ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ถือตนเป็นใหญ่ vs ถือธรรมเป็นใหญ่  (อ่าน 4669 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28431
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
ถือตนเป็นใหญ่ vs ถือธรรมเป็นใหญ่
« เมื่อ: พฤษภาคม 10, 2012, 11:49:40 am »
0

พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาที่สอนให้"ถือธรรม"

ธรรมาธิปไตย โดยสุชีพ ปุญญานุภาพ
    “พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาที่สอนให้ถือธรรม คือความถูกต้องตามเหตุผลเป็นประมาณ ที่เรียกว่า ธรรมาธิปไตย ไม่สอนให้ถือตนเองเป็นใหญ่ หลักคำสอนเรื่องผู้เห็นพระพุทธเจ้า คำสอนเรื่องอามิสบูชาและปฏิบัติบูชา และการตั้งพระธรรมวินัยไว้เป็นพระศาสนาแทนพระองค์ของพระพุทธเจ้า ก็เป็นการสอนแบบธรรมาธิปไตยนี้”

    หลักการข้อนี้ของพระพุทธศาสนา เป็นหลักกว้างขวางครอบคลุมถึงคุณงามความดีอื่น ๆ อีกหลายอย่าง ถือกันว่าทันสมัยและสูงในคุณค่ารวมทั้งหลักเรื่องการทำความดีเพราะเห็นแก่ความดี

    ผู้เขียนขออัญเชิญพระนิพนธ์ ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส มาตั้งเป็นประธานในบทนี้ เพราะรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณของพระองค์ท่าน ในเมื่อได้อ่านแล้วรู้สึกจับใจ ทำให้พยายามค้นคว้าเฉพาะในข้อนี้เป็นพิเศษมาตั้งแต่ในสมัยที่ยังเล่าเรียนพระปริยัติธรรมอยู่ 



    พระนิพนธ์เรื่องนี้ ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้น มีพิมพ์ไว้ในที่หลายแห่ง ในที่นี้ จะขออ้างหนังสือพุทธคุณกถา ฉบับหอสมุดวชิรญาณ พิมพ์ พ.ศ. 2473 หน้า 51 ดังนี้:-

      “อนึ่ง เนื่องด้วยการถือชาติ คนทั้งหลายย่อมมีปกติเห็นแก่ตัว จะทำการอย่างใดอย่างหนึ่งแม้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ตัวต้องได้ประโยชน์ด้วยจึงจะทำ อัธยาศัยนี้ติดมาในสันดาน แม้แห่งคนถือพระพุทธศาสนาทำบุญให้ทานยังปรารถนาจะได้สมบัติอย่างนั้นอย่างนี้
      สมเด็จพระบรมศาสดาทรงชักนำให้ละความเห็นแก่ตัว และให้ตั้งใจทำมุ่งความสมควรเป็นใหญ่ ทรงติการทำด้วยอัตตาธิปไตยยกตนเป็นใหญ่ และโลกาธิปไตย เพ่งโลกเป็นใหญ่ และทรงสรรเสริญธรรมาธิปไตย มุ่งธรรมเป็นใหญ่”


     ข้อธรรมเรื่องอธิปไตย 3 นี้ มีปรากฏในพระสุตตันตปิฏกเล่ม 20 หน้า 186 เล่ม 11 หน้า 231 และในวิสุทธิมรรค สีลนิทเทส หน้า 16 เป็นแต่ไม่มีข้อที่ติอัตตาธิปไตย หรือโลกาธิปไตยไว้โดยตรง หากชี้ให้เห็นความดีกว่ากันอยู่ในตัวของอธิปไตยทั้ง 3 ข้อนี้

     แต่พระพุทธภาษิตที่ยกย่องธรรมาธิปไตยโดยตรงมีอยู่ คือในพระสุตตันตปิฏก เล่ม 20 หน้า 138 ทรงแสดงคุณธรรมของพระเจ้าจักรพรรดิ เทียบเคียงกับคุณธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ถือธรรมเป็นใหญ่ (ธัมมาธิปเตยย = ธรรมาธิปไตย) ซึ่งประกาศความที่พระพุทธศาสนายกย่องธรรมาธิปไตยเป็นเลิศ


