ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ไตรภูมิพระร่วง การเวียนว่ายตายเกิด ตามคติทางพุทธศาสนา  (อ่าน 9040 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28436
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


เตภูมิกถา รตนตยปณามคาถา

คาถานมัสการ - บานแพนก

๑. วนฺทิตฺวา สิรสา พุทธํ    สหสฺสธมฺม(๑) คณุตฺตมํ
    อิทํ ติภูมิสง.เขปํ(๒)    ปวกฺขามิ กถํ อิธ ฯ

๒. สุจิรภชิตุกามํ    สชฺชนาลิยสโมหํ
    มธุรสมตทานํ    ปารมีปารุฬฺหถา
    คุณยํ สรคนฺธํ    กณฺณิกาฉกวณฺณํ
    ชณจรณสโรชํ    ปีติปาโมชฺเฌภิวนฺเท ฯ

๓. วิกสิตวิทิตานํ    สชฺชราโธรุณฺณนํ
    สชฺชนหทยสา เม    สาวนาคาเม กุสลยุเทนฺตํ
    อกุสลติมรนฺธํ    ธสนํ ปาภูตํ
    มุณิวรมวลตฺถํ    ธมฺมทิปภิวนฺเทมิ ฯ

๔ สชนมนสโรชํ    พุทธิวารีสชผลํ
   อุภริยภชิตตฺต-    ธมฺมสการสํกติ(๓)
   วิมลธวสลิลํ(๔)    รสิปญฺญายุเปต
   สีลาธรํ วรสํฆํ(๕)    อุตมตฺเตภิวนฺเท ฯ

๕–๙. ชิโนรุณา วิภาเวนฺโต    เหมปาสาทปญฺญวา(๖)
   สทฺธาจลผลา พุทฺธํ    พาหุสจฺจธนาลโย
   กูปภูปนฺธยนฺโต โย    ราชา สุนุรนฺธชโก
   สุโขเทยฺยนรินฺทสฺส    ลิเทยฺโย นาม อตฺรโช
   อภิราโม มหาปญฺโญ    ธิติมา จ วิสารโท
   ทานสิลคุณุเปโต    มาตาปิตุภโรปิ จ
   ธมฺมธโร สกุสโล    สพฺพสตฺเถ จ สุปากโฏ
   อยํ ภูมิกถา นาม    รญฺญา เภเทน จ
   สชนาลยฺยธรมฺหิ    ถปิตา ทยภาสฺโต
   พุชฺฌิตุสาสนญฺเจว    สกฺกจฺจํ สพฺพโส สทา ฯ

____________________________________________________________________
[๑] ตรวจสอบชำระใหม่ตามต้นฉบับมหาช่วยและมหาจันทร์ ในการพิมพ์ครั้งแรก เป็น สสทฺธมมคณุตฺตมํ
[๒] ต้นฉบับของมหาช่วยและมหาจันทร์ เป็น ติสงฺเขปํ คำว่า ภูมิ เพิ่มเข้ามาเพื่อให้ถูกต้องหลักปัฐยาวัตรฉันท์ โดยข้อกำหนดที่ว่า “บาทหนึ่งมี ๘ คำ”
[๓] ตรวจชำระใหม่ตามต้นฉบับของมหาช่วยและมหาจันทร์ ในการพิมพ์ครั้งแรก เป็น อุทิรินํ ภชิตนฺตํ ธมฺมาลงฺการกตํ
[๔] ตรวจชำระใหม่ตามต้นฉบับของมหาช่วยและมหาจันทร์ ในการพิมพ์ครั้งแรก เป็น วิมลธุวลสีสํ
[๕] ต้นฉบับของมหาช่วยและมหาจันทร์ เป็น สลธรวรสยํ การพิมพ์ครั้งนี้ได้คงไว้ตามเนื้อหาพลความ
[๖] ต้นฉบับของมหาช่วยและมหาจันทร์ เป็น ชโนรณา วิณารวิภาเวนฺโต เหอปาสาปญฺญวา การพิมพ์ครั้งนี้ได้คงไว้ตามเนื้อหาพลความ


อ้างอิง :-
ไตรภูมิกถาฉบับถอดความ โดยคณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน
vajirayana.org/ไตรภูมิกถาฉบับถอดความ/เตภูมิกถา-รตนตยปณามคาถา


ขอบคุณภาพจาก https://www.gotoknow.org/posts/453701


คำแปล : คาถานมัสการพระรัตนตรัย[๑]

๑. ข้าพเจ้า(พญาลิไทย) ขอกราบนมัสการพระพุทธเจ้า พร้อมพระสหัสธรรม[๒] และพระสงฆ์ผู้มีคุณอันอุดมด้วยเศียรเกล้า ณ ที่นี้แล้ว จักกล่าวไตรภูมิกถาโดยสังเขปนี้ เป็นลำดับไป

๒. ข้าพเจ้าขออภิวาทพระพุทธเจ้า ผู้ทรงประสงค์จำแนก(พระสัทธรรม) ให้มั่นคง ให้เป็นศูนย์กลาง(พุทธศาสนา) แห่งนครศรีสัชนาลัย ประทานอมฤตธรรมอันไพเราะ ทรงเต็มเปี่ยมด้วยพระบารมี มีพระฉัพพรรณรังสีแผ่ซ่านออกดุจช่อฟ้า ทรงพระเกียรติคุณ กลิ่นหอมขจรขจายไปทั่วสารทิศ ประดุจดอกบัวคือจรณะที่ผุดขึ้นเหนือน้ำให้เกิดความปีติและปราโมทย์

๓. ข้าพเจ้าขอนมัสการดวงประทีปคือ พระธรรมที่พระมุนีเจ้าผู้ประเสริฐทรงตรัสแสดงไว้แล้ว อันกำจัดกิเลสคือความมืดมนแห่งอกุศลให้หมดปรากฏได้ ทำให้เกิดกุศลศวามดี เป็นที่ปลูกฝังศรัทธาความเลื่อมใสแก่ ชาวศรีสัชนาลัยที่มีใจแจ่มใสเบิกบานในสถานที่สดับพระสัทธรรมเทศนานั้น

๔. ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระสงฆ์เจ้าผู้ทรงศีลอันประเสริฐ ผู้เต็มเปี่ยมด้วยปัญญาดุจแสงสว่าง มีความบริสุทธิ์ดุจน้ำที่สะอาดปราศจากมลทิน ผู้เป็นผลคือทายาทแห่งพระพุทธศาสนา มีดวงใจดุจดังดอกบัวที่เบิกบาน ผู้ปฏิบัติด้วยดีเคารพสักการะในพระสัทธรรม คำสอนที่จำแนกเป็น ๒ อย่าง(คือพระธรรมและพระวินัย) ด้วยความเคารพยิ่ง

๕-๙. พระราชาทรงพระนามว่า “พญาลิไทย” เป็นพระราชากล้าหาญ มีพระปรีชาแตกฉาน เป็นพระโอรสพระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย(พญาเลอไทย) มีปัญญาผ่องใสไม่ติดขัด มีเรือนทรัพย์คือพาหุสัจจะ(ความเป็นพหูสูต) ทรงประกาศพระพุทธศาสนาด้วยศรัทธาไม่หวั่นไหว อันปราศจากความมืดมน

       เป็นพระราชาผู้เป็นนักปราชญ์ มีความรื่นรมย์ มีพระสติปัญญามั่นคง และองอาจยิ่ง
       เป็นพระราชาผู้ทรงธรรม(ทศพิธราชธรรม) บำเพ็ญทานและศีลเป็นคุณูปการ อุปถัมภ์เลี้ยงดูบุพการีคือมารดาและบิดา มีพระปรีชาสามารถปรากฏในสรรพศาสตร์ทั้งปวง พระองค์ผู้ทรงแตกฉาน
       มีพระประสงค์จะยกย่องเชิดชู พระ(พุทธ)ศาสนา ด้วยความเคารพตลอดกาลทุกเมื่อ จึงทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ(ไตร)ภูมิกถานี้ขึ้นไว้เป็นภาษาไทย ณ เมืองศรีสัชนาลัย

_________
____________________________________________________________
[๑] นายบุญเลิศ เลนานนท์ นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ เป็นผู้แปลไว้ครั้งแรกและเป็นผู้ตรวจชำระคำแปลใหม่ในการพิมพ์ครั้งนี้
[๒] ย่อมาจากคาว่า จตุราสีติลหสฺสธมฺมํ ซึ่งแปลว่า แปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ หรืออีกนัยหนึ่งหากแปลตามศัพท์คงไว้ไม่รวมพลความ ซึ่งหมายถึง พระธรรมแผ่ไพศาลไปทั่วสารทิศ เช่นเดียวกับคำว่า สหสฺสนโย ซึ่งแปลว่า ท้าวสหัสนัยน์ หมายถึง ท้าวสักกเทวราชมีพระเนตรแลดูได้ทุกทิศ


อ้างอิง :-
ไตรภูมิกถาฉบับถอดความ โดยคณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน
vajirayana.org/ไตรภูมิกถาฉบับถอดความ/คำแปล 


ยังมีต่อ โปรดติดตาม...
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 14, 2018, 11:01:29 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

นิรตา ป้อมนาวิน

  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรผล
  • *****
  • ผลบุญ: +20/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 1212
  • อย่างน้อยชาตินี้ขอปิดอบายภูมิ
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
บันทึกการเข้า
เว ทา สา กุ กุ สา ทา เว ทา ยะ สา ตะ ตะ สา ยะ ทา สา สา ทิ กุ กุ ทิ สา สา กุ ตะ กุ ภู ภู กุ ตะ กุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28436
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
 



พระราชประวัติพญาลิไทย


พญาลิไทย พระผู้ทรงนิพนธ์เรื่องไตรภูมิกถา เป็นพระราชโอรสของพญาเลลิไทย เป็นพระราชนัดดาของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พญาลิไทยเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ ๕ แห่งราชวงศ์พระร่วง ทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๑๘๙๐ - ๑๙๑๙ มีพระนามว่าเต็มว่า พระเจ้าศรีสุริยพงศรามมหาธรรมราชาธิราช เรียกกันเป็นสามัญว่า พระมหาธรรมราชาที่ ๑

พญาลิไทยทรงมีความสามารถอย่างยิ่งในการปกครองบ้านเมือง ความสามารถด้านนี้ของพระองค์ปรากฏตั้งแต่ก่อนเสวยราชย์ กล่าวคือ พระองค์ทรงได้รับสถาปนาจากพญาเลลิไทย พระราชบิดาให้ทรงดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชครองเมืองศรีสัชนาลัย ทรงพระนามว่า พญาฦๅไทยราช เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๑๘๘๒ เมื่อพระองค์ได้เสวยราชย์แล้ว ได้โปรดให้มีการทะนุบำรุงกรุงสุโขทัยนานาประการ โปรดให้สร้างปราสาทราชมนเทียรก่ออิฐถือปูนอย่างมั่นคงและงดงามมาก

