ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ใจรัก ใจสู้ ใจใส่(ใส่ใจ) ใจตรอง : อิทธิบาท ๔.  (อ่าน 1103 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28413
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0




"ฉันทะ" อิทธิบาทข้อ 1. ใจรัก

ฉันทะ อ่านว่า ฉัน-ทะ “ฉันทะ” เขียนแบบบาลีเป็น “ฉนฺท” อ่านว่า ฉัน-ทะ รากศัพท์มาจาก

(1) ฉนฺทฺ (ธาตุ = ปรารถนา) + อ (อะ) ปัจจัย : ฉนฺทฺ + อ = ฉนฺท (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ความปรารถนา”
(2) ฉทฺ (ธาตุ = ปิด, บัง, ระวัง) + อ (อะ) ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุแล้วแปลงเป็น นฺ (ฉท > ฉํท > ฉนฺท) : ฉทฺ + อ = ฉท > ฉํท > ฉนฺท (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “บทประพันธ์ที่ปกปิดโทษคือความไม่ไพเราะ”

“ฉนฺท” ในบาลีใช้ในความหมาย 3 อย่าง คือ

     (1) สิ่งกระตุ้นใจ, แรงดลใจ, ความตื่นเต้น; ความตั้งใจ, การตกลงใจ, ความปรารถนา ; ความอยาก, ความประสงค์, ความพอใจ (impulse, excitement; intention, resolution, will; desire for, wish for, delight in)

     (2) ความยินยอม, ความยอมให้ที่ประชุมทำกิจนั้นๆ ในเมื่อตนมิได้ร่วมอยู่ด้วย (consent, declaration of consent to an official act by an absentee) ความหมายนี้คือที่เราพูดว่า “มอบฉันทะ”

     (3) ฉันทลักษณ์, กฎเกณฑ์ว่าด้วยการแต่งฉันท์, ตำราฉันท์ ; บทร้อยกรอง (metre, metrics, prosody; poetry) ความหมายนี้คือ ที่ภาษาไทยพูดว่า “กาพย์กลอนโคลงฉันท์” บาลีไม่ได้เรียกแยกชนิดเหมือนไทย คงเรียกรวมทุกอย่างว่า “ฉนฺท-ฉันท์” แต่มีชื่อเฉพาะสำหรับฉันท์แต่ละชนิด เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “คาถา”

ในที่นี้ “ฉนฺท” ใช้ในความหมายตามข้อ (1)

@@@@@@@

ขยายความ

“ฉันทะ” เป็นคุณธรรมข้อที่ 1 ในอิทธิบาท-คุณเครื่องทำสิ่งที่ปรารถนาให้สำเร็จ 4 ข้อ

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [213] “อิทธิบาท 4” แสดงความหมายของ “ฉันทะ” ไว้ดังนี้
     1. ฉันทะ (ความพอใจ คือ ความต้องการที่จะทำ ใฝ่ใจรักจะทำสิ่งนั้นอยู่เสมอ และปรารถนาจะทำให้ได้ผลดียิ่งๆ ขึ้นไป — Chanda: will; zeal; aspiration)

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายความหมายของคำว่า “ฉันทะ” ไว้ดังนี้

      ฉันทะ ๑ :-

     1. ความพอใจ, ความชอบใจ, ความยินดี, ความต้องการ, ความรักใคร่ใฝ่ปรารถนาในสิ่งนั้นๆ (เป็นกลางๆ เป็นอกุศลก็ได้ เป็นกุศลก็ได้, เป็นอัญญสมานาเจตสิกข้อ ๑๓ (ปกิณณกเจตสิกข้อ ๖), ที่เป็นอกุศล เช่นในคำว่า กามฉันทะ ที่เป็นกุศล เช่น ในคำว่า อวิหิงสาฉันทะ)

