ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: อะเมซิ่ง “อู่ทอง” มองย้อนรอยทะเลโบราณ-ทวารวดี..ธรณีนี่นี้น่าฉงน.?  (อ่าน 1952 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0





อะเมซิ่ง“อู่ทอง” มองย้อนรอยทะเลโบราณ-ทวารวดี...ธรณีนี่นี้น่าฉงน???
โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)

“หนึ่งเดียวในไทย ยิ่งใหญ่ในโลก มรดกคู่ฟ้าดิน” นี่คือแนวคิดในการสร้าง “พระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ” หรือ “หลวงพ่ออู่ทอง” พระพุทธรูปแกะสลักบนหน้าผาที่มีขนาดใหญ่ระดับโลก บริเวณหน้าผาเขาทำเทียม ต.ท้าวอู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี


        หลวงพ่ออู่ทอง เป็นพระพุทธรูปแกะสลักบนหน้าผาหิน ปางโปรดพุทธมารดา สูง 32 เมตร หน้าตักกว้าง 24.90 เมตร หลวงพ่ออู่ทองเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้าง“พุทธมหาสถานเมืองโบราณอู่ทอง” ที่ประกอบไปด้วยพระพุทธรูปแกะสลักบนหน้าผาหิน 5 องค์ ใน 5 ปาง แตกต่างกัน ยาวตลอดแนว 800 เมตร ของหน้าผาเขาทำเทียม
       
       หลวงพ่ออู่ทองคือพระพุทธรูปองค์แรกของโครงการนี้ที่ปัจจุบันกำลังดำเนินการแกะสลักอยู่ มีความคืบหน้าไปประมาณ 60-70 % คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2560



        อย่างไรก็ดีแม้จะอยู่ในระหว่างดำเนินการแกะสลัก แต่ก็เปิดให้ผู้คนไปเที่ยวชมและร่วมทำบุญสมทบทุนในการสร้างพุทธมหาสถานฯแห่งนี้กันได้
       
       หากหลวงพ่ออู่ทองและโครงการทั้งหมดสร้างแล้วเสร็จ ที่นี่จะเป็นอีกหนึ่งสิ่งมหัศจรรย์ของเมืองไทยที่เป็นแม่เหล็กชั้นดีดึงดูดให้คนไปเที่ยวที่ อ.อู่ทอง จำนวนมาก

             


ย้อนรอยเมืองโบราณอู่ทอง-ทวารวดี

อ.อู่ทอง ปัจจุบันถือเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของ จ.สุพรรณบุรี ที่มีทั้งแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ วัดวาอาราม วิถีชีวิต อาหารอร่อย รวมถึงเป็นอีกหนึ่งดินแดนแห่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่งของเมืองไทย เพราะเคยเป็นที่ตั้งของ“เมืองโบราณอู่ทอง”หนึ่งในดินแดนประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญยิ่งของเมืองไทย
       
       เมืองโบราณอู่ทองได้ชื่อว่าเป็นเมืองอรุณรุ่งแห่งวัฒนธรรมไทย เพราะเป็นเมืองศูนย์กลางทางวัฒนธรรมในสมัยทวารวดียุคแรกเริ่ม ซึ่งหากย้อนอดีตอู่ทองไปเมื่อ 3,000 ปีก่อน ที่นี่เคยมีมนุษย์อาศัยอยู่ เป็นสังคมเกษตรกรรมยุคหินใหม่ต่อเนื่องถึงยุคโลหะ จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบ ขวานหินขัด ลูกปัด ภาชนะดินเผา เหล็กปั่นด้าย ฉมวก หอก อาวุธโบราณ และเครื่องใช้ไม้สอยโลหะอื่นๆอีกมากมาย


        เมืองโบราณอู่ทองยุคนั้น ตั้งอยู่ใกล้ชายฝั่งทะเลโคลนตมหรือ“ทะเลโบราณ” ที่กินพื้นที่หัวอ่าว ก.ไก่(หัวอ่าวไทยตอนบน)ในปัจจุบัน เว้าลึกเข้ามาไกลถึงสุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี (ยุคนั้นพื้นที่ กรุงเทพฯ และเมืองริมอ่าวไทยตอนบน) อย่างสมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ยังคงเป็นทะเลโบราณอยู่)
       