ได้โปรดให้ขุดคลองและสร้างถนนตั้งแต่เมืองสุโขทัยจนถึงเมืองศรีสัชนาลัยและเมืองใหญ่น้อย เพื่อเป็นการพระราชกุศลสนองพระคุณพระราชบิดา ถนนนี้ปัจจุบันเรียกว่า “ถนนพระร่วง” มีปรากฏตั้งแต่เมืองกำแพงเพชรถึงเมืองสุโขทัยตลอดจนถึงเมืองสวรรคโลก พญาลิไทยทรงพระปรีชาสามารถในการปกครองบ้านเมืองอย่างยิ่ง โดยอาศัยธรรมานุภาพ ทรงปกครองไพร่ฟ้าประชาราษฎรให้มีความร่มเย็นเป็นสุข กรุงสุโขทัยจึงไม่มีข้าศึกศัตรูมาเบียดเบียน และไม่มีทาสในเมืองสุโขทัย


@@@@@@

พระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งของพญาลิไทยคือ การอุปถัมภ์การศึกษาพระพุทธศาสนาและศิลปศาสตร์ต่าง ๆ โดยทรงดำเนินการให้พระสงฆ์ได้เล่าเรียนพระธรรมวินัย ศึกษาพระไตรปิฎก และให้พวกพราหมณ์ได้เล่าเรียนศิลปศาสตร์ต่าง ๆ ในบริเวณพระมหาปราสาท อาจนับได้ว่า เป็นการตั้งโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรมและศิลปศาสตร์ขึ้น เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของชาติไทย เมื่อปีระกา พ.ศ. ๑๙๐๐ ได้ทรงส่งราชบุรุษไปรับพระบรมธาตุมาจากประเทศลังกา แล้วโปรดให้บรรจุพระบรมธาตุไว้ในพระมหาธาตุหรือมหาเจดีย์ที่สร้างขึ้นที่เมืองนครชุม ปัจจุบันเป็นเมืองเก่าอยู่หลังเมืองกำแพงเพชร

และเมื่อปีฉลู พ.ศ. ๑๙๐๔ ได้ทรงส่งราชบัณฑิตไปอาราธนาพระมหาสวามีสังฆราชจากประเทศลังกามาอยู่ที่วัดป่ามะม่วง หรือวัดอัมพวนาราม พระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่งที่แสดงให้เห็นว่าพญาลิไทยทรงเป็นองค์ศาสนูปถัมภกที่แท้จริง ได้แก่การที่ได้ทรงผนวชเป็นสามเณรและอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระบวรพุทธศาสนา ณ วัดป่ามะม่วง โดยมีพระมหาสวามีสังฆราชเป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๕ นับเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ



พญาลิไทยทรงได้รับการยกย่องทั่วไปว่า เป็นกษัตริย์นักปราชญ์ ได้โปรดให้สร้างศิลาจารึกไว้หลายหลัก ทั้งภาษาไทย ภาษามคธ และภาษาขอม ได้แก่จารึกสุโขทัยหลักที่ ๒ ถึงหลักที่ ๑๐ ศิลาจารึกเหล่านี้เป็นหลักฐานสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งทางประวัติศาสตร์ของชาติไทย พญาลิไทยทรงเชี่ยวชาญวิชาโหราศาสตร์ จนอาจจะถอน ยก และลบปีเดือนได้ถูกต้องแม่นยำ ทรงรอบรู้วิชาดาราศาสตร์ อาจคำนวณการโคจรของดวงดาว กำหนดจันทรคราสและสุริยคราสได้ถูกต้อง นอกจากนั้นยังทรงเชี่ยวชาญในไสยคาสตร์ ทรงบัญญัติคัมภีร์ศาสตราคมเป็นปฐมธรรมเนียมสืบต่อมา

พระปรีชาสามารถสำคัญที่สุดของพญาลิไทยที่ทำให้ทรงได้รับยกย่องอย่างสูงว่าเป็นนักปราชญ์ ได้แก่ความรอบรู้เชี่ยวชาญในพระพุทธศาสนา มีพระปรีชาแตกฉานในพระไตรปิฎก อรรถกถาฎีกา อนุฎีกา และปกรณ์พิเศษต่าง ๆ ทรงอุตสาหะศึกษาจากพระสงฆ์ผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกในยุคนั้น เช่น พระมหาเถระมุนีวงศ์ พระอโนมทัสสีเถระเจ้า พระมหาเถรธรรมปาลเจ้า พระมหาเถรสิทธัตเจ้า พระมหาเถรพุทธพงศ์เจ้า พระมหาเถรปัญญานันทเจ้า และพระมหาเถระพุทธโฆษาจารย์แห่งเมืองหริภุญไชย

นอกจากนี้ยังได้ทรงศึกษาในสำนัก ราชบัณฑิต อุปเสนราชบัณฑิต และอทรายราชบัณฑิตอีกด้วย ด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญในพระพุทธศาสนา ประกอบกับมีพระราชประสงค์จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้แผ่ไพศาล และส่งเสริมให้อาณาประชาราษฎร์ใส่ใจในการศึกษาเล่าเรียนพระพุทธศาสนา เพื่อให้เกิดความมั่นคงและสงบสุข พญาลิไทยจึงได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องไตรภูมิกถา หรือไตรภูมิพระร่วง อับนับเป็นวรรณคดีเล่มแรกของไทยขึ้น

@@@@@@

พญาลิไทยทรงพระราชนิพนธ์เรื่องไตรภูมิกถา ในปีระกา พ.ศ. ๑๘๘๘ เป็นปีที่ ๖ หลังจากได้ทรงดำรงพระยศเป็นพระมหาอุปราชครองเมืองศรีสัชนาลัย ดังความปรากฏในบานแผนกและตอนท้ายของหนังสือเรื่องนี้ว่า

“แลเจ้าพญาลิไทยได้เสวยราชสมบัติในเมืองสุโขทัยอยู่ได้ ๖ เข้า จึงได้สร้างไตรภูมิกถานี้ เมื่อได้กินเมืองศรีสัชนาลัยอยู่ได้ ๖ เข้าจึงใส่”

พญาลิไทย หรือพระมหาธรรมราชาที่ ๑ ทรงเป็นกษัตริย์นักปราชญ์นักปกครองที่ทรงพระปรีชาสามารถมากพระองค์หนึ่ง ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจและพระราชจริยาวัตรเป็นประโยชน์ไพศาลทั้งฝ่ายอาณาจักรและพุทธจักรดังกล่าวมาแล้ว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสรุปลักษณะปกครองของกษัตริย์องค์นี้ไว้อย่างน่าสนใจยิ่งว่า

“ว่าโดยย่อ ควรเข้าใจได้ว่าพระเจ้าขุนรามคำแหงทรงบำเพ็ญจักรววรดิวัตรแผ่พระราชอาณาจักรและพระราชอำนาจ ด้วยการรบพุ่งปราบปรามราชศัตรูฉันใด พระมหาธรรมราชาลิไทยก็ทรงบำเพ็ญในทางที่จะเป็นธรรมราชา คือ ปกครองพระราชอาณาจักรหมายด้วยธรรมานุภาพเป็นสำคัญฉันนั้น”

       มณีปิ่น พรหมสุทธิรักษ์



อ้างอิง :-
ไตรภูมิกถาฉบับถอดความ โดยคณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน
vajirayana.org/ไตรภูมิกถาฉบับถอดความ/พระราชประวัติพญาลิไทย
ขอบคุณภาพจาก : http://s.isanook.com/ , https://thaihistoryblog.files.wordpress.com/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 15, 2018, 06:58:56 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28436
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


ที่มาของวรรณคดี เรื่องไตรภูมิพระร่วง

หนังสือไตรภูมิพระร่วงเป็นหนังสือสำคัญสมัยกรุงสุโขทัยที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน เป็นวรรณคดีทางศาสนาที่มีอิทธิพลต่อคนไทยมาก เดิมเรียกว่า "เตภูมิกถา หรือ ไตรภูมิกถา" มีความหมายว่า เรื่องราวของโลกทั้ง ๓ ได้แก่ โลกที่เรียกว่ากามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ ในการพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเปลี่ยนชื่อหนังสือเล่มนี้เป็น "ไตรภูมิพระร่วง" เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระร่วงเจ้าแห่งกรุงสุโขทัยให้คู่กับหนังสือสุภาษิตพระร่วง

@@@@@@

ผู้แต่ง

พระมหาธรรมราชาที่ ๑.(พระยาลิไท) ทรงเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าเลอไท และเป็นพระนัดดาของพระเจ้ารามคำแหงมหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ราชวงศ์พระร่วง ครองกรุงสุโขทัย เมื่อ พ.ศ.๑๘๙๐-พ.ศ.๑๙๑๒ ก่อนขึ้นครองราชย์สมบัติทรงดำรงตำแหน่งอุปราช ครองเมืองศรีสัชนาลัย ตั้งแต่ พ.ศ.๑๘๘๓-พ.ศ.๑๘๙๐

ใน พ.ศ.๑๘๙๐ เมื่อพระยางั่วนำถม พระมหากษัตริย์ครองราชย์สมบัติ ณ กรุงสุโขทัย ได้เสด็จสวรรคตได้เกิดการจลาจลชิงราชสมบัติกรุงสุโขทัยขึ้น พระมหาธรรมราชาที่ ๑.(พระยาลิไท) ทรงสามารถยกกองทัพมาปราบปรามศัตรูได้หมดสิ้น และเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ ๖ แห่งราชวงศ์พระร่วง เฉลิมพระนามว่า ศรีสุริยพงศ์รามมหาธรรมราชาธิราช


@@@@@@

จุดมุ่งหมายในการแต่ง

1. เพื่อเทศนาโปรดพระมารดา เป็นการเจริญธรรมความกตัญญู
2. ใช้สั่งสอนประชาชนให้มีคุณธรรมและช่วยกันดำรงพระพุทธศาสนาไว้ให้ยั่งยืน

ลักษณะการแต่ง

แต่งเป็นร้อยแก้ว ประกอบไปด้วยร้อยแก้วชนิดพรรณนาโวหาร บรรยายโวหาร และเทศนาโวหาร 

@@@@@@

เนื้อเรื่อง

กล่าวถึงเรื่องในไตรภูมิ คือ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ ซึ่งเป็นดินแดนที่สัตว์ทั้งหลายต้องเวียนว่ายตายเกิดในภูมิเหล่านี้

