ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: การฝึกสมาธิเบื้องต้น จริง ๆ หลวงพ่อฤาษีลิงดำ  (อ่าน 18937 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

doremon

  • กำลังแหวกกระแส
  • **
  • ผลบุญ: +1/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 171
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0
..........ต่อไปนี้ก็จะพูดถึงอารมณ์ สมาธิ เรื่องเบื้องหลังจะไม่ขอพูดต่อไป ใครมาศึกษาใหม่ก็ไปค้นคว้าเอาตามตำรา คำว่าสมาธินี้มีอยู่ด้วยกัน ๓ ระดับ

ขณิกสมาธิ แปลว่า สมาธิเล็กน้อย
อุปจารสมาธิ แปลว่า สมาธิปานกลาง เฉียดฌานเข้าไป
อัปปนาสมาธิ เป็นสมาธิอันดับหนัก คือ เริ่มตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไปถึงฌาน ๔

.......... การเจริญพระกรรมฐานเราควรจับจุดเอาอานาปานุสสติเป็นสำคัญ เพราะว่าอานาปานุสสติกรรมฐานนี้ จะเป็นคนประเภทไหนก็ตาม มีความจำเป็นทั้งหมด เพราะว่าอานาปานุสสติกรรมฐานเป็นกรรมฐานระงับอาการฟุ้งซ่านของจิต เราจะเจริญอะไรก็ตาม ถ้าเราไม่สามารถระงับความฟุ้งซ่านของจิตได้ สมาธิมันก็ไม่เกิด

..........แล้วใครที่ไหนเล่า มีบ้างไหมที่มีอารมณ์ไม่ฟุ้งซ่านจริงๆ ก็มีพระอรหันต์เท่านั้น องค์สมเด็จพระทรงธรรม์คือพระพุทธเจ้าท่านเป็นสัพพัญญูรู้ความจริง ฉะนั้นในมหาสติปัฏฐานสูตรท่านจึงขึ้นอานาปานุสสติก่อน นี่เป็นแบบฉบับของการสอน

..........ที่เราสอนกันก็สอนตามแบบของพระ พุทธเจ้า เรื่องแบบของชาวบ้านชาวเมืองที่เขาสร้างขึ้นมาใหม่นี่ไม่เอาด้วย เพราะอะไร เพราะว่าคนสร้างไม่ใช่พระพุทธเจ้า ดีไม่ดีคนสร้างก็ไม่ใช่พระอรหันต์ ในเมื่อคนสร้างแบบไม่ได้อะไร แล้วคนปฏิบัติตามแบบจะได้อะไร ในเมื่อพระพุทธเจ้าเห็นว่าอานาปานุสสติเป็นของสำคัญ ถึงได้ขึ้นต้นไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร

คุณของอานาปานุสสติ
.......... เมื่อทรงอานาปานุสสติถึงอารมณ์ฌาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอานาปานุสสตินี่ทรงอารมณ์ได้ถึงฌาน ๔ สำหรับผู้มีอุปนิสัยเป็นสาวกภูมิ ถ้าผู้มีอุปนิสัยเป็นพุทธภูมิก็ทรงได้ถึงฌาน ๕ จัดว่าเป็นกรรมฐานที่มีความสำคัญมาก แล้วก็เป็นกรรมฐานระงับกายสังขาร ในเมื่อร่างกายของเราป่วยไข้ไม่สบายมีทุกขเวทนา เราใช้อานาปานุสสติกรรมฐานทรงฌานเข้าไว้ ทุกขเวทนามันจะคลายลงไป ดีไม่ดีก็ไม่รู้สึกในทุกขเวทนานั้นถ้าได้ถึงฌาน ๔

..........อีก ประการหนึ่ง ท่านที่คล่องในอานาปานุสสติกรรมฐานจะรู้เวลาตายของตนว่าจะตายเวลาไหนแน่ ตายด้วยอาการแบบไหน ตายเมื่อไหร่ นี่เรารู้ ก็กลายเป็นคนไม่มีความหวาดหวั่นในความตาย

..........แล้วยิ่งไปกว่า นั้นอานาปานุสสติกรรมฐานยังเป็นกรรมฐานที่มีความสำคัญใหญ่ เราจะทำกรรมฐานกองอื่นๆในสมถภาวนาหรือว่าวิปัสสนาภาวนาก็ตาม ต้องใช้อานาปานุสสติกรรมฐานเอาเป็นพื้นฐานให้จิตสงบเสียก่อน ถ้ามิฉะนั้นการเจริญกรรมฐานในกองอื่นๆในด้านสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนาจะไม่ มีอะไรเป็นผล องค์สมเด็จพระทศพลบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นคุณของอานาปานุสสติ กรรมฐานแบบนี้ ฉะนั้นองค์สมเด็จพระมหามุนีจึงให้ขึ้นอานาปานุสสติกรรมฐานก่อนในมหาสติ ปัฏฐานสูตร

