ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: จักกวัตติสูตรศึกษา ตอนที่ ๐๖-๑๐  (อ่าน 1093 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28436
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
จักกวัตติสูตรศึกษา ตอนที่ ๐๖-๑๐
« เมื่อ: ตุลาคม 22, 2021, 09:19:16 am »
0




จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๖) : ถอดความรัตนะ ๗ ประการของพระเจ้าจักรพรรดิ

ในตอนก่อนๆ ได้ถอดความไว้แล้วว่า แก้วประการที่ ๑. ของพระเจ้าจักรพรรดิ คือ จักรแก้ว หมายถึงพลังอำนาจทางทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังอาวุธ แต่เป็นพลังที่ประกอบด้วยธรรม ใช้ธรรมเป็นอำนาจ ไม่ใช่พลังที่ใช้ไปเข่นฆ่าล้างผลาญใคร

ต่อไปก็มาว่าถึงแก้วอื่นๆ


@@@@@@@

๒. และ ๓. ช้างแก้ว-ม้าแก้ว หมายถึงอะไร.?

ช้างม้าคือพาหนะ คือการเดินทาง ช้างแก้ว-ม้าแก้วจึงหมายถึงการคมนาคมและการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ
จะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิได้ต้องบริหารจัดการการคมนาคมและการขนส่งให้มีประสิทธิภาพ ผู้คนไปมา สินค้ามาไป รวดเร็ว ทันการณ์ ครอบคลุม ทั่วถึง

๔. แก้วมณี หมายถึงอะไร?

ขอตีความว่า คือทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หรือสมบัติส่วนพระองค์ อันนี้จำเป็นต้องมีเพื่อความคล่องตัวในการปฏิบัติพระราชภารกิจ ทรัพย์ส่วนของแผ่นดินก็ส่วนหนึ่ง ใช้สำหรับทำนุบำรุงแผ่นดิน บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่อาณาประชาราษฎร จะเอามาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนพระองค์หาควรไม่ จึงจำเป็นต้องมีทรัพย์สินส่วนพระองค์เพื่อใช้จ่ายเป็นการส่วนพระองค์ไว้ด้วย

แต่เรื่องนี้ ถ้าให้นักประวัติศาสตร์มอง เขาก็คงบอกว่า สมัยเก่าก่อนโน้นของทั้งหมดในแผ่นดินเป็นของพระเจ้าดินโดยสิทธิ์ขาดอยู่แล้ว คำว่า “เจ้าแผ่นดิน” ก็บอกความหมายอยู่ จึงไม่มีสิ่งใดที่จะไม่ใช่ทรัพย์ส่วนตัวของพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าแผ่นดินมีสิทธิ์ที่จะใช้ทรัพย์ทั้งแผ่นดินไปในการส่วนพระองค์ได้อยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นจะต้องแบ่งแยกเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ให้แปลกออกไป

นั่นก็อาจจะเป็นมุมมองของนักประวัติศาสตร์ แต่ขอให้คิดนิดหนึ่งว่า เราคิดของเราอย่างนี้ได้ แต่เราคงคิดแทนพระเจ้าจักรพรรดิไม่ได้ พระเจ้าจักรพรรดิอาจไม่ได้มองทรัพย์ในแผ่นดินอย่างที่นักประวัติศาสตร์มองก็ได้

๕. นางแก้ว หมายถึงอะไร.?

นางแก้วคือน้ำเลี้ยงหัวใจตามวิสัยโลก และมักจะเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จแทบทุกเรื่อง นางแก้วจะไม่เป็นต้นเหตุแห่งความล้มเหลวหรือความพินาศ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นก็ไม่เรียกนางแก้ว

๖. ขุนคลังแก้ว หมายถึงอะไร.?

ขุนคลังแก้วหมายถึงผู้บริหารจัดการทรัพย์สินของแผ่นดิน ซึ่งก็หมายถึงทรัพย์สินของประชาชนนั่นเอง พูดภาษาสมัยใหม่ก็คือผู้รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจของแผ่นดิน คนนี้สำคัญมาก ปากท้องของผู้คนทั้งแผ่นดินฝากไว้กับขุนคลังแก้ว เป็นพระเจ้าจักรพรรดิไม่ได้ ถ้าบริหารจัดการเรื่องเศรษฐกิจไม่เป็น

๗. ขุนพลแก้ว หมายถึงอะไร.?

ชื่อนี้บาลีใช้ว่า “ปริณายกรตน” ท่านแปลกันมาว่า “ขุนพลแก้ว” แต่ดูตามรูปศัพท์แล้ว “ขุนพลแก้ว” ศัพท์บาลีควรจะเป็น “เสนาปติรตน” แต่เมื่อท่านไม่ได้ใช้คำนี้ หากแต่ใช้คำว่า “ปริณายกรตน” ก็ชวนให้เข้าใจว่า น่าจะหมายถึงผู้ที่ทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายบริหาร คือเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบกิจการทั้งปวงของแผ่นดินแทนองค์พระเจ้าจักรพรรดิ ซึ่งน่าจะตรงกับตำแหน่งที่เรียกในสมัยนี้ว่า “นายกรัฐมนตรี”

และเมื่อดูตามคำอธิบายของอรรถกถาที่ว่า “ปริณายกรัตนะ” หมายถึงพระราชโอรสองค์ใหญ่ประสูติแต่พระอัครมเหสี สามารถครองราชสมบัติได้ทั้งหมด (อคฺคมเหสิยา กุจฺฉิมฺหิ นิพฺพตฺติตฺวา สกลรชฺชมนุสาสนสมตฺถํ เชฏฺฐปุตฺตสงฺขาตํ ปริณายกรตนํ.)