๑. กามภูมิ คือโลกของผู้ที่ยังติดอยู่ในกามกิเลสคือ รัก โลภ โกรธ หลง ซึ่งแบ่งออกเป็น ๒ ดินแดนและโลกย่อยๆ ๑๑ แห่งได้แก่
    ๑.๑ สุคติภูมิ หรือดินแดนฝ่ายดีหรือฝ่ายเจริญ ประกอบด้วยโลกย่อย ๗ แห่งได้แก่ มนุสสภูมิหรือโลกมนุษย์ ๑ แห่ง และสวรรค์ภูมิหรือฉกามาพจรภูมิซึ่งหมายถึงสวรรค์ ๖ ชั้น ได้แก่ จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต  นิมมานรดี และปรนิมมิตรสวัตตี
    ๑.๒ อบายภูมิ ๔(ทุคติภูมิ) หรือดินแดนฝ่ายไม่ดีหรือฝ่ายเสื่อม ประกอบด้วยโลกย่อยๆ ๔ แห่งได้แก่ นรกภูมิ ดิรัจฉานภูมิ เปรตภูมิ และอสุรกายภูมิ

๒. รูปภูมิ เป็นดินแดนของพรหมที่มีรูป มีทั้งสิ้น ๑๖ ชั้น พรหมทั้ง ๑๖ ชั้นนี้เรียกว่า โสฬสพรหม พรหม ๕ ชั้นสูงสุดนั้นคือ พรหมตั้งแต่ชั้นที่ ๑๒–๑๖ เป็นพรหมชั้นพิเศษที่เรียกว่า พรหมชั้นปัญจสุทธาวาส เป็นที่เกิดของพระอนาคามี คือผู้ที่จะไม่มาสู่กามภูมิอีก ได้แก่ อวิหาภูมิ อตัปปาภูมิ สุทัสสาภูมิ สุทัสสีภูมิ และอกนิฏฐาภูมิ

๓. อรูปภูมิ เป็นดินแดนของพรหมไม่มีรูป มีแต่จิตหรือวิญญาณ แบ่งออกเป็น ๔ ชั้น คือ อากาสานัญจายตนะ วิญญานัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ และเนวสัญญานาสัญญายตนะ

นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงภูมิต่างๆ ที่มีอยู่ในไตรภูมิว่าใครที่ทำความดีหรือความชั่วเช่นไร ก็จะได้ไปจุติ ณ ดินแดนนั้น




คุณค่าของวรรณคดี เรื่องไตรภูมิพระร่วง

๑. คุณค่าทางภาษา
เป็นวรรณคดีเล่มแรกที่เรียบเรียงในลักษณะการค้นคว้าจากคัมภีร์ต่างๆ ถึง ๓๐ คัมภีร์ จึงมีศัพท์ทางศาสนาและภาษาไทยโบราณอยู่มาก สามารถนำมาศึกษาการใช้ภาษาในสมัยกรุงสุโขทัย ตลอดจนสำนวนโวหารต่าง ๆ ไตรภูมิพระร่วงมีสำนวนหนักไปในทางเทศนาโวหารและพรรณนาโวหาร ผูกประโยคยาว และใช้ถ้อยคำพรรณนาดีเด่น สละสลวยไพเราะ ก่อให้เกิดความรู้สึกด้านอารมณ์สะเทือนใจและให้จินตภาพหรือภาพในใจอย่างเด่นชัด  เช่น การพรรณนาความงามของหญิงในอุตรกุรุทวีป

    “...แลมีฝูงผู้หญิงอันอยู่ในแผ่นดินนั้นงามทุกคน รูปทรงเขานั้นบมิต่ำบมิสูงบมิพีบมิผอมบมิขาวบมิดำ สีสมบูรณ์งามดังทองอันสุกเหลืองเรืองเป็นที่พึงใจฝูงชายทุกคนแลฯ นิ้วตีนนิ้วมือเขานั้นกลมงามนะแน่ง เล็บตีนเล็บมือเขานั้นแดงงามดังน้ำครั่งอันท่านแต่งแล้วแลแต้มไว้
    แลสองแก้มเขานั้นไสงามเป็นนวลดังแกล้งเอาแป้งผัด หน้าเขานั้นหมดเกลี้ยงปราศจากมลทินหาผ้าหาไผบมิได้ แลเห็นดวงหน้าเขาใสดุจดวงพระจันทร์อันเพ็งบูรณ์นั้น
    เขานั้นมีตาอันดำดังตาแห่งลูกทรายพึ่งออกได้ ๓ วันที่บูรณ์ขาวก็ขาวงามดังสังข์อันท่านพึ่งฝนใหม่แลมีฝีปากนั้นแดงดังลูกฝักข้าวอันสุกนั้น แลมีลำแข้งลำขานั้นงามดังลำกล้วยทองฝาแฝดนั้นแล แลมีท้องเขานั้นงามราบเพียงลำตัวเขานั้นอ้อนแอ้นเกลี้ยงกลมงาม แลเส้นขนนั้นละเอียดอ่อนนัก ๘ เส้นผมเขาจึงเท่าผมเรานี้เส้นหนึ่ง
    แลผมเขานั้นดำงามดังปีกแมลงภู่เมื่อประลงมาเถิงริมบ่าเบื้องต่ำ แลมีปลายผมเขานั้นงอนเบื้องบนทุกเส้น แลเมื่อเขานั่งอยู่ก็ดี ยืนอยู่ก็ดี เดินไปก็ดี ดังจักแย้มหัวทุกเมื่อ แลขนคิ้วเขานั้นดำแลงามดังแกล้งก่อ เมื่อเขาเจรจาแลน้ำเสียงเขานั้นแจ่มใส่ปราศจากเสมหเขฬทั้งปวงแล...”


@@@@

๒. ด้านสังคมและวัฒนธรรม
    ๒.๑ คำสอนทางศาสนา ไตรภูมิพระร่วงสอนให้คนทำบุญละบาป เช่น การทำบุญรักษาศีล เจริญสมาธิภาวะนา จะได้ขึ้นสวรรค์การทำบาปจะตกนรก แนวความคิดนี้มีอิทธิพลเหนือจิตใจของคนไทยมาช้านาน เป็นเสมือนแนวการสอนศีลธรรมของสังคม ให้คนปฏิบัติชอบซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการอยู่ร่วมกันในสังคม
    ๒.๒ ค่านิยมเชิงสังคม อิทธิพลของหนังสือเล่มนี้ให้ค่านิยมเชิงสังคมต่อคนไทย ให้ตั้งมั่นและยึดมั่นในการเป็นคนใจบุญ มีเมตตากรุณา รักษาศีล บำเพ็ญทาน รู้จักเสียสละ เชื่อมั่นในผลแห่งกรรม
    ๒.๓ ศิลปกรรม จิตรกรนิยมนำเรื่องราวและความคิดในไตรภูมิพระร่วงไปเขียนภาพสีไว้ในโบสถ์วิหาร โดยจะเขียนภาพนรกไว้ที่ผนังด้านล่างหรือหลังองค์พระประธาน และเขียนภาพสวรรค์ไว้ที่ผนังเบื้องบนรอบโบสถ์วิหาร

@@@@

๓. ด้านความรู้ 
    ๓.๑ ด้านวรรณคดี ทำให้คนรุ่นหลังได้รับความรู้ทางวรรณคดี อันเป็นความคิดของคนโบราณ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของวรรณคดีไทย เช่น พระอินทร์ แท่นบัณพุกัมพล ช้างเอราวัณ เขาพระสุเมรุ ป่าหิมพานต์ ต้นปาริชาติ ต้นนารีผล นรก สวรรค์ เป็นต้น
    ๓.๒ ด้านภูมิศาสตร์ เป็นความรู้ทางภูมิศาสตร์ของคนโบราณ โดยเชื่อว่าโลกมีอยู่ ๔ ทวีป ได้แก่ ชมพูทวีป บุรพวิเทหทวีป อุตรกุรุทวีป และอมรโคยานทวีป โดยมีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง


 
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย ปานทอง แสงสุทธิ ใน ความรู้คือประทีป
ขอบคุณที่มา : https://www.gotoknow.org/posts/453701



ยังมีต่อ โปรดติดตาม....
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 15, 2018, 09:17:27 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28436
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


ask1 ans1 ask1 ans1

ไตรภูมิพระร่วง นำข้อมูลมาจากไหน.?

ไตรภูมิพระร่วงนี้ ทรงนิพนธ์เมื่อปีระกา ศักราช ๒๓ เดือน ๑๐ เพ็ญ ๑๕ ค่ำ วันพฤหัสบดี มฤคเศียรนักษัตร

พญาลิไทยซึ่งเป็นพระราชนัดดาของพญาเลลิไทย ผู้เสวยราชย์ทั้งกรุงศรีสัชนาลัยและกรุงสุโขทัย ผู้ซึ่งเป็นพระราชนัดดาในพระรามราชซึ่งเป็นสุริยพงษ์ เมื่อครองกรุงศรีสัชนาลัยได้ ๖ ปี จึงได้ทรงพระราชนิพนธ์ไตรภูมิกถา เหตุที่ทรงนิพนธ์ ก็เพื่อแสดงความหมายของพระอภิธรรม และแสดงธรรมเทศนาแก่พระราชมารดา และแก่คนทั้งปวงผู้มีความประสงค์จะฟัง

@@@@@@

ไตรภูมิกถานี้ ได้นิพนธ์และทรงเรียบเรียงจากคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ดังต่อไปนี้

     1. คัมภีร์อรรถกถาฎีกาพระจตุราคม
     2. คัมภีร์อรรถกถาฎีกาพระอภิธรรมาวตาร
     3. คัมภีร์อรรถกถาฎีกาพระอภิธัมมัตถสังคหะ
     4. คัมภีร์พระสุมังคลวิลาสินี
     5. คัมภีร์พระปปัญจสูทนี
     6. คัมภีร์พระสารัตถปกาสินี
     7. คัมภีร์พระมโนรถปูรณี
     8. คัมภีร์พระลีนัตถปกาสินี
     9. อรรถกถาฎีกาพระวินัยปิฎก
   10. พระธรรมมหารถกถา
   11. พระมธุรัตถปกาสินี
   12. พระชาตกัฏฐกถา
   13. พระชินาลังการ
   14. พระโพธิวงษ์
   15. พระสารสังคหะ
   16. พระอภิธัมมัตถสังคหะ
   17. พระอภิธรรมาวดาร
   18. พระมิลินท์
   19. พระธรรมหทยะ
   20. พระมหานิทาน
   21. พระพุทธวงษ์
   22. พระอนาคตวงษ์
   23. พระจริยาปิฎก
   24. พระธรรมบท
   25. พระโลกบัญญัติมหากัลป์
   26. พระอรุณวดีสูตร
   27. พระสมันตปาสาทิกา
   28. พระวิสุทธิมรรค
   29. พระลักขณทิธรรม
   30. พระอนุปติกา
   31. พระโลกุปปัตติ
   32. พระสารีริกวินิจฉัย

ทรงนำเนื้อความจากพระคัมภีร์ต่างๆเหล่านี้ มาผสมกัน จึงมีชื่อว่า ไตรภูมิกถา


@@@@@@

พญาลิไทยทรงได้รับการศึกษาจากสำนักต่างๆ ดังต่อไปนี้

    1. สำนักพระอโนมทัสสีมหาเถระ
    2. พระธรรมบาลมหาเถระ
    3. พระสิทธัตถมหาเถระ
    4. พระมณีวงษมหาเถระ
    5. พระปรัชญาณทัสสเถระ
    6. สำนักอุปเสนราชบัณทิต
    7. เรียนแต่ไกลด้วยสารพิสัย ในสำนักพระพุทธโฆษาจารย์ มหาเถระเมืองหริภุญชัย


@@@@@@

ผู้ปรารถนาทิพยสมบัติ หรือสำเร็จโมกขธรรมบรรลุนิพพานสมบัติ จงสดับฟังพระไตรภูมิกถานี้ แล้วทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาด้วยใจเลื่อมใสศรัทธา อย่าได้ประมาท จะได้พบ จะได้สักการบูชา และได้ฟังพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่าศรีอาริยเมตไตรย ซึ่งจะเสด็จอุบัติขึ้นในอนาคตกาล

        จบเล่าเรื่องในไตรภูมิกถาเพียงเท่านี้
          .........................................

