ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: จักกวัตติสูตรศึกษา ตอนที่ ๑๖-๒๐  (อ่าน 1024 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28439
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
จักกวัตติสูตรศึกษา ตอนที่ ๑๖-๒๐
« เมื่อ: พฤศจิกายน 27, 2021, 09:00:00 am »
0



จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๖) : ดำเนินความตามจักกวัตติสูตร


มนุษย์เริ่มทำชั่วอย่างแรกคือ ลักขโมยหรืออทินนาทานตั้งแต่ยุคที่มนุษย์มีอายุขัย ๘๐,๐๐๐ ปี แล้วก็ทำความชั่วอย่างอื่นๆ พอกพูนขึ้นจนกระทั่งมีอายุขัย ๕๐๐ ปี ก็ทำความชั่วตามรายการในอกุศลกรรมบถครบหมดทั้ง ๑๐ ประการ

อกุศลกรรมบถ ๑๐

๑. ปาณาติบาต = การทำชีวิตให้ตกล่วง, ปลงชีวิต (destruction of life; killing)
๒. อทินนาทาน = การถือเอาของที่เขามิได้ให้ โดยอาการขโมย, ลักทรัพย์ (taking what is not given; stealing)
๓. กาเมสุมิจฉาจาร = ความประพฤติผิดในกาม (sexual misconduct)
๔. มุสาวาท = การพูดเท็จ (false speech)
๕. ปิสุณาวาจา = วาจาส่อเสียด (tale-bearing; malicious speech)
๖. ผรุสวาจา = วาจาหยาบ (harsh speech)
๗. สัมผัปปลาปะ = คำพูดเพ้อเจ้อ (frivolous talk; vain talk; gossip)
๘. อภิชฌา = เพ่งเล็งอยากได้ของเขา (covetousness; avarice)
๙. พยาบาท = คิดร้ายผู้อื่น (illwill)
๑๐. มิจฉาทิฏฐิ = เห็นผิดจากคลองธรรม (false view; wrong view)

_______________________________________________
ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [321]

@@@@@@@

เมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๕๐๐ ปี นอกจากทำอกุศลกรรมบถทุกอย่างแล้ว ก็มีเรื่องที่ประพฤติกันแพร่หลายอีก ๓ อย่าง คือ อธรรมราคะ วิสมโลภะ และ มิจฉาธรรม คัมภีร์อรรถกถาอธิบายความหมายของคำเหล่านี้ไว้ดังนี้

อธมฺมราโคติ มาตา มาตุจฺฉา ปิตา ปิตุจฺฉา มาตุลานีติ อาทิเก อยุตฺตฏฺฐาเน ราโค.
คำว่า อธรรมราคะ หมายความว่า ความกำหนัดในฐานะอันไม่สมควร เป็นต้นว่า กำหนัดในมารดา กำหนัดในน้าหญิง กำหนัดในบิดา กำหนัดในอาหญิง กำหนัดในป้า

วิสมโลโภติ ปริโภคยุตฺเตสุปิ ฐาเนสุ อติพลวโลโภ.
คำว่า วิสมโลภะ หมายความว่า แม้ในฐานะที่ควรบริโภคก็มีความโลภอย่างรุนแรง

มิจฺฉาธมฺโมติ ปุริสานํ ปุริเสสุ อิตฺถีนญฺจ อิตฺถีสุ ฉนฺทราโค.
คำว่า มิจฉาธรรม หมายความว่า ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจระหว่างชายกับชาย หญิงกับหญิง

_________________________________________
ที่มา : สุมังคลวิลาสินี ภาค ๓ หน้า ๕๙ (จกฺกวตฺติสุตฺตวณฺณนา)

@@@@@@@

ขมวดความตามอรรถกถา ก็คือ

(๑) อธรรมราคะ
คือ ความกำหนัดในฐานะอันไม่สมควร เช่น พ่อกับลูกสาวเกิดกำหนัดกันเอง แม่กับลูกชายเกิดกำหนัดกันเอง หญิงชายที่เป็นญาติกันเกิดกำหนัดกันเอง

(๒) วิสมโลภะ คือ แม้ในเรื่องหรือในสิ่งที่ตนควรบริโภคใช้สอยเสพเสวยได้ตามฐานะตามสิทธิ์แท้ๆ ก็ยังมีความอยากได้อย่างรุนแรงเกินพอดี (อธิบายให้เข้าชุดกับอธรรมราคะและมิจฉาธรรม ก็คือ ที่ควรจะเสพสมกันตามปกติก็จะเสพกันอย่างโลดโผนดุเดือด)

(๓) มิจฉาธรรม คือ ความกำหนัดพึงใจกันระหว่างชายกับชาย หญิงกับหญิง

ในท่ามกลางแห่งความเป็นไปดังกล่าวนี้ อายุขัยก็ลดลงเหลือ ๒๐๐ ปี เมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๒๐๐ ปี เรื่องทีประพฤติกันแพร่หลาย คือ
    (๑) อมตฺเตยฺยตา ความไม่ปฏิบัติชอบในมารดา
    (๒) อเปตฺเตยฺยตา ความไม่ปฏิบัติชอบในบิดา
    (๓) อสามญฺญตา ความไม่ปฏิบัติชอบในสมณะ
    (๔) อพฺรหฺมญฺญตา ความไม่ปฏิบัติชอบในพราหมณ์
    (๕) นกุเลเชฏฺฐาปจายิตา ความไม่อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล


@@@@@@@

สรุปก็คือ นอกจากจะเหยียบย่ำกุศลกรรมบถราบคาบหมดแล้ว ความเคารพนับถือกันก็เหี้ยนเตียนตามไปด้วย ในขณะที่ความวิปริตทางเพศก็ยิ่งเฟื่องฟูขึ้น สภาพเช่นนี้มีมาตั้งสมัยเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๒๐๐ ปี แล้วอายุขัยก็ลดลงเหลือ ๑๐๐ ปี คำนวณเวลาตามสูตร “๑๐๐ ปีผ่านไป อายุขัยลดลง ๑ ปี” ถอยหลังไปก็ประมาณ ๑๒,๕๐๐ ปีที่ล่วงมาที่ความเสื่อมทางจิตใจเหล่านี้เริ่มเกิดขึ้น

รวมความว่า ความประพฤติละเมิดศีลละเมิดธรรมใดๆ ที่มนุษย์ในสมัยมีอายุขัย ๘๐,๐๐๐ ปี ประพฤติ เริ่มแต่อทินนาทานเป็นต้นมา ความประพฤติละเมิดศีลละเมิดธรรมนั้นๆ ทุกอย่าง มนุษย์ก็ยิ่งประพฤติสะสมพอกพูนติดต่อกันมาจนถึงยุคที่มีอายุขัย ๑๐๐ ปี คือยุคสมัยของเราทุกวันนี้

กล่าวได้ว่า ความชั่วอะไรที่มนุษย์ในอดีตเคยทำกันมา มนุษย์ในสมัยเรานี้ก็ทำแล้วหมดทุกอย่าง และเริ่มจะทำความชั่วอย่างใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นต่อไปอีก ที่อยากจะชวนให้คิดเทียบเคียงเพื่อจะได้เกิดความรู้สึกสลดใจกันบ้าง ก็คือ
“การกระทำที่คนสมัยก่อนเห็นกันว่าชั่ว คนสมัยนี้กลับเห็นกันว่าดี การกระทำที่คนสมัยนี้เห็นกันว่าชั่ว คนสมัยหน้าก็จะเห็นกันว่าดี”

ยกตัวอย่างเช่น คนสมัยนี้เห็นว่าครูบาอาจารย์ไม่มีบุญคุณ ความเห็นอย่างนี้ถือว่าดี ถูกต้อง (อย่างน้อยก็มีคนส่วนหนึ่งยอมรับกันอยู่ว่าถูกต้องแล้ว) แต่คนที่เห็นว่าครูบาอาจารย์ไม่มีบุญคุณนั่นแหละ ลองฟังพฤติกรรมนี้

ทสวสฺสายุเกสุ … สมฺเภทํ โลโก คมิสฺสติ ยถา อเชฬกา กุกฺกุฏา สูกรา โสณา สิคาลา
เมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๑๐ ปี … สัตว์โลกจักสมสู่ปะปนกันหมด เหมือนแพะ ไก่ สุกร สุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอกที่มันสมสู่กันฉะนั้น

