ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: สังฆคุณ สติตามระลึกคุณของพระสงฆ์  (อ่าน 6463 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

chatchay

  • พอพึ่งพาได้
  • ***
  • ผลบุญ: +4/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 244
  • เกิดเป็นคนต้องมีดี บวชทั้งทีต้องสร้างดีให้กับตน
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
สังฆคุณ สติตามระลึกคุณของพระสงฆ์
« เมื่อ: มิถุนายน 30, 2010, 03:51:28 am »
0
สังฆคุณ สติตามระลึกคุณของพระสงฆ์

  เมื่อผมได้ตามระลึก ถึงคุณของพระสงฆ์ ด้วยการปฏิบัติ สังฆานุสสติ มีขั้นตอนอย่างไรครับ

ต้องภาวนาว่า สังโฆ ๆๆ อย่างนี้ หรือป่าว เมื่อระลึกได้ถึงพระสงฆ์ แล้วจะได้คุณธรรมอะไร

เช่นนึกถึง พระโสดาบัน คู่ที่ 1

   การตามระลึกถึง พระสงฆ์ นั้น มุ่งให้เห็นเรื่องของศีล หรือ พระอริยะบุคคลที่เป็นตัวอย่าง ครับ

เช่น ตัวอย่าง

ผมระลึกได้ถึง พระสงฆ์ประเ้ภทที่ 1 คือพระโสดาบัน มี 3 ประเภท

คือ 1 เอกพีชีิ เกิดชาติเดียวเป็นพระอรหันต์

     2. โกลังโกละ เกิดสามชาติเป็นพระอรหันต์
     
     3.สัตตักขัตตุงปรมะ เกิดอีกไม่เกิน เจ็ดชาติ เป็นพระอรหันต์

=========================================================

คำถามครับ

  1. การระลึก ถึงคุณของพระสงฆ์ จักได้สมาธิ ขั้นไหนครับ
  2. วิธีปฏิบัติ ที่ถูกต้องคืออย่างไร ครับ
  3. วิปัสสนา จะมีในกรรมฐานนี้ หรือป่าวครับ


บันทึกการเข้า
ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
โทษอันใดที่ข้าพเจ้าล่วงเกินแล้วต่อพระรัตนตรัย ด้วย กาย ด้วยวาจา ด้วยใจ
ขอพระรัตนตรัย โปรดจงงดซึ่งโทษล่วงเกินนั้นแก่ข้าพเจ้า ตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป ด้วยเทอญ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออนไลน์ ออนไลน์
  • กระทู้: 28436
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: สังฆคุณ สติตามระลึกคุณของพระสงฆ์
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กรกฎาคม 01, 2010, 11:06:08 am »
0
สังฆานุสสติ จากคัมภีร์วิสุทธิมรรค

  จักวินิจฉัยในสังฆานุสสติสืบต่อไป  สงฺฆานุสฺสติ ภาเวตุกาเมน รโหคเตน ปฏิสลฺลีเนน ฯ ล ฯ สงฺคุณานุสฺสริตพฺพา   พระโยคาพจรผู้มีศรัทธาปรารถนาจะจำเริญสังฆานุสสติกรรมฐานนั้น พึงตั้งสติระลึกถึงคุณพระอริยสงฆ์ว่า   สุปฏิปนฺโน ภควาโต สาวกสงฺโฆ อุชุปฏิปนฺโน ภควาโต สาวกสงฺโฆ ฯ ล ฯ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โสกสฺสาติ   

แปลในบทต้นว่า   สาวกสงฺโฆ   อันว่าพระสงฆ์สาวก   ภควาโต  แห่งสมเด็จพระผู้ทรงสวัสดิภาคย์  สุปฏิปนฺโน   ปฏิบัติเป็นอันดี ดำเนินขึ้นสู่สัมมาปฏิบัติ มิกลับจากพระนวโลกุตตรธรรม แลอนุโลมปฏิบัติอนุโลมตามพระนวโลกุตตรธรรม แลอปัจจนิกปฏิบัติมิได้เป็นข้าศึกแก่พระนวโลกุตตรธรรม แลปุพพภาคปฏิบัติอันเป็นส่วนเบื้องต้นแห่งพระนวโลกุตตรธรรม