พระมหาช่วยวัดกลางปากน้ำ เมืองสมุทรปราการ จารสำเร็จเมื่อเวลาบ่าย ๓ โมงเศษ วันอาทิตย์ เดือน ๔ ปีจอ พุทธศักราช ๒๓๒๑ รวมเวลาจาร ๙ เดือน ๒๖ วัน จึงเสร็จบริบูรณ์ ฯ


ที่มา : vajirayana.org/ไตรภูมิกถาฉบับถอดความ/อวสานพจน์


ยังมีต่อ โปรดติดตาม....
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28436
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

 ask1 ans1 ask1 ans1

บทที่ ๕ แดนมนุษย์

กำเนิด ๔ ประเภท

บรรดาสัตว์ที่เกิดในโลกมนุษย์นี้มีการเกิดด้วยกำเนิดทั้ง ๔ ประเภท กำเนิดในครรภ์มีมากกว่ากำเนิดประเภทอื่น การกำเนิด ๓ ประเภทมีปรากฏเป็นบางครั้งเท่านั้น การกำเนิดในครรภ์ของคนทั้งหลายมีดังนี้ หญิงสาวทั้งหลายที่ควรจะมีบุตร บริเวณใต้ท้องน้อยภายในที่จะมีผู้มาเกิดนั้นจะมีก้อนเลือดทารกก้อนหนึ่ง แดงอย่างลูกผักปลัง เมื่อหญิงนั้นถึงระดูรอบเดือน และมีระดูไหลออกจากท้องแล้ว

ต่อจากนั้นไปอีก ๗ วัน จึงนับได้ว่ามีครรภ์ ต่อจากนั้นระดูจะไม่ไหลอีกเลย หญิงยังไม่แก่ชรา อาจมีบุตรได้ทุกคน หญิงที่ไม่มีบุตรเป็นเพราะบาปกรรมของผู้มาเกิด ทำให้เกิดเป็นลมในครรภ์ ลมนั้นพัดถูกสัตว์ที่มาเกิดในครรภ์ทำให้แท้งตายไป บางครั้งมีตัวตืด พยาธิ ไส้เดือน ในครรภ์ ซึ่งกินสัตว์ผู้มาเกิด ทำให้หญิงนั้นไม่มีบุตร

สัตว์เกิดในครรภ์นั้น แรกทีเดียวมีขนาดเล็กมากเรียกว่า “กลละ” ซึ่งมีขนาดเหมือนนำผมของมนุษย์มาผ่าออกเป็น ๘ ซีก แต่ละซีกมีขนาดเท่ากับผมของมนุษย์ในอุตตรกุรุทวีป เมื่อนำเส้นผมของมนุษย์ชาวอุตตรกุรุทวีปเส้นหนึ่งมาชุบน้ำมันงาอันใสงามมาสลัด ๗ ครั้งแล้วถือไว้ น้ำมันที่ไหลย้อยลงปลายเส้นผมยังใหญ่กว่ากลละนั้น หรือเทียบเหมือนขนของเนื้อทรายชื่อ อุณาโลม ที่อยู่เชิงเขาหิมพานต์ เส้นขนของเนื้อทรายนั้นเล็กกว่าเส้นผมชาวอุตตรกุรุทวีป เมื่อนำขนทรายอุณาโลมเส้นหนึ่งชุบน้ำมันงาที่ใสสะอาดงาม สลัดทิ้ง ๗ ครั้งแล้วถือไว้ น้ำมันที่หยดลงที่ปลายขนทรายนั้นจึงจะมีขนาดเท่ากลละนั้น

กลละนั้นใสงามราวกับน้ำมันงาที่ตักใหม่ งามดังน้ำมันเปรียงใหม่ ต่อจากนั้นจึงมีธาตุลม ๕ อย่าง ก่อตัวขึ้นพร้อมกันอยู่ในกลละนั้น

@@@@@@

เมื่อแรกเกิดเป็นกลละนั้น มีรูป ๘ รูป ได้แก่ รูปดิน รูปน้ำ รูปไฟ รูปลม รูปกายประสาท รูปหญิงหรือชาย รูปหัวใจ และชีวิตรูป(คือสิ่งที่ทำให้มีธาตุยืนอยู่ได้) ในบรรดารูปทั้งหมดนี้ เกิดมีชีวิต ๓ รูปก่อน ๓ รูปนี้ คือ รูปใดบ้าง คือ
      - รูปกาย
      - รูปหญิงหรือชาย และ
      - รูปหัวใจ
รูปทั้งสามมีบริวารรูปละ ๙ องค์ ได้แก่รูปใดบ้าง ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา

ถ้าเป็นบริวารของรูปกาย เมื่อรวมกับรูปกายจะรวมเป็น ๙ ถ้าเป็นบริวารของรูปหญิงหรือชาย เมื่อรวมกับรูปหญิงหรือชายจะรวมเป็น ๙ และถ้าเป็นบริวารของรูปหัวใจเมื่อรวมกับรูปหัวใจจะรวมเป็น ๙ กลุ่มองค์ ๙ ทั้ง ๓ กลุ่มนี้ รวมกับชีวิตรูปจะได้กลุ่มรูป ๑๐ จำนวน ๓ กลุ่ม เกิดมีขึ้นพร้อมกันตั้งแต่แรกมีการเกิดในครรภ์

บรรดาสัตว์ที่เกิดในครรภ์มารดา แรกทีเดียวมีขนาดดังกล่าวแล้ว ตา หู จมูก ลิ้น รวม ๔ รูปนี้ จึงเกิดเป็นลำดับต่อมา รูปเหล่านี้เกิดจากกรรม ต้องปฏิสนธิจึงเกิด (ต่อจากนั้นเกิดรูปอาหาร ต้องมีอาหารที่แม่กินจึงเกิด เกิดหลังจากเกิดรูป ๒ กลุ่ม ดังกล่าวแล้ว)
    - เมื่อเกิดรูปใจซึ่งอาศัยจิตดวงที่ ๒ มาเกิด จะเกิดรูป ๘ รูป ชื่อ “กลุ่มรูปที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน”
    - เมื่อเกิดรูปซึ่งเกิดจากฤดู เป็นรูปซึ่งอาศัยการดำรงอยู่ จะเกิดรูป ๘ รูปขึ้น ชื่อ “กลุ่มรูปที่มีฤดูเป็นสมุฏฐาน”   
    - เมื่อเกิดรูปอาหารซึ่งอาศัยโอชารสที่มารดากินข้าวน้ำนั้น จะเกิดรูป ๘ รูป ชื่อ “กลุ่มรูปที่มีอาหารเป็นสมุฏฐาน” (สมุฏฐาน หมายถึง ที่เกิด)

@@@@@@

รูปที่จะเกิดเป็นชายก็ดี หญิงก็ดี เกิดตั้งแต่แรกเป็น กลละ แล้วโตขึ้นวันละเล็กละน้อย ครั้นถึง ๗ วัน เป็นดังน้ำล้างเนื้อเรียกว่า “อัมพุทะ”
    อัมพุทะโตขึ้นทุกวัน เมื่อถึง ๗ วัน ข้นดังตะกั่วเชื่อมอยู่ในหม้อเรียกว่า “เปสิ”
    เปสินั้นโตขึ้นทุกวัน เมื่อถึง ๗ วัน แข็งเป็นก้อนเหมือนไข่ไก่ เรียกว่า “ฆนะ”
    ฆนะนั้นโตขึ้นทุกวัน เมื่อถึง ๗ วัน เป็นตุ่มออกได้ ๕ แห่งเหมือนหูดเรียกว่า “ปัญจสาขา” หูดนั้นเป็นมือ ๒ ข้าง เป็นเท้า ๒ ข้าง เป็นศีรษะอันหนึ่ง ต่อจากนั้นไปโตขึ้นทุกวัน เมื่อถึง ๗ วัน เป็นฝ่ามือ เป็นนิ้วมือ
    ต่อจากนั้นไปเมื่อถึง ๗ วัน ครบ ๔๒ วัน จึงเป็นผม เป็นขน เป็นเล็บมือ เล็บเท้า ครบอวัยวะเป็นมนุษย์ทุกประการ

รูปของสัตว์เกิดในครรภ์มี ๑๘๔ รูป คือ ส่วนกลาง (ตั้งแต่คอถึงสะดือ) มี ๕๐ รูป รูปส่วนบน (ตั้งแต่คอถึงศีรษะ) มี ๘๔ รูป รูปส่วนเบื้องต่ำ (ตั้งแต่สะดือถึงฝ่าเท้า) มี ๕๐ รูป สัตว์เกิดในครรภ์นั่งอยู่กลางท้องมารดาหันหลังมาติดหนังท้องมารดา อาหารที่มารดารับประทานเข้าไปก่อน จะอยู่ใต้สัตว์เกิดในครรภ์ ส่วนอาหารที่มารดารับประทานเข้าไปใหม่ จะอยู่บนสัตว์เกิดในครรภ์


@@@@@@

สัตว์เกิดในครรภ์มีความลำบากอย่างยิ่ง น่าเกลียด น่าเบื่อหน่ายเหลือประมาณ ทั้งชื้นสกปรกมีกลิ่นเหม็น ตัวตืดและพยาธิไส้เดือน ๘๐ ตระกูลที่อาศัยปนกันอยู่ในท้องมารดา ถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะในท้องมารดานั้น ท้องมารดาของสัตว์ที่เกิดในครรภ์เป็นที่คลอดลูก เป็นที่เกิด เป็นที่แก่ เป็นที่ตาย เป็นป่าช้าของพยาธิเหล่านั้น เหล่าตัวตืดและพยาธิไส้เดือนเหล่านั้นได้ชอนไชสัตว์เกิดในครรภ์นั้นเหมือนหนอนที่อยู่ในปลาเน่า และในอาจมนั้น

