สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

ธรรมะสาระ => สนทนาธรรม ทั่วไป ตามความชอบใจของท่าน => ข้อความที่เริ่มโดย: Admax ที่ เมษายน 30, 2012, 01:39:38 pm



หัวข้อ: วิธีการเบื้องต้นที่ใช้พิจารณาระลึกรู้ใน ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
เริ่มหัวข้อโดย: Admax ที่ เมษายน 30, 2012, 01:39:38 pm
ขอนอบน้อมแด่ พระพุทธเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
ขอนอบน้อมแด่พระธรรม ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว
ขอนอบน้อมแด่พระสงฆ์ ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ พระเถระ พระอริยะเจ้าทั้งหลาย  ผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ผู้ที่ควรแก่การเคารพนพน้อม

ธรรมทั้งหลายทั้งปวงที่ผมโพสท์กล่าวทั้งหมด เป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้และตรัสไว้ดีแล้ว ประเสริฐแล้ว หาประมาณมิได้ พึงปฏิบัติและให้ผลได้ไม่จำกัดกาล เป็นธรรมเพื่อให้เราทั้งหลายได้เห็นทางพ้นทุกข์ จนถึงที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ผมได้นำธรรมอันประเสริฐทั้งหลายเหล่านั้นมาพิจารณาปฏิบัติ กรรมฐาน สมถะ และ วิปัสนา ทำให้ผมได้รู้เห็นและขยายความข้อธรรมและแนวปฏิบัติต่างๆตามจริต และ สติกำลังร่วมกับปัญญาของผมได้ดังนี้...หากธรรมที่ผมได้โพสท์กล่าวนั้นมีความผิดพลาด ผิดเพี้ยน ไม่เป็นจริงด้วยประการใดๆ ขอท่านทั้งหลายพึงรู้ว่าธรรมนั้นมาจากความคิดพิจารณาด้วยสติปัญญาอันน้อยนิดของผมแล้วกลั่นกรองออกมาเป็นแนวทางปฏิบัตินั้นๆ หากเป็นคุณประโยชน์แก่ท่านทั้งหลายให้พึงระลึกรู้โดยจริงว่า ธรรมอันประเสริฐทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นแล เป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้และตรัสสอน ไม่ใช่ธรรมของผมแต่อย่างใด

บัดนี้ข้าพเจ้าขอแสดงธรรมเรื่อง วิธีการเบื้องต้นที่ใช้พิจารณาระลึกรู้ใน ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ตามวิธีที่ผมศึกษาเรียนรู้ปฏิบัติมา เพื่อเป็นประโยชน์ในการดำเนินไปในธรรมดังนี้


การที่เราเริ่มศึกษาสมาธิ แบ่งเป็น ๓ ประเภทดังนี้คือ

๑. บุคคลผู้สนใจอยากศึกษาเรียนรู้ธรรมนำมาใช้กับชีวิต
๒. บุคคลผุ้สนใจอยากศึกษาธรรมเนื่องจากมีความทุกข์มากแล้วอยากให้ทุกข์เบาบางลง
๓. บุคคลผู้สนใจศึกษาธรรมเพื่อจะทำให้ถึงที่สุดแห่งกองทุกข์