     2. ฉันทะ ที่ใช้เป็นคำเฉพาะ มาเดี่ยวๆ โดยทั่วไปหมายถึง กุศลฉันทะ หรือธรรมฉันทะ ได้แก่ กัตตุกัมยตาฉันทะ คือ ความต้องการที่จะทำหรือความอยากทำ (ให้ดี) เช่น ฉันทะที่เป็นข้อ ๑ ใน อิทธิบาท ๔ ; ตรงข้ามกับ ตัณหาฉันทะ ซึ่งเป็นความอยากเสพ อยากได้ อยากเอาเพื่อตัว ที่เป็นฝ่ายอกุศล เรียกสั้นๆ คำเดียวว่า ตัณหา
        ฉันทะพึงแยกความหมายให้เข้าใจง่ายๆ ว่า ฉันทะ เป็นความอยากเพื่อสภาวะ คือ อยากเพื่อความดีงาม เพื่อความเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ของสิ่งนั้นๆ คนนั้นๆ สภาพนั้นๆ เอง เช่นเห็นต้นไม้ ก็อยากให้มันเจริญงอกงาม มีดอกใบสะพรั่งสีสันงดงาม ทำให้ถิ่นสถานรื่นรมย์เกื้อกูลแก่ชีวิตจิตใจ และเมื่อมันดีงามสมบูรณ์ ก็ชื่นชมยินดี อยากให้มันงอกงามสมบูรณ์สืบต่อไป,
        ส่วน ตัณหา เป็นความอยากเพื่อตัวตน คืออยากได้ อยากเอามาให้ตัวได้เสพ เป็นต้น เช่นเห็นต้นไม้งามสมบูรณ์ที่ไหน ก็อยากตัดเอาไปขายให้ตัวได้เงิน ดังนี้เป็นต้น


@@@@@@@

ข้อคิด

สำหรับคนที่มีนิสัยใจคอพอใจที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เป็นความดีงามเป็นพื้นเดิมอยู่แล้ว ฉันทะย่อมเกิดได้ง่าย ส่งเสริมให้เพิ่มพูนขึ้นได้ง่าย ส่วนคนที่ไม่มีพื้นแบบนั้นมาก่อนก็ยากหน่อย แต่ถึงกระนั้นก็สามารถปลูกฝังหรือปลุกหรือพัฒนาให้มีขึ้นได้

อุปมาเหมือนกินอาหาร ของอะไรที่ชอบกินก็กินอร่อย กินได้ง่าย กินได้มาก ส่วนของที่ไม่ชอบก็ไม่อยากกิน แต่ถึงกระนั้น ถ้าคิดถึงประโยชน์ของอาหารชนิดนั้น เช่นกินแล้วบำรุงสายตา บำรุงประสาท กินแล้วแก้โรคชนิดนั้นๆ ได้ กินแล้วป้องกันโรคชนิดนั้นๆ ได้ เมื่อรู้อย่างนี้ แม้ไม่ชอบกินก็อาจฝืนกินได้บ้าง ฉันใด การฝึกให้มีฉันทะก็ฉันนั้น เมื่อฝึกตรึกตรองจนเห็นคุณประโยชน์ของการทำสิ่งที่ดีงาม แม้ไม่มีนิสัยใฝ่ทำเช่นนั้นมาก่อนก็อาจปลูกฉันทะให้เกิดมีขึ้นได้เช่นกัน

ดูก่อนภราดา.! ปลูกความรักที่จะทำดีให้มีขึ้นในดวงจิต ดีกว่ารอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์มาดลใจ






ขอบคุณ : dhamma.serichon.us/2021/09/30/ฉันทะ-อิทธิบาทข้อ-1-ใจรัก/
ผู้เขียน : ทองย้อย แสงสินชัย
30 กันยายน 2021 , By admin.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28413
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ใจรัก ใจสู้ ใจใส่(ใส่ใจ) ใจตรอง : อิทธิบาท ๔.
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: ตุลาคม 08, 2021, 10:09:29 am »
0



"วิริยะ" อิทธิบาทข้อ 2. ใจสู้

วิริยะ อ่านว่า วิ-ริ-ยะ “วิริยะ” เขียนแบบบาลีเป็น “วิริย” อ่านว่า วิ-ริ-ยะ รากศัพท์มาจาก

