ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: "ออกพรรษา" คำบาลีว่าอย่างไร.? | ภิกษุจำพรรษาครบ 3 เดือน เรียกว่า “วุตฺถวสฺส”  (อ่าน 698 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28409
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



"ออกพรรษา" คำบาลีว่าอย่างไร.? | ภิกษุจำพรรษาครบ 3 เดือน เรียกว่า “วุตฺถวสฺส”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า

“ออกพรรษา : (คำนาม) เรียกวันที่สิ้นสุดการจําพรรษาแห่งพระสงฆ์ คือ วันขึ้น ๑๕ คํ่า เดือน ๑๑ ว่า วันออกพรรษา, วันปวารณา หรือ วันมหาปวารณา ก็เรียก.”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “วันออกพรรษา” บอกไว้ดังนี้

วันออกพรรษา : วันสิ้นสุดจำพรรษา, วันสุดท้ายของการจำพรรษา ตามปกติหมายถึงวันสิ้นสุดพรรษาต้น หรือสิ้นปุริมพรรษา ได้แก่ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ อันเป็นวันที่พระสงฆ์ทำสังฆกรรมชื่อว่า “ปวารณา” จึงเรียกว่าวันปวารณา หรือวันมหาปวารณา, (วันออกพรรษาหลัง หรือสิ้นปัจฉิมพรรษา คือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒).

พึงทราบว่า กรณีเกี่ยวกับการออกพรรษาที่เราเรียกกันว่า “วันออกพรรษา” นี้ ในคัมภีร์ไม่ได้ใช้คำที่จะแปลได้ว่า “วันออกพรรษา”

ต่างจากกรณีเกี่ยวกับการเข้าอยู่จำพรรษาซึ่งในคัมภีร์มีคำเรียกว่า “วสฺสูปนายิกา” (วัด-สู-ปะ-นิ-ยิ-กา) แปลตามศัพท์ว่า “ดิถีเป็นที่น้อมไปสู่กาลฝน” ก็คือที่เราเรียกกันว่า “วันเข้าพรรษา” (ดู “วัสสูปนินายิกา” บาลีวันละคำ (2,946) 6-7-63)

ภิกษุที่จำพรรษาครบ 3 เดือนแล้ว คำบาลีเรียกว่า “วุตฺถวสฺส” (วุด-ถะ-วัด-สะ) แยกศัพท์เป็น วุตฺถ + วสฺส

@@@@@@@

(๑) “วุตฺถ” อ่านว่า วุด-ถะ รากศัพท์มาจาก วสฺ (ธาตุ = อยู่, พำนัก) + ต (ตะ) ปัจจัย, แปลง อะ ที่ ว-(สฺ) เป็น อุ (วสฺ > วุส), แปลง ส ที่สุดธาตุกับ ต เป็น ตฺถ : วสฺ + ต = วสต > วุสต > วุตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “-อันตนอยู่แล้ว” หมายถึง พักอยู่, อาศัยอยู่หรือใช้ [เวลา] (having dwelt, lived or spent [time])

(๒) “วสฺส” อ่านว่า วัด-สะ รากศัพท์มาจาก วสฺสฺ (ธาตุ = ราด, รด) + อ (อะ) ปัจจัย : วสฺสฺ + อ = วสฺส แปลตามศัพท์ว่า
      (1) “น้ำที่หลั่งรดลงมา”
      (2) “ฤดูเป็นที่ตกแห่งฝน”
      (3) “กาลอันกำหนดด้วยฤดูฝน”

“วสฺส” (ปุงลิงค์; นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้
      (1) ฝน, ห่าฝน (rain, shower)
      (2) ปี (a year)
      (3) ความเป็นลูกผู้ชาย, ความแข็งแรง (semen virile, virility)

ในที่นี้ “วสฺส” มีความหมายตามข้อ (1)

@@@@@@@

ประสมคำ

วุตฺถ + วสฺส = วุตฺถวสฺส แปลตามรูปวิเคราะห์ (คือกระบวนการกระจายคำเพื่อหาความหมาย) ว่า “กาลฝน อันภิกษุใด อยู่แล้ว ภิกษุนั้น ชื่อว่า ‘วุตฺถวสฺส’ = ผู้มีกาลฝนอันตนอยู่แล้ว”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ขยายความไว้ว่า One who has kept Lent or finished the residence of the rains is a vuttha-vassa (ผู้อยู่จำพรรษาเสร็จแล้ว หรือพักอยู่ตลอดฤดูฝนแล้ว เรียกว่า วุตถ-วสส)
“วุตฺถวสฺส” แปลเอาความว่า “ผู้จำพรรษาแล้ว” เป็นคุณศัพท์ของ “ภิกษุ” คือบอกให้รู้ว่า ภิกษุรูปนั้นจำพรรษาครบตามกำหนดแล้ว