รูป ฮิตเลอร์ รับเสด็จ รัชกาลที่ ๗

     ก่อนที่จะกล่าวเรื่องอื่นต่อไป ขอให้เราวิเคราะห์เรื่องอธิปไตย 3 เป็นอันดับแรก เพื่อเป็นมูลฐานแห่งความเข้าใจในหลักแห่งพระพุทธศาสนา อธิปไตยหรือความเป็นใหญ่ 3 อย่างที่แสดงในหลักพระพุทธศาสนา คือ

     1. อัตตาธิปไตย ถือตนเป็นใหญ่ ปรารภตนหรือประโยชน์ตนเป็นที่ตั้ง แต่ถ้าปรารภแล้วทำคุณงามความดี ก็ยังดีกว่าคนไม่ทำความดี บุคคลประเภทนี้ถ้าจะทำอะไรจะบริจาคเงินหรือสิ่งของ ก็ต้องการให้ประกาศชื่อเสียง ต้องได้เป็นผู้มีเกียรติจึงจะทำ

     บางครั้งบุคคลบางคนที่ทำอะไรโดยดีดลูกคิดถึงผลได้ผลเสีย คือหวังประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง นำอะไรไปให้ใครก็เข้าทำนองให้น้อยเพื่อให้ได้มาก อย่างไรก็ตาม ถ้าจะถือว่า ความเห็นแก่ตัวจูงให้คนทำความดี แม้ความดีนั้นยังไม่สมบูรณ์ ก็ยังถือได้ว่าเป็นบันไดขั้นแรกแห่งการก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้มีจิตใจสูงขึ้นในโอกาสต่อไป

      2. โลกาธิปไตย ถือโลกเป็นใหญ่ ปรารภสังคม หรือโลกเป็นประมาณ สุดแต่คนอื่นหรือส่วนมาก เขาว่าอย่างไร ก็ถืออย่างนั้น อันนี้เอง บางครั้งก่อความเดือดร้อนให้เป็นอันมาก เช่นคนใดในครอบครัวตายลง ตามประเพณีต้องสวด 3 คืน ต้องมีทำบุญ 7 วัน ต้องเลี้ยงคนเลี้ยงพระ และในบางกรณีต้องเลี้ยงเหล้าด้วย ตนเองยากจนไม่มีเงิน ก็สู้ไปหยิบยืมเขามาทำบุญ เพื่อไม่ให้คนทั้งหลายติเตียน

       หรือในกรณีอื่น จะบวชลูกบวชหลานต้องเชิญแขกมาเลี้ยงอาหาร มีการลงขัน คือผู้รับเชิญเอาเงินมาช่วยแล้วก็จดจำนวนไว้เพื่อถึงคราวเขาจะได้เอาเงินไปช่วยให้สมส่วนกัน ในการนี้ ต้องฆ่าสัตว์เอามาเลี้ยงกันอย่างรื่นเริง

       ยิ่งกว่านั้น ถ้าเจ้าภาพใจใหญ่ แต่การเงินไม่ใหญ่ตามใจพยายามจัดงานใหญ่โตให้ครบเครื่อง มีทั้งมหรสพและดนตรีด้วย ก็ต้องถึงเป็นหนี้เป็นสินเขาเพื่อทำบุญ การทำอะไรตาม ๆ ผู้อื่นโดยไม่ดูฐานะของตนอย่างนี้ บางครั้งก็ก่อเหตุเดือดร้อนให้ และถ้ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ด้วย ก็เลยได้บาปแทนบุญไป การทำความดีด้วยถือโลกเป็นใหญ่จึงมีโอกาสผิดพลาดได้ง่าย

       3. ธรรมาธิปไตย ถือธรรมเป็นใหญ่ ปรารภความถูกต้องความสมควร ซึ่งอาจกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า เป็นการทำความดี เพราะเห็นแก่ความดี เมื่อทำไปแล้วและแน่ใจว่าเป็นการสมควรแล้ว ใครจะเห็นหรือไม่เห็น ใครจะโฆษณาชื่อเราหรือไม่ แม้ที่สุดเมื่อทำบุญคุณแก่ใครแล้ว เขาไม่กล่าวแม้คำขอบใจ และไม่สำนึกบุญคุณเลย บางครั้งยังเนรคุณเอาด้วยซ้ำ ก็ไม่ถือเป็นข้อควรเสียใจ

