ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: สูตรว่าด้วย การออกจาก กาม  (อ่าน 5781 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

สายฟ้า

  • กำลังแหวกกระแส
  • **
  • ผลบุญ: +1/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 100
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
สูตรว่าด้วย การออกจาก กาม
« เมื่อ: กันยายน 20, 2010, 02:53:13 pm »
0
"สูตรว่าด้วยการออกจากกาม"
สารัตถะในพระไตรปิฎก

ท่านวังคีสะอยู่กับท่านนิโครธกัปปะ ผู้เป็นอุปัชฌย์ ที่อัคคาฬวเจดีย์ เมืองอาฬวี เนื่องจากที่ตนบวชใหม่ อุปัชฌายะจึงให้เฝ้าวิหาร
          ท่านอยู่ที่วิหารรูปเดียว เห็นสตรีสาว ๆ แต่งตัวสวยงามมาชมที่อยู่ของพระ เกิดความกระสัน เพราะจิตกำหนัดในสตรีเหล่านั้น แต่กลับได้ความคิดด้วยการพิจารณาว่า

          "การที่เราเกิดความกระสัน เพราะถูกความกำหนัดรบกวนนี้ ไม่เป็นลาภ ไม่ดีเลย แต่เป็นการได้ชั่ว ในขณะนี้ไม่อาจหาใครช่วย บรรเทาความกระสันให้แก่เราได้ เอาเถอะ เราควรบรรเทาความกระสันที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง แล้วยังความยินดีในธรรมให้เกิดขึ้นแก่ตนด้วยตนเองเถิด"


          เมื่อท่านทำได้สำเร็จตามที่คิด จึงมีจิตยินดีกล่าวคาถาความว่า

          วิตกทั้งหลาย เป็นเหตุให้คะนอง เกิดแต่ธรรมดาย่อมวิ่งเข้าสู่เราผู้ออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่มีเรือนแล้ว

          บุตรของคนชั้นสูง มีฝีมือเชี่ยวชาญศึกษาดีแล้ว ถือธนูไว้มั่นคง สามารถขับคนที่ไม่ต้องการจะหนี ให้วิ่งหนีกระจัดกระจายไปได้ฉันใด

          แม้สตรีมากยิ่งกว่านี้จักมา สตรีเหล่านั้นจักเบียดเบียนเรา ผู้ตั้งมั่นแล้วในธรรมของตนไม่ได้เลยฉันนั้น

          เพราะว่า เราได้ฟังธรรมเพื่อไปสู่พระนิพพาน ในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์แล้ว ใจของเรายินดีในทางไปสู่พระนิพพานนั้น

          ดูกรมารผู้ชั่วร้าย ถ้าท่านจะเข้ามาหาเราผู้อยู่อย่างนี้ มฤตยูราชเอ๋ย เราจะทำโดยวิธีที่ท่านจักไม่เห็นแม้ซึ่งทางของเราเลย

ข้อควรกำหนดในพระสูตรนี้

          ๑. อัคคาฬวเจดีย์ เป็นชื่อของเจดีย์แห่งหนึ่ง บรรดาเจดีย์จำนวนมากในเมืองอาฬวี ชาวเมืองนี้มีความเชื่อถือหนักไปทางธรรมชาติ คือ ยอมรับว่าสรรพสิ่งมีปราณ

           ข้อห้ามมิให้พระพรากภูตคามขุดดิน เกิดขึ้นที่เมืองนี้ เพราะชาวบ้านมีปฏิกิริยา เมื่อเห็นพระไปทำเช่นนั้น ในเมืองนี้มียักษ์นามว่า อาฬวกยักษ์ เป็นผู้ดุร้ายมาก แต่พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรด ให้กลายเป็นผู้ดีมีศีลธรรมได้

          ๒. การที่พระนิโครธกัปปะ ปล่อยให้พระวังคีสะเฝ้าวัด เพราะท่านเพิ่งบวชใหม่ห่มจีวรยังไม่ถนัด จึงให้เฝ้าวัดไปก่อน แต่เพราะท่านเป็นคนหนุ่ม เมื่อเจอสาว ๆ เป็นจำนวนมากเข้า จิตก็แปรปรวนไปตามความเคยชิน ในสมัยเป็นฆราวาส ทางพระพุทธศาสนาจึงถือว่า