       ต่อมาเมื่อราว 2,000 ปีมาแล้ว(หลัง พ.ศ. 500) คนที่นี่เริ่มนับถือผี มีวัฒนธรรม“หินตั้ง” เป็นหินจำนวนมากเรียงซ้อนชั้นกัน พบกระจายตัวอยู่ทั่วไปในเมืองโบราณอู่ทอง เช่น ที่ยอดเขาพุหางนาค เขาไข่เต่า เขาถ้ำเสือ เป็นต้น



        หลังจากนั้นมีชุมชนเติบโตขึ้น อู่ทองโบราณเริ่มทำการติดต่อค้าขายกับต่างชาติ โดยมีลำน้ำใหญ่ 2 สายสำคัญ คือ “แม่น้ำท่าว้า”(หรือท่าคอย)ที่เป็นแม่น้ำท่าจีนสายดั้งเดิม กับ“แม่น้ำจระเข้สามพัน” เป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญในการเชื่อมต่อกับทะเลโบราณ
       
       ราวพุทธศตวรรษที่ 8 โลกโบราณเริ่มมีคำว่า“สุวรรณภูมิ”ปรากฏขึ้น (สุวรรณภูมิ หมายถึง ดินแดนที่มีความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ มีอาณาเขตครอบคลุม ไทย,ลาว,กัมพูชา,พม่า,เวียดนาม,มาเลเซีย) ซึ่งอู่ทองถือเป็นหนึ่งในเมืองสำคัญ โดยเฉพาะความเป็นเมืองท่าศูนย์กลางการค้าใกล้ชายฝั่งทะเล


        ราวพุทธศตวรรษที่ 9-10 อินเดีย ศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพุทธจากอินเดีย และวัฒนธรรมอมารวดีของได้แผ่ขยายเข้ามาในดินแดนสุวรรณภูมิ แล้วเข้ามาผสมผสานกับวัฒนธรรมภายในของท้องถิ่น เกิดเป็นยุคสมัย“วัฒนธรรมทวารวดี”ขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-16 ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นยุควัฒนธรรมสมัยแรกสุดของเมืองไทย เป็นยุคประวัติศาสตร์แรกเริ่มของเมืองไทย


        ทวารวดีในยุคแรกเริ่ม มีเมืองโบราณอู่ทองเป็นเมืองสำคัญ เป็นทั้งเมืองท่าศูนย์กลางการค้าใกล้ชายฝั่งทะเลโบราณ และเป็นเมืองศูนย์กลางทางวัฒนธรรมของทวารวดี
       
       ขณะที่นักวิชาการบางสายเชื่อว่าเมืองโบราณอู่ทองเคยเป็น“เมืองหลวง”รุ่นแรกๆของยุคทวารวดีมาก่อน เนื่องจากมีการค้นพบเหรียญเงินจำนวนหลายเหรียญจารึกคำว่า “ศฺรีทฺวารวตี ศฺวรปุณฺยะ” ที่แปลว่า “พระเจ้าศรีทวารวดีผู้มีบุญอันประเสริฐ” หรือแปลว่า “การบุณย์ของพระเจ้าศรีทวารวดี” ที่ถือเป็นหลักฐานสำคัญเชื่อมโยงต่อข้อสันนิษฐานว่าเมืองหลวงหรือศูนย์กลางของยุคทวารวดีน่าจะอยู่ที่เมืองอู่ทอง   
   



อู่ทอง ดินแดนสำคัญแห่งพระพุทธศาสนาของไทย

เมืองโบราณอู่ทองในยุคทวารวดี มีหลักฐานการสร้างตัวเมืองเป็นผังรูปวงรี กว้างประมาณ 1 กิโลเมตร ยาวประมาณ 2 กิโลเมตร มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ส่วนเมืองนี้จะมีชื่อว่าอย่างไร? ไม่มีหลักฐานปรากฏ แต่มาเรียกขานกันในภายหลังว่า“เมืองอู่ทอง” ตามนิทานพื้นบ้านเรื่อง“ท้าวอู่ทอง”
       