บุคคลทั้ง ๓ ประเภทนี้ ล้วนต้องเริ่มจากการที่ใจต้องยอมรับในธรรมจริง และ ศรัทธาจริงๆก่อน จากนั้นต้องพยายามที่จะทิ้งสิ่งต่างๆไว้เบื้องหลังก่อน เพื่อที่จะเปืดใจยอมรับสิ่งใหม่ๆเข้ามา เพราะว่าหากยังตั้งมั่นใจจุดที่ตนเป็นอยู่ ไม่ว่า รัก โลภ โกรธ หลง เวทนา จิต ธรรม มันก็จะเต็มไม่สามารถรับรู้ใดๆได้อีก ยกตัวอย่าง หากเรารินน้ำไว้เต็มแก้ว เมื่อรินมาอีกน้ำย่อมล้นหกกระจายไปทั่ว แต่หากว่าน้ำที่เต็มแก้วอยู่นั้นเรากินไปแล้วครึ่งแก้วเหลือครึ่งแก้ว เราก็ยังสามารถรินเพิ่มให้เต็มแก้วได้ใหม่อีกโดยที่น้ำไม่หกกระเซ็นเลอะเทอะ
เมื่อทำได้อย่างข้างต้นแล้วให้น้อมรับเอาพระธรรมคำสอนต่างๆเอามาพิจารณาในตน ว่าธรรมนั้นมีส่วนใดบ้างที่ใช้ได้กับเราแล้วก็จะเริญควบคู่กันไปกับความรู้เดิมที่ใช้ได้กับเรามันจะทำให้เรามีทางเลือกในการศึกษาเพิ่มขึ้น จนถึงเมื่อจุดๆหนึ่งที่เราจับจุดที่เข้ากับจริตเราได้แท้จริงแล้วก็ให้เพียรภาวนา กัมมัฏฐานไป แต่ก็ยังต้องเรียนรู้เพิ่มเติมไปเรื่อยๆ
         โดยอย่าคิดหวังว่าจะบรรลุในวินาทีนี้ เพราะเราไม่ทราบว่าเราสะสมมาพอแล้วหรือยัง ดังนี้นจึงต้องค่อยๆเป็นไป อย่าคิดหวังว่าอยากมีญาณ มีฌาณ อย่ามุ่งหวังเพื่ออิทธิฤทธิ์ เพราะสิ่งเหล่านี้จะกระทำให้คุณเกิดความสำคัญมั่นหมาย เกิดเป็นความทะยานอยาก หลงตนไป
         เมื่อกระทำได้อย่างเบื้องต้นแล้วนั้นให้พิจารณาถึงความจริง 4 ประการ คือ อริยะสัจ 4 โดยพิจารณาดังนี้

1. พิจารณาทุกข์เป็นเบื้องต้น พิจารณาว่า "ผล คือ ทุกข์ มันเป็นเช่นไร" ความโศรกเศร้าร่ำไรรำพัน ความคับแค้นกายใจ ไม่สบายกายใจ ความเจ็บป่วยไข้ทั้งหลายเหล่านี้มันคืออะไร ความไม่สมปารถนามันเป็นยังไง ความผิดหวังเป็นยังไง ความพรัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจ หรือความประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รักที่พอใจมันเป็นเช่นไร
         เมื่อรู้ว่าทุกข์เป็นยังไงแล้ว ก็ให้เราเริ่มพิจารณาว่า เมื่อเราประสบเหตุการณ์ หรือ เกิดเสพย์อารมณ์ความรู้สึกใน รัก โลภ โกรธ หลง มันส่งต่อไปเป็นตัณหาอย่างไร เช่น อยากได้ อยากมี อยากเป็น หรือ อยากที่จะไม่พบ-ไม่เจอ อยากที่จะไม่ให้มันเกิดกับ หรือ อยากกำหนัดใคร่ได้ พอใจยินดี อยากปารถนาที่จะเสพย์ สืบต่อมาให้เรามีความสภาพจิตรู้สึกทุกข์อย่างไร จากนั้นจำแนกความทุกข์ในแต่ละอย่างตามเวทนาอารมณ์นั้นๆที่ประสบพบเจอว่ามันอัดอั้น มันทะยาน มันคับแค้น มีบีบใจ มันกรีดใจ หรือ มันใจหล่นหวิว ฯลฯ

2. พิจารณาหาเหตุปัจจัยแห่งทุกข์นั้นๆ คือเมื่อเราจำแนกความทุกข์ในแต่ละอย่างตามเวทนาอารมณ์นั้นๆที่ประสบพบเจอได้แล้วนั้น ให้เรามองลงอย่างละเอียดอ่อนถึงความเป็นไปของทุกข์นั้นๆ เพื่อหาเหตุปัจจัยของทุกข์ที่เกิดกับเราดังนี้

         ๒.๑ เริ่มจากผลลัทธ์ของมัน นั่นก็คือ ความทุกข์ที่เราเป็นอยู่นั้นเอง เช่น ขณะนี้กำลังเสียใจ โศรกเศร้าร่ำไรรำพัน คับแค้นกาย-ใจ กรีดใจ หวีดทะยานยาก เกลียดแค้น พยาบาท หรือ เกิดสิ่งใดๆอยู่