(1) วีร (ผู้กล้า) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, รัสสะ อี ที่ วี เป็น อิ และแปลง อะ ที่ ร เป็น อิ (วีร > วิร > วิริ)
: วีร + ณฺย = วีรณฺย > วีรย > วิรย > วิริย แปลตามศัพท์ว่า (1) “ความดีในคนกล้า” (2) “ภาวะหรือการกระทำของคนกล้า”

(2) วิ (แทนศัพท์ว่า “วิธิ” = วิธี) + อิรฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณ, แปลง อะ ที่ (อิ)-รฺ เป็น อิ (อิรฺ > อิริ) : วิ + อิรฺ = วิรฺ + ณฺย = วิรณฺย > วิรย > วิริย แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่พึงให้เป็นไปตามวิธี”
“วิริย” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง “สถานะแห่งบุรุษที่แข็งแรง”, คือ วิริยะ, อุตสาหะ, ความเพียร, ความพยายาม (“state of a strong man”, i. e. vigour, energy, effort, exertion)

บาลี “วิริย” สันสกฤตเป็น “วีรฺย”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ (สะกดตามต้นฉบับ)
     “วีรฺย : (คำนาม) พล, ศักย์ (หรือพลศักย์=แรง, กำลัง) ; มหิมัน, สูงศักติ์หรือตำแหน่งอันสูง, ‘ยศศักติ์’ ก็ใช้ ตามมติไท ; ผล ; ความเพียร, ความอดทนหรือทนทาน, ความมั่นในการผะเชิญภัย ; น้ำกามของบุรุษ ; โศภา ; ความกล้า ; พืช ; strength, power ; dignity, elevation in rang, or right office ; consequence ; fortitude, mental power of endurance, firmness in meeting danger ; semen virile ; splendour ; heroism, or valour ; seed.”

บาลี “วิริย” ในภาษาไทยใช้เป็น “วิริยะ” ตามบาลี พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า
     “วิริยะ : (คำนาม) ความเพียร, ความบากบั่น, มักใช้เข้าคู่กับคำ อุตสาหะ เป็น วิริยอุตสาหะ; ความกล้า ; วิริยภาพ ก็ใช้. (ป.; ส. วีรฺย).”

@@@@@@@

ขยายความ

“วิริยะ” เป็นคุณธรรมข้อที่ 2 ในอิทธิบาท-คุณเครื่องทำสิ่งที่ปรารถนาให้สำเร็จ 4 ข้อ

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [213] “อิทธิบาท 4” แสดงความหมายของ “วิริยะ” ไว้ดังนี้
     2. วิริยะ (ความเพียร คือ ขยันหมั่นประกอบสิ่งนั้นด้วยความพยายาม เข้มแข็ง อดทน เอาธุระไม่ท้อถอย — Viriya: energy; effort; exertion; perseverance)

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายความหมายของคำว่า “วิริยะ” ไว้ดังนี้
     วิริยะ : ความเพียร, ความบากบั่น, ความเพียรเพื่อจะละความชั่ว ประพฤติความดี, ความพยายามทำกิจ ไม่ท้อถอย (ข้อ ๒ ในอิทธิบาท ๔, ข้อ ๒ ในอินทรีย์ ๕, ข้อ ๒ ในพละ ๕, ข้อ ๓ ในโพชฌงค์ ๗, ข้อ ๕ ในบารมี ๑๐)


@@@@@@@

ข้อคิด

มีฉันทะ คือ ใจรักที่จะทำเป็นเบื้องต้นแล้ว ถือว่าเริ่มต้นดีหรือมีทุนดี แต่ใจรักอย่างเดียวยังไม่ทำให้เกิดความสำเร็จได้ ต้องลงมือทำด้วย ตอนลงมือทำนี่แหละ ที่จะต้องเจอปัญหาหรืออุปสรรคมากบ้างน้อยบ้าง อันเป็นธรรมดาของการทำงาน ถ้าไม่มี “วิริยะ-ใจสู้” คอยหนุนไว้ ก็อาจไปไม่รอด ท่านจึงแสดง “วิริยะ” เป็นลำดับที่ 2 รองลงมาจากฉันทะ