สายสะดือของสัตว์เกิดในครรภ์กลวงดังสายบัวอุบล ปากสะดือกลวงขึ้นไปเบื้องบนติดหลังท้องมารดา ข้าว น้ำ อาหาร และโอชารสที่มารดากินเข้าไป เป็นน้ำชุ่มซึมเข้าไปตามสายสะดือในท้องสัตว์ที่เกิดในครรภ์ทีละน้อย ๆ สัตว์ที่เกิดในครรภ์ได้กินอาหารดังกล่าวทุกวัน ทุกเช้าเย็น อาหารเข้าไปอยู่เหนือศีรษะทับศีรษะสัตว์เกิดนั้น สัตว์เกิดนั้นได้รับทุกข์มากนัก สัตว์เกิดนั้นจะอยู่เหนืออาหารที่มารดากินเข้าไปก่อน

เบื้องหลังสัตว์นั้นติดกับหนังท้องมารดา นั่งยอง ๆ อยู่ กำมือทั้ง ๒ ไว้ที่หัวเข่า คู้หัวเข่าทั้งสอง เอาศีรษะไว้เหนือหัวเข่า ขณะนั่งอยู่เลือดและน้ำเหลืองหยดลงเต็มตัวทีละหยดทุกเมื่อ เหมือนลิงเมื่อฝนตกนั่งกำมือซบเซาอยู่ในโพรงไม้นั้น ในท้องมารดานั้นร้อนรุมนักหนา ดุจดังคนเอาใบตองไปจุดไฟเผาและต้มน้ำในหม้อ

อาหารทุกสิ่งที่มารดากินเข้าไปถูกเผาไหม้และย่อย ส่วนสัตว์ที่เกิดขึ้นในครรภ์ ไฟธาตุไม่ไหม้ เพราะบุญของสัตว์ที่เกิดในครรภ์จะเกิดเป็นมนุษย์ จะไม่ไหม้และไม่ตายเพราะเหตุนั้น

@@@@@@

อนึ่ง สัตว์ที่เกิดในครรภ์ไม่หายใจเข้าหายใจออกเลย ไม่ได้เหยียดมือและเท้าออกเช่นเราท่านทั้งหลายนี้แม้แต่ครั้งเดียว ต้องเจ็บปวดตนเหมือนถูกขังไว้ในไหที่คับแคบมาก คับแค้นใจและเดือดร้อนใจอย่างยิ่ง ไม่ได้เหยียดมือและเท้าออกเหมือนถูกขังในที่แคบ

เมื่อมารดาเดินก็ดี นอนก็ดี ลุกขึ้นก็ดี สัตว์ที่เกิดในครรภ์จะเจ็บปวดประหนึ่งว่าจะตาย เหมือนลูกเนื้อทรายคลอดใหม่ตกอยู่ในมือคนเมาเหล้า ถ้าไม่เช่นนั้นก็เป็นเหมือนดังลูกงูที่หมอเอาไปเล่น นับได้ว่าความทุกข์ลำบากใจนักหนา ไม่ได้ลำบากเพียง ๒ วัน ๓ วัน แล้วพ้นความลำบาก ต้องอยู่ยากลำบาก ๗ เดือน บางคราว ๘ เดือน บางคราว ๙ เดือน บางคราว ๑๐ เดือน บางคน ๑๑ เดือน บางคนครบหนึ่งปีจึงคลอดก็มี
     - ผู้ที่อยู่ในท้องมารดาได้ ๖ เดือน และคลอดออกมา ไม่อาจจะมีชีวิตอยู่ได้
     - ผู้ที่อยู่ในท้องมารดา ๗ เดือน คลอดออกมา แม้ว่าจะเลี้ยงเป็นคนได้ก็ไม่ได้เติบโตกล้าแข็ง ทนแดดทนฝนไม่ได้
     - ผู้ที่จากนรกมาเกิด เมื่อคลอดออกมาตัวร้อน เมื่อสัตว์นั้นอยู่ในท้องมารดาจะเดือดร้อนใจและหิวกระหาย เนื้อมารดานั้นก็พลอยร้อนไปด้วย
     - ผู้ที่จากสวรรค์ลงมาเกิด เมื่อจะคลอดออก เนื้อตนสัตว์ที่เกิดนั้นเย็น เย็นกาย เย็นใจ เมื่ออยู่ในท้องมารดาก็อยู่เย็นเป็นสุขสำราญบานใจ เนื้อกายมารดาก็เย็นด้วย


@@@@@@

เมื่อถึงเวลาจะคลอด จะมีลมในท้องมารดาพัดผันตนสัตว์ที่เกิดให้ขึ้นเบื้องบน ให้ศีรษะลงเบื้องต่ำสู่ที่จะคลอด เหมือนเหล่าสัตว์นรกถูกยมบาลจับเท้า หย่อนศีรษะลงในขุมนรกที่ลึกร้อยวา

     สัตว์ที่เกิดนั้นเมื่อจะคลอดออกมาจากท้องมารดา ออกมายังไม่ทันหลุดพ้น ตัวจะเย็นเจ็บปวดยิ่งนัก ประดุจดังช้างสารที่คนชักเข็นออกจากประตูขนาดเล็กและคับแคบ ออกยากลำบากยิ่งนัก หรือเปรียบเหมือนดังสัตว์นรกถูกภูเขาคังไคยหีบบดขยี้นั่นเอง
     ครั้นคลอดออกจากท้องมารดาแล้ว ลมในท้องของสัตว์ที่เกิดนั้นจะพัดออกก่อนลมภายนอกจึงพัดเข้า เมื่อพัดเข้าถึงลิ้นสัตว์ที่เกิดจึงหยุด เมื่อออกจากท้องมารดาแล้ว นับแต่นั้นไป สัตว์ที่เกิดจึงรู้จักหายใจเข้าออก

     - ถ้าสัตว์ที่เกิดมาแต่นรกหรือมาจากเปรตจะคิดถึงความทุกข์ลำบาก เมื่อคลอดออกมาจะร้องไห้
     - ถ้าสัตว์ที่เกิดมาแต่สวรรค์ เมื่อคิดถึงความสุขในหนหลัง ครั้นคลอดออกมาแล้วจะหัวเราะก่อน

@@@@@@

แต่มนุษย์ผู้อยู่ในโลกนี้หรือในจักรวาลอื่นๆ เมื่อแรกเกิดในครรภ์มารดาก็ดี ระหว่างอยู่ในครรภ์มารดาก็ดี เมื่อคลอดออกจากครรภ์มารดาก็ดีในกาลทั้ง ๓ นี้ จะหลงลืมไม่รู้ตัวในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แม้แต่สิ่งเดียวเลย

     ผู้จะมาเกิดเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าก็ดี เป็นพระอรหันตขีณาสพก็ดี และเป็นพระอัครสาวกก็ดี เมื่อแรกมาเกิดในครรภ์มารดาก็ดี ระหว่างอยู่ในครรภ์มารดาก็ดี ทั้ง ๒ ระยะย่อมไม่หลง และคำนึงรู้อยู่ทุกสิ่ง
     เมื่อจะคลอดจากครรภ์มารดา ถูกลมกรรมชวาต คือ ลมเบ่งพัดผันให้ศีรษะลงสู่ที่คลอดซึ่งเบียดตัวแอ่นยันมาสู่ที่จะคลอด ได้รับความเจ็บปวดตนลำบากนักดังกล่าวมาแต่ก่อน และพลิกศีรษะลงโดยไม่รู้สึกตัว ไม่เหมือนผู้จะมาเกิดเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าหรือผู้จะมาเกิดเป็นโอรสของพระพุทธเจ้า จะรู้สึกตน ไม่ลืมตน ในเวลาทั้ง ๒ นี้ คือ
    เมื่อแรกเกิดในครรภ์มารดา และระหว่างอยู่ในครรภ์มารดา แต่เมื่อจะคลอดจากครรภ์มารดาจะหลงเหมือนมนุษย์ทั้งหลาย ส่วนมนุษย์ทั้งหลายนี้จะหลงลืมทั้ง ๓ กาล ฉะนั้นควรเบื่อหน่ายสงสารนี้

    พระโพธิสัตว์ในชาติที่จะลงมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เมื่อแรกกำเนิดก็ดี ระหว่างอยู่ในพระครรภ์พระมารดาก็ดี และขณะจะประสูติจากพระครรภ์พระมารดาก็ดี จะไม่หลงลืมแม้ครั้งเดียว จะระลึกรู้ทุกประการ


@@@@@@

เมื่อพระโพธิสัตว์ประทับอยู่ในพระครรภ์พระมารดา จะไม่เหมือนมนุษย์ทั้งหลาย เบื้องหลังพระโพธิสัตว์ติดกับหลังพระครรภ์พระมารดา ประทับนั่งสมาธิ ดังนักปราชญ์ผู้สง่างามนั่งแสดงธรรมบนธรรมาสน์ มีพระวรกายเรืองงามดังทอง เห็นแสงรังรองเหมือนกับจะเสด็จออกมาภายนอกพระครรภ์ พระมารดาพระโพธิสัตว์ก็ดี มนุษย์อื่น ๆ ก็ดี จะเห็นพระโพธิสัตว์รุ่งเรืองงามดังเอาไหมแดงมาร้อยแก้วขาวฉะนั้น

     เมื่อพระโพธิสัตว์จะเสด็จออกจากพระครรภ์พระมารดา ลมอันเป็นบุญมิได้พัดผันพระเศียรลงเบื้องต่ำ และพัดพระบาทขึ้นเบื้องบนเหมือนมนุษย์ทั้งหลาย พระองค์ทรงเหยียดพระบาทออก และเมื่อจะเสด็จออกจากพระครรภ์จะทรงลุกขึ้นแล้วจึงเสด็จออกจากพระครรภ์พระมารดา

อนึ่ง พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นมนุษย์ในหลายๆชาติ จะเป็นประดุจครั้งเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ในชาติสุดท้าย ซึ่งได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านี้ ไม่เคยมีในชาติก่อน ๆ ที่ล่วงมาแล้ว มีสภาพเป็นปกติธรรมดาเหมือนคนทั้งหลายทั้งปวง เมื่อพระโพธิสัตว์เสด็จเข้าสู่พระครรภ์พระมารดาก็ดี เมื่อประสูติก็ดีจะเกิดแผ่นดินไหวทั่วหมื่นจักรวาล น้ำอันรองแผ่นดินก็ไหว น้ำในมหาสมุทรเกิดคลื่นฟูมฟอง ภูเขาพระสุเมรุก็หวั่นไหวด้วยบุญญาธิการของพระโพธิสัตว์ พระผู้จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้น

@@@@@@

มนุษย์ทั้งหลายในโลกนี้ก็ดี พระโพธิสัตว์ก็ดี สัตว์ดิรัจฉานทั้งหลายก็ดิ ครั้นคลอดออกจากท้องของมารดาแล้ว จะได้ดูดกินโลหิตในอกมารดาที่กลายมาเป็นน้ำนมไหลออกจากอกมารดาด้วยความรักลูกนั้น สิ่งนี้เป็นธรรมดาวิสัยของโลกทั้งหลาย

