทัพพระเจ้าแปร จนฝ่ายไทยต้องเสียสมเด็จพระสุริโยทัยไป (ซึ่งเรื่องสมเด็จพระสุริโยทัยยังมีเรื่องราวที่น่าศึกษาและมีข้อสงสัยอีกมาก)

ข้อความข้างต้นที่ปรากฏในพงศาวดารจึงเป็นข้อมูลที่นักประวัติศาสตร์ในอดีตเข้าใจกันและนำมาใช้ตีความร่วมกับข้อความในพงศาวดารตอนอื่นๆ อีกหลายตอน ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปว่า สถานที่นำตัวกษัตริย์และเชื้อพระวงศ์มาประหารชีวิตด้วยท่อนจันทน์คือบริเวณวัดโคกพระยา หรือโคกพระยา นอกเมืองใกล้กับวัดภูเขาทองนั่นเอง


@@@@@@@

3 แดนประหาร สมัยอยุธยา

นอกจากวัดโคกพระยาที่ประหารนักโทษอาญาและนักโทษการเมืองสมัยอยุธยาแล้ว ยังมีสถานที่สําคัญอีกสองแห่งใช้สําหรับประหารนักโทษแบบตัดหัว ควักไส้และประหารชีวิตด้วยวิธีการที่เหี้ยมโหด ดังที่ปรากฏอยู่ในหลักฐานไทยและหลักฐานชาวต่างประเทศหลายฉบับ สถานที่แห่งนั้นก็คือ ตะแลงแกง ตั้งอยู่ใกล้กับคุกหลวง หอกลอง วัดพระราม และท่าช้าง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำลพบุรี (คลองเมือง) ใกล้กับวัดคงคาราม

ทั้งตะแลงแกงและท่าช้างเป็นสถานที่ประหารชีวิตแบบประจาน ชาวบ้านชาวเมืองสามารถมาดูการประหารชีวิตได้ ส่วนวัดโคกพระยานั้นเข้าใจว่าเป็นที่กระทําเฉพาะฝ่ายใน ไม่อนุญาตให้ประชาชนคนธรรมดาไปรู้ไปเห็น

คําให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารหอหลวง ได้กล่าวถึงตะแลงแกงว่า เป็นบริเวณที่มีความสําคัญ ความว่า ถนนย่านตะแลงแกงมีร้านขายของสดเช้าเย็น ชื่อตลาดคุกหลวง 1 ถนนน่าย่าน ศาลพระกาฬมีร้านชําขายศีศะในโครงในฝ้ายชื่อ ตลาดศาลพระกาฬ 1…(คําให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารหอหลวง, 2534, น.12)

ตําแหน่งที่ตั้งของตะแลงแกงอยู่ตรงบริเวณที่เป็นจัตุรัสชุมนุมคนมีทั้งตลาดขายสินค้านานาชนิด มีร้านค้าปลูกอยู่สองฟากฝั่งถนน มีโรงม้า มีคุกหลวง หอกลอง (คําให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารหอหลวง, 2534, น.15) ย่านตะแลงแกงจึงเป็นย่านที่เต็มไปด้วยผู้คนจํานวนมาก รวมทั้งถนนที่ตัดผ่านบริเวณตะแลงแกง เป็นถนนปูอิฐ และได้ชื่อว่าถนนตะแลงแกงด้วย (ถนนป่าโทน) ถนนสายนี้เป็นที่ถนนที่ดีที่สุดของประเทศสยาม ด้วยเหตุนี้การประหารชีวิตนักโทษที่ตะแลงแกงในแต่ละครั้ง คงจะมีประชาชนให้ความสนใจเป็นจํานวนไม่น้อย และอาจเป็นการตัดไม่ข่มนามต่อศัตรูทางการเมืองได้ด้วยวิธีหนึ่ง ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระพนรัตน์ ได้บรรยายภาพเหตุการณ์ตอนสงครามกลางเมืองระหว่างจ้าฟ้าปรเมศวร์กับพระมหาอุปราช (พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ก่อนเสวยราชย์) ไว้ว่า