______________________________________________
ที่มา : จักกวัตติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๑ ข้อ ๔๖

@@@@@@@

คนที่เห็นว่าค รูบาอาจารย์ไม่มีบุญคุณนั่นแหละ ได้ฟังอย่างนี้ก็จะเห็นว่า คนสมสู่กันแบบสัตว์ฉันรับไม่ได้ มันเกินไป แต่คนสมัยหน้า-เมื่อมีอายุขัย ๑๐ ปี-เขายอมรับได้ เขาเห็นกันว่าดี ถูกต้อง และทำกันอย่างนั้นทั่วไปเป็นปกติ นี่คือเรามองไปข้างหน้า

แต่ถ้าเรามองย้อนไปข้างหลัง คนสมัยโน้นถ้าใครพูดว่า พ่อแม่ไม่มีบุญคุณ ครูบาอาจารย์ไม่มีบุญคุณ เขาได้ฟังอย่างนี้ก็จะบอกกันว่า คนคิดแบบนั้นคิดผิด ฉันรับไม่ได้ มันไม่ถูกต้อแต่สมัยนี้-สมัยเรานี่แหละ-ความคิดอย่างนี้มีคนเห็นกันแล้วว่าดี ยอมรับได้ และถือว่าถูกต้อง

ลองหัดคิด-มองไปข้างหน้า ย้อนไปข้างหลัง กลับไปกลับมา ก็จะเกิดความสะดุดใจว่า วันก่อนสิ่งที่เขาเคยเห็นกันว่าผิด วันนี้เรากลับเห็นว่าถูก-ฉันใด สิ่งที่เราเห็นว่าผิดในวันนี้ ก็จะมีคนเห็นว่าถูกในวันหน้า-ฉันนั้นเหมือนกัน เออหนอ ความคิดจิตใจคน มันเรียวลงไปได้ถึงเพียงนี้ แล้วเราควรจะเอาอะไรเป็นหลัก-ความนิยมของคน หรือหลักเหตุผลที่ถูกธรรม.?

เป็นอันว่า วันนี้เรากำลังอยู่ในยุคสมัยที่อกุศลเฟื่องฟู กุศลฟุบแฟบ พร้อมไปกับอายุขัยที่ลดลงไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงยุคที่มนุษย์มีอายุขัย ๑๐ ปี ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดของมนุษย์-ต่ำสุดทั้งอายุขัย ต่ำสุดทั้งพฤติกรรม ความคิด จิตใจ

ตอนหน้า : ไปฟังกันว่าจักกวัตติสูตรบรรยายความเสื่อมสุดของมนุษย์ไว้อย่างไรบ้าง





ขอขอบคณ :-
ผู้เขียน : นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย ,๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๔ ,๑๐:๕๗
web : dhamma.serichon.us/2021/08/25/จักกวัตติสูตรศึกษา-๑๖/
posted date : 25 สิงหาคม 2021 By admin.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28439
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: จักกวัตติสูตรศึกษา ตอนที่ ๑๖-๒๐
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: พฤศจิกายน 27, 2021, 09:13:11 am »
0



จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๗) : ดำเนินความตามจักกวัตติสูตร


ตามความในจักกวัตติสูตร ท่านว่าเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๑๐ ปี ความเสื่อมสุดๆ ในหมู่มนุษย์ก็จะเกิดขึ้น ยุคปัจจุบันนี้ท่านว่าอายุขัยของมนุษย์คือ ๑๐๐ ปี และมีเกณฑ์คำนวณว่า “เมื่อพระพุทธเจ้าของเราเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ ๑๐๐ ปี อายุขัยลดลง ๑ ปี”

บัดนี้พระพุทธเจ้าของเราเสด็จดับขันธปรินิพพานมาแล้ว ๒,๕๐๐ ปี (ตัวเลขกลมๆ) นั่นแปลว่าอายุขัยของมนุษย์ลดลงไปแล้ว ๒๕ ปี อายุขัยจริงของมนุษย์ ณ บัดนี้จึงคือ ๗๕ ปี ถ้าใช้สูตร “๑๐๐ ปีผ่านไป อายุขัยลดลง ๑ ปี” อีกประมาณ ๖,๕๐๐ ปีข้างหน้าก็จะถึงยุคที่มนุษย์มีอายุขัย ๑๐ ปี

ลองประเมินสภาพสังคมและสภาพจิตใจผู้คนในอีก ๖,๕๐๐ ปีข้างหน้าดูเอาเถิดว่าน่าจะเป็นอย่างไร ถ้าเรายังเวียนตายเวียนเกิดอยู่ และยังพอมีปัจจัยให้ได้เกิดเป็นมนุษย์ต่อไปเรื่อยๆ อีก ๖,๕๐๐ ปีเราก็จะได้เห็นสภาพจริงของสังคมในตอนนั้น แต่ในระหว่างที่ยังไม่ถึงเวลานั้น ถ้าไม่คิดว่าเป็นการเสียเวลา ผมขอแนะนำว่าลองศึกษาจักกวัตติสูตรไปพลางๆ ก็น่าจะดี

@@@@@@@

จักกวัตติสูตรบรรยายความเสื่อมสุดของมนุษย์ไว้หลายประการ ขอยกพระบาลีในพระไตรปิฎกมาแสดงเป็นหลักไว้ในที่นี้ด้วย ส่วนภาษาไทยนั้นแปลตามสำนวนทองย้อย ท่านที่ไม่ถนัดบาลี (ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเมื่อไรจะถนัดสักที?!) อ่านเฉพาะที่เป็นภาษาไทยก็ได้นะครับ ส่วนท่านที่ถนัดกางหนังสือสวดมนต์ ท่านจะอ่านโดยทำใจว่ากำลังสวดมนต์ก็น่าจะเป็นบุญเหมือนเจริญธัมมานุสติกรรมฐาน เขียนคำบาลีเป็นอักษรไทยแบบบาลีก็ไม่น่าจะเป็นอุปสรรค ภาษาอังกฤษเขียนเป็นตัวฝรั่งแท้ๆ เรายังอ่านได้เลย

ขอเชิญสดับสภาพสังคมในอีก ๖,๕๐๐ ปีข้างหน้า ดังนี้

(๑) ทสวสฺสายุเกสุ ภิกฺขเว มนุสฺเสสุ ปญฺจวสฺสิกา กุมาริกา อลํปเตยฺยา ภวิสฺสนฺติ
     เมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๑๐ ปี เด็กหญิงมีอายุ ๕ ปีก็สมควรมีสามีได้

(๒) อิมานิ รสานิ อนฺตรธายิสฺสนฺติ เสยฺยถีทํ สปฺปิ นวนีตํ เตลํ มธุ ผาณิตํ โลณํ
     รสเหล่านี้ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย และเกลือ จักอันตรธานไปสิ้น

(๓) กุทฺรุสโก* อคฺคโภชนํ ภวิสฺสติ เสยฺยถาปิ ภิกฺขเว เอตรหิ สาลิมํโสทโน อคฺคโภชนํ เอวเมว โข …
     หญ้ากับแก้* จักเป็นอาหารอย่างดี เหมือนข้าวสุกข้าวสาลีระคนกับมังสะเป็นอาหารอย่างดีในบัดนี้ฉันนั้นเหมือนกัน (ของเลวในสมัยนี้เป็นของดีในสมัยหน้า)
     *กับแก้ ๑ : (ถิ่น-พายัพ) (คำนาม) ชื่อไม้ล้มลุกไร้ดอกชนิด Selaginella argentea (Wall. ex Hook. et Grev.) Spring ในวงศ์ Selaginellaceae ใช้ทำยาได้ ใบอ่อนใช้เป็นผัก, พ่อค้าตีเมีย ก็เรียก. -พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔
     *kudrūsaka : a kind of grain -The Pali Text Society’s Pali-English Dictionary