ฝึกใจ
..........การเจริญอานาปานุสสติกรรมฐานตามแบบ ปฏิบัติที่นิยมกัน ก็ให้ใช้พุมธานุสสติกรรมฐานควบคุมไปด้วย ช่วยกำลังใจให้เกิดขึ้น การทำความดีในพระพุทธศาสนาถ้าขาดกำลังใจเสียอย่างเดียว ไม่มีอะไรเป็นผล เพราะการฝึกนี่เราฝึกใจ เราไม่ได้ฝึกกาย ถ้ามีแต่การกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก เราก็คิดว่าจิตมันว่างไป นึกถึงความดีขององค์สมเด็จพระจอมไตร ใช้คำว่า พุทโธ รู้สึกว่าจิตใจมันมั่นคง อันนี้อาตมาก็ไม่ปฏิเสธว่าเป็นความดีที่เพิ่มขึ้นมาอีกชั้นหนึ่งคือ

๑. เราได้อานาปานุสสติกรรมฐาน
๒. เราได้พุทธานุสสติกรรมฐาน

.......... ได้เป็นกรรมฐาน ๒ อย่างรวมกัน คือไม่สร้างความเหน็ดเหนื่อยเพราะใช้คำเพียงสองคำ หายใจเข้านึกว่า พุท หายใจออกนึกว่า โธ อย่างนี้ไม่ขัดกับอานาปานุสสติกรรมฐาน

.......... ในเมื่อรู้คุณของอานาปานุสสติกรรมฐานแล้ว สำหรับคุณสมบัติของพุทธานุสสติกรรมฐาน กรรมฐานกองนี้เป็นกำลังใหญ่ มีอานิสงส์สูงมาก ถ้าตายเป็นเทวดามีรัศมีกายผ่องใสยิ่งกว่าเทวดาที่บำเพ็ญกุศลอื่น เทวดาเขาถือว่าใครมีรัศมีกายผ่องใสมาก เทวดาองค์นั้นมีบุญญาธิการมาก แล้วการเจริญ พุทธานุสสติกรรมฐานเป็นเหตุดึงใจให้บรรดาท่านพุทธบริษัทเข้าถึงพระนิพพานได้ รวดเร็ว นี่จำไว้ด้วย นี่เป็นอานิสงส์หรือเป็นผล

..........คราวนี้ เรามาว่ากันในตอนต้น การกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกเรียกว่าอานาปานุสสติกรรมฐาน พระพุทธเจ้าทรงแนะนำว่าให้เรากำหนดรู้ว่า นี่เราหายใจเข้า นี่เราหายใจออก ทำจิตให้มีความละเอียดลออ ทำสติสัมปชัญญะให้ทรงตัว ท่านมีอุปมาไว้ว่าคล้ายๆกับนายช่างกลึงชักเชือกกลึง เวลาที่ชักเชือกกลึงยาวหรือสั้น ก็รู้อาการชักเชือกกลึงนั้นยาวหรือสั้น นี่ทำจิตให้รู้อยู่

ปล่อยลมหายใจตามปกติ
..........ถ้าจะถามว่า จิตรู้อยู่นี่ใช้กันกี่เวลา ก็ต้องขอตอบว่าให้รู้อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ตั้งแต่ตื่นจนกว่าจะหลับนั่นแหละเป็นการดี การเจริญพระกรรมฐานแบบนี้ก็รู้สึกว่าหนักอยู่สำหรับคนใหม่หรือยังไม่ได้ฌาน อานาปานุสสติไม่ใช่ของกล้วยๆ มีกำลังมากอยู่ แต่ว่าถ้ามากไปจนแบกไม่ไหวก็ไม่มีใครเขาได้กัน เมื่อมีคนได้นับไม่ถ้วนก็แสดงว่าไม่หนักเกินไป พอกำลังของท่านพุทธบริษัทที่มีศรัทธาจริงจะพึงทำได้

..........แล้ว เรามาเจริญกันแบบไหนจึงจะมีคุณ นี่เราควบพุทธานุสสติ เวลาเราหายใจเข้ารู้อยู่ว่าหายใจเข้าพร้อมกับนึกว่า พุท เวลาหายใจออกนึกว่า โธ อย่างนี้ไม่เหนื่อยเพราะไม่ต้องเร่งการหายใจ นี่ก็ต้องปล่อยการหายใจให้เป็นไปตามปกติ อย่าเร่งรัดให้เร็วหรือว่าอย่าผ่อนให้ช้า อย่ากลั้นลมหายใจ ปล่อยไปตามสบาย บางทีสติสัมปชัญญะของเราไม่ดีพอ การหายใจธรรมดาไม่รู้สึกก็เร่งหายใจให้หนักๆ อันนี้ใช้ไม่ได้ ต้องปล่อยลมหายใจไปธรรมดา แล้วเอาจิตของเรานี่เข้าไปวัด จับมันเข้าไว้ นี่หายใจเข้า นี่หายใจออก ถ้าอารมณ์ธรรมดามันเผลอ ก็แสดงว่าสติสัมปชัญญะของเรามันเฟือนไป จิตใจไม่ทรงอยู่ในสมาธิ นี่เป็นเครื่องสังเกต นี่เป็นคำแนะนำขององค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์