“ส่วนนายเสมพระยาพิชัยราชา แลนายพูนพระยายมราชคนทั้งสองนี้ ครั้นเจ้าหนีไปแล้ว ก็พากันหนีไปบวชเป็นภิกษุ อยู่ในแขวงเมืองสุพรรณบุรี ข้าหลวงทั้งหลายติดตามไปได้ตัวภิกษุทั้งสองนั้นมา ให้รักษาคุมตัวไว้ในวัดฝาง นายสังราชาบริบาล หนีไปบวชอยู่ในวัดแขวงเมืองบัวชุม ข้าหลวงติดตามไปได้ตัวมา สึกออกแล้ว ให้ประหารชีวิตเสียที่หัวตะแลงแกง” (พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ 2515, น.607)

ส่วนท่าช้าง ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะเมือง ใกล้วัดคงคาวิหาร (ร้าง) และเป็นท่าน้ำที่สามารถข้ามไปยังวัดโพธิ์ ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะทุ่งแก้วได้อีกด้วย ตรงบริเวณนี้จะมีถนนชื่อถนนกลาโหมตัดตรงมาจากพระบรมมหาราชวังและบึงชีกุน ผ่านหลังวัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ สุดตัวถนนที่ท่าช้าง ในเอกสารของนาย เยเรเมียส ฟานฟลีท หรือวัน วลิต ชื่อ Historical Account of Siam In the 17th Century ได้กล่าวถึงเหตุการณ์สําคัญที่เกิดขึ้นตรงท่าช้างว่า

“พระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ (พระเชษฐาธิราช) ทรงมีรับสั่งให้นํานักโทษตัวการสําคัญทั้งสามออกมาจากคุกและให้สับออกเป็นท่อนๆ ที่ท่าช้าง (Thacham) คือทวารหนึ่งของพระราชวังในฐานะที่เป็นผู้รบกวน ความสงบสุขของประชาชนและในฐานะที่ร่วมกันต่อต้านผู้สืบราชสมบัติที่แท้จริงและถูกต้องตามกฎหมาย ศีรษะและร่างกายส่วนอื่นๆ ของคนเหล่านั้นถูกเสียบประจานไว้ในที่สูงในเมืองหลายแห่ง” (ประชุมพงศาวดารเล่ม 49, 2513, น.118)

นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับท่าช้าง ในรัชกาลสมเด็จพระอาทิตยวงศ์ ซึ่งในเวลานั้น มีการลงโทษออกญากําแหง ขุนนางคนสําคัญคนหนึ่งของราชสํานัก ดังที่ปรากฏในงานของเยเรเมียส ฟานฟลีท ความว่า

“ออกญากลาโหมไปเยี่ยมออกญากําแหงในคุก แสร้งทําเป็นประหลาดใจอย่างยิ่งที่ออกญากําแหงถูกถอดและแสดงความฉงนใจมากที่พระเจ้าแผ่นดินกระทําเช่นนี้ ออกญากลาโหมปลอบออกญากําแหงและแนะนําให้อดทนและรับรองว่าออกญากําแหงจะได้พ้นจากที่คุมขังโดยเร็ววัน ออกญากลาโหมชี้แจงว่าการกระทําของพระเจ้าแผ่นดินเป็นไปอย่างเจ้าชายหนุ่ม และว่าราษฎรโชคไม่ดีที่อยู่ภายใต้อํานาจกษัตริย์หนุ่มแต่ก็สัญญาว่าจะจัดการเรื่องนี้ให้และให้เป็นธุระของตนและออกญากําแหงจะได้ออกจากคุกในไม่ช้านี้ โดยรับรองว่าจะได้เป็นอิสระไม่พ้นคืนนี้ ออกญากลาโหมไม่เสียคําพูดเพราะประมาณ 2 ชั่วโมงก่อนตะวันตกดิน ออกญากําแหงถูกนําตัวจากคุกตรงไปยังประตูท่าช้าง (Sachem) ที่ฝั่งแม่น้ำเพื่อประหารชีวิต…เพชฌฆาตมัดออกญากําแหงติดกับหยวกกล้วย วางให้นอนลงบนพื้นดิน และฟันด้วยดาบโค้งที่สีข้างด้านซ้ายไส้พุงก็ไหลออกมา การฆ่าออกญากำแหงจบลงด้วยการเอาหวายแทงที่คอ แล้วเสียบประจานร่างไว้บนขาหยังทําด้วยไม้ไผ่ลําใหญ่ เพื่อให้เป็นตัวอย่างของผู้ถูกลงโทษในฐานสมรู้ร่วมคิดต่อต้านองค์พระมหากษัตริย์” (ประชุมพงศาวดารเล่ม 49, 2513, น.189-190)

