ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: การบริหารการเงินของวัดในไทย "ขาดระบบ ขาดธรรมาภิบาล"  (อ่าน 2046 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
 

การบริหารการเงินของวัดในประเทศไทย
ผลงานวิจัย(บทคัดย่อ) ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ณดา จันทร์สม

       วัดมีบทบาทสำคัญต่อสังคมไทยมาแต่อดีตเป็นเวลายาวนาน ความผูกพันกับวัดเกี่ยวข้องกับบุคคล ชุมชน และสังคมมีความสัมพันธ์กันตั้งแต่ช่วงวัยแรกและช่วงสุดท้ายของชีวิต กิจกรรมภายในวัดมีความหลากหลาย ตั้งแต่เพียงเป็นสถานที่พำนักของพระภิกษุสงฆ์ ให้พุทธศาสนิกชนเข้ามาการทำบุญและประกอบศาสนกิจต่าง ๆ จนถึงการเป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งนันทนาการ ศูนย์กลางการเรียนรู้ การพัฒนา การสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน

       กิจกรรมที่มีการดำเนินการในวัดมีความหลากหลาย ได้แก่ การทำบุญ ทำทาน ในรูปแบบต่าง ๆ  การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา งานศพ งานบวช งานแต่งงาน งานวันเกิด ฯลฯ การเช่าหาวัตถุมงคล  การจัดงานนันทนาการในรูปแบบต่าง ๆ (งานวัด) เป็นต้น นอกจากนั้นแล้ว พุทธศาสนิกชนชาวไทยมีบทบาทในการเข้าไปร่วมในการพัฒนา อุปถัมภ์ และบำรุงรักษาวัดในรูปแบบต่าง ๆ

      แต่ที่นิยมทำกันอย่างมาก โดยเฉพาะในยุคที่ความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจได้ทำให้วิถีชีวิตของคนมีความเร่งรีบมากขึ้น คือ การบริจาค ซึ่งมักจะเป็นการบริจาคในรูปของเงินเป็นหลัก โดยพุทธศาสนิกชนทั้งหลายถือการบริจาคทรัพย์เป็นการทำบุญและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา



       วัดเป็นองค์การไม่แสวงหากำไร ซึ่งในที่นี้จะหมายถึง สถาบันไม่แสวงหากำไรให้บริการครัวเรือน (Non-Profit Institution Serving Households: NPISHs) หมายถึง “องค์กรที่ดำเนินงานโดยไม่หวังผลกำไร โดยผลิตสินค้าและบริการให้กับประชาชนหรือสังคมโดยไม่คิดราคาหรือแบบให้เปล่า หรือจำหน่ายในราคาที่ไม่คุ้มทุนหรือในราคาที่ไม่มีนัยสำคัญทางเศรษฐกิจ” ตามฐานข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2549 องค์กรไม่แสวงหากำไรในประเทศไทย มีจำนวนทั้งสิ้น 65,457 แห่ง จำแนกออกเป็น 7 ประเภท คือ
         (1) บริการสังคมสงเคราะห์ 
         (2) สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์
         (3) สมาคมการค้า หอการค้า
         (4) สมาคมนายจ้าง สหภาพแรงงาน
         (5) องค์การศาสนา (6) พรรคการเมือง และ
         (7) องค์การเอกชนต่างประเทศ

      ซึ่งสัดส่วนขององค์การศาสนาสูงสุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 63.2 ของจำนวนองค์กรไม่แสวงหากำไรทั้งหมด ซึ่งวัดเป็นองค์การศาสนา มีฐานะเป็นนิติบุคคล ปัจจุบันมีวัดที่มีพระภิกษุสงฆ์รวมทั้งสิ้น จำนวน 37,075 วัด (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2553)



      ข้อมูลจากการจัดทำบัญชีองค์กรไม่แสวงหากำไรของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2553) พบว่า
      รายรับขององค์กรไม่แสวงหากำไรรวมทั้งหมดในปี 2551 มีจำนวนประมาณ 306,363 ล้านบาท และมีการรายจ่ายประมาณ 234,790 ล้านบาท
       การผลิตโดยรวมขององค์กรไม่แสวงหากำไร คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.8 ของ GDP อาจดูไม่มากนัก เปรียบเทียบกับองค์กรไม่แสวงหากำไรของประเทศอื่น ๆ อีก 11 ประเทศ ในช่วง 2540-2551 พบว่าเฉลี่ยอยู่ระหว่าง ร้อยละ 0.9-6.6