ก็ยิ่งชัดเจนว่า บุคคลผู้นี้ก็คือมือรองของพระเจ้าจักรพรรดินั่นเอง ตำแหน่ง “ปริณายกรัตนะ” เป็นตำแหน่งที่ต้องรู้งานบริหารงานทุกด้านของแผ่นดินและเตรียมตัวเป็นพระเจ้าจักรพรรดิองค์ต่อไป ซึ่งในพระสูตรก็บรรยายไว้ชัดเจนว่า เมื่อถึงเวลาอันสมควรพระเจ้าจักรพรรดิก็จะสละราชสมบัติให้พระราชโอรสองค์ใหญ่ซึ่งขณะนั้นก็คือ “ปริณายกรัตนะ” พระองค์เองออกผนวชเป็นราชฤษี ประพฤติเช่นนี้สืบมาทุกพระองค์

@@@@@@@

รัตนะ ๗ ประการของพระเจ้าจักรพรรดิในมุมมองของผมผู้ศึกษาจักกวัตติสูตรมีความหมายดังแสดงมา ด้วยประการฉะนี้

ท่านผู้อ่าน-ท่านผู้อื่นมีสิทธิ์ถอดความ-ตีความเป็นอย่างอื่นหรือเป็นอย่างใดๆ ก็ได้ ลองทำดูสิครับ เป็นวิธีฝึกสร้างภูมิปัญญาในฐานะนักศึกษาพระสูตรในพระไตรปิฎก อรรถรสของการศึกษาพระไตรปิฎกอยู่ตรงนี้แหละครับ-ศึกษาแล้วขบความออกมาให้ได้

ตอนหน้า : ว่าด้วยจักรวรรดิวัตร-หลักการบริหารแผ่นดินของพระเจ้าจักรพรรดิ





ขอขอบคุณ :-
บทความของ : นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย , ๑๘ สิงหาคม ๒๕๖๔ ,๑๗:๐๕ น.
web : dhamma.serichon.us/2021/08/20/จักกวัตติสูตรศึกษา-๐๖/
Posted date : 20 สิงหาคม 2021 By admin.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28436
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: จักกวัตติสูตรศึกษา ตอนที่ ๐๖-๑๐
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: ตุลาคม 22, 2021, 09:37:51 am »
0




จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๗) : ว่าด้วยจักรวรรดิวัตร-หลักการบริหารแผ่นดินของพระเจ้าจักรพรรดิ

เนื้อหาในจักกวัตติส่วนที่เป็น “จักรวรรดิวัตร” ต้นฉบับบาลีพระไตรปิฎกและคำแปล เป็นดังนี้

(พระราชาองค์ใหม่ทูลถามพระราชบิดาซึ่งเคยเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ แต่บัดนี้ออกผนวชเป็นฤษี) กตมํ ปเนตํ เทว อริยํ จกฺกวตฺติวตฺตนฺติ ฯ - พระพุทธเจ้าข้า ก็จักกวัตติวัตรอันประเสริฐนั้นเป็นไฉน.?
(ราชฤษีตรัสตอบ) เตนหิ ตฺวํ ตาต - จักกวัตติวัตรเป็นเช่นนี้นะพ่อ


ธมฺมํเยว นิสฺสาย - พ่อจงอาศัยธรรมเท่านั้น
ธมฺมํ สกฺกโรนฺโต - สักการะธรรม
ธมฺมํ ครุกโรนฺโต - ทำความเคารพธรรม
ธมฺมํ มาเนนฺโต - นับถือธรรม
ธมฺมํ ปูเชนฺโต - บูชาธรรม
ธมฺมํ อปจายมาโน - ยำเกรงธรรม
ธมฺมทฺธโช - มีธรรมเป็นธงชัย
ธมฺมเกตุ - มีธรรมเป็นยอด
ธมฺมาธิปเตยฺโย - มีธรรมเป็นใหญ่

ธมฺมิกํ รกฺขาวรณคุตฺตึ สํวิทหสฺสุ - จงจัดการรักษา ป้องกัน และคุ้มครองอันเป็นธรรม
อนฺโตชนสฺมึ - ในชนภายใน (คือคนใกล้ชิด เช่นพระราชวงศ์และข้าราชบริพาร)
พลกายสฺมึ - ในหมู่พล (คือกำลังพลในกองทัพ)
ขตฺติเยสุ - ในหมู่กษัตริย์ผู้ได้รับราชาภิเษก
อนุยนฺเตสุ - ในหมู่กษัตริย์ประเทศราช
พฺราหฺมณคหปติเกสุ - ในพวกพราหมณ์และคฤหบดี
เนคมชานปเทสุ - ในชาวนิคมและชาวชนบททั้งหลาย
สมณพฺราหฺมเณสุ - ในพวกสมณพราหมณ์
มิคปกฺขีสุ - ในเหล่าเนื้อและนก
มา ว เต ตาต วิชิเต อธมฺมกาโร ปวตฺติตฺถ - การกระทำสิ่งที่เป็นอธรรมอย่าเป็นไปในแว่นแคว้นของลูก