         ๒.๒ จากนั้นมองถอยออกไปที่ละก้าว เริ่มจากพิจารณาหา "ตัวประกอบที่ช่วยให้มันดำเนินการออกมาเป็นผล"
                 ยกตัวอย่างเช่น
                 เมื่อมีคนมาด่าเรา พูดไม่ดีกับเรา มาใส่ร้ายด่าว่าเราเป็นต้น เราเกิดสติรู้อยู่ในใจว่าขณะนี้กำลังทุกข์ใจ รู้สึกว่าสภาพกายและจิตมีความรู้สึกกรีดสั่นปะทุใจ อึดอัดใจ ขุ่นข้องขัดเคืองใจ อัดอั้นคับแค้นกาย-ใจ กายสั่น ลมหายใจแสบร้อนเป็นต้น ตัวดำเนินไปในทุกข์นั้นคือสิ่งใด ความไม่อยากมี ไม่อยากเป็น ไม่ใคร่ได้ยินดี สิ่งนี้ใช่ไหมที่ทำให้เกิดความคับแค้นกาย-ใจ ถ้าพิจารณาลงแล้วจะเห็นว่าตัวประกอบที่ช่วยให้เกิดเป็นทุกข์ คือตัวนี้ นั่นคือ "วิภวะตัณหา" นั่นเอง

         ๒.๓ เมื่อรู้ตัวประกอบช่วยดำเนินการให้เป็นผลแล้ว ให้เราถอยออกไปอีก 1 ก้าว มองดูว่ามีสิ่งใดที่เป็น "ตัวปรุงแต้มแต่งเติม" มันขึ้นมา ให้เกิดสืบต่อเป็น "ตัวประกอบที่ช่วยให้มันดำเนินการออกมาเป็นผล"
                 ยกตัวอย่างเช่น
                 เมื่อเรารู้ว่าวิภวะตัณหานั้นเองที่เป็น ตัวประกอบที่ช่วยให้เกิดเป็นทุกข์ในครั้งนี้ ก็ให้เราถอยออกพิจารณาว่าเพราะมีสิ่งใดที่ปรุงแต่งจิตเกิดขึ้นกับเรา จึงทำให้เราเกิดเป็น วิภวะตัณหา เช่น เรานั้นกำลังประสบสิ่งใดอยู่
                 พิจารณาดังนี้ คือ ที่เราทุกข์ใจ จากการเกิดวิภวะตัณหานี้เพราะว่าเราได้ประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รักที่พอใจทั้งหลาย ซึ่งสิ่งนี้จะมีเกิดแก่เราได้ เพราะเรามีความตรึกถึง นึกถึง ตรองถึง คำนึงถึง เกิดประกอบกับความรัก โลภ โกรธ หลงนั้นเอง ทีนี้ทวนพิจารณาดูว่า เมื่อมีคนมาด่าว่าเรา พูดไม่ดีกับเรา จิตเราเกิดวิภวะตัณหาจากความประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รักที่พอใจ ซึ่งความประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รักที่พอใจนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็เพราะมาจากความตรึกนึกคิดที่เกิดประกอบกับความ รัก โลภ โกรธ หลง ถ้าพิจารณาลงแล้วจะเห็นว่าเพราะ "ความนึกคิดที่เป็นอกุศลจิตทั้งหลาย" นี่เองที่ทำให้เกิด ตัณหา และ ความทุกข์

         ๒.๓ เมื่อรู้ตัวการปรุงแต้มแต่งเติมแล้ว ก็ให้เราถอยออกไปอีก 1 ก้าว เพื่อมองดูว่ามีสิ่งใดที่เป็น "ตัวสาเหตุเบื้องต้นที่ทำให้มันเกิดตัวการปรุงแต้มแต่งเติม"
                 ยกตัวอย่างเช่น
                 พิจารณาดังนี้  คือ  ที่เรามีทุกข์เพราะมีตัณหา // มีตัณหาเพราะความนึกคิดที่เป็นอกุศลจิต // นึกคิดในอกุศลได้...เราก้อต้องมีสิ่งที่เราตั้งความสำคัญมั่นหมายเอาไว้ในใจเป็นแน่แท้ ว่าสิ่งใดที่เราถูกใจที่เราต้องการอยากได้ หรือ สิ่งใดที่เราไม่ถูกใจ สิ่งใดที่ขัดเคืองใจเราที่เราไม่ต้องการอยากได้(ความสำคัญมั่นหมายไว้ในใจ คือ ความจำได้จำไว้มั่นหมายตั้งความสำคัญกับสิ่งต่างๆเอาไว้ในใจ ที่เราเรียกว่า "สัญญา" นั่นเอง) ทีนี้ลองมาทวนพิจารณาดูดังนี้ว่า เมื่อมีคนมาด่าว่าเรา พูดไม่ดีกับเรา จิตเราเกิดวิภวะตัณหา เพราะมีความตรึกนึกคิดที่เป็นอกุศลจิต ที่ตรึกนึกคิดเพราะใจมีความสำคัญสำคัญมั่นหมายกับสิ่งนั้นๆ  ถ้าพิจารณาลงแล้วจะเห็นว่าเพราะ "ความสำคัญมั่นหมายของใจ" นี่เองที่ทำให้เกิดความนึกคิดเป็นถูกใจ ไม่ถูกใจ ก่อเกิดเป็น ตัณหา และ ความทุกข์

