ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: จารึกลับ “ถ้ำเป็ดทอง” ของดีบุรีรัมย์ อายุร่วมพันปี ถ้าอยากดูต้อง “ลุยน้ำ” ไปส่อง  (อ่าน 178 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28413
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


จารึกผนังถ้ำเป็ดทอง (ภาพจากเฟซบุ๊ก Ubon Ratchathani National Museum : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี https://bit.ly/3WF6BSy)


จารึกลับ “ถ้ำเป็ดทอง” ของดีบุรีรัมย์ อายุร่วมพันปี ถ้าอยากดูต้อง “ลุยน้ำ” ไปส่อง

ถ้ำเป็ดทอง จังหวัดบุรีรัมย์ ชื่อนี้คนส่วนใหญ่อาจไม่ค่อยคุ้นเท่าใดนัก แต่ในแวดวงโบราณคดีแล้ว มีการค้นพบ “จารึก” อายุร่วมพันปีที่นี่ นับเป็นอีกหนึ่งของดีบุรีรัมย์ที่ไม่ควรพลาดชม

ในบรรดาจารึกโบราณที่แวดวงวิชาการศึกษากันนั้น คนทั่วไปอาจคุ้นชินกับภาพของการตั้งวางในแหล่งเก็บรักษาหรือแหล่งเรียนรู้ต่างๆ แต่จารึกจำนวนไม่น้อยก็ยังคงอยู่ในพื้นที่ทางธรรมชาติอันเป็นแหล่งต้นตอที่จารึกตั้งอยู่ หากพูดถึงในไทยแล้ว บุรีรัมย์ เป็นอีกหนึ่งแหล่งอาศัยของมนุษย์กว่า 5 แสนปีก่อน มีของโบราณที่น่าสนใจอย่าง “จารึกผนังถ้ำเป็ดทอง” ท่ามกลางบรรยากาศน่าค้นหา

จากการศึกษาทางโบราณคดี ทำให้พอทราบข้อมูลเบื้องต้นว่า บรรพชนบุรีรัมย์เป็นพวกเดียวกับบรรพชนคนสุวรรณภูมิ, อีสาน และคนไทย ซึ่ง สุจิตต์ วงษ์เทศ อธิบายว่า หลักฐานที่บ่งชี้คือชิ้นส่วนกะโหลกของโฮโมอีเรคตัส (Homo Erectus) มีอายุราว 5 แสนปี แม้หลักฐานนี้อาจต้องนำมาเปรียบเทียบกับการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มความชัดเจนให้มากขึ้น แต่สุจิตต์เชื่อว่า หลักฐานเหล่านี้ชี้ชวนให้เห็นว่า “บรรพชนคนสุวรรณภูมิและคนไทยร่อนเร่ตามแนวชายขอบเทือกเขาด้านตะวันตกตั้งแต่ยูนนานลงมาถึงพม่า-ไทย ต่อเนื่องไปถึงมาเลเซีย สิงค์โปร์ และพื้นที่ “ซุนดา” ถึงฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ตั้งแต่ 5 แสนปีมาแล้ว”

เชื่อว่า บรรพบุรุษเหล่านี้อาศัยอยู่ตามเพิงผาที่บ้านไร่ (ไฮ่) ตำบลสบป่อง กับถ้ำลอด ตำบลถ้ำลอด อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน เลือกตั้งถิ่นฐานตามถ้ำหรือเพิงผา โดยเคลื่อนย้ายหลักแหล่งไปตามแหล่งทรัพยากร ขณะที่ในพื้นที่บุรีรัมย์ในปัจจุบัน ก็จะพบร่องรอยอารยธรรมที่อยู่ในแหล่งธรรมชาติอย่างเช่นในผนังถ้ำ

@@@@@@@

สำหรับถ้ำเป็ดทอง ปัจจุบันอยู่ที่ตำบลปะคำ อำเภอปะคำ (ข้อมูลเดิมคือ ตำบลประคำ อำเภอนางรอง) จังหวัดบุรีรัมย์ ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทยโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ชี้ว่า เป็นจารึกจากพุทธศตวรรษ 12 มีทั้งที่อยู่ในผนังถ้ำด้านนอกและด้านในถ้ำ นอกจากนี้ ยังอ้างอิงถึงคำบอกเล่าว่า ในถ้ำเคยมีเสาหินค้ำเพดานถ้ำอยู่ แต่ปัจจุบันไม่พบเสานั้นแล้ว และไม่มีข้อมูลอื่นที่บ่งชี้ร่องรอยของเสา และไม่มีข้อมูลที่มีน้ำหนักพอจะยืนยันคำบอกเล่าเรื่องเสานี้