(๔) ทส กุสลกมฺมปถา สพฺเพน สพฺพํ อนฺตรธายิสฺสนฺติ ทส อกุสลกมฺมปถา อติวิย ทิปฺปิสฺสนฺติ
     กุศลกรรมบถ ๑๐ จักอันตรธานไปหมดสิ้น อกุศลกรรมบถ ๑๐ จักเฟื่องฟูสุดที่จะบรรยาย

(๕) กุสลนฺติปิ น ภวิสฺสติ กุโต ปน กุสลสฺส การโก
     แม้แต่คำว่า “กุศล” ก็ไม่มีใครรู้จัก คนทำกุศลจักมีแต่ที่ไหน

(๖) เย เต ภวิสฺสนฺติ อมตฺเตยฺยา อเปตฺเตยฺยา อสามญฺญา อพฺรหฺมญฺญา นกุเลเชฏฺฐาปจายิโน เต ปูชา จ ภวิสฺสนฺติ ปาสํสา จ
     คนที่ไม่ปฏิบัติชอบในมารดา ไม่ปฏิบัติชอบในบิดา ไม่ปฏิบัติชอบในสมณะ ไม่ปฏิบัติชอบในพราหมณ์ ไม่ประพฤติอ่อนน้อมต่อท่านผู้ใหญ่ในตระกูล จักได้รับการบูชาและได้รับการสรรเสริญ
     เสยฺยถาปิ ภิกฺขเว เอตรหิ มตฺเตยฺยา เปตฺเตยฺยา สามญฺญา พฺรหฺมญฺญา กุเลเชฏฺฐาปจายิโน เต ปูชา จ ปาสํสา จ เอวเมว โข …
     เหมือนกับที่คนปฏิบัติชอบในมารดา ปฏิบัติชอบในบิดา ปฏิบัติชอบในสมณะ ปฏิบัติชอบในพราหมณ์ ประพฤติอ่อนน้อมต่อท่านผู้ใหญ่ในตระกูล ได้รับการบูชาและได้รับการสรรเสริญในสมัยนี้ฉะนั้น (คือกลับตาลปัตรกัน!)

(๗) น ภวิสฺสติ มาตาติ วา มาตุจฺฉาติ วา ปิตาติ วา ปิตุจฺฉาติ วา มาตุลานีติ วา อาจริยภริยาติ วา ครูนํ ทาราติ วา
     มนุษย์จักไม่มีจิตคิดเคารพยำเกรงว่า นี่แม่ นี่น้า นี่พ่อ นี่อา นี่ป้า นี่ภรรยาของอาจารย์ นี่ภรรยาของครู

(๘) สมฺเภทํ โลโก คมิสฺสติ ยถา อเชฬกา กุกฺกุฏา สูกรา โสณา สิคาลา
     สัตว์โลกจักสมสู่ปะปนกันหมด เหมือนแพะ ไก่ สุกร สุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอกที่มันสมสู่กันฉะนั้น

(๙) เตสํ สตฺตานํ อญฺญมญฺญมฺหิ ติพฺโพ อาฆาโต ปจฺจุปฏฺฐิโต ภวิสฺสติ ติพฺโพ พฺยาปาโท ติพฺโพ มโนปโทโส ติพฺพํ วธกจิตฺตํ
     มนุษย์จักเกิดความอาฆาตอย่างแรงกล้า ความพยาบาทอย่างแรงกล้า ความคิดร้ายอย่างแรงกล้า ความคิดจะฆ่าอย่างแรงกล้าในกันและกัน
     มาตุปิ ปุตฺตมฺหิ - แม่กับลูก
     ปุตฺตสฺสปิ มาตริ - ลูกกับแม่
     ปิตุปิ ปุตฺตมฺหิ - พ่อกับลูก
     ปุตฺตสฺสปิ ปิตริ - ลูกกับพ่อ
     ภาตุปิ ภคินิยา - พี่ชายกับน้องสาว
     ภคินิยา ภาตริ - น้องสาวกับพี่ชาย

     เสยฺยถาปิ ภิกฺขเว มาควิกสฺส มิคํ ทิสฺวา ติพฺโพ อาฆาโต ปจฺจุปฏฺฐิโต โหติ ติพฺโพ พฺยาปาโท ติพฺโพ มโนปโทโส ติพฺพํ วธกจิตฺตํ เอวเมว โข …
     พรานเนื้อเห็นเนื้อเข้าก็เกิดความอาฆาต ความพยาบาท ความคิดร้าย ความคิดจะฆ่าอย่างแรงกล้าฉันใด … ฉันนั้นเหมือนกัน

(๑๐) ทสวสฺสายุเกสุ ภิกฺขเว มนุสฺเสสุ สตฺตาหํ สตฺถนฺตรกปฺโป ภวิสฺสติ
      ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๑๐ ปี จักมีสัตถันดรกัป* เป็นเวลา ๗ วัน
     *สัตถันดร, สัตถันดรกัป [สัดถันดอน, สัดถันดะระกับ] : (คำนาม) ชื่อกัปหรือกัลป์หนึ่ง ซึ่งถือว่าคนเสื่อมจากศีลธรรมอย่างที่สุด มีการรบราฆ่าฟันกัน ไม่รู้จักญาติพี่น้อง เช่น ห้าขวบมีฆราวาส ใจร้ายกาจโกลี กัลปนั้นมีนามกร ชื่อสัตถันดรพึงมี. (มาลัยคําหลวง). (ป. สตฺถ + อนฺตร). - พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔

     เต อญฺญมญฺญํ มิคสญฺญํ ปฏิลภิสฺสนฺติ
     มนุษย์จักมองเห็นกันและกันเป็นเนื้อ (คือเป็นเก้งเป็นกวางสำหรับล่า)
     เตสํ ติณฺหานิ สตฺถานิ หตฺเถสุ ปาตุภวิสฺสนฺติ
     ศัสตราทั้งหลายอันคมจักปรากฏมีในมือของพวกเขา (คำคนเก่าว่า จับใบไม้ใบหญ้าก็กลายเป็นหอกดาบใช้ประหัตประหารกัน)
     เต ติเณฺหน สตฺเถน เอส มิโคติ อญฺญมญฺญํ ชีวิตา โวโรปิสฺสนฺติ ฯ
     พวกเขาจะฆ่ากันเองด้วยศัสตราอันคมนั้นโดยมีความรู้สึกว่า นี่เป็นแค่เนื้อตัวหนึ่ง

_________________________________________________
ที่มา : จักกวัตติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๑ ข้อ ๔๖-๔๗

ความเสื่อมสุดของมนุษย์ก็มาจบลงตรงที่เกิดมิคสัญญีหรือสัตถันดรกัป ผู้คนฆ่ากัน ๗ วัน ๗ คืน จนมนุษย์เลวๆ หมดโลก แปลว่า ยังมีคนดีๆ หลงเหลืออยู่.? ตามไปดูกันในตอนต่อไปครับ



ขอขอบคุณ :-
ผู้เขียน : นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย ,๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๔ ,๑๗:๕๕
web : dhamma.serichon.us/2021/08/25/จักกวัตติสูตรศึกษา-๑๗/
Posted date : 25 สิงหาคม 2021 ,By admin.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28439
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: จักกวัตติสูตรศึกษา ตอนที่ ๑๖-๒๐
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: พฤศจิกายน 27, 2021, 09:30:43 am »
0



จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๘) : ดำเนินความตามจักกวัตติสูตร

เมื่อเกิดสัตถันดรกัปหรือมิคสัญญี ๗ วัน มนุษย์ฆ่ากันเหมือนล่าสัตว์ จนไม่เหลือทั้งผู้ถูกล่าและผู้ล่า-ซึ่งในที่สุดก็จะถูกฆ่าตายตามกันไปด้วย แล้วใครที่เหลือรอด? ความในพระสูตรบรรยายว่า

     อถโข เตสํ ภิกฺขเว สตฺตานํ เอกจฺจานํ เอวํ ภวิสฺสติ มา จ มยํ กญฺจิ มา จ อเมฺห โกจิ ยนฺนูน มยํ ติณคหณํ วา วนคหณํ วา รุกฺขคหณํ วา นทีวิทุคฺคํ วา ปพฺพตวิสมํ วา ปวิสิตฺวา วนมูลผลาหารา ยาเปยฺยามาติ ฯ
     ครั้งนั้น มนุษย์บางพวกมีความคิดอย่างนี้ว่า พวกเราอย่าฆ่าใครๆ เลย และใครๆ ก็อย่าฆ่าเราเลย ถ้ากระไรเราควรเข้าไปอยู่ตามป่าหญ้า สุมทุม พุ่มไม้ ซอกเกาะ หรือซอกเขา อาศัยรากไม้และผลไม้ในป่าเป็นอาหารยังชีพอยู่เถิด

