ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เราตัดสินความคิดคนอื่นว่า 'ผิด' เพียงเพราะเขา (คิด)ไม่เหมือนเรา.?!?  (อ่าน 339 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28413
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



เรื่องเล่าจาก Midnight Mass : เราตัดสินความคิดคนอื่นว่า 'ผิด' เพียงเพราะเขา (คิด)ไม่เหมือนเรา.?

ก่อนหน้านี้ผมได้ดูซีรีส์เรื่อง Midnight Mass ทาง Netflix และมาสะดุดกับเนื้อเรื่องที่ตัวละครในเรื่องเล่าถึงคุณหมอท่านหนึ่งที่ชื่อว่า Dr.Ignaz Semmelweis ซึ่งเขาคนนี้เคยมีตัวตนอยู่จริงๆในช่วงศตรวรรษที่ 19 โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อปี 1846 ที่กรุงเวียนนา

คุณหมอหนุ่มท่านนี้ได้รับมอบหมายให้เข้ามาหาเหตุผลของการเสียชีวิตของผู้หญิงจำนวนมากจากการติดเชื้อระหว่างคลอด (Puerperal Fever) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า Childbed Fever ในแผนกสูตินรีเวชที่ General Hospital ณ กรุงเวียนนา

โดยในโรงพยาบาลแห่งนี้มีวอร์ดสูตินรีเวชอยู่สองวอร์ดด้วยกัน คือ

1) วอร์ดสูตินรีเวช ที่ดูแลโดยคุณหมอที่เป็นผู้ชายทั้งหมด มีตั้งแต่อาจารย์แพทย์ไปจนถึงนักศึกษาแพทย์
2) วอร์ดสูตินรีเวช ที่ดูแลโดยนางพยาบาลผดุงครรภ์ซึ่งเป็นผู้หญิงทั้งหมด

Dr.Semmelweis เริ่มทำการเก็บข้อมูล แล้วก็ได้ไปพบเรื่องที่ทำให้เขาต้องประหลาดใจเป็นอย่างมาก เพราะอัตราการเสียชีวิตของวอร์ดที่ดูแลโดยคุณ​หมอผู้ชาย มีอัตราการเสียชีวิตของคนไข้สูงกว่าวอร์ดที่ดูแลโดยนางพยาบาลผดุงครรภ์ถึง 5 เท่า

@@@@@@@

Dr.Semmelweis ก็ได้นำปัจจัยต่างๆ ของทั้งสองวอร์ดมาเปรียบเทียบกัน โดยค่อยๆ ตัดความเป็นไปได้ลงไปทีละสมมติฐาน

สมมติฐานแรก ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเลยคือ ในวอร์ดของหมอผู้ชาย คุณแม่คลอดในท่านอนหงายแต่ในวอร์ดของนางพยาบาลผดุงครรภ์ คุณแม่จะคลอดในท่านอนตะแคง

ทาง Dr.Semmelweis เลยลองให้คุณแม่ในวอร์ดของหมอผู้ชายนอนตะแคงบ้าง ผลปรากฏว่าไม่มีอะไรแตกต่างกัน สมมติฐานข้อนี้จึงตกไป

สมมติฐานที่สองคือ เวลามีใครเสียชีวิตจาก Childbed Fever จะมีบาทหลวงเดินเข้ามาอย่างช้าๆผ่านไปที่เตียงของคนไข้ที่อยู่ในวอร์ด พร้อมผู้ช่วยที่คอยสั่นกระดิ่ง เขาเลยตั้งสมมติฐานขึ้นมาว่า หรือเป็นเพราะเสียงกระดิ่ง ทำให้ผู้หญิงที่ยังมีชีวิตอยู่เกิดกลัวขึ้นมาเลยทำให้เสียขวัญจนกระทั่งป่วยและเสียชีวิตตามไปด้วย.?