           อิตฺถี มลํ พฺรหฺมจริยสฺส หญิงเป็นมลทินของพรหมจรรย์


          ๓. เพื่อป้องกันไม่ให้จิตของผู้บวชแปรปรวนไป เพราะรักสตรี ท่านจึงได้สอนให้พิจารณาความไม่สวยงามแห่งรูปร่างกาย คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ตั้งแต่วันบวชแล้ว

            โดยให้กำหนดพิจารณาโดยสีสัณฐาน กลิ่น ที่เกิดที่อยู่ของสิ่งเหล่านั้น เพราะในแง่ของความจริงระดับหนึ่งนั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่า พระองค์ไม่เห็น

           "รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันใดที่จะครอบงำใจบุรุษได้รุนแรงกว่าของสตรี และในทำนองเดียวกัน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะของบุรุษ ก็มีอิทธิพลครอบงำใจสตรีได้มากกว่ารูปเป็นต้นอย่างอื่นด้วย

           ๔. เพื่อให้เกิดการสำรวมระวัง เตรียมกาย ใจ เผชิญปัญหาชีวิตของนักบวช จึงทรงแสดงอันตรายของภิกษุไว้ ๔ ประการ คือ

            ๔.๑ อดทนต่อคำสั่งสอนไม่ได้ เบื่อต่อคำสั่งสอน ขี้เกียจปฏิบัติตาม

            ๔.๒ เป็นคนเห็นแก่ปากแก่ท้อง ทนความอดยากไม่ได้

            ๔.๓ เพลิดเพลินในกามคุณ ทะยานอยากได้สุขยิ่ง ๆ ขึ้นไป

            ๔.๔ รักผู้หญิง


          ภิกษุสามเณรผู้หวังความเจริญแก่ตน ควรระวังอันตรายทั้ง ๔ นี้ไว้ ไม่ให้มีอิทธิพลเหนือจิตใจตน เพราะหากทนไม่ได้แล้ว ไม่ว่าจะบวชใหม่บวชเก่า โอกาสที่จะสึกเป็นฆราวาสมีได้ง่ายมาก

          ๕. อันที่จริงกามตัณหา กามราคะ ตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดขึ้นคือ ความดำริ ด้วยเงื่อนไข ที่ตายตัวว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้น น่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ

          เมื่อดำริถึงในลักษณะนี้บ่อย ๆ เข้า ความเข้มข้นแห่งตัณหาราคะ ก็มีปริมาณสูงขึ้นภายในจิต จนทำจิตให้เร่าร้อนกระสับกระส่ายไป กลายเป็นความรัก ความปรารถนาอย่างรุนแรง เหตุนั้นพระพุทธเจ้าจึงรับสั่งว่า

          "ดูกรกาม บัดนี้เราเห็นเจ้าแล้ว เจ้าเกิดจากความดำรินี้เอง เราจักไม่ดำริถึงเจ้าอีกแล้ว" เพราะพระองค์ทรงทำลายกิเลสกามได้เด็ดขาดนั่นเอง


          ๖. พระวังคีสะ เป็นพระหนุ่มที่ประกอบด้วยสมณสัญญาสูงมาก สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ฝ่าฟันวิกฤตกาณ์ไปได้ จะเห็นว่าท่านเริ่มจากความดำริในทางที่ถูกที่ควร คือ

            ๖.๑ ความคิดเช่นนี้ ไม่ใช่ลาภ ไม่เป็นการได้ดีของท่าน แต่กลับเป็นการได้ไม่ดี

             ๖.๒ เมื่อมองหาคนที่จะช่วยเหลือบรรเทาความรู้สึกกระสันให้ไม่ได้ จึงตัดสินใจช่วยตนเอง ด้วยการมองสิ่งที่ท่านเกิดความกระสัน ในทำนองตรงกันข้าม ตามที่ได้ศึกษามา

            ๖.๓ มีความสำนึกว่า กามวิตก อันเป็นเหตุให้คะนอง ได้วิ่งเข้ามาหาท่านแล้ว แต่กามวิตกเป็นธรรมฝ่ายดำ

          และท่านยังสามารถดึงเอาบุคคลที่ประสบความสำเร็จในศิลปธนู ที่ได้ศึกษาดีแล้ว สามารถขับคนให้แตกกระจายไปได้ ก็ทำไมเล่า ท่านเองซึ่งบวชในสำนักของพระพุทธเจ้า จะต้องมาสยบต่ออารมณ์ที่เกิดขึ้น

