ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: มจร ให้อะไร : วิถีชีวิตนอกมหาจุฬา ฯ  (อ่าน 480 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28409
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
มจร ให้อะไร : วิถีชีวิตนอกมหาจุฬา ฯ
« เมื่อ: กันยายน 16, 2020, 05:35:33 am »
0




มจร ให้อะไร : วิถีชีวิตนอกมหาจุฬา ฯ

เมื่อวานนี้ ผู้เขียนในฐานะศิษย์เก่าไปร่วมงานครบรอบ 133 ปีแห่งการก่อตั้งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หรือ มจร สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของคณะสงฆ์ไทยฝ่ายมหานิกาย

มหาจุฬา ฯ วันนี้แตกต่างกับยุคที่ผู้เขียนเรียนเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้วอย่างมาก แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนคือ เป็นสถาบันการศึกษา “สำหรับคนยากจน คนชนบท” อย่างแท้จริง

แม้จะมีตึก มีอาคารเรียน มีหอพัก ผุดขึ้นมากมาย มีบรรยากาศเหมือนกับมหาวิทยาลัยทั่วไป บางเรื่องดีกว่ามหาวิทยาลัยข้างนอกด้วยซ้ำไป อย่าเช่น ค่าเทอม การเป็นอยู่ และการเป็นการเองระหว่างอาจารย์กับศิษย์

เดิมมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้ สถาปนาโดย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อปีพุทธศักราช 2430 เพื่อให้พระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์ ได้ศึกษาพระไตรปิฏกและวิชาชั้นสูง

ปัจจุบันมหาจุฬา ฯ ได้แผ่กระจายครอบคลุมมีวิทยาเขตประมาณ 40 จังหวัด มีสถาบันสมทบและสาขาต่างประเทศหลายประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของมหาจุฬาฯ ที่ต้องการให้เป็น “มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาระดับโลก”


@@@@@@@

ยุคที่ผู้เขียนเรียนเป็นยุคก่อนปี 2540 คนข้างนอกมักดูถูกดูแคลนว่า เป็นมหาวิทยาลัยเถื่อนบ้าง จบไปแล้ว “สมัครงานไม่ได้” บ้าง เพราะสาขาที่เรียนคือ สาขารัฐศาสตร์ ยุคนั้น ก.พ.ยังไม่รับรอง

ตอนเรียนอาศัยอยู่วัดอรุณราชวราราม หากจำไม่ผิดค่าเทอม 750 บาท ทุกเช้าหลังฉันเช้าเรียบร้อย หากไม่มีอะไรจะข้ามฟากฟรีแล้วเดินไปยังร้านนายอินทร์ ท่าพระจันทร์ ไปอาศัยมุมนั่งอยู่มุมหนึ่งแล้วอ่านหนังสือใหม่ ๆ เหตุผลที่ทำเช่นนี้เพราะไม่มีเงินซื้อหนังสือ ใกล้เพลซื้อข้าวบ้าง ข้าวเหนียาวไก่ย่าง แล้วไปฉันบนตึก มจร วัดมหาธาตุ แล้วภาคบ่ายก็เรียนหนังสือต่อ

ตอนหลังย้ายไปเรียนที่ มจร วัดศรีสุดาราม กิจวัตรส่วนใหญ่ก็ทำแบบนี้ คือ ฉันเช้าเสร็จแล้วก็แอบไปอ่านหนังสือที่ร้านนายอินทร์ ภาคบ่ายไปวัดศรีสุดาราม สมัยก่อนต้องนั่งรถกระเปาะที่ท่ารถไฟ ไม่มีรถเมล์ ซึ่งตอนหลังมี แต่บางคราวก็เต็มคัน ยืนเบียดเสียดกันและออกเป็นกะ บางทีทันบ้างไม่ทันบ้าง จะอาศัยรถเมล์ทั่วไป ก็ไม่เต็มใจรับพระภิกษุ-สามเณรกันสักเท่าไร

ยุคก่อนอาจารย์สอนมีเงินเดือนไม่ค่อยดี บางคนสอนบ้างไม่สอนบ้าง บางรายเจอหน้าเปิดเทอมวันแรกและปิดเทอม แค่นั้น

ห้องสมุดยุคก่อนก็ไม่มีหนังสือใหม่ ๆ มีแต่หนังสือเก่า ๆ เหมือนรับบริจาคมา วันไหนอาจารย์ท่านไม่เข้าสอน ผู้เขียนมักนั่งรถไปยังห้องสมุดคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชื่อ ดิเรก ชัยนาม นั่งอ่านอยู่ตรงนั้น หนังสือที่ชอบมาก คือ กิเลสการเมือง ที่เขียนโดย ท่านสมัคร  สุนทรเวช



การเรียน มจร ยุคผู้เขียนต้องอดทนและแสวงหาความรู้นอกห้องให้มากที่สุด ซึ่งก็เข้าใจคณาจารย์ผู้สอน เพราะการเป็นอาจารย์ มจร ยุคผู้เขียนเงินเดือนน่าจะไม่พอใช้ เพราะ มจร ยังไม่ได้เป็นมหาวิทยาลัยที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่เหมือนยุคปัจจุบัน