ดูก่อนภราดา.! ไม่กล้าทำความเลว นั่นดีมาก กล้าทำความดีอีกต่างหาก ดีที่สุด





ขอบคุณ : dhamma.serichon.us/2021/09/29/วิริยะ-อิทธิบาทข้อ-2-ใจสู/
ผู้เขียน : ทองย้อย แสงสินชัย
29 กันยายน 2021 , By admin.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28413
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ใจรัก ใจสู้ ใจใส่(ใส่ใจ) ใจตรอง : อิทธิบาท ๔.
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: ตุลาคม 08, 2021, 10:22:51 am »
0




"จิตตะ" อิทธิบาทข้อ 3. ใจใส่(ใส่ใจ)

จิตตะ อ่านว่า จิด-ตะ “จิตตะ” เขียนแบบบาลีเป็น “จิตฺต” (มีจุดใต้ ตฺ ตัวหน้า) อ่านว่า จิด-ตะ รากศัพท์มาจาก

(1) จิตฺตา (ดาวฤกษ์ดวงหนึ่ง) + ณ ปัจจัย, ลบสระหน้า คือ อา ที่-ตา (จิตฺตา > จิตฺต) และลบ ณ
: จิตฺตา + ณ = จิตฺตาณ > จิตฺตา > จิตฺต แปลตามศัพท์ว่า “เดือนที่กำหนดด้วยดาวจิตตา” (คือดาวที่คู่กับดวงจันทร์เต็มดวง) หมายถึง จิตรมาส คือเดือนห้า

(2) จิ (ธาตุ = สะสม) + ต ปัจจัย, ซ้อน ตฺ : จิ + ตฺ + ต = จิตฺต แปลตามศัพท์ว่า (1) “สีอันเขาผสมกันไว้” (คือเขียนระบายไว้) หมายถึง สีระบาย, ลวดลาย (2) “สิ่งที่สะสมการสืบต่อของตนไว้” หมายถึง จิต, ใจ อันเป็นที่เก็บสั่งสมบุญบาปไว้

(3) จินฺต (ธาตุ = คิด) + ต ปัจจัย, ลบ นฺ : จินฺต + ต = จินฺตต > จิตฺต แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ทำหน้าที่คิด” (2) “สิ่งที่ทำหน้าที่รู้อารมณ์” หมายถึง จิต, ใจ, ความคิด

(4) จิตฺต (ความวิจิตรพิสดารต่างๆ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ : จิตฺต + ณ = จิตฺตณ > จิตฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ทำให้วิจิตรไปต่างๆ” หมายถึง จิต, ใจ ซึ่งมีลักษณะคิดเรื่องราวจินตนาการต่างๆ สุดจะบรรยาย

(5) จิตฺต (สิ่งที่งดงาม) + อ (อะ) ปัจจัย : จิตฺต + อ = จิตฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่งามวิจิตรเพราะสร้างขึ้นด้วยจิต” หมายถึง จิตรกรรม, ความวิจิตรต่างๆ ที่สร้างสรรค์ขึ้น

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “จิตฺต” ไว้ดังนี้

     (1) the heart (psychologically), i. e. the centre & focus of man’s emotional nature as well as that intellectual element which inheres in & accompanies its manifestations ; i. e. thought (หัวใจ [ทางจิตวิทยา] คือ ศูนย์และจุดรวมของธรรมชาติที่เกี่ยวกับความรู้สึกของมนุษย์ กับส่วนของสติปัญญาซึ่งอยู่ในการแสดงออกเหล่านั้น ; กล่าวคือ ความคิด)

     (2) variegated, manifold, beautiful; tasty, sweet, spiced (of cakes) (วิจิตร, มีลวดลายหลายหลาก, สวยงาม, อร่อย, หวาน, ใส่เครื่องเทศ [พูดถึงขนม])

     (3) painting (ภาพเขียน)

ในที่นี้ “จิตฺต” ใช้ในความหมายตามรากศัพท์ในข้อ (2) (3) และ (4) หรือตามที่พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลในข้อ (1)

“จิตฺต” ในภาษาไทยในที่ทั่วไป ตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “จิต”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า
    “จิต, จิต- : (คำนาม) ใจ, สิ่งที่มีหน้าที่รู้ คิดและนึก, (โบราณ เขียนว่า จิตร), ลักษณนามว่า ดวง. (ป. จิตฺต).”