_______________________________________________
ที่มา : จักกวัตติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๑ ข้อ ๔๗

@@@@@@@

ความในพระสูตรบอกว่า “พวกเราอย่าฆ่าใครๆ เลย และใครๆ ก็อย่าฆ่าเราเลย” นั่นก็คือ ถ้าไม่อยากถูกฆ่าและไม่อยากเป็นผู้ฆ่า ก็มีวิธีเดียวคือหลบออกไปเสียจากสังคมหรือจากฝูงชน และต้องหลบไปอยู่คนเดียวอย่าให้ใครเห็นและอย่าให้เห็นใคร

  อย่าให้ใครเห็น เพราะอาจถูกคนคนนั้นฆ่าเอาได้ ไว้ใจกันไม่ได้เลย-แม้แต่พ่อกับลูก-ดังที่แสดงไว้ในตอนก่อน
  อย่าให้เห็นใคร เพราะถ้าเห็น ตัวเองนั่นแหละอาจจะฆ่าคนคนนั้นเสียก็ได้
  เพราะฉะนั้น อยู่ด้วยกัน ๒ คน ก็ไม่ปลอดภัย เพราะคนที่อยู่ด้วยกันอาจจะฆ่ากันเอง ความข้อนี้อรรถกถากล่าวไว้ดังนี้

     อยํ โลกวินาโส ปจฺจุปฏฺฐิโต, น สกฺกา ทฺวีหิ เอกฏฺฐาเน ฐิเตหิ ชีวิตํ ลทฺธุนฺติ มญฺญมานา เอวํ จินฺตยิสฺสนฺติ.
     มนุษย์บางพวกเหล่านั้นพากันคิดอย่างนี้ว่า ความพินาศของชาวโลกมาอยู่ตรงหน้านี่แล้ว เราอยู่ร่วมที่เดียวกันสองคนอาจจะไม่รอดชีวิตอยู่ได้

__________________________________________
ที่มา : สุมังคลวิลาสินี ภาค ๓ หน้า ๖๒ (จกฺกวตฺติสุตฺตวณฺณนา)

@@@@@@@

คิดดังนี้ ต่างคนต่างก็แยกย้ายกระจายหนีกันไปซุกซ่อนตัวอยู่ตามที่ต่างๆ – ดงหญ้าบ้าง สุมทุมพุ่มไม้บ้าง ซอกเกาะซอกเขาบ้าง

     แวะตรงนี้นิดหนึ่งครับ ตรงนี้นักเลงบาลีควรจะสนใจศัพท์บาลีสักเล็กน้อย
     ติณคหณ = ป่าหญ้า (a thicket of grass)
     วนคหณ = รกชัฏ (jungle thicket)
     รุกฺขคหณ = ดงไม้หรือเถาวัลย์พันเกี่ยว (tree-thicket or entanglement)
     นทีวิทุคฺค = ที่ลุยน้ำข้ามฟากในแม่น้ำ (a difficult ford in a river)
     ปพฺพตวิสม = สถานที่ไม่สม่ำเสมอหรือมีอันตรายหรือไม่อาจไปถึงตามภูเขา (an uneven or dangerous or inaccessible place of the mountain)

เปิดพจนานุกรมบาลี-อังกฤษที่ฝรั่งชาติอังกฤษทำไว้ เขาแปลไว้แบบนี้ เราก็อาศัยเป็นสะพานก้าวผ่านไปหาความรู้ต่อไป ศัพท์พวกนี้คัมภีร์อรรถกถาของพระสูตรนี้ท่านก็อธิบายไว้ ผมไม่ยกใส่ชามมาให้ เพราะอยากให้นักเรียน-นักเลงบาลีของเรามีอุตสาหะในการสืบค้น ชามอยู่ไหน หม้อข้าวหม้อแกงอยู่ไหน ครัวอยู่ไหน บอกให้แล้ว ลุกไปตักเองมั่งสิขอรับ

สถานที่เหล่านี้คือ ที่ซึ่งผู้คนลี้ภัยจากสัตถันดรกัป-สงครามคนฆ่าคน เข้าไปพักอยู่แล้วรอดชีวิต ศึกษาสังเกตไว้ เผื่อถึงเวลานั้นจะได้พอนึกออก ล่วงไป ๗ วัน ผู้คนเหล่านั้นก็ออกมาจากที่ซ่อน ตรงนี้ไม่ชัดว่าเป็น ๗ วันระหว่างที่คนฆ่ากัน หรือหลังจากฆ่ากันจบแล้วนับต่อไปอีก ๗ วัน โปรดตีความกันเอาเอง

ตามที่เคยได้ฟังมา ท่านบอกว่าพอฆ่ากันครบ ๗ วันแล้ว ก็เกิดฝนตกหนัก น้ำท่วม พัดพาเอาซากศพลงทะเลไปหมดสิ้น แผ่นดินก็สะอาดขึ้น แต่ความข้อนี้ไม่ปรากฏในจักกวัติสูตรไม่ว่าจะในพระบาลีหรืออรรถกถา

     ดำเนินความตามจักกวัตติสูตรสืบไปว่า
     เต ตสฺส สตฺตาหสฺส อจฺจเยน ติณคหณา วนคหณา รุกฺขคหณา นทีวิทุคฺคา ปพฺพตวิสมา นิกฺขมิตฺวา อญฺญมญฺญํ อาลิงฺคิตฺวา สภาคายิสฺสนฺติ สมสฺสาสิสฺสนฺติ ทิฏฺฐา โภ สตฺตา ชีวสิ ตฺวํ ทิฏฺฐา โภ สตฺตา ชีวสีติ ฯ
     เมื่อล่วง ๗ วันไป เขาก็พากันออกจากป่าหญ้า สุมทุม พุ่มไม้ ซอกเกาะ ซอกเขา แล้วต่างสวมกอดกันและกัน เกิดความรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน ปลอบใจกันว่า ชาวเราเอย เรารอดชีวิตท่านก็เห็นแล้ว ท่านรอดชีวิตเราก็เห็นแล้ว นะชาวเราเอย …

     อถโข เตสํ ภิกฺขเว สตฺตานํ เอวํ ภวิสฺสติ มยํ โข อกุสลานํ ธมฺมานํ สมาทานเหตุ เอวรูปํ อายตํ ญาติกฺขยํ ปตฺตา
     ลำดับนั้น สัตว์เหล่านั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า เราถึงความสิ้นญาติอย่างใหญ่หลวงเห็นปานนี้เหตุเพราะไปประพฤติยึดถือสิ่งที่เป็นอกุศล

     ยนฺนูน มยํ กุสลํ กเรยฺยาม
     อย่ากระนั้นเลย เราควรทำกุศลกันเถิด

     กึ กุสลํ กเรยฺยาม
     ควรทำกุศลอะไรกันดี?

