สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ กรกฎาคม 25, 2016, 08:01:17 am



หัวข้อ: อะเมซิ่ง “อู่ทอง” มองย้อนรอยทะเลโบราณ-ทวารวดี..ธรณีนี่นี้น่าฉงน.?
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ กรกฎาคม 25, 2016, 08:01:17 am


(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/559000007579701.JPEG)



อะเมซิ่ง“อู่ทอง” มองย้อนรอยทะเลโบราณ-ทวารวดี...ธรณีนี่นี้น่าฉงน???
โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)

“หนึ่งเดียวในไทย ยิ่งใหญ่ในโลก มรดกคู่ฟ้าดิน” นี่คือแนวคิดในการสร้าง “พระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ” หรือ “หลวงพ่ออู่ทอง” พระพุทธรูปแกะสลักบนหน้าผาที่มีขนาดใหญ่ระดับโลก บริเวณหน้าผาเขาทำเทียม ต.ท้าวอู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี

(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/559000007579702.JPEG)

        หลวงพ่ออู่ทอง เป็นพระพุทธรูปแกะสลักบนหน้าผาหิน ปางโปรดพุทธมารดา สูง 32 เมตร หน้าตักกว้าง 24.90 เมตร หลวงพ่ออู่ทองเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้าง“พุทธมหาสถานเมืองโบราณอู่ทอง” ที่ประกอบไปด้วยพระพุทธรูปแกะสลักบนหน้าผาหิน 5 องค์ ใน 5 ปาง แตกต่างกัน ยาวตลอดแนว 800 เมตร ของหน้าผาเขาทำเทียม
       
       หลวงพ่ออู่ทองคือพระพุทธรูปองค์แรกของโครงการนี้ที่ปัจจุบันกำลังดำเนินการแกะสลักอยู่ มีความคืบหน้าไปประมาณ 60-70 % คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2560


(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/559000007579703.JPEG)

        อย่างไรก็ดีแม้จะอยู่ในระหว่างดำเนินการแกะสลัก แต่ก็เปิดให้ผู้คนไปเที่ยวชมและร่วมทำบุญสมทบทุนในการสร้างพุทธมหาสถานฯแห่งนี้กันได้
       
       หากหลวงพ่ออู่ทองและโครงการทั้งหมดสร้างแล้วเสร็จ ที่นี่จะเป็นอีกหนึ่งสิ่งมหัศจรรย์ของเมืองไทยที่เป็นแม่เหล็กชั้นดีดึงดูดให้คนไปเที่ยวที่ อ.อู่ทอง จำนวนมาก

             
(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/559000007579704.JPEG)


ย้อนรอยเมืองโบราณอู่ทอง-ทวารวดี

อ.อู่ทอง ปัจจุบันถือเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของ จ.สุพรรณบุรี ที่มีทั้งแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ วัดวาอาราม วิถีชีวิต อาหารอร่อย รวมถึงเป็นอีกหนึ่งดินแดนแห่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่งของเมืองไทย เพราะเคยเป็นที่ตั้งของ“เมืองโบราณอู่ทอง”หนึ่งในดินแดนประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญยิ่งของเมืองไทย
       
       เมืองโบราณอู่ทองได้ชื่อว่าเป็นเมืองอรุณรุ่งแห่งวัฒนธรรมไทย เพราะเป็นเมืองศูนย์กลางทางวัฒนธรรมในสมัยทวารวดียุคแรกเริ่ม ซึ่งหากย้อนอดีตอู่ทองไปเมื่อ 3,000 ปีก่อน ที่นี่เคยมีมนุษย์อาศัยอยู่ เป็นสังคมเกษตรกรรมยุคหินใหม่ต่อเนื่องถึงยุคโลหะ จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบ ขวานหินขัด ลูกปัด ภาชนะดินเผา เหล็กปั่นด้าย ฉมวก หอก อาวุธโบราณ และเครื่องใช้ไม้สอยโลหะอื่นๆอีกมากมาย

(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/559000007579705.JPEG)

        เมืองโบราณอู่ทองยุคนั้น ตั้งอยู่ใกล้ชายฝั่งทะเลโคลนตมหรือ“ทะเลโบราณ” ที่กินพื้นที่หัวอ่าว ก.ไก่(หัวอ่าวไทยตอนบน)ในปัจจุบัน เว้าลึกเข้ามาไกลถึงสุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี (ยุคนั้นพื้นที่ กรุงเทพฯ และเมืองริมอ่าวไทยตอนบน) อย่างสมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ยังคงเป็นทะเลโบราณอยู่)
       