       เพราะความมุ่งหมายที่ทำนั้นคือทำความดี เพราะเห็นแก่ความดี, ความถูกต้อง, ไม่ใช่ทำด้วยหวังอะไรตอบแทน เมื่อจิตใจสูงเช่นนี้ ก็เป็นเหตุให้การกระทำเป็นไปในทางที่เหมาะที่ควร ไม่มีการแฝงความลับลมคมในอะไรไว้เบื้องหลัง จะไม่มีการบ่นน้อยอกน้อยใจว่าทำดีไม่เห็นได้ดี เพราะบางครั้งคนที่ชอบบ่นอย่างนี้ มักไม่ค่อยทำความดีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน จุดประสงค์ของเขาดูเหมือนอยู่ที่การทวงผลดีมากกว่า



      หลักคำสอนที่หนักเน้นในเรื่องธรรมาธิปไตยนี้ สมคล้อยกับคุณลักษณะพิเศษที่ว่า พระพุทธศาสนาสอนอย่างตรงไปตรงมาเป็นอย่างดี เพราะหลักธรรมาธิปไตยนี้ อาจนำไปใช้ได้ในหลายกรณี เช่น
        1. ในการอำนวยความยุติธรรม
        2.  ในการพิจารณาว่าอะไรผิดอะไรถูก เป็นต้น


    การอำนวยความยุติธรรม ของตุลาการหรือผู้เป็นใหญ่เป็นประธานนั้น ถ้าถือหลักธรรมาธิปไตย คือ
    ถือธรรมเป็นใหญ่แล้ว ก็จะไม่ตกอยู่ภายใต้ "อคติ หรือ ความลำเอียง 4 ประการ" คือ

    - ลำเอียงเพราะรักหรือชอบกันเรียก ฉันทาคติ
    - ลำเอียงเพราะชังเรียก  โทสาคติ 
    - ลำเอียงเพราะหลงรู้เท่าไม่ถึงการณ์เรียก โมหาคติ
    - ลำเอียงเพราะกลัวเรียก  ภยาคติ


    อ่านต่อวันถัดไป


ที่มา http://www.mbu.ac.th/index.php?option=com_content&task=view&id=166&Itemid=148
ขอบคุณภาพจาก http://www.bloggang.com/,http://www.oknation.net/,http://www.watbowon.com/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 10, 2012, 11:51:40 am โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28431
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ถือตนเป็นใหญ่ vs ถือธรรมเป็นใหญ่
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: พฤษภาคม 11, 2012, 03:39:54 pm »
0

  เราคงเคยเห็นพ่อแม่บางคนเข้ากับลูกจนไม่ยอมฟังเหตุผลอะไรทั้งสิ้น ลูกของตนไม่ว่าจะผิดมากน้อยอย่างไรไม่ยอมเชื่อว่าผิดทั้งสิ้น สุดแต่ว่าถ้าลูกร้องมาฟ้องเป็นต้องเชื่อไว้ก่อนว่าเด็กอื่นผิด เป็นผู้รังแกลูกของตน บางครั้งเลยทอดตัวลงไปเป็นคู่ความทะเลาะกับเด็กอื่น ๆ แทนลูกของตน หรือช่วยลูกของตนตบตีเด็กอื่น

   ครั้นพ่อแม่ของเด็กอีกฝ่ายหนึ่งไม่ยอมเข้ามาช่วยลูกของตนบ้าง เรื่องของเด็กก็เลยกลายเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ ถึงฆ่าฟันประทุษร้ายกันอย่างน่าสลดใจ
   โบราณจึงสอนไว้ว่า อย่าเป็นคนหูเบาเชื่อง่าย ลงโทษคนหรือปักใจว่าคนนั้นคนนี้ผิดหรือเลวทรามเพียงฟังคนอื่นบอกเล่า เพราะผู้บอกอาจพูดตามข่าวซึ่งไม่เป็นจริง หรือมีใจมุ่งร้ายใส่ความผู้อื่นก็ได้ 