มนุษย์ทั้งหลายเจริญวัยโดยลำดับโดยอาศัยบิดามารดา เมื่อบิดามารดาพูดภาษาใดๆ ก็ดี บุตรธิดาได้ยินบิดามารดาพูดภาษานั้นๆ ก็จะพูดภาษานั้นๆ ตามบิดามารดา ถ้าบุตรธิดาเจริญเติบโตใหญ่กล้าแข็งแรงไม่รู้ภาษาใด ๆ เลย บุตรธิดาก็จะพูดภาษาบาลีตามที่ท่านว่าไว้ เมื่ออายุ ๑๖ ปี จึงหย่านม



ยังมีต่อ โปรดติดตาม....
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 17, 2018, 07:21:56 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28436
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

ประเภทของมนุษย์ - 4 ทวีป

บุตร ๓ จำพวก
บุตรทั้งหลายที่เกิดมามี ๓ จำพวก คือ อภิชาตบุตร อนุชาตบุตร และอวชาตบุตร
   ๑. อภิชาตบุตร คือ บุตรที่ดียิ่งกว่าบิดามารดาทั้งในด้านเชาวน์ปัญญา รู้หลักนักปราชญ์ รูปงาม ทรัพย์ ยศฐาบรรดาศักดิ์
   ๒. อนุชาตบุตร คือ บุตรที่เกิดมาฉลาด มีกำลังเรี่ยวแรงเสมอบิดามารดาทุกประการ
   ๓. อวชาตบุตร คือ บุตรที่เกิดมาด้อยกว่า เลวกว่าบิดามารดาทุกประการ


@@@@@@

มนุษย์ ๔ จำพวก
มนุษย์ทั้งหลายนี้มี ๔ จำพวก คือ มนุษย์นรก มนุษย์เปรต มนุษย์เดรัจฉาน และมนุษย์คน
   ๑. เหล่ามนุษย์ที่ฆ่าสัตว์มีชีวิต เมื่อบาปมาถึงตนและถูกผู้อื่นตัดมือตัดเท้าได้รับความทุกข์โศกลำบากมาก คือ มนุษย์นรก
   ๒. มนุษย์จำพวกหนึ่ง ไม่เคยทำบุญในชาติก่อน จึงเกิดมาเป็นคบยากไร้เข็ญใจ ไม่มีเสื้อผ้าจะนุ่งห่ม อดอยากยากแค้น ไม่มีอาหารจะกิน หิวกระหายมาก ขี้ริ้วขี้เหร่ มนุษย์เหล่านี้ คือ มนุษย์เปรต
   ๓. บรรดามนุษย์ที่ไม่รู้จักบุญและบาป เจรจาหาความเมตตากรุณามิได้ มีใจแข็งกระด้าง ไม่ยำเกรงผู้อาวุโส ไม่รู้จักปรนนิบัติบิดามารดา และอุปัชณาย์อาจารย์ ไม่รู้จักรักพี่รักน้อง กระทำบาปทุกเมื่อ มนุษย์เหล่านี้ คือ มนุษย์เดรัจฉาน
   ๔. บรรดามนุษย์ที่รู้จักผิดและชอบ รู้จักบาปและบุญ รู้จักประโยชน์ในโลกนี้และโลกหน้า รู้จักกลัวและละอายแก่บาป ว่านอนสอนง่าย รู้จักรักพี่รักน้อง รู้จักเอ็นดูกรุณาต่อผู้ยากไร้เข็ญใจ รู้จักยำเกรงบิดามารดา ผู้อาวุโส สมณพราหมณาจารย์ที่ปฏิบัติในสิกขาบทของพระพุทธเจ้าทุกเมื่อ รู้จักคุณแก้ว ๓ ประการ มนุษย์เหล่านี้ คือ มนุษย์คน

@@@@@@

มนุษย์ ๔ ทวีป

มนุษย์มี ๔ จำพวกได้แก่ :-
    ๑. พวกที่เกิดและอยู่ใน ชมพูทวีปนี้
    ๒. พวกที่เกิดและอยู่ใน บุรพวิเทหทวีป อยู่ทางทิศตะวันออกของเรา
    ๓. พวกที่เกิดและอยู่ใน อุตตรกุรุทวีป อยู่ทางทิศเหนือของเรา และ
    ๔. พวกที่เกิดและอยู่ใน อมรโคยานทวีป อยู่ทางทิศตะวันตกของเรา

ลักษณะของมนุษย์ ๔ ทวีป :-
    - มนุษย์ที่อยู่ในชมพูทวีปของเรานี้ มีหน้ารูปไข่เหมือนดุมเกวียน
    - มนุษย์ในบุรพวิเทหทวีป มีหน้ากลมเหมือนเดือนเพ็ญ กลมดังหน้าแว่น(๒)
    - มนุษย์ในอุตตรกุรุทวีป มีหน้ารูป ๔ เหลี่ยม ดุจดังท่านตั้งใจบรรจงแต่งไว้ กว้างและยาวเท่ากัน
    - มนุษย์ในอมรโคยานทวีป มีหน้าเหมือนเดือนแรม ๘ ค่ำ

อายุของมนุษย์ ๔ ทวีป :-
    - อายุของคนชาวชมพูทวีปอาจยาวหรือสั้น เพราะเหตุที่บางครั้ง มนุษย์ทั้งหลายบางครั้งมีศีลธรรม บางคราวไม่มี ถ้ามนุษย์ทั้งหลายมีศีลธรรม ย่อมกระทำบุญและปฏิบัติธรรม ยำเกรงผู้อาวุโส บิดามารดา และสมณพราหมณาจารย์ อายุของมนุษย์เหล่านั้นจะยาวขึ้น ๆ ส่วนมนุษย์ที่ไม่ได้จำศีล ไม่ได้ทำบุญ ไม่ยำเกรงผู้อาวุโส บิดามารดา สมณพราหมณ์ อุปัชฌาย์ อาจารย์นั้น อายุของคนเหล่านั้นจะสั้นลง ๆ เพราะเหตุดังกล่าว อายุของมนุษย์ในชมพูทวีปนี้จึงกำหนดไม่ได้
    - มนุษย์ในบุรพวิเทหทวีป มีอายุยืนได้ ๑๐๐ ปี จึงตาย
    - ส่วนมนุษย์ในอมรโคยานทวีป มีอายุยืนได้ ๔๐๐ ปี จึงตาย
    - ส่วนมนุษย์ในอุตตรกุรุทวีป มีอายุยืนได้ ๑๐๐๐ ปี จึงตาย

    @@@@

มนุษย์ในบุรพวิเทหทวีป อมรโคยานทวีปและอุตตรกุรุทวีป ถือเบญจศีลตลอด :-
อายุของมนุษย์ในทวีปทั้ง ๓ ไม่เคยมีเพิ่มขึ้นหรือลดลงเลย เพราะมนุษย์เหล่านี้ตั้งอยู่ในเบญจศีลตลอดกาลไม่ได้ขาด
    - ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่ขโมยทรัพย์ไม่ว่ามากหรือน้อยของผู้อื่นมาเป็นของตน ไม่เป็นชู้กับภรรยาของผู้อื่น
    - ส่วนผู้หญิงในทวีปเหล่านี้ก็ไม่ลอบเป็นชู้กับสามีผู้อื่น หญิงเหล่าอื่นก็ไม่เป็นชู้กับสามีของหญิงเหล่านี้
    - อนึ่ง มนุษย์เหล่านั้นไม่พูดเท็จ เว้นจากการดื่มสุราของเมาต่าง ๆ และรู้จักยำเกรงผู้อาวุโส บิดามารดา รู้จักรักพี่รักน้อง มีใจอ่อนโยน อดทน มีความเอ็นดูกรุณาซึ่งกันและกัน ไม่อิจฉาริษยากัน
    - เว้นจากการพูดส่อเสียด เว้นจากการพูดคำหยาบ เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ เว้นจากการทะเลาะเบาะแว้งทุ่มเถียงกัน
    - ไม่ช่วงชิงหวงแหนเขตแดนและบ้านเรือนของกันและกัน
    - ไม่ข่มเหงช่วงชิงเอาเงินทองแก้วแหวน บุตร ภรรยา ข้าว ไร่ นา โค ป่า ห้วยละหาน ธารน้ำ บ้านเรือน ที่สวน เผือกมัน หลักตอ ล้อเกวียน
    - ไม่เบียดเบียนเรือ แพ โค กระบือ ช้าง ม้า ข้าไท และสรรพทรัพย์สินสิ่งใดๆ
    - เขาไม่แบ่งว่าเป็นของตนหรือของท่าน ดูเสมอกันทั้งสิ้นทุกแห่ง
    - มนุษย์เหล่านั้นไม่ทำไร่ไถนาค้าขายเลย

@@@@

ที่ตั้งของโลกมนุษย์ ในบุรพวิเทหทวีป อมรโคยานทวีปและอุตตรกุรุทวีป :-
    - แผ่นดินทางทิศตะวันตกเขาพระสุเมรุมีทวีปชื่อ “อมรโคยานทวีป” กว้าง ๗๐๐๐ โยชน์ มีแผ่นดินล้อมรอบเป็นบริวาร บรรดามนุษย์ในอมรโคยานทวีปมีหน้าดังเดือนแรม ๘ ค่ำ มีแม่น้ำใหญ่และแม่น้ำเล็ก มีภูเขา มีเมืองใหญ่เมืองน้อย (มนุษย์ในทวีปนั้นมีจำนวนมาก มีท้าวพระยา และมีนายบ้านนายเมือง)

    - แผ่นดินทางทิศตะวันออกภูเขาพระสุเมรุมีทวีปใหญ่ชื่อ “บุรพวิเทหทวีป” กว้างได้ ๗,๐๐๐ โยชน์ วัดโดยรอบได้ ๒๑,๐๐๐ โยชน์ มีทวีปเล็ก ๕๐๐ ทวีปล้อมรอบเป็นบริวาร เหล่ามนุษย์ในบุรพวิเทหทวีปมีหน้ากลมดังเดือนเพ็ญ มีแม่น้ำใหญ่แม่น้ำเล็ก มีภูเขา มีเมืองใหญ่เมืองน้อย เหล่ามนุษย์ที่อยูในทวีปนั้นมีมากนัก มีท้าวพระยาและนายบ้านนายเมือง

    - แผ่นดินทางทิศเหนือของภูเขาพระสุเมรุมีทวีปชื่อว่า “อุตตรกุรุทวีป” กว้าง ๘,๐๐๐ โยชน์ มีแผ่นดินเล็ก ๆ ๕๐๐ ล้อมรอบเป็นบริวาร มนุษย์ในทวีปนั้นมีหน้าเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีภูเขาทองล้อมรอบทวีป มีคนทั้งหลายอาศัยอยู่ในทวีปนั้นมาก มีความเป็นอยู่ดีกว่าคนในทวีปอื่น เพราะบุญของเขา เพราะเขารักษาศีล