  แลพระอริยสงฆ์สาวกนั้น  อุชุปฏิปนฺโน   ปฏิบัติซื่อปฏิบัติตรง แหวกเสียซึ่งลามกปฏิบัติทั้ง ๒ คือ อัตตกิลมภานุโยคแลกามสุขัลลิกานุโยค ปฏิบัติโดยมัชฌิมปฏิบัติ คือพระอัษฏางคิกมรรค ละเสียซึ่งคดอันประกอบในกายแลวาจาจิต   ญายปฏิปนฺโน  พระอริยสงฆ์สาวกนั้นปฏิบัติเพื่อได้ให้สำเร็จพระนิพพาน  สามีจิปฏิปนฺโน  ปฏิบัติควรแก่สามีกรรม   ยทิทํ จตฺตาริ ปริสยุคานิ 

พระอริยสงฆ์สาวกนั้นจัดเป็นคู่ได้ ๔ คู่ คือ โสดาปัตติมรรคบุคคลกับโสดาปัตติผลบุคคลคู่ ๑  พระสกทาคามิมรรคบุคคลกันพระสกทาคามิผลบุคคลคู่ ๑  พระอนาคามิมรรคบุคคลกับพระอนาคามิผลบุคคลคู่ ๑  พระอรหัตตมรรคบุคคลกับพระอรหันตบุคคลคู่ ๑  เป็น ๔ คู่ด้วยกัน

   อฏ ปุริส ปุคฺคลา  ถ้าแยกคู่ออกนั้นเป็นปริสบุคคล ๘ จำพวก  เอส ภควาโต สาวกสงฺโฆ   พระอริยสาวกแห่งสมเด็จพระสรรเพชญ์พุทธองค์ ผู้ทรงพระสวัสดิภาคย์ที่จัดเป็น ๔ คู่ เป็นปุริสบุคคล ๘ จำพวกดังนี้  อาหุเนยฺโย  ควรจะรับซึ่งจตุปัจจัยอันเฉพาะบุคคลผู้มีศีลนำมาแต่ไกลแล้ว แลน้อมเข้าถวาย  ปาหุเนยฺโย   แม้อาคันตุกทานอันบุคคลทั้งหลายตกแต่งไว้เฉพาะญาติแลมิตร อันเป็นที่รักที่ชอบใจอันมาแต่ทิศต่าง ๆ นั้นทายกนำมาถวาย ก็สมควรที่พระอริยสงฆ์จะพึงรับ

  แลบุคคลที่ไปมาสู่โลกทั้งหลาย สมมุติเรียกว่าแขกนั้น ผู้ใดผู้หนึ่งจะประเสริฐกว่าแขก คือพระอริยสงฆ์นี้หามิได้ พระอริยสงฆ์สาวกนั้น  ทกฺขิเณยฺโย   ควรจะรับซึ่งทานอันบุคคลเชื่อซึ่งกรรมแลผลแล้ว แลให้  อญฺชลีกรณีโย   ควรแก่อัญชลียกรรม

อันสัตว์โลกยกพระพุ่มหัตถ์ประนมมือเหนือเศียรเกล้าแล้วแลกระทำ  อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส  เป็นเนื้อนาบุญอันประเสริฐหาเขตอื่นจะเปรียบมิได้ แห่งสรรพสัตว์ในโลกนี้ แลพระโยคาพจรผู้ระลึกถึงคุณแห่งพระอริยสงฆ์ โดยนิยมดังนี้ย่อมจะได้คุณานิสงส์ต่าง ๆ ดุจดังพรรณนาแล้วในพุทธนานุสสติธัมมานุสสติกรรมฐานนั้น
 
  เหตุฉะนี้ นักปราชญ์ผู้มีปัญญาพิจารณาเห็นภัยในวัฏฏสงสารอย่าพึงประมาทละลืมเสียซึ่ง สังฆานุสสติกรรมฐาน พึงอุตสาหะระลึกเนือง ๆ อย่าให้เสียทีที่พบพระพุทธศาสนา

แลพระโยคาพจรผู้มีศรัทธาจำเริญธัมมานุสสติ สังฆานุสสติกรรมฐานนั้น มีกำหนดจะให้ได้สำเร็จแต่อุปจารสมาธิ บ่มิอาจดำเนินขึ้นสู่ภูมิแห่งอัปปนาได้

เหตุว่าพระธรรมคุณ พระสังฆคุณนั้นลึกล้ำคัมภีร์ภาพยิ่งนัก พระโยคาพจรหยั่งจิตกิริยา อันระลึกซึ่งพระธรรมคุณและพระสังฆคุณนั้นโดยนัยต่าง ๆ ไม่มีที่หยุดยั้งไม่มีที่ตั้ง เหตุดังนี้จึงมิได้ถึงซึ่งอัปปนาสมาธิ ได้เพียงอุปจารสมาธิ ฯ

จบสังฆานุสสติกรรมฐานแต่เท่านี้


 