     ยนฺนูน มยํ ปาณาติปาตา วิรเมยฺยาม อิทํ กุสลํ ธมฺมํ สมาทาย วตฺเตยฺยามาติ ฯ
     ถ้ากระไรละก็ เราควรงดเว้นปาณาติบาต ควรสมาทานประพฤติกุศลธรรมข้อนี้กันเถิด

     เต ปาณาติปาตา วิรมิสฺสนฺติ อิทํ กุสลํ ธมฺมํ สมาทาย วตฺติสฺสนฺติ
     เขาก็งดเว้นจากปาณาติบาต สมาทานประพฤติกุศลธรรมข้อนี้กันอยู่

     เต กุสลานํ ธมฺมานํ สมาทานเหตุ อายุนาปิ วฑฺฒิสฺสนฺติ วณฺเณนปิ วฑฺฒิสฺสนฺติ
     เพราะเหตุที่สมาทานกุศลธรรม มนุษย์ก็เจริญด้วยอายุ ทั้งเจริญด้วยวรรณะ

     เตสํ อายุนาปิ วฑฺฒมานานํ วณฺเณนปิ วฑฺฒมานานํ ทสวสฺสายุกานํ มนุสฺสานํ วีสติวสฺสายุกา ปุตฺตา ภวิสฺสนฺติ
     เมื่อมนุษย์เจริญทั้งอายุ เจริญทั้งวรรณะ บุตรของมนุษย์ที่มีอายุ ๑๐ ปี ก็มีอายุเจริญขึ้นถึง ๒๐ ปี

_______________________________________________
ที่มา : จักกวัตติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๑ ข้อ ๔๗

@@@@@@@

ตอนนี้ก็เริ่มต้นช่วงเวลาขาขึ้นของมนุษยชาติกันอีกครั้งหนึ่ง ความดีอย่างแรกที่มนุษย์เริ่มประพฤติกันใหม่ คืองดเว้นจากปาณาติบาต อันที่จริงน่าจะพูดว่า ความชั่วอย่างแรกที่มนุษย์งดเว้น-ไม่ทำ คือ ปาณาติบาต-การฆ่ากัน
ขอให้สังเกตว่า ในช่วงเวลาขาลง

ความชั่วที่มนุษย์เริ่มทำกันเป็นอย่างแรก คือ อทินนาทาน-ลักขโมย แต่ในช่วงเวลาขาขึ้น ความชั่วที่มนุษย์งดเว้น คือไม่ทำเป็นอย่างแรกคือ ปาณาติบาต-การฆ่ากัน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะปาณาติบาต-การฆ่ากันเป็นความชั่วอย่างสุดท้ายที่มนุษย์โหมทำกันอย่างดุเดือด ต่อจากนั้นก็ไม่เหลือใครที่คิดจะทำความชั่วอะไรอีก

ดังนั้น เมื่อจะเริ่มต้นกันใหม่ สิ่งแรกที่จะต้อง “ไม่ทำอย่างเด็ดขาด” ก็คือการฆ่ากัน เพราะถ้ายังคิดจะฆ่ากันอยู่อีก ก็แปลว่าช่วงเวลาสัตถันดรกัปยังไม่สิ้นสุด นั่นคือยังเริ่มต้นใหม่ไม่ได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า เพราะการฆ่ากันเป็นเหตุให้ปิดฉากยุคเก่า ดังนั้น จะเปิดฉากยุคใหม่ได้ก็ต้องเปิดด้วยการไม่ฆ่ากันเป็นเบื้องต้น

    สรุปความตามจักกวัตติสูตรว่า

    มนุษยชาติเริ่มยุคใหม่ด้วยการงดเว้นจากอกุศลกรรมบถ เริ่มจากปาณาติบาตเป็นข้อแรก
    ต่อจากนั้นก็งดเว้นอทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท ปิสุณวาจา ผรุสวาจา สัมผัปปลาปะ อภิชฌา พยาบาท และมิจฉาทิฏฐิ เป็นอันว่ามนุษย์เลิกประพฤติอกุศลกรรมบถได้หมดทุกอย่าง
    ต่อจากนั้น ความวิปริตทางเพศ คือ อธรรมราคะ วิสมโลภะ มิจฉาธรรม ก็หายไปจากสันดานด้วย
    ต่อจากนั้น มนุษย์ก็เริ่มปฏิบัติชอบในบิดามารดา ปฏิบัติชอบในสมณะชีพราหมณ์ ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล รวมความว่า ความเคารพนับถือกันก็กลับคืนมา

     เมื่อประพฤติอยู่ในศีลในธรรมกันมากขึ้น อายุขัยก็เพิ่มขึ้น รูปร่างหน้าตาผิวพรรณก็สวยงามยิ่งขึ้น เพิ่มการประพฤติปฏิบัติตามศีลธรรมขึ้นอย่างหนึ่ง อายุขัยก็เพิ่มขึ้นทีหนึ่ง เพิ่มขึ้นไปแบบทวีคูณ คือ จาก ๑๐ เป็น ๒๐ – ๔๐ – ๘๐ – ๑๖๐ – ๓๒๐ – ๖๔๐ แล้วก็ถึงพันปี สองพันปี สี่พันปี แปดพันปี สองหมื่นปี สี่หมื่นปี จนกระทั่งแปดหมื่นปี

ใช้สูตร “๑๐๐ ปีผ่านไป อายุขัยเพิ่มขึ้น ๑ ปี” – ใครที่เก่งคำนวณลองคำนวณดูทีว่า จากอายุขัย ๑๐ ปี ต้องใช้เวลากี่ล้านปี มนุษย์จึงจะมีอายุขัย ๘๐,๐๐๐ ปี? ถึงเวลานั้นมนุษย์เป็นอย่างไรกันบ้าง ติดตามไปดูกัน





ขอขอบคุณ :-
ผู้เขียน : นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย ,๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๔ ,๑๗:๕๑
web : dhamma.serichon.us/2021/08/27/จักกวัตติสูตรศึกษา-๑๘/
Posted date : 27 สิงหาคม 2021 <By admin.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28439
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: จักกวัตติสูตรศึกษา ตอนที่ ๑๖-๒๐
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: พฤศจิกายน 27, 2021, 09:50:01 am »
0



จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๙) : ดำเนินความตามจักกวัตติสูตร

ความในจักกวัตติสูตรช่วงท้ายนี้เป็นเหมือนพุทธทำนาย ตรัสพยากรณ์ถึงสภาพของมนุษย์เมื่ออายุขัยเพิ่มขึ้นถึง ๘๐,๐๐๐ ปี พึงสดับ

อสีติวสฺสสหสฺสายุเกสุ ภิกฺขเว มนุสฺเสสุ ปญฺจวสฺสสติกา กุมาริกา อลํปเตยฺยา ภวิสฺสนฺติ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อมนุษย์มีอายุแปดหมื่นปี เด็กหญิงอายุ ๕๐๐ ปี จึงจักสมควรมีสามีได้

อสีติวสฺสสหสฺสายุเกสุ ภิกฺขเว มนุสฺเสสุ ตโย อาพาธา ภวิสฺสนฺติ อิจฺฉา อนสนํ ชรา ฯ
เมื่อมนุษย์มีอายุแปดหมื่นปี มนุษย์จะมีโรค ๓ ชนิด คือ ความอยากกิน ๑ ความไม่อยากกิน ๑ ความแก่ ๑

ขอแวะข้างทาง ชวนกันศึกษา “ตโย อาพาธา” โรค ๓ ชนิดสักนิดหนึ่ง ท่านว่ายุคสมัยเมื่อมนุษย์กลับมีอายุขัยเพิ่มขึ้นจาก ๑๐ ปี ไปจนถึงแปดหมื่นปีนั้น มนุษย์จะเป็นโรคกันเพียง ๓ ชนิดเท่านั้น คือ –

     อิจฺฉา แปลตามศัพท์ว่า “ความอยาก”
     อนสนํ แปลตามศัพท์ว่า “การไม่กิน”
     ชรา แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่เสื่อม” คือที่เรารู้กันว่า ความแก่


@@@@@@@

ดังจะให้เข้าใจว่า นอกจาก ๓ โรคนี้แล้ว ยุคนั้นมนุษย์ไม่ป่วยด้วยโรคใดๆ ทั้งสิ้น ปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้ โรคตับ โรคปอด โรคมะเร็ง หรือโรคอะไรก็ตาม ไม่มีทั้งสิ้น สุขภาพดีเป็นเลิศโดยทั่วทุกตัวคน ไม่ต้องมีหมอ ไม่ต้องมีโรงพยาบาล อรรถกถาไขความโรคทั้ง ๓ ชนิดไว้ดังนี้

อิจฺฉาติ มยฺหํ ภตฺตํ เทถาติ เอวํ อุปฺปชฺชนกตณฺหา.
คำว่า อิจฺฉา หมายความว่า ความอยากซึ่งเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า พวกท่านจงให้อาหารแก่เรา

“อิจฉา” ในที่นี้ท่านไขความเป็น “ตัณหา” และขยายความเป็น “อยากกิน” ไม่ใช่อยากอย่างอื่น นี่ก็ตรงกับที่เรารู้กันว่า “โรคหิว” นั่นเอง