       เมืองโบราณอู่ทอง นอกจากจะเป็นเมืองสำคัญทั้งทางด้านการค้าขายและวัฒนธรรมแล้ว ยังมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในทางพุทธศาสนาของบ้านเรา



        โดยในราวพุทธศตวรรษที่ 9-10 เมื่อศาสนาพุทธจากอินเดียได้แผ่ขยายเข้ามาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิ สันนิษฐานว่าอู่ทองน่าจะเป็นดินแดนแรกๆที่รับเข้ามา เนื่องจากมีการขุดค้นพบประติมากรรมดินเผารูป“พระภิกษุบิณฑบาต” ศิลปะอินเดียแบบอมารวดี(ศิลปะก่อนยุคทวารวดีในบ้านเรา) อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 9-10(หรือราว 1,500-1,600 ปีที่ผ่านมา) ซึ่งเป็นโบราณวัตถุชิ้นสำคัญเกี่ยวกับศาสนาพุทธที่เก่าแก่ที่สุดในเมืองไทย (ปัจจุบันมีจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ฯอู่ทอง)


        ต่อเนื่องมาจนถึงยุคทวารวดีก็มีข้อสันนิษฐานว่า อู่ทองน่าจะเป็นดินแดนที่มีการสร้างวัดขึ้นเป็นแห่งแรกของเมืองไทย เนื่องจากในจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราชได้กล่าวว่า พระองค์ทรงส่งพระสมณทูต 2 องค์ ได้แก่ “พระโสณะ” และ “พระอุตตระ”เข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมิ(หลังพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ 300 ปี)
       
       พระสมณทูตทั้ง 2 ท่าน ได้เข้ามาสร้างวัดพุทธแห่งแรกขึ้นในดินแดนสุวรรณภูมิที่เมืองอู่ทอง คือ “วัดเขาทำเทียม” เนื่องจากมีการค้นพบร่องรอยการใช้เพิงผาถ้ำบนยอดเขา ซึ่งเชื่อว่าเป็นที่พำนักของพระสมณทูตทั้งสอง(นั่นจึงทำให้ปัจจุบันทางวัดเขาทำเทียมได้ทำการก่อสร้างพุทธมหาสถานเมืองโบราณอู่ทองที่หน้าผาเขาทำเทียมขึ้น(ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น)เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพื้นที่แห่งนี้ที่มีมาตั้งแต่ยุคโบราณ)



        อย่างไรก็ดีเรื่องการเข้ามาเผยแผ่พุทธศาสนาของพระสมณทูตทั้งสองในเมืองอู่ทองโบราณยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจน แต่จากการขุดค้นพบโบราณวัตถุ 2 ชิ้นสำคัญที่วัดเขาทำเทียม คือ ก้อนหินสลักปุษยคีรี และธรรมจักรศิลา ก็ถือเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า เมืองโบราณอู่ทองเคยเป็นดินแดนสำคัญหรือศูนย์กลางทางพุทธศาสนาแห่งสุวรรณภูมิและอาณาจักรทวารวดีมาก่อน
       


พิพิธภัณฑ์ฯ อู่ทอง

เมื่อมีรุ่งเรือง รุ่งโรจน์ ก็ย่อมมีวันโรยรายเสื่อมสลาย เป็นสัจธรรม เมืองโบราณอู่ทองเองก็เช่นกัน หลังดำรงความเจริญรุ่งเรืองอยู่ยาวนานนับร้อยปี ก็ถึงกาลโรยราร้างไป ซึ่งปัจจุบันมี 3 ข้อสันนิษฐานหลักๆ ถึงการเสื่อมสลายของเมืองโบราณอู่ทอง ได้แก่
       
       -สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สันนิษฐานว่า เมืองอู่ทองเกิดโรคระบาด จึงมีการทิ้งเมืองไทยสร้างพระนครศรีอยุธยา

        -ศาสตราจารย์ฌอง บวสเซอลิเยร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะในเอเชียอาคเนย์ ชาวฝรั่งเศส สันนิษฐานว่าเกิดน้ำท่วมจากเขื่อนและอ่างเก็บน้ำพัง ชาวเมืองจึงทิ้งบ้านเมืองไป แต่ไม่ได้ทิ้งร้าง หากแต่ยังมีชุมชนอาศัยอยู่เรื่อยมา