@@@@@@

ลักษณะเฉพาะของอุตตรกุรุทวีป

แผ่นดินอุตตรกุรุทวีปนั้นราบเรียบเสมอกัน ไม่มีที่ลุ่มที่ดอนหรือที่ขรุขระปรากฏให้เห็น และมีต้นไม้นานาพันธุ์ มีกิ่งก้านสาขางาม มีค่าคบใหญ่น้อยมากมาย เหมือนเขาตั้งใจสร้างไว้เป็นบ้านเรือนดูงามดั่งปราสาท เป็นที่อยู่อาศัยของคนในอุตตรกุรุทวีปนั้น

      ไม้นั้นไม่มีตัวแมลงตัวด้วง ไม่มีส่วนที่คดที่งอ ที่กลวง ที่เป็นโพรง ต้นตรงกลมงามมาก ผลิดอกออกผลตลอดเวลาไม่เคยขาด ที่ใดที่เป็นบึง หนอง ตระพัง จะดาดาษด้วยดอกบัวแดง บัวขาว บัวเขียว บัวหลวง และกุมุท อุบล จงกลนี นิลุบล บัวเผื่อน บัวขม เมื่อลมพัดต้องก็โชยกลิ่นหอมขจรขจายไปโดยรอบอยู่ทุกเวลา

     ชาวอุตตรกุรุทวีปมีรูปร่างสมทรง ไม่สูงไม่ต่ำ ไม่อ้วนไม่ผอม ดูงามด้วยรูปทรงสมส่วน มีเรี่ยวแรงกำลังกายคงที่ไม่เสื่อมถอยไปตามวัย ตั้งแต่หนุ่มจนแก่ พวกเขาไม่มีความกังวลในเรื่องทำมาหากิน ไม่ต้องทำไร่ทำนาหรือซื้อขายกัน
     อนึ่ง ชาวอุตตรกุรุทวีปไม่รู้สึกร้อนหรือหนาว ไม่มีภัยจากแมงมุม ริ้น ยุง งู สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์ร้ายมีพิษนานาชนิด เป็นต้น ชาวอุตตรกุรุทวีปไม่มีภัยจากลมและฝน และแดดก็ไม่เผาไหม้เขา เขาไม่รู้จักความแตกต่างระหว่างกลางวันและกลางคืน ไม่มีความเดือดเนื้อร้อนใจสิ่งใด


     @@@@

     ชาวอุตตรกุรุทวีปมีข้าวชนิดหนึ่งชื่อ “สัญชาตสาลี” คือข้าวที่เกิดเอง เขาไม่ต้องหว่านหรือไถดำ ข้าวนั้นเกิดเป็นต้นเป็นรวงเป็นข้าวสารเอง ข้าวนั้นหอม ไม่มีแกลบมีรำ ไม่ต้องตำ ไม่ต้องฝัด ชาวอุตตรกุรุทวีปชวนกันกินข้าวนั้นอยู่เป็นประจำ

     ในอุตตรกรุทวีปยังมีหินชนิดหนึ่งชื่อ “โชติปาสาณ” คนเหล่านั้นจะเอาข้าวสารกรอกใส่หม้อทองเรืองงาม ยกไปตั้งบนแผ่นหินโชติปาสาณนั้น ชั่วครู่หนึ่งจะเกิดเป็นไฟลุกขึ้นได้เอง เมื่อข้าวสุก ไฟจะดับเอง เมื่อเขาเห็นไฟดับก็รู้ว่าข้าวสุกจึงคดใส่ถาดและตะไลทองงาม

     สำหรับกับข้าวนั้นก็ไม่ต้องจัดหา เมื่อนึกว่าจะกินสิ่งใดก็จะปรากฏขึ้นอยู่ใกล้ ๆ เขาเอง
     คนเหล่านั้นเมื่อกินข้าวนั้นแล้วจะไม่เกิดโรคต่าง ๆ เป็นต้นว่า โรคหิด โรคเรื้อน เกลื้อน กลาก โรคฝี โรคผอมแห้ง และโรคลมบ้าหมู จะไม่เป็นโรคท้องอืดท้องเฟ้อ ไม่เป็นง่อยเปลี้ยเพลียแรง ดวงตาไม่บอดไม่ฟาง หูไม่หนวกไม่ตึง จะไม่เจ็บไข้ได้ป่วย พิกลพิการดังกล่าวมานั้น ถ้าเขากำลังกินข้าวนั้นอยู่ เมื่อมีคนมาเยี่ยม เขาก็นำข้าวนั้นมารับรองด้วยความเต็มใจ และไม่รู้สึกเสียดาย

    ในแผ่นดินอุตตรกุรุทวีปนั้น มีต้นกัลปพฤกษ์ต้นหนึ่ง สูง ๑๐๐ โยชน์ กว้าง ๑๐๐ โยชน์ วัดโดยรอบได้ ๓๐๐ โยชน์ ผู้ใดปรารถนาอยากจะได้ทรัพย์สินเงินทองหรือเครื่องประดับตกแต่งทั้งหลาย เป็นต้นว่า เสื้อสร้อยถนิมพิมพาภรณ์ ผ้านุ่งผ้าแพรพรรณต่างๆก็ดี หรือเครื่องอุปโภคบริโภคต่าง ๆ สิ่งเหล่านั้นย่อมบังเกิดขึ้นแต่ค่าคบของต้นกัลปพฤกษ์นั้น ให้สำเร็จสมตามความปรารถนาทุกประการ

    @@@@

    สตรีทั้งหลายที่อยู่ในแผ่นดินนั้นงามทุกคน รูปร่างไม่สูงไม่ต่ำเกินไป ไม่ผอมไม่อ้วนเกินไป ไม่ขาวดำเกินไป มีรูปทรงสมส่วน ผิวพรรณงามดั่งทองสุกเหลือง เป็นที่พึงใจของชายทุกคน นิ้วมือนิ้วเท้ากลมกลึง มีเล็บสีแดงเหมือนน้ำครั่งที่ทาแต้มไว้ แก้มใสนวลงามดั่งผัดแป้ง ใบหน้านั้นเกลี้ยงเกลาปราศจากมลทินคือ ไฝ ฝ้า
    มีดวงหน้าดุจพระจันทร์วันเพ็ญ มีนัยน์ตาดำเหมือนนัยน์ตาของเนื้อทรายอายุ ๓ วัน ที่ขาวก็ขาวเหมือนสังข์ที่พึ่งขัดใหม่ มีริมฝีปากแดงดังลูกฟักข้าวที่สุกงอม

    มีลำแข้งขาเรียวงาขาวเหมือนลำกล้วยทองฝาแฝด มีท้องที่ราบเรียบเสมอ ลำตัวอ้อนแอ้นเกลี้ยงกลมงาม
    มีขนและเส้นผมละเอียดอ่อนยิ่งนัก เส้นผมของคนปัจจุบัน ๑ เส้น เท่ากับผม ๘ เส้นของนางโดยประมาณ ดำงามเหมือนปีกแมลงภู่ ยาวลงมาถึงริมบ่าเบื้องต่ำทั้งสองแล้ว ตวัดปลายผมขึ้นเบื้องบน เมื่อเวลานางนั่งยืนอยู่ก็ดี เดินไปมาก็ดี ใบหน้าแจ่มใสเหมือนดังแย้มยิ้มตลอดเวลา มีขนคิ้วดำสนิทโก่งดังวาดไว้
    เมื่อนางพูดจะมีน้ำเสียงแจ่มใสปราศจากเสมหะเขหะทั้งปวง ที่คอประดับด้วยเครื่องอาภรณ์งามยิ่ง มีรูปโฉมโนมพรรณงามดังสาวน้อยอายุ ๑๖ ปี มีทรวดทรงคงที่ไม่แก่เฒ่าไปตามกาลเวลา ดูอ่อนเยาว์ตลอดชีวิตทุกคน


    @@@@

    ชายทั้งหลายในอุตตรกุรุทวีปก็มีรูปร่างผิวพรรณงามเหมือนหนุ่มน้อยอายุ ๒๐ ปี ไม่มีแก่เฒ่า เป็นหนุ่มอยู่ดังนั้นตลอดชีวิตทุกคน คนเหล่านั้นกินข้าวน้ำและอาหารอย่างดี มีรสอันอร่อย เขาแต่งแต่ตัว เขาจะทากระแจะจันทน์น้ำมันอย่างดี ทัดทรงดอกไม้หอมต่าง ๆ แล้วพากันไปเที่ยวเล่นตามสบาย

    บ้างก็ฟ้อนรำทำเพลงดุริยางคดนตรี บ้างก็ดีดสีตีเป่า ขับร้องกันสนุกสนานเป็นหมู่มากมาย มีเสียงฆ้อง กลอง แตรสังข์ กังสดาล มโหรทึกดังกึกก้อง มีการทำพิธี มีดอกไม้งามต่าง ๆ มีจวงจันทน์กฤษณา เหมือนดั่งเป็นเทวดาบนสวรรค์เขาเล่นสนุกด้วยกันตลอดเวลา
    บางหมู่ก็ชวนกันไปเล่นในที่สวยงดงามที่สนุกและในสวนอันมีดอกไม้งามตระการตา มีจวงจันทน์ กฤษณาคันธา ปาริชาต นาคพฤกษ์ ลำดวน จำปา โยธกา มาลุตี มนีชาตบุตรทั้งหลาย ซึ่งมีดอกงามมีกลิ่นหอมฟุ้งขจรไป

    @@@@

    บางหมู่ก็ชวนกันเล่นในสวนผลไม้อันมีผลสุกงอมหอมหวาน เช่นว่า ขนุนบางผลนั้นใหญ่เท่าไห บางผลใหญ่เท่ากระออม หอมหวานมาก เขาชวนกันกินเล่นเป็นที่สนุกสนานเบิกบานใจในสวนนั้น
    บางหมู่ก็ชวนกันไปเล่นในแม่น้ำใหญ่ ที่มีท่าราบเรียบปราศจากเปือกตม แล้วชวนกันเล่นแหวกว่ายไปตามแม่น้ำ เด็ดเอาดอกไม้ที่มีอยู่ในที่นั้นมาทัดทรงไว้ที่หูและหัว

    บางพวกก็พากันเล่นที่หาดทราย เมื่อจะพากันลงอาบน้ำนั้น พวกเขาจะถอดเครื่องประดับออกวางไว้ที่หาดทรายแล้วลงไปอาบ ว่ายเล่นกับในแม่น้ำ เมื่อผู้ใดขึ้นมาจากน้ำก่อน จะเอาเครื่องประดับและผ้านุ่งผ้าห่มของใครมาประดับนุ่งห่มได้ไม่ว่ากัน ไม่โกรธกัน ไม่ด่าหรือถกเถียงกัน
    ถ้ามีต้นไม้อยู่ที่ใดก็เข้าไปอาศัยอยู่ในที่นั้น สถานที่นั้นก็จะพูนสูงขึ้นเป็นเสือสาดอาสนะ เป็นฟูกที่นอนหมอนอิง เป็นม่านและเพดานกั้น พวกเขาพากันสนุกสนานรื่นเริงใจตลอดเวลา