คุณหมอเลยให้บาทหลวงลองเปลี่ยนเส้นทางการเดินและไม่ให้ใช้กระดิ่ง ผลปรากฏว่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร ดังนั้นสมมติฐานนี้จึงตกไปเช่นเดียวกัน

จนมาถึงตอนนี้ เขาก็เริ่มที่จะหัวเสียมากๆ แล้ว เพราะหาสาเหตุของการเสียชีวิตไม่ได้สักที ในระหว่างนั้นเองเพื่อนของเขาซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพยาธิวิทยาก็ได้ป่วยและเสียชีวิตลง

ทำให้ Dr.Semmelweis ตัดสินใจเข้าไปศึกษาการเสียชีวิตของเพื่อนคนนี้ แล้วก็พบว่าอาการต่างๆนั้นเหมือนกับการเสียชีวิตจากการติดเชื้อระหว่างคลอดเลย ดังนั้น Childbed Fever จึงไม่ได้เกิดขึ้นได้แต่กับคุณแม่ที่กำลังจะคลอดเท่านั้น แต่เกิดได้กับคนอื่นๆ ในโรงพยาบาลเช่นกัน


@@@@@@@

แต่ก็ยังมีคำถามที่ใหญ่มากๆ อยู่นั่นคือ “ทำไมมีคนเสียชีวิตจากวอร์ดที่ดูแลโดยหมอผู้ชาย มากกว่าวอร์ดที่ดูแลโดยพยาบาลผดุงครรภ์.?”

Dr.Semmelweis ก็ได้ตั้งข้อสังเกตอีกข้อว่า คุณหมอผู้ชายจะต้องทำอีกหน้าที่หนึ่งคือการชันสูตรศพด้วย ในขณะที่นางพยาบาลผดุงครรภ์ไม่ต้องทำ

เขาเลยตั้งสมมติฐานว่าตอนที่หมอชันสูตรพลิกศพ ชิ้นส่วนเล็กๆ จากศพอาจจะติดมือของหมอมา แล้วเมื่อมาทำคลอดผู้หญิงต่อ ชิ้นส่วนเล็กๆ เหล่านั้นอาจจะหลุดเข้าไปในช่องคลอด แล้วทำให้ผู้หญิงเหล่านั้นป่วยและเสียชีวิตในที่สุด

ด้วยความสงสัยเขาเลยสั่งให้เปลี่ยนกระบวนการล้างมือและเครื่องมือของทุกคนใหม่ โดยจะไม่ล้างแค่สบู่อย่างเดียว แต่จะล้างด้วยสารละลายคลอรีน

ในช่วงศตวรรษที่ 19 นั้นยังไม่มีการองค์ความรู้เกี่ยวกับเชื้อโรค (Germs) มากนัก และ Dr.Semmelweis ก็ไม่รู้จักเชื้อโรคเช่นกัน ที่เขาเลือกใช้คลอรีนก็เพราะว่าเขาคิดว่ามันสามารถกำจัดชิ้นส่วนเล็กๆ ที่อาจจะติดมากับศพที่ถูกชันสูตรได้

ทันทีที่มาตรการนี้เริ่มใช้ อัตราการเสียชีวิตลดลงอย่างมาก สิ่งที่เขาค้นพบยังคงเป็นสิ่งที่จริงมาจนถึง ทุกวันนี้นั่นก็คือ ‘การล้างมือคือเครื่องมือที่สำคัญที่สุดของระบบสาธารณสุข’

การค้นพบครั้งนี้น่าจะทำให้วงการแพทย์ตื่นเต้นมากๆ เพราะปัญหาใหญ่ได้ถูกแก้ไขแล้ว และการล้างมือกับอุปกรณ์ด้วยคลอรีนน่าจะกลายเป็นมาตรฐานที่ทุกโรงพยาบาลต้องนำไปปฏิบัติด่วนเลยใช่ไหมครับ.?