อนสนนฺติ น อสนํ อวิปฺผาริกภาโว กายาลสิยํ, ภตฺตํ ภุตฺตานํ ภตฺตสมฺมทปจฺจยา นิปชฺชิตุกามตา. โภชเนน กายทุพฺพลภาโวติ อตฺโถ.
คำว่า อนสนํ แปลว่า การไม่กิน หมายถึงภาวะที่ไม่เบิกบาน คือไม่อยากทำอะไร กล่าวคือเมื่อบริโภคอาหารแล้วก็อยากจะนอนอันเนื่องมาจากเมาข้าว ไขความว่า ภาวะที่ร่างกายเพลียไปเพราะกินอิ่ม

คำที่ดูเหมือนจะมีปัญหา คือ “อนสนํ” ซึ่งตามศัพท์แปลว่า “การไม่กิน” หรือ “การไม่ได้กิน” พจนานุกรมบาลี-อังกฤษแปลคำนี้ว่า fasting, famine, hunger (การอดอาหาร, ความอดอยาก, ความหิวโหย)

อรรถกถาท่านก็คงเกรงว่าจะเข้าใจไม่ถูก จึงขยายความไว้ว่า “ภตฺตํ ภุตฺตานํ ภตฺตสมฺมทปจฺจยา นิปชฺชิตุกามตา” ซึ่งผมแปลตามสำนวนทองย้อยว่า “เมื่อบริโภคอาหารแล้วก็อยากจะนอนอันเนื่องมาจากเมาข้าว” เป็นอันชัดเจนว่าไม่ใช่โรคอดอยากหรือไม่มีจะกิน แต่หมายถึง อาการที่เกิดขึ้นหลังจากกินอิ่มแล้ว
    “เมาข้าว” แปลจากคำว่า “ภตฺตสมฺมท” (ภัตตะสัมมะทะ)
     ภตฺต = ข้าว
     สมฺมท = เมา
     ภตฺตสมฺมท = เมาข้าว
     ตรงตัวที่สุดแล้ว และตรงกับที่พูดกันเล่นๆ แต่เป็นความจริงว่า “หนังท้องตึง หนังตาหย่อน” ถ้าจะเรียกว่าโรค ก็คงพอเรียกได้ว่า “โรคง่วง”



ชราติ ปากฏชรา.
คำว่า ชรา หมายถึง ความชราปรากฏ

“ชรา” หรือความแก่ ท่านอธิบายไว้แนวหนึ่งว่ามี ๒ ลักษณะ คือ “ปากฏชรา” (ปา-กะ-ตะ-ชะ-รา) แปลว่า “ชราเปิดเผย” หรือ “ชราปรากฏ” คือชราที่เห็นได้ชัดๆ เช่น ผมหงอก ฟันหัก หนังเหี่ยวไปตามวัย และ “ปฏิจฺฉนฺนชรา” (ปะ-ติด-ฉัน-นะ-ชะ-รา) แปลว่า “ชราปกปิด” คือชราที่ไม่พิจารณาก็ไม่รู้ว่าชราแล้ว เช่นเด็กอ่อนเจริญขึ้นเป็นเด็กเล็ก นั่นคือชราแบบหนึ่ง แต่เราไม่รู้เพราะไม่ได้คิดให้เห็นความจริง

    บางท่านเรียกว่า “แก่ขึ้น” กับ “แก่ลง”
   “ปฏิจฺฉนฺนชรา” คือ แก่ขึ้น คนไม่คิดก็ไม่รู้เพราะความแก่ถูกปกปิดไว้
   “ปากฏชรา” คือ แก่ลง แบบนี้เห็นชัดเพราะความแก่แสดงตัวออกมาให้เห็น

   “ชรา” ของมนุษย์ในยุคอายุขัยแปดหมื่นปี ท่านหมายถึงชราเปิดเผย (ปากฏชรา) หรือแก่ลง น่าคิดว่า แม้จะอายุยืนแปดหมื่นปีขนาดนั้น และมีสุขภาพดีขนาดไหนก็ตาม แต่ในที่สุดก็ต้องแก่ ความแก่จึงนับว่าเป็นโรคชนิดหนึ่ง ก็คือที่เราเรียกกันว่า “โรคชรา” แต่ไม่ใช่ “โรคชรา” ที่วงการแพทย์ใช้เมื่อจะต้องระบุถึงสาเหตุแห่งการตาย แต่หมายถึงว่า แม้ยังไม่ตายนั่นแหละก็มีโรคชราอยู่แล้ว


@@@@@@@

สรุปสั้นๆ มนุษย์ในยุคอายุขัยแปดหมื่นปีมีโรค ๓ ชนิด คือ โรคหิว โรคง่วง และโรคชรา ความในพระสูตรบรรยายต่อไปว่า

อยํ ชมฺพุทีโป อิทฺโธ เจว ภวิสฺสติ ผีโต จ กุกฺกุฏสมฺปาติตา คามนิคมราชธานิโย ฯ
ชมพูทวีปนี้จักมั่งคั่ง รุ่งเรือง มีคาม นิคม และราชธานีหนาแน่นไก่บินตก

     ขออนุญาตแวะตรงนี้อีกนิดหนึ่งครับ
     สำนวน “ไก่บินตก” นี้แปลมาจากศัพท์ว่า “กุกฺกุฏสมฺปาติตา”
     อรรถกถาไขความ “กุกฺกุฏสมฺปาติตา” ไว้ว่า
    “เอกคามสฺส ฉทนปิฏฺฐิโต อุปฺปติตฺวา อิตรสฺส คามสฺส ฉทนปิฏฺเฐ ปตนสงฺขาโต กุกฺกุฏสมฺปาโต”
     แปลว่า ไก่บินขึ้นจากหลังคาบ้านหนึ่งแล้วตกลงบนหลังคาอีกบ้านหนึ่ง คือ “ไก่บินตก”

     หมายความว่า ไก่อยู่บนหลังคาบ้าน แล้วบินจากหลังคาบ้านหลังหนึ่งไปยังหลังคาบ้านอีกหลังหนึ่งได้โดยไม่ต้องลงถึงดิน ธรรมชาติของไก่ หากินบนพื้นดิน เวลานอนจึงจะขึ้นไปนอนบนที่สูง เช่นบนต้นไม้หรือหลังคาบ้าน รุ่งเช้าถึงเวลาหากินก็จะบินลงมาที่พื้นดิน

ตามสภาพนี้ ถ้ามีบ้านอยู่ชิดติดกันไป ก็คือไม่มีที่ว่างที่ไก่จะบินลงไปถึงพื้นดินได้ บินไปกี่ทอดก็อยู่แต่บนหลังคาบ้านอยู่นั่นเอง นี่คือสำนวน “ไก่บินตก” ที่หมายถึงบ้านเรือนหนาแน่นมาก

    “ไก่บินตก” ตามสำนวนนี้หมายถึง ตกบนหลังคา ไม่ตกถึงดิน เพราะไม่มีพื้นที่ว่างจะให้บินลงไปได้ ตามที่ผมระลึกได้ แถวบ้านผม (อำเภอปากท่อ-ราชบุรี) เมื่อจะพูดถึงบริเวณพื้นที่ที่กว้างขวางมาก เขาจะพูดกันว่า “กว้างไก่บินไม่ตก” ไม่ใช่ “กว้างไก่บินตก”
    “ไก่บินไม่ตก” ไม่ได้หมายถึงตกบนหลังคา แต่หมายถึงตกบนพื้นดิน

ดังที่กล่าวแล้วว่า ธรรมชาติของไก่ หากินบนพื้นดิน เวลานอนจึงจะขึ้นไปนอนบนที่สูง รุ่งเช้าก็จะบินลงมาที่พื้นดิน
ไก่กับนกต่างกัน นกจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งด้วยการ “บิน” ไป แต่ไก่ไม่ได้บินแบบนก การบินของไก่เป็นการโผบินจากที่สูงลงมายังพื้นดิน กระพือปีกประคองตัวไม่ให้ตกลงมาตรงๆ แต่ตามธรรมชาติก็คือ ต้องบินลงมาที่พื้นดิน นี่คือ “ไก่บินตก”