    การพิจารณาว่าอะไรผิดอะไรถูก ข้อนี้ ก็ใกล้เคียงกับข้อที่ว่าด้วยการอำนวยความยุติธรรม แต่อาจใช้ได้ในกรณีที่ไม่เกี่ยวข้องกับบุคคล เช่น การฟังเหตุผล การวินิจฉัยเรื่องราวต่าง ๆ ที่จะนำมาเป็นแนวประพฤติปฏิบัติหรือรับไว้ดำเนินการ

    ยกตัวอย่าง เช่น การนับถือศาสนา ถ้าเราถือธรรม คือความถูกความตรงเป็นใหญ่ เราก็จะไม่เพียงนับถือตามบรรพบุรุษ แต่จะมีเหตุผลของตนเอง สามารถวินิจฉัยได้ว่า อะไรควรอะไรไม่ควร ไม่ใช่นับถือเพราะกลัวหรือเพราะหลง 

    ผู้เขียนขอเสนอการที่พระพุทธเจ้าทรงตัดสิน หรือชี้ให้เห็นว่าอะไรเป็นมงคล ในท่ามกลางข้อโต้แย้งของคนทั้งหลาย ซึ่งตามประวัติปรากฏว่า มีการถกเถียงกันอยู่ถึง 12 ปี
    บ้างว่า มงคลอยู่ที่การเห็น เช่น ตื่นเช้าเห็นหญ้าเขียวสดเป็นมงคล
    บ้างว่า อยู่ที่การได้ยินถ้อยคำอันเป็นมงคล
    บ้างว่า ต้องเอามูลโคสดเป็นมงคล

    ในปัจจุบันนี้ เราเรียก ด้ายดิบที่เอามาจับรวมกันหลายๆเส้น สวมศีรษะในเวลารดน้ำ ว่า "มงคล"
    ฝรั่งถือว่า "ตะปูเกือกม้าเป็นมงคล"



    แต่เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงมงคลบ้าง ไม่ปรากฏว่า ไม่ทรงชี้ไปที่วัตถุหรือโชคลางอะไรเลย กลับทรงชี้ไปที่ความประพฤติดีปฏิบัติชอบต่าง ๆ ว่าเป็นมงคล อย่างนี้เรียกว่า "ทรงถือธรรมเป็นใหญ่"

    อันเป็นธรรมาธิปไตยแท้  ผู้เขียนขอประมวลเหตุการณ์ และหลักคำสอนในประวัติศาสตร์ พระพุทธศาสนามากล่าวไว้ในบทนี้ เพื่อแสดงหลักธรรมาธิปไตยของพระพุทธศาสนา ให้เห็นชัดเป็นข้อ ๆ ไป คือ :-

    1. ข้อความต่าง ๆ ที่เกี่ยวด้วยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เช่น การที่พระพุทธศาสนาสอนให้เลิกทาส ไม่ให้ดูหมิ่นเหยียดหยามกันเพราะเรื่องชาติชั้นวรรณะ ไม่ให้ติดในเรื่องฤกษ์งามยามดีหรือน้ำมนต์ ไม่ให้หลงใหลในฤทธิ์เดช รวมทั้งสอนให้มนุษย์มีจุดนัดพบกันที่ศีลธรรม ดังได้กล่าวมาแล้วในบทต้น ๆ ของหนังสือนี้
     อาจชี้ได้ว่า การที่ทรงสั่งสอนไว้ อย่างมีคุณลักษณะพิเศษอันน่าชื่นชมเช่นนั้น ก็เพราะทรงใช้หลักธรรมาธิปไตย คือ ถือธรรมเป็นข้อใหญ่ข้อเดียว ความดีงามน่าเลื่อมใสต่าง ๆ ก็ตามมา

     2. คำสั่งสอนของศาสดาจารย์เจ้าลัทธิอื่นๆ จากพระพุทธศาสนานั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าถูกถ้าชอบแล้วพระองค์ก็ทรงรับว่าถูกว่าชอบ ไม่ใช่สักว่าเป็นศาสนาอื่น แล้วก็จะต้องประณามกันทันที คำสอนของใครก็ตามถ้าสอนถูกก็ใช้ได้ด้วยกัน แต่จะถูกมากถูกน้อยแค่ไหน เป็นเรื่องที่ศาสนิกชนจะพึงใช้ปัญญาพิจารณาเหตุผลดูด้วยตนเอง ข้อนี้ ยิ่งแสดงความเป็นธรรมาธิปไตยแห่งพระพุทธศาสนาอย่างสูงยิ่ง