           ๖.๔ เมื่อท่านมีความมั่นใจมากพอแล้ว เกิดความเชื่อมั่นว่าสตรีทั้งหลายจะมากันมากอย่างไร ก็ไม่อาจทำให้จิตท่านหวั่นไหวได้

          เพราะท่านมีความเชื่อมั่นในธรรม อันท่านได้สดับมาจากพระผู้มีพระภาค จนถึงท้าทายมารว่า ท่านจะเพียรพยายาม จนมารหาทางของท่านไม่พบให้ได้

          ๗. การกระทำทั้งหมดของพระวังคีสะ จึงเป็นการทำตามหลักที่ทรงแสดงไว้ว่า

          "จงเตือนตนด้วยตน จงพิจารณาตนด้วยตน ตนแลเป็นที่พึ่งของตน คนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้ บุคคลฝึกฝนตนดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งที่ได้โดยยาก บัณฑิตพึงทำตนให้ผ่องแผ้วจากเครื่องเศร้าหมองจิตเป็นต้น"


พระวังคีสะ มีเรื่องที่ต้องต่อสู้กับความรู้สึก ที่หนักไปในทางรักใคร่มากทีเดียว ในพระสูตรต่อไป ที่เรียกว่า อรติสูตร ขณะที่อุปัชฌายะของท่านอยู่ในห้อง


          ท่านคิดพล่านไป จนไปเกิดความกระสันขึ้นมา ได้คิดตามพระสูตรก่อน แล้วได้กล่าวสอนตนเองว่า

          "บุคคลใดละความไม่ยินดีในศาสนา และความยินดีในกามคุณทั้งหลาย พร้อมด้วยวิตกอันเกี่ยวข้องด้วยบ้านเรือน ไม่พึงทำป่าใหญ่คือกิเลสในอารมณ์ไหน ๆ ผู้ใดเป็นผู้ไม่มีป่าคือกิเลส ไม่น้อมใจไป ผู้นั้นแล ชื่อว่าผู้เห็นภัยในสังสารวัฏ

          รูปอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกนี้ จะต้องอยู่ ณ ที่ใดก็ตาม จะต้องทรุดโทรม ไม่เที่ยงทั้งหมด บุคคลผู้สำนึกตน ย่อมถึงความตกลงอย่างนี้แล้วเที่ยวไป

          ชนทั้งหลายเป็นผู้ติดในอุปธิ คือกามคุณอันตนเกี่ยวข้องแล้ว ท่านจงบรรเทาความพอใจในกามคุณเหล่านั้น เป็นผู้ไม่หวั่นไหว บุคคลใดไม่ติดอยู่ในกามคุณ ๕ เหล่านั้น บัณฑิตทั้งหลายเรียกบุคคลนั้นว่า เป็นมุนี

           ความนึกคิดอันไม่ชอบธรรม ซึ่งอาศัยอารมณ์ ๖ เป็นอันมาก ไม่พึงมีไม่ว่าในที่ใดแก่ผู้รู้ในวัฏฏะ ภิกษุไม่ควรพูดวาจาหยาบ

           ควรเป็นผู้มีปัญญา มีใจมั่นคงตลอดกาล ไม่ลวงโลก ควรมีปัญญาแก่กล้า ไม่ควรมีตัณหา มุนีผู้ได้บรรลุธรรมอันสงบแล้ว ย่อมหวังแต่เวลาปรินิพพานเท่านั้น"

           ด้วยการนึกคิด ในทำนองสอนตน ติเตียนตน กระตุ้นให้เกิดความสำนึกที่เหมาะที่ควรเช่นนี้ ทำให้ท่านข่มความรู้สึกกระสัน ด้วยอำนาจกามราคะลงไปได้

          ความกระสันที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เกิดจากความดำริถึงกามคุณ ด้วยความใคร่ ปรารถนาพอใจเท่านั้นเอง เพราะไม่มีปัจจัยภายนอกมากระตุ้นอย่างสูตรก่อน ดังที่แสดงไว้ในอังคุตตรนิกายว่า

          "สงฺกปฺปราโค ปุริลสฺส กาโม ความกำหนัดอันเกิดจากความดำริ เป็นกามของคน"
          โบราณท่านจึงสอนไว้ว่า "อยู่คนเดียว ให้ระวังความคิด อยู่ท่ามกลางมิตรให้ระวังวาจา" เพราะว่า "ผู้ประพฤติตามอำนาจจิต ย่อมได้รับความลำบาก

          ดังนั้น เมื่อบาปจะเกิดขึ้นจากอารมณ์ใด ๆ พึงห้ามใจจากอารมณ์นั้น ๆ "