จากข้อความดังกล่าวทําให้เห็นว่า ท่าช้างเป็นสถานที่สําคัญอีกแห่งหนึ่ง ที่นํานักโทษไปประหารชีวิตด้วยวิธีการทารุณ ซึ่งหลักฐานของฮอลันดาได้กล่าวไว้อย่างละเอียด นอกจากนี้ยังมีการประหารนักโทษที่เป็นสตรีชั้นสูงอีกด้วย ดังข้อความที่ว่า

“พระองค์ (พระเจ้าปราสาททอง) ปรารถนาที่จะได้ราชมารดาพระเจ้าแผ่นดินที่เพิ่งสวรรคต ซึ่งเป็นสตรีที่งามที่สุดคนหนึ่งในอาณาจักรมาเป็นสนม แต่พระนางแสดงความรังเกียจ ทรงปฏิเสธอย่างเด็ดขาดไม่ยอมไปยังพระราชวังตามกระแสรับสั่งที่มีมาถึงพระนาง ในที่สุดเมื่อเห็นว่าพระเจ้าแผ่นดินจะบังคับพระนางโดยพละกําลัง พระนางได้ตรัสว่า ‘พระเจ้าแผ่นดินเจ้าชีวิตของฉันไม่มีอีกแล้ว และโอรสของฉันก็สวรรคตแล้วด้วย ฉันก็เหนื่อยหน่ายต่อชีวิต ฉันเห็นว่าไม่มีประโยชน์อันใดที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่อทั้งสองพระองค์นั้นอีก แต่ขณะที่ฉันยังมีชีวิตอยู่ร่างกายของฉันจะต้องอยู่อย่างบริสุทธิ์และจะไม่ยินดีในโจรแย่งราชสมบัติและทรราชย์ผู้นี้เลย’ พระเจ้าแผ่นดิน (พระเจ้าปราสาททอง) ทรงกริ้วต่อการปฏิเสธคําตอบที่เผ็ดร้อนและการตําหนิติเตียนอันรุนแรงยิ่งนั้น ถึงกับทรงมีรับสั่งให้คร่าตัวพระนางไปที่ริมฝั่งน้ำ (ท่าช้าง) ให้สับร่างของพระนางออกเป็น 2 ท่อน ร่างส่วนที่มีหัวติดอยู่ให้ตรึงติดกับขาหยั่งไม้ไผ่ อย่างไรก็ตาม เมื่อพระภิกษุสงฆ์กราบทูลขอร้องพระองค์จึงอนุญาตให้ปลดร่างนี้ลงภายหลังที่ประจานอยู่ 2 วันแล้ว…ในกรุงศรีอยุธยามีพี่น้อง 2 สาว ซึ่งเคยรับใช้พระราชมารดาของพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่สวรรคตองค์ที่แล้ว (พระอาทิตยวงศ์) ในตําแหน่งนางพระกํานัลได้นั่งร่ำไห้อยู่ในบ้านของตนเนื่องจากการสิ้นพระชนม์ของพระราชมารดาของพระเจ้าแผ่นดินและพระโอรสของพระนาง มีผู้กราบทูลเรื่องนี้ต่อพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ (พระเจ้าปราสาททอง) พระองค์รับสั่งทันที ให้จิกผมนางทั้งสองลากไปยังฝั่งน้ำและให้ผูกเข้ากับหลัก เอาต้นกกรัดรอบคอดึงไว้มิให้เท้าแตะดิน แล้วพระองค์มีรับสั่งให้แหวะร่างออกเป็นสองซีกแล้วใส่เครื่องถ่างปากไว้ นางทั้งสองถูกปล่อยให้ตายในลักษณะเช่นนี้เมื่อบิดาของหญิงทั้งสองทราบเรื่องที่เกิดขึ้นกับบุตรสาวก็ไปยังที่ประหารชีวิตและแสดงความเศร้าโศกเสียใจ อันเป็นธรรมดาที่ต้องเกิดความรู้สึกเช่นนั้น เมื่อได้เห็นภาพอันน่าสังเวชสยดสยอง เมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงทราบเรื่อง ก็มีรับสั่งให้ผ่าชายคนนี้ตลอดตัวแล้วแขวนไว้บนขาหยั่งนั้น ด้วยความเหี้ยมโหดร้ายกาจในการลงพระอาญาเหล่านี้ย่อมปิดปากคนอื่นๆ ทั้งปวง…” (ประชุมพงศาวดารเล่ม 49, 2513, น.201-221)