เย จ เต ตาต วิชิเต อธนา เตสญฺจ ธนํ อนุปฺปทชฺเชยฺยาสิ - อนึ่ง บุคคลเหล่าใดในแว่นแคว้นของลูกไม่มีทรัพย์ พ่อพึงให้ทรัพย์แก่บุคคลเหล่านั้นด้วย
เย จ เต ตาต วิชิเต สมณพฺราหฺมณา มทปฺปมาทา ปฏิวิรตา ขนฺติโสรจฺเจ นิวิฏฺฐา เอกมตฺตานํ ทเมนฺติ เอกมตฺตานํ สเมนฺติ เอกมตฺตานํ ปรินิพฺพาเปนฺติ - อนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใดในแว่นแคว้นของลูกงดเว้นจากความเมาและความประมาท ตั้งมั่นอยู่ในขันติและโสรัจจะ ฝึกตนอย่างเด็ดเดี่ยว สงบระงับอยู่อย่างเด็ดเดี่ยว ดับกิเลสอยู่อย่างเด็ดเดี่ยว

เต กาเลน กาลํ อุปสงฺกมิตฺวา ปริปุจฺเฉยฺยาสิ ปริปเญฺหยฺยาสิ - พึงเข้าไปหาสมณพราหมณ์เหล่านั้นโดยกาลอันสมควร แล้วไต่ถามสอบถามว่า
กึ ภนฺเต กุสลํ - ท่านเจ้าข้า กุศลคืออะไร
กึ ภนฺเต อกุสลํ - ท่านเจ้าข้า อกุศลคืออะไร
กึ สาวชฺชํ - กรรมมีโทษคืออะไร
กึ อนวชฺชํ - กรรมไม่มีโทษคืออะไร
กึ เสวิตพฺพํ - กรรมอะไรควรเสพ (คือควรประพฤติปฏิบัติ)
กึ น เสวิตพฺพํ - กรรมอะไรไม่ควรเสพ
กึ เม กริยมานํ ทีฆรตฺตํ อหิตาย ทุกฺขาย อสฺส - กรรมอะไรอันข้าพเจ้ากระทำอยู่ พึงเป็นไปเพื่อโทษเพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน
กึ วา ปน เม กริยมานํ ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย อสฺสาติ - หรือว่ากรรมอะไรที่ข้าพเจ้ากระทำอยู่ พึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เพื่อสุขสิ้นกาลนาน


เตสํ สุตฺวา - พ่อได้ฟังคำของสมณพราหมณ์เหล่านั้นแล้ว
ยํ อกุสลํ ตํ อภินิวชฺเชยฺยาสิ - สิ่งใดเป็นอกุศล พึงละเว้นสิ่งนั้นเสีย
ยํ กุสลํ ตํ สมาทาย วตฺเตยฺยาสิ - สิ่งใดเป็นกุศล พึงประพฤติสิ่งนั้นให้มั่นคง
อิทํ โข ตาต ตํ อริยํ จกฺกวตฺติวตฺตนฺติ ฯ - ดูก่อนพ่อ นี้แลคือจักกวัตติวัตรอันประเสริฐนั้น

______________________________________________
ที่มา : จักกวัตติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๑ ข้อ ๓๕

หมายเหตุ

ภาษาบาลีคัดจากพระไตรปิฎกบาลีฉบับสยามรัฐ คำแปลภาษาไทยนั้นปรับแต่งจากที่ท่านแปลไว้เดิม ตามที่เห็นว่าจะได้อรรถรสตรงตามสำนวนบาลี

นักเรียนบาลีท่านอื่นๆ สามารถปรับหรือแปลเป็นอย่างอื่นอีกได้ นี่เป็นเสน่ห์หรือความอร่อยอย่างหนึ่งของการเรียนบาลี คือ การได้ขบความตามถ้อยคำบาลี เพื่อให้เข้าถึงอรรถรสของต้นฉบับให้ได้มากที่สุด หรือตรงที่สุด

จากจุดนี้ จะเห็นเหตุผลสำคัญว่า ทำไมโบราณาจารย์จึงกวดขันให้รักษาสืบทอดต้นฉบับบาลีไว้ให้แม่นยำเที่ยงตรงที่สุด ก็คือเพื่อจะได้มีต้นฉบับไว้ยืนยันว่า ที่เอามาพูดเอามาสอนกันอย่างนั้นๆ ต้นฉบับจริงๆ ท่านว่าไว้อย่างไร และตรงนี้อีกเช่นกันที่เราในปัจจุบันนี้ละเลยกันมาก คือเชื่อตามที่มีคนเอามาพูด แต่ไม่พิสูจน์ไปให้ถึงต้นน้ำต้นทาง

ทุกวันนี้เราจึงได้ฟัง “ธรรมะของข้าพเจ้า” อื้ออึงไป โดยที่ไม่รู้ว่านั่นเป็น “ธรรมะของพระพุทธเจ้า” หรือเปล่า

ตอนหน้า : จักกวัตติวัตรที่ผู้รู้ท่านนำมาแสดง





ขอขอบคุณ :-
บทความของ : นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย ม๑๙ สิงหาคม ๒๕๖๔ ,๑๑:๓๔ น.
web : dhamma.serichon.us/2021/08/20/จักกวัตติสูตรศึกษา-๐๗/
Posted date : 20 สิงหาคม 2021 ,By admin.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28436
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: จักกวัตติสูตรศึกษา ตอนที่ ๐๖-๑๐
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: ตุลาคม 22, 2021, 09:49:57 am »
0



จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๘) : ว่าด้วยจักรวรรดิวัตรที่ผู้รู้ท่านนำมาแสดง (1)

ท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ผู้จัดทำพระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน ได้ย่อเรื่องในจักกวัตติสูตรไว้ เฉพาะตอนที่ว่าด้วยจักรวรรดิวัตร ท่านแสดงไว้ดังนี้