ฐานข้อมูลบรรยายลักษณะของพื้นที่ถ้ำเป็ดทองว่า “อยู่ในเทือกเขาเตี้ยๆ เขตอำเภอลำปลายมาศและอำเภอนางรองติดต่อกันระหว่างเทือกเขาในเขตลำปลายมาศ มีรอยหัก น้ำไหลผ่านได้ บริเวณถ้ำมีรอยน้ำเซาะ เป็นซอกหินขาดเป็นตอนๆ รูปคล้ายเรือโป๊ะบ้าง เรือกลไฟบ้าง”

บริเวณถ้ำเป็ดทอง พบจารึก 3 แห่ง

จารึกแห่งที่ 1 อยู่ภายในถ้ำ หอสมุดแห่งชาติกำหนดเรียกว่า “จารึกถ้ำเป็ดทองด้านใน บร. 3”
จารึกแห่งที่ 2 อยู่บริเวณผนังถ้ำด้านนอก หอสมุดแห่งชาติกำหนดเรียกว่า “จารึกถ้ำเป็ดทองด้านนอก บร. 4”
จารึกแห่งที่ 3 อยู่บริเวณผนังถ้ำด้านนอก เช่นเดียวกับจารึกแห่งที่ 2 หอสมุดแห่งชาติกำหนดเรียกว่า “จารึกผนังถ้ำเป็ดทอง บร. 5”

ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทยระบุว่า ปัจจุบันอักษรชำรุดและลบเลือนไปมาก และไม่สามารถอ่านได้ทั้งหมด

@@@@@@@

จารึกที่อยู่ด้านในถ้ำนั้น มีข้อมูลจากการศึกษาโดย ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ (George Cœdès) ซึ่งระบุว่าข้อความของจารึกถ้ำเป็ดทองด้านในนี้ เป็นข้อความเดียวกันกับ จารึกจรวยอัมปิล (Črûoy Ampĭl) (K. 116) และ จารึกถมอแกร (Thma Krê) (K. 122) ซึ่งพบในประเทศกัมพูชา แต่เชื่อว่า จารึกยังไม่เสร็จ ทำให้เนื้อความไม่สมบูรณ์ ทราบแต่เพียงว่ากล่าวถึงบิดาและมารดา

การศึกษาต่อมา คือ นำเนื้อหาของจารึกด้านในถ้ำมาเปรียบเทียบกับจารึกที่พบในกัมพูชา 2 หลัก คือ จารึกจรวยอัมปิลและจารึกถมอแกร ทำให้เชื่อได้ว่าน่าจะมีข้อความเดียวกัน และพอจะสันนิษฐานได้ว่า เนื้อหาของจารึกทั้ง 2 หลักข้างต้น สามารถบ่งชี้ถึงข้อความของจารึกด้านในถ้ำเป็ดทองได้

หากศึกษาโดยใช้ฐานคิดนี้ ย่อมมองได้ว่า จารึกในถ้ำเป็ดทองน่าจะทำขึ้นโดยรับสั่งของเจ้าชายจิตรเสน แห่งเมืองเศรษฐปุระ หรือ “อาณาจักรเจนละ”

ในจารึกด้านนอกปรากฏคำที่อ่านว่า “จิตรเสน” ทำให้เห็นว่าในขณะนั้น ยังมิได้ทรงขึ้นครองราชย์ (เป็นพระเจ้ามเหนทรวรมัน) พระองค์ทรงขอพระบรมราชานุญาตพระราชบิดาและพระราชมารดา สถาปนาพระศิวลึงค์ขึ้นด้วยความเคารพ อันแสดงให้เห็นว่า เจ้าชายจิตรเสนทรงนับถือศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวนิกายตามบรรพบุรุษ โดยเชื่อว่า เมื่อพระองค์ได้ชัยจากการสงครามก็มักสร้างศิวลึงค์เป็นเครื่องหมายแห่งชัย