สังฆานุสสติ โดยหลวงพ่อฤาษีลิงดำ
(จากหนังสือ กรรมฐาน ๔๐ กอง)

   สำหรับวันนี้จะได้พูดเรื่องสังฆานุสสติกรรมฐาน สังฆานุสสติกรรมฐานนี่มีการปฏิบัติเป็น ๓ ประการเหมือนกัน ตามแบบท่านให้พิจารณาคุณของพระสงฆ์ อันนี้จะเข้าถึงอุปจารสมาธิเป็นที่สุด ถ้ายึดรูปของพระสงฆ์เป็นอารมณ์ อันนี้จะเข้าได้ถึงฌาน ๔ หรือฌาน ๘ แล้วก็ในตอนท้ายพิจารณาธรรมที่ทำให้เป็นพระสงฆ์ ได้แก่วิปัสสนาญาณ อันนี้ได้ถึงพระนิพพานเหมือนกัน วิธีปฏิบัติเบื้องต้นก็จะขอไม่พูด ก็เพราะว่าให้ปฏิบัติมาเช่นเดียวกับพุทธานุสสติหรือธรรมานุสสติ คือพยายามตัดอารมณ์ อารมณ์ที่เรามีความห่วงใยเสียให้หมด
 
ในอันดับแรก ท่านกล่าวว่าคุณของพระสงฆ์  การพิจารณาความดีของพระสงฆ์ ที่ตามพระบาลี ท่านกล่าวว่า สุปฏิปันโน ภควโต สาวกสังโฆ เป็นต้น เรียกว่าพระสงฆ์สาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีความปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ การปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่เราจะปฏิบัติตามพระสงฆ์ ปฏิบัติยังไง เราใช้อารมณ์แบบย่อๆ พอให้เกิดความเข้าใจง่ายไม่ใช่ว่าไปนั่งไล่แบบกันเสียจนกระทั่งเกาะแบบไม่ติด เผลอแบบแล้วก็ทำอะไรไม่ได้ อย่างนี้ไม่ใช่วิสัยของนักปฏิบัติ นักปฏิบัติเขาจะต้องเก็บของที่กระจายออกไปมากมายเข้ารวมอยู่ในจุดเดียว แล้วเราจึงจะค้นคว้าจับเอาได้ให้เป็นประโยชน์โดยง่าย ฉะนั้นชื่อว่าคุณของพระสงฆ์มีมากมายด้วยกัน

ถ้าจะกล่าวกันไปก็คือพระธรรมขันธ์ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั่นแหละที่เป็นคุณของพระสงฆ์ เพราะว่าพระพุทธเจ้าทรงเทศน์ความรู้ให้พระสงฆ์ปฏิบัติถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ย่อให้สั้นลงได้แก่มรรค ๘ มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น ย่อมรรค ๘ ลงมาให้เหลือเพียงแค่ศีล สมาธิ ปัญญา เมื่อศีล สมาธิ ปัญญา ยังยาวไป ก็ย่อลงมาเหลือรูปกับนาม เมื่อรูปกับนามนี่ก็ยังยาวเกินไป เราย่อมาเป็นสังขารที่เรียกว่า บุญญาภิสังขาร คำว่าบุญญาภิสังขารก็หมายถึงว่ามีอารมณ์เป็นบุญเป็นกุศลอยู่ตลอดเวลา เท่านี้ก็ถึงพระนิพพานได้แล้ว

การย่อมากเกินไปบรรดาท่านทั้งหลายจะไม่เข้าใจ ขอขยายออกไปอีกนิด ย่อลงมาถึงบุญญาภิสังขาร ทำยังไงถึงจะเป็นบุญญาภิสังขาร คำว่าอภิสังขารตัวนี้ไม่ใช่ร่างกาย อภิสังขารตัวนี้ได้แก่อารมณ์ของจิต อารมณ์ของจิตที่เป็นบุญก็หมายถึงว่าอารมณ์จิตที่มีความสะอาด หรืออารมณ์จิตที่มีความดีไม่เกลือกกลั้วไปด้วยความชั่วนั่นเอง อารมณ์จิตของเราที่มันจะไม่เกลือกกลั้วกับความชั่วตามนัยของพระอริยเจ้าที่เรียกกันว่าพระอริยสงฆ์ก็คือ