        -และข้อสันนิษฐานในทางธรณีวิทยาตามลักษณะของภูมิประเทศ ว่าเมืองโบราณอู่ทองเกิดการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ เกิดการทับถมของโคลนตะกอนจากแม่น้ำสายต่างๆ จนกลายเป็นแผ่นดิน ปิดเส้นทางสัญจรทางทะเล ส่งผลให้ความเป็นเมืองท่าสำคัญใกล้ชายฝั่งสิ้นสุดลง
       
       แม้การเสื่อมสลายของเมืองโบราณอู่ทองไม่มีข้อสรุปชัดเจน แต่เมืองโบราณอู่ทองในฐานะแอ่งอารยธรรมทวารวดียังคงมีความสำคัญนับจากอดีตมาจนถึงทุกวันนี้



        สำหรับหนึ่งในสถานที่ที่สามารถฉายภาพอธิบายความสำคัญของเมืองโบราณอู่ทองได้ดีที่สุด ก็คือ“พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง” ที่จัดแสดงเรื่องราวต่างๆของเมืองอู่ทอง นับจากอดีตตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ผ่านมาสู่ยุคทวารวดีที่ถือเป็นยุคสำคัญ(มาก)ของเมืองโบราณอู่ทอง


        ภายในพิพิธภัณฑ์ฯอู่ทอง มีข้อมูล หลักฐาน โบราณวัตถุต่างๆมากมาย แสดงให้เห็นถึงความสำคัญ ความยิ่งใหญ่ของเมืองโบราณอู่ทองในยุคทวารวดี ผ่านเทคนิคการจัดแสดงสมัยใหม่ที่น่าสนใจยิ่ง ดูเพลิน โดยเฉพาะโบราณวัตถุหลายๆชิ้นนั้นถือว่าสุดยอด ช่วยไขความลับของประวัติศาสตร์ชาติไทยได้เป็นอย่างดี
       
       นอกจากนี้พิพิธภัณฑ์อู่ทองยังเป็นแหล่งจัดแสดงด้าน“ลูกปัด” ที่มีความโดดเด่นเป็นอย่างมากของเมืองไทย



        ลูกปัดโบราณอู่ทอง ถือเป็นหลักฐานสำคัญที่ยืนยันความเป็นเมืองท่าโบราณ ใกล้ชายฝั่งทะเลของอู่ทองที่มีการสร้างความสัมพันธ์ ติดต่อ เชื่อมโยง กับอาณาจักรสำคัญภายนอก เช่น อินเดีย โรมัน อาหรับ ได้เป็นอย่างดี
       
       พิพิธภัณฑ์ฯอู่ทองจึงนับเป็นอีกหนึ่งพิพิธภัณฑ์อันทรงคุณค่ายิ่งของเมืองไทย

           


ตามรอยทะเลโบราณ

ยุคสมัยทวารวดีและเมืองโบราณอู่ทอง นอกจากจะมีความสำคัญอย่างยิ่งในด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรมของชาติไทยแล้ว ยังมีความสำคัญทางด้านธรณีวิทยาซึ่งหลายๆคนมักมองข้ามไป
       
       ด้วยเหตุนี้ ทาง“กรมทรัพยากรธรณี” ภายใต้การนำของ “ดร.ทศพร นุชอนงค์” อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี จึงได้จัดกิจกรรม “ธรณีสัญจร : ความลับแห่งธรณี ตอนธรณีนี่นี่...น่าฉงน”ขึ้น เพื่อให้เห็นว่าเรื่องทางธรณีวิทยาเป็นเรื่องใกล้ตัว มีความสนุก น่าสนใจ และมากไปด้วยเรื่องราวอันชวนค้นหา