    ในที่นี้สะกดเป็น “จิตตะ” คง ต เต่า ไว้ 2 ตัวตามรูปบาลี

@@@@@@@

ขยายความ

“จิตตะ” เป็นคุณธรรมข้อที่ 3 ในอิทธิบาท-คุณเครื่องทำสิ่งที่ปรารถนาให้สำเร็จ 4 ข้อ

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [213] “อิทธิบาท 4” แสดงความหมายของ “จิตตะ” ไว้ดังนี้
    3. จิตตะ (ความคิดมุ่งไป คือ ตั้งจิตรับรู้ในสิ่งที่ทำและทำสิ่งนั้นด้วยความคิด เอาจิตฝักใฝ่ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไป อุทิศตัวอุทิศใจให้แก่สิ่งที่ทำ — Citta: thoughtfulness; active thought; dedication)

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายความหมายของคำว่า “จิตตะ” ไว้ดังนี้
     จิตตะ : เอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้นไม่วางธุระ, ความคิดฝักใฝ่ไม่ปล่อยใจฟุ้งซ่านเลื่อนลอย, ความมีจิตจดจ่ออุทิศตัวอุทิศใจต่อสิ่งนั้น (ข้อ ๓ ในอิทธิบาท ๔)


@@@@@@@

ข้อคิด

มีฉันทะ-ใจรัก มีวิริยะ-ใจสู้ แล้วก็จริง แต่สิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นอาจหลุดลอย เลือนราง หรือหล่นหายไปในเวลาใดเวลาหนึ่งก็เป็นได้ ถ้าปล่อยปละละเลยหรือประมาทหลงลืมอันเป็นวิสัยของปุถุชน เพราะฉะนั้น ท่านจึงสอนเรื่อง “จิตตะ” เอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้นเป็นลำดับต่อมา

“จิตตะ” คือ ความเอาใจใส่ติดตามไม่ทอดทิ้ง เกาะติดอยู่ตลอด ใช้สำนวนหนักๆ ที่นิยมพูดกันก็คือ กัดไม่ปล่อย การที่หมายยังไม่สำเร็จ เป็นไม่เลิกรา

ดูก่อนภราดา.! คาถาเสกให้คนรัก รักใครเอาใจเข้าไปจอด รักให้ตลอดอย่าถอดใจจาง





ขอบคุณ : dhamma.serichon.us/2021/09/29/จิตตะ-อิทธิบาทข้อ-3-ใจใส่/
ผู้เขียน : ทองย้อย แสงสินชัย
29 กันยายน 2021 ,By admin   
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28413
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ใจรัก ใจสู้ ใจใส่(ใส่ใจ) ใจตรอง : อิทธิบาท ๔.
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: ตุลาคม 08, 2021, 10:35:18 am »
0



"วิมังสา" อิทธิบาทข้อ 4. ใจตรอง

วิมังสา อ่านว่า วิ-มัง-สา

“วิมังสา” เขียนแบบบาลีเป็น “วีมํสา” อ่านว่า วี-มัง-สา (โปรดสังเกต บาลีเป็น วี- ไม่ใช่ วิ-) รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + มานฺ (ธาตุ = พิจารณา, ทดลอง) + ส ปัจจัย, แปลง มานฺ เป็น มํ, ทีฆะ อิ ที่ วิ เป็น อี + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ : วิ + มานฺ = วิมานฺ + ส = วิมานส > วิมํส > วีมํส + อา = วีมํสา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่พิจารณาโดยพิเศษ” หมายถึง การพิจารณา, การตรวจสอบ, การทดสอบ, การสอบสวน (consideration, examination, test, investigation)

“วีมํสา” ในภาษาไทยใช้เป็น “วิมังสา” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า
     “วิมังสา : (คำนาม) การสอบสวน, ความไตร่ตรอง, ความพิจารณา. (ป. วีมํสา; ส. มีมําสา).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “วิมังสา” สันสกฤตเป็น “มีมำสา”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “มีมำสา” บอกไว้ดังนี้
     “มีมำสา : (คำนาม) วิทยาอันหนึ่งของชาวฮินดู; one of the philosophical systems of the Hindus.”