เราพิจารณาศีลตามฐานะของเรา ทรงศีลให้บริสุทธิ์ จำไว้ทีเดียวว่าศีลต้องบริสุทธิ์ทุกสิกขาบท พระมีศีล ๒๒๗ สิกขาบทต้องบริสุทธิ์หมด ความจริงบริสุทธิ์แค่ ๒๒๗ สิกขาบทนี่ยังไม่ดีพอ เพราะว่ายังมีสิกขาบทยิ่งไปกว่านี้อีก สิกขาบทที่มีในพระปาฏิโมกข์ ๒๒๗ สิกขาบท ถึงแม้ว่าจะน้อยเกินไปก็ควรจะรักษาให้บริสุทธิ์ เณรรักษาศีล ๑๐ ให้บริสุทธิ์ ฆราวาสรักษาศีล ๕ หรือศีล ๘ ให้บริสุทธิ์ ถ้าเราพิจารณาว่าศีลของเรามีสภาพเป็นยังไงแล้วก็ทรงศีลให้บริสุทธิ์ทุกลมหายใจเข้าออกอย่างนี้ชื่อว่าเป็นสังฆานุสสติอันดับแรก ยังไม่เป็นพระแท้ ยังไม่เข้าถึงพระแท้ นี่เข้าถึงเปลือกพระ

คราวนี้มาเข้าถึงกระพี้พระ เมื่อทรงศีลบริสุทธิ์แล้วก็ทำจิตให้ทรงสมาธิ คำว่าสมาธิคือจิตตั้งไว้ในเฉพาะส่วนที่เป็นกุศลอย่างเดียว เป็นเอกัคตารมณ์ หมายความว่า อารมณ์ของเรานี้อยู่ในส่วนที่เป็นกุศลโดยเฉพาะ จะเลือกเอาในมหาสติปัฏฐานสูตรหรือว่าในกรรมฐานทั้ง ๔๐ ก็ได้ตามใจชอบ มีผลเสมอกัน ทรงอารมณ์อย่างนี้ได้ตลอดคืนตลอกวัน อารมณ์ของเราไม่ไปยุ่งกับอารมณ์ของความชั่ว ตั้งอยู่ในขอบเขตของคุณความดี แล้วก็มีพรหมวิหารสี่เป็นอัปปมัญญา

คำว่าพรหมวิหารสี่ก็มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา คำว่าอัปปมัญญาคือไม่มีขอบเขต เรามีพรหมวิหารสี่ทรงความดีประเภทนี้ไม่จำกัดบุคคลและสัตว์ ไม่เลือกหมูไม่เลือกคณะ ไม่เลือกประเภทของคนและสัตว์ เรามีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา สม่ำเสมอกันหมด อันนี้ชื่อว่าเข้าถึงกระพี้พระสงฆ์แล้ว ยังไม่ถึงแก่น

ตอนที่จะเข้าถึงแก่น เราก็มาพิจารณาว่าพระสงฆ์สาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ท่านเป็นพระอริยเจ้าได้ พระพุทธเจ้ายอมรับว่าเป็นพระสงฆ์นั่นน่ะท่านปฏิบัติยังไง เราก็จะเห็นได้ว่าท่านปฏิบัติตามกระแสพระสัทธรรมเทศนาขององค์สมเด็จพระจอมไตรคือปฏิบัติในอริยสัจทั้ง ๔ ประการ มีสภาวะรู้ความทุกข์ว่าขันธ์ ๕ มันเต็มไปด้วยความทุกข์ ไม่ต้องไปหาทุกข์ที่ไหน หาทุกข์ที่ร่างกายเราให้พบ ไอ้การที่ไปหาทุกข์ของชาวบ้านนั่นน่ะมันไม่เห็นทุกข์ของร่างกาย หน้าของชาวบ้านเขามอมขมุกขมัวมอมแมมผมเผ้ารุงรัง ผิวหน้าตาไม่สะสวย มองเห็นหน้าเขาได้ แต่ว่าหน้าของเรามันเลวกว่าหรือว่ามันสกปรก ข้อนี้มีอุปมาฉันใดการมองดูทุกข์ก็เหมือนกัน

ในอันดับแรกมองให้เห็นทุกข์ของร่างกายเป็นสำคัญ ว่าความเกิดเป็นทุกข์ มันเป็นทุกข์ยังไง บรรยายกันมากเวลาไม่พอ การอยู่ในท้องแม่คุดคู้อยู่ตลอดเวลา ๑๐ เดือนมันสบายหรือ ออกมาข้างนอกแล้วมากระทบกับอากาศความร้อนความหนาวปวดแสบร่างกายทั้งตัว