       ต่อมาเมื่อราว 2,000 ปีมาแล้ว(หลัง พ.ศ. 500) คนที่นี่เริ่มนับถือผี มีวัฒนธรรม“หินตั้ง” เป็นหินจำนวนมากเรียงซ้อนชั้นกัน พบกระจายตัวอยู่ทั่วไปในเมืองโบราณอู่ทอง เช่น ที่ยอดเขาพุหางนาค เขาไข่เต่า เขาถ้ำเสือ เป็นต้น


(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/559000007579706.JPEG)

        หลังจากนั้นมีชุมชนเติบโตขึ้น อู่ทองโบราณเริ่มทำการติดต่อค้าขายกับต่างชาติ โดยมีลำน้ำใหญ่ 2 สายสำคัญ คือ “แม่น้ำท่าว้า”(หรือท่าคอย)ที่เป็นแม่น้ำท่าจีนสายดั้งเดิม กับ“แม่น้ำจระเข้สามพัน” เป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญในการเชื่อมต่อกับทะเลโบราณ
       
       ราวพุทธศตวรรษที่ 8 โลกโบราณเริ่มมีคำว่า“สุวรรณภูมิ”ปรากฏขึ้น (สุวรรณภูมิ หมายถึง ดินแดนที่มีความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ มีอาณาเขตครอบคลุม ไทย,ลาว,กัมพูชา,พม่า,เวียดนาม,มาเลเซีย) ซึ่งอู่ทองถือเป็นหนึ่งในเมืองสำคัญ โดยเฉพาะความเป็นเมืองท่าศูนย์กลางการค้าใกล้ชายฝั่งทะเล

(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/559000007579707.JPEG)

        ราวพุทธศตวรรษที่ 9-10 อินเดีย ศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพุทธจากอินเดีย และวัฒนธรรมอมารวดีของได้แผ่ขยายเข้ามาในดินแดนสุวรรณภูมิ แล้วเข้ามาผสมผสานกับวัฒนธรรมภายในของท้องถิ่น เกิดเป็นยุคสมัย“วัฒนธรรมทวารวดี”ขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-16 ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นยุควัฒนธรรมสมัยแรกสุดของเมืองไทย เป็นยุคประวัติศาสตร์แรกเริ่มของเมืองไทย

(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/559000007579708.JPEG)

        ทวารวดีในยุคแรกเริ่ม มีเมืองโบราณอู่ทองเป็นเมืองสำคัญ เป็นทั้งเมืองท่าศูนย์กลางการค้าใกล้ชายฝั่งทะเลโบราณ และเป็นเมืองศูนย์กลางทางวัฒนธรรมของทวารวดี
       
       ขณะที่นักวิชาการบางสายเชื่อว่าเมืองโบราณอู่ทองเคยเป็น“เมืองหลวง”รุ่นแรกๆของยุคทวารวดีมาก่อน เนื่องจากมีการค้นพบเหรียญเงินจำนวนหลายเหรียญจารึกคำว่า “ศฺรีทฺวารวตี ศฺวรปุณฺยะ” ที่แปลว่า “พระเจ้าศรีทวารวดีผู้มีบุญอันประเสริฐ” หรือแปลว่า “การบุณย์ของพระเจ้าศรีทวารวดี” ที่ถือเป็นหลักฐานสำคัญเชื่อมโยงต่อข้อสันนิษฐานว่าเมืองหลวงหรือศูนย์กลางของยุคทวารวดีน่าจะอยู่ที่เมืองอู่ทอง   
   

(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/559000007579709.JPEG)


อู่ทอง ดินแดนสำคัญแห่งพระพุทธศาสนาของไทย

เมืองโบราณอู่ทองในยุคทวารวดี มีหลักฐานการสร้างตัวเมืองเป็นผังรูปวงรี กว้างประมาณ 1 กิโลเมตร ยาวประมาณ 2 กิโลเมตร มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ส่วนเมืองนี้จะมีชื่อว่าอย่างไร? ไม่มีหลักฐานปรากฏ แต่มาเรียกขานกันในภายหลังว่า“เมืองอู่ทอง” ตามนิทานพื้นบ้านเรื่อง“ท้าวอู่ทอง”
       