          "การฝึกจิตจึงเป็นความดี เพราะจิตที่ฝึกแล้วย่อมนำความสุขมาให้"

          บนเส้นทางแห่งการปฏิบัติธรรมนั้น ตราบใดที่ยังไม่ได้บรรลุ เป็นพระอนาคามีบุคคล การที่จะทำจิตของตนให้หลุดพ้นจากกามราคะเป็นไปได้ยากยิ่ง

          พระวังคีสะเป็นตัวอย่างในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี แม้ว่าท่านจะสามารถชนะใจตนเองได้ครั้งแล้วครั้งเล่า มีความคิดเห็นแหลมคมมาก ในปัญหาของชีวิต

          แต่เมื่อท่านยังเป็นปุถุชนอยู่ อาการไหลลงต่ำตามธรรมชาติของจิต ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ครั้งแล้วครั้งเล่า

          คราวหนึ่ง ท่านติดตามพระอานนทเถระไปฉันในวัง ได้พบเห็นสาวงามเป็นจำนวนมาก จิตของท่านก็กำเริบขึ้นอีก เมื่อไม่อาจระงับด้วยตนเองได้ จึงเรียนพระอานนทเถระว่า

           "กระผมเร่าร้อนเพราะกามราคะ จิตของกระผมรุ่มร้อน ขอท่านโปรดบอกวิธีเป็นเครื่องดับราคะ เพื่ออนุเคราะห์แก่กระผมด้วยเถิดท่านผู้โคดม”

          “จิตของท่านรุ่มร้อน เพราะสัญญาอันวิปลาส ท่านจงละเว้นนิมิตอันสวยงาม อันเป็นที่ตั้งแห่งราคะเสีย จงเห็นสังขารทั้งหลาย เป็นของแปรปรวน เป็นทุกข์ อย่าเห็นว่าเป็นตัวตน

          ท่านจงดับราคะอันแรงกล้า อย่าให้จิตถูกราคะเผาผลาญบ่อยนัก จงเจริญอสุภกรรมฐาน ให้เป็นจิตมีอารมณ์เดียว ตั้งมั่นด้วยดีเถิด

          ท่านจงเจริญกายคตาสติ มากด้วยความหน่าย จงเจริญความไม่มีนิมิต ถอนมานานุสัยเสียเพราะรู้เท่าถึงมานะ ท่านจักเป็นผู้สงบเที่ยวไป” พระอานนทเถระกล่าว

          เมื่อท่านปฏิบัติตามพระเถระ ก็ระงับกามราคะที่เกิดขึ้นลงไปได้ระยะหนึ่ง

          - การที่พระวังคีสะ ท่านเรียนความรู้สึกของท่านให้พระอานนทเถระทราบ จัดว่าเป็นวิธีที่ถูกต้อง อาจนำไปใช้ได้แม้ในกรณีที่เกิดปัญหาด้านอื่น เพราะการเก็บอารมณ์บางอย่างไว้คนเดียว โดยขาดอุบายวิธีในการผ่อนคลาย อาจเป็นอันตรายได้ง่าย

          - พระวังคีสะเรียกพระอานนทเถระว่า ท่านผู้โคดม เป็นคำที่ไม่ปรากฏบ่อยนัก เพราะส่วนมากจะใช้เรียกพระพุทธเจ้า และเป็นคำที่คนนอกศาสนาเรียก

          เนื่องจากพระอานนทเถระ เป็นโอรสของสุกโกทนะ พระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนะ จึงเป็นโคตมโคตร หรือสุริยโคตร เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า นี่แปลกเพราะไม่เคยพบใครเรียกคนอื่น นอกจากพระพุทธเจ้า

          - วิปัลลาสสัญญา คือ การกำหนดหมายที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ท่านแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ

          ๑. วิปัลลาสด้วยอำนาจความสำคัญผิด เรียกว่า สัญญาวิปัลลาส
          ๒. วิปัลลาสด้วยอำนาจความคิดผิด เรียกว่า จิตตวิปัลลาส
          ๓. วิปัลลาสด้วยอำนาจความเห็นผิดเรียกว่า ทิฏฐิวิปลลาส

          สิ่งที่ก่อให้เกิดวิปัลลาสทั้ง ๓ นั้น แบ่งออกเป็น ๔ ชนิด คือ

            ๑. ความสำคัญ คิด เห็น ในของที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง
            ๒. ความสำคัญ คิด เห็น ในของที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข
            ๓. ความสำคัญ คิด เห็น ในของที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นอัตตาตัวตน