    @@@@

    เมื่อเขาเจริญวัยขึ้นเป็นหนุ่มสาว เมื่อแรกรักกันจะอยู่ครองเรือนเป็นสามีภรรยากัน เขาจะร่วมรักกันเพียง ๗ วันเท่านั้น ต่อจากนั้นเขาจะไม่ร่วมรักกันเลย จะอยู่เย็นเป็นสุขตราบเท่าสิ้นอายุ ๑,๐๐๐ ปีของพวกเขานั้น ไม่อาลัยอาวรณ์สิ่งใด ดังเป็นพระอรหันต์ผู้หมดกิเลสทั้งปวงแล้ว

    ผู้หญิงชาวอุตตรกุรุทวีป เมื่อมีครรภ์และจะคลอดลูก นางจะไม่เจ็บท้องเลย และไม่ว่ามารดาจะอยู่ที่ใด ครั้นเมื่อจะคลอดจะเกิดมีแท่นที่นอนขึ้นมารองรับ นางจะไม่เจ็บท้องเวลาจะคลอดเลย และทารกที่คลอดออกมาก็ไม่มีเลือดฝาดและเมือกขาวเป็นมลทิน งามดังแท่งทอง อันสุกใสปราศจากราคีต่างๆ
    มารดาไม่ต้องอาบน้ำ ให้ยา และไม่ต้องให้ทารกดื่มนมเลย เพียงเอาไปให้นอนหงาย วางทิ้งไว้ที่ริมทางที่มีหญ้าอ่อนดังสำลี เมื่อใครเดินไปมามองเห็นทารกนอนหงายอยู่อย่างนั้น ก็จะเอานิ้วมือเข้าไปป้อนในปากของทารก ด้วยบุญของทารกนั้นก็จะบังเกิดเป็นน้ำนมไหลออกมาจากปลายนิ้วมือเข้าไปในลำคอ และยังเกิดเป็นกล้วยอ้อยของกินเลี้ยงทารกนั้นทุกๆวัน

    @@@@

    ครั้นทารกเติบโตขึ้นสามารถเดินไปมาได้แล้ว ถ้าหากเด็กนั้นเป็นผู้ชายจะไปอยู่รวมกลุ่มกับเด็กผู้ชาย ถ้าเป็นหญิงก็จะไปอยู่รวมกลุ่มกับเด็กผู้หญิง เพราะฉะนั้นลูกเขาจึงโตขึ้นเอง ลูกไม่รู้จักพ่อแม่ และพ่อแม่ก็ไม่รู้จักลูก เพราะคนเหล่านั้นมีรูปร่างงามสง่าเหมือนกันหมดทุกคน

    เมื่อพวกเขาเริ่มรักใคร่เป็นสามีภรรยากัน แม่และลูกก็ดี พ่อและลูกก็ดี จะไม่อยู่ครองเรือนเป็นสามีภรรยากัน เพราะพวกเขานั้นมีบุญ เทวดาจึงบันดาลทุกสิ่งให้เป็นธรรมดา

    เมื่อพวกเขาตายจากกันไป ก็มิได้มีความทุกข์เศร้าโศกเสียใจร้องไห้ถึงกันเลย พวกเขาจะเอาศพนั้นอาบน้ำแต่งตัวทากระแจะจันทน์น้ำมันหอม นุ่งห่มผ้าให้ประดับด้วยอาภรณ์ทั้งปวง แล้วจึงเอาไปวางไว้ในที่แจ้ง ก็จะมีนกชนิดหนึ่งซึ่งบินทั่วไปในแผ่นดินอุตตรกุรุทวีปนั้น มาคาบเอาศพไปยังรังนกนั้นเพื่อมิให้สกปรกรกแผ่นดิน
    นกนั้นบางทีก็คาบเอาไปทิ้งไว้ในแผ่นดินอื่น หรือทิ้งที่ฝั่งทะเลหรือในชมพูทวีป
    นกนี้ต่างอาจารย์เรียกชื่อต่างกัน คือ นกหัสดีลิงค์ นกอินทรี นกกด ที่ว่าคาบเอาศพไปนั้น บางอาจารย์กล่าวว่าไม่ได้คาบเอาศพไป แต่ใช้กรงเล็บคีบเอาไป


    @@@@

    คนทั้งหลายในอุตตรกุรุทวีป เมื่อตายไปแล้วย่อมไม่ไปเกิดในจตุราบายทั้ง ๔ คือ นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉานนั้นเลย แต่พวกเขาจะไปเกิดในที่ดี คือ สวรรค์ชั้นฟ้า เพราะว่าพวกเขาทั้งหลายเป็นผู้ที่ตั้งมั่นอยู่ในศีล ๕ ตลอดเวลา เครื่องหมายคุณความดีของคนเหล่านั้นก็ยังปรากฏอยู่ไม่มีที่สิ้นสุดบริบูรณ์อยู่ตราบจบบัดนี้

    ในคัมภีร์ฉบับหนึ่งแสดงไว้ว่า แผ่นดินในอุตตรกุรุทวีปนั้นราบเรียบเสมอกัน งามมาก มิได้เป็นหลุมเป็นบ่อขรุขระ คนทั้งหลายที่อาศัยอยู่ในที่นั้นไม่มีความทุกข์ ความเศร้าโศกเสียใจเลย และพวกสิงสาราสัตว์ทั้งหลาย อาทิ หมู หมี หมา และงู ตลอดจนสรรพสัตว์อันดุร้ายนานาชนิด ไม่มาเบียดเบียนทำร้ายคนทั้งหลายที่อยู่ในที่นั้นเลย

    @@@@

    และยังมีหญ้าชนิดหนึ่งชื่อว่า “ฉวินยา” งอกขึ้นในแผ่นดินนั้น มีสีเขียวงาม ดำดังแววนกยูง ละเอียดอ่อนดังฟูก ดังสำลีงอกขึ้นพ้นดิน ๔ นิ้ว และมีน้ำใสเย็นสะอาด ดื่มกินมีรสอร่อย ไหลเซาะท่าน้ำ แลดูงามล้วนไปด้วยทอง เงิน และแก้ว ๗ ประการ ไหลเสมอฝั่ง เมื่อนกกามาดื่มกิน ก็กินโดยไม่ต้องชะโงกหัวลงดื่ม

    คนทั้งหลายในที่นั้น บางคนมีรูปร่างสูงเท่าคนในบุรพวิเทหทวีป และคนในอุตตรกรุทวีปนั้น เขานุ่งห่มผ้าขาวที่เขานึกอธิษฐานเอาจากต้นกัลปพฤกษ์นั้น ต้นกัลปพฤกษ์นั้น สูง ๑๐ วา ๒ ศอก กว้าง ๑๐ วา
    คนทั้งหลายในที่นั้นจะไม่เบียดเบียนหรือทำร้ายสัตว์ทั้งหลายที่มีชีวิต และไม่กินเนื้อสัตว์อีกด้วย ถ้าคนใดคนหนึ่งตายไปแล้วเขาจะไม่นำซากศพไป แต่จะมีนกชนิดหนึ่งคือนกอินทรีมาคาบเอาไปไว้เสียกลางป่า

    @@@@

    หมู่ชนทั้งหลายที่เป็นหนุ่มสาวในอุตตรกุรุทวีปนั้น เมื่อรักกับชอบกันก็จะอยู่ร่วมกันเอง เป็นสามีภรรยากันโดยไม่ต้องเสียสิ่งหนึ่งสิงใด เมื่อเขารักกันเขาก็อยู่ด้วยกันเอง ตราบเท่าถึงไฟไหม้กัลป์ ดังสิ่งทั้ง ๔ นี้ อันได้แก่   
    ประการที่หนึ่ง รูปกระต่ายที่อยู่ในพระจันทร์หนึ่ง
    ประการที่สอง พระโพธิสัตว์เมื่อมีชาติเป็นนกคุ้ม อยู่ในกองไฟแต่ไฟไม่ไหม้ตราบจนถึงหนึ่งกัลป์
    ประการที่สาม เรื่องพระโพธิสัตว์ที่ท่านรื้อหลังคาออกเพื่อมุงกุฎีพระสงฆ์ ฝนไม่ตกรั่วเรือนที่รื้อออกเลย ตราบเท่าสิ้นกัลป์หนึ่ง และ
    ประการที่สี่ ไม้อ้อที่อยู่รอบริมสระน้ำเมื่อพระโพธิสัตว์เป็นพระยาวานร และมีบริวาร ๘๐,๐๐๐ ตัว ท่านอธิษฐานว่า ให้ไม้อ้อนั้นกลวงอยู่ตราบเท่าสิ้นกัลป์หนึ่ง

    คนเหล่านั้นตั้งแต่หนุ่มสาวจนถึงแก่เฒ่า เขาร่วมรักด้วยกันเพียง ๔ ครั้ง บางคราวก็มิได้ร่วมรักกันเลย
    คนเหล่านั้นกินข้าว แต่ไม่ต้องทำนา เขาจะเอาข้าวสารซึ่งเกิดได้เองนั้นมากิน และข้าวสารนั้นก็ขาวสะอาด ไม่ต้องตำ ไม่ต้องซ้อมข้าวเปลือกเลย

    @@@@

    มีผลไม้ชนิดหนึ่งเรียกว่า “ตุณหิรกะ” มีรูปร่างเหมือนหม้อข้าว เขาจะเอาข้าวน้ำใส่แล้วตั้งบนก้อนหินที่เรียกว่า “โชติปาสาณะ” ซึ่งเกิดเป็นไฟลุกขึ้นได้เอง เมื่อข้าวนั้นสุกดีแล้วไฟนั้นจะดับไปเอง ข้าวที่พวกเขาคดมารับประทานนั้นมีรสอร่อยยิ่งนัก

   ชนชาวอุตตรกุรุทวีปไม่ได้สร้างบ้านเรือนอยู่อาศัย แต่มีไม้ชนิดหนึ่งที่งามเหมือนทองเรียกว่า “มัญชุสถา” เป็นเหมือนบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของชนชาวแผ่นดินอุตตรกุรุทวีป



ที่มา : vajirayana.org/ไตรภูมิกถาฉบับถอดความ/บทที่-๕-แดนมนุษย์


ยังมีต่อ โปรดติดตาม....
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 19, 2018, 09:29:46 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

ประสิทธิ์

  • โยคาวจรมรรค
  • *****
  • ผลบุญ: +14/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: ชาย
  • กระทู้: 639
  • จิตว่าง ก็เป็นสุข
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
บันทึกการเข้า
ใครชอบ ใครชัง ช่างเถิด
ใครเชิด ใครชู ช่างเขา
ใครด่า ใครบ่น ทนเอา
ใจเรา ร่มเย็น เป็นพอ

:;