      ในประวัติทางพระพุทธศาสนาจึงมีว่า ภิกษุรูปหนึ่งได้ ฟังหญิงเก็บฟืนร้องเพลงในป่า แต่เนื้อเพลงเป็นคติสอนใจเลยนำมาตรองสอนตัวเอง และได้บรรลุมรรคผลในที่สุด เรื่องนี้จึงวินิจฉัยได้ว่า ธรรมนั้นไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ใครจะเป็นคนกล่าว ถ้ารู้จักถือเอาประโยชน์แล้ว ก็ใช้ได้ทั้งสิ้น
      บางครั้ง พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า คนที่อายุร้อยปีไม่ตั้งอยู่ในศีลธรรม สู้คนมีอายุวันเดียวแต่ตั้งอยู่ในศีลธรรมไม่ได้ คำเปรียบอย่างนี้ใช้หลักธรรมาธิปไตยนี้เอง



    3. ครั้นหนึ่งเกิดปัญหาขึ้นว่า คฤหัสถ์หรือบรรพชิตจะดีกว่ากัน พระพุทธเจ้าจะตรัสตอบอย่างไร จึงจะเรียกว่าเป็นกลางเป็นธรรมและเป็นธรรมาธิปไตยแท้ พระองค์จึงตรัสว่า

      “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เราไม่สรรเสริญการปฏิบัติผิดของคนทั้ง 2 ประเภท คือ คฤหัสถ์และบรรพชิต      คฤหัสถ์ก็ตาม บรรพชิตก็ตาม เป็นผู้ปฏิบัติผิดแล้ว ย่อมไม่ได้ชมซึ่งญายธรรมอันเป็นกุศล เพราะเหตุคือ การปฏิบัติเป็นมูล

      ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เราสรรเสริญการปฏิบัติชอบของคนทั้ง 2 ประเภท คือ คฤหัสถ์และบรรพชิต คฤหัสถ์ก็ตาม บรรพชิตก็ตาม เป็นผู้ปฏิบัติชอบแล้ว ย่อมได้ชมญายธรรมอันเป็นกุศล เพราะเหตุคือ การปฏิบัติชอบเป็นมูล”

      เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าทรงอาศัยหลักธรรมาธิปไตยตอบปัญหานี้ได้อย่างดียิ่ง จะเป็นใครก็ตาม ไม่ว่าคฤหัสถ์หรือบรรพชิต ถ้าประพฤติดีแล้วพระองค์ก็ทรงสรรเสริญ ถ้าประพฤติผิดแล้วพระองค์ก็ไม่ทรงสรรเสริญทั้งนั้น ความถูกต้องจึงมิใช่อยู่ที่เพศ ที่บุคคล แต่อยู่ที่ธรรม ใครตั้งอยู่ในธรรม คนนั้นก็ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติถูกปฏิบัติชอบ

      4. เรื่องปรากฏในปวารณาสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (เล่ม 15 หน้า 280) เล่าว่าในวันปวารณา คือ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 คราวหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ บุพพาราม ซึ่งนางวิสาขาสร้างถวายใกล้กรุงสาวัตถี มีพระอรหันตสาวกจำนวนประมาณ 500 รูปร่วมประชุมอยู่ด้วย

      ตามประเพณีทางวินัยเมื่อถึงวันปวารณาภิกษุทุกรูปที่นั่งประชุมในพิธีกรรม จะต้องกล่าววาจาอนุญาตให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนได้ โดยถือว่าการว่ากล่าวตักเตือนกันนั้นเป็นทางทำให้เกิดความเจริญ  ขณะที่ประชุมกันอยู่ ณ กลางแจ้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงปวารณา คือ อนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายทักท้วงการกระทำทางกายและวาจาของพระองค์ได้