@@@@@@@

ท่อนจันทน์กับการประหารชีวิตกษัตริย์


วิธีการประหารชีวิตด้วยท่อนจันทน์ ถือเป็นประเพณีการลงโทษชั้นสูงที่ใช้กับกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น การประหารชีวิตด้วยวิธีนี้มีกล่าวไว้ในกฎหมายตราสามดวงในส่วนที่เรียกว่า กฎมณเฑียรบาล ความว่า

“ถ้าแลโทษหนักถึงสิ้นชีวิตไซร้ ให้ส่งแก่ทลวงฟันหลังแลนายแวง หลังเอาไปมล้างในโคกพญา นางแวงนั่งทับตักขุนดาบ ขุนใหญ่ไปนั่งดูหมื่นทลวงฟันกราบ 3 คาบ ตีด้วยท่อนจันทน์แล้วเอาขุม นายแวงทลวงฟันผู้ใดเอาผ้าธรงแลแหวนทองโทษถึงตาย เมื่อตีนั้นเสื่อขลิบเบาะรอง”

นอกจากนี้ยังปรากฏประเพณีสําเร็จโทษ ในคําให้การชาวกรุงเก่าว่า การสําเร็จโทษเจ้านายคือเอาถุงแดงสวมตั้งแต่พระเศียรตลอดจนปลายพระบาท เอาเชือกรัดให้แน่น เอาท่อนจันทน์ทุบให้สิ้นพระชนม์แล้วใส่หลุมฝังให้เจ้าหน้าที่รักษาอยู่ 7 วัน ในหลักฐานของฮอลันดาอย่างจดหมายเหตุเยเรเมียส ฟานฟลีท ได้กล่าวถึงวิธีการประหารชีวิตด้วยท่อนจันทน์ดังนี้

“เพชฌฆาตให้พระองค์นอนลงบนผ้าแดงและทุบพระองค์ที่พระนาภีด้วยท่อนจันทน์ นี่เป็นวิธีการสําเร็จโทษที่ใช้กันในประเทศสยาม ซึ่งใช้กับเจ้านายในราชตระกูลเท่านั้น เสร็จแล้วเขาก็ใช้ผ้านั้นห่อพระสรีระและไม้จันทน์แล้วโยนลงไปในบ่อทิ้งให้พระศพเน่าเปื่อยไป”(ประชุมพงศาวดารเล่ม 49, 2513, น.135-137)

หลักฐานไทยและหลักฐานชาวต่างประเทศที่กล่าวอ้างถึงประเพณีการประหารชีวิตกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ดูจะกล่าวตรงกัน ข้อมูลในส่วนนี้ยังยอมรับได้ว่ามีความน่าเชื่อถือเป็นอย่างมาก