.......... การเจริญสมาธิจิตในด้านอานาปานุสสติเป็นศัตรูกับอารมณ์ที่ฟุ้งซ่านและรำคาญ ในเสียงภายนอก ตามธรรมดาของจิตเรานี่มันท่องเที่ยวมาหลายแสนกัป ไม่มีใครบังคับมัน หรือว่าเรามีเกณฑ์บังคับอยู่บ้างในชาติก่อนก็อาจเป็นได้แต่ทว่าในชาตินี้เรา เพิ่งมาใช้ มันเพิ่งบังคับ มันก็ลืมท่าลืมทางเหมือนกัน

.......... ใน ระยะต้นๆ เราจะมาตั้งเวลาครึ่งชั่งโมง หนึ่งชั่วโมง สองชั่วโมง บังคับจิตให้อยู่ตามใจชอบนั้นมันเป็นไปไม่ได้ ต้องดูแบบฉบับที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอธิบายไว้ ในวิสุทธมรรค เพราะว่าในวิสุทธิมรรคท่านอธิบายวิธีบังคับจิตไว้ละเอียดดี ว่าให้สังเกตการพิจารณาจิต ถ้าเรากำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกพร้อมด้วยคำภาวนา หรือไม่ภาวนาก็ตาม ถ้าใช้ระยะเวลาที่ไม่จำกัด จิตมันฟุ้งซ่านไม่ทรงตัว ไม่สามารถจะควบคุมอารมณ์จิตให้มันทรงตัวอยู่ได้ องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาให้ปฏิบัติแบบนี้

ฝึกนับลม
..........คือให้นับลมหายใจเข้าออก นับไปด้วย หายใจเข้าหายใจออก นับเป็นหนึ่ง นี่เป็นจังหวะที่หนึ่ง

.......... แล้วก็ หายใจเข้าหายใจออกหนึ่ง หายใจเข้าหายใจออกสอง นับไปถึงสอง แล้วก็มาขึ้นต้นใหม่นับไปถึงสาม ขึ้นต้นใหม่นับไปถึงสี่ ขึ้นต้นใหม่นับไปถึงห้า แล้วขึ้นต้นใหม่นับไปถึงหก ถึงเจ็ด ถึงแปด แล้วก็ถึงสิบ ให้ทำอย่างนี้ จะได้เป็นการควบคุมกำลังจิต คือนับไปด้วยจะได้ห่วงนับ อารมณ์แห่งการรู้ของจิตมันจะหยาบไปหน่อยก็ช่างมัน เราเอาผลกัน เราไม่ใช่ปฏิบัติเอาปริมาณของเวลา เราต้องการอารมณ์จิตเป็นสมาธิจริงๆ

..........คราวนี้เราก็มาตั้งต้น กันว่า ขั้นแรกเราตั้งใจนับ ๑ ถึง ๕ ในเกณฑ์ ๑ ถึง ๕ นี้เราจะไม่ยอมให้อารมณ์จิตของเราฟุ้งซ่านไปสู่อารมณ์อื่นเป็นอันขาด ต้องมีความเข้มแข็ง การสร้างความดีเพื่อสวรรค์ เพื่อพรหมโลก หรือเพื่อพระนิพพาน ถ้าอ่อนแอสักแต่ว่าทำละก็ ระวังจะหลงตัวว่าเป็นผู้ได้ดีแล้วลงนรกไป พวกนี้ไปกันมาก คนเจริญกรรมฐานนี่ไม่ใช่ไปสวรรค์เสมอไป ถ้าหลงตัวเมื่อไหร่ลงนรกเมื่อนั้น

ข้อสังเกตุผู้ทรงสมาธิ
.......... คนที่จะดีหรือไม่ดีนี่เราสังเกตกันง่าย คนที่มีความดี มีสมาธิเข้าถึงใจ เขาไม่พูดฟุ้งส่งเดช มีจริยาเรียบร้อย ถ้าจะพูดก็มีเหตุมีผล ไม่สักแต่ว่าพูด นี่เป็นเครื่องสังเกตภายนอก สังเกตง่ายคนที่ทรงสมาธิ ถ้ายิ่งทรงสมาธิเป็นฌาน ทรงฌานอยู่ด้วยแล้ว พวกนี้ขี้เกยจพูดมากที่สุด เห็นหน้าคนแล้วก็เบื่อในการพูด เพราะถ้าพูดเข้าละมันเสียเวลาทรงสมาธิของเขา ดีไม่ดีไปชวนเขาพูดเหลวใหลเป็นการทำฌานเขาเสื่อม พวกนี้รังเกียจในการพูด ถ้าไม่มีความจำเป็นเขาจะไม่พูด นี่เป็นเครื่องสังเกต.................


จากหนังสือ คำสอนหลวงพ่อวัดท่าซุง
โดย หลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง
บันทึกการเข้า