        โดยกรมทรัพยากรธรณีได้เลือกเส้นทางตามรอยทะเลโบราณมาเป็นหนึ่งในเส้นทางเรียนรู้สำคัญ เพื่อย้อนเวลาไปฉายภาพให้เห็นถึงความน่าฉงนของพื้นที่หัวอ่าว ก.ไก่ หรืออ่าวไทยตอนบนในอดีต ในสมัยที่กรุงเทพฯยังคงเป็นทะเลโคลนตมอยู่ พร้อมเชื่อมโยงให้เห็นถึงเส้นทางเดินเรือในสมัยทวารวดี ที่มีเมืองโบราณอู่ทองเป็นเมืองท่าสำคัญ


        ผอ.นิรันดร์ ชัยมณี นักธรณีชำนาญการพิเศษ กรมทรัพยากรธรณี ได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นว่า โลกที่หมุนอยู่ทุกวันนี้ ได้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยที่เราไม่รู้ตัว อย่างพื้นที่อ่าวไทยปัจจุบัน ในอดีตเมื่อ 30,000 ปีที่แล้ว เคยเป็นผืนแผ่นดินเชื่อมต่อกับผืนแผ่นดินของหมู่เกาะชวา กะลิมัน ตัน เรียกว่า แผ่นดินชุนดา(Sundaland)
       
       จากนั้นเมื่อร่นเวลาเข้ามาเมื่อ 10,000 ปีที่แล้ว หลังสิ้นสุดยุคน้ำแข็ง น้ำแข็งบริเวณขั้วโลกได้ละลายลงสู่มหาสมุทร เกิดปรากฏการณ์ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นทั่วโลก สำหรับเมืองไทย(ในยุคโบราณ) น้ำทะเลได้รุกเข้ามาถึงอยุธยา ลพบุรี สุพรรณบุรี สระบุรี โน่น ก่อนที่น้ำทะเลจะทรงตัว มีระดับสูงกว่าปัจจุบัน 4-5 เมตร เมื่อราว 5,000-6,000 ปีก่อน



        จากนั้นก็เกิดการตกตะกอนของแม่น้ำที่ปากอ่าว ขณะที่น้ำทะเลได้ค่อยถอยร่นไป เกิดเป็นทะเลโคลนตมขึ้น กลายเป็นเส้นทางการค้าขายสำคัญแห่งดินแดนสุวรรณภูมิและสมัยทวารวดี ซึ่งหนึ่งในหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่ากรุงเทพฯเคยเป็นทะเลมาก่อนก็คือ “แหล่ง(ศึกษา)เรือโบราณพนมสุรินทร์” ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร



        แหล่งเรือโบราณพนมสุรินทร์ ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ นายสุรินทร์และนางพนม ศรีงามดี สองสามี-ภรรยา เจ้าของสถานที่นากุ้งซึ่งมีการขุดพบเจอซากเรือโบราณที่นี่
       
       เรือโบราณลำนี้เป็นเรือไม้ขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 25 เมตร กว้าง 8-10 เมตร มีเทคนิคที่ใช้ในการต่อเรือคล้ายกับที่พบในเรืออาหรับโบราณ กรมศิลปากรสันนิษฐานว่า เรือลำนี้น่าจะมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 ร่วมสมัยกับยุคทวารวดี



        ส่วนบริเวณที่พบเรือสันนิษฐานว่าอาจเป็นปากแม่น้ำท่าจีนโบราณ ซึ่งเชื่อมต่อกับทะเลโบราณ และเรือใหญ่ลำนี้น่าจะแล่นเข้ามาเทียบท่าค้าขาย ก่อนจะผิดพลาดเรือล่องมาเจอสันดอนจนเกยตื้นต้องสละเรือ ทิ้งไว้เป็นมรดกตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน
       
       สำหรับเรือโบราณลำนี้ ตอนที่ขุดค้นเจอใหม่ๆ เป็นที่ฮือฮาของชาวบ้านในแถบนั้นมาก เนื่องจากมีคนมาขอหวยถูกกันไปหลายรายจนมีการสร้างหุ่นเจ้าแม่แก้บนขึ้นมา ขณะที่ตัวเรือหลังการค้นพบ วันนี้ยังคงเก็บไว้ในบ่อน้ำหลุมขุดค้นเพื่อรักษาสภาพของเรือไว้ ส่วนโบราณวัตถุพวกเครื่องถ้วย เครื่องปั้นดินเผาที่ขุดค้นเจอก็ได้เก็บไว้ในที่ที่ปลอดภัยเพื่อทำการศึกษาค้นคว้าต่อไป