ไม้จันทน์ถือเป็นไม้เนื้อหอมชนิดหนึ่งและเป็นชนิดเดียวกันกับที่ใช้แกะสลักพระพุทธรูปบูชา ท่อนจันทน์มีลักษณะเป็นไม้กระบอง เมื่อใช้จะมีเจ้าพนักงานตีสลับกัน คล้ายการลงดาบบันคอนักโทษคือ จะมีไม้หนึ่ง ไม้สอง ไม้สาม

การทุบด้วยท่อนจันทน์นี้ทุบจนตายคาไม้ บางครั้งทุบแล้วเกิดไม่ตายทันที ร่างนั้นก็จะโยนลงหลุม เป็นการทรมานก่อนตาย และเจ้าพนักงานก็จะเฝ้าร่างนั้นให้แน่ใจว่าตายแน่ ประมาณ 7 วัน เมื่อร่างเน่าเปื่อยแล้วจึงกลบหลุม และไม่อนุญาตให้บรรดาญาติพี่น้องของผู้ตายนําร่างไปประกอบพิธีกรรม

ในหลักฐานของเยเรเมียส ฟานฟลีท ยังระบุไว้บางตอนว่า หากญาติพี่น้องของผู้ตายแสดงอาการเศร้าโศกเสียใจที่หลุมศพหรือในบ้าน ถ้ามีผู้รู้ก็จะถูกนําตัวไปประหารเช่นกัน


@@@@@@@

ข้อเท็จจริงของสถานที่ตั้ง วัดโคกพระยา สมัยอยุธยา

การตีความเรื่องวัดโคกพระยา ไม่ว่าจะเป็นการอ้างข้อความในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับต่างๆ และการวิเคราะห์ของนักประวัติศาสตร์รุ่นก่อน ต่างลงความเห็นสอดคล้องต้องกันว่า วัดโคกพระยาที่ประหารชีวิตกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งอยู่บริเวณทุ่งภูเขาทอง ใกล้คลองมหานาค ซึ่งผมเห็นว่าควรที่จะมีการตรวจสอบหลักฐานและตีความใหม่ ทั้งนี้โดยอ้างอิงจากหลักฐานชาวต่างประเทศ และแผนที่อยุธยาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 ระบุตําแหน่งที่ตั้งของวัดโคกพระยาสอดคล้องตรงกัน รวมไปถึงความน่าจะเป็นไปได้ในการควบคุมตัวนักโทษไปยังแดนประหาร เพราะถ้าหากวัดโคกพระยาตั้งอยู่ใกล้กับวัดภูเขาทองแล้ว การนํานักโทษไปประหารชีวิตถือเป็นเรื่องลําบากมาก

ในสมัยนั้นต้องเดินทางด้วยเรือ จากคลองเมือง (หากนํานักโทษออกจากวัง) ไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และเข้าคลองมหานาค ถึงวัดโคกพระยา หรืออีกเส้นทางหนึ่ง จากคลองเมืองผ่านคลองวัดศาลาปูน เข้าคลองมหานาค ถึงวัดโคกพระยา ซึ่งรวมระยะทางประมาณ 2.5 กิโลเมตร อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการชิงตัวนักโทษระหว่างทางอีกด้วย

แต่สําหรับสถานที่อีกแห่งหนึ่งที่หลักฐานต่างประเทศยืนยันนั้น มีความน่าเชื่อถือมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นจดหมายเหตุของเยเรเมียส ฟานฟลีท พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวัน วลิต (เยเรเมียส ฟานฟลีท) ที่ระบุตรงกันว่า สถานที่ประหารชีวิตกษัตริย์ของอยุธยาคือ วัดพระเมรุโคกพระยา หรือวัดโคกพระยา ตั้งอยู่ตรงข้ามกับพระบรมมหาราชวัง ดังความที่ว่า