      ปัจจัยส่วนหนึ่งที่การสะท้อนมูลค่าทางเศรษฐกิจขององค์การไม่แสวงหากำไรในประเทศไทย ทำได้ไม่ดีนัก อาจเป็นเพราะส่วนใหญ่เป็นกลุ่มองค์กรที่ดำเนินงานอยู่ในประเภทกิจกรรมขององค์กรสมาชิก ซึ่งประกอบด้วยองค์กรหลัก คือ องค์กรด้านศาสนา ซึ่งยังไม่มีจัดเก็บข้อมูลทางการเงินอย่างเป็นระบบนัก
       รวมถึงยังอาจขาดการบริหารจัดการทางด้านการเงินที่สอดคล้องกับแนวทางในการบริหารที่เป็นสากล ทำให้การรายงานข้อมูลการดำเนินงานยังขาดประสิทธิภาพและไม่ครบถ้วน

       การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ 4 ประการ คือ
      (1) ศึกษารูปแบบและวิธีการปัจจุบันของการบริหารการเงินของวัดไทย
      (2) วิเคราะห์จุดอ่อนและจุดแข็ง ปัญหาและอุปสรรคของรูปแบบการบริหารการเงินของวัดไทยที่เป็นอยู่
      (3) ศึกษารูปแบบการบริหารการเงินของวัดไทยตามหลักการบริหารการเงินที่พึงปฏิบัติตามหลักสากล และ
      (4) เสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อการกำกับดูแลการบริหารการเงินของวัด เพื่อความโปร่งใสตรวจสอบได้

      โดยมีขอบเขตการวิจัย เพื่อศึกษารูปแบบในการบริหารการเงินของวัดในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่  การศึกษาโครงสร้างการบริหารการเงินขององค์กร การจัดทำรายงานทางการเงินตามมาตรฐานบัญชีที่ยอมรับกันโดยทั่วไป การตรวจสอบรายงานทางการเงินจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาต การวางแผนการลงทุน การจัดการแหล่งรายได้ การบริหารจัดการรายจ่าย และการกำกับดูแลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง



      กรอบแนวคิดในการวิจัยพัฒนาจากทฤษฎีและแนวคิดว่า วัดเป็นองค์กรมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย และมีลักษณะเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรประเภทให้บริการแก่ชุมชน และเป็นองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน รวมถึงแหล่งที่มาของเงินหลักแหล่งหนึ่งมาจากเงินบริจาค การบริหารจัดการเงินของวัดด้วยความโปร่งใสจึงเป็นที่จำเป็น
      การวางกรอบการบริหารการเงินให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการดำเนินการวัด จะช่วยให้การกำกับดูแลวัดมีกรอบแนวทางที่ชัดเจน ซึ่งการใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการเพื่อการบริหารจัดการที่ดีเป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจและหน้าที่ในการบริหารวัดควรยึดถือเพื่อให้การดำเนินการของวัดสะท้อนความสามารถในการตรวจสอบ และสร้างความเชื่อมั่นของวัดจากสาธารณะชนนำไปสู่ความยั่งยืนในการพัฒนาของวัดและพุทธศาสนาในระยะยาวได้

      วิธีการศึกษาสำหรับการตอบคำถามการวิจัยตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยที่กล่าวข้างต้น ประกอบด้วย
      (1) การศึกษาทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมแนวทางปฏิบัติในการบริหารการเงินของวัด ตามที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้ ทั้งในรูปของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศต่าง ๆ
      (2) การวิเคราะห์ความสอดคล้องของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ที่เกี่ยวข้องกับหลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการการเงินของวัด  เพื่อวางกรอบแนวทางในการพัฒนาให้การบริหารการเงินของวัดมีความโปร่งใส และตรวจสอบได้
      (3) การเก็บข้อมูลจากผู้ที่หน้าที่ปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับทางด้านการเงินภายในวัด ได้แก่ เจ้าอาวาส กรรมการวัด และไวยาวัจกรของวัดในประเทศไทย จำนวน 490 วัด วัดไม่น้อยกว่า 2 คน รวมเป็นจำนวนแบบสอบถามที่จัดเก็บได้ทั้งสิ้น 1,360 ชุด กระจายตัวอยู่ในภูมิภาค 5 ภาคทั่วประเทศ
      (4) การสัมภาษณ์ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด 14 จังหวัด
      (5) การสัมภาษณ์และเยี่ยมวัดที่มีรูปแบบการบริหารจัดการทางการเงินที่ดีรูปแบบต่าง ๆ และ
      (6) การสนทนากลุ่มเฉพาะและการจัดการสัมมนาจากผู้ที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลและมีบทบาทในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา



       ผลการศึกษาสรุป ได้ดังนี้
       1. วัดโดยส่วนมากยังไม่มีโครงสร้างในการบริหารการเงินของวัดไว้อย่างเป็นระบบ
       2. การจัดทำรายงานทางการเงินตามมาตรฐานบัญชีของวัดยังไม่มีหลักฐานเด่นชัดว่า วัดมีการดำเนินการได้อย่างถูกต้อง โดยแม้ว่าวัดจะมีการบันทึกรายรับ-รายจ่าย และจัดทำบัญชีเป็นประจำ แต่อาจเป็นบัญชีที่จัดทำขึ้นอย่างง่ายหรือตามความเข้าใจของผู้จัดทำเท่านั้น ยังไม่สอดคล้องกับหลักมาตรฐานบัญชีทีรับรองกันโดยทั่วไป รวมถึงยังไม่มีการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาตด้วย
       3. การเผยแพร่ให้สาธารณะรับทราบข้อมูลทางการเงินของวัดยังอยู่ในวงจำกัด และยังขาดการรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบโดยหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแลการบริหารการเงินของวัดอย่างเป็นระบบ
       4. วัดยังไม่กระบวนการตัดสินใจการลงทุนเพื่อใช้ประโยชน์จากศาสนสมบัติของวัดที่มีการจัดทำเขตจัดประโยชน์อย่างเป็นระบบ
       5. ภาพรวมอาจกล่าวได้ว่า มีเงินหมุนเวียนในรูปของรายได้และรายจ่ายของระบบวัดอยู่ประมาณ 100,000-120,000 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่การจัดทำบัญชีและตรวจสอบยังไม่มีระบบที่ชัดเจนนัก
       6. การบริหารจัดการทางด้านการเงินของวัดควรยึดหลักธรรมาภิบาลหรือการบริหารกิจการที่ดี ในการบริหารจัดการ
       7. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติยังขาดบทบาทในการกำหนดกรอบในการกำกับดูแลให้การบริหารจัดการทางการเงินของวัดสอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล
       8. องค์ประกอบสำคัญของหลักธรรมาภิบาลที่สอดคล้องกับการดำเนินกิจการของวัด ได้แก่ ความรับผิดรับชอบ การมีส่วนร่วม ความโปร่งใส หลักนิติธรรม และหลักคุณธรรม ในขณะที่ องค์ประกอบอย่างหลักความเสมอภาค หลักสนองตอบรับ และ หลักความคุ้มค่า อาจจะมีน้ำหนักไม่มากนักกับการบริหารจัดการของวัด
       9. การศึกษาความสอดคล้องของกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับที่มีอยู่ พบว่า ยังมีกรอบในการกำกับดูแลที่ขาดแนวทางในการปฏิบัติเพื่อให้ผู้บริหารวัดสามารถที่จะดำเนินการได้สอดคล้องตามหลักธรรมาภิบาล รวมถึงปัญหาอุปสรรคสำคัญของการบริหารจัดการทางด้านการเงินให้สอดคล้องตามหลักธรรมาภิบาล คือ การขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ดี และหลักการบริหารการเงินของผู้มีอำนาจหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการภายในวัด



       การศึกษานี้มีข้อเสนอแนะ เพื่อการพัฒนาแนวทางในการบริหารจัดการทางด้านการเงินของวัด ให้มีความสอดคล้องตามหลักธรรมาภิบาล ในฐานะวัดเป็นนิติบุคคลที่เป็นองค์การไม่แสวงหากำไร ดังนี้

       1. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ควรกำหนดให้วัดได้มีการจัดทำรายงานทางการเงินเป็นประจำทุกปี และนำส่งให้สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเป็นผู้รวบรวม และกำหนดให้มีการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ
       2. สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติควรดำเนินการให้มีการออกกฎข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดการได้มา องค์ประกอบ และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการวัดให้ชัดเจนและสะท้อนการมีส่วนร่วม และสามารถยึดหลักธรรมาภิบาลและการบริหารกิจการที่ดีในการบริหารจัดการวัดได้
       3. สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรเร่งช่วยกันพัฒนาบุคลากรที่จะมีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการทางด้านการเงินให้แก่วัด ให้มีระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 
        การจัดอบรมไวยาวัจกร และกรรมการวัดอย่างสม่ำเสมอ และเพิ่มแรงจูงใจและมาตรการเพื่อกระตุ้นให้บุคลากรเหล่านั้นได้เข้ารับการอบรม เช่น การให้โล่ เกียรติบัตร หรือกำหนดมาตรการคุณสมบัติของผู้ที่จะทำหน้าที่ดังกล่าวให้สามารถที่จะสนองตอบความต้องการในการพัฒนาการบริหารจัดการวัดให้มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาลได้
       4. ประชาชน และชุมชนในฐานะพุทธศาสนิกชนควรต้องมีบทบาทในการเข้าไปมีส่วนร่วมกับการบริหารจัดการวัดมากขึ้น การกระตุ้นให้มีจิตอาสาทำงานเพื่อชุมชนและสังคมต้องมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม เป็นต้น


ที่มา http://rc.nida.ac.th/th/research/37--2555/144-2012-10-02-02-10-17
ขอบคุณภาพจาก http://i278.photobucket.com/, http://www.dhammajak.net/ , http://www.bloggang.com/ , http://www.kibostore.com/ , http://www.yuwasong.com/ , http://www.dailynews.co.th/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 30, 2013, 07:57:10 am โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