เมื่ออกมาแล้วมีความหิวมีความกระหาย มีการปวดอุจจาระปัสสาวะ มีความป่วยไข้ไม่สบาย มีความปรารถนาไม่สมหวัง นี่เป็นอาการของความทุกข์ทั้งหมด เมื่อโตขึ้นแล้วก็มีประการหนึ่งคือการประกอบกิจการงานเต็มไปด้วยความเหนื่อยยาก มันก็เป็นอาการของความทุกข์ แล้วยิ่งกว่านั้นกิเลสยั่วยุให้หาทุกข์เพิ่มขึ้นไป เป็นหนุ่มเป็นสาวแล้วอยู่คนเดียวไม่พอหาว่ามันสุขน้อยเกินไป พยายามแสวงหาคู่ครองเข้าไว้อีก นี่มันเพิ่มทุกข์หนักเข้าไปอีก เมื่อมีคู่ครองแล้วมันก็ยังไม่พอ อยากจะมีลูกอยากจะมีหลาน อยากจะมีเหลน


เมื่อลูกโผล่ออกมาแต่ละคนก็เต็มไปด้วยความทุกข์ แล้วความป่วยไข้ไม่สบายเบียดเบียน ร่างกายก็เต็มไปด้วยความทุกข์ ความแก่ชราเข้ามาถึงตัว ร่างกายเป็นไปไม่ได้ตามปกติ หาความสุขหาความสะดวกของร่างกายไม่ได้ นี่ก็เป็นอาการของความทุกข์ ในที่สุดการพลัดพรากจากของรักของชอบใจก็เป็นอาการของความทุกข์ เมื่อความตายเข้ามาถึง เราไม่อยากตายมันก็ทุกข์ นี่ทุกข์โดยย่อที่กล่าวมาแล้วมันก็แค่นี้แหละ ถ้าเยอะแยะมันก็ทุกข์ มองหาทุกข์ให้มันพบ หาความไม่เที่ยงของร่างกายให้มันพบ เมื่อความไม่เที่ยงเกิดขึ้นมันก็เป็นทุกข์ ผลที่สุดมันก็สลายตัว เมามันทำไม

เมื่อเราเห็นทุกข์แล้ว ก็หาทางตัดความทุกข์ อะไรมันเป็นเหตุของความทุกข์ก็ได้แก่ความอยากคือตัณหา อยากเกิด อยากมีผัว อยากมีเมีย อยากมีลูก อยากมีหลาน อยากมีเหลน อยากมีทรัพย์สินต่างๆมีความอยากไม่รู้จักจบ เรียกว่าอยากนอกรีตนอกรอย อยากตะเกียกตะกายหาความทุกข์เข้ามาใส่ใจ เห็นว่ามันเป็นความสุข นี่เพราะอาศัยความโง่เป็นสำคัญ องค์สมเด็จพระภควันต์บรมศาสดาจึงสอนให้ อยากใหม่ เอาความอยากแก้อยาก จิตมันอยากอยู่แล้ว แก้มัน ทำลายความอยากมันไม่ได้ ก็หันเข้าหาอยาก เปลี่ยนอยากเสียใหม่ แทนที่จะอยากเกิดเราก็อยากไม่เกิด

มันอยากแก่มาก่อนเราก็อยากไม่แก่ มันอยากตายมาก่อนเราก็อยากไม่ตาย ไอ้อยากไม่ตายนี่อยากด้วยกันทุกคน อยากยังไงมันถึงจะอยากไม่เกิด อยากไม่แก่ อยากไม่ตาย เราก็ต้องมีความอยากคืออยากตัดโลภะความโลภ โทสะความโกรธ โมหะความหลง ตัดโลภะความโลภด้วยการให้ทาน ตัดโทสะความโกรธด้วยการทรงพรหมวิหารสี่ ตัดโมหะความหลงด้วยสักกายทิฏฐิ นี่พระสงฆ์สาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิบัติอย่างนี้ถึงได้เป็นพระสงฆ์ตามที่พระพุทธเจ้าทรงรับรอง

ตอนนี้เราจะทำยังไงมันถึงจะตัดโมหะได้ โมหะตัวเดียวหมดเรื่องกันไป การตัดโมหะที่เราจะพึงตัดได้ตามรูปของอริยสัจ ก็พิจารณาว่าร่างกายนี่มันเป็นเราหรือเป็นของเราจริงหรือเปล่า เนื้อแท้มันไม่ใช่ของเรา มันไม่เคยตามใจเรา เราปรนเปรอมันด้วยประการทั้งปวง มันไม่เคยเชื่อเรา เราไม่ต้องการให้มันแก่ มันก็แก่ เราไม่ต้องการให้มันป่วย มันก็ป่วย เราไม่ต้องการให้มันตายมันก็ตาย นี่เราจะไปนั่งมัวเมามันทำไม ในเมื่อร่างกายมันไม่เชื่อเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ตัดมันทิ้งไปเสีย ตัดทิ้งแบบไหน?