       เมืองโบราณอู่ทอง นอกจากจะเป็นเมืองสำคัญทั้งทางด้านการค้าขายและวัฒนธรรมแล้ว ยังมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในทางพุทธศาสนาของบ้านเรา


(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/559000007579710.JPEG)

        โดยในราวพุทธศตวรรษที่ 9-10 เมื่อศาสนาพุทธจากอินเดียได้แผ่ขยายเข้ามาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิ สันนิษฐานว่าอู่ทองน่าจะเป็นดินแดนแรกๆที่รับเข้ามา เนื่องจากมีการขุดค้นพบประติมากรรมดินเผารูป“พระภิกษุบิณฑบาต” ศิลปะอินเดียแบบอมารวดี(ศิลปะก่อนยุคทวารวดีในบ้านเรา) อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 9-10(หรือราว 1,500-1,600 ปีที่ผ่านมา) ซึ่งเป็นโบราณวัตถุชิ้นสำคัญเกี่ยวกับศาสนาพุทธที่เก่าแก่ที่สุดในเมืองไทย (ปัจจุบันมีจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ฯอู่ทอง)

(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/559000007579711.JPEG)

        ต่อเนื่องมาจนถึงยุคทวารวดีก็มีข้อสันนิษฐานว่า อู่ทองน่าจะเป็นดินแดนที่มีการสร้างวัดขึ้นเป็นแห่งแรกของเมืองไทย เนื่องจากในจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราชได้กล่าวว่า พระองค์ทรงส่งพระสมณทูต 2 องค์ ได้แก่ “พระโสณะ” และ “พระอุตตระ”เข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมิ(หลังพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ 300 ปี)
       
       พระสมณทูตทั้ง 2 ท่าน ได้เข้ามาสร้างวัดพุทธแห่งแรกขึ้นในดินแดนสุวรรณภูมิที่เมืองอู่ทอง คือ “วัดเขาทำเทียม” เนื่องจากมีการค้นพบร่องรอยการใช้เพิงผาถ้ำบนยอดเขา ซึ่งเชื่อว่าเป็นที่พำนักของพระสมณทูตทั้งสอง(นั่นจึงทำให้ปัจจุบันทางวัดเขาทำเทียมได้ทำการก่อสร้างพุทธมหาสถานเมืองโบราณอู่ทองที่หน้าผาเขาทำเทียมขึ้น(ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น)เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพื้นที่แห่งนี้ที่มีมาตั้งแต่ยุคโบราณ)


(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/559000007579712.JPEG)

        อย่างไรก็ดีเรื่องการเข้ามาเผยแผ่พุทธศาสนาของพระสมณทูตทั้งสองในเมืองอู่ทองโบราณยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจน แต่จากการขุดค้นพบโบราณวัตถุ 2 ชิ้นสำคัญที่วัดเขาทำเทียม คือ ก้อนหินสลักปุษยคีรี และธรรมจักรศิลา ก็ถือเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า เมืองโบราณอู่ทองเคยเป็นดินแดนสำคัญหรือศูนย์กลางทางพุทธศาสนาแห่งสุวรรณภูมิและอาณาจักรทวารวดีมาก่อน
       
(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/559000007579713.JPEG)


พิพิธภัณฑ์ฯ อู่ทอง

เมื่อมีรุ่งเรือง รุ่งโรจน์ ก็ย่อมมีวันโรยรายเสื่อมสลาย เป็นสัจธรรม เมืองโบราณอู่ทองเองก็เช่นกัน หลังดำรงความเจริญรุ่งเรืองอยู่ยาวนานนับร้อยปี ก็ถึงกาลโรยราร้างไป ซึ่งปัจจุบันมี 3 ข้อสันนิษฐานหลักๆ ถึงการเสื่อมสลายของเมืองโบราณอู่ทอง ได้แก่
       
       -สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สันนิษฐานว่า เมืองอู่ทองเกิดโรคระบาด จึงมีการทิ้งเมืองไทยสร้างพระนครศรีอยุธยา

        -ศาสตราจารย์ฌอง บวสเซอลิเยร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะในเอเชียอาคเนย์ ชาวฝรั่งเศส สันนิษฐานว่าเกิดน้ำท่วมจากเขื่อนและอ่างเก็บน้ำพัง ชาวเมืองจึงทิ้งบ้านเมืองไป แต่ไม่ได้ทิ้งร้าง หากแต่ยังมีชุมชนอาศัยอยู่เรื่อยมา