      พระสารีบุตรได้ลุกขึ้นประคองอัญชลีกราบทูลสรรเสริญพระพุทธเจ้า กล่าวว่า ท่านไม่มีที่ติเตียนพระพุทธเจ้า แล้วจึงปวารณาตนเป็นรูปที่ 2 เรื่องนี้คล้ายกับลี้ลับไม่ค่อยมีใครกล่าวถึง แต่รู้สึกว่าเป็นแบบฉบับอันดีเลิศว่า แม้พระพุทธเจ้าเองก็ทรงถือธรรมเป็นใหญ่ ถึงกับเปิดโอกาสให้พระสาวกว่ากล่าวตักเตือนได้ เป็นตัวอย่างแห่งธรรมาธิปไตยอันดียิ่งในพระพุทธศาสนา


     5. พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ (ปรากฏในอิติวุตตกะ พระสุตตันตปิฏก เล่ม25 หน้า 300) ในความว่า
         “ภิกษุที่จับชายสังฆาฏิของพระองค์ติดตามพระองค์ไปทุกฝีก้าว
     แต่จิตใจยังประกอบด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง ความไม่ดีไม่งามต่าง ๆ
     ภิกษุนั้นชื่อว่าอยู่ไกลพระองค์ และพระองค์ก็ชื่อว่าอยู่ไกลภิกษุรูปนั้น
     ทั้งนี้เพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้นไม่เห็นธรรม จึงไม่เห็นพระองค์

         ส่วนภิกษุผู้อยู่ไกลกระองค์แม้ร้อยโยชน์ แต่จิตใจไม่ประกอบด้วยโลภ โกรธ หลง
     และความไม่ดีไม่งามต่าง ๆ ภิกษุนั้นชื่อว่า อยู่ใกล้พระองค์และพระองค์ก็อยู่ใกล้ภิกษุนั้น
     ทั้งนี้เพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้นเห็นธรรม จึงเชื่อว่าเห็นพระองค์


     คำว่า ความโลภ ความโกรธ ความหลง และความไม่ดีไม่งามต่าง ๆ ซึ่งแปลออกมาจากภาษาบาลีในที่นี้ เป็นการแปลถอดความ ไม่ใช่แปลโดยพยัญชนะ
     ถ้าแปลโดยลำดับถ้อยคำก็จะต้องแปลว่า “เป็นผู้มีอภิชฌา (ความโลภ) มีความกำหนัดกล้าในกามทั้งหลาย มีจิตพยาบาท มีความดำริแห่งใจในทางประทุษร้าย เป็นผู้หลงลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะ มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตหมุนไปผิด มีอินทรีย์ปรากฏ”

     ซึ่งเมื่อจัดประเภทเข้าในอกุศลธรรมแล้ว ก็รวมอยู่ในโลภโกรธ หลงและความไม่ดีไม่งามต่าง ๆ  พระพุทธภาษิตนี้ชี้ชัดลงไปว่า คนจะอยู่ไกลอยู่ใกล้พระพุทธเจ้านั้น มิใช่จะชื่อว่าอยู่ไกลอยู่ใกล้โดยระยะทาง ต้องเห็นธรรมจึงชื่อว่าอยู่ใกล้ ถ้าไม่เห็นธรรมก็ชื่อว่าอยู่ไกล

     คราวนี้จึงทำให้พวกเราในสมัยนี้สบายใจได้ว่า แม้พระพุทธเจ้าจะปรินิพพานแล้ว แม้พระองค์จะเคยมีถิ่นกำเนิดอยู่ในอินเดีย พวกเราอยู่ไกลถึงในประเทศไทย และกาลเวลาก็ล่วงมานาน แต่สิ่งเหล่านี้มิได้กีดกันหรือทำให้เราห่างไกลจากพระพุทธเจ้าเลย ถ้าเราสนใจในธรรม ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม

     แม้เราจะไม่แขวนพระ ไม่มีพระเครื่องรางของขลัง แต่เราก็ชื่อว่าได้ใกล้ชิดอยู่กับพระพุทธเจ้าตลอดเวลา หลักธรรมข้อนี้ จึงเป็นธรรมาธิปไตยที่มีเหตุผล และเป็นคติเตือนใจจูงให้ประพฤติปฏิบัติตนในทางที่ใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้าได้เสมอ