        ปัจจุบันที่แหล่งเรือโบราณจึงมีเฉพาะเสากระโดงกับไม้ทับกระดูกงูให้ชม รวมถึงมีหุ่นรูปเจ้าแม่ตั้งเด่น ที่วันนี้ยังคงมีคนเดินทางมากราบไหว้กันอยู่เนืองๆ
       
       นอกจากแหล่งเรือโบราณพนมสุรินทร์แล้ว ผอ.นิรันดร์ ยังพาไปดูร่องรอยของทะเลโบราณที่ปรากฏให้เห็นชัดเจนผ่านแนวชั้นดิน จากบ่อดินที่ บ้านปากบ่อ ต.ชัยมงคล อ.เมือง จ.สมุทรสาคร และที่ บ่อดิน บ้านตาลเรียง ต.บัวงาม อ.ดำเนินสะดวก จ. ราชบุรี



        บ่อดินทั้ง 2 แห่ง เป็นบ่อขุดดิน(ขาย)ขนาดใหญ่ของเอกชนที่ขุดดินลึกลงไปเป็นสิบๆเมตร ทำให้สามารถมองเห็นภาพหน้าตัดของชั้นดินเก่าในในยุคแผ่นดินชุนดาที่เป็นดินสีเหลืองที่เป็นดินชั้นล่าง ก่อนจะคั่นด้วยแนวชั้นหอย ส่วนเหนือขึ้นมาชั้นบนเป็นดินตะกอนทะเลในยุคทะเลโบราณมีสีเทา พร้อมทั้งมีซากเปลือกหอยโบราณมากมายปะปนอยู่ในนั้น


        ครั้นพ้นยุคทะเลโบราณน้ำทะเลก็ได้ค่อยๆไหลถอยกลับไป ส่วนดินตะกอนปากแม่น้ำก็ได้สะสมเพิ่มปริมาณขึ้นจนกลายเป็นผืนแผ่นดินขึ้นมา ก่อเกิดเป็นเมือง กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ดังในปัจจุบัน


        อย่างไรก็ดี กรมทรัพยากรธรณี ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจต่อไปอีกว่า วันนี้น้ำทะเล(ที่เคยทำให้เกิดทะเลโบราณ)ได้กำลังรุกคืบกลับสู่ประเทศไทยอีกครั้ง จนก่อให้เกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง น้ำทะเลรุกคืบไปท่วมในหลายพื้นที่ริมชายฝั่งอ่าวไทย รวมถึงเกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลหนุนทำให้เกิดน้ำท่วม กทม. อยู่บ่อยครั้ง พร้อมทั้งคาดว่าในอีกประมาณ 20 ปีข้างหน้า ผืนแผ่นดินริมชายฝั่งอ่าวไทยบางแห่งจะถูกท้องทะเลรุกคืบกลืนกินกลายเป็นผืนแผ่นน้ำ
       
       ซึ่งนี่ต่างเป็นไปตามวัฏจักรแห่งธรรมชาติ เป็นความน่าฉงนของธรณี ที่คอยเตือนให้ให้เราคอยป้องกัน วางแผนรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆทางธรรมชาติที่จะเกิดขึ้น
       
       รวมถึงให้ตะหนักถึงผลพวงจากการทำลายธรรมชาติจากน้ำมือมนุษย์ว่า นี่คือสิ่งเร้าสำคัญที่จะทำให้เกิดภัยพิบัติจากธรรมชาติมากยิ่งขึ้น
       
       จนถึงที่สุดแล้วการทำลายทำร้ายธรรมชาติของมนุษย์ จะเป็นศรย้อนกลับมาทำลายมนุษย์ด้วยกันเอง



ขอบคุณภาพและบทความจาก
http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9590000073389
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

komol

  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรมรรค
  • *****
  • ผลบุญ: +7/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: ชาย
  • กระทู้: 643
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
บันทึกการเข้า
พลังจิต พลังปราณ พลังสมาธิ เป็นพลังสมดุลย์ เพื่อปัญญา