ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ลอยกระทง เกิดขึ้นในสมัยสุโขทัย จริงหรือ.?  (อ่าน 499 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28415
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
ภาพบรรยากาศข้าราชบริพารทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายในการแต่งกายหมดจดงดงามเข้าร่วมในพระราชพิธีลอยพระประทีปบริเวณท่าราชวรดิฐ จิตรกรรมฝาผนังในพระวิหารหลวง วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ


ลอยกระทง เกิดขึ้นในสมัยสุโขทัย จริงหรือ.?

ลอยกระทง เป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณ โดยจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 ของทุกปี แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นประเด็นที่มีข้อถกเถียงกันมายาวนานว่า ประเพณีนี้มีจุดเริ่มต้นในสมัยใดกันแน่

ปัจจุบันประเพณีลอยกระทงได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แต่ละพื้นที่จะจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ โดยจะมีความเชื่อแตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ อาทิเช่น ลอยกระทงเพื่อขอขมาพระแม่คงคาที่ล่วงเกินโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ลอยทุกข์ลอยโศกโรคภัยต่างๆ ให้ลอยไปกับกระทง เป็นต้น โดยปีนี้วันลอยกระทงจะตรงกับวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

@@@@@@@

แล้วเคยสงสัยหรือไม่ ว่าลอยกระทงเริ่มมีเมื่อใด แล้วเกิดขึ้นในสมัยสุโขทัย จริงหรือ.?

ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่าลอยกระทงได้เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อใด แต่คำว่าลอยกระทงเริ่มเด่นชัดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดให้ฟื้นฟูประเพณีพิธีการสำคัญเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของราชอาณาจักร และความจำเป็นด้านอื่นๆ จึงมีพระราชนิพนธ์หนังสือตำราท้าวศรีจุฬาลักษณ์ โดยจะสมมุติฉากในเรื่องเป็นสมัยสุโขทัย จึงเกิดการทำกระทงด้วยใบตองแทนวัสดุอื่นๆ เมื่อระยะเวลาผ่านไป การทำกระทงด้วยใบตองก็แพร่หลายไปที่ต่างๆ จนถึงปัจจุบัน

เมื่อพูดถึงลอยกระทง สิ่งแรกที่นึกถึงก็คือนางนพมาศ และสมัยสุโขทัย แต่ว่าในศิลาจารึกและเอกสารต่างๆ ไม่มีคำว่า “ลอยกระทง” แต่จะมีประเพณีที่มีลักษณะคล้ายกับการลอยกระทง โดยในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงเรียกว่า “เผาเทียน เล่นไฟ” ซึ่งมีความหมายกว้างๆว่า ทำบุญไหว้พระ แม้แต่ในสมัยอยุธยา ทั้งเอกสารและวรรณคดี มีแต่ชื่อ ชักโคม ลอยโคม และแขวนโคม ดังตัวอย่างจากจดหมายเหตุลาลูแบร์ดังนี้


ลอยกระทง จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ วัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ

“ประชาชนพลเมืองจะแสดงความขอบคุณแม่คงคาด้วยการตามประทีปโคมไฟขนาดใหญ่ (ในแม่น้ำ) อยู่หลายคืน…เราจะเห็นทั้งลำแม่น้ำเต็มไปด้วยดวงประทีปลอยน้ำ…ไปตามกระแสธาร มีขนาดใหญ่ย่อมต่างกันตามศรัทธาปสาทะของแต่ละคน…โดยนัยเดียวกัน เพื่อแสดงความขอบคุณต่อแม่พระธรณี ที่อนุเคราะห์ให้เก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ธัญญาหารได้อย่างอุดมสมบูรณ์ในวันต้นๆ ของปีใหม่ชาวสยามก็จะตามประทีปโคมไฟขึ้นอย่างมโหฬารอีกครั้งหนึ่ง”

ด้วยเหตุนี้คำว่า “ลอยกระทง” จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นาน และชัดเจนในยุคต้นรัตนโกสินทร์ โดยจากหลักฐานพระราชพงศาวดารแผ่นดิน รัชกาลที่ 3 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ และเรื่องนางนพมาศ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 3

อย่างไรก็ตาม ประเพณีลอยกระทงจะเกิดขึ้นหรือพัฒนามาจากสิ่งใดก็ตาม สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ เป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีของคนในครอบครัวและชุมชน ที่ร่วมกันจัดงานลอยกระทงขึ้น เพื่อให้รู้จักบุญคุณของน้ำ และดูแลรักษาทรัพยากรของประเทศให้ยั่งยืนสืบต่อไป





อ้างอิง : หนังสือ “ประเพณี 12 เดือน ในประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมเพื่อความอยู่รอดของคน”. ปรานี วงษ์เทศ. มติชน. 2548
ผู้เขียน   : พัชรเวช สุขทอง
เผยแพร่ : วันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2564
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ : เมื่อ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2561
ขอบคุณ : https://www.silpa-mag.com/history/article_12689
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