      6. ในสมัยเมื่อใกล้จะปรินิพพาน พระองค์ทรงปรารภการที่พุทธบริษัทบูชาพระองค์ เป็นใจความว่า
          “การบูชาพระองค์ด้วยอามิสบูชา มีดอกไม้ เป็นต้น ยังไม่ชื่อว่าบูชาแท้ แต่ผู้ใดประพฤติปฏิบัติธรรม ปฏิบัติชอบตามทำนองคลองธรรม ผู้นั้นจึงชื่อว่าเคารพสักการะนับถือบูชาพระตถาคตด้วยบูชาอันยอดเยี่ยม” (มหาปรินิพพานสูตร เล่ม 1 หน้า 160) 

    เป็นอันแสดงว่า ปฏิบัติบูชาหรือธรรมบูชานั้นเป็นบุชาอันสูงสุดว่าการบูชาด้วยอามิสเช่นธูปเทียนดอกไม้   ถ้าจะพิจารณาโดยใกล้ชิดแล้ว ก็เป็นการสั่งสอนอย่างไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนพระองค์ ไม่ถือพระองค์เป็นจุดศูนย์กลางสำหรับรับเครื่องสักการบูชา
     ข้อสำคัญขอให้คนทั้งหลายปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเข้าไว้ ก็จะชื่อว่าบูชาพระองค์ไปเอง เป็นการต้อนคนเข้าหาคุณความดี อย่างสมกับที่หลักการแห่งศาสนานี้ถือธรรมาธิปไตย คือ ถือธรรมเป็นใหญ่


     เป็นการเตือนจิตให้ศาสนิกชนสำนึกอยู่เสมอว่า การประพฤติปฏิบัติ สำคัญยิ่งกว่าพิธีกรรม หรือเครื่องประกอบอื่น เป็นการเปิดโอกาสให้คนที่ยากจน ไม่มีเครื่องสักการบูชางดงามหรือมีราคาแพง ได้ใช้การบูชาด้วยปฏิบัติ อันจะทำให้มีฐานะสูงยิ่งกว่าคนที่บูชาด้วยอามิส   
     การนับถือพระพุทธศาสนา จึงไม่มีอะไรกีดกันความยากจน หรือคนชั้นต่ำให้ต้องรู้สึกมีปมด้อยแต่อย่างไร เพราะ เมื่อถือธรรมเป็นใหญ่แล้ว ทุกคนก็มีสิทธิปฏิบัติธรรมได้ด้วยกันทั้งสิ้น


    7. ก่อนจะปรินิพพานอีกเหมือนกัน พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
        “ดูก่อนอานนท์ ! ธรรมและวินัยอันใดที่เราแสดงแล้วบัญญัติแล้วแก่ท่านทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้นจักเป็นศาสดาของท่านทั้งหลาย เมื่อเราล่วงลับไป” (มหาปรินิพพานสูตร เล่ม 10 หน้า 178) 

      พระดำรัสนี้ชี้ให้เห็นชัดว่า ในพระพุทธศาสนาไม่ถือผู้นั้นผู้นี้เป็นประมาณ หากถือธรรมเป็นสำคัญ ถ้าพระพุทธเจ้าจะทรงตั้งผู้นั้นผู้นี้แทน ก็จะต้องตั้งกันสืบ ๆ ไปไม่มีที่สิ้นสุด เพราะบุคคลมีเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ถ้าถือธรรมวินัยเป็นหลัก นานเท่านานก็จะเสมือนหนึ่งพระพุทธเจ้า ยังทรงพระชนม์อยู่ เพราะแม้พระพุทธเจ้าเอง ก็มิใช่

      พระองค์ทรงชี้อยู่เสมอว่า ทรงเป็นพระพุทธเจ้าโดยธรรม เนื้อหนังของพระองค์ตกอยู่ในสภาพธรรมดา คือจะต้องเปื่อยเน่าทรุดโทรมไปเช่นมนุษย์อื่น ๆ ก็ทรงแสดงว่าไม่ได้เป็นเพราะชื่อที่เรียกอย่างเดียว ต้องมีคุณธรรมด้วย เช่นที่ตรัสว่า

      “บุคคลไม่ชื่อว่า เป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม  เพราะวินิจฉัยคดีได้รวดเร็ว แต่ผู้ใดเป็นบัณฑิต แยกเรื่องถูกเรื่องผิดได้ ตัดสินคนโดยไม่ผลุนผลัน โดยธรรมโดยเสมอภาค ผู้มีปัญญานั้นเป็นผู้คุ้มครองธรรมย่อมเรียกได้ว่าผู้ตั้งอยู่ในธรรม”