พระราชา(พระองค์ใหม่) กราบทูลถามพระราชฤษีว่า วัตรอันประเสริฐของพระเจ้าจักรพรรดิ เป็นอย่างไร.?
ตรัสตอบว่า
    “๑. จงอาศัยธรรม สักการะเคารพนับถือธรรม ให้ความคุ้มครองอันเป็นธรรมแก่มนุษย์แลสัตว์ ไม่ยอมให้ผู้ทำอันเป็นอธรรมเป็นไปได้ในแว่นแคว้น
     ๒. ผู้ใดไม่มีทรัพย์ก็มอบทรัพย์ให้
     ๓. เข้าไปหาสมณพราหมณ์ผู้เว้นจากความเมา ประมาท ตั้งอยู่ในขันติ (ความอดทน) โสรัจจะ (ความสงบเสงี่ยม) และถามถึงสิ่งเป็นกุศล, อกุศล, มีโทษ, ไม่มีโทษ, ควรเสพ, ไม่ควรเสพ, อะไรทำเข้าเป็นไปเพื่อเสียประโยชน์ เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน, อะไรทำเข้าเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อสุขตลอดกาลนาน. เมื่อฟังแล้ว ก็รับเอาสิ่งที่เป็นกุศลมาประพฤติ. นี้แลคือวัตรอันประเสริฐของพระเจ้าจักรพรรดินั้น.”

ความตอนนี้ท่านทำหมายเหตุไว้ด้วย ดังนี้


@@@@@@@

หมายเหตุ

ข้าพเจ้าย่อวัตรของพระเจ้าจักรพรรดิได้ ๓ อย่าง แต่ในอรรถกถาแจกไปตามพยัญชนะได้ถึง ๑๐ อย่าง คือ ให้อารักขาอันเป็นธรรมแก่
     ๑. พลกาย หรือกองทหารที่อยู่ใกล้ชิด (เป็นอันโตชน)
     ๒. กษัตริย์ (น่าจะหมายถึงพระราชวงศ์และกษัตริย์เมืองขึ้น)
     ๓. ผู้ติดตาม
     ๔. พราหมณ์คฤหบดี
     ๕. ชาวนิคมชนบท
     ๖. สมณพราหมณ์
     ๗. เนื้อและนก
     ๘. ขัดขวางผู้กระทำการที่ไม่เป็นธรรม
     ๙. เพิ่มให้ทรัพย์แก่ผู้ไม่มีทรัพย์
   ๑๐. เข้าไปหาสมณพราหมณ์แล้วถามปัญหา.

และ แล้วอธิบายต่อไปว่า แยกเป็น ๑๒ ข้อก็ได้ คือแยก คฤหบดีออกจากพราหมณ์และแยกนกออกจากเนื้อ.

แต่ที่ข้าพเจ้าย่อเหลือเพียง ๓ ก็เพราะประเด็นแรกมุ่งในทางเคารพธรรม ให้ความคุ้มครองอันเป็นธรรม และปราบอธรรม จัดเป็นข้อที่ ๑ - ผู้จัดทำ.

ตอนหน้า : จักรวรรดิวัตรจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม





ขอขอบคุณ :-
บทความของ : นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย , ๑๙ สิงหาคม ๒๕๖๔ ,๑๓:๑๙ น.
web : dhamma.serichon.us/2021/08/20/จักกวัตติสูตรศึกษา-๐๘/
Posted date : 20 สิงหาคม 2021 By admin.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28436
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: จักกวัตติสูตรศึกษา ตอนที่ ๐๖-๑๐
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: ตุลาคม 22, 2021, 09:58:28 am »
0



จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๙) : ว่าด้วยจักรวรรดิวัตรที่ผู้รู้ท่านนำมาแสดง (2)

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) แสดงเรื่อง “จักรวรรดิวัตร” ไว้ดังนี้ (ขอแนะนำให้อ่านช้าๆ ค่อยๆ ศึกษาให้ละเอียด)

[339] จักรวรรดิวัตร 5, 12 (วัตรของพระเจ้าจักรพรรดิ, พระจริยาที่พระจักรพรรดิพึงทรงบำเพ็ญสม่ำเสมอ, ธรรมเนียมการทรงบำเพ็ญพระราชกรณีย์ของพระเจ้าจักรพรรดิ, หน้าที่ของนักปกครองผู้ยิ่งใหญ่ — Cakkavatti-vatta: duties of a universal king or a great ruler)

     1. ธรรมาธิปไตย (ถือธรรมเป็นใหญ่ เคารพนับถือบูชายำเกรงธรรม ยึดธรรมเป็นหลัก เป็นธงชัย เป็นธรรมาธิปไตย — Dhammādhipateyya: supremacy of the law of truth and righteousness; rule of the Dhamma; rule of the true law) (1) และ