“พระมหาอุปราชถูกนําตัวมากรุงศรีอยุธยา และถูกตัดสินให้สําเร็จโทษโดยเร็ว เมื่อพระองค์ทรงทราบคําตัดสิน พระองค์ทรงขอร้องโดยทันทีว่า ก่อนที่จะสิ้นพระชนม์ ขอให้ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวเพื่อทูลข้อราชการสําคัญหลายประการ…พระเจ้าแผ่นดินมิได้มีความซาบซึ้ง ในคําแนะนํา ทั้งมิได้เกิดความสมเพชเวทนาเลย พระองค์ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงความตั้งพระทัยซึ่งได้ยึดมั่นอยู่ ตรงกันข้ามกลับมีรับสั่งให้นําพระมหาอุปราชไปสําเร็จโทษโดยเร็ว พระมหาอุปราชจึงถูกนําตัวไปที่วัดชื่อพระเมรุ โคกพญา (Watprakhimin Khopija) ตรงข้ามกับพระราชวัง เพชฌฆาตให้พระองค์นอนลงบนผ้าแดงและทุบพระองค์ที่พระนาภีด้วยท่อนจันทน์ นี่เป็นวิธีสําเร็จโทษที่ใช้กันในประเทศสยาม ซึ่งใช้กับเจ้านายในราชตระกูลเท่านั้น เสร็จแล้วเขาก็ใช้ผ้านั้นห่อพระสรีระและไม้จันทน์แล้วโยนลงไปในบ่อทิ้งให้พระศพเน่าเปื่อยไป นี่เป็นวาระสุดพระมหาอุปราชผู้ไร้สุข ซึ่งสิ้นพระชนม์ลงเพราะทรงกล้าอ้างสิทธิในมงกุฎซึ่งเป็นสิทธิตามกฎหมายของพระองค์” (ประชุมพงศาวดารเล่ม 49, 2513, น. 135-137)

“หลังจากนั้นพระเจ้าแผ่นดินและพระราชมารดาก็ถูกนำตัวไปยังวัดปรักหักพังรกร้างวัดหนึ่งชื่อว่าวัดพระเมรุโคกพญา เพชฌฆาตให้พระองค์นอนลงบนพรมสีแดงและทุบพระองค์ด้วยท่อนไม้จันทน์ที่พระนาภีและโยนพระสรีระของทั้งสองพระองค์ลงไปในบ่อ ซึ่งพระองค์ทรงชนม์ที่นั้น…” (ประชุมพงศาวดารเล่ม 49, 2513, น. 178)

“สุดท้ายในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ปีที่แล้ว พระเจ้าแผ่นดินทรงปรารถนาจะกําจัดทุกสิ่งที่อาจเป็นภัยแก่พระองค์ พระองค์จึงทรงตัดสินพระทัยให้ประหารชีวิตพระโอรสที่เหลือสุดท้าย 2 องค์ ของพระเจ้าอยู่หัวในบรมโกศเสีย เจ้าชายองค์หนึ่งพระชนม์ได้ 16 พรรษา และอีกองค์หนึ่งมีพระชนม์ 18 พรรษา ฉะนั้นในเวลากลางคืนพระองค์จึงนำเจ้าชายไปที่หน้าวัดพระเมรุโคกพระยา อันเป็นที่ซึ่งกษัตริย์และเจ้านายองค์อื่นๆ ถูกสําเร็จโทษ ด้วยทรงตั้งพระทัยที่จะให้ประหารเจ้าชายทั้งสองเสียโดยวิธีเดียวกัน….” (ประชุมพงศาวดารเล่ม 49. 2513, น. 238)