     แต่ถ้าบ้านเรือนหนาแน่นมาก ไม่มีพื้นที่ว่างพอที่จะให้ไก่บินลงถึงพื้นดินได้เลย โผบินไปกี่ทอดๆ ก็ลงไม่ถึงพื้นดิน นี่คือ “ไก่บินไม่ตก”
    “ไก่บินไม่ตก” ตามที่อธิบายนี้จึงหมายถึงบ้านเรือนหนาแน่นมาก มากขนาดไหน มากขนาดที่ไก่บินไม่ตก คือไม่ตกถึงดินตามธรรมชาติการบินของไก่

     แต่ถ้าพูดว่า “ไก่บินตก” ก็จะต้องหมายความว่ามีบ้านเรือนน้อยหลัง คือมีพื้นดินว่างมาก ไก่บินลงมาจากหลังคาบ้านก็ลงถึงดินได้ตามสบาย นี่คือ “ไก่บินตก” คือตกถึงดินตามธรรมชาติการบินของไก่ ไม่ใช่ตกบนหลังคาบ้าน

@@@@@@@

อย่างไรก็ตาม อรรถกถาได้อธิบายไว้อีกแนวหนึ่งโดยอ้างว่า คำว่า “กุกฺกุฏสมฺปาติตา” นั้น บาลีต้นฉบับเป็น “กุกฺกุฏสมฺปาทิกา” ก็มี
   
   “กุกฺกุฏสมฺปาทิกา” แปลว่า “ไก่เดินถึง” คำอธิบายของอรรถกถาว่า
    คามนฺตรโต คามนฺตรํ กุกฺกุฏานํ ปทสา คมนสงฺขาโต กุกฺกุฏสมฺปาโท
    แปลว่า ไก่เดินระหว่างบ้านหนึ่งไปยังอีกบ้านหนึ่ง คือ “ไก่เดินถึง”

ธรรมชาติการเคลื่อนที่ของไก่ จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ใช้วิธีเดินหรือวิ่ง ไม่ใช่บินไปเหมือนนก เวลาหากินก็หากินในบริเวณบ้าน ถ้าบ้านมีหลังเดียวหรือหมู่เดียว ไก่ก็จะเดินหากินอยู่ภายในบ้านนั้น แต่ถ้ามีบ้านหลายหลังหรือหลายหมู่อยู่ชิดติดกัน บริเวณของบ้านก็จะอยู่ชิดติดกัน นั่นคือถ้าไก่เดินออกจากบริเวณบ้านหนึ่งก็จะสามารถไปถึงบริเวณของอีกบ้านหนึ่งได้ง่ายๆ นี่คือ “ไก่เดินถึง”

     สำนวน “ไก่เดินถึง” จึงหมายถึงมีบ้านหรือหมู่บ้านอยู่ใกล้ชิดติดกันหนาแน่นมาก มากขนาดไหน มากขนาด “ไก่เดินถึง”
     อรรถกถาสรุปว่า ไม่ว่าจะเป็น “กุกฺกุฏสมฺปาติตา” (ไก่บินตก) หรือ “กุกฺกุฏสมฺปาทิกา” (ไก่เดินถึง) ก็ล้วนแต่บ่งบอกถึงการที่มีผู้คนอยู่กันหนาแน่นทั้งนั้น ว่าจะจบสำนวนความในจักกวัตติสูตร ก็มาเจอสำนวนภาษาที่น่าสนใจ จึงทำให้ยังจบไม่ลง ตอนหน้าจบแน่ครับ




ขอขอบคุณ :-
ผู้เขียน : นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย ,๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๔ ,๑๐:๑๕
web : dhamma.serichon.us/2021/08/27/จักกวัตติสูตรศึกษา-๑๙/
posted date : 27 สิงหาคม 2021 , By admin.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28439
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: จักกวัตติสูตรศึกษา ตอนที่ ๑๖-๒๐
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: พฤศจิกายน 27, 2021, 10:09:50 am »
0


จักกวัตติสูตรศึกษา (๒๐) : อวสาน

เมื่อมนุษย์กลับมีอายุขัยเพิ่มขึ้นถึงแปดหมื่นปี จักกวัตติสูตรบรรยายความต่อไปว่า

     อสีติวสฺสสหสฺสายุเกสุ ภิกฺขเว มนุสฺเสสุ อยํ ชมฺพุทีโป อวีจิ มญฺเญ ผุโฏ ภวิสฺสติ มนุสฺเสหิ เสยฺยถาปิ นฬวนํ วา สรวนํ วา ฯ
     ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุแปดหมื่นปี ชมพูทวีปนี้จักเป็นดังว่าอเวจี (ที่มีสัตว์นรกมากมาย) คือยัดเยียดไปด้วยผู้คนทั้งหลายปานว่าป่าไม้อ้อหรือป่าไม้แขมฉะนั้น

     อยํ พาราณสี เกตุมตี นาม ราชธานี ภวิสฺสติ อิทฺธา เจว ผีตา จ พหุชนา จ อากิณฺณมนุสฺสา จ สุภิกฺขา จ ฯ
     เมืองพาราณสีนี้จักเป็นราชธานีมีนามว่าเกตุมดี เป็นเมืองที่มั่งคั่งและรุ่งเรื่อง มีพลเมืองมาก มีผู้คนคับคั่ง และมีอาหารสมบูรณ์

     อิมสฺมึ ชมฺพุทีเป จตุราสีตินครสหสฺสานิ ภวิสฺสนฺติ เกตุมติราชธานีปมุขานิ ฯ
     ในชมพูทวีปนี้จักมีเมืองแปดหมื่นสี่พันเมือง มีเกตุมดีราชธานีเป็นเมืองหลวง

     เกตุมตีราชธานิยา สงฺโข นาม ราชา อุปฺปชฺชิสฺสติ จกฺกวตฺติ ธมฺมิโก ธมฺมราชา จาตุรนฺโต วิชิตาวี ชนปทฏฺฐาวริยปฺปตฺโต สตฺตรตนสมนฺนาคโต …
     จักมีพระเจ้าจักรพรรดิทรงพระนามว่าพระเจ้าสังขะอุบัติขึ้น ณ เมืองเกตุมดีราชธานี เป็นผู้ทรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรม เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต ทรงชนะแล้ว มีราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ …

     อสีติวสฺสสหสฺสายุเกสุ ภิกฺขเว มนุสฺเสสุ เมตฺเตยฺโย นาม ภควา โลเก อุปฺปชฺชิสฺ … เสยฺยถาปาหเมตรหิ โลเก อุปฺปนฺโน …
     ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์อายุแปดหมื่น พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่าเมตไตรยจักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก … เหมือนเราตถาคตผู้อุบัติขึ้นแล้วในโลกในบัดนี้

_______________________________________________
ที่มา : จักกวัตติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๑ ข้อ ๔๘

@@@@@@@

สรุปความตอนจบพระสูตรว่า เมื่อมนุษย์มีอายุขัยแปดหมื่นปีก็จะมีผู้นำมนุษย์ที่มีคุณธรรมคุณสมบัติถึงขั้นที่เป็นพระเจ้าจักรพรรดิเกิดขึ้นในโลกอีกวาระหนึ่ง ก็คือสังคมมนุษย์เริ่มยุคสมัยรุ่งเรืองกันใหม่ และพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าเมตไตรย-คือที่เราเรียกรู้กันว่า “พระศรีอารย์”-ก็จะเสด็จอุบัติขึ้นในโลก-เหมือนพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าโคดมที่เสด็จอุบัติขึ้นในยุคสมัยของเรานี้ พระเจ้าสังขะจักรพรรดิราชนั้นครองราชสมบัติสมควรแก่กาลแล้วก็ทรงออกผนวชในพระพุทธศาสนา และได้สำเร็จธรรมเป็นพระอรหันต์

น่าสังเกตว่า ตั้งแต่มนุษย์มีอายุขัยแปดหมื่นปีในอดีตกาลนานไกลครั้งกระโน้นจนถึงมนุษย์มีอายุขัยร้อยปีในปัจจุบันวันนี้ พระสูตรไม่ได้เอ่ยถึงเลยว่า มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ในช่วงเวลาไหนบ้างหรือเปล่า แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏแล้วก็คือ ช่วงเวลาที่มนุษย์มีอายุขัยร้อยปี มีพระพุทธเจ้าโคดมมาตรัสรู้ ในพระสูตรมิได้เอ่ยถึง แต่ข้อเท็จจริงเป็นดังนั้น ถ้าใช้แนวคิดเดียวกันนี้ ก็ดูเหมือนจะอนุมานได้ว่า จากอายุขัยร้อยปีในบัดนี้ถอยหลังไปกว่าจะถึงอายุขัยแปดหมื่นปี น่าจะมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้บ้างแล้ว.?