“วุตฺถวสฺส” ไม่ได้ใช้เป็นคุณศัพท์ของ “วัน” อันอาจจะแปลได้ว่า “วันอันภิกษุอยู่จำพรรษาครบแล้ว” = “วันออกพรรษา”

ถ้าแปลงคำนี้เป็น “วัน” ก็อาจจะเป็น “วุตฺถวสฺสา ติถี” หรือ “วุตฺถวสฺสทิวส” แปลตรงๆ ว่า “วันออกพรรษา” แต่นี่เป็นการคิดเล่นๆ เพราะคำจริงๆ ไม่มี จึงไม่ควรใช้ ขืนใช้เข้าอาจเข้าข่ายอุตริ

อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจดูในคัมภีร์ก็พบว่า คัมภีร์สมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย ตอนอนิยตกัณฑวัณณนา ภาค 2 หน้า 168 มีข้อความตอนหนึ่งว่า อาสาฬฺหีปวารณนกฺขตฺตาทีสุ มหุสฺสเวสุ

ท่านผู้แปลข้อความตอนนี้แปลไว้ว่า “ในงานมหรสพฉลองมีอาสาฬหนักขัตฤกษ์และปวารณานักขัตฤกษ์เป็นต้น (งานฉลองนักขัตฤกษ์วันเข้าพรรษาและวันออกพรรษา)” นั่นคือท่านแปลคำว่า “อาสาฬฺหีนกฺขตฺต” ว่า “อาสาฬหนักขัตฤกษ์” และวงเล็บว่า “นักขัตฤกษ์วันเข้าพรรษา”

และแปลคำว่า “ปวารณนกฺขตฺต” ว่า “ปวารณานักขัตฤกษ์” และวงเล็บว่า “นักขัตฤกษ์วันออกพรรษา” นั่นหมายความว่า ถ้าจะหาคำบาลีในคัมภีร์ที่หมายถึง “วันออกพรรษา” ก็น่าจะเป็นคำว่า “ปวารณนกฺขตฺต” คำนี้เอง แต่นี่เป็นเพียงข้อสันนิษฐาน ขอฝากนักเรียนบาลีช่วยกันพิจารณาดูเถิด

@@@@@@@

หมายเหตุ

วันที่เขียนบาลีวันละคำคำว่า “ออกพรรษา” นี้ ยังไม่ถึงวันออกพรรษา แต่ก็ไม่มีระเบียบห้ามไว้ว่า ห้ามกล่าวถึงวันออกพรรษาก่อนถึงวันออกพรรษา หรือเมื่อเลยวันออกพรรษาไปแล้ว และไม่มีระเบียบห้ามไว้เช่นกันว่า ห้ามศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับวันออกพรรษาก่อนถึงวันออกพรรษา หรือเมื่อเลยวันออกพรรษาไปแล้ว ดังนั้น การกล่าวถึงวันออกพรรษาในช่วงเวลานี้จึงไม่เป็นความผิด หรือแม้แต่จะอ้างว่าไม่ถูกกาลเทศะก็คงอ้างไม่ได้

เวลานี้สังคมไทยเรามีค่านิยมประหลาดอยู่อย่างหนึ่ง คือ จะเอ่ยถึงเรื่องอะไรหรือเอ่ยถึงใครก็ต่อเมื่อถึงวันที่กำหนดกันว่าเป็นวันเกี่ยวกับเรื่องนั้น หรือเกี่ยวกับบุคคลนั้นเพียงวันเดียว ก่อนหน้านั้นหรือหลังจากวันที่กำหนดนั้นแล้วก็ไม่มีใครเอ่ยถึงเรื่องนั้นหรือบุคคลนั้นอีก จนกว่าจะถึงวันนั้นในรอบปีต่อไป คงยากที่จะแก้ไขค่านิยมประหลาดนี้ จะทำได้ก็เพียงเตือนสติกัน หรือให้คติกันเท่าที่พอจะทำได้

ดูก่อนภราดา.! อย่ารอให้ถึงวันตาย จึงค่อยคิดถึงความตาย






ขอบคุณ : dhamma.serichon.us/2021/10/03/ออกพรรษา-คำบาลีว่าอย่าง/
บทความของ ทองย้อย แสงสินชัย , 3 ตุลาคม 2021,  By admin.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