     2. ธรรมิการักขา (จัดการรักษาป้องกันและคุ้มครองอันชอบธรรมและเป็นธรรม — Dhammikrakkhā: provision of the right watch, ward and protection)
         ก. อันโตชน (แก่ชนภายใน ตั้งแต่พระมเหสี โอรส ธิดา จนถึงผู้ปฏิบัติราชการในพระองค์ทั้งหมด คือ คนในปกครองส่วนตัว ตั้งแต่บุตรธิดาเป็นต้นไป ด้วยให้การบำรุงเลี้ยงอบรมสั่งสอนเป็นต้น ให้อยู่โดยเรียบร้อยสงบสุข และมีความเคารพนับถือกัน — for one’s own folk) (2)
         ข. พลกาย (แก่กองทัพ คือ ปวงเสนาข้าทหาร, ข้าราชการฝ่ายทหาร — for the army; the armed forces; military personnel) (3)
         ค. ขัตติยะ (แก่กษัตริย์ทั้งหลายผู้อยู่ในพระบรมเดชานุภาพ, เจ้าเมืองขึ้น, ปัจจุบันสงเคราะห์ชนชั้นปกครองและนักบริหารชั้นผู้ใหญ่ทั้งหลาย, ข้าราชการฝ่ายปกครอง — for colonial kings; administrative officers) (4)
         ง. อนุยนต์ (แก่ผู้ตามเสด็จ คือ ราชบริพารทั้งหลาย, ปัจจุบันควรสงเคราะห์ข้าราชการฝ่ายพลเรือนเข้าทั้งหมด — for the royal dependants; civil servants) (5)
         จ. พราหมณคฤหบดี (แก่ชนเจ้าพิธี เจ้าตำรา พ่อค้า เจ้าไร่เจ้านา คือ ครูอาจารย์ นักวิชาการ หมอ พ่อค้า ผู้ประกอบวิชาชีพต่างๆ และเกษตรกร ด้วยช่วยจัดหาทุนและอุปกรณ์เป็นต้น — for brahmins and householders; the professional, traders and the agricultural) (6)
         ฉ. เนคมชานบท (แก่ชาวนิคมชนบท คือ ราษฎรทั้งปวงทุกท้องถิ่นตลอดถึงชายแดนทั่วไปไม่ทอดทิ้ง — for town and country dwellers; townsmen and villagers; upcountry people) (7)
         ช. สมณพราหมณ์ (แก่พระสงฆ์และบรรพชิตผู้ทรงศีลทรงคุณธรรม — for the religious) (8 )
ญ.มิคปักษี (แก่มฤคและปักษี คือ สัตว์อันควรสงวนทั้งหลาย — for beasts and birds) (9)

     3. อธรรมการนิเสธนา (ห้ามกั้น มิให้มีการอันอธรรมเกิดขึ้นในพระราชอาณาเขต คือ จัดการป้องกันแก้ไข มิให้มีการกระทำความผิดความชั่วร้ายเดือดร้อนเกิดขึ้นในบ้านเมือง — Adhammakāranisedhanā: to let no wrongdoing prevail in the kingdom) (10)

     4. ธนานุประทาน (ปันทรัพย์เฉลี่ยให้แก่ชนผู้ไร้ทรัพย์ มิให้มีคนขัดสนยากไร้ในแว่นแคว้น — Dhanānuppadāna: to let wealth be given or distributed to the poor) (11)

     5. ปริปุจฉา (ปรึกษาสอบถามปัญหากับสมณพราหมณ์ ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ผู้ไม่ประมาทมัวเมา อยู่เสมอตามกาลอันควร เพื่อให้รู้ชัดการอันดีชั่ว ควรประกอบหรือไม่ เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขหรือไม่ แล้วประพฤติปฏิบัติให้เป็นไปโดยถูกต้อง ข้อนี้ปัจจุบันสงเคราะห์นักปราชญ์นักวิชาการผู้ทรงคุณธรรมเข้าด้วย — Paripucchā: to go from time to time to see and seek advice from the men of religious life who maintain high moral standards; to have virtuous counsellors and seek after greater virtue) (12)

@@@@@@@

จักรวรรดิวัตรนี้ มาใน จักกวัตติสูตร ตามที่มาที่อ้าง ในพระบาลี คือพระไตรปิฎก ท่านไม่ระบุจำนวนข้อไว้ แต่นับตามที่ตรัสไว้ เป็นหลักการที่ยึดถือหนึ่งข้อ และหลักปฏิบัติ 4 ข้อ จึงรวมเป็น 5 ข้อ อย่างไรก็ดี ข้อย่อยที่แยกออกไปจากข้อ 2 (ธรรมิการักขา) แต่ละอย่าง ในชั้นอรรถกถาคงเห็นว่ามีความสำคัญมาก และมีรายละเอียดวิธีปฏิบัติจำเพาะต่างกันออกไป จึงจัดเป็นวัตรแต่ละข้อเท่ากันหมด นับได้ 12 ข้อ ตามตัวเลขในวงเล็บข้างหลัง แต่ในอรรถกถาแห่งพระสูตรนี้เอง (ที.อ.3/46) ท่านจัดต่างออกไปดังนี้

     1. อนฺโตชนสฺมึ พลกายสฺมึ (สงเคราะห์ชนภายใน และพลกายกองทหาร)
     2. ขตฺติเยสุ (สงเคราะห์กษัตริย์เมืองขึ้นทั้งหลาย)
     3. อนุยนฺเตสุ (สงเคราะห์เหล่าเชื้อพระวงศ์ ผู้ตามเสด็จเป็นราชบริพาร)
     4. พฺราหฺมณคหปติเกสุ (คุ้มครองพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย)
     5. เนคมชานปเทสุ (คุ้มครองชาวราษฎรพื้นเมืองทั้งหลาย)
     6. สมณพฺราหฺมเณสุ (คุ้มครองเหล่าสมณพราหมณ์)
     7. มิคปกฺขีสุ (คุ้มครองเนื้อนกที่เอาไว้สืบพันธุ์)
     8. อธมฺมการปฏิกฺเขโป (ห้ามปรามมิให้มีการประพฤติการอันผิดธรรม)
     9. อธนานํ ธนานุปฺปทานํ (ทำนุบำรุงผู้ขัดสนไร้ทรัพย์)
    10. สมณพฺราหฺมเณ อุปสงฺกมิตฺวา ปญฺหาปุจฺฉนํ (เข้าไปหาและสอบถามปัญหากะสมณพราหมณ์)
    11. อธมฺมราคสฺส ปหานํ (เว้นความกำหนัดในกามโดยอาการไม่เป็นธรรม)
    12. วิสมโลภสฺส ปหานํ (เว้นโลภกล้า ไม่เลือกควรไม่ควร)

