ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: "พุทธศาสนา" ให้ความหมายของ "ความสุข" ไว้ ๒ นัย  (อ่าน 689 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28415
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



"พุทธศาสนา" ให้ความหมายของ "ความสุข" ไว้ ๒ นัย

ความสุขในความหมายของพุทธศาสนา มี ๒ นัย คือ
     ๑) ความสุข ที่ยังมีเวทนา เสวยความสุขนั้นอยู่
     ๒) ความสุขที่ไม่ต้องมีเวทนาเสวยความสุข

สุข ในข้อแรก เป็นความสุขที่เกิดกับจิต ที่ได้รับอารมณ์ที่ตนเอง ชื่นชอบยินดีแล้ว ก็เป็นสุข เป็นเวทนาที่เสวยอารมณ์ เช่น ได้กินของอร่อยๆก็เกิดความสุข ได้ฟังเพลงเพราะๆก็เกิดความสุข นั่งสมาธิพอจิตสงบก็เกิดความสุข สงบ

ส่วนความสุขในข้อที่ ๒ เป็นความสุขที่ไม่ต้องมีเวทนาเสวยอารมณ์ ไม่ต้องมีขันธ์ ๕ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ความสุขชนิดนี้ ก็คือ “พระนิพพาน”

นิพพาน เป็นสุขอย่างไร.? ในเมื่อไม่มีขันธ์ ๕ ไม่มีเวทนาที่ไปเสวยนิพพาน
ตอบ : ก็เพราะพระนิพพานไม่มีทุกข์ไง เมื่อพระนิพพานไม่มีทุกข์ ท่านก็เลยเรียกว่านิพพานนั้น เป็นสุข และเป็นสุขอย่างยิ่งด้วย (นิพพานํ ปรมํ สุขํ)

@@@@@@@

ความสุขที่ชาวโลกใฝ่ฝัน คือความสุขที่มีขันธ์ ๕ มีเวทนาไปเสวยอารมณ์ที่เป็นสุข นั่นไม่ใช่ความสุขตามพุทธประสงค์ เพราะที่ใดมีขันธ์ ๕ ที่นั่นเป็นทุกข์ อย่างที่ทรงตรัสไว้ในปฐมเทศนาว่า
     “ชาติปิ ทุกฺขา - ความเกิดคือ การปรากฎแห่งขันธ์ เป็นทุกข์”
     “ขันธ์ ๕ ธรรมที่ถูกทุกข์เคี้ยวกิน - อเนกทุกฺเขหิ ขชฺชนฺตีติ ขนฺธา”

แท้จริงแล้ว “ความสุข” ไม่มี มีแต่ความทุกข์ที่ลดลง ลดลงไปจนถึงที่สุด ท่านก็เรียกว่า “ที่สุดแห่งทุกข์ ทุกฺขสฺสนฺตํ” เหมือนกับความเย็น ความเย็นจะปรากฎขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อความร้อนมันลดลงไปเรื่อยๆ ยิ่งความร้อนมันลดลงไปมากเท่าใด ความเย็นก็จะปรากฎเกิดมากเท่านั้น

พุทธองค์ตรัสว่า “สิ่งที่พระองค์สอน มีแต่เรื่องทุกข์ กับความดับแห่งทุกข์” ความที่ทุกข์ดับไปโดยไม่เหลือนั่นแหละ ท่านจึงกลับความเรียกเสียใหม่ว่า “เป็นความสุข”


@@@@@@@

เมื่อไม่มีขันธ์ ๕ แล้ว จะเอาอะไรมาบัญญัติว่า “เป็นทุกข์”.?
ในขณะเดียวกัน เมื่อไม่มีขันธ์ ๕ แล้ว จะเอาอะไรมาบัญญัติว่า “เป็นสุข”.?

ที่ตรัสว่า เป็นสุข เป็นการเรียกตามนัยที่ตรงกับข้ามกับคำว่า “ไม่มีทุกข์, หมดทุกข์, สิ้นทุกข์”
อีกอย่างหนึ่ง ตรัสว่า “เป็นสุข” เพราะตรัสตามนัยแห่งอัสสาทเทศนา คือ เทศนาที่ตรัสเพื่อให้เกิดความอาจหาญยินดี

โดยภาวะแล้ว มีแต่ทุกข์เกิด และทุกข์ดับ
    “ทุกข์เท่านั้น ที่เกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นที่ตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นที่ดับไป นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับ”
    “ทุกฺขเมว หิ สมฺโภติ ทุกฺขํ ติฏฺฐติ เวติ จ นาญฺญตฺร ทุกขา สมฺโภติ นาญตฺตร ทุกฺขา นิรุชฺฌติ."

____________
ที่มา : วชิราสูตร



ขอบคุณ : dhamma.serichon.us/2020/03/05/ความสุข-ในความหมายของพุ/
5 มีนาคม 2020 ,By admin.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 10, 2021, 06:01:34 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