(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/559000007579714.JPEG)

(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/559000007579715.JPEG)

        -และข้อสันนิษฐานในทางธรณีวิทยาตามลักษณะของภูมิประเทศ ว่าเมืองโบราณอู่ทองเกิดการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ เกิดการทับถมของโคลนตะกอนจากแม่น้ำสายต่างๆ จนกลายเป็นแผ่นดิน ปิดเส้นทางสัญจรทางทะเล ส่งผลให้ความเป็นเมืองท่าสำคัญใกล้ชายฝั่งสิ้นสุดลง
       
       แม้การเสื่อมสลายของเมืองโบราณอู่ทองไม่มีข้อสรุปชัดเจน แต่เมืองโบราณอู่ทองในฐานะแอ่งอารยธรรมทวารวดียังคงมีความสำคัญนับจากอดีตมาจนถึงทุกวันนี้


(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/559000007579716.JPEG)

        สำหรับหนึ่งในสถานที่ที่สามารถฉายภาพอธิบายความสำคัญของเมืองโบราณอู่ทองได้ดีที่สุด ก็คือ“พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง” ที่จัดแสดงเรื่องราวต่างๆของเมืองอู่ทอง นับจากอดีตตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ผ่านมาสู่ยุคทวารวดีที่ถือเป็นยุคสำคัญ(มาก)ของเมืองโบราณอู่ทอง

(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/559000007579717.JPEG)

        ภายในพิพิธภัณฑ์ฯอู่ทอง มีข้อมูล หลักฐาน โบราณวัตถุต่างๆมากมาย แสดงให้เห็นถึงความสำคัญ ความยิ่งใหญ่ของเมืองโบราณอู่ทองในยุคทวารวดี ผ่านเทคนิคการจัดแสดงสมัยใหม่ที่น่าสนใจยิ่ง ดูเพลิน โดยเฉพาะโบราณวัตถุหลายๆชิ้นนั้นถือว่าสุดยอด ช่วยไขความลับของประวัติศาสตร์ชาติไทยได้เป็นอย่างดี
       
       นอกจากนี้พิพิธภัณฑ์อู่ทองยังเป็นแหล่งจัดแสดงด้าน“ลูกปัด” ที่มีความโดดเด่นเป็นอย่างมากของเมืองไทย


(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/559000007579718.JPEG)

        ลูกปัดโบราณอู่ทอง ถือเป็นหลักฐานสำคัญที่ยืนยันความเป็นเมืองท่าโบราณ ใกล้ชายฝั่งทะเลของอู่ทองที่มีการสร้างความสัมพันธ์ ติดต่อ เชื่อมโยง กับอาณาจักรสำคัญภายนอก เช่น อินเดีย โรมัน อาหรับ ได้เป็นอย่างดี
       
       พิพิธภัณฑ์ฯอู่ทองจึงนับเป็นอีกหนึ่งพิพิธภัณฑ์อันทรงคุณค่ายิ่งของเมืองไทย

           
(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/559000007579719.JPEG)


ตามรอยทะเลโบราณ

ยุคสมัยทวารวดีและเมืองโบราณอู่ทอง นอกจากจะมีความสำคัญอย่างยิ่งในด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรมของชาติไทยแล้ว ยังมีความสำคัญทางด้านธรณีวิทยาซึ่งหลายๆคนมักมองข้ามไป
       
       ด้วยเหตุนี้ ทาง“กรมทรัพยากรธรณี” ภายใต้การนำของ “ดร.ทศพร นุชอนงค์” อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี จึงได้จัดกิจกรรม “ธรณีสัญจร : ความลับแห่งธรณี ตอนธรณีนี่นี่...น่าฉงน”ขึ้น เพื่อให้เห็นว่าเรื่องทางธรณีวิทยาเป็นเรื่องใกล้ตัว มีความสนุก น่าสนใจ และมากไปด้วยเรื่องราวอันชวนค้นหา


(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/559000007579720.JPEG)