@@@@@@@

ช่วงปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2562 ผศ. ดร. กังวล คัชชิมา จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร โพสต์คลิปการสำรวจจารึกผนังถ้ำเป็ดทองด้านใน ลงเฟซบุ๊กส่วนตัว (Facebook/Kang Vol Khatshima) แสดงให้เห็นว่า ต้องลุยน้ำเข้าไปเพื่อชมอย่างใกล้ชิด และได้บรรยายเพิ่มเติมว่า ลักษณะถ้ำแห่งนี้เป็นเพิงหิน แตกต่างจากถ้ำที่ต้องมุดน้ำเข้าไป จึงกล่าวได้ว่า ไม่ได้อันตรายอย่างที่กังวลหากรับชมจากภาพ แต่ที่เห็นว่าดูยากลำบากจากที่ระดับน้ำท่วมถึงคอนั้น เป็นเพราะระดับน้ำกับเพดานถ้ำยังแคบอยู่ ทำให้เข้าไปสำรวจได้ไม่สะดวก

หากเห็นสภาพถ้ำจากการสำรวจล่าสุดที่พบว่ามีน้ำเข้ามานั้น คาดการณ์ว่า ในยุคสมัยโบราณก่อนหน้านี้ไม่ได้มีสภาพดังเช่นที่เห็น แต่เนื่องจากพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงในสภาพพื้นที่อาจส่งผลกระทบต่อสภาพบริเวณรอบถ้ำ จนมีน้ำเข้ามาท่วมขัง

พื้นที่บุรีรัมย์เป็นหนึ่งในจังหวัดภาคอีสานที่เคยอยู่ใต้อิทธิพลอาณาจักรเขมร ในสมัยที่เขมรเรืองอำนาจมากที่สุดคือ สมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ซึ่งขยายอาณาจักรอย่างกว้างขวาง ทำให้มีร่องรอยทางประวัติศาสตร์หลายประการ หนึ่งในนั้นคือ “จารึก” ซึ่งพบมากโดยเฉพาะในบุรีรัมย์ จารึกที่พบได้บ่อยคือจารึกบนแผ่นศิลา มีทั้งอักษรปัลลวะ (เช่นจารึกผนังถ้ำเป็ดทอง) หลังปัลลวะ และอักษรขอม เชื่อว่า จารึกในบุรีรัมย์ที่เก่าแก่ที่สุดก็คือ จารึกปัลลวะ จาก “ถ้ำเป็ดทอง” นั่นเอง

สำหรับอักษรปัลลวะนั้น เชื่อว่า เผยแพร่มาจากอินเดียตอนใต้เข้ามาในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประมาณพุทธศตวรรษที่ 11-12

อ่านเพิ่มเติม :-

    - บรรพชนคน บุรีรัมย์ – คนอีสานมาจากไหน? กินอะไรกันในยุคแรกเริ่ม?
    - ข้อสันนิษฐานเรื่อง ประวัติศาสตร์การตั้งเมืองบุรีรัมย์ที่ “คลุมเครือ”
    - “ขอม” คือใคร? ศรีศักร วัลลิโภดม วิจารณ์ จิตร ภูมิศักดิ์






อ้างอิง :-
- จารึกผนังถ้ำเป็ดทอง. จารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). ออนไลน์. เผยแพร่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 (อัปเดต 2 กันยายน พ.ศ. 2558). เข้าถึง 26 มิถุนายน. 2562. <https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/537>
- “บรรพชนคนบุรีรัมย์-คนอีสานมาจากไหน? กินอะไรกันยุคแรกเริ่ม?”. ศิลปวัฒนธรรม. ออนไลน์. เผยแพร่  9 มกราคม พ.ศ.2562. เข้าถึง 26 มิถุนายน 2562. <https://www.silpa-mag.com/culture/article_25643>
- วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดบุรีรัมย์. คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระเกียรติพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542
- ภาพปกเนื้อหา “จารึกผนังถ้ำเป็ดทอง” จากเฟซบุ๊ก Ubon Ratchathani National Museum : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี

ขอขอบคุณ :-
ผู้เขียน : กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม
เผยแพร่ : วันพุธที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2566
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก : เมื่อ 26 มิถุนายน 2562
URL : https://www.silpa-mag.com/culture/article_34627
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