         ๒.๔ เมื่อรู้ "สาเหตุเบื้องต้นทำให้มันเกิดตัวการปรุงแต้มแต่งเติม" แล้ว ให้ถอยออกมาอีกก้าวเพื่อพิจารณาหา "ตัวแก่นแท้ของเหตุแห่งทุกข์นั้น" ตัวนี้ล่ะที่เขาเรียกกันว่า "สมุทัย คือ แหตุแห่งทุกข์"
                 ยกตัวอย่างเช่น
                 พิจารณาดังนี้ คือ ที่เรามีทุกข์เพราะมีตัณหา // มีตัณหาเพราะความนึกคิดที่เป็นอกุศลจิต // นึกคิดในอกุศลได้เพราะเรามีความสำคัญมั่นหมายเอาไว้ในใจ // ความสำคัญมั่นหมายของใจจะเกิดขึ้นได้นั้น สภาพจิตเราก็ต้องเคยได้รับรู้สิ่งต่างๆเหล่านั้นมาก่อน แล้วเสพย์เสวยความรู้สึกพอใจยินดี(โสมนัส) หรือ มีความไม่พอใจยินดี(โทมนัส) แก่สิ่งนั้นๆ // เพราะมีเหตุอยู่ที่ความโสมนัสและโทมนัสเช่นนี้นี่เอง จึงเกิดสัญญาสำคัญมั่นหมายไว้แก่ใจ // จึงสืบต่อมาเป็นความตรึกนึกคิดในอกุศลจิตสืบต่อมาเป็นตัณหา // เมื่อตัณหาเกิดทุกข์ก็เกิดตาม ถ้าพิจารณาลงแล้วจะเห็นว่าเพราะ "เรามีความพอใจยินดี และ ไม่พอใจยินดี" นี่เองที่เป็นสมุทัย หรือ เหตุแห่งทุกข์

3. หนทางแห่งการดับทุกข์ เมื่อหากเราพิจารณาเห็นถึงเหตุแห่งกองทุกข์นั้นแล้ว ณ เวลานั้นเราจักประจักษ์เห็นทางออก หรือ เห็นทางแห่งการดับทุกข์ คือ มรรค ทางแห่งมรรคที่เห็นเป็นเบื้องต้นนั้นเริ่มแรกจะมีมากมายหลายทาง แต่จะมีแค่ทางเดียวที่ตรงกับการดับทุกข์ตามจริตของเรา ให้เราพิจารณาทีละทางแล้วเมื่อเห็นก็ให้เริ่มปฏิบัติ แม้มันต้องใช้ความพยายามตั้งมั่นมากก็ให้ค่อยเพียรทำไป แล้วจะเห็นทางที่ดับทุกข์ของเราที่ใช้ได้จริงเอง เมื่อทางไหนปฏิบัติแล้วดับได้จริงให้เพียรพิจารณามีสติระลึกรู้เสมอว่าทางนี้ดับได้จริงเมื่อมันเกิดขึ้นอีกก็ให้ใช้ทางนั้นดับ แต่ถ้าหากดับไม่ได้ก็แสดงว่าชั่วขณะจิตนั้นจริตเราได้เปลี่ยนแปรไปก็ให้พิจารณาตามลำดับขั้นใหม่อีกจนเห็นทางดับทุกข์ที่ใช้ได้
         "วรรคสุดท้ายของมรรคแล้วนั้นหัวใจหลักอยู่ที่ กาย วาจา ใจ ชอบ คงอยู่แห่งความเป็นกุศล และจุดที่เป็นศูนย์รวมของ กาย วาจา ใจ นั้นก็คือ สติ ในมรรคนั้นคือ สัมมาสติ ความระลึกชอบ (สติปัฏฐานสูตร) นั่นเอง"