เอาอย่างง่ายๆที่สุด อย่างพระโคธิกะ นี่พูดถึงสังฆานุสสติ ใช้วิธีรวบรัดแบบง่ายๆ เอาอย่างพระโคธิกะเป็นสำคัญ แต่อย่าเอาเยี่ยงพระโคธิกะนะเอาแต่อย่าง อย่างพระโคธิกะท่านปลงขันธ์ ๕ เมื่อเวลาร่างกายของท่านป่วยหนัก ท่านไม่มีโอกาสที่จะปฏิบัติความดีให้เป็นพระโสดาสกิทาคาอนาคาอรหันต์ ได้แต่อารมณ์จิตทรงฌานโลกีย์ ฌานก็ย่อแย่ง่อนแง่นเต็มที เพราะร่างกายมันป่วย ท่านจึงมาพิจารณาว่า
      
                ร่างกายนี้มันเป็นโทษ  ร่างกายเป็นภัย  ร่างกายเป็นมาร
      มันรุกรานจิตใจของเรา  ทำลายความดีของเรา
      นี่เราเกิดในสำนักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  เพื่อนเขา
      เป็นพระโสดาสกิทาคาอนาคาอรหันต์แล้ว  แต่เราอยู่กับองค์สมเด็จ
      พระประทีปแก้วกลับได้ฌานโลกีย์  ก็ง่อนแง่นคลอนแคลนไม่ทรงตัว
      ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะร่างกายเป็นปัจจัย  ร่างกายเป็นอุปสรรค
      เราถือว่าร่างกายเป็นมารร้ายคอยทำลายความดี


ขึ้นชื่อว่าร่างกายที่ประกอบไปด้วยขันธ์ ๕ อย่างนี้เราไม่ต้องการมันอีก
      เมื่อเราตายจากภาวะคราวนี้แล้วขึ้นชื่อว่าขันธ์ ๕ จะเป็นส่วนใดๆ
      ก็ตาม  จะอยู่ในฐานะใดๆก็ตาม  เราไม่ต้องการทั้งหมด
      ต้องการลดสมรรถภาพของขันธ์ ๕ ตัดให้ขาดกระเด็นไป
      ทำหนังสือหย่าขาดกัน  แล้วไม่ผูกพันธ์ในขันธ์ ๕ ต่อไป
      ขึ้นชื่อว่าขันธ์ ๕ จะไม่มีสำหรับเราอีก

เมื่อพิจารณาดังนี้แล้ว แกก็หยิบมีดโกนขึ้นมาเชือดคอตาย เมื่อตายแล้วพระโคธิกะก็ไปนิพพาน นี่อารมณ์ที่เราจะเข้าถึงเป็นสังฆานุสสติได้สมบูรณ์ก็ตัวตัดขันธ์ ๕ แต่ว่าไม่ใช่เชือดคอ ไม่เอานะ วิธีเชือดคอไม่เอา แต่ใช้อารมณ์เช่นเดียวกับพระโคธิกะมันง่ายดีเป็นตัวอย่าง ลืมตาอยู่ทุกขณะยังไม่หลับ มีความคิดอยู่เสมอว่าร่างกายนี้เป็นภัยร่างกายนี้เป็นโจรร้ายที่มันพยายามปล้นความสุขเราอยู่ตลอดเวลา เราปรนเปรออาหารให้มันกินวันละ ๓ เวลา ๕ เวลามันก็ไม่พอ

 มันก็ยังอยากโน่นอยากนี่อีก ยังมีความทุกข์ กินอาหารแล้วมันหิว หิวแล้วกินอาหาร อิ่ม อิ่มแล้วมันร้อน มันอยากจะอาบน้ำ มันหนาวอยากจะหาความอุ่น กินของคาวแล้วมันก็จะกินของหวาน หาให้มันทุกอย่างมันก็ยังแก่ลงไปทุกวันมันก็ป่วยไปทุกวัน ต้องประกอบกิจการงานด้วยความเหนื่อยยาก แต่มันไม่มีความรักเราสักนิดหนึ่ง เลี้ยงดูมันขนาดไหนมันก็ไม่ยอมเชื่อไม่ยอมเห็นใจเรา มันทรุดโทรมอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น ขึ้นชื่อว่าขันธ์ ๕ คือร่างกายนี้เราจะไม่คบมันต่อไป เราต้องการอย่างเดียวคือไม่มีขันธ์ ๕ ได้แก่พระนิพพาน