จากหลักฐานที่นํามาอ้างดังกล่าวสามารถสรุปได้ว่า วัดโคกพระยา หรือวัดพระเมรุโคกพระยา น่าจะตั้งอยู่ตรงข้ามกับพระบรมมหาราชวังทางทิศเหนือ เพราะการเรียกว่า วัดพระเมรุโคกพระยา มีความสอดคล้องกับวัดหน้าพระเมรุซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะเมืองตรงข้ามพระบรมมหาราชวังเหมือนกัน และทางทิศเหนือของวัดนี้ปรากฏชื่อวัดโคกพระยา ดังในหลักฐานจากแผนที่ De Groote Siamse Rievier ME-NAM ของนาย Francois Valentijn เขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1726 ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ โดยระบุชื่อ “Wat kock pia” (วัดโคกพระยา) ได้อย่างตรงกับหลักฐานของนายเยเรเมียส ฟานฟลีท หรือวัน วลิต

อย่างไรก็ดี ยังมีข้อน่าสังเกตประการหนึ่งว่า นาย Francois Valentin ได้วาดลักษณะของวัดโคกพระยาโดดเด่น และมีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่แปลกตา คือมีอาคารทางตอนหน้าคล้ายโบสถ์ และด้านหลังก่อเป็นเนินทรงเจดีย์จํานวน 3 เนิน จึงทําให้น่าเชื่อว่าจากหลักฐานทั้งหมดข้างต้น (ที่มีอยู่ในเวลานี้) สามารถตั้งข้อสันนิษฐานใหม่ได้ว่า วัดโคกพระยาที่แท้จริงเป็นที่ประหารชีวิตของกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งอยู่ที่วัดโคกพระยา ตรงข้ามกับพระบรมมหาราชวังนั่นเอง จนกว่าจะมีหลักฐานอื่นที่มีความ น่าเชื่อถือมากกว่าหลักฐานนี้

@@@@@@@

บทสรุป

ผลจากการศึกษาสถานที่ประหารชีวิตกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์สมัยอยุธยาพบว่า ในหลักฐานพงศาวดารกรุงศรีอยุธยามีข้อความที่ก่อให้เกิดการตีความและมีข้อสมมติฐานของนักประวัติศาสตร์ระบุว่า ตั้งอยู่ใกล้วัดภูเขาทองและคลองมหานาค แต่จากการตรวจสอบหลักฐาน และศึกษาจากหลักฐานชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 พบว่าสถานที่ตั้งวัดโคกพระยาอันเป็นที่ประหารชีวิตกษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะเมืองตรงข้ามกับ พระบรมมหาราชวังและวัดหน้าพระเมรุ โดยมีชื่อว่า วัดพระเมรุโคกพระยา หรือวัดโคกพระยา โดยมีหลักฐานจากเอกสารของชาวฮอลันดาในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และหลักฐานจากแผนที่ที่เขียนขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ใครมีความเห็นเป็นอย่างอื่น ช่วยบอกผมด้วยหรือแย้งความคิดของผมก็ได้


 

หนังสืออ้างอิง :-
ภาษาไทย
- ประชุมพงศาวดารเล่ม 38. พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุ มาศ (เจิม). กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2512.
- ประชุมพงศาวดารเล่ม 39. พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทน มาศ (เจิม). กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2512.
- ประชุมพงศาวดารเล่ม 49. จดหมายเหตุวัน วลิต ฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2513.
- ศิลปากร, กรม. คําให้การชาวกรุงเก่า คําให้การขุนหลวงหาวัดและพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับ หลวงประเสริฐ. กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, 2515.
- สํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, คําให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง. กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์คุรุสภา, 2534

ภาษาอังกฤษ
- Jeremias van Vliet, The Short History of the Kings of Siam, Translated by Leonard Andaya. Bangkok : The Siam Society,1975.
- Jeremias van Vliet, Description of the Kingdom of Siam, Translated by L.F. Van Ravenswaay. Bangkok : The Siam Society, 1910.

ขอขอบคุณ :-
ที่มา : ศิลวัฒนธรรม, ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2542
ผู้เขียน   : เทพมนตรี ลิมปพยอม
เผยแพร่ : วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ.2565
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก : เมื่อ 5 กรกฎาคม 2565
URL : https://www.silpa-mag.com/history/article_89300
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 07, 2022, 07:03:00 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