        โดยกรมทรัพยากรธรณีได้เลือกเส้นทางตามรอยทะเลโบราณมาเป็นหนึ่งในเส้นทางเรียนรู้สำคัญ เพื่อย้อนเวลาไปฉายภาพให้เห็นถึงความน่าฉงนของพื้นที่หัวอ่าว ก.ไก่ หรืออ่าวไทยตอนบนในอดีต ในสมัยที่กรุงเทพฯยังคงเป็นทะเลโคลนตมอยู่ พร้อมเชื่อมโยงให้เห็นถึงเส้นทางเดินเรือในสมัยทวารวดี ที่มีเมืองโบราณอู่ทองเป็นเมืองท่าสำคัญ

(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/559000007579721.JPEG)

        ผอ.นิรันดร์ ชัยมณี นักธรณีชำนาญการพิเศษ กรมทรัพยากรธรณี ได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นว่า โลกที่หมุนอยู่ทุกวันนี้ ได้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยที่เราไม่รู้ตัว อย่างพื้นที่อ่าวไทยปัจจุบัน ในอดีตเมื่อ 30,000 ปีที่แล้ว เคยเป็นผืนแผ่นดินเชื่อมต่อกับผืนแผ่นดินของหมู่เกาะชวา กะลิมัน ตัน เรียกว่า แผ่นดินชุนดา(Sundaland)
       
       จากนั้นเมื่อร่นเวลาเข้ามาเมื่อ 10,000 ปีที่แล้ว หลังสิ้นสุดยุคน้ำแข็ง น้ำแข็งบริเวณขั้วโลกได้ละลายลงสู่มหาสมุทร เกิดปรากฏการณ์ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นทั่วโลก สำหรับเมืองไทย(ในยุคโบราณ) น้ำทะเลได้รุกเข้ามาถึงอยุธยา ลพบุรี สุพรรณบุรี สระบุรี โน่น ก่อนที่น้ำทะเลจะทรงตัว มีระดับสูงกว่าปัจจุบัน 4-5 เมตร เมื่อราว 5,000-6,000 ปีก่อน


(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/559000007579722.JPEG)

        จากนั้นก็เกิดการตกตะกอนของแม่น้ำที่ปากอ่าว ขณะที่น้ำทะเลได้ค่อยถอยร่นไป เกิดเป็นทะเลโคลนตมขึ้น กลายเป็นเส้นทางการค้าขายสำคัญแห่งดินแดนสุวรรณภูมิและสมัยทวารวดี ซึ่งหนึ่งในหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่ากรุงเทพฯเคยเป็นทะเลมาก่อนก็คือ “แหล่ง(ศึกษา)เรือโบราณพนมสุรินทร์” ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร


(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/559000007579723.JPEG)

        แหล่งเรือโบราณพนมสุรินทร์ ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ นายสุรินทร์และนางพนม ศรีงามดี สองสามี-ภรรยา เจ้าของสถานที่นากุ้งซึ่งมีการขุดพบเจอซากเรือโบราณที่นี่
       
       เรือโบราณลำนี้เป็นเรือไม้ขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 25 เมตร กว้าง 8-10 เมตร มีเทคนิคที่ใช้ในการต่อเรือคล้ายกับที่พบในเรืออาหรับโบราณ กรมศิลปากรสันนิษฐานว่า เรือลำนี้น่าจะมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 ร่วมสมัยกับยุคทวารวดี


(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/559000007579724.JPEG)

        ส่วนบริเวณที่พบเรือสันนิษฐานว่าอาจเป็นปากแม่น้ำท่าจีนโบราณ ซึ่งเชื่อมต่อกับทะเลโบราณ และเรือใหญ่ลำนี้น่าจะแล่นเข้ามาเทียบท่าค้าขาย ก่อนจะผิดพลาดเรือล่องมาเจอสันดอนจนเกยตื้นต้องสละเรือ ทิ้งไว้เป็นมรดกตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน
       
       สำหรับเรือโบราณลำนี้ ตอนที่ขุดค้นเจอใหม่ๆ เป็นที่ฮือฮาของชาวบ้านในแถบนั้นมาก เนื่องจากมีคนมาขอหวยถูกกันไปหลายรายจนมีการสร้างหุ่นเจ้าแม่แก้บนขึ้นมา ขณะที่ตัวเรือหลังการค้นพบ วันนี้ยังคงเก็บไว้ในบ่อน้ำหลุมขุดค้นเพื่อรักษาสภาพของเรือไว้ ส่วนโบราณวัตถุพวกเครื่องถ้วย เครื่องปั้นดินเผาที่ขุดค้นเจอก็ได้เก็บไว้ในที่ที่ปลอดภัยเพื่อทำการศึกษาค้นคว้าต่อไป


