ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เพชรบูรณ์จัดพิธี รำถวายพระพุทธมหธรรมราชา สืบสานประเพณีอุ้มพระดำน้ำ ปี 64  (อ่าน 315 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28431
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


เพชรบูรณ์จัดพิธี รำถวายพระพุทธมหธรรมราชา สืบสานประเพณีอุ้มพระดำน้ำ ปี 64

8 ตุลาคม 2564 ณ พุทธอุทยานเพชบุระ ดร.เสกสรร นิยมเพ็ง นายกเทศมนตรีเมืองเพชรบูรณ์ กล่าววัตถุประสงค์การจัดพิธีรำถวายพระพุทธมหาธรรมราชา งานประเพณีอุ้มพระดำน้ำจังหวัดเพชรบูรณ์ ประจำปี 2564  เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564 โดยมี นายนิเวศน์ หาญสมุทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานในพิธี มีนางวรรณจณา หาญสมุทร์ รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดเพชรบูรณ์ นำกล่าวคำบูชารำถวายพระพุทธมหาธรรมราชา และมีผู้แทนจากภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชนร่วมรำถวาย จำนวน 25 คน โดยปฏิบัติตามมาตราการป้องกันโควิด-19 อย่างเข้มงวด โดยเฉพาะผู้รำถวายและผู้ร่วมประกอบพิธีต้องได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 มาแล้ว 2 เข็ม


การรำถวายพระพุทธมหาธรรมราชา ในวันนี้ นับเป็นปีที่ 4 ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือของ จังหวัดเพชรบูรณ์ เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ สภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ และมูลนิธิพระพุทธมหาธรรมราชา ได้ร่วมจัดพิธีรำถวายพระพุทธมหาธรรมราชา ในงานประเพณีอุ้มพระดำน้ำจังหวัดเพชรบูรณ์ ประจำปี 2564

สำหรับปีนี้ การรำถวายพระพุทธมหาธรรมราชา แบ่งออกเป็น 3 รอบ ใช้เพลงประกอบในการรำถวาย ประกอบด้วย รอบที่ 1 เพลงรำถวาย ตุ๊บเก่ง ในปี พ.ศ. 2561  รอบที่ 2 เพลงรำถวาย ของดีเพชรบูรณ์ ในปี พ.ศ.2562 รอบที่ 3 เพลงรำถวาย ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ สู่อาเซียนในปี พ.ศ.2563



จนกระทั่งเวลา 09.00 น. วันที่ 5 ตุลาคม 2564 ณ มณฑปประดิษฐานพระพุทธมหาธรรมราชา  วัดไตรภูมิ ดร.เสกสรร นิยมเพ็ง นายกเทศมนตรีเมืองเพชรบูรณ์   ร่วมถวายพวงมาลัยและจุดเทียนมงคล ในพิธีบวงสรวงเทพยดาฟ้าดิน และพิธีเสียงทายทิศและคำอธิฐาน ประเพณีอุ้มพระดำน้ำจังหวัดเพชรบูรณ์ ประจำปี 2564 โดยมี นายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานในพิธี มีกรมการเมืองฝ่ายเวียง พล.ต.สามารถ มโนรถมงคล ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 36 กรมการเมืองฝ่ายวัง นายสืบพงษ์ นิ่มพูลสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ กรมการเมืองฝ่ายคลัง นายวันชัย บุญชู ผู้อำนวยการสำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดเพชรบูรณ์ กรมการเมืองฝ่ายนา นายประจวบ นาคเทียน ประธานเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองจังหวัดเพชรบูรณ์ เทวดา นายแพทย์นิติ เหตานุรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ และนายกสิเดช จารุเพ็ง ผู้อำนวยการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเพชรบูรณ์ ผู้ลั่นฆ้อง นายอร่าม มีเดช ประธานสภาเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์


พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการร่วมพิธีการสักการะเทพยดาฟ้าดิน เจ้าที่เจ้าทาง และขอพรให้กิจกรรมที่ดำเนินต่อไปในงานประเพณีอุ้มพระดำน้ำ ประสบความสำเร็จ ถือเป็นประเพณี โบราณ เป็นการแสดงการยอมรับนับถือ และคารวะพระภูมิเจ้าที่บริเวณที่จัดงานทุกส่วน มีการทำพิธีสวดขออาราธนาบารมีพระพุทธานุภาพ พระธรรมมานุภาพ พระสังฆานุภาพ ตลาดจนพระพรหมเทพยดาฟ้าดินรวมถึงท่านท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 เป็นใหญ่ในทิศทั่วทั้ง 4 มาลงประทับสถานที่นั้นด้วย สำหรับผลการเสี่ยงทายทิศและคำอธิฐานในการดำน้ำทั้ง 6 ครั้ง ประจำปี2564   ครั้งที่ 1 ทิศใต้  ครั้งที่ 2 ทิศใต้ ครั้งที่ 3 ทิศเหนือ ครั้งที่ 4 ทิศเหนือ ครั้งที่ 5 ทิศใต้ ครั้งที่ 6 เหนือ