            ๔. ความสำคัญ คิด เห็น ในของที่ไม่สวยงามว่าสวยงาม

          แต่ที่พระอานนทเถระ ท่านยกขึ้นแสดงท่านเน้นในจุดของวิปัลลาสข้อสุดท้ายก่อน เพราะเป็นตัวปัญหา โดยสอนให้เว้นนิมิตอันสวยงาม อันเป็นที่ตั้งแห่งราคะออกเสีย แล้วจึงแสดงข้ออื่นทีหลัง

          การยึดถือที่นำไปสู่กามราคะ ตัณหาอุปาทานเป็นต้นนั้น ท่านแสดงว่ามี ๒ ประเภท คือ

           ๑. ถือโดยนิมิต เช่นถือว่า คนนั่นสวย สิ่งนั้นงาม เสียงนั่นไพเราะ เป็นต้น

           ๒. ถือโดยอนุพยัญชนะ คือ แยกถือ เช่น ตาสวย ผมสวย ปากสวย คิ้วสวย เป็นต้น

          จากนั้น จิตจะกำหนดหมายด้วยความสำคัญผิดว่า รูปนั่นน่าใคร่น่าปรารถนา น่าพอใจ แต่พระวังคีสะท่านเห็นสาว ๆ เหล่านั้นสวยไปหมด พระอานนทเถระจึงสอนให้ถ่ายถอนการยึดถือโดยนิมิตเพียงอย่างเดียว

          วิปัลลาสทั้ง ๔ ประการนั้น ท่านแสดงธรรมสำหรับเป็นเครื่องถ่ายถอนไว้ คือ

          ๑. อนิจจสัญญา การกำหนดหมายให้เห็นความไม่เที่ยง ถอนนิจจสัญญา

          ๒. ทุกขสัญญา การกำหนดหมายว่าเป็นทุกข์ ถอนสุขสัญญา

          ๓. อนัตตสัญญา การกำหนดหมายว่า เป็นอนัตตา ถอนอัตตสัญญา

          ๔. อสุภสัญญา การกำหนดหมายให้เห็นไม่สวยงาม ถอนสุภสัญญา

           อสุภกรรมฐาน และ กายคตาสติ มีวัตถุ ที่ใช้เป็นเครื่องกำหนดพิจารณาเหมือนกัน คือ อาการ ๓๒ คือ การพิจารณาแยกกายออกเป็น ๓๒ คือ

           การพิจารณาแยกกายออกเป็น ๓๒ ส่วน ได้แก่ “ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า

          น้ำดี น้ำเสลด น้ำเหลือง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก น้ำไขข้อ น้ำมูตร มันสมอง”

          โดยทั่วไปแล้ว กายคตาสติ คือการพิจารณาสิ่งเหล่านั้น โดยสีสัณฐาน กลิ่น ที่เกิด ที่อยู่ ในกายตน เมื่อเห็นตามจริงแล้ว น้อมไปเปรียบเทียบกับกายคนอื่น ก็จะเห็นเป็นอย่างเดียวกัน

          ส่วนอสุภกรรมฐาน พิจารณากายคนอื่น โดยนัยเดียวกัน แล้วน้อมเข้ามาหาตน แต่หลักนี้ไม่ใช่ตายตัวนัก เพราะในคิริมานนทสูตร เรียกว่า อสุภสัญญา แต่ให้พิจารณากายตน

           แต่อย่างไรก็ตาม เป้าหมายนั้นเหมือนกัน คือต้องการถอนหลงรัก กำหนัดในกายตนและกายคนอื่น

บันทึกการเข้า

ธัมมะวังโส

  • ธัมมะวังโส
  • ผู้บริหารเว็บ
  • โยคาวจรผล
  • *
  • ผลบุญ: +180/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 7250
  • Respect: +6
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
คำแนะนำที่ดี สูตรว่าด้วย การออกจาก กาม
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กันยายน 21, 2010, 08:47:43 am »
0
เป็นคำแนะนำที่ดี ขออนุโมทนา ในกุศลนี้ด้วย

เจริญพร

 ;)
บันทึกการเข้า
เว ทา สา กุ กุ สา ทา เว ทา ยะ สา ตะ ตะ สา ยะ ทา สา สา ทิ กุ กุ ทิ สา สา กุ ตะ กุ ภู ภู กุ ตะ กุ