ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ความเป็นมา ของ "คัมภีร์อรรถกถา"  (อ่าน 716 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
ความเป็นมา ของ "คัมภีร์อรรถกถา"
« เมื่อ: มีนาคม 29, 2021, 05:56:04 am »
0




ความเป็นมา ของ "คัมภีร์อรรถกถา"

ขอกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของคัมภีร์อรรถกถาโดยย่อ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจถึงความสำคัญของคัมภีร์นี้ กล่าวคือ ในพระไตรปิฎกมีเนื้อความอธิบายเป็นภาษาบาลีชื่อว่า มหาอรรถกถา คือ อรรถาธิบายอันประเสริฐ หรือมูลัฏฐกถา คือ อรรถาธิบายดั้งเดิม ซึ่งประกอบด้วย ๒ ส่วนสำคัญ คือ

     ๑. ปกิณกเทศนา เทศนาทั่วไปที่พระพุทธเจ้าตรัสอธิบายไว้ด้วยพระองค์เองเมื่อมีผู้ทูลถาม หรือเพื่อให้คนรุ่นหลังเข้าใจ
     ๒. สาวกภาษิต ถ้อยคำของพระสาวกมีพระสารีบุตร พระอานันท์ พระมหากัจจายนะ เป็นต้น ที่กล่าวอธิบายหรือประมวลพระพุทธพจน์ไว้ จะเห็นได้ว่า มีตัวอย่างในพระสูตรบางสูตร เช่น
          ๒.๑ พระสารีบุตร กล่าวแนวทางในการสังคายนาไว้โดยย่อในสังคีติสูตร และทสุตตรสูตร
          ๒.๒ พระอานนท์ แสดงอุเทศและวิภังค์ของภัทเทกรัตตสูตรไว้ในอานันทภัทเทกรัตตสูตร
          ๒.๓ พระมหากัจจายนะ อธิบายภัทเทกรัตตสูตรไว้ในมหากัจจายนภัทเทกรัตตสูตร

คัมภีร์มหาอรรถกถาที่จารึกปกิณกเทศนาและสาวกภาษิต ได้รับสังคายนาในปฐมสังคายนาและสังคายนาครั้งอื่นๆ ต่อมาพระมหินทเถระได้ไปเผยแผ่พุทธศาสนาในลังกาทวีปหลังการสังคายนาครั้งที่ ๓ โดยได้นำพระไตรปิฎกและมหาอรรถกถาไปด้วย ท่านและพระสิงหลได้ร่วมกันแปลพระไตรปิฎกและมหาอรรถกถาเป็นภาษาสิงหล เพื่อให้กุลบุตรชาวสิงหลสามารถศึกษาได้โดยสะดวก

ซึ่งต่อมาภายหลังคัมภีร์มหาอรรถกถาฉบับบาลีเดิมได้สาบสูญไป เพราะภัยสงครามที่เกิดขึ้นหลายครั้ง เมื่อพระพุทธโฆสาจารย์ได้เดินทางไปลังกาทวีปในรัชสมัยพระเจ้ามหานาม (พ.ศ. ๙๕๓–๙๗๕) ได้ปริวรรตคัมภีร์มหาอรรถกถามาเป็นภาษาบาลี เพื่อให้กุลบุตรผู้รู้ภาษาบาลีในประเทศต่างๆ ใช้เป็นคู่มือในการศึกษาพระไตรปิฎก

ต่อมาพระอรรถกถาจารย์รูปอื่นๆ ก็ดำเนินรอยตามโดยปริวรรตคัมภีร์จากภาษาสิงหลมาเป็นภาษาบาลี ปัจจุบันคัมภีร์อรรถกถาที่ปริวรรตจากภาษาสิงหลจึงมีอยู่อย่างครบถ้วน

คัมภีร์อรรถกถาของพระพุทธโฆสาจารย์และพระอรรถกถาจารย์ท่านอื่นๆ ได้เอื้อประโยชน์ให้อนุชนเข้าใจหลักภาษาได้ชัดเจน ทั้งนี้เป็นเพราะภาษาบาลีเป็นภาษาตายที่ไม่นิยมพูดกันในปัจจุบัน