ที่จำกันมาส่วนมาก ก็ถือตามนัยอรรถกถานี้ อย่างไรก็ดี ตามนัยนี้ ท่านไม่นับข้อธรรมาธิปไตย เข้าในจำนวน 12 ข้อ และเพิ่มข้อ 11, 12 เข้ามาใหม่ ซึ่งไม่มีมาในบาลีเดิม (ข้อ 11, 12 นี้ โดยเหตุผลน่าจะมีอยู่แล้วในหลักทศพิธราชธรรม)

ตอนหน้า : ดำเนินความตามจักกวัตติสูตร





ขอขอบคุณ :-
บทความของ : นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย ,๑๙ สิงหาคม ๒๕๖๔ ,๑๔:๐๖ น.
web : dhamma.serichon.us/2021/08/20/จักกวัตติสูตรศึกษา-๐๙/
posted date : 20 สิงหาคม 2021 ,By admin.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28436
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: จักกวัตติสูตรศึกษา ตอนที่ ๐๖-๑๐
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: ตุลาคม 22, 2021, 10:23:01 am »
0



จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๐) : ดำเนินความตามจักกวัตติสูตร

ได้นำเสนอรัตนะ ๗ ประการ และจักรวรรดิวัตรคือหลักการปกครองบ้านเมืองของพระเจ้าจักรพรรดิไปแล้ว เท่ากับเป็นการแนะนำให้รู้จักว่าพระเจ้าจักรพรรดิคือใคร มีคุณสมบัติอย่างไร

ต่อไปนี้จะได้ดำเนินความตามจักกวัตติสูตรเพื่อให้รู้ว่าเรื่องราวในพระสูตรเป็นอย่างไรต่อไป

เหตุการณ์ในจักกวัตติสูตรเกิดขึ้นในสมัยที่มนุษย์มีอายุขัย ๘๐,๐๐๐ ปี กล่าวถึงพระเจ้าจักรพรรดิทรงพระนามว่า ทัฬหเนมิราช (สะกดเป็น ทัลหเนมิ ก็มี) ทรงแผ่อาณาเขตด้วยพลังแห่งจักรแก้ว ดังที่ได้บรรยายอานุภาพแล้วในตอนก่อนๆ จักรแก้วนั้นเมื่อแผ่อำนาจไปทั้งสี่ทิศแล้ว ก็กลับมาประดิษฐานที่เมืองหลวง

อรรถกถาบรรยายว่า จักรแก้วนั้นลอยอยู่เหนือประตูพระราชวังชั้นใน (ดังจะให้เข้าใจว่าลอยอยู่ได้เองโดยไม่มีฐานรองรับและไม่มีสิ่งใดยึดโยง) มีเสาไม้ตะเคียน (ขทิรตฺถมฺภ) ๒ ต้นขนาบข้าง จักรแก้วลอยอยู่ตรงกลาง ขึงเชือกไว้กับเสา ๒ เส้น เส้นบนเสมอกงด้านบน เส้นล่างเสมอกงด้านล่าง

ถ้ายังไม่เข้าใจ ก็จงเขียนวงกลมวงหนึ่ง นั่นคือจักรแก้ว เขียนเส้นตั้ง ๒ เส้นซ้าย-ขวาของวงกลม นั่นคือเสาไม้ตะเคียน ลากเส้นเหนือวงกลมเส้นหนึ่ง จากเส้นข้างซ้ายไปข้างขวา นั่นคือเชือกเส้นบน ลากเส้นใต้วงกลมเส้นหนึ่งแบบเดียวกัน นั่นคือเชือกเส้นล่าง ซ้าย-ขวา ชิดเสา บน-ล่าง ชิดเชือก จักรแก้วลอยอยู่ตรงกลางด้วยลักษณาการดังนี้

ถ้าเหตุการณ์บ้านเมืองเป็นปกติสุข จักรแก้วก็จะประดิษฐานอยู่ในลักษณาการดังนี้เป็นปกติ เมื่อใดพระเจ้าจักรพรรดิหมดบุญบารมี จักรแก้วจะเลื่อนลงมาแตะเชือกเส้นล่าง-ห่างเชือกเส้นบน อาการอย่างนี้เรียกว่า “โอสกฺกิต” แปลว่า “คล้อยลง”

และถ้าบุญหมดไปเรื่อยๆ ระดับของจักรแก้วจะค่อยๆ เลื่อนลงเรื่อยไปจนกงด้านบนเลื่อนลงมาเสมอเชือกเส้นล่าง (คือวงล้อทั้งวงอยู่ใต้เชือกเส้นล่าง) อาการอย่างนี้เรียกว่า “ฐานา จุต” แปลว่า “เคลื่อนจากฐาน” เพราะฉะนั้น จึงต้องมีเวรยามคอยตรวจตรา และรายงานสภาพของจักรแก้วอยู่ตลอดเวลา