      “บุคคลไม่เป็นบัณฑิตเพียงเพราะพูดมาก ต่อเป็นผู้ปลอดโปร่งจากความชั่ว ไม่มีเวร ไม่มีภัย จึงเรียกได้ว่าเป็นบัณฑิต”

      “บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นผู้ใหญ่เพียงเพราะมีผมหงอก วัยอันแก่ของเขายังเรียกว่าแก่เปล่า แต่ผู้ใดมีสัจจะ มีธรรม มีความไม่เบียดเบียน มีความสำรวม มีการฝึกตน เป็นผู้มีปัญญา คายมลทินโทษเสียได้ ผู้นั้นจึงเรียกได้ว่าเป็นผู้ใหญ่”

      “บุคคลยังไม่ชื่อว่าเป็นสาธุชน เพียงเพราะพูดจาเก่ง หรือเพราะมีรูปร่างงดงาม แต่ยังมีความริษยา มีความตระหนี่และขี้อวด ผู้ใดถอนรากความชั่วทุกชนิดเหล่านั้นได้ ผู้นั้นเป็นผู้คายโทษ มีปัญญา เรียกได้ว่าเป็นสาธุชน”

      “บุคคลย่อมไม่เป็นสมณะ เพียงเพราะมีศีรษะโล้น คนที่ไม่มีวัตรพูดพล่อย ๆ ประกอบด้วยความปรารถนาความโลภ จะเป็นสมณะได้อย่างไร ผู้ใดสงบบาปน้อยใหญ่เสียได้ด้วยประการทั้งปวง จึงเรียกว่าสมณะได้เพราะสงบบาปทั้งหลาย”

      “บุคคลย่อมไม่เป็นภิกษุเพียงเพราะเที่ยวขออาหารคนอื่น สมาทานธรรมอันเป็นพิษแล้ว จะเป็นภิกษุเพราะเหตุนั้นไม่ได้ ผู้ใดลอยบุญลอยบาป เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ พิจารณาโลกด้วยปัญญาผู้นั้นเรียกได้ว่าเป็นภิกษุ”



    ตัวอย่างแห่งการแสดงธรรมอย่างตรงไปตรงมาโดยถือธรรมเป็นใหญ่ ที่เรียกว่าธรรมาธิปไตยในธรรมบท ขุททกนิกาย (เล่ม 25 หน้า 49–50) ซึ่งยกมาแปลเพียงบางตอนนี้ ย่อมทำให้เราแน่ใจรวมทั้งตัดสินบุคคลและเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ถูกต้อง ใครจะปลอมแปลงทำตนเป็นบัณฑิต หรือปลอมเพศเป็นสมณะ แต่ไม่ตั้งอยู่ในคุณธรรม ความจริงก็จะปรากฏให้ตัดสินได้เอง 

     ผู้เข้าใจในหลักธรรมาธิปไตยดีแล้ว ย่อมปลอดโปร่งสบายใจในที่ทุกสถาน เพราะไม่ถูกความหลงผิดชักจูงให้หลงใหลไปด้วยประการต่าง ๆ  คุณลักษณะพิเศษของพระพุทธศาสนาข้อนี้ นับเป็นเลิศจริง ๆ ข้อหนึ่งในคุณลักษณะทั้งหลาย ซึ่งผู้ใช้ปัญญานับถือศาสนาย่อมพากันเห็นจริงและยกย่องโดยทั่วกัน...

บทความโดย สุชีพ ปุญญานุภาพ


ที่มา http://www.mbu.ac.th/index.php?option=com_content&task=view&id=166&Itemid=148&limit=1&limitstart=1
http://www.mbu.ac.th/index.php?option=com_content&task=view&id=166&Itemid=148&limit=1&limitstart=2
ขอบคุณภาพจาก http://palungjit.com/,http://scoop.mthai.com/,http://www.thaitv3.com/,http://www.sanyasi.org/,http://www.osotho.com/,http://www.dmc.tv/,
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 11, 2012, 03:42:05 pm โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