พระนิพพานนี่มีอะไร พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าพระนิพพานนี่ตัดธาตุทั้งหมดอุปาทานรูปทั้งหมดให้แก่ดินน้ำลมไฟ ไม่มีในพระนิพพาน ไม่มีร่างกายอย่างนี้ แต่ว่าอายตนะยังมีอยู่ อายตนะได้แก่ตาหูจมูกลิ้นกายใจ นี่เอากายมาจากไหน กายมันก็เป็นกายทิพย์พิเศษ ตามี หูมี มือมี เท้ามี แขนมี ขามี มีทุกอย่าง แต่ว่าร่างกายของเทวดาก็ดี พรหมก็ดี พระนิพพานก็ดี ขาดอวัยวะภายใน

เครื่องจักรกลภายในคือลำไส้ ตับ ไต ไส้ปอด อุจจาระปัสสาวะ น้ำเลือดน้ำเหลืองน้ำหนองไม่มี มีสภาพเบาคล้ายลม มันก็หมดกันไม่มีเส้น ไม่มีเอ็น ไม่มีเส้นไม่มีเอ็นจะปวด มันจะปวดที่ไหนล่ะ ไม่มีกระเพาะจะใส่อาหาร มันจะหิวได้ยังไงไม่มีประสาทจะรับสัมผัสความร้อนความหนาวมันจะรู้สึกได้ยังไง เป็นอันว่าพระนิพพาน ไม่รู้สึกทุกข์ อารมณ์แห่งพระนิพพานทุกข์ชนิดหนึ่งไม่มี

นี่การเจริญสังฆานุสสติกรรมฐาน ถ้ามุ่งเอาระดับฌานให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับพุทธานุสสติกับธรรมานุสสติเป็นพระกรรมฐานที่ปฏิบัติมาแล้ว เมื่อได้ฌาน ๔ แล้วจะทำเป็นอรูปฌานให้เกิด ก็ยกภาพพระสงฆ์องค์ใดองค์หนึ่งที่เรากำหนดขึ้นมาเป็นกสิณ เมื่อเป็นกสิณแล้วก็เพิกกสิณทิ้งไปถืออรูปฌานเป็นสำคัญ แต่ว่านั่นต้องระวังนะ ฌาน คืออรูปฌานก็ดีรูปฌานก็ดีทำลายความดีของคนมามากแล้ว ถ้าไปหลงอยู่ในรูปฌานและอรูปฌาน มันเข้าใจว่าจิตใจของตัวเข้าถึงพระนิพพาน

ความหลงตัวนี้เป็นเหตุร้ายแรงมากต้องคิดไว้เสมอว่า อารมณ์แน่นสนิทอย่างเดียวไม่มีความพอ เราต้องการอย่างเดียวคืออารมณ์ตัด
ตัดความสวย ความงาม ทั้งคนและสัตว์และวัตถุ เห็นอะไรเข้ามาก็ตามไม่รู้สึกว่ามันจะสวยสดงดงามตรงไหน หาความดีอะไรไม่ได้ ร่างกายของคนและสัตว์เต็มไปด้วยความโสโครก ไม่มีความทรงตัว มีการสลายตัวไปในที่สุด ไปหลงมันทำไม วัตถุก็เหมือนกัน

ตัดความโลภ การแสวงหาอาชีพเพื่อการครองชีพเป็นของธรรมดา เป็นหน้าที่แต่ว่าจิตใจไม่ทะเยอทะยานเกินพอดี ไม่ต้องการอาชีพนอกรีตนอกรอยคดโกงเขา ทำตัวให้ลำบาก ไม่เอา อย่างนี้เป็นความโลภ ถ้าเป็นฆราวาสก็ประกอบกิจวัตรเป็นสัมมาอาชีวะหาเลี้ยงชีพโดยชอบธรรมไม่เป็นบาปไม่เป็นโทษ ทำตามหน้าที่ แต่คิดไว้เสมอว่าทรัพย์สมบัติทั้งหลายเหล่านี้ตายแล้วก็เลิกกัน ไม่ห่วงไม่ใยมัน ตายแล้วมันจะไปทางไหนก็ช่างเราไม่ใช้มัน