พระเจ้าทัฬหเนมิราชเสวยราชสมบัติอยู่เป็นเวลาหลายพันปี จนวันหนึ่งจักรแก้วก็เกิดอาการ “คล้อยลง” เจ้าพนักงานสังเกตเห็นก็กราบทูลขึ้นไปว่าจักรแก้วเริ่มคล้อยลงแล้ว พระเจ้าทัฬหเนมิราชรับสั่งให้เฝ้าสังเกตอาการจนแน่พระทัยว่าจักรแก้วกำลังจะเคลื่อนจากฐาน ก็ทรงรู้ว่าพระองค์หมดบุญแล้ว จึงตรัสเรียกพระราชโอรสองค์ใหญ่มามอบราชสมบัติ


@@@@@@@

พระราชดำรัส “สั่งเสีย” ของพระเจ้าทัฬหเนมิราชตอนนี้มีเนื้อหาน่าสดับ ขอยกมาเสนอพร้อมทั้งคำบาลีเพื่อเป็นการเจริญสติและเจริญปัญญา ดังนี้

     ทิพฺพํ กิร เม ตาต กุมาร จกฺกรตนํ โอสกฺกิตํ ฐานา จุตํ -
     ดูก่อนพ่อกุมาร ได้ยินว่าจักรแก้วอันเป็นทิพย์ของพ่อคล้อยเคลื่อนจากฐานแล้ว
     สุตํ โข ปเนตํ ยสฺส รญฺโญ จกฺกวตฺติสฺส ทิพฺพํ จกฺกรตนํ โอสกฺกติ ฐานา จวติ นทานิ เตน รญฺญา จิรํ ชีวิตพฺพํ โหตีติ
     พ่อได้สดับมาดังนี้ว่า จักรแก้วอันเป็นทิพย์ของพระเจ้าจักรพรรดิพระองค์ใดคล้อยเคลื่อนจากฐาน บัดนี้พระเจ้าจักรพรรดิพระองค์นั้นพึงทรงพระชนม์อยู่ได้ไม่นาน
     ภุตฺตา โข ปน เม มานุสกา กามา
     ก็กามทั้งหลายอันเป็นของมนุษย์พ่อก็ได้เสวยแล้ว
     สมโยทานิ เม ทิพฺเพ กาเม ปริเยสิตุํ
     บัดนี้เป็นสมัยที่พ่อจะแสวงหากามทั้งหลายอันเป็นทิพย์ต่อไป
     เอหิ ตฺวํ ตาต กุมาร อิมํ สมุทฺทปริยนฺตํ ปฐวึ ปฏิปชฺช
     มาเถิดพ่อกุมาร ลูกจงปกครองแผ่นดินอันมีสมุทรเป็นขอบเขตนี้
     อหํ ปน เกสมสฺสุํ โอหาเรตฺวา กาสายานิ วตฺถานิ อจฺฉาเทตฺวา อคารสฺมา อนคาริยํ ปพฺพชิสฺสามีติ ฯ
     ฝ่ายพ่อจะปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้าย้อมน้ำฝาด ออกจากวังบวชเป็นบรรพชิต

@@@@@@@

ต่อไปเป็นพระพุทธดำรัสตรัสเล่าแก่ภิกษุทั้งหลาย

      อถโข ภิกฺขเว ราชา ทลฺหเนมิ เชฏฺฐปุตฺตํ กุมารํ สาธุกํ รชฺเช สมนุสาเสตฺวา เกสมสฺสุํ โอหาเรตฺวา กาสายานิ วตฺถานิ อจฺฉาเทตฺวา อคารสฺมา อนคาริยํ ปพฺพชิ ฯ
      ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น พระเจ้าทัฬหเนมิราชทรงสั่งสอนพระกุมารซึ่งเป็นโอรสองค์ใหญ่ในราชสมบัติเป็นอันดีแล้ว ทรงปลงพระเกศาและพระมัสสุ ทรงครองผ้าย้อมน้ำฝาด เสด็จออกจากพระราชวังทรงผนวชเป็นบรรพชิต

      สตฺตาหํ ปพฺพชิเต โข ปน ภิกฺขเว ราชิสิมฺหิ ทิพฺพํ จกฺกรตนํ อนฺตรธายิ ฯ
      ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อพระราชฤษีทรงผนวชได้ ๗ วัน จักรแก้วอันเป็นทิพย์ก็อันตรธานไป

_______________________________________________
ที่มา : จักกวัตติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๑ ข้อ ๓๔

เมื่อจักรแก้วอันตรธานไป พระราชาองค์ใหม่ก็เข้าไปทูลถามราชฤษีผู้เป็นพระราชบิดาว่า จะทำประการใดดี.?
ราชฤษีตรัสว่า จักรแก้วไม่ใช่มรดกที่จะมอบให้กันได้ แต่เป็นสมบัติเฉพาะตัว ขอให้พระราชาบำเพ็ญจักรวรรดิวัตรให้สมบูรณ์ต่อไป และให้รักษาอุโบสถศีลทุกวัน ๑๕ ค่ำ ปฏิบัติดังนี้ได้ถึงขนาด จักรแก้วประจำตัวก็คงจะเกิดมีขึ้นได้

พระราชาองค์ใหม่ก็ปฏิบัติตาม ไม่นานนักจักรแก้วประจำพระองค์ก็ปรากฏขึ้นในวันอุโบสถวันหนึ่ง พระราชาองค์ใหม่ก็ทรงหมุนจักรแก้วแผ่พระบารมีประกาศความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิไปทั้งสี่ทิศ ดุจเดียวกับพระเจ้าจักรพรรดิองค์ก่อน เมื่อจักรแก้วแผ่อำนาจไปทั้งสี่ทิศ แล้วก็กลับมาประดิษฐานที่เมืองหลวงในลักษณาการเดียวกับจักรแก้วของพระเจ้าจักรพรรดิองค์ก่อน พระเจ้าจักรพรรดิองค์ใหม่ก็เสวยราชสมบัติสืบไปเป็นเวลาหลายพันปี