ในภัทรกัป-คือช่วงเวลาที่กำลังเป็นไปอยู่ในบัดนี้-ท่านว่ามีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ๕ พระองค์ คือ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ พระโคตมะ และพระเมตเตยยะ

คัมภีร์พุทธวงศ์แสดงรายละเอียดว่าด้วยพระชนมายุของพระพุทธเจ้า ๔ พระองค์ไว้ว่า
     - พระกกุสันธะมีพระชนมายุสี่หมื่นปี
     - พระโกนาคมนะมีพระชนมายุสามหมื่นปี
     - พระกัสสปะมีพระชนมายุสองหมื่นปี
     - พระโคตมะมีพระชนมายุร้อยปี
     - ส่วนพระเมตเตยยะในจักกวัตติสูตรนี้บอกว่า จักเสด็จอุบัติขึ้นในสมัยที่มนุษย์มีอายุขัยแปดหมื่นปี

ข้อมูลที่ต้องชัดเจนก่อนก็คือ พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์มาตรัสรู้ห่างกันกี่ปี ข้อสมมุติฐาน (เพราะยังไม่ได้ตรวจสอบข้อมูล)
    (๑) จากอายุขัยแปดหมื่นปีลงมาต่ำสุดอายุขัยสิบปี แล้วขึ้นไปจนถึงอายุขัยแปดหมื่นปีอีกครั้งหนึ่ง : มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ๑ พระองค์ หรือ
    (๒) จากอายุขัยแปดหมื่นปีลงมาต่ำสุดอายุขัยสิบปี แล้วขึ้นไปจนถึงอายุขัยแปดหมื่นปีอีกครั้งหนึ่ง : มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้หลายพระองค์

ดูในจักกวัตติสูตรนี้เอง จากอายุขัยแปดหมื่นปีลงมาต่ำสุดอายุขัยสิบปี ไม่มีเอ่ยถึงว่า มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้เลย แต่ข้อเท็จจริงมี ๑ พระองค์ คือพระโคตมะมาตรัสรู้เมื่อมนุษย์มีอายุขัยร้อยปี และจากจักกวัตติสูตรนี้เอง จากอายุขัยสิบปีขึ้นไปจนถึงอายุขัยแปดหมื่นปี ในระหว่างนี้ก็ไม่มีเอ่ยถึงว่ามีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้เลย ไปมีเอาในช่วงเวลาอายุขัยสูงสุดคือแปดหมื่นปี พระเมตเตยยะมาตรัสรู้

@@@@@@@

จึงน่าจะสรุปได้ว่า วงรอบที่จะมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ก็คือ จากอายุขัยแปดหมื่นปีลงมาต่ำสุดอายุขัยสิบปี แล้วขึ้นไปจนถึงอายุขัยแปดหมื่นอีกครั้งหนึ่ง ช่วงเวลาระหว่างนี้แหละ จะมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ๑ พระองค์ จะมาตรัสรู้ในช่วงเวลาไหนก็ดูที่พระชนมายุของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์

ดังนั้น ตามความในจักกวัตติสูตรที่กล่าวความตั้งแต่มนุษย์มีอายุขัยแปดหมื่นปีลงมาต่ำสุดอายุขัยสิบปี แล้วขึ้นไปจนถึงอายุขัยแปดหมื่นอีกครั้งหนึ่ง จึงมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้พระองค์เดียว คือ พระโคตมะ หรือพระพุทธโคดมที่พวกเรากำลังอยู่ในศาสนาของพระองค์ ณ กาลบัดนี้

และดังนั้น ที่ความในจักกวัตติสูตรบอกว่า มนุษย์เริ่มทำชั่วอย่างแรกคือ อทินนาทาน และทำชั่วอย่างอื่นๆ สะสมเรื่อยมาจนถึงมนุษย์หมดความเคารพนับถือพ่อแม่ครูบาอาจารย์ญาติผู้ใหญ่ในตระกูล สภาพเหล่านี้จึงเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่โลกยังไม่มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้

อุปมาเหมือนสระน้ำที่มีจอกแหนปิดบังผิวน้ำอยู่เต็มสระ พระพุทธเจ้ามาตรัสรู้พระองค์หนึ่งก็เหมือนทุ่มหินลงไปก้อนหนึ่ง หน้าผิวน้ำบริเวณนั้นก็ปลอดจากจอกแหนไปชั่วขณะหนึ่ง พอหมดแรงกระเพื่อม จอกแหนก็เคลื่อนเข้าปิดบังผิวน้ำไว้ตามเดิม มนุษยชาติถูกสรรพกิเลสครอบงำจิตใจตลอดเวลาก็มีอุปมาฉันนั้น

พระผู้มีพระภาคตรัสในที่สุดว่า
อตฺตทีปา ภิกฺขเว วิหรถ อตฺตสรณา อนญฺญสรณา ธมฺมทีปา ธมฺมสรณา อนญฺญสรณา ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย จงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นสรณะเถิด อย่ามีสิ่งอื่นเป็นสรณะอยู่เลย

________________________________
ที่มา : จักกวัตติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๑ ข้อ ๔๙

@@@@@@@

โลกจะเจริญหรือโลกจะเสื่อมก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย หน้าที่ของเราคือรู้ทันโลก เมื่อรู้ทันแล้ว จะวิ่งตามโลกหรือจะเดินตามธรรม ก็จงพิจารณาเอา จะเป็นกับมันหรือจะไม่เอากับมัน ก็จงพิจารณาเอา และจากนี้ไปจนกว่าจะถึงเวลานั้น จะทำอย่างไรกันก็จงพิจารณาเอา ถ้าไม่ปรารถนาจะไปเจอสภาพเสื่อมสุดของมนุษยชาติ ก็ต้องพยายามสลัดออกจากวงเวียนเกิด-ตายนี้ให้ได้ แต่ถ้ายังเวียนตายเวียนเกิด ก็จงเชื่อเถิดว่าจะต้องเจอกับมันแน่นอน จะเจอแบบรู้ทันมันหรือแบบเป็นไปกับมัน ก็ขึ้นอยู่กับตัวเราเลือกเอง

อนึ่ง เรามักตั้งความปรารถนากันว่าขอให้ได้ไปเกิดในศาสนาของพระศรีอริยเมตไตรย พระพุทธองค์ก็ตรัสไว้แล้วว่า พระเมตไตรยก็ตรัสสอนพระธรรมเหมือนกับที่พระพุทธองค์ตรัสสอนในบัดนี้นี่แหละ และ ณ เวลาบัดนี้ พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ก็ยังปรากฏอยู่ หนทางดำเนินเพื่อนำไปสู่ความไม่ต้องเวียนตายเวียนเกิดก็ยังมีผู้รู้เห็นชัดเจนอยู่

     ทำไมเราจึงไม่ปฏิบัติดำเนินกันเสียตั้งแต่เวลานี้
     ทำไมจะต้องรอไปจนถึงศาสนาของพระเมตไตรย
     แล้วแน่ใจหรือว่า ถ้ายังประมาทกันอยู่อย่างนี้ เราจะรอดสันดอน-คือ สัตถันดรกัป หรือ ยุคมิคสัญญี-ไปถึงศาสนาของพระเมตไตรยได้.?

     จักกวัตติสูตรศึกษาอวสานเพียงเท่านี้





ขอขอบคุณ :-
ผู้เขียน : นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย , ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๔ ,๑๘:๐๙
web : dhamma.serichon.us/2021/08/27/จักกวัตติสูตรศึกษา-๒๐/
Posted date : 27 สิงหาคม 2021 ,By admin.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