ต่อมาวันที่ 6 ตุลาคม 2564 เวลา 09.39 น. ที่บริเวณท่าน้ำวัดโบสถ์ชนะมาร นายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมด้วยกรมการเมืองทั้ง 4 คือ เวียง วัง คลัง และนา ได้ร่วมอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชา พระคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดเพชรบูรณ์ จากวัดไตรภูมิ แห่องค์พระล่องไปตามแม่น้ำป่าสัก ไปยังท่าน้ำวัดโบสถ์ชนะมาร เพื่อประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำ ประจำปี 2564 โดยในปีนี้จังหวัดเพชรบูรณ์กำหนดจัดงานเพื่อ รักษาแก่นแท้ของประเพณีเท่านั้น งดการจัดกิจกรรมที่รวมคนเป็นจำนวนมากเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19


โดยพิธีเริ่มจากนายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้อัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชาขึ้นประดิษฐานบนเรือ จากวัดไตรภูมิมายังแม่น้ำป่าสัก และแห่องค์พระพุทธมหาธรรมราชาล่องไปตามสายน้ำ ถึงท่าน้ำวัดโบสถ์ชนะมาร เพื่อประกอบพิธี อุ้มพระดำน้ำ ที่ปฏิบัติสืบทอดมานาน และเชื่อกันว่าเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์อันจะนำความสุข ความสงบร่มเย็นมาสู่เมือง ส่งผลให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล พืชผลการเกษตรอุดมสมบูรณ์ และทำให้ชาวเพชรบูรณ์มีความเจริญรุ่งเรือง


โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมด้วยกรมการเมืองทั้ง 4 คือ เวียง วัง คลัง และนา ได้ร่วมกันอุ้มพระดำน้ำจำนวน 6 ครั้ง ครั้งแรกและครั้งที่สองทำพิธีอุ้มในทิศใต้ ครั้งที่สามครั้งที่สี่ทำพิธีอุ้มในทิศเหนือ ครั้งที่ห้าทำพิธีอุ้มในทิศใต้ และครั้งที่หกทำพิธีอุ้มในทิศเหนือ ซึ่งภายหลังจากเสร็จพิธี ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ และผู้ร่วมประกอบพิธี ได้แจกจ่ายเครื่องบวงสรวง กระยาสารท ข้าวต้มลูกโยน กล้วย ที่ผ่านพิธีอันเป็นมงคล ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่มาร่วมพิธีนำกลับไปรับประทานเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง


ประเพณีอุ้มพระดำน้ำมีตำนานที่ถูกเล่าขานมานานเป็นประเพณีหนึ่งเดียวในโลกของจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมี ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งได้ออกหาปลาในแม่น้ำป่าสัก แต่อยู่มาวันหนึ่งเกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้น โดยกระแสน้ำในบริเวณวังมะขามแฟบ มีพรายน้ำผุดขึ้นมาทีละน้อยจนแลดูคล้ายน้ำเดือด จากนั้นกลายเป็นวังวนดูดเอาองค์พระพุทธรูปองค์หนึ่งลอยขึ้นมาเหนือน้ำ ทำให้ชาวประมงต้องลงไปอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นมาประดิษฐานไว้ที่วัดไตรภูมิ แต่ในปีถัดมาตรงกับวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 วันประเพณีสารทไทย พระพุทธรูปดังกล่าวหายไป ชาวบ้านต่างพากันระงมหา สุดท้ายไปพบพระพุทธรูปกลางแม่น้ำป่าสัก บริเวณที่พบพระพุทธรูปองค์นี้ในครั้งแรกกำลังอยู่ในอาการดำผุดดำว่าย จึงได้ร่วมกันอัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานที่วัดไตรภูมิ อีกครั้งหนึ่ง


พร้อมร่วมกันถวายนามว่า "พระพุทธมหาธรรมราชา" หลังจากนั้นต่อมาในวันสารทไทย หรือวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 เจ้าเมืองเพชรบูรณ์จะทำพิธีอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชา ลงประกอบพิธีดำน้ำเป็นประจำทุกๆปี โดยเชื่อว่าจะทำให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ไพร่ฟ้าประชาชนมีความสุข บ้านเมืองปราศจากจากโรคระบาดคุกคาม จนกลายมาเป็นประเพณีอุ้มพระดำน้ำอันยิ่งใหญ่ในปัจจุบัน




ขอบคุณ : https://www.naewna.com/likesara/607543
วันศุกร์ ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2564, 15.14 น.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