เหตุการณ์ดำเนินไปเช่นนี้ติดต่อกันนับจำนวนพระเจ้าจักรพรรดิได้ ๗ พระองค์ เมื่อพระเจ้าจักรพรรดิพระองค์ที่ ๗ ออกผนวชเป็นฤษีได้ ๗ วัน จักรแก้วก็อันตรธาน ตามสูตร พระราชาองค์ที่ ๘ จะต้องไปทูลถามราชฤษีผู้เป็นพระราชบิดาว่าจะทำประการใดดี แต่ก็หาได้เป็นเช่นนั้นไม่

พระสูตรบันทึกไว้ว่า

     โน จ โข ราชิสึ อุปสงฺกมิตฺวา อริยํ จกฺกวตฺติวตฺตํ ปุจฺฉิ ฯ โส สมเตเนว สุทํ ชนปทํ ปสาสติ …
     แต่พระราชาองค์ใหม่ไม่ได้เสด็จเข้าไปเฝ้าราชฤาษีทูลถามถึงจักรวรรดิวัตรอันประเสริฐ นัยว่าท้าวเธอทรงปกครองประชาราษฎร์ตามพระมติของพระองค์เอง

_____________________________________________
ที่มา: จักกวัตติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๑ ข้อ ๓๘

@@@@@@@

คำว่า “ตามพระมติของพระองค์เอง” คำบาลีว่า “สมเตเนว” รูปศัพท์เดิมคือ “สมต” (สะ-มะ-ตะ) ประกอบด้วย ส (สะ) = ของตน + มต = ความรู้, ความเห็น, ความคิด, ความเข้าใจ

สมต = ความเห็นของตัวเอง หมายความว่า พระเจ้าจักรพรรดิองค์ก่อนๆ ปกครองประเทศโดยใช้หลักจักรวรรดิวัตร ไม่ได้ใช้ความเห็นหรือความพอใจส่วนพระองค์ ส่วนพระองค์จะชอบหลักจักรวรรดิวัตรหรือไม่ชอบ ไม่เอามาเป็นประมาณ แต่เอาหลักจักรวรรดิวัตรเป็นประมาณ หลักจักรวรรดิวัตรกำหนดไว้อย่างไร ก็ปฏิบัติให้สมบูรณ์ถูกต้องตามนั้น ไม่เอาความพอใจส่วนพระองค์เข้าไปแทรกปน แต่พระราชาองค์ที่ ๘ ไม่ได้ปฏิบัติตามนั้น แต่ทรงปกครองโดยใช้ความพอใจส่วนพระองค์เป็นหลัก

เรื่องนี้อรรถกถาขยายความไว้ดังนี้

สมเตนาติ อตฺตโน มติยา. … ปสาสตีติ อนุสาสติ. อิทํ วุตฺตํ โหติ :- โปราณกํ ราชวํสํ ราชปฺปเวณึ ราชธมฺมํ ปหาย อตฺตโน มติมตฺเต ฐตฺวา ชนปทมนุสาสตีติ. เอวมยํ มฆเทววํสสฺส กฬารชนโก วิย ทฬฺหเนมิวํสสฺส อุปจฺเฉทโก อนฺติมปุริโส หุตฺวา อุปฺปนฺโน.

คำว่า สมเตน แปลว่า ตามมติของตน

คำว่า ปสาสติ แปลว่า ปกครอง. มีคำอธิบายว่า พระราชาทรงละทิ้งเชื้อสายของราชา ประเพณีของราชา คือหลักการของนักปกครองอันมีมาแต่ก่อนเก่า ใช้เพียงมติของตนปกครองประเทศ เมื่อเป็นเช่นนั้น พระราชาพระองค์นี้จึงเป็นพระราชาองค์สุดท้ายซึ่งเป็นผู้ตัดวงศ์ของพระเจ้าทัฬหเนมิราช ประดุจผู้ให้เกิดความด่างพร้อยแก่วงศ์มฆเทพฉะนั้น**

_________________________________________
ที่มา: สุมังคลวิลาสินี ภาค ๓ หน้า ๕๗ (จกฺกวตฺติสุตฺตวณฺณนา)

**วงศ์มฆเทพ เรื่องราวเป็นอย่างไร ขอแรงท่านผู้รู้เข้ามาช่วยเติมเต็มด้วยครับ

นั่นคือ อรรถกถาบอกว่า “มต” คือ “มติ” (แจกวิภัตติเป็น “มติยา”)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “มติ” ว่า mind, opinion, thought; thinking of, hankering after, love or wish for (จิตใจ, ความเห็น, ความคิด; การคิดถึง, ความอยาก, ความอยากได้หรือปรารถนา)

สรุปว่า พระราชาพระองค์ที่ ๘ ทรงปกครองบ้านเมืองตามความพอใจของพระองค์เอง ไม่ได้ใช้หลักหลักจักรวรรดิวัตร ต้นเหตุแห่งความเสื่อมของมนุษยชาติเริ่มแล้ว





ขอขอบคุณ :-
บทความของ : นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย ,๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๔ , ๑๐:๑๐ น.
web : dhamma.serichon.us/2021/08/20/จักกวัตติสูตรศึกษา-๑๐/
Posted date : 20 สิงหาคม 2021 , By admin.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