4. ความดับทุกข์ นั่นก็คือ ความสุขที่ได้รับจากการดับทุกข์เหล่านั้นแล้ว ความสุขนี้นั้นแค่เรามองเห็นทางดับทุกข์ในเริ่มแรกทั้งที่ยังไม่ได้กระทำปฏิบัติ เราก็สามารถเห็นได้ในอุดมคติ โดยเป็นมโนจิตที่เรานึกเห็นปรุงเห็นก่อนแต่ยังไม่ได้เป็นจริง จะเป็นจริงก็ต่อเมื่อเราสามารถปฏิบัติและดับทุกข์นั้นได้แล้วจึงจะได้พบความสุขที่แท้จริงนี้ ตัวนี้เป็นผลมาจากการปฏิบัติมรรคเพื่อพ้นทุกข์


หัวข้อ: Re: วิธีการเบื้องต้นที่ใช้พิจารณาระลึกรู้ใน ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
เริ่มหัวข้อโดย: Admax ที่ พฤษภาคม 04, 2012, 01:38:43 pm
5. เมื่อพิจารณาจนเห็นแจ้งทั้ง 4 ข้อข้างต้นนี้แล้ว ให้พึงระลึกพิจารณากลับไปกลับมาดังนี้ว่า...

- ความติดข้องใจใดๆสืบต่อเสพย์เสวยอารมณ์ความพอใจยินดี(โสมนัส) และ ความไม่พอใจยินดี(โทมนัส) เป็น สมุทัย

- ผลของการดำเนินไปแห่งความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี เป็น ทุกข์

- รู้แจ้งสัจธรรม เห็นในสภาพจริงแห่งปรมัตถธรรม ดำรงอยู่ในกุศล สติ ศีล สมาธิ พรหมวิหาร๔ ทาน คิดดี พูดดี ทำดี เป็น มรรค

- การดับไปแห่งความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี ถึง อัพยกตธรรม เป็น นิโร


** เบื้องต้นที่เริ่มศึกษาธรรมให้เริ่มเรียนรู้อย่างนี้ๆให้ถ่องแท้เป็นเบื้องต้นก่อน อย่าเพิ่งใปคิดว่าอยากมี ฌาณ มี ญาณ มี ฤทธิ์ มี เดช หรือ จนเก่งรู้หมดแล้ว และ ที่สำคัญ คนส่วนมากมองว่าต้องรู้ต้องเก่ง "สติปัฏฐาน 4" ต้องเข้าใจมองหรือเห็นอย่างนั้นอย่างนี้ มีแสง เห็นแสงเห็นอะไร ถ้าหากคิดอย่างนี้อยู่ อย่าว่าแต่สติปัฏฐานสูตรเลย สมาธิก็ยังไมได้ เพราะยังไม่รู้อริยะสัจ 4 เป็นเบื้องต้นก็ไม่รู้พิจารณาแยกสติปัฏฐานสูตรได้ เพราะว่าสติปัฏฐานสูตรอยู่ในส่วนหนึ่งของมรรค 8 คือ สัมมาสติ และ วิปัสนาฌาณก็ต้องพึ่งอุปจารสมาธิจนถึงอัปปนาสมาธิ
         หากศึกษาสติปัฏฐานสูตรหรือวิปัสนาโดยไม่มีกัมมัฏฐานสมาธิ และ ไม่ได้ศึกษาอริยสัจ 4 ไม่เคยศึกษาเพื่อพิจารณาหาเหตุ หาปัจจัย ที่ส่งเป็นผล เราก็จะไม่รู้ไม่เข้าใจใน เหตุ ปัจจัย ความเป็นไปที่เกิดขึ้นในสภาวะธรรมนั้นๆที่เรากำลังพิจารณาอยู่ในสติปัฏฐานได้ และ สุดท้ายเมื่อรู้สติปัฏฐานสูตรถ่องแท้ จนแม้กระทั่งบรรลุ สุดท้ายก็จะมองเห็นในอริยะสัจ 4 เป็นหลักดังเดิม เพราะเมื่อบรรลุนั่นแล้วก็จะเห็นความไม่มีตัวตนบุคคลใดหรือสิ่งใดอันที่จะก่อเกิดประโยชน์ใดๆแก่ตนเองและคนอื่นได้ นอกจากทุกข์ เหตุปัจจัยของทุกข์ และทางดับทุกข์

วิธีการพิจารณาปฏิบัติในข้อธรรมเบื้องต้น เพื่อความเข้าสู่สภาพกุศลจิตให้ดำเนินเข้าถึงมรรค ดูได้ตาม Link นี้ครับ http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=7456.0 (http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=7456.0)