ตัดความโกรธด้วยอำนาจพรหมวิหาร ๔
ตัดความหลงเสียด้วยอำนาจของสักกายทิฏฐิ พิจารณาว่า ร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ตามที่กล่าวมาแล้ว เมื่อจิตใจของเรามีอารมณ์ทรงอยู่ตลอดเวลา ความโลภไม่ปรากฏความทะเยอทะยานไม่ปรากฏ ความผูกพันในร่างกายของเราของบุคคลอื่นไม่ปรากฏ ความโกรธความพยาบาทไม่มีในใจ ไม่เห็นอะไรเป็นสาระแก่นสารคือไม่มีความหลง อารมณ์มันก็มีความสุข มันมีความสุขจริงๆ ไม่มีความทุกข์ ทำให้ถึงเถอะมันสุขบอกไม่ถูก ถ้าจิตเราเข้าถึงพระนิพพานแต่กายมันยังทรงอยู่ ยังมีความรู้สึกหนาว ร้อน หิวกระหาย แต่ใจมันก็สบาย มันถือเป็นเรื่องธรรมดาเสียทั้งหมด จิตมีความสุขบอกไม่ถูก นี่การเจริญสังฆานุสสติกรรมฐานโดยย่อก็ขอกล่าวไว้แต่เพียงเท่านี้

เอ้า ต่อแต่นี้ไปขอทุกท่าน พยายามตั้งกายให้ตรงดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก อย่าทิ้งนะ อานาปานสติกรรมฐาน ถ้าทิ้งละก็เสร็จ พยายามกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกหายใจเข้านึกว่า พุท หายใจออกนึกว่า โธ หรือว่าจะภาวนาว่ายังไงก็ได้ตามอัธยาศัยจนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา


เพื่อนๆสมาชิกทุกท่าน อ่านไปก่อนนะครับ ส่วนผมจะมาตอบคำถามให้อีก
ในโอกาสต่อไป


ขอให้ธรรมคุ้มครอง


 :25:


บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

ธัมมะวังโส

  • ธัมมะวังโส
  • ผู้บริหารเว็บ
  • โยคาวจรผล
  • *
  • ผลบุญ: +180/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 7250
  • Respect: +6
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
Re: สังฆคุณ สติตามระลึกคุณของพระสงฆ์
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: กรกฎาคม 01, 2010, 01:27:10 pm »
0
สำหรับ สังฆานุสสติกรรมฐาน นั้นไม่นิยมด้วยปัจจุบัน

ผู้ฝึกถ้าไม่น้อมหรือ ศรัทธา ในพระอริยะสงฆ์รูปใด รูปหนึ่งนั้น

ก็จะปฏิบัติยาก เพียงนึกถึงคุณของพระสงฆ์ ประกอบด้วย

พระโสดาปัตติมรรค พระโสดาปัตติผล เป็นต้น นั้น

ผู้ฝึกถ้าไม่มีศรัทธา ในพระสงฆ์ รูปใด รูปหนึ่ง ก็จะไม่ซาบซึ้งในพระกรรมฐาน

ดังนั้น พระอาจารย์ กรรมฐาน  โดยส่วน สมถะจึงไม่แนะนำการฝึก

แนะนำให้ฝึก เพียง พุทธานุสติ กรรมฐาน เท่านั้น

สำหรับในอนุสสติ นับเนื่องด้วย วิปัสสนาแล้ว ก็สามารถฝึกได้ ทุกองค์กรรมฐาน

 ;)
บันทึกการเข้า
เว ทา สา กุ กุ สา ทา เว ทา ยะ สา ตะ ตะ สา ยะ ทา สา สา ทิ กุ กุ ทิ สา สา กุ ตะ กุ ภู ภู กุ ตะ กุ

chatchay

  • พอพึ่งพาได้
  • ***
  • ผลบุญ: +4/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 244
  • เกิดเป็นคนต้องมีดี บวชทั้งทีต้องสร้างดีให้กับตน
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: สังฆคุณ สติตามระลึกคุณของพระสงฆ์
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: กรกฎาคม 01, 2010, 09:21:29 pm »
0
 :25: :25: :25:

โดยปกติ เวลาผมภาวนา ด้วยคำว่า สังโฆ หรือ สวดพระสังฆคุณเวลาภาวนา นั้น ก็ไม่เคยได้สมาธิครับ

กับมาใช้ พุทโธ แล้วจิต เป็นสมาธิไวกว่าครับ


 :25: :25:
บันทึกการเข้า
ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
โทษอันใดที่ข้าพเจ้าล่วงเกินแล้วต่อพระรัตนตรัย ด้วย กาย ด้วยวาจา ด้วยใจ
ขอพระรัตนตรัย โปรดจงงดซึ่งโทษล่วงเกินนั้นแก่ข้าพเจ้า ตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป ด้วยเทอญ