เมื่อจบออกมาลาสิกขา สมัครงาน ส่วนใหญ่ข้างนอกไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนไม่รู้จัก “มหาจุฬา ฯ”  บางคนเข้าใจว่า คือ “จุฬาฯ” ถามว่าจบจากไหนมา จบจากมหาจุฬาฯ ครับ ตอนแรกชื่นชมมาก แต่พอไปอ่านทรานสคลิปหรือใบรับรอง เป็น “มหาวิทยาลัยสงฆ์” ส่วนมากส่ายหน้า ปฎิเสธรับทำงาน เพราะมองว่าเรา “เป็นคนไม่เก่ง ไม่ทันสังคม ไม่มีความรู้” เคยไปสมัครงานแม้กระทั้งบริษัทจัดงานศพ ก็ยังไม่รับ เพราะอาจมองว่า เราไม่เชี่ยวชาญพอ

ความจริง มหาจุฬา ฯ ให้ทั้ง วิชาการ วิชาชีพ และวิชาชีวิตจริง ๆ กล้าพูดว่าไม่แพ้มหาวิทยาลัยข้างนอก ที่สอนเฉพาะวิชาการและวิชาชีพ แต่ไม่เคยสอนวิชาชีวิต

วิชาชีวิต เมื่อผู้เขียนมาอยู่ข้างนอก อันดับแรก เรามี ความอดทน ความขยัน ความรับผิดชอบ ทำงานเกินวันและ 8 ชั่วโมงได้ ไม่เคยต่อรองเรื่องเงินเดือน เจ้านายสั่งให้ทำอะไร ไม่เสร็จไม่จบ ไม่ยอมเลิก และยอมเป็นคนโง่ เพื่อให้สอนและเรียนรู้ตลอดเวลา เพราะวิชาชีวิตข้างนอกเรื่องงานเราต้องยอมว่า “เราฉลาดน้อย” จริง ๆ

@@@@@@@

มีเรื่องเล่า ตอนที่ได้งานใหม่ ๆ เจ้านายเป็นเพื่อนรุ่นพี่ปริญญาโท ตอนเรียนที ม.เกริก วันไปทำงานวันแรก หัวหน้างาน รู้ว่า เราจบจากพระมา คำพูดแรกที่ได้ยิน คือ “เอามหามาทำไม ทำอะไรได้ เขียนบทโทรทัศน์นะ ไม่ใช่มาเขียนคำเทศน์” เราฟังแล้วก็ได้แต่ยิ้ม เพราะตอนนั้นเราไม่เป็นงานจริง ๆ  คือ มีแต่ความรู้ แต่การทำงาน เพื่อให้เป็น วิชาชิพ หรืออาชีพ ยังไม่เป็นจริง ๆ ดั่งเขาว่านั่นแหละ

สุดท้าย 2 ปีต่อมา ผู้เขียนมาทำแทนหัวหน้าคนนี้ รับผิดชอบผลิตรายการโทรทัศน์ “กรองสถานการณ์” ทางช่อง 11 และต่อมารับบทบาททำรายทางช่อง 11 ตลอดระยะเวลา 13 ปีไม่ต่ำกว่า 50 รายการ บางวันต้องรับผิดชอบไม่ต่ำกว่า 3 รายการต่อวัน ยิ่งสถานการณ์การเมืองตึงเครียด มีการชุมนุม ทำงานตั้งแต่ 6 โมงเช้า จนถึงเที่ยงคืน ในการคิดประเด็น ตามแขก เขียนบท ประสานงานกับทีมงาน บางเหตุการณ์ทำงาน 3 – 4 เดือน เต็ม ๆ เหตุผลที่เราทำงานได้แบบนี้ เพราะเรามีดี คือ ความอดทน ความขยันและความรับผิดชอบ ที่เราได้ฝึกมาตั้งแต่เป็นพระนิสิต มจร

นักการเมือง ข้าราชการไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ คิดว่าน้อยรายที่ไม่เคยพบหรือสนทนากับผู้เขียนในฐานะโปรดิวเซอร์รายการ แต่ผู้เขียนก็ไม่เคยที่จะไปตีสนิท เพราะคิดว่า เราคือสื่อ เขาคือ นักการเมือง คนทำงาน หน้าที่เรา คือ ตรวจสอบและให้พื้นที่ ส่วนเขาจะคิดอะไรกับเราก็เรื่องของเขา ต่างคนต่างทำหน้าที่ มีนักการเมืองเคยชวนไปทำงานพรรค มีทหารเคยชวนไปให้รับราชการทหาร ผู้เขียน ปฎิเสธทุกรายไป

ที่เล่ามาทั้งหมด เพื่อขอบคุณ มหาจุฬา ฯ ขอบคุณคณาจารย์ และขอบคุณผู้สถาปนา เพราะหากไม่มีมหาจุฬา ฯไม่มีผู้เขียนทุกวันนี้...




ขอบคุณ : https://www.posttoday.com/dhamma/632843
คอลัมน์ : มจร ให้อะไร : วิถีชีวิตนอกมหาจุฬา ฯ โดย อุทัย มณี           
วันที่ 13 ก.ย. 2563 ,เวลา 11:55 น.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