@@@@@@@

ขยายความ

“วิมังสา” เป็นคุณธรรมข้อที่ 4 ในอิทธิบาท-คุณเครื่องทำสิ่งที่ปรารถนาให้สำเร็จ 4 ข้อ

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [213] “อิทธิบาท 4” แสดงความหมายของ “วิมังสา” ไว้ดังนี้
     4. วิมังสา (ความไตร่ตรอง หรือ ทดลอง คือ หมั่นใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญตรวจตราหาเหตุผลและตรวจสอบข้อยิ่งหย่อนในสิ่งที่ทำนั้น มีการวางแผน วัดผล คิดค้นวิธีแก้ไขปรับปรุงเป็นต้น — Vīmaṁsā: investigation; examination; reasoning; testing)

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายความหมายของคำว่า “วิมังสา” ไว้ดังนี้
     วิมังสา : การสอบสวนทดลอง, การตรวจสอบ, การหมั่นตริตรองพิจารณาเหตุผลในสิ่งนั้น (ข้อ ๔ ในอิทธิบาท ๔)


@@@@@@@

ข้อคิด

คำว่า “วิมังสา” โดยองค์ธรรมคือความหมายที่แท้จริง ท่านหมายถึง ปัญญา นักอธิบายธรรมะอธิบายลักษณะของ “ปญฺญา” โดยอาศัยความหมายตามรากศัพท์ (ป = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก + ญา รู้ = ปญฺญา) ว่า 

    “ปัญญา” มีความหมายว่า
     (1) “รู้ทั่วถ้วนทั่วถึง”
     (2) “รู้ล่วงหน้า” (รู้ว่าเหตุอย่างนี้จะเกิดผลอย่างไร, ต้องการผลอย่างนี้จะต้องทำเหตุอย่างไร)
     (3) “รู้ก่อนที่จะทำ จะพูด จะคิด”
     (4) “รู้แล้วนำชีวิตหลุดออกจากปัญหา พ้นจากทุกข์ได้”

หน้าที่ของ “วิมังสา” ตามที่บรรยายไว้ก็คือ “พิจารณาใคร่ครวญตรวจตราหาเหตุผลและตรวจสอบข้อยิ่งหย่อนในสิ่งที่ทำนั้น มีการวางแผน วัดผล คิดค้นวิธีแก้ไขปรับปรุงเป็นต้น”

“วิมังสา” จึงเป็นตัวกำกับ ดูแล ตรวจสอบ วางแผน แก้ไข ปรับปรุง เป็นต้นว่า...
     เมื่อมีฉันทะ-ใจรัก ก็พิจารณาว่าสิ่งที่ใจรักนั้นมีคุณมีค่าดีงาม เหมาะสมหรือไม่
     วิริยะ-ใจสู้ ที่ทุ่มเทลงไปหนักเบามากน้อยแค่ไหน เมื่อไรควรเร่ง เมื่อไรควรผ่อน
     จิตตะ-เอาใจใส่ตรงเรื่องตรงจุดสำคัญแล้วหรือยัง มากน้อยถี่ห่างแค่ไหน
     กล่าวได้ว่า ถ้าขาด “วิมังสา” ทั้งฉันทะ วิริยะ และจิตตะ ก็จะขาดประสิทธิภาพ และอาจแล่นไปผิดทิศทางและพลาดเป้าหมายที่ถูกต้อง

ธรรมทั้ง 4 ข้อในอิทธิบาท คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา จึงเป็นธรรมที่ต้องปฏิบัติควบคู่กันไปให้ครบชุด ขาดข้อใดข้อหนึ่ง ความสำเร็จที่สมบูรณ์ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้

ดูก่อนภราดา.! แค่รู้ตัวว่าโง่เด็ดขาด ประตูฉลาดก็เปิดทันที






ขอบคุณ : dhamma.serichon.us/2021/10/01/วิมังสา-อิทธิบาทข้อ-4-ใจต/
ผู้เขียน : ทองย้อย แสงสินชัย
1 ตุลาคม 2021 By admin.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