(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/559000007579725.JPEG)

        ปัจจุบันที่แหล่งเรือโบราณจึงมีเฉพาะเสากระโดงกับไม้ทับกระดูกงูให้ชม รวมถึงมีหุ่นรูปเจ้าแม่ตั้งเด่น ที่วันนี้ยังคงมีคนเดินทางมากราบไหว้กันอยู่เนืองๆ
       
       นอกจากแหล่งเรือโบราณพนมสุรินทร์แล้ว ผอ.นิรันดร์ ยังพาไปดูร่องรอยของทะเลโบราณที่ปรากฏให้เห็นชัดเจนผ่านแนวชั้นดิน จากบ่อดินที่ บ้านปากบ่อ ต.ชัยมงคล อ.เมือง จ.สมุทรสาคร และที่ บ่อดิน บ้านตาลเรียง ต.บัวงาม อ.ดำเนินสะดวก จ. ราชบุรี


(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/559000007579726.JPEG)

        บ่อดินทั้ง 2 แห่ง เป็นบ่อขุดดิน(ขาย)ขนาดใหญ่ของเอกชนที่ขุดดินลึกลงไปเป็นสิบๆเมตร ทำให้สามารถมองเห็นภาพหน้าตัดของชั้นดินเก่าในในยุคแผ่นดินชุนดาที่เป็นดินสีเหลืองที่เป็นดินชั้นล่าง ก่อนจะคั่นด้วยแนวชั้นหอย ส่วนเหนือขึ้นมาชั้นบนเป็นดินตะกอนทะเลในยุคทะเลโบราณมีสีเทา พร้อมทั้งมีซากเปลือกหอยโบราณมากมายปะปนอยู่ในนั้น

(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/559000007579727.JPEG)

        ครั้นพ้นยุคทะเลโบราณน้ำทะเลก็ได้ค่อยๆไหลถอยกลับไป ส่วนดินตะกอนปากแม่น้ำก็ได้สะสมเพิ่มปริมาณขึ้นจนกลายเป็นผืนแผ่นดินขึ้นมา ก่อเกิดเป็นเมือง กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ดังในปัจจุบัน

(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/559000007579728.JPEG)

        อย่างไรก็ดี กรมทรัพยากรธรณี ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจต่อไปอีกว่า วันนี้น้ำทะเล(ที่เคยทำให้เกิดทะเลโบราณ)ได้กำลังรุกคืบกลับสู่ประเทศไทยอีกครั้ง จนก่อให้เกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง น้ำทะเลรุกคืบไปท่วมในหลายพื้นที่ริมชายฝั่งอ่าวไทย รวมถึงเกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลหนุนทำให้เกิดน้ำท่วม กทม. อยู่บ่อยครั้ง พร้อมทั้งคาดว่าในอีกประมาณ 20 ปีข้างหน้า ผืนแผ่นดินริมชายฝั่งอ่าวไทยบางแห่งจะถูกท้องทะเลรุกคืบกลืนกินกลายเป็นผืนแผ่นน้ำ
       
       ซึ่งนี่ต่างเป็นไปตามวัฏจักรแห่งธรรมชาติ เป็นความน่าฉงนของธรณี ที่คอยเตือนให้ให้เราคอยป้องกัน วางแผนรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆทางธรรมชาติที่จะเกิดขึ้น
       
       รวมถึงให้ตะหนักถึงผลพวงจากการทำลายธรรมชาติจากน้ำมือมนุษย์ว่า นี่คือสิ่งเร้าสำคัญที่จะทำให้เกิดภัยพิบัติจากธรรมชาติมากยิ่งขึ้น
       
       จนถึงที่สุดแล้วการทำลายทำร้ายธรรมชาติของมนุษย์ จะเป็นศรย้อนกลับมาทำลายมนุษย์ด้วยกันเอง



ขอบคุณภาพและบทความจาก
http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9590000073389 (http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9590000073389)


หัวข้อ: Re: อะเมซิ่ง “อู่ทอง” มองย้อนรอยทะเลโบราณ-ทวารวดี..ธรณีนี่นี้น่าฉงน.?
เริ่มหัวข้อโดย: komol ที่ กรกฎาคม 25, 2016, 09:28:36 am
 gd1 like1 thk56 st11 st12