แต่คำตอบคือ ไม่ใช่เลยครับ สิ่งที่เกิดขึ้นมันตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง

@@@@@@@

ปรากฏว่าหมอต่างๆ ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้อย่างมาก เพราะพวกเขารู้สึกว่าตัวเองนั้นถูกกล่าวหาว่า เป็นสาเหตุให้ผู้หญิงเป็น Childbed Fever

ทาง Dr.Semmelweis  เองก็เป็นคนตรงไปตรงมา เขาได้วิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้อย่างเผ็ดร้อนสร้างความไม่พอใจให้กับคนในวงการแพทย์เป็นจำนวนมาก จนในที่สุดบรรดาหมอต่างๆ ก็สั่งให้หยุดล้างมือด้วยคลอรีน และ Dr.Semmelweis ก็ถูกไล่ออก

ใช่ครับ คนที่ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตลดลงอย่างมหาศาลถูกไล่ออก และโรงพยาบาลแห่งนี้ก็กลับมาใช้วิธีเดิม ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตก็พุ่งสูงขึ้นอีก แต่ก็ไม่ได้มีใครสนใจจะแก้ไขอะไร

Dr.Semmelweis ใช้เวลาหลังจากนั้นพยายามนำหลักฐานเรื่องการล้างมือและล้างอุปกรณ์ไปแสดงให้กับโรงพยาบาลและคุณหมอทั่วยุโรป แต่ก็ไม่มีใครสนใจเขา เขาเริ่มหมกหมุ่นกับเรื่องนี้มากขึ้นเขาทั้งโกรธและผิดหวังอย่างมาก ซึ่งมันได้ส่งผลเสียต่อสมองของเขาจนเขามีอาการทางจิต

ในปี 1865 ด้วยวัยเพียง 47 ปี เขาถูกส่งเข้าโรงพยาบาลจิตเวช และเขาก็ได้เสียชีวิตด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือดที่โรงพยาบาลจิตเวชนั้น


@@@@@@@

ในเรื่อง Midnight Mass ตัวแสดงที่เล่าเรื่องนี้บอก
    “The scientific community ate him alive, germ theory was two decades away from acceptance”
   “วงการแพทย์และวิทยาศาสตร์ได้ทำลายชีวิตเขา เพราะกว่าความรู้เรื่องเชื้อโรคจะเริ่มเป็นที่รู้จักก็ผ่านมาเป็นเวลา 20 ปีแล้ว”

    “Semmelweis was committed to an Asylum by another scientist and he died there”
     Dr.Semmelweis ถูกทำให้เข้าโรงพยาบาลจิตเวช โดยสังคมหมอและนักวิทยาศาสตร์​ และเขาก็เสียชีวิตที่นั้นอย่างน่าเศร้า

ผมคิดว่าเรื่องนี้ทำให้เราต้องหันกลับมามองตัวเอง ตั้งคำถามกับตัวเองให้เยอะเลยว่า บางทีเราเองก็เหมือนกับเหล่าบรรดาสังคมแพทย์ที่ไม่เห็นด้วยกับ Dr.Semmelweis หรือไม่.?

เราเคยตัดสินความคิดของคนอื่นว่าผิดเพียงเพราะว่า “ฉันอาบน้ำร้อนมาก่อน” บ้างไหม.?
เราเคยตัดสินความคิดคนอื่นว่าผิด เพียงเพราะว่า ความคิดนั้นมันทำให้เราดูไม่ดีไหม.?
เราเคยตัดสินความคิดคนอื่นว่าผิด เพียงเพราะว่า เรามีอำนาจเหนือกว่าเขาไหม.?

เรื่องนี้ทำให้ผมคิดถึงคำพูดของ Audre Lorde ที่ว่า
    “It is not our differences that divide us. It is our inability to recognize, accept, and celebrate those differences.”
    “มันไม่ใช่ความแตกต่างทางความคิดที่แบ่งแยกเรา มันคือการที่เราไม่สามารถที่จะมองเห็น ยอมรับและชื่นชมความแตกต่างนั้นต่างหาก”




Thank to : https://today.line.me/th/v2/article/x2XKjx1
Mission To The Moon ,อัพเดต 04 ต.ค. เวลา 21.35 น. • เผยแพร่ 04 ต.ค. เวลา 20.00 น. • Rawit Hanutsaha
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