ด้วยเหตุนี้ ชาวพุทธนิกายเถรวาทจึงไม่ถือว่า คัมภีร์อรรถกถาเป็นหลักฐานรุ่นหลังอย่างที่ พูดกันในสมัยปัจจุบันว่า “คัมภีร์ชั้นอรรถกถา” แต่มีความสำคัญเทียบเท่าพระไตรปิฎก เพราะหากปราศจากคำอธิบายจากคัมภีร์อรรถกถาแล้ว ก็ไม่อาจจะเข้าใจพระพุทธพจน์ได้อย่างชัดเจน เพราะผู้ที่เข้าใจพุทธาธิบายได้คงมีเพียงพระพุทธเจ้าและสาวกผู้บรรลุปฏิสัมภิทาญาณเท่านั้น ข้อความข้างต้นกล่าวไว้ในคาถาเริ่มต้นของคัมภีร์อรรถกถาทุกฉบับ


@@@@@@@

แม้คัมภีร์มหาวงศ์ก็กล่าวว่า...

     "สีหฬฏฺฐกถา สุทฺธา มหินฺเทน มตีมตา สงฺคีติตฺตย’มารุฬฺหํ สมฺมาสมฺพุทฺธเทสิตํ. สาริปุตฺตาทิคีตํ จ กถามคฺคํ สเมกฺขิย กตา สีหฬภาสาย สีหเฬสุ ปวตฺตติ." (มหาวํส ปริจเฉทที่ ๓๗ คาถา ๒๒๘–๒๒๙)

     “อรรถกถาสิงหลอันหมดจดที่ประมวลคำอธิบายอันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ และคำกล่าวของพระสารีบุตร เป็นต้น อันยกขึ้นสู่สังคายนาทั้งสามครั้ง ซึ่งพระมหินทเถระผู้มีปัญญาได้แปลไว้ด้วยภาษาสิงหลย่อมปรากฏแก่ชาวสิงหล”

คัมภีร์ฎีกาพระวินัยชื่อสารัตถทีปนีกล่าวถึงเรื่องปกิณกเทศนาว่า...

    "น หิ ภควตา อพฺยากตํ นาม ตนฺติปทํ อตฺถิ สพฺเพสํเยว อตฺโถ กถิโต, ตสฺมา สมฺมาสมฺพุทฺเธเนว ติณฺณํ ปิฏกานํ อตฺถวณฺณนากฺกโมปิ ภาสิโตติ ทฏฺฐพฺพํ. ตตฺถ ตตฺถ ภควตา ปวตฺติตา ปกิณฺณกเทสนาเยว หิ อฏฺฐกถา." (สารตฺถ.ฏีกา ๑/๒๖–๒๗)

     “บทบาลีที่พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงแสดงไว้หามีไม่ ทรงแสดงเนื้อความของทุกบท ดังนั้น โปรดทราบว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสลำดับคำอธิบายเนื้อความของพระไตรปิฎกไว้ โดยแท้จริงแล้ว ปกิณกเทศนาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ในที่นั้นๆ ชื่อว่า อรรถกถา (คัมภีร์อธิบายความ)”

อนึ่ง ในคัมภีร์อรรถกถาบางแห่งมีการอธิบายหลักภาษา เช่น การตัดบท การอธิบายศัพท์หรือความหมาย การประกอบรูปศัพท์ และการแสดงรูปวิเคราะห์ เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นการอธิบายของพระอรรถกถาจารย์เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังที่เรียน บาลีเป็นภาษาที่สองได้เข้าใจบทพยัญชนะได้ชัดเจน ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ให้เข้าใจความหมายเป็นอย่างดี หวังว่าบทความนี้จะอำนวยประโยชน์แก่ผู้อ่านเพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้อง อันเป็นไปเพื่อการธำรงรักษ์พระพุทธศาสนาต่อไป.




ขอบคุณ : dhamma.serichon.us/2021/03/08/ความเป็นมาของคัมภีร์อร-2/
8 มีนาคม 2021 posted by